"ประสบการณ์เป็นครูที่ดีที่สุด"
คู่มือการย้ายมาอยู่เมกาตอนที่ 3: "ธนาคาร บัตรเครดิตและการทำธุรกรรม"
19 Aug 2019 11:53   [41583 views]

ทิ้งช่วงไปนาน ขอมาต่อกันกับซีรีส์ย้ายมาอยู่เมกาอีกสักเรื่อง หลังจากพูดเรื่องวีซ่าและค่าครองชีพกันไปแล้ว วันนี้เราจะมาถึงอีกเรื่องที่สำคัญมาก ๆ สำหรับการใช้ชีวิตที่นี่อย่างเรื่องของ "การเงินการธนาคาร" อย่างว่า เราคงไม่เดินถือเงินสดไปมากันหรอกเนอะ ยังไงก็ต้องฝากธนาคารไว้ จึงต้องตามมาด้วยเรื่องของการโอนเงิน บัตรเดบิต บัตรเครดิต อะไรพวกนี้ด้วย เราก็เลยขอรวมเรื่องพวกนี้ไว้ในบล็อกนี้คร้าบผม

ชีวิตของคนที่นี่ แทบไม่พกเงินสด (แต่ก็พกบ้าง)

ชีวิตที่นี่ถือว่า Cashless ซะ 95% เพราะแทบทุกร้านรับบัตรหมดแบบไม่มีขั้นต่ำ แต่ก็มีบ้างบางร้านที่ไม่รับบัตรเลย หรือบ้างก็อาจมีขั้นต่ำ หรืออาจจะชาร์จเพิ่มถ้าไม่ถึงขั้นต่ำ หรือสินค้าบางชนิดก็รับแต่เงินสดเท่านั้น (เช่นลอตเตอรี่) หรือบางอย่างจ่ายเงินสดจะถูกกว่า (เช่นน้ำมัน) ก็เลยต้องพกเงินสดอยู่บ้างเผื่อฉุกเฉิน แต่ส่วนตัวไม่เคยพกเงินเกิน $40 เลย และเงินสด $40 นี้ก็ใช้ไปสองเดือนเลยอะไรงี้

ดังนั้นการใช้ชีวิตที่นี่ "บัตร" จึงสำคัญมาก อย่างน้อยก็บัตรเดบิตหละ ส่วนบัตรเครดิตถ้าสมัครได้ก็ช่วยอะไรได้เยอะเหมือนกัน เช่น Cashback, ส่วนลด หรือสะสมแต้ม คนที่นี่เลยพกบัตรค่อนข้างเยอะ แต่ก็เพื่อประโยชน์ทางการเงิน ไม่ใช่เพื่อรูดใช้เงินพร่ำเพรื่อ

บล็อกนี้ก็จะพูดถึงเรื่องพวกนี้ทั้งหมด เปิดบัญชียังไง สมัครบัตรยังไง มีเงื่อนไขอะไรบ้าง อ่ะ เริ่ม !

รู้จักกับ Social Security Number (SSN)

ก่อนจะไปถึงเรื่องเปิดบัญชี ขอพามารู้จักกับสิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งที่มักจะต้องใช้ในการเปิดบัญชีที่นี่ สิ่งนั้นคือ

Social Security Number (SSN)

ตัวเลข SSN เป็นเลขที่รัฐบาลสหรัฐ ฯ เอาไว้ติดตามกิจกรรมทางการเงินของแต่ละคน การจะรับเงินเดือนหรือทำสิ่งใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเงินที่นี่ได้ เราจะต้องไปขอ SSN จากที่ทำการ Social Security Administration ก่อน ใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ก็ได้มา

พอมี SSN แล้ว เวลาทำอะไรกับธนาคารก็จะสะดวกมาก ธนาคารส่วนใหญ่จะขอ SSN เพื่อทำการเปิดบัญชีทั้งนั้น แถมบางทีเปิดแบบออนไลน์ยังได้เลย จิ้ม ๆ บนเว็บ กรอก SSN แล้วรอบัตรที่บ้านได้เลย เรียกว่ามี SSN แล้วแทบจะทำอะไรก็ได้ละ

แต่ถามว่าไม่ต้องใช้ SSN แล้วเปิดบัญชีได้มั้ย ? ยกตัวอย่างเช่นนักท่องเที่ยวที่อยากมีบัญชีที่สหรัฐ ฯ คำตอบคือเปิดได้ครับ แต่จะได้แค่บางธนาคาร ที่ลองแล้วได้คือ Citibank

ส่วนบางธนาคารไม่ต้องใช้ SSN ก็ได้ แค่ต้องการหลักฐานยืนยันตัวตนในอเมริกา เช่น ไปสอบใบขับขี่ให้เรียบร้อยแล้วเอาไปเปิดบัญชีก็ได้ เช่น Bank of America

ยังไงสุดท้ายก็มีวิธีแหละ แต่ถ้ามี SSN คือชิวสุด (แต่จะขอได้ต้องทำงานที่นี่นะ นักท่องเที่ยวเข้าไปขอลอย ๆ ไม่ได้)

ประเภทธนาคาร

ในขณะที่ประเทศไทยมีธนาคารอยู่เพียงหลักสิบราย แต่รู้หรือไม่ว่าสหรัฐอเมริกามีธนาคารอยู่ถึงกว่า 5,000 ราย ! โดยมีทั้งธนาคารใหญ่ ธนาคารท้องถิ่น ธนาคารออนไลน์ อะไรยิบย่อยเต็มไปหมด มาถึงนี่คือไม่รู้จะเลือกธนาคารไหนเลย เราเลยพามารู้จักประเภทธนาคารกันก่อนละกัน โดยโฟกัสแค่ตัวหลัก ๆ นะ มีอยู่สองตัว

ธนาคารพาณิชย์ (Commercial Bank)

คือธนาคารที่เรา ๆ รู้จักกันนี่แหละ ให้บริการรับฝากเงินและให้ดอกเบี้ยเราเป็นผลตอบแทน ปล่อยกู้ทั้งรายใหญ่รายย่อย พร้อมกับให้บริการด้านธุรกรรมทางการเงินอื่น ๆ ครบวงจร

ธนาคารที่เราใช้บริการหลัก ๆ ก็จะเป็นตัวนี้แหละ เช่น Chase, Bank of America, Citibank เป็นต้น บทความนี้หลังจากส่วนนี้ไปก็จะโฟกัสไปที่ตัวนี้เพียว ๆ เลย

Credit Unions

เป็นองค์กรไม่หวังผลกำไร อยู่ในรูปแบบคล้าย ๆ สหกรณ์ เปิดให้สมาชิกเท่านั้นที่เข้าร่วมได้และจะโฟกัสสิทธิิประโยชน์ให้กับสมาชิกเป็นหลัก ทำให้สมาชิกมักจะได้ดีลที่ดีกว่าธนาคารพาณิชย์ที่เน้นหากำไร เช่น ดอกเบี้ยปล่อยกู้ที่ต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์หรือดอกเบี้ยเงินฝากที่มากกว่า

ถึงจะจำกัดเฉพาะสมาชิกที่เข้าร่วมได้ แต่ความจริงการเข้าร่วมเป็นสมาชิกก็ไม่ได้ยากเย็นนัก ส่วนใหญ่แค่อยู่ในพื้นที่ที่ระบุและบริจาคเงินตามจำนวนที่กำหนดก็เข้าเป็นสมาชิกได้แล้ว

แต่ข้อจำกัดที่มีคือส่วนใหญ่ Credit Unions จะเทคโนโลยีล้าหลังกว่าธนาคารพาณิชย์ รวมไปถึงหาตู้ ATM ยากกว่า บางคนเลยเปิด Credit Unions ไว้เพื่อเก็บเงิน แต่เลือกใช้ธนาคารพาณิชย์เพื่อทำธุรกรรมประจำวัน

พวกเงินเหลืออ่ะเนอะ ...

ประเภทที่เหลือ

ยังมีประเภทอื่นที่คนทั่วไปอาจไม่ค่อยได้ใช้บริการเช่น พวก Investment Bank ที่เปิดไว้เพื่อให้บริการให้คำปรึกษาด้านการลงทุน (ธนาคารใหญ่ ๆ บางเจ้าจะเปิดแบรนด์แยกออกมา เช่น Chase มี JP Morgan เป็น Investment Bank) หรือ Savings Bank ที่คล้ายกับ Commercial Bank จนตอนนี้ไม่สามารถแยกกันออกแล้ว

แต่หลัก ๆ ก็จะมีแค่ Commercial Bank และ Credit Unions แหละที่ต้องรู้จัก และส่วนใหญ่จะใช้แค่ Commercial Bank เลยด้วย อย่างที่บอก เนื้อหาจากนี้จะเป็นของ Commercial Bank ล้วน ๆ น้อออ

การเปิดบัญชีธนาคาร

ตอนอยู่เมืองไทยเราต้องเดินไปเปิดบัญชีธนาคารเองที่สาขา ส่วนอยู่ที่นี่การเปิดบัญชีนั้นง่ายกว่ามาก(ถ้ามี SSN) หลัก ๆ เราเปิดได้ด้วยสองวิธีด้วยกัน

เปิดด้วยตัวเองที่ธนาคาร

ก็เหมือนไทย เดินเข้าธนาคารพร้อมหลักฐานยืนยันตัวตน (อย่างของ Citibank เราเปิดด้วยใบขับขี่ไทย) ติดต่อเจ้าหน้าที่ เซ็นเอกสารปึกใหญ่ ๆ ไม่มีสมุดบัญชีแบบไทยให้ มีแค่เลขบัญชีกับข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ส่วนบัตร ATM จะส่งตามมาทางไปรษณีย์ประมาณหนึ่งสัปดาห์ให้หลัง

การเปิดค่อนข้างง่าย แต่ขึ้นอยู่กับว่าธนาคารนั้น ๆ รับเอกสารยืนยันตัวตนที่เราเอาไปรึเปล่า อย่าง SSN นี่รับแน่นอน ส่วนใบขับขี่อเมริกา อันนี้ส่วนใหญ่ก็รับนะ แต่ที่ไม่รับก็มี ลองติดต่อธนาคารก่อนเข้าไปก็ดีจะได้ไม่เสียเวลาเปล่า

อย่างไรก็ตาม มีธนาคารบางเจ้าที่ไม่มีสาขา (พวกธนาคารออนไลน์) พวกนี้ก็ไม่สามารถไปเปิดที่ธนาคารได้ เพราะ ... ก็ไม่มีสาขาให้ไปเปิดอ่ะ จะไปเปิดยังไงเล่าาาา พวกนี้ก็ต้องไปเปิดออนไลน์เอาครับ 

เปิดออนไลน์

สำหรับคนที่มี SSN ชีวิตจะสะดวกมากกกก เพราะสามารถเข้าเว็บธนาคาร จิ้มขอเปิดบัญชีแล้วรอรับข้อมูลบัญชีพร้อมบัตร ATM ที่บ้านได้เลย ! พวกเอกสารที่ต้องเซ็นนี่ก็เซ็นออนไลน์ได้เลย นี่ก็เปิดมาแล้วสองที่ ชิวมากจนลืมไปเลยว่าธนาคารมีสาขาอยู่

โดยไม่ได้จำกัดเฉพาะพวกธนาคารออนไลน์ด้วยนะ พวกธนาคารที่มีสาขาก็เปิดออนไลน์ได้หมด

ประเภทบัญชีธนาคาร

หลัก ๆ จะมีบัญชีอยู่สองประเภทที่เรามักจะเปิดคู่กันไป ได้แก่

บัญชีเงินฝากกระแสรายวัน (Checking)

บัญชีที่ฝากเงินแล้วไม่มีดอกเบี้ย แต่ไม่มีข้อจำกัดว่าแต่ละเดือนสามารถทำธุรกรรมได้กี่ครั้ง เวลาเราทำธุรกรรมรายวัน เช่น รูดบัตรซื้อของ กด ATM เราก็จะทำผ่านบัญชีตัวนี้ เหมือนเอามาพกไว้แทนเงินสดเฉย ๆ นั่นแหละ

บัญชีออมทรัพย์ (Saving)

ตรงตามชื่อ เอาไว้ฝากเงินแล้วได้ดอกเบี้ย แต่มีข้อจำกัดว่าสามารถทำธุรกรรมกับบัญชีนี้ได้จำกัด (มาตรฐานอยู่ที่ 6 ครั้งต่อเดือน) หลัก ๆ คือฝากแล้วเอาทิ้งไว้นั่นแหละ หรือถ้ามีเงินเยอะก็เอาเงินฝากไว้ใน Saving Account เป็นหลักแล้วแต่ละเดือนก็ค่อยทยอยโอนเงินเท่าที่จำเป็นต่อเดือนนั้นออกมาวางไว้ใน Checking Account เพื่อรูดใช้ในแต่ละวัน

Concept จะต่างกันจากไทยที่เราใช้บัญชีออมทรัพย์เป็นหลักและรูดใช้กี่ครั้งก็ได้ มานี่ต้องปรับจูนวิธีคิดนิดหน่อย ๆ

ค่าใช้จ่ายการรักษาบัญชี

ถึงการเปิดบัญชีจะไม่มีค่าใช้จ่าย แต่การรักษาบัญชีมีค่าใช้จ่ายอยู่นะ ส่วนใหญ่จะอยู่ที่เดือนละ $12 (ซึ่งถือว่าสูงมาก) แต่ก็สามารถยกเว้นค่ารายเดือนตรงนี้ได้ด้วยการฝากเงินไว้ตามที่ธนาคารกำหนด หากวันไหนในเดือนนั้นจบวันแล้วยอดเงินน้อยกว่าที่กำหนดไว้ เดือนนั้นจะต้องจ่ายค่ารายเดือนทันที ส่วนค่าออกบัตร ATM ไม่มีครับ

สรุป ถ้ารักษายอดเงินให้เกินที่กำหนดไว้ก็จะไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ เลย

แล้วถามว่าขั้นต่ำที่ว่านี่เท่าไหร่ อันนี้ไม่มีเลขที่แน่นอนเนื่องจากธนาคารที่นี่มีเยอะมากกกกกก ขนาดของธนาคารแต่ละเจ้าเลยค่อนข้างต่างกันมาก บางเจ้ามูลค่าไปโน่น $400 พันล้าน ในขณะที่บางเจ้านี่ยังไม่ถึงพันล้านเลยก็มี ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจที่แต่ละเจ้าเลยมีโครงสร้างค่าใช้จ่ายและโปรโมชั่นที่ต่างกันไปเพื่อดึงดูดลูกค้า แต่หลัก ๆ จะแบ่งเป็นสองอัตราตามขนาดของธนาคาร ได้แก่

$1,500 สำหรับธนาคารใหญ่มีสาขา

พวกธนาคารใหญ่ที่ทางเลือกเยอะก็จะมีเงื่อนไขเยอะหน่อยเพราะมักจะเป็นทางเลือกแรก ๆ ของลูกค้าและมีบริการครบครัน ทำให้เลยมียอดขั้นต่ำค่อนข้างสูง โดยมาตรฐานจะอยู่ที่ $1,500 หรือประมาณ 46,500 บาท เรียกว่าเปิดบัญชีก็ล็อคเงินไว้จำนวนเท่านี้ไว้ได้เลย ห้ามใช้ ถ้าจะใช้ต้องใช้ส่วนเกินจากนี้

แต่ข้อดีของธนาคารเหล่านี้คือหาตู้ ATM ง่าย หาสาขาง่าย (ซึ่งค่าใช้จ่ายเค้าก็เยอะอ่ะนะก็เลยมีเงื่อนไขขั้นต่ำอยู่) และหากต้องการสมัครบัตรเครดิตของธนาคารเหล่านี้ในอนาคต การเปิดบัญชีธนาคารใหญ่ไว้ก็จะช่วยให้เครดิตดีขึ้น เปิดบัตรเครดิตง่ายขึ้นได้

ตัวอย่างของธนาคารกลุ่มนี้ก็ เช่น JP Morgan Chase, Bank of America, Citibank, Wells Fargo ก็พวกธนาคารดัง ๆ นั่นแล

ไม่มีขั้นต่ำสำหรับธนาคารออนไลน์

สำหรับธนาคารเล็ก ๆ ไปจนถึงธนาคารออนไลน์ พวกนี้ค่าใช้จ่ายน้อยกว่าธนาคารใหญ่ ก็เลยมักจะ "ไม่มีขั้นต่ำ" ไม่ใส่สักบาทเลยก็ยังรักษาบัญชีให้ใช้ต่อไปได้

ธนาคารกลุ่มนี้ก็เช่น Capital One คนใช้เยอะด้วยนะเพราะสะดวก ทุกวันนี้ก็ไม่มีความจำเป็นต้องกด ATM แล้วด้วย ธนาคารเหล่านี้เลยได้รับความนิยมสูงขึ้น

ทั้งสองอย่างมีข้อดีข้อเสีย ต้องเลือกให้เหมาะสมครับว่าเราใช้แบบไหนเยอะและมีจุดประสงค์อย่างไร

เป็นไงหละ แค่เปิดบัญชีธนาคารยังต้องคิดเยอะขนาดนี้ 555

ช่องทางการทำธุรกรรม

หลัก ๆ เราจะทำธุรกรรมที่สาขา ทำผ่านตู้ ATM ผ่าน แอป ฯ มือถือและบนเว็บกัน

แต่ถามว่าทำได้ครบทุกอย่างตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบได้เหมือนของไทยมั้ย ? จริง ๆ คือทำได้น้อยกว่าไทยมากกกกกกก เพราะการทำธุรกรรมที่นี่ค่อนข้างมีรายละเอียดยิบย่อยและแบงค์ชอบเก็บค่าธรรมเนียม ไม่ได้ไร้ค่าธรรมเนียมทุกอย่างเหมือนไทย สรุปก็เลยทำได้แค่สิ่งพื้นฐานแค่นั้น โอนเงินหากันยังยากเลย ไว้เดี๋ยวเล่าให้ฟังด้านล่าง ๆ

ทั้งนี้ ตู้ ATM ก็ไม่ได้มีทุกมุมเหมือนไทยด้วย ต้องยอมรับว่า Banking ที่ไทยดีกว่าที่นี่มาก

ความวุ่นวายของระบบป้องกัน Fraud ที่นี่ เข้มแต่น่ารำคาญ

ระบบป้องกัน Fraud ที่นี่เข้มมาก ถ้าทำอะไรที่แปลกไปคือบล็อคการใช้งานสถานเดียว ต้องโทรหรือ SMS ไปยืนยันเพื่อปลดล็อคตลอด

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าอยู่ดี ๆ โอนเงินออก $1,000 ระบบล็อคแอคเค้าท์ไม่ให้ทำต่อทันทีเลยนะ ต้องติดต่อไป Call Center ยืนยันตัวตน คุยยากคุยเย็น เพื่อให้โอนต่อจนสำเร็จได้ เป็นหมดทุกธนาคารไม่มีข้อยกเว้น ใครจะมาทำธุรกรรมที่นี่ก็เตรียมตัวประสบพบเจอประสบการณ์โทรคุยกับธนาคารรัว ๆ ได้เลย

ถือเป็นเรื่องดีแต่ก็น่าหงุดหงิดพร้อม ๆ กัน เพราะบางทีกำลังรีบก็ต้องมานั่งปลดล็อคแอคเค้าท์อีก หรือบางทีอยู่ไทยแล้วมีปัญหากับบัตรที่เมกา ก็ต้องโทรข้ามประเทศเพื่อแก้ปัญหาอีก ระบบ Anti-Fraud ที่นี่ถือว่าปลอดภัยแต่ก็วุ่นวายพอสมควร เป็นดาบสองคม

การโอนเงินหากัน

เมืองไทยนี่การโอนเงินหากันเป็นสิ่งที่สบายมากกกกก ใช้ระบบเดียวกันได้หมด โอนปุ๊บได้ปั๊บไม่มีค่าธรรมเนียมด้วย (ต้องขอบคุณ Promptpay และคนคิดระบบนี้ขึ้นมา)

แต่พอมานี่การโอนเงินเป็นเรื่องที่ทรมานมากกกก ระบบเห่ยสุด ๆ โอนก็ช้า ค่าใช้จ่ายก็แพง ต้องไปอาศัยระบบที่มีตัวกลางสร้างขึ้นมาให้ใช้กัน เช่น ของเฟสบุ๊ค ของ Paypal และแต่ละคนแต่ละรัฐก็ใช้ไม่เหมือนกันอีก ! เวลาจะโอนเงินหาใครนี่ต้องถามก่อนเสมอว่าคนรับใช้บริการอะไรอยู่ ถ้าใช้ไม่ตรงกันก็โอนไม่ได้อีก

สุดท้ายคือทรมานมากแต่ก็ต้องฝ่าฟันไป เราเลยเอามาเล่าให้ฟังกันว่าเราโอนเงินหากันยังไงได้บ้าง อ่ะ เริ่ม

Wired Transfer

ก็คือการโอนเงินปกติผ่านระบบกลางที่นี่ ระบุรหัสธนาคาร (Routing Number) และเลขที่บัญชี (Account Number) แล้วก็กดโอนได้

ฟังดูเหมือนง่าย แต่ค่าธรรมเนียมนี่ $7 - $40 จ้าาาา ส่วนเวลาก็อยู่ราว ๆ 1-5 วันแล้วแต่ว่าเราจ่ายค่าธรรมเนียมเท่าไหร่

เมื่อ Wired Transfer ซึ่งเป็นระบบกลางของธนาคารที่นี่ไม่สามารถพึ่งพาได้ ก็เลยต้องใช้บริการของเจ้าอื่น ๆ กัน

Zellepay

เป็นระบบที่ธนาคารต่าง ๆ จับมือกันพัฒนาขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาการโอนเงิน Wired Transfer ที่แสนแพงจนใช้งานจริงแทบไม่ได้ โดย Zelle จะถูกฝังอยู่ในแอป ฯ ธนาคารเกือบทุกตัวเพื่อให้คนสามารถโอนเงินหากันได้ผ่านแอป ฯ โดยตรง ส่วนการระบุผู้รับเงินก็ใช้แค่อีเมลหรือเบอร์โทร แล้วผู้รับจะได้ลิงก์เพื่อไปกดรับเงินเข้าบัญชีตัวเองได้ง่าย ๆ

ส่วนค่าธรรมเนียมไม่มีจ้าาา เวลาที่ใช้ในการโอนก็ประมาณ 2 วันครับ ยังช้าอยู่แต่โดยรวมก็ดีกว่า Wired Transfer มาก

ถือว่าใช้งานจริงได้ดี เหมาะกับการโอนเงินก้อนใหญ่ ๆ แต่ถ้าเป็น Micropayment โอนไม่กี่สิบเหรียญ ก็มี Solution อื่นที่เหมาะสมกว่าให้ใช้อยู่

Facebook Pay

น่าจะเคยได้ยินกันบ้างแล้ว มันคือการโอนเงินผ่าน Facebook Messenger คนที่เมกาสามารถใช้งานได้โดยอัตโนมัติ แต่ถ้าอยู่ต่างประเทศจะใช้งานไม่ได้

ข้อดีคือไม่มีค่าธรรมเนียม เงินเข้าตรงไปที่บัญชีเลย ไม่มีการพักเงินไว้ที่ไหน และเวลาที่เงินเข้าก็ค่อนข้างเร็วมาก (น้อยกว่าวันนึง)

ส่วนข้อเสียคือ คนเมกันไม่ค่อยเชื่อใจ Facebook เท่าไหร่โดยเฉพาะเรื่อง Privacy ทำให้มีคนจำนวนนึงเลือกจะไม่ใช้ แถมถ้าใช้สักพักนึงแล้วยอดเงินเริ่มเยอะ ทาง FB Pay ก็จะขอ SSN ด้วย ทำให้คนที่ไม่มี SSN จะถูกลิมิตการใช้งานอยู่ที่ประมาณพันเหรียญเท่านั้น

Venmo

เป็นระบบ Mobile Payment ที่พัฒนาขึ้นมาโอน Paypal เพื่อเอาไว้โอนเงินก้อนเล็ก ๆ หากัน

ลักษณะของ Venmo เหมือนเป็นกระเป๋าพักเงิน คนสามารถโอนหาเราได้ แต่เงินจะไม่เข้าบัญชีเราโดยตรง เราจะต้องกดถอนเงินจาก Venmo เข้าบัญชีเองอีกทีนึง ซึ่งก็ค่อนข้างวุ่นวายซับซ้อน แต่คนก็ใช้กันเยอะเพราะเป็น Solution ที่ดีเหมือน FB Pay แต่ไม่ใช่ของเฟสบุ๊ค ...

เวลาที่ใช้โอนถือว่าสั้น แต่เวลาที่ใช้ในการถอนก็นาน 2 วันเช่นเดียวกับตัวอื่น ๆ ครับ

ส่วนค่าธรรมเนียมก็ไม่มีเช่นกัน โอนฟรี !

Paypal

Paypal ก็เป็นอีกวิธีที่ใช้โอนเงินหากันที่นี่ ไม่มีค่าธรรมเนียมและเจ้าของเดียวกับ Venmo จ้าาา การทำงานเหมือน Venmo ทุกอย่างคือเป็น Digital Wallet ที่พักเงินไว้ก่อน แล้วจะเอาเงินเข้าบัญชีค่อยถอนเองนะ

สรุป ... อย่างที่บอก ช่องทางการโอนมีเยอะมากกก ส่วนใหญ่ก็ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมละ แต่ใช้เวลาในการโอนเยอะพอสมควร ความวุ่นวายคือไม่มีระบบมาตรฐาน เวลาจะโอนเงินให้ใครทีก็ต้องถามคนรับทีว่าใช้บริการอะไรอยู่ ส่วนตัวพูดเลยว่าของไทยดีกว่ามาก ๆ ในเรื่องของการเงินการธนาคาร เป็นหนึ่งเรื่องที่หงุดหงิดมากของการใช้ชีวิตที่นี่

การโอนเงินกลับไทย

การโอนเงินกลับไทยนี่วุ่นวายน้อยกว่าหน่อยนึงเพราะมีทางเลือกไม่เยอะและควบคุมได้ เคยลองมาหลายวิธีมาก ๆ ละ สรุปแล้วขอชี้วิธีที่ดีที่สุดสองวิธีละกันนะ

Wire Transfer ด้วย SWIFT

ก็คือระบบโอนเงินปกตินี่แหละ สามารถโอนกลับไทยได้ตรง ๆ เลยโดยใช้ SWIFT ของธนาคารปลายทางที่ไทย (ไม่อธิบายนะ คนที่เคยทำธุรกรรมข้ามประเทศน่าจะรู้จักอยู่แล้ว)

สำหรับค่าใช้จ่ายจะได้แก่

- ค่าโอนต้นทาง: $35 (คิดเพิ่มจากยอดเงินที่โอน)

- ค่ารับเงินปลายทาง: แล้วแต่ธนาคาร แต่มากสุดประมาณ 500 บาท

- ค่าแปลงสกุลเงิน 1-3% แล้วแต่ธนาคาร

ถ้าโอนเงิน $3,500 กลับไทยก็โดนหักไป $3,535 และเงินที่หายไประหว่างทางจะอยู่แถว ๆ 1400 บาทครับ

บัญชีปลายทางที่ไทยจะมีค่าธรรมเนียมต่างกันไปในแต่ละธนาคารด้วย ส่วนธนาคารที่ค่าธรรมเนียมดีที่สุดคือ "ธนาคารกรุงเทพ" ครับ แนะนำให้เปิดบัญชีธนาคารกรุงเทพไว้ไม่ผิดหวัง

Transferwise

เป็นบริการโอนเงินระหว่างประเทศที่ดังมากและก็ดีมากด้วย หลักการทำงานของมันคือ

1) สร้าง Transaction ในระบบ Transferwise

2) โอนเงินเข้าบัญชีของ Transferwise ที่กำหนดผ่าน Debit Card (จิ้ม ๆ จากแอป ฯ ได้เลย)

3) พอระบบได้รับเงินโอน Transferwise ก็จะโอนเงินบาทไปที่บัญชีเรา

ค่าธรรมเนียมอยู่ที่ $35 (หักจากก้อนที่เราจะโอน) และเรทการแปลงค่าเงินคือดีมาก คือค้นใน Google ว่า 1 USD เท่ากับกี่ THB ก็คือเรทนั้นเลย ไม่มีหัก เช่น ถ้าโอน $3,500 ก็จะถึงไทยเท่า ๆ กับที่โอน $3,535 ด้วย Wired Transfer เลย สรุปแล้วก็จะประหยัดเงินได้เป็นพันเลยหละ ส่วนระยะเวลาที่ใช้โอนก็ประมาณ 3 วันถึงไทยครับ

ถามว่าวิธีไหนดีกว่ากัน จริง ๆ สองวิธีนี้ได้เงินมาใกล้เคียงกัน ห่างกันพันบาทได้ แต่ถ้าเชียร์ตัวไหนก็เชียร์ให้ใช้ Transferwise เลยครับ ดีกว่าในทุกด้าน ไม่ต้องคิดเยอะ

ประสบการณ์การใช้งานธนาคาร

โดยรวมก็ยังขอย้ำอีกทีนึงว่า

ประสบการณ์การใช้งานของธนาคารที่ไทยดีกว่าเยอะ (ยกเว้นพวกที่ล่มมันทุกสิ้นเดือนแล้วแก้ไม่ได้สักทีอ่ะ)

เนื่องจากทุกธุรกรรมในไทยทำได้ง่ายมาก พวกแอป ฯ ก็เลยออกแบบมาได้ตอบโจทย์ได้ ความวุ่นวายเรื่อง Anti-Fraud ที่ไทยก็ไม่ค่อยมี (ซึ่งก็ไม่รู้ว่าดีหรือไม่ดีอ่ะนะ) ทำให้ตอนอยู่ไทยใช้งาน Banking เหมือนเล่นเฟสอ่ะ อะไรก็ง่ายไปหมด พอมาอยู่นี่อะไรก็ยากไปหมด จะทำอะไรก็กลัวค่าธรรมเนียม กลัวโดนล็อคแอคเค้าท์ บลา ๆ ๆ

ตอนแรกคิดว่าแค่ไม่ชิน แต่นี่อยู่มา 6 เดือนละ พูดเลยว่าชินแล้ว แต่มันก็ยังไม่ใช่ประสบการณ์การใช้งานที่ดีเว้ยยยย

เรื่องของบัตรเครดิต

บัตร ATM หรือบัตรเดบิตอาจจะเพียงพอต่อการใช้งานในชีวิตประจำวันแล้ว แต่สิ่งที่ทำให้ชีวิตนิพพานขึ้นไปอีกขั้นคงเป็น "บัตรเครดิต"

การใช้งานบัตรเครดิตของคนที่นี่ส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้เพื่อให้เกิดหนี้ ตรงกันข้าม คนที่นี่เลือกใช้โปรโมชั่นในบัตรเครดิตแบบต่าง ๆ เพื่อเซฟเงิน ซึ่งก็เซฟได้เยอะด้วยนะ ประหยัดเงินปีละเป็นพันเหรียญได้สบาย ๆ

โปรโมชั่นที่ว่าก็เช่น เติมน้ำมันได้ Cashback ซื้อของได้ส่วนลด ได้เครดิตขึ้น Uber ฟรี สะสมแต้มเพื่อแลกของหรืออัปเกรดตั๋วเครื่องบิน ฯลฯ คือของที่ใช้ในชีวิตประจำวันนี่มีบัตรเครดิตเพื่อลดค่าใช้จ่ายได้ทั้งหมดเลย ดังนั้นถ้าหาบัตรเครดิตที่ตอบโจทย์ชีวิตประจำวันของเราได้ ชีวิตจะสบายขึ้นเยอะมาก ๆ

เราคงไม่ได้พูดถึงโปรโมชั่นอะไรมากมายเพราะมันต้องค้นดูว่าแต่ละใบแต่ละเจ้ามีโปรอะไรบ้าง แต่ขอเน้นไปเรื่องของวิธีการทำให้สมัครบัตรเครดิตได้ดีกว่า มาดูกัน

รู้จักกับ FICO® Score

การสมัครบัตรเครดิตกับการเช็คเครดิตถือเป็นเรื่องคู่กัน อันนี้เป็นมาตรฐานสากล สำหรับที่อเมริกาจะมีระบบกลางที่ทุกธนาคารใช้ร่วมกันชื่อว่า FICO® Score ซึ่งเป็นวิธีการคำนวณ Credit Score แบบนึงที่ถูกนำไปใช้เรื่องการกู้ยืมโดยเฉพาะ (บัตรเครดิตก็เป็นหนึ่งในนั้น)

โดย FICO® Score มีคะแนนได้ตั้งแต่ 300 จนถึง 850 เริ่มต้นจะอยู่ที่ 500-700 แล้วแต่คน จากนั้นก็จะค่อย ๆ สร้างเครดิตสูงขึ้นหรือต่ำลงตามแต่พฤติกรรมการใช้งานบัตรเครดิตของแต่ละคน คะแนนตรงนี้จะเปลี่ยนไปได้ทุก 1-3 เดือน การจะสมัครบัตรเครดิตที่โปรโมชั่นดี ๆ ได้ เราจะต้องมี FICO® Score ค่อนข้างสูง เช่น 750 เป็นต้นไป ซึ่งก็ต้องใช้เวลาบิ้วหน่อยนึง

วิธีคำนวณ FICO® Score

คะแนน FICO® Score จะปรับเปลี่ยนไปตามพฤติกรรมการใช้งานบัตรเครดิตของเรา หลัก ๆ มีอยู่สี่ปัจจัย ได้แก่

1) ชำระตรงเวลาแค่ไหน: ยิ่งชำระตรงเวลา เครดิตยิ่งสูง

2) ใช้เยอะแค่ไหน (Utilization Ratio): ควรใช้เงินไม่เกิน 30% ของวงเงินเพื่อรักษาเครดิต 

3) ติดหนี้บัตรเครดิตอยู่เท่าไหร่: ยิ่งติดหนี้บัตรเครดิตน้อย เครดิตยิ่งสูง

4) เริ่มมี FICO® Score นานแค่ไหน: ยิ่งใช้นาน เครดิตก็ยิ่งสูงขึ้น

สรุปง่าย ๆ ถ้าอยากจะมีเครดิตดี ๆ ก็ต้องชำระตรงเวลาและมียอดหนี้น้อย ๆ แล้วระยะยาวชีวิตจะดีเอง

แต่ที่สำคัญเลยคือถ้าใครยังไม่มี FICO® Score ก็ควรจะเริ่มสร้าง เพราะระยะเวลาที่เราใช้บัตรเครดิตก็มีผลต่อคะแนนเองด้วย

Secured Credit Card: บัตรสำหรับผู้เริ่มต้น

ปัญหาคลาสสิคของทุกคนคือ แล้วถ้าการสมัครบัตรเครดิตต้องใช้ FICO® Score แต่คะแนน FICO® Score ก็จะไม่ขึ้นถ้าเราไม่มีบัตรเครดิต แบบนี้มันก็ไก่กับไข่สิ แล้วเราจะมี FICO® Score ได้ยังไง

วิธีก็ค่อนข้างง่ายครับ ที่นี่จะมีบัตรเครดิตประเภทที่เรียกว่า "Secured Credit Card" ให้สมัครอยู่ หลัก ๆ มันคือ "บัตรเครดิตที่เราต้องโอนเงินไปค้ำประกันไว้ตามวงเงิน"

เช่น ถ้าเราเปิดบัตรวงเงิน $500 เราก็ต้องโอนเงินไว้ $500 แล้วธนาคารจะล็อคเงินก้อนนี้ไว้ไม่ให้เราทำอะไรกับมันได้ไป 18 เดือน ระหว่างนี้เราก็จะมีบัตรเครดิตวงเงิน $500 ใช้ บางทีมาพร้อม Intro Bonus ที่น่าสนใจอย่างเช่น ใช้ครบ $500 ภายใน 1 เดือน ได้เงินคืน $150 ไรงี้ด้วย ก็ใช้ไป ได้เงินฟรีนะะะ

ส่วนวิธีที่ดีที่สุดคือพอได้บัตร Secured Credit Card มาแล้ว ก็ใช้น้อย ๆ หรือไม่ใช้เลย ประมาณ 6 เดือนเราก็จะมี FICO® Score ในระบบอยู่ในระดับที่ดีพอจะสมัครบัตรเครดิตดี ๆ ใช้แล้วครับ

Insecured Credit Card

ก็ตรงกันข้ามกับ Secured Credit Card อันนี้เป็นบัตรเครดิตปกติเลย คือไม่ต้องวางค้ำประกันใด ๆ ทั้งสิ้น จะสมัครได้ก็เฉพาะตอนที่เรามีเครดิต (FICO® Score) แล้ว และพวกบัตรโปรดี ๆ ก็จะเป็นบัตร Insecured ทั้งหมดครับ ส่วนใหญ่เรียกร้องคะแนนเครดิตสูง ๆ ด้วย สร้างเครดิตให้ดี ๆ

นักเรียนสมัครง่าย

ปกติคนที่ยังไม่มีเครดิตเลยจะสมัครบัตรเครดิตได้ยากมาก แต่สำหรับนักเรียน แม้เพิ่งเข้ามาเรียนก็จะสามารถสมัครบัตรเครดิตได้ทันที แต่จะเป็นบัตรเครดิตสำหรับนักเรียน อาจจะไม่ใช่บัตรที่ดีมากแต่ก็ทำให้นักเรียนทุกคนเริ่มมี FICO® Score อัตโนมัติ ใครเป็นนักเรียนก็อย่าลืมดูตรงนี้ด้วย เพราะระยะยาวคะแนนนี้ส่งผลต่อชีวิตพอสมควร

บัตรเครดิตที่ให้วงเงินด้วยเกรดก็มีนะ ก็เป็นอะไรที่ตลกและน่ารักดี

ค่าธรรมเนียม

ค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตก็มีตั้งแต่ไม่ต้องจ่ายเลยไปจนถึงหลายร้อยเหรียญ ซึ่งแน่นอน บัตรที่ไม่มีค่าธรรมเนียมก็จะมีสิทธิประโยชน์น้อยหน่อย แต่ถ้ามีค่าธรรมเนียม

สำหรับผู้ใช้บัตรเครดิตใบแรก ๆ ก็ลองไปดูบัตรที่ไม่มีค่าธรรมเนียมในเว็บ creditcards.com มาลองเล่นก่อนได้ครับ หลายใบในนี้สมัครง่าย

บัตรแนะนำ

เป้าหมายคลาสสิคของคนรอบ ๆ ตัวที่สร้างคะแนนกัน ส่วนใหญ่จะเพื่อไปสมัครบัตรสองใบของ Chase ถือคู่กัน ได้แก่ Chase Sapphire Preferred และ Chase Freedom Unlimited ประมาณว่าไม่ว่าจะ Lifestyle แบบไหน สมัครสองใบนี้ไว้แล้วชีวิตจะดีเองอะไรงี้ นี่ก็กำลังรอวันนั้นอยู่เหมือนกัน 555

การปิดบัญชี

ไม่รู้ที่ไทยยังต้องดิ้นรนไปปิดบัญชีสาขาที่เปิดอยู่มั้ย แต่สำหรับที่นี่จะปิดที่ไหนก็ปิดได้เลย ติดต่อให้เรียบร้อย เจ้าหน้าที่จะโอนเงินออกหรือเอาเงินสดให้ จากนั้นก็ปิดบัญชี เป็นอันจบจ้าา

ส่งท้าย

ก็คิดว่าน่าจะครบถ้วนกระบวนความแล้วสำหรับเรื่องการธนาคารที่นี่ ก็หวังว่าจะมีประโยชน์กับคนที่คิดจะย้ายมาอยู่ที่นี่นะคร้าบบบบ

จบบบบ

บทความที่เกี่ยวข้อง

Jun 9, 2019, 10:30
78160 views
คู่มือการย้ายมาอยู่สหรัฐอเมริกา ตอนที่ 1: เรื่องของ "วีซ่า"
Jan 4, 2017, 14:22
577566 views
เปลี่ยนวิธีคิดชีวิตก็เปลี่ยน เรื่องของ "Mindset" สิ่งสำคัญที่กำหนดเส้นทางชีวิตของแต่ละคน
0 Comment(s)
Loading