"ความรักต้องไม่พยายาม"
คู่มือการย้ายมาอยู่สหรัฐอเมริกา ตอนที่ 1: เรื่องของ "วีซ่า"
9 Jun 2019 10:30   [79129 views]

ย้ายมาอยู่เมกาแบบจริงจังได้ 4 เดือนละ ตอนนี้ก็สามารถปรับตัวและใช้ชีวิตแบบคนท้องถิ่นได้อย่างสมบูรณ์แล้ว โดยรวมมีความสุขมากมาย เย้ เย

ซึ่งระหว่างที่ทำการปรับตัวก็มีโอกาสได้ศึกษาหาข้อมูล(เชิงปฏิบัติ)เกี่ยวกับการย้ายชีวิตมาอยู่ที่นี่ ตั้งแต่เริ่มต้นหาทางย้ายมา รวมไปถึงการใช้ชีวิตที่นี่ว่าต้องเจออะไรบ้าง เดินทางยังไง ค่าครองชีพเป็นยังไง ค่าที่พักแพงมั้ย ธนาคารเอย บัตรเครดิตเอย ก็เลยขอเขียนเป็นซีรีส์การย้ายมาอยู่เมกาซะเลย

และแน่นอน ก่อนจะย้ายมาได้ก็ต้องมี "วีซ่า" ให้เราเดินทางเข้าประเทศอย่างถูกต้องก่อนนะฮ้าบบบบ ดังนั้นตอนแรกเราเลยขอเริ่มต้นด้วยเรื่องของ "การทำวีซ่า" ก่อนเลย มีวีซ่าอยู่หลายตัวที่เปิดให้เราอยู่ยาว ๆ ได้ ความยากง่ายก็ตามแล้วแต่ประเภทและกำลังทรัพย์

อ่ะ เริ่ม !

รู้จักสถานะเข้าประเทศอเมริกาประเภทต่าง ๆ

ก่อนอื่นก็มารู้จักประเภทของของสถานะการเข้าประเทศในภาพใหญ่ ๆ ก่อนว่ามีอะไรบ้าง เพราะหากต้องการย้ายมาอยู่เมกาในระยะยาวจริง ๆ อาจจะต้องใช้เวลาเป็นสิบปีกว่าจะเสร็จสิ้น และต้องเปลี่ยนสถานะไปเรื่อย ๆ เพื่อให้อยู่อเมริกาต่อได้จนได้รับสิทธิ์ถาวร

หลัก ๆ คร่าว ๆ ก็มีอยู่ 3 ระดับด้วยกัน ได้แก่

1) วีซ่าชั่วคราว - คือวีซ่าประเภทที่มี "วันหมดอายุ" ซึ่งเป็นวีซ่าเริ่มต้นของทุกคนในการเข้าประเทศ วีซ่าชั่วคราวมีหลายชนิดมากกกกกซึ่งแต่ละชนิดก็จะมีสิทธิ์ไม่เหมือนกัน บางชนิดสามารถเข้าประเทศได้แค่ระยะสั้น ๆ ในขณะที่บางประเภทเข้าไม่ต้องออกเลยก็ยังได้ แต่สิ่งที่ทุกชนิดมีร่วมกันคือสักวันจะหมดอายุ แม้กระทั่งวีซ่าทำงาน หากหมดอายุก็จะต้องบินกลับประเทศ ไม่สามารถทำงานต่อที่เมกาได้อีก

2) Green Card (ผู้พำนักถาวร) - เนื่องจากวีซ่าชั่วคราวเปิดให้เราอยู่ได้แค่ไม่กี่ปีเท่านั้น เช่น วีซ่าทำงานยอดนิยม ก็อยู่ได้แค่ 6 ปีเท่านั้น แต่ถ้าต้องการอยู่นานกว่านั้น เราจะต้องเปลี่ยนสถานะเป็น "ผู้พำนักถาวร" ให้เรียบร้อยเสียก่อน คนที่ถือ Green Card จะได้สิทธิ์เกือบเหมือนพลเมืองสหรัฐ ฯ เลย แต่จะจำกัดกว่าหน่อย เช่น เลือกตั้งไม่ได้ รวมถึงออกไปต่างประเทศนานไม่ได้ อาจถูกเพิกถอน Green Card ได้เหมือนกัน

3) US Citizenship (พลเมืองสหรัฐ ฯ) - หลังจากผ่านถือ Green Card ได้ 5 ปี พร้อมผ่านเงื่อนไขที่กำหนดไว้ เราจะมีสิทธิ์สมัครเป็นพลเมืองสหรัฐ ฯ ได้ ซึ่งถ้าผ่านก็จะได้รับสิทธิ์ทุกอย่างครบถ้วนรวมไปถึง US Passport และสิทธิ์เลือกตั้ง

ตามสเต็ปของคนที่ได้ US Citizenship ก็ต้องผ่านทั้งสามขั้นตอนนี้มากันหมดทั้งนั้น ก็ต้องยอมรับว่าเมกาเป็นประเทศที่ย้ายมาอยู่ยากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ดังนั้นการจะดิ้นรนหาหนทางเพื่อย้ายมาใช้ชีวิตอยู่ที่นี่นี่ไม่ได้ง่ายเลย ส่วนใหญ่ต้องใช้เวลาเป็นปี ๆ (หรือหลายปี) กว่าจะได้สถานะอย่างที่เขียนไว้ด้านบนมาครอบครอง

ดังนั้นหากคุณแค่คิดจะย้ายออกจากประเทศไทยเพื่อหาที่อื่นอยู่ สหรัฐอเมริกาอาจจะไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุด แต่ถ้าคุณลองบินมาเที่ยวแล้วชอบวิถีการใช้ชีวิตที่นี่ ก็ลองทำตามขั้นตอนดูได้

สำหรับคนที่โดนขู่ขนาดนี้แล้วยังไม่ถอดใจ ก็มาค่อย ๆ เรียนรู้กันทีละขั้นเลยละกันว่าเราจะยื่นขอสถานะในแต่ละประเภทด้วยวิธีไหนได้บ้าง โดยขอเริ่มต้นจาก "วีซ่าชั่วคราว" ก่อนเลย

ประเภทของวีซ่าชั่วคราวที่ให้เราอยู่ยาว ๆ ได้ไม่โดนไล่กลับ

อย่างที่บอก "วีซ่าชั่วคราว" คือจุดเริ่มต้นของทุกสิ่ง และจะบอกว่านี่คือหนึ่งในสิ่งที่ยากที่สุดแล้วในการได้มา การสมัครวีซ่าท่องเที่ยวเมกาอาจจะง่ายมาก แต่ถ้าเป็นวีซ่าพำนักอาศัยแบบชั่วคราวแล้วหละก็ ขอยากสุด ๆ ก็มาดูกันว่ามีแบบไหนบ้างที่เราจะพอสมัครกันได้

H-1B: วีซ่าทำงานชั่วคราวยอดนิยม

เป็นวีซ่าทำงานมาตรฐานที่ผู้คนที่นี่ถือกัน แบ่งเป็นหลายกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มทำงานการศึกษาสูง (รายได้สูง), กลุ่มวิจัย และกลุ่มงานด้านแฟชั่น วิธีที่ได้มาคือ บริษัทที่จ้างงานจะต้องเป็นคนขอให้ (เรียกว่า Petitioner) ทำให้วีซ่านี้ผูกกับที่ทำงานไปในตัว

และเนื่องจาก H-1B เป็นวีซ่าทำงานหลักที่บริษัทที่นี่ยื่นขอกันเพื่อให้คนได้ทำงาน ทำให้จำนวนคำขอจึงล้นจำนวนโควต้าที่เปิดรับในแต่ละปี (ประมาณ 65,000 คน) ผลคือใบสมัครจะต้อง "ถูกจับสลาก" ก่อน โอกาสได้ก็อยู่ราว ๆ เพียง 1 ใน 4 เท่านั้น หากจับสลากไม่ได้ก็ต้องยื่นใหม่ในปีถัดไปจนกว่าจะถูกหวย (แต่ข่าวดีคือปีหลัง ๆ โอกาสได้สูงขึ้นสำหรับกลุ่มงานโปรแกรมเมอร์ เพราะเริ่มมีคัดใบสมัครที่ไม่ตรงสายงานออกไปก่อนจับสลากด้วย)

ด้วยเหตุผลนี้ H-1B จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนที่จะมาทำงานต่างลุ้นตัวโก่งว่าจะได้มั้ยเพราะถือเป็นวีซ่าประเภทสมัครเฉย ๆ ที่สมัครง่ายสุดแล้ว จะสมัครวีซ่าอื่นนี่ยากกว่านี้มากจนถึงเป็นไปไม่ได้เลย หากจับสลาก H-1B ไม่ได้นี่แผนชีวิตอาจจะพังไปเลยเพราะการต้องรออีกปีไม่ได้แปลว่าบริษัทจะรอเรานะ ก็ต้องหาวิธีต่อไป (ไปดูข้างล่างต่อว่าทำยังไงได้บ้าง)

ทั้งนี้ H-1B มีอายุเพียง 3 ปี แต่สามารถต่ออายุได้ 1 ครั้ง รวมแล้วไม่เกิน 6 ปี จากนั้นจะไม่สามารถสมัคร H-1B ได้อีก หากอยากอยู่ต่อต้องเปลี่ยนสถานะเท่านั้น

และก็อย่างที่บอก H-1B ผูกกับบริษัทและตำแหน่งงาน ถ้าต้องการเปลี่ยนงานจะต้องทำการยื่นขอ H-1B ใหม่ หรือที่เรียกว่า H-1B Transfer ครับ ซึ่งทำง่ายกว่าสมัคร H-1B ใหม่แต่ต้น ไม่ต้องจับสลากหรือดูโควต้าใหม่ คนที่ถือ H-1B ที่นี่เลยเปลี่ยนงานได้เรื่อย ๆ

L-1: วีซ่าย้ายมาจากสาขาต่างประเทศ

ถ้าจับสลาก H-1B ได้ก็โชคดีไป แต่ถ้าไม่ได้หละ ?

ข่าวดีสำหรับผู้ทำงานบริษัทข้ามชาติที่มีสาขาอยู่นอกสหรัฐ ฯ เราสามารถไปทำงานที่สาขาประเทศอื่นก่อนได้ แล้วค่อยสมัครวีซ่าประเภท L-1 หรือวีซ่าโอนย้าย โดยเงื่อนไขคือ จะต้องทำงานที่ประเทศนอกเมกาก่อนอย่างน้อย 1 ปี

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าอยากทำงาน Google เมกา ก็ไปทำงานที่ Google ญี่ปุ่นก่อน 1 ปี แล้วค่อยย้ายไปอยู่สาขาเมกา

การที่วิธีนี้มีปัจจัยที่ควบคุมได้เยอะกว่า H-1B ทำให้บริษัทข้ามชาติใหญ่ ๆ หลายเจ้าเลยเลือกใช้วิธีนี้สำหรับคนที่จับ H-1B ไม่ผ่าน อาจจะไม่ถูกใจคนทำงานที่ต้องไปทำประเทศอื่นก่อน แต่อยากมาเมกาก็ต้องอดทนอ่ะนะ

ข้อจำกัดเล็ก ๆ ของ L-1 คือ เราไม่สามารถย้ายงานได้เลย ไม่มีวิธี Transfer เหมือน H-1B ครับ ถ้าอยากย้ายงานต้องเปลี่ยนสถานะเป็นผู้ถือ Green Card ก่อน ไม่งั้นก็ต้องอยู่ที่เดิมต่อปาย

สำหรับอายุของ L-1 อยู่ที่ 7 ปีสำหรับกลุ่ม Executive (L-1A) และ 5 ปีสำหรับกลุ่มคนทำงาน (L-1B) หากอยากอยู่ต่อก็ต้องย้ายสถานะเช่นกันครับ

L-2: วีซ่าคู่สมรสผู้ถือ L-1

จะให้มาคนเดียวก็คงจะเปลี่ยนไป ผู้ถือ L-1 สามารถพาคู่สมรสและบุตรมาอยู่ด้วยได้ทันที โดยวีซ่าที่ขอจะเป็นวีซ่า L-2

สำหรับผู้ถือ L-2 เบื้องต้นแล้วจะไม่มีสิทธิ์ทำงานในสหรัฐ ฯ แต่ก็สามารถยื่นขอ Employment Authorization Document (EAD) เพื่อรับสิทธิ์ทำงานได้ ซึ่งการขอก็ไม่ยากครับ แค่ต้องรอราว 90 วัน

H-4: วีซ่าคู่สมรสผู้ถือวีซ่า H-1B

แน่นอนว่า H-1B ก็พาคู่สมรสและบุตรมาอยู่ด้วยได้ แต่วีซ่าที่ได้จะเป็นประเภท H-4 ซึ่งก็สามารถยื่นขอ EAD ได้เหมือนกัน แต่ดูเหมือนจะวุ่นกว่าของ L-2 หน่อย ๆ เพราะจะขอได้ก็ต่อเมื่อผู้ถือ H-1B ยื่นขอ Green Card แล้วเท่านั้น ยิ่งช่วงหลังนี่วุ่นกว่านั้นอีกเพราะทรัมป์ก็เริ่มออกมาแง่ง ๆ ว่าจะไม่ให้ผู้ถือ H-4 ทำงานได้แล้ว ก็ต้องรอดูกันต่อไป

O-1: วีซ่าดร./เซเลป

สำหรับผู้มีชื่อเสียงด้านการศึกษา ศิลปะ การกีฬา ดารา หรืออะไรก็ตามแต่ จะสามารถสมัครวีซ่าประเภท O-1 ได้ อย่าง จัสติน บีเบอร์ ก็สมัครอันนี้

วีซ่านี้มีความพิเศษและความงงหน่อยเรื่อยของวันหมดอายุ โดยปกติวีซ่า O-1 จะมีอายุ 3 ปี แต่สามารถต่อเพิ่ม 1 ปีได้เรื่อย ๆ แต่ถ้าพบว่าคนนั้นไม่ได้ทำงานด้านที่ขอมาในเมกาแล้ว ก็จะถูกไม่ให้ต่อได้เช่นกัน รวมถึงถ้าตอนขอพบว่าเป็นการมาทำงานระยะสั้น ๆ ก็อาจจะได้น้อยกว่า 3 ปี

สำหรับคนที่จะมาทำงานฮอลลีวู้ดยาว ๆ ก็ลองสมัครวีซ่าตัวนี้ดูนะครับ ...

F-1: วีซ่านักเรียน

ก็ตรงไปตรงมา คนที่มาเรียนที่นี่ก็ต้องขอวีซ่าอยู่แล้วเนอะ ซึ่งวีซ่าที่จะได้คือ F-1 ครับ ระยะเวลาตามช่วงเวลาที่ใช้ในการเรียนเลย

สำหรับการทำงาน นักเรียนจะสามารถทำงาน Part-Time หรืองานในสถาบันการศึกษาได้ โดยจำกัดไม่เกินสัปดาห์ละ 20 ชั่วโมง (จริง ๆ มีรายละเอียดมากกว่านี้ ใครสมัครเรียนไว้ศึกษาเพิ่มละกันนะะะะ แต่วีซ่านี้เค้าเน้นเรียน ไม่ได้เน้นทำงาน ก็อย่าหวังรวยจากการสมัครวีซ่านักเรียน มันผิดดดด)

OPT: วีซ่าชั่วคราวนักเรียนหลังเรียนจบ

หลังจากเรียนจบแล้ว เราจะสามารถว่างงานได้ 3 เดือน จากนั้นวีซ่า F-1 จะถูกเปลี่ยนเป็นสถานะ Optional Practical Training (OPT) ซึ่งสามารถใช้ทำงานในด้านที่เรียนมาและอยู่ในสหรัฐ ฯ ต่อได้อีก 1-3 ปี แล้วแต่เงื่อนไขของแต่ละคน (เลขตรงนี้เปลี่ยนไปตามยุคสมัย)

อย่างไรก็ตาม ก่อนจะเริ่มทำงานได้ จะต้องยื่นขอ EAD ก่อนด้วย มิฉะนั้นผิดกฎหมายนะฮ้าบบบ

โดยส่วนใหญ่คนที่ถือ OPT จะใช้โอกาส 1-3 ปีนี้ในการยื่นขอ H-1B มากกว่าถือ OPT ไปยาว ๆ สาเหตุเพราะ H-1B มีโควต้า 20,000 อัตราสำหรับผู้เรียนจบโทหรือเอกในสหรัฐ ฯ ซึ่งจะมีโอกาสจับสลากได้สูงกว่า และ H-1B ก็มั่นคงกว่า OPT มาก สามารถต่ออายุได้ยาว ๆ (6 ปี) อีกด้วย คนเลยอยากได้ H-1B กันมากกว่า

และนี่เป็นเหตุผลว่าทำไมการมาเรียนที่นี่จึงเป็นวิธีในการหาวีซ่าทำงานที่ดี(มาก) มันมีโอกาสสูงกว่าในหลาย ๆ ส่วน แม้แต่คนที่ถือ H-4 (คู่สมรสของ H-1B) หลาย ๆ คนก็เลือกจะไปเรียนต่อและเปลี่ยนวีซ่าเป็น F-1 เพราะโอกาสที่จะได้วีซ่าทำงานนั้นสูงกว่า ไม่ต้องรอคู่สมรสทำ Green Card

J-1: วีซ่าฝึกงาน/แลกเปลี่ยน

สำหรับคนที่มาฝึกงานหรือแลกเปลี่ยน (Exchange) ที่บริษัทในสหรัฐ ฯ ก็สามารถยื่นขอวีซ่า J-1 ได้

ข้อดีคือของ่ายกว่า H-1B มาก ไม่มีจำกัดจำนวนในแต่ละปี และไม่มีการพิจารณาค่าแรง (ซึ่ง H-1B มีอยู่ในเกณฑ์) แถมคู่สมรส (J-2) ยังสามารถยื่นขอ EAD เพื่อทำงานได้ทันที แต่ข้อเสียสุด ๆ ของสุด ๆ คือ หลังจากวีซ่าหมดอายุแล้ว ผู้ที่เคยถือ J-1 จะต้องกลับประเทศและไม่สามารถสมัครวีซ่าทำงานได้อีก 2 ปี (Two Year Home Residency)

ถ้าใครจะทำงานแล้วได้ข้อเสนอเป็นวีซ่าตัวนี้ก็พิจารณาดี ๆ

K-1 & K-3: วีซ่าคู่สมรสพลเมืองสหรัฐ ฯ

สำหรับคนไทยที่จะแต่งงานกับพลเมืองสหรัฐ ฯ ก็สามารถขอวีซ่าคู่หมั้น (K-1) ซึ่งเป็นวีซ่าชั่วคราวเพื่อใช้บินไปแต่งงานและรอคำขอเปลี่ยนเป็นวีซ่าคู่สมรส (K-3) รวมถึงบุตรที่ยังไม่แต่งงานและอายุไม่เกิน 21 ปี ก็จะได้วีซ่า K-4 ไปด้วย (เหมือน K-3 แต่เป็นสถานะบุตร)

ซึ่ง K-3 และ K-4 ก็เป็นวีซ่าชั่วคราวอีกเพราะในกรณีนี้ คู่สมรสและบุตรจะต้องได้ Green Card เลย เพียงแต่ระยะเวลาในการอนุมัตินั้นยาวนานมาก ร่วมปี ทำให้ช่วงระหว่างรออนุมัติ คู่สมรสและบุตรจึงไม่สามารถเข้าประเทศไปอยู่ด้วยยาว ๆ ได้ ถ้าอยากอยู่ก็ต้องขอ K-3 และ K-4

แต่ในความจริง K-3 และ K-4 ก็ใช้เวลาอนุมัตินานมากกกกกเช่นกัน บางทีได้ Green Card ก่อนเสียอีก (อ้าว) ทนายเลยไม่ค่อยแนะนำให้สมัคร K-3 เท่าไหร่นัก ให้ยื่น I-130 (แบบฟอร์มขอ Green Card) แล้วรอเรียกสัมภาษณ์เลยดีกว่า ระหว่างนั้นก็อดทนรอกันไป

สรุป คนที่จะแต่งงานกับพลเมืองสหรัฐ ฯ จะข้ามจากวีซ่าชั่วคราวไปเป็นผู้พำนักถาวร (Green Card Holder) เลยนะครับ

ซึ่งถึงจะฟังดูดี แต่เอาเข้าจริงนี่เลยเป็นสาเหตุให้การขอ Green Card ในกรณีนี้จึงต้องผ่านขั้นตอนเยอะมาก เพื่อให้แน่ใจว่าเป็นการแต่งงานด้วยความรักจริง ไม่ได้แต่งงานเพียงเพื่อหลบหนีเข้าประเทศ

หากมีกลิ่น โอกาสไม่ได้และโดน Blacklist ก็มีครับ สำหรับคนที่หวังทางลัดก็ระวังไว้ เตือนละน้าาาา

ขอสถานะผู้ลี้ภัย

ถ้าสามารถพิสูจน์ได้ว่าการกลับประเทศจะทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิต เราก็สามารถขึ้นศาลและขอสถานะผู้ลี้ภัยได้ ไม่ว่าจะเป็นลี้ภัยทางศาสนา เผ่าพันธุ์ หรือทางการเมืองก็ตาม

อันนี้จะสามารถอยู่ได้ยาว ๆ จนกว่าจะโดนถอนสถานะผู้ลี้ภัยครับ

ไม่มีคำแนะนำใด ๆ ในการสมัครข้อนี้ ...

สู่สถานะผู้ถือ Green Card (พำนักถาวร)

ก็จะเห็นได้ว่าเกือบทุกกรณีด้านบนจะเป็นการอยู่ชั่วคราวทั้งสิ้น (ยกเว้นคู่สมรสพลเมืองสหรัฐ ฯ) ถ้าหมดอายุก็ต้องกลับไทย แต่ถ้าอยากอยู่ยาว ๆ แบบ ยาว ย๊าวววว ยาว หละ ? ก็ต้องขยับสถานะขึ้นมาเป็น "ผู้พำนักถาวร" (Permanent Resident) ซึ่งเบื้องต้นสำหรับสหรัฐ ฯ คือสถานะ "ผู้ถือ Green Card" ครับ

ผู้ถือ Green Card จะมีสิทธิ์ประหนึ่งพลเมืองสหรัฐ ฯ ยกเว้นสิทธิ์เลือกตั้ง รวมถึงมีข้อจำกัดในการเดินทางนิดหน่อยว่าไม่ควรออกนอกประเทศนานเกิน 6 เดือน เพราะจะโดนเพิกถอน Green Card ได้

ส่วนการทำงานนี่อิสระเลย อยากทำอะไรก็ทำ สามารถย้ายงานได้ตามต้องการ ไม่วุ่นวายเหมือนตอนถือ H-1B อะไรพวกนั้นอีกแล้ว

Green Card ก็เลยนับเป็นสิ่งที่ผู้คนที่คิดจะอยู่ยาวหรือเปลี่ยนสัญชาติโหยหา แต่ก็ไม่ได้สมัครง่าย ๆ เพราะไม่ใช่เราจะสมัครเองได้ ต้องให้ผู้ว่าจ้างเป็นคนทำให้ (ดังนั้นคนนั้นจะต้องคุ้มค่ากับการทำเรื่อง ไม่งั้นก็ให้วีซ่าหมดอายุแล้วให้กลับประเทศไปดีกว่า) หรือถ้าเป็นเศรษฐีร้อยล้าน ก็พอมีวิธีสมัคร Green Card เองได้อยู่ หลัก ๆ มีอยู่สองวิธีด้วยกัน อ่ะ ตามนี้

ผู้ว่าจ้างยื่นสมัครให้

ก็ตรงไปตรงมา ผู้ว่าจ้างจะต้องยื่นขอ Green Card ให้ลูกจ้างคนนั้นก่อนที่วีซ่าชั่วคราวจะหมดอายุอย่างน้อย 1 ปี โดยเริ่มต้นจากขอ Permanent Labor Certification (PERM) ซึ่งวุ่นวายมาก ต้องประกาศหางานเพื่อให้มั่นใจว่าไม่แย่งตำแหน่งคนในสหรัฐ ฯ และก็บลา ๆ ๆ ๆ ๆ แค่ขั้นตอนนี้ก็ซัดไปแล้ว $6,000 ... นี่ยังไม่รวมค่าทนายนะ

ถ้าผ่านก็กรอกฟอร์มขอ Green Card ในหมวดที่คิดว่าเรา Qualify (ส่วนใหญ่ก็คือคนสกิลสูงหรือไม่ก็เคยทำงานให้รัฐบาลสหรัฐ ฯ) แล้วก็รอ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ รอไปเป็นปีกว่าจะได้

และนี่เป็นเหตุผลว่าทำไมผู้ว่าจ้างจึงไม่ได้ขอ Green Card ให้ง่าย ๆ ต้องแน่ใจก่อนว่าคุ้มค่ากับการลงทุนทั้งเงินและเวลา (แต่สำหรับบริษัทใหญ่ก็ไม่มีปัญหาเท่าไหร่ ขอกันให้พรึบ)

E-B5: Green Card สำหรับนักลงทุน

หากคุณลงทุนในสหรัฐ ฯ $1,000,000 (หรือ $500,000 ในพื้นที่ที่กำหนด) และสร้างงานได้อย่างน้อย 10 อัตรา คุณจะสามารถยื่นขอ Green Card ประเภทนักลงทุน (E-B5) ได้ทันที

ก็ไม่มีอะไรมาก ถ้าคนรวยอยากย้ายประเทศก็จัดไปได้เลย แต่โควต้าก็มีอยู่จำกัด ปีนึงจะได้ประมาณ 3,000 ที่ครับ

ซึ่งจริง ๆ ก็เยอะอยู่นะ ...

ถือสัญชาติสหรัฐ ฯ (US Citizenship)

สุดท้าย หลังจากถือ Green Card มาได้สักพักนึงและทำทุกอย่างครบตามเงื่อนไข เราก็จะสามารถเปลี่ยนมาถือสัญชาติสหรัฐ ฯ ได้ โดยเงื่อนไขมีดังนี้

- ต้องถือ Green Card อย่างน้อย 5 ปี

- ในช่วงที่ถือ Green Card เราอาศัยอยู่ในเมกาอย่างน้อย 300 วัน

- อายุ 18 ปีเป็นอย่างน้อย

- ตอนยื่นขอ US Citizenship ไม่ได้บินไปอยู่ที่ไหน ต้องอยู่ในประเทศ

- สื่อสารภาษาอังกฤษได้

- ไม่มีคดีอาชญากรรมติดตัว

- รู้ประวัติศาสตร์สหรัฐ ฯ (มีการสัมภาษณ์)

ซึ่งขั้นตอนก็ใช้เวลานานพอสมควร และพอได้แล้วก็จะได้รับ US Passport พร้อมได้สิทธิ์พลเมืองสหรัฐ ฯ ครบถ้วนทุกประการครับ เช่น เลือกตั้ง การเดินทางไปประเทศต่าง ๆ โดยไม่ต้องขอวีซ่า รวมถึงขอ US Citizenship ให้ลูกที่เกิดที่ต่างประเทศ

กระบวนการทั้งหมดก่อนจะมาถึงจุดที่ได้ถือสัญชาติสหรัฐ ฯ อย่างเร็วก็ 6 ปี แต่โดยเฉลี่ยก็เกือบ ๆ 10 ปีครับ ถ้าอยากจะย้ายมาจริง ๆ ต้องอดทนและใจรักมาก

FAQ

มาถึงส่วนคำถามพบบ่อย

Q: ถือวีซ่าท่องเที่ยวบินมาคลอดลูก (Birth Tourism) แม่ได้ Citizenship มั้ย ?

A: ลูกได้ US Citizen แต่แม่ไม่ได้ ต้องรอลูกอายุ 21 ก่อนถึงจะขอวีซ่าให้แม่ได้ แต่โอกาสที่แม่จะโดนแบนไม่ให้เข้าสหรัฐ ฯ อีกหลังจากคลอดเสร็จแล้วก็มี เป็นการกระทำที่ไม่ผิดกฎหมาย แต่ใครคิดจะทำก็รับความเสี่ยงดี ๆ อาจจะไม่ได้เลี้ยงลูกเองนะ

Q: การได้ US Citzenship มีข้อเสียอะไรมั้ย ?

A: เรื่องไม่ดีที่ต้องแลกมาเล็กน้อยคือ เราจะต้องภาษีรายได้ที่ได้นอกประเทศสหรัฐ ฯ ด้วย (คือเสียทั้งประเทศปลายทางและเสียทั้งเมกาเลย เสียไปสองทางเลย)

Q: ทำยังไงให้หางานที่เมกาได้

A: ตัวใครตัวมันจ้าาาา

ส่งท้าย

ก็หวังว่าจะมีประโยชน์สำหรับบทความแรกในซีรี่ส์นี้ ข้อมูลเยอะนิดส์ แต่คิดว่าน่าจะละเอียดพอ เดี๋ยวจะปั่นเรื่องอื่น ๆ ออกมาเรื่อย ๆ คร้าบ

ไปละ แว้บบบบ

บทความที่เกี่ยวข้อง

Jan 4, 2017, 14:22
580508 views
เปลี่ยนวิธีคิดชีวิตก็เปลี่ยน เรื่องของ "Mindset" สิ่งสำคัญที่กำหนดเส้นทางชีวิตของแต่ละคน
Jun 16, 2019, 13:16
31911 views
Divide and Conquer เทคนิคแก้ปัญหาซับซ้อนด้วยการแบ่งเป็นปัญหาย่อย ๆ แล้วจัดการสอยมันให้ร่วงทีละอย่าง
0 Comment(s)
Loading