"มีเพื่อนดี คนเดียว ถึงจะน้อย ดีกว่าร้อย เพื่อนคิด ริษยา..."
บันทึกการหลุดพ้นจากบ่วงกรรมการอ่อน "ภาษาอังกฤษ" ใน 2 ปี
26 Sep 2015 20:58   [69940 views]

บ่นมาตลอดชีวิตว่าอ่อนภาษาอังกฤษและรู้สึกไม่มีความมั่นใจใดๆเลย แต่ล่าสุดตอนนี้สามารถพาคนต่างชาติไปเที่ยว พูดคุยกันได้อย่างปกติสุขจนถึงขั้นเล่นตลกแกล้งเค้าได้แล้ว รวมถึงงานเขียนตอนนี้ก็เขียนบล็อกบริษัทเป็นภาษาอังกฤษเรียบร้อย ยอดคนอ่านรวมแล้วหลายแสนวิวจนตอนนี้มีคนติดตามบล็อกจากหลายประเทศทั่วโลก โดนยุให้เขียนบล็อกบ่อยๆตลอดเว

ตอนนี้ก็เลยสามารถ ฟังพูดอ่านเขียน ได้ครบแล้ว ถือว่าเป็นภาษาที่สองของชีวิตอย่างเป็นทางการ ถึงจะยังไม่ได้อยู่ในระดับที่คล่องขนาดเปิดคอร์สเรียนภาษาอังกฤษได้ แต่คิดว่าถ้าเป็นการ Pitch สั้นๆหรือพรีเซ็นต์สั้นๆ ก็น่าจะได้แล้ว

จากวันนั้นมาวันนี้ ระยะเวลา 2 ปีนิดๆ ... ทำได้ยังไง?

วันนี้เลยขอมาบันทึกสิ่งที่ทำให้หลุดพ้นจากบ่วงกรรมการอ่อนภาษาอังกฤษไปได้ในเวลา 2 ปีครับป๋ม เพราะเนยเชื่อว่ายังมีอีกหลายคนที่อ่อนภาษาอังกฤษแบบเนยและต้องการพัฒนาตน สำหรับเนยแล้วภาษาอังกฤษนี่สำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่อยู่สายนักพัฒนา หากไม่ได้ภาษาอังกฤษ ชีวิตคุณจะชนเพดานที่โตไปไหนไม่ได้อีก แต่ถ้าได้ภาษาอังกฤษก็ไม่มีอะไรรั้งคุณได้อีกแล้วนอกจากความสามารถของคุณเอง

อย่าทำร้ายตัวเองด้วยการเอาแต่ภาษาไทยเลยครับ เชื่อเนย โลกนี้กว้างใหญ่นะ ใหญ่มาก ...

งั้นมาเริ่มกันเลยละกันนะ !

ไม่ว่าใครก็ฝึกภาษาอังกฤษได้

แต่ก่อนก็เคยคิดนะว่าภาษาอังกฤษเป็นเรื่องของความสามารถเฉพาะตัวที่ฝึกกันไม่ได้

แต่หลังจากใช้ชีวิตผ่านไปเรื่อยๆ เจอแม่ค้าหรือผู้คนตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆพูดภาษาอังกฤษแบบ Tinglish (ไม่สนใจ Tense ใดๆ สลับตำแหน่งไปมาผิด) แต่ก็สื่อสารกับต่างชาติได้อย่างไม่มีปัญหาก็ทำให้รู้แล้วว่าจริงๆแล้ว Key หลักอยู่ที่ "การฝึกฝน" ล้วนๆเลย

คนที่ทำอาชีพที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษ อีกไม่นานก็จะใช้ภาษาอังกฤษได้ขึ้นมาเอง

จริงๆต่อให้เป็นภาษาไทยก็เถอะ มีคนจำนวนมากที่อ่านเขียนไม่ได้ แต่ก็พูดภาษาไทยได้และด่าเพื่อนได้ไฟแล่บ เพราะอะไร? เพราะใช้ทุกวันไงครับ จริงป่ะหละ?

ตอนที่เราเรียกพ่อแม่ครั้งแรกเราเรียนภาษาไทยหรอ? ก็เปล่า เราใช้ตะหาก!

ดังนั้นพูดเลยว่า "ใครก็ฝึกภาษาอังกฤษได้" ครับและ "ไม่มีคำว่าสายเกินไป" ด้วย แต่ก็เหมือนภาษาไทยอีกนั่นแหละ อาจจะไม่ใช่ทุกคนที่จะเก่งระดับนักภาษาศาสตร์ แต่ถ้าในระดับที่สามารถเอาตัวรอดและใช้ชีวิตต่อไปได้อีกขั้น ทุกคนทำได้แน่ๆครับ ดังนั้นขอให้ทุกคนมั่นใจและตั้งมั่นจะฝึกฝนนับจากนี้ =)

เริ่มจากพื้นฐาน

อย่างไรก็ตาม ในบทความนี้เราจะพูดถึงการฝึกภาษาอังกฤษจริงๆที่ไม่ใช่ Tinglish ซึ่งแน่นอน การฝึกฝนในชีวิตจริงอย่างเดียวไม่พอแน่ๆ สิ่งที่ต้องรู้เป็นอย่างแรกเลยคือ "พื้นฐาน" ครับ

ขอบอกก่อนเพื่อไม่สปอยล์ว่าเนยมีพื้นฐานด้านภาษาอังกฤษมาพอสมควรจากตอนเรียนอัสสัมชัญ เคยเก่งภาษาอังกฤษมากตอนหนึ่ง แต่ก็เกลียดภาษาอังกฤษมากจากเหตุผลบางอย่างตอนอยู่อัสสัมฯนั้นนั่นเอง ซึ่งไม่ขอพูดถึงละนะ เคยเขียนบล็อกไว้ครั้งนึงละ

และจากนั้นเป็นต้นมาก็ปฏิเสธที่จะเรียนรู้ภาษาอังกฤษมาตลอด และก็เข้าสู่วังวน "ความอายในการใช้ภาษาอังกฤษ กลัวว่าผิดแล้วโดนด่า" ไปในที่สุด ซึ่งน่าจะเป็นกันเยอะใช่มะ นั่นแล เดี๋ยวไว้จะเล่าอะไรให้ฟัง ...

แค่อยากจะบอกว่าพื้นฐานก็สำคัญมากๆ จะศึกษาอะไรก็ควรศึกษาที่แก่น (Foundation) เพื่อที่จะต่อยอดไปขั้นสูงขึ้นได้ง่ายๆนั่นเอง

สิ่งที่ควรจะรู้คือเรื่องพื้นฐานสุดๆ อย่างโครงสร้างของประโยค ประธาน กริยา กรรม รวมถึงรูป Tense และคำเชื่อมต่างๆ

อาจจะมีบ้างที่ต้องท่องจำ เช่นเรื่องของ in on at up below above ที่ต่างกันเล็กน้อยก็ใช้ต่างกันละ อย่างเช่น on Monday หรือ in the evening พวกนี้ควรจะรู้ไว้ว่ามีของแบบนี้อยู่ครับ เพื่อที่ตอนฝึกขั้นต่อไปจะได้ไม่รู้สึกงง

แล้วถ้าเริ่มจาก 0 โดยไม่รู้เรื่องพวกนี้เลยควรจะทำยังไง? แนะนำให้เรียนครับ หาครูเก่งๆซึ่งมีอยู่เยอะมากเลยตอนนี้ที่สามารถสอนสนุกจนทำให้เข้าใจภาษาได้อย่างรวดเร็ว เป็นวิธีที่สั้นที่สุดแล้ว

แต่เนยแนะนำไม่ได้จริงๆว่าท่านไหนดีหรือไม่ดีอย่างไรเพราะส่วนตัวไม่มีเงินและเวลาไปเรียนจริงๆ สารภาพ ... อาศัยฝึกเอาเองเป็นหลักครับ แต่ก็ทำให้ไปได้ช้าพอสมควร

ยังไงหลังจากเข้าใจเรื่องพื้นฐานแล้ว มีอย่างนึงที่ต้องปลดล็อคทางความคิดก่อนจะไปต่อได้ด้วยดีครับ

ปลดล็อคทางความคิด: เลิกกลัว เลิกอาย ผิดก็ยอมรับว่าผิดและแก้ไข

ปัญหาอย่างนึงซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ๆในไทยเลยคือ พอใช้ภาษาอังกฤษไม่ดี คนรอบตัวจะชอบล้อ จากนิสัยการชอบล้อปมด้อยคนอื่นที่เห็นได้โดยทั่วไปนั่นเอง

ลองสิ พูดภาษาอังกฤษบนรถไฟฟ้า คนหันมามองตั้งแต่โบกี้แรกยันโบกี้สุดท้าย คนขับนี่แทบจะจอดลงมาดูหน้า (ก็เว่อร์ไปนิด)

บอกเลยว่านี่เป็นอุปสรรคชิ้นใหญ่ที่สุดเลยหละ ...

ตัวเราก็เจอมาตลอดเช่นกัน แต่สุดท้ายก็หลุดมาได้จากการ ... "ไปอยู่สิงคโปร์"

ตลกดี ...

การอยู่ที่นั่นถึงแม้จะระยะเวลาสั้นๆแค่ 3 เดือน ก็ทำให้เรารู้สึกว่า ผิดก็ผิดดิวะ! ไม่มีใครล้อหรือรังเกียจแม้แต่คนเดียว (อาจจะมีพ่อค้าแม่ค้าทำหน้ารำคาญบ้างแต่ก็ร้อยพ่อพันแม่แหละนะ ช่างเค้าดิ) พอผิดก็มีคนถามว่าหมายถึงแบบนี้รึเปล่า มีคนคอยแก้และช่วยอีกต่างหาก

และนั่นถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่มากๆๆๆๆๆๆของตัวเรา

พอกลับไทยก็เริ่มใช้ภาษาอังกฤษเป็นปกติ แต่ก็ไม่ได้คล่องขึ้นเท่าไหร่นะ แค่พอพูดได้บ้าง ยังพูดผิดพูดถูกอยู่ แต่ความรู้สึก "กลัว" และ "อาย" หายไปแล้ว

หลังจากนั้นก็พัฒนาแบบขึ้นๆๆๆๆๆมาโดยตลอดเพราะจิตใจด้านลบที่ฉุดรั้งไว้โดนทำลายทิ้งไปแล้ว

สำหรับคนอื่นๆผมก็ไม่รู้จะบอกยังไงดี เอาเป็นว่าเราอยู่ในสังคมที่ผู้คนชอบล้อคนพูดภาษาอังกฤษไม่ถูกอยู่อ่ะ อันนี้พูดตรงๆ ขอให้ท่องไว้นะครับ

ช่างแม่ง

จริงๆไม่ได้เป็นแค่คนไทยด้วยนะ บางทีก็เจอ Troll จากเมืองนอกเหมือนกัน พวกที่มาด่าเสียๆหายๆว่ากากหวะ ภาษาอังกฤษไม่ได้ โปรแกรมมิ่งก็ไม่ได้หรอก กระจอกหวะ ไรงี้ ก็ทำไงดีหละ? ... ช่างแม่งไงครับ โกรธไปแล้วมีอะไรดีขึ้น? ไม่มี เอามาเป็นแรงผลักดันให้เก่งขึ้นสิ สำคัญ!

คนที่เค้าทำอย่างนั้นเค้าไม่หวังดีกับตัวเรา เราก็อย่าไปทำลายตัวเองตามประสงค์ร้ายของเค้า มาพัฒนาตัวเองจนเก่งให้เค้าอึ้งไปเลยดีกว่า !!

แต่สิ่งที่สำคัญของการช่างแม่งนะคือว่าว่าว่าว่า ไม่ใช่แค่ช่างอ่ะ แต่จะต้องกรองเอาความชั่วร้ายออกไปและเหลือแต่สิ่งดีๆเพื่อเอามาปรับปรุงตัวเองด้วย แล้วคุณจะเก่งขึ้นอย่างก้าวกระโดดเลยหละ

ปลดล็อคทางการกระทำ: หาที่ใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตจริง

ภาษาเป็นเรื่องทางการ "ปฏิบัติ" ครับ และการปฏิบัติจำเป็นต้อง "ฝึกฝน"

ย้ำอีกแปดที

ฝึกฝน ฝึกฝน ฝึกฝน ฝึกฝน ฝึกฝน ฝึกฝน ฝึกฝน ฝึกฝน

พูดเลยครับว่าปราศจากการฝึกฝนและการใช้จริง คุณจะไม่มีทางเก่งภาษาอังกฤษได้เลย เอาจริงๆเนี่ยแม้แต่คนที่ใช้ภาษาอังกฤษอย่างคล่องแคล่ว พอกลับมาอยู่ไทยและไม่ได้ใช้อีก ก็เป็นใบ้ไปแป๊บนึงเลยนะกว่าจะจูนกลับมาได้

ดังนั้นคุณต้องปรับพฤติกรรมตัวเองให้ไปอยู่ในบริเวณที่มีการใช้ภาษาอังกฤษครับ อันนี้สำคัญมาก อาจจะไปสิงตาม Coworking Space พอมีปาร์ตี้ก็ไปด้วย และใช้ภาษาอังกฤษเยอะๆครับ อย่าอาย อย่าเขิน

อันนี้ในไทยต้องยอมรับว่าเสียเปรียบอยู่หน่อยนึง บอกไม่ถูกจริงๆว่าจะไปอยู่ตรงไหนถึงจะใช้ภาษาอังกฤษกันเยอะๆได้ ยังไงลองหาดูและไปอยู่ครับ ตรงนี้คนไปอยู่เมืองนอกจะได้เปรียบหน่อย แค่ระยะเวลาสั้นๆก็จะเก่งภาษาอังกฤษขึ้นมาได้เลย แต่ควรเลือกไปอยู่ประเทศที่สำเนียงดีด้วยนะ ตอนเราไปสิงคโปร์ก็ลำบากอยู่พอตัว ...

สกิลที่ง่ายที่สุด: การอ่าน

หากถามว่าสกิลด้านภาษาอังกฤษที่ง่ายที่สุดในบรรดา "ฟังพูดอ่านเขียน" คืออะไร? ตอบได้ไม่ต้องคิดว่าคือการ "อ่าน" ครับ

การอ่านจะช่วยฝึกภาษาเราได้เป็นอย่างดี เพียงแต่ต้องอดทนให้มากๆ เนื่องจากในช่วงเริ่มต้นอ่านอะไรก็ติด ไอ่นี่ก็ไม่เข้าใจ ไอ่นี่แปลว่าอะไร จะหงุดหงิดมากและอ่านช้ามาก

แต่ถ้าแค่นี้แล้วยอมแพ้คุณวอดวายไปถึงฟังพูดเขียนแน่นอนครับ มันเป็นก้าวแรกที่สำคัญเอามากๆ ต้องอดทนไว้

จริงๆเราสามารถผ่านปัญหานี้ไปได้ง่ายๆเลยคือ เปิด Dictionary ซึ่งตอนนี้ง่ายกว่าแต่ก่อนมาก ไม่ต้องมาพลิกหนังสือเป็นเล่มๆแล้ว ติดคำไหนก็จิ้มสิครับ นี่เลยเจ้านี้คลาสสิคมาก http://dict.longdo.com/ หรืออยากจะลอง https://translate.google.com/ ก็ได้

ในช่วงเริ่มต้นเราแนะนำให้ทำตามนี้ครับ

1) พิมพ์สิ่งที่อยากอ่านออกมาเป็นเอกสาร (หรือที่เราเรียกว่า Hard Copy)

2) คำไหนแปลไม่ออก Highlight ไว้และเปิด Dict เขียนคำแปลไว้เหนือคำนั้น

3) ทำจนหมดแล้วอ่านทวน 2-3 รอบ

สุดท้ายถ้าทำแบบนี้ไปสักพัก สมองคุณจะสามารถจดจำได้ทั้ง Tense รูปประโยคและคำศัพท์เลยครับ อย่างที่บอก มันเป็นเรื่องของการฝึกฝนและความเคยชิน

อ่านให้มากๆครับ เริ่มตั้งแต่ตอนนี้ พยายามอ่านเว็บไทยให้น้อยลงและไปอ่านเว็บนอกมากขึ้นครับ นี่เป็นสิ่งที่เนยทำในช่วงการฝึกฝนการอ่าน (และตอนนี้ก็ไม่ค่อยได้อ่านเว็บไทยแล้วเช่นกัน)

ฝึกฝนการเขียนด้วยการเขียนบล็อก

สิ่งที่ยากขึ้นมาอีกนิดหน่อยคือ "การเขียน" ครับ

หลังจากที่อ่านได้ ทักษะการเขียนก็จะออกมาเอง แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณไม่เริ่มเขียน คุณก็ไม่มีทางเก่งหรอก (ก็บอกแล้วว่ามันเป็นงานปฏิบัติ)

แม้แต่ภาษาไทยอ่ะ คนที่อ่านเก่งๆก็เขียนหนังสือให้น่าอ่านไม่ได้ใช่ป่ะ ต้องฝึกเขียนเยอะๆ

ภาษาอังกฤษก็เช่นกัน เราควรจะเริ่มหัดเขียนจากเล็กๆน้อยๆเช่นโพสต์สเตตัสเฟสบุ๊คเป็นภาษาอังกฤษ แต่นั่นก็จะช่วยอะไรไม่ได้มากเพราะการโพสต์สั้นๆไม่ได้ช่วยให้คุณเขียนบทความยาวๆระดับ Essay ได้เลย เนยไม่ถือว่าการโพสต์สเตตัสเฟสบุ๊คได้คือเขียนภาษาอังกฤษได้นะ เวลาเขียนจริงมันมีอะไรลึกลับซับซ้อนกว่านั้นเยอะ

ถ้าอยากจะฝึกทักษะทางด้านการเขียนอย่างจริงจัง สิ่งที่เราแนะนำคือ "เขียนบล็อกเป็นภาษาอังกฤษ" ครับ ง่ายที่สุดแล้ว ถึงแม้คุณจะไม่มี Passion ในการเป็นนักเขียนก็ตาม แต่จำไว้ว่านี่คือการฝึกฝน เอาให้เก่งก่อนค่อยเขียนน้อยลงถ้าคุณไม่ชอบเขียน แต่อย่างน้อยทักษะนี้ก็จำเป็นและสำคัญ ทุกคนควรต้องมีไว้ครับ

เรื่องยากอย่างนึงคือ ทักษะการเขียนจะเชื่อมโยงกับทักษะการ "คิด" เป็นภาษาอังกฤษด้วย และนั่นเองจะเป็นอะไรที่ยากมากๆ หากคิดเป็นภาษาอังกฤษไปเขียนไป อาจจะทำให้คุณติดลูปมรณะได้

นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเราถึงเลือกเขียนบล็อกบริษัทเป็นภาษาไทยก่อนแล้วค่อยแปลเป็นภาษาอังกฤษ

โดยตอนแรกเราตั้งสมมติฐานว่ามันน่าจะดีนะ หลังจากทดลองจริงก็พบว่ามันดีจริงๆ กับการได้อ่านภาษาไทยก่อนแล้วสมองประมวลผลออกมาเป็นภาษาอังกฤษเป็นย่อหน้าๆ แล้วก็พิมพ์ออกมาเป็นภาษาอังกฤษได้ ช่วงแรกๆอาจจะยากหน่อย(อะไรที่เพิ่งหัดใหม่มันก็ยากหมดแหละ) ก็แนะนำให้เปิด Dict อีกเช่นกันครับ คำไหนติดก็เปิด Dict รูปประโยคไหนไม่มั่นใจว่าเค้าเขียนยังไง ให้ใช้ทักษะที่ได้จากการอ่านมาระลึกถึงรูปประโยคและ Search Google ดูครับ ...

จากนั้นก็ลอกมาเลยจ้าาาา

การทำแบบนี้จะพัฒนากระบวนการคิดเป็นภาษาอังกฤษได้ด้วย หลังจากที่เราทำมาได้สัก 10 บล็อก ก็พบว่าเราสามารถเห็นประโยคภาษาไทยและคิดเป็นภาษาอังกฤษได้ทันทีและพ่นออกมาอย่างสนุกสนาน ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ทำไม่ได้ ก็จะเห็นว่าการเขียนมันพัฒนาเรื่องการคิดได้เป็นอย่างดีและจะเชื่อมโยงกับทักษะการพูดได้อีกด้วย !

และที่สำคัญนะ สำคัญสุดๆเลย อย่าเขียนจบแล้วจบเลย หลังจากเขียนแล้วอยากให้หาคนพิสูจน์อักษร (Proofread) ด้วยครับ เพื่อแก้ไขสิ่งที่เราพิมพ์ผิด ขอให้อดทนต่อคำด่าไว้นิดนึง พอผ่านไปสักระยะนึงคุณจะสามารถเขียนสิ่งต่างๆออกมาได้อย่างง่ายดาย ไม่ใช่เพราะอะไร ... เพราะคุณเคยทำมาแล้วนั่นเอง =)

ก็อาจจะยากหน่อยเพราะขนาดยุให้เขียนบล็อกภาษาไทยก็ยังมีคนเขียนน้อยอยู่เลย แต่เพื่อตัวคุณเองครับ หากรักตัวเองและอยากจะเก่งก็ลงมือทำซะ

ฝึกฝนการฟังด้วยการดูซีรี่ส์เยอะๆ

ส่วนตัวแล้วสกิลการฟังและพูดเป็นอะไรที่ยากแบบก้าวกระโดดจากการเขียนและอ่านเอามากๆ ดังนั้น ... คุณต้องฝึกฝนหนักขึ้นอีกสี่สิบห้าเท่านะ จำไว้ๆ

ซึ่งหลังจากคุณเขียนบล็อกและได้เรื่องการเขียนแล้ว คุณจะได้เรื่องการพูดมาด้วย แต่อาจจะยังไม่พอที่จะไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ เพราะสกิลการฟังและพูดมันมาพร้อมกัน คุณคงไม่บ้าพูดคนเดียวหรอกมั้ง จริงมั้ย ... ยังไงก็ต้องมีคู่สนทนา ดังนั้นการฟังจึงต้องมาด้วย

ทักษะต่อไปที่คุณควรจะฝึกคือ "การฟัง" ครับ

อันนี้สามารถฝึกได้ด้วยตัวเองเช่นกัน ทำได้จากบ้านเลยแหละ แนะนำให้ดูซีรี่ส์, TED Talk หรืออะไรก็ได้แต่มีสองคำแนะนำครับ

1) ต้องเป็นสิ่งที่คุณชอบ - หากไม่ชอบคุณจะไม่สามารถใส่ใจกับเนื้อหาได้เลย จะเหมือนกับการฟังเทศน์(สำหรับคนส่วนใหญ่) หากคุณชอบความบันเทิง เชิญซีรี่ส์ครับ หากคุณชอบการพัฒนาตน เชิญ TED ครับ หากคุณชอบเทคโนโลยี เชิญงานเปิดตัวมือถือครับ หากคุณเป็นนักพัฒนา โน่นครับ Developer Channel มีเพียบ ! ของพวกนี้มีเยอะมากสุดแล้วแต่จะหาใน YouTube เลยครับ

2) ควรจะมีภาพด้วยไม่ใช่แค่เสียง - สำหรับผู้เริ่มฝึกฝน ภาษากายจะช่วยให้เราเข้าใจภาษาพูดได้เยอะขึ้นมาก หากมีแต่เสียงและไม่มีภาพ มันจะยากกว่ามาพร้อมภาพหลายเท่าตัวเลย

3) สำเนียง - เลือกเรื่องที่ใช้สำเนียงดีไม่ใช่สำเนียงแปร่ง ดูจากเนื้อเรื่องได้ครับ ถ้าเนื้อเรื่องจริงจัง NCIS ไรงี้ สำเนียงจะดีตาม แต่ถ้าเป็นหนัง Bad Boy ก็จะฟังยากขึ้น ดังนั้นเลือกให้ดีครับ เอาที่ชัดๆฟังง่ายเป็นหลักก่อน

ส่วนตัวถึงจะชอบเทคโนโลยีแต่ก็เลือกดูซีรี่ส์ครับ ความบันเทิงชนะทุกสิ่ง ... โดยจะดูของเมกาและอังกฤษเป็นหลัก โดย 2 ปีที่ผ่านมาเนยดูไปราวๆ 30 เรื่อง จำไม่ได้ละว่าดูอะไรบ้าง เรียกว่าดูแหลกละกัน สาเหตุหลักคืออยากฝึกภาษานี่แหละครับ ซึ่ง ... ซีรี่ส์ก็ไม่ใช่แค่ซีรี่ส์แล้วจบนะ ต้องมีแนวของเรื่องที่เราสนใจด้วย อย่างเนยชอบอะไรที่เป็นเหนือธรรมชาติหรือแนวนักสืบ ไม่ชอบอะไรที่เน้นดราม่า ก็หามาดูแหลกอ่ะครับ มีให้เลือกชนิดที่ดูจนตายก็ไม่หมด

เรื่องแรกๆขอให้ดูซีรี่ส์ที่เรทติ้งเหมาะสำหรับเด็กครับ เพราะพวกนี้จะถูกออกแบบบทพูดมาให้ไม่เร็วมาก พูดชัดถ้อยชัดคำ จะฟังง่ายมากๆ เรียกว่าเริ่มต้นก็เริ่มฟังออกเลยหละ แต่อย่าเพิ่งฟังพวกพูดเร็วๆรัวๆ (Sherlock เป็นต้น) จะหมดกำลังใจเอาง่ายๆ

ช่วงแรกแนะนำให้เปิดซับภาษาไทยไว้ก่อนครับและดูรอบแรกจนจบ จากนั้นดูซับไทยอีกรอบนึงแต่อย่าไปดูซับ ตรงนี้การที่เรารู้เนื้อเรื่องแล้วจะทำให้เรามีสติขึ้นมาอีกลำดับ จนถึงจุดหนึ่งให้เปลี่ยนไปเป็นซับภาษาอังกฤษและสุดท้ายเอาซับออกไปเลย

การฝึกฟังนี้ทำให้คุณได้สกิลของการพูดและได้สำเนียงอีกด้วย

และถ้าให้เทียบระหว่างหนังและซีรี่ส์ เราแนะนำให้เป็นซีรี่ส์จะดีกว่า เนื่องจากซีรี่ส์เป็นตัวละครเดิมๆสำเนียงเดิมๆแนวคำพูดเดิมๆ จะทำให้คุณจับทางได้จนเก่ง และพอเริ่มโอเคก็ย้ายสำเนียงไปเรื่องอื่น พอถึงจุดหนึ่งคุณจะฟังสำเนียงอะไรก็ได้แล้วครับ (แต่ก็มีข้อยกเว้นอยู่แหละ เช่นสำเนียงอินเดีย ถึงจะเก่งแค่ไหนยังไงก็ฟังยากอยู่ดี)

ฝึกการพูดด้วยการพูด

ไม่มีวิธีการฝึกพูดอะไรที่ดีกว่าการพูดอีกแล้ว !! (ก็แหงแหละ)

การฝึกพูดเป็นอะไรที่ฝึกด้วยตัวเองได้เพียงเบื้องต้นเท่านั้น ก็ตอนดูซีรี่ส์แหละ พูดตามสิพูดตาม! ก็จะพอได้สำเนียงและความชินปาก (สำคัญนะเรื่องความชินปาก) แต่ที่จะได้จริงๆคือการออกไปคุยกับคนต่างชาติตัวเป็นๆ

ออกไปตามงานหรือทำยังไงก็ได้ให้ไปอยู่ในสังคมที่มีคนพูดภาษาอังกฤษเยอะๆ และขอให้เป็นคนที่พูดแบบภาษาแม่เลย เช่นคนเมกาหรือคนอังกฤษ หากไปคุยกับคนที่สำเนียงเพี้ยนอาจจะฟังยากจนทำให้เราเสีย Self ไปได้

พูดไปเลยครับ คุยไปเลย เนยไม่ค่อยเห็นฝรั่งรำคาญคนพูดไม่เก่ง เห็นแค่รำคาญคนไม่กล้าพูดเพราะมันน่าอึดอัด ดังนั้น พูดเลยครับ พูด !

และขอไม่สปอยล์ครับ ช่วงแรกๆคุณพูดไม่ได้หรอก ดังนั้นควรจะหาคนที่พูดได้คล่องเป็นตัวหลักและคุณเกาะไป มีโอกาสก็แทรกพูดมา หลังจากที่อะไรๆดีขึ้นคุณจะกล้าพูดขึ้นและพูดได้คล่องขึ้นเองครับ สุดท้ายคุณจะลุยเดี่ยวได้เองสบายๆ

สิ่งที่อยากจะให้เข้าใจตรงกันคือ ภาษาพูดเนี่ยฝรั่งก็ไม่ได้แม่น Grammar ขนาดที่ต้องเป๊ะๆครับ ทุกอย่างเกิดจากความเคยชิน ฟังออกก็จบ แต่ถ้าพูด Grammar ใกล้เคียงกับทฤษฎีที่สุดก็จะดีมากครับ แต่ค่อยๆปรับไป

แต่ที่สำคัญๆของการพูดคงเป็นเรื่องคำศัพท์ เนื่องจากการพูดมันไม่มีเวลามานั่งเปิด Dictionary ดังนั้นเนยเลยบอกว่าควรจะฝึกทักษะด้านการเขียนก่อน (แต่ก็ไม่จำเป็นอ่ะนะ แต่ส่วนตัวแล้วมันช่วยเยอะมากเลย) และควรจะหา Plan B สำหรับประโยคต่างๆไว้เผื่อนึกคำศัพท์ไม่ออกด้วยครับ

พวก a/an ก็เช่นกัน an จะใช้กับคำที่ขึ้นต้นด้วยเสียง a e i o u ซึ่งคำสะกดขึ้นต้นด้วยตัว u ก็อาจจะไม่ได้เป็น an เสมอไป เช่น a university (มันอ่านด้วยเสียง y-) ในขณะที่บางคำขึ้นต้นด้วยตัวอื่นแต่กลับเป็น an เช่น an honor (เพราะตัว h ไม่ออกเสียง เริ่มต้นออกเสียงด้วย o-)

ดังนั้นมันจะมีเวลาประมวลผลหละ มันอ่านว่าไรว้า แล้วก็มานั่งคิด มัน a หรือ an ว้ากว่าจะพูดออกมาได้ก็สองวิ ไม่ก็พูดไปแล้วพบว่ามันผิด

ยากไป ...

จากการทดสอบด้วยตัวเองพบว่ามันเป็นความเคยชินล้วนๆเลย!! เหมือนจริงๆสมองจะพูดคำว่า university แต่จากการที่พูดมาแล้วครั้งแล้วครั้งเล่า คำว่า a จะลอยมาเองโดยสมองไม่ทันได้คิด ช่วงแรกๆก็พูดๆไปเหอะครับ แล้วอีกพักนึงจะปรับให้ถูกต้องได้เองและสุดท้ายก็จะไม่ต้องมานั่งคิด ทุกคนถึงจุดนั้นได้แน่นอนครับ

เรื่องการพูดเลยไม่มีอะไรแนะนำมากครับ การพูดมันฝึกเองไม่ได้ ต้องมีคู่สนทนา สรุปก็คือ ต้องอ่านและเขียนเยอะๆเพื่อให้จำคำศัพท์ได้ และ ต้องฟังเยอะๆเพื่อที่จะได้ฟังออกและปรับสำเนียง จากนั้นเริ่มลุยพูดด้วยการไปพร้อมคนที่พูดคล่องแล้ว แล้วก็ฝึกกันไปจนตัวเองคล่องตามแล้วก็ค่อยลุยเดี่ยว

จำไว้อย่างเดียวครับ "อย่าอายที่พูด อย่าอายที่จะผิด และอย่าคบคนที่คิดว่าเรื่องพวกนี้น่าอาย" =)

ช่วงแรกๆเรื่องพวกนี้ยังไงก็มึนและสับสนครับ แต่ต้องอาศัยการใช้เยอะๆจนสมองจดจำได้เอง จากนั้นก็จะง่ายแล้ว ใช้เวลานิดนึงๆ

ส่งท้าย

กระบวนการทั้งหมดอาจใช้เวลาเป็นปีหรือสองสามปี เป็นระยะเวลาที่ยาวนาน แต่ที่สำคัญคือ (1) ฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง (2) อย่าเพิ่งท้อซะก่อน

ทุกคนทำได้ครับ แต่จะเริ่มทำรึเปล่า ... แค่นั้นแหละ =)

สู้ฮะ

บทความที่เกี่ยวข้อง

Mar 16, 2015, 14:29
66404 views
ประสบการณ์การ "ตอกเส้น" ที่ศูนย์พัฒนาการแพทย์แผนไทยสุโขทัย @ พุทธวิชชาลัย
Jun 9, 2019, 10:30
79129 views
คู่มือการย้ายมาอยู่สหรัฐอเมริกา ตอนที่ 1: เรื่องของ "วีซ่า"
0 Comment(s)
Loading