"เวลามีค่ามากกว่าเงิน"
คู่มือการย้ายมาอยู่สหรัฐอเมริกา ตอนที่ 2: "ค่าครองชีพ"
10 Jun 2019 13:07   [46384 views]

มาต่อกันกับซีรีส์ย้ายมาอยู่เมกา หลังจากรู้เรื่องวีซ่ากันไปแล้ว คราวนี้มาดูเรื่องค่าใช้จ่ายในการใช้ชีวิตที่นี่กัน

หลายคนบอกว่าที่นี่ค่าครองชีพสูง ทุกอย่างแพง แต่อยากจะบอกว่ามันไม่จริงเลย เพราะถึงค่าใช้จ่ายต่อเดือนเมื่อรวมทุกอย่างแล้ว (ที่พัก ค่าเดินทาง ฯลฯ) จะสูงกว่าไทย แต่เรา

"ใช้เงินในชีวิตประจำวันน้อยกว่าตอนอยู่ไทย"

จะมีก็แค่ค่าที่พักถือว่าแพงกว่าไทยโดยเฉลี่ยอยู่ แต่ที่เหลือถูกกว่าไทยหมด ยิ่งถ้าใช้ชีวิตเป็นก็จะยิ่งถูกลงไปได้อีกมหาศาล วันนี้เราเลยจะพามาดูกันว่าค่าใช้จ่ายตอนอยู่ที่นี่เป็นยังไงบ้าง มาดูกันทีละข้อเลยยยย

ค่าที่พัก

ต้องบอกว่าค่าใช้จ่ายเยอะสุดของการใช้ชีวิตที่นี่อยู่ที่ส่วนนี้ "ค่าเช่าบ้าน" (หรือถ้าซื้อบ้านก็แพงอีกระดับแต่ได้ Asset มาครอง)

ค่าเช่าบ้านมัธยฐาน (Median) ของสหรัฐ ฯ พุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละปี อย่างปีล่าสุดก็อยู่ที่ $1,500 หรือ 47,000 บาทต่อเดือนแล้ว (Source)

ซึ่งอันนี้เป็นราคาเช่าแบบ "ทั้งหลัง" นะ หรือถ้าเป็นอพาร์ทเม้นต์ก็คือทั้งห้อง ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นสองห้องนอนแหละ ดังนั้นการใช้ชีวิตที่นี่เลยมักจะต้องมี Room Mate เพื่อแชร์ค่าเช่ากัน ถ้าสองห้องก็หารสอง ดังนั้นราคาก็ไม่ได้แย่อะไร (คนละ $750 หรือ 23,500 บาท)

แต่ถ้าต้องการความเป็นส่วนตัว ห้องแบบ One Bed ก็มีให้เช่าอยู่

ค่า Median ของค่าเช่าห้อง One Bed อยู่ที่ $1,280 หรือ 40,000 บาทต่อเดือน

ถ้าอยู่กันเป็นคู่สมรส ก็ถือว่าไม่ได้แพงมากเช่นกัน ถึงจะแพงกว่าค่า Median ที่ไทยอยู่เยอะก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ... นี่มันค่า Median และเมกามันใหญ่มาก ! สามารถใช้ได้กับเมืองทั่วไป แต่ถ้ามาเจาะเป็นเมือง ๆ โดยเน้นเมืองใหญ่นี่ บางเมืองเราจะใช้ค่าพวกนี้ไม่ได้เลย

ยกตัวอย่างเช่น San Francisco และแถบ Bay Area ซึ่งเป็นเมืองที่ค่าบ้านสูงที่สุดในสหรัฐ ฯ ค่ามัธยฐานของค่าเช่าห้องแบบทั้งหลังพุ่งไปอยู่ที่ $3,460 หรือ 108,000 บาท ! หรือถ้าเป็น One Bed ก็โน่น $2,480 หรือ 77,600 บาทต่อเดือน

เท่าที่สุ่มถามคนแถว ๆ นี้ (เราอยู่ Bay Area นี่แหละ) ส่วนใหญ่ก็จะจ่ายกันอยู่ที่ราว $1,500 ต่อคน (47,000 บาท) เป็นอย่างน้อย (ไม่รวมค่าไฟค่าเนต)

รู้ยังว่าทำไมเมืองใหญ่ ๆ Homeless ถึงเยอะ ...

ก็ตามนี้ครับสำหรับค่าที่พัก ถ้าจะมีอะไรแพงก็คงเป็นส่วนนี้ ซึ่งโดยรวมจะกินส่วนเกิน 50% ของค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนเลย ถ้าประหยัดค่าที่พักได้ก็ประหยัดเงินในแต่ละเดือนได้มากโข บางคนเลยเลือกที่จะเลือกไปอยู่ที่ไกล ๆ ซึ่งค่าเช่าถูกกว่า (แต่ก็จะเดินทางเหนื่อยกว่า) แทน

แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าเทียบกับอัตราเงินเดือนที่ได้รับที่นี่แล้ว ค่าที่พักก็ยังถือว่าโอเคแม้จะเทียบกับประเทศไทยก็ตามครับ

สำหรับคนที่อยากจะย้ายมาอยู่ก็ลองเช็คโซนของเมืองที่อยากไปอยู่ดูนะครับ ลิงก์นี้ค่าเช่าค่อนข้างตรง >> U.S. Median Rent Hits a New High at $1,500 a Month, but Rent Growth Slows Heading Into Fall

ทั้งนี้ ถ้าใครเคยอยู่แถบพร้อมพงษ์ทองหล่อมาก่อน ราคาค่าเช่าก็อาจจะไม่ต่างจากเดิมมาก ... แฮ่

ราคาสินค้าอุปโภคบริโภค

มาถึงของกินของใช้ในชีวิตประจำวันกันบ้าง หลาย ๆ คนบอกว่าข้าวของที่นี่แพง แต่บอกได้เลยว่ามันเป็นความเข้าใจผิดอย่างมหันต์ ของกินของใช้ที่นี่ไม่ได้แพงขนาดนั้น หลายอย่างถูกกว่าไทยด้วยซ้ำ ยิ่งถ้าซื้อเป็นก็ยิ่งถูกมากจนน่าตกใจ เดี๋ยวหัวข้อนี้เราจะพาไปดูราคาของและวิธีซื้อที่ถูกต้องกัน

สำหรับการซื้อเราจะไม่ได้ซื้อทุกอย่างที่เดียวกัน ร้านค้าที่นี่แข่งกันลดราคาสุด ๆ ลดแบบเหมือนว่าว่างกัน และแต่ละร้านก็มีของที่ถูกแพงต่างกันไป ดังนั้นสินค้าชนิดเดียวกันในร้านที่ห่างกันแค่บล็อคเดียวก็อาจจะถูกกว่าเป็นเท่าตัวได้แล้ว ดังนั้นอย่างแรกที่ต้องรู้คือ การใช้ชีวิตที่นี่เราจะต้องรู้ว่าจะซื้อของที่ไหน หลัก ๆ ก็มี

1) ห้างค้าปลีกรายใหญ่ เช่น Safeway, Walgreens, Wholefood, Trader's Joe

2) ร้านขายของชำ (Grocery Store) รายเล็ก ๆ ที่นี่ดีตรงที่ร้านเล็ก ๆ ก็อยู่รอดได้ หลายอย่างในร้านพวกนี้จะถูกกว่าร้านใหญ่ ๆ เช่น พวกผลไม้อะไรงี้

3) ห้างค่าส่ง เช่น Costco

4) สั่งออนไลน์ เช่น Amazon

เวลาจะซื้อของก็ต้องวางแผนและรู้จักเช็คราคากันหน่อย และอีกเรื่องที่ต้องรู้ก็คือ

แค่สมัครสมาชิก ราคาสินค้าก็อาจจะลดลงไปเป็นเท่าตัวได้เช่นกัน

ดังนั้นสำคัญมากที่ควรจะสมัครสมาชิกร้านต่าง ๆ ที่เราซื้อของบ่อยไว้ ซึ่งก็มักจะสมัครฟรีแหละ ไม่มีอะไรเสีย มีแต่ได้ คุ้มมาก

คราวนี้มาดูราคาสินค้าแต่ละอย่างกันบ้าง แต่จะหยิบมาหมดห้างก็คงไม่ไหว ขอคัดเฉพาะตัวที่ซื้อใช้กันบ่อย ๆ เป็นปกติละกัน อ่ะเริ่ม !

นม 1.8 ลิตร $2.69 (85 บาท) [ป้ายสีเหลืองคือราคาสมาชิก ซึ่งจะลดเยอะลดน้อยหรือไม่ลดเลยก็แล้วแต่เวลา แต่ส่วนใหญ่ลด]

ซึ่งสังเกตดูให้ดี ความเท่อย่างนึงของป้ายราคาที่นี่คือ มันมีราคาต่อน้ำหนักให้ดูด้วย เราสามารถเปรียบเทียบราคาสินค้าได้ง่าย ๆ จากตรงนี้

ต่อไป น้ำเปล่าจากน้ำพุธรรมชาติ 1 ลิตร $1.33 (42 บาท)

ซึ่งน้ำบรรจุขวดที่นี่จะแพงหน่อยเพราะมักจะเป็นน้ำคุณภาพดี (ตามโฆษณา) ทั้งนี้เพราะว่าน้ำก็อกกินได้ น้ำบรรจุขวดเลยต้องมีการอัปเกรดตัวเอง ซึ่งเอาจริง ๆ น้ำก็อกบรรจุขวดก็มีขายอยู่ ราคาถูกกว่าพวกนี้เยอะ แค่ไม่รู้จะซื้อทำไม ...

สำหรับน้ำเปล่าอย่างดีเช่นน้ำพุธรรมชาติ ถ้าซื้อขวดเดียวหรือซื้อปริมาณน้อย ๆ มันก็จะแพงหน่อย ปกติเราเลยจะซื้อแพคหลาย ๆ ขวดหรือไม่ก็ขวดใหญ่ ๆ แทน เช่น น้ำเปล่าจากน้ำพุธรรมชาติ 9.46 ลิตร $3.99 (125 บาท) ราคาต่อปริมาตรถูกลงทันที 3.2 เท่า

ตัวต่อไป น้ำอัดลมกระป๋อง ถ้าซื้อเป็นกระป๋องเดียวก็คงแพงอยู่ กระป๋องละ 30-40 บาทอะไรงี้ ปกติเราเลยมักจะซื้อกันเป็นโหล ซึ่งจะอยู่ที่ประมาณกระป๋องละ 13 บาท แต่น้ำอัดลมชอบมีโปรโมชั่น อย่างวันนี้ก็สามารถซื้อ 36 กระป๋องในราคา $11 (345 บาท) ได้ ตกกระป๋องละ 9.6 บาทเท่าน้านนนน

แถมที่นี่ชอบมีโปรลดแล้วลดอีก อย่างกรณีนี้ถ้าไปสแกนโค้ดในแอป ฯ ของร้านจะได้ลดเพิ่มอีก เหลือ 36 ป๋อง $10 หรือตกกระป๋องละ 8.7 บาท

จริง ๆ ก่อนหน้านี้เคยซื้อได้ในราคากระป๋องละ 6 บาทด้วย แต่ต้องซื้อ 48 กระป๋อง นี่ผ่านไปสองเดือนยังกินไม่หมดเลย กรั่ก ๆ

คราวนี้มาดูเครื่องดื่มดูชูกำลังอย่าง Monster (ซึ่งเราติดอยู่ ณ ขณะนี้) ถ้าซื้อกระป๋องเดียวตามร้านสะดวกซื้อทั่วไปจะราคา $2.79 ถ้าซื้อร้านค้าปลีกรายใหญ่ก็จะลดราคาเหลือ $2.25 บางทีก็เหลือ $1.79 แล้วแต่โปรโมชั่น (จะเห็นว่าถ้ารู้ที่ซื้อก็ถูกลงเป็นเท่าตัวได้ง่าย ๆ)

แต่ถ้ากินบ่อยจริง ๆ ก็ซื้อไปเลย 24 กระป๋อง ใน Amazon ซื้อได้ในราคากระป๋องละ $1.35 หรือเคยต่ำสุดก็กดไปที่ $1.2 เลย

ท่าปกติที่ทำก็เลยต้องคอยเช็คราคาเรื่อย ๆ และถ้าลดถึงราคาที่พอใจเมื่อไหร่ก็สั่งมาตุนไว้เลย คุ้ม ๆ

ยังคงอยู่กับของกิน ทางด้านขนมปังแถวนึงก็อยู่แค่ 60 บาทเท่านั้น

มันฝรั่งทอดก็ถูก (และชอบลดราคาตลอดเวลา) แค่ซองละ 62 บาท ตอนไม่ลดก็ไม่ซื้อกินเพราะเดี๋ยวมันก็ลด 555

ซอฟท์คุกกี้เทพที่ไทยขายร้อยกว่าบาท ที่นี่ขายประมาณ 90 บาท (วันก่อนมีซื้อได้ 50 บาทด้วย ตุนแหลกกก)

Chip's Ahoy กล่องใหญ่ ๆ (คุณภาพดีกว่าแบบที่ขายในไทยตามร้านทั่วไปมาก) ประมาณ 90 บาท

ป็อปคอร์น Pop Secret ก็ชอบลดราคา วันนี้ไปได้มาที่ ซองละ 18 บาท (ซองใหญ่)

ขนมเยลลี่จิปาถะก็แค่ 30 บาท ซื้อมากินได้ชิว ๆ

ช็อคโกแลตส่วนใหญ่อยู่ที่ 40-60 บาท โดยรวมเริ่มต้นแพงกว่าไทย แต่ของที่ไทยแพง ๆ ที่นี่จะถูก

มาหมวดของสดกันบ้าง ไข่ไก่ไซส์ใหญ่ โหลละ $2.59 (81 บาท) ตกฟองละแถว ๆ 7 บาท

เนื้อวัวที่นี่ถูก (และชอบลดราคาเยอะ ๆ) ซึ่งราคาก็จะแล้วแต่ว่าเป็นส่วนไหนของวัว อย่างในรูปก็อยู่ที่ 200 บาท เท่านั้น

เนื้อหมูก็จะถูกลงไปอีก ราคาปกติก็จะอยู่แถว ๆ นี้ โลละ 310 บาท

บางทีก็เจอโปรโมชั่นช็อค ๆ อย่างในรูปก็แค่ 210 บาท (โลละ 66 บาท) ยกกันแขนโย้ !

เนื้อไก่ราคาก็ดี น่องไก่ที่เห็นก็แค่ 70 บาท

หอมหัวใหญ่หัวนี้ 15 บาท

กระเทียมหัวนี้ 20 บาท

มันฝรั่งหัวนี้ 15 บาท

มะเขือเทศองุ่นกล่องนี้ 66 บาท

ผลไม้ที่นี่ก็มีให้เลือกกินเยอะและราคาไม่แพง สตรอวเบอร์รี่กล่องนี้ 125 บาท

ถ้าซื้อกล่องที่ไม่ Organic ก็จะถูกลงไปอีก กล่องนี้ 64 บาท

Blackberry กล่องนี้ 50 บาท

แอปเปิ้ลลูกละ 18 บาท

เมลอนลูกละ 113 บาท

ส้มแมนดารินโลละ 110 บาท อร่อยมากกกก (ถ้าซื้อถูกที่จะเหลือโลละ 82 บาท)

กล้วยลูกละ 6 บาท (ถูกมะ)

แตงโมลูกละ 64 บาท

มะนาวลูกละประมาณ 9 บาท

บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปห่อละ 12 บาท

Nissin Cup Noodle ถ้วยละ 15 บาท

อาหารแช่แข็ง 30 - 100 บาท แล้วแต่โปรโมชั่น

พิซซ่าพร้อมอบประมาณถาดละ 150 บาท (ถาดใหญ่อยู่) (แต่ไม่อร่อยหรอกนะ)

ไอติม Quart ละ 160 บาท สำหรับยี่ห้อทั่วไป แต่ถ้าเป็นยี่ห้อดังก็จะแพงกว่านี้นิดหน่อย

ไอติม Häagen-Dazs ขนาดเท่าแมคนั่มบ้านเรา ประมาณแท่งละ 40 บาท (บางช่วงเหลือแท่งละ 20 บาท)

แชมพูขวดใหญ่ ๆ 750ml ราคา 210 บาท (ถ้าสั่งออนไลน์ก็เหลือ 150 บาท)

สบู่เหลว 650ml ขวดละ 210 บาท แต่ถ้าซื้อเป็นหรือซื้อออนไลน์ก็เหลือขวดละ 150 บาทเหมือนกัน

น้ำยาซักผ้าใหญ่ยักษ์ 160 บาท

น้ำยาปรับผ้านุ่มไซส์ใหญ่ 300 บาท ใช้กันเป็นปี

ไวน์บ้าน ๆ ขวดละ 150 - 300 บาท

Chondon ขวดละ 533 บาท

เบียร์ขวดละ 35 บาท

ก็ตามนี้ครับ จะเห็นว่าของมันไม่ได้แพงอะไรเลย ถ้าใช้ชีวิตเป็นนี่คือสบายมาก ถ้าทำอาหารเป็นมื้อนึงนี่ไม่เกิน $5 ได้สบาย ๆ

การกินตามร้านอาหาร

ที่นี่ความแพงจะเกิดจาก "การบริการ" ซะเป็นส่วนใหญ่ อะไรที่มีการบริการเข้ามาจะแพงหมด หนึ่งในนั้นคือ "ร้านอาหาร"

ถ้าคิดจะกินข้าวร้านข้างนอกก็ต้องเตรียมเงินไว้อย่างน้อย $10 แต่โดยเฉลี่ยก็ $15 ครับ ทั้งนี้เราต้องทิปอีก 15% ด้วย ไม่งั้นโดนด่า (ด่าจริง ๆ นะ)

ถูกสุดที่พอซื้อกินแล้วไม่ถึง $10 ก็จะมีพวก In n' Out Burger และ Subway อะไรพวกนี้ครับ

ดังนั้นถ้าทำอาหารเองเป็น (และมีเวลาทำ) ก็จะประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้มากโขเลยทีเดียว =)

ค่าเดินทาง

อีกหนึ่งค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงคือเรื่องของ "ค่าเดินทาง"

เนื่องจากเมกาเป็นประเทศที่ใหญ่ การคมนาคมไม่ได้ทั่วถึงมาก แม้แต่เมืองใหญ่ ๆ อย่าง San Francisco ก็ยังเดินทางยาก จะมีก็แค่ไม่กี่เมืองที่นั่งรถไฟฟ้าไปได้หมดทุกที่ (เช่น New York) นอกเมืองนี่ไม่ต้องพูดถึง ไม่มีรถใช้ชีวิตไม่ได้เลย

ดังนั้นหากชีวิตต้องเดินทางก็จะมีทางเลือกอยู่ไม่กี่ทาง

1) ขนส่งสาธารณะ

เช่น รถไฟใต้ดิน รถเมล์ รถราง รถไฟ อะไรก็ว่าไป ราคาต่อระยะทางถือว่าไม่แพงมาก เที่ยวละ 60-150 บาท แต่ข้อเสียคือมักจะรอนาน (แล้วแต่เมือง) ไม่เหมาะกับชีวิตที่เร่งรีบเท่าไหร่

2) Uber & Lyft

ราคาค่อนข้างแพง (เริ่มต้นก็ $5 ละสำหรับระยะใกล้ ๆ ถ้าไกล ๆ ก็โน่นนนน $30 ส่วนเฉลี่ยที่จ่ายก็มักจะอยู่แถว ๆ $15) แต่ข้อดีคือเร็ว เป็นส่วนตัว ไม่ต้องหาที่จอดรถ ถือเป็นการเดินทางหลักของคนตามเมืองต่าง ๆ เลยหละ

คนที่ Bay Area ที่เราอยู่ตอนนี้ก็ใช้บริการเหล่านี้เป็นหลักเพราะเวลาของคนที่นี่แพงกว่านั้นมาก เลยคุ้มที่จะเสีย

3) ขับรถ

ถ้าต้องเดินทางไปกลับที่ทำงานที่อยู่ไกลบ้านทุกวัน บางทีก็ต้องยอมซื้อรถเอา ราคาเฉลี่ยของรถมือหนึ่ง Eco แถวนี้อยู่ที่ $25,000 (785,000 บาท) ค่าประกันรถอยู่ที่เฉลี่ยปีละ $1,000 (32,000 บาท) ค่าน้ำมันต่างกันไปตามแต่ละรัฐและสภาพภูมิศาสตร์ (บางทีต้นถนนราคานึง ปลายถนนอีกราคานึง) ตั้งแต่ลิตรละ 20 บาทไปจนถึง 30 บาท ซึ่งว่ากันว่าถ้ามีความจำเป็นถึงขนาดต้องซื้อรถแล้ว ค่าน้ำมันเฉลี่ยต่อเดือนก็มักจะอยู่แถว ๆ $250 (7,800 บาท)

หากคิดว่าจะใช้รถสัก 10 ปี ค่าใช้จ่ายเริ่มต้นก็จะอยู่ที่ปีละ $6,500 (204,000 บาท) หรือตกเดือนละ 17,000 บาท ไม่รวมค่าที่จอดรถ หากไม่ได้เดินทางบ่อยการเรียก Uber จะถูกกว่ามาก หรือถ้าคิดว่ารถจำเป็น จะซื้อรถที่โมเดลถูกลงหรือมือสองก็จะทำให้ค่าใช้จ่ายถูกลงได้ ก็ต้องชั่งน้ำหนักและดีดลูกคิดเอาเองว่าจะเลือกทางไหน

อย่างไรก็ตาม รถมือหนึ่งที่ซื้อมาก็ยังขายต่อได้ แต่ราคาอาจจะเหลือแค่ $10,000 อะไรงี้ ก็จะได้เงินคืนมาหน่อยนึง ค่าใช้จ่ายต่อปีก็จะถูกลงไป (หารและหักลบเอาเองนะ)

หรือถ้าไม่อยากซื้อก็เช่า (Lease) ได้เหมือนกัน จะถูกกว่าซื้อเล็กน้อย แต่จะไม่ได้รถเป็นของตัวเอง ขายต่อไม่ได้ ที่นี่มีทางเลือกค่อนข้างเยอะ

โดยเฉลี่ยแล้วค่าเดินทางก็เป็นอีกหนึ่งค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ส่วนใหญ่จะสูงรองลงมาจากค่าที่พักเลยหละ แต่ด้วยเหตุผลที่การเดินทางส่วนใหญ่ของชีวิตมักจะเป็นการไปกลับที่ทำงาน บริษัทใหญ่ส่วนใหญ่เลยมักจะมีรถรับส่งพนักงานให้บริการ หากบริษัทที่ทำมีสวัสดิการตรงนี้อยู่ก็จะประหยัดค่าเดินทางไปได้เยอะมาก รวมถึงบางบริษัทสามารถให้เราเบิกค่า Uber ได้ด้วย ดังนั้นค่าเดินทางจึงไม่ใช่ปัญหาของคนทุกกลุ่ม

ความจริงทางเลือกเรื่องการเดินทางก็ยังมีอีกเยอะ เช่น ย้ายบ้านไปอยู่ใกล้ที่ทำงาน ก็ช่วยลดค่าใช้จ่ายไปได้เยอะแล้วเหมือนกัน อันนี้ขึ้นอยู่กับการวางแผนของแต่ละคนคร้าบ

และเนื่องจากเงื่อนไขการเดินทางของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เราเลยไม่สามารถบอกค่าเฉลี่ยค่าใช้จ่ายการเดินทางของการใช้ชีวิตที่นี่ได้ ก็คงต้องเอาตัวเลขด้านบนไปคำนวณต่อกันเอาเองครับ

Health Care

หนึ่งในสิ่งของคนที่คิดจะย้ายมาอยู่ที่นี่คือต้องรู้ไว้ว่า "สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ Health Care แพงที่สุดในโลกแล้ว" ก็น่าจะรู้กันอยู่แล้วประมาณหนึ่ง มีคนอายุมากจำนวนมากอยากย้ายออกจากเมกาก็เพราะเรื่องนี้ ไปอยู่ที่ไทยถูกกว่าและดูแลดีกว่า ยอมรับเลยว่าเรื่องนี้ที่ไทยทำได้ดีมาก ๆ (ใครยังบ่นด่าระบบโรงพยาบาลที่ไทยนี่อยากให้ทำความเข้าใจใหม่จริง ๆ)

สำหรับค่าใช้จ่ายเรื่องการรักษาพยาบาลที่นี่จะแบ่งออกเป็นสามส่วนหลัก ๆ

1) Health Insurance (ประกันสุขภาพ)

ประกันสุขภาพราคาจะเหวี่ยงมากตามรัฐและช่วงอายุ มีตั้งแต่ $3,000 ไปจนถึง $6,000 ต่อปี แต่ถ้าถูกจ้างงานปกตินายจ้างจะต้องซื้อประกันสุขภาพให้เราอยู่แล้วตามกฎหมาย เราเลยไม่ต้องจ่ายตรงนี้ จะมีก็คนที่ว่างงานแล้วอยากซื้อประกันที่ต้องซื้อไว้เอง

2) ค่ารักษาพยาบาล

ถึงจะมีประกันสุขภาพ แต่เงื่อนไขการเบิกไม่ใช่ว่าเบิกได้เลย แต่ขึ้นอยู่กับกรมธรรม์ว่าตกลงกันไว้ยังไง ส่วนใหญ่จะต้องจ่ายเองก่อนจำนวนหนึ่งก่อนที่ประกันจะเริ่มมาช่วยจ่าย เช่น ถ้าค่าใช้จ่ายทั้งปีรวมกันเกิน $2,000 เมื่อไหร่ ประกันจะจ่ายที่เหลือให้ รวมถึงพวกค่ายาประกันก็จะช่วยจ่ายเป็นหลัก % ไม่ใช่ทั้งหมด

ดังนั้นก็จะมีค่ารักษาพยาบาลที่เราต้องจ่ายเองอยู่ ได้แก่ เงินส่วนที่ต้องจ่ายเองก่อนประกันมาช่วย และค่ายาในส่วนที่ต้องจ่ายเอง ตรงนี้ก็แล้วแต่ละคน ถ้าไม่ป่วยก็ไม่ต้องจ่าย ถ้าป่วยก็จ่ายตามสภาพความร่อแร่

สำหรับค่ารักษาที่นี่คือแพงแบบแพงแพ๊งงงแพงง ไม่มีประกันคือยอมตายดีกว่า หยิบลิสต์ที่เขียนใน Vox มาให้ดูนิดหน่อย

- ค่าปรึกษาหมอเริ่มต้น $100

- โดนรถดับเพลิงมารับพาไปเข้าห้องฉุกเฉิน เตรียมจ่าย $3,000 - $5,000 ได้ ถึงจะแค่เป็นลมก็ตาม

- ฉีดยาแก้แพ้เร่งด่วน (Humira) $2,700

- ไวรัสตับอักเสบ C ค่ารักษา $32,000

- ยารักษามะเร็ง Avastin $4,000

- ค่าทำ MRI $1,119

- นอนโรงบาลคืนละ $5,220

- ผ่าต้อกระจก $3,530

- ผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบ $16,000 ... !!!

- ผ่าตัดบายพาส $78,000

โดยรวมคือแพงแบบไร้สาระมาก การมีประกันเป็นอะไรที่อุ่นใจมาก ไม่มีแล้วป่วยนี่รู้สึกยอมตายดีกว่ารักษา

พอมีประกันก็จะมีเพดานที่เราต้องจ่ายอยู่ แต่ถ้าถึงกับทะลุวงเงินที่คุ้มครองเมื่อไหร่ แนะนำให้บินไปไทย ถูกกว่าและแฮปปี้กว่าในทุกมิติ

ทั้งนี้ทั้งนั้น ประกันมีหลายหลากมาก Cover ไม่ครบทุกอย่างด้วย โดยเฉพาะ "การทำฟัน" อันนี้ส่วนใหญ่ต้องจ่ายเอง ยกเว้นบริษัทใหญ่ ๆ ที่อาจจะเบิกได้บ้าง ก็ต้องคิดพวกนี้ไปด้วย (เรารอบินกลับไปทำที่ไทยทีเดียว)

อ้อ การตรวจสุขภาพประจำปีและรับวัคซีนฟรีนะ ประกัน Cover 100% !

3) ค่ายาแบบซื้อกินเอง

ที่นี่ยาส่วนใหญ่จะซื้อกินเองแบบที่ไทยไม่ได้ ต้องมีใบ Prescription ออกจากหมอก่อน แต่สำหรับบางอาการ เช่น หวัด ปวดหัว ไข้ พวกนี้เราจะสามารถซื้อยากินเองได้เลย ขวดละ $10 โดยประมาณ เท่าที่เคยคำนวณ ส่วนใหญ่จะใช้ประมาณ $30 ในการหายป่วย ปีนึงป่วยไม่เกิน 4 ครั้ง ก็ค่าใช้จ่ายราว ๆ $100 ต่อปีในส่วนนี้ครับ เล็กน้อยมาก

* แถม: One Medical ตัวเลือกสำหรับความสะดวกสบายในการรับบริการ

เนื่องจากระบบ Health Care ของที่เมกายุ่งยากมาก จะนัดหมอทีนี่วุ่นวายสุด ๆ ประกันที่มีนี่ไม่ใช่ว่าจะเดินไปโรงบาลได้เลยนะ ต้อง Search หาหมอว่าคนไหนประกันเรา Cover บ้าง (ไม่ใช่โรงบาลด้วยนะ ต้องเป็นหมอ)

ที่นี่ก็เลยมี Startup ชื่อ One Medical ที่ช่วยแก้ปัญหาตรงนี้และช่วยให้ทุกอย่างง่ายขึ้น อยากนัดหมอกดแอป ฯ ได้เลย ค่าใช้จ่ายก็แค่ปีละ $200 นี่สมัครไปละเพราะอยากลองเล่น แต่ไม่คิดจะป่วยหรอกนะ หวังว่าจะไม่มีโอกาสได้รีวิว ...

ก็เขียนไว้เผื่อมีใครสนใจไปศึกษาต่อ =)

ค่าเครือข่ายมือถือ

ไว้ลงรายละเอียดอีกที อันนี้ข้อมูลเยอะ แต่บอกได้ว่าค่าใช้จ่ายอยู่ที่แถว ๆ เดือนละ $30-$50 ครับ

สรุป

สรุปแล้วค่าใช้จ่ายต่อเดือนถือว่าสูงกว่าไทย ซึ่งจะบอกเป็นตัวเลขเป๊ะ ๆ คงยากเพราะมันแปรเปลี่ยนไปตามภูมิภาคและ Life Style ถ้างั้นขอยกราคาที่ Bay Area ละกัน อ่ะ ตามนี้

- ค่าที่พัก: $1,600 ต่อเดือน

- ค่าอาหาร เครือข่ายมือถือ เครื่องอุปโภคบริโภค: $500 ต่อเดือน

- ค่าเดินทาง (ไม่ซื้อรถ): $300 ต่อเดือน

- ค่ารักษาพยาบาล: แล้วแต่สภาพร่างกาย บอกไม่ได้ ถ้าไม่ป่วยเลยก็ 0

รวมแล้ว $2,400 หรือตีซะ 75,000 บาทต่อเดือน

แต่ถึงรายจ่ายจะสูงกว่า แต่รายได้ที่นี่ก็สูงกว่าเช่นกัน ใน Bay Area รายได้ขั้นต่ำเฉลี่ยของ Software Engineer ที่นี่จะอยู่ที่ $100,000 ต่อปี หักภาษีรายได้ส่วนบุคคลแล้วก็เหลือ $74,000 หรือ $6,166 ต่อเดือน หักค่าใช้จ่ายแล้วก็เหลือเก็บ $3,800 ต่อเดือนสบาย ๆ

นี่คือเรทต่ำแล้วนะ ตอนนี้ Google ให้ $120,000 - $150,000 ต่อปีละ แม้แต่เด็กจบใหม่ก็ตาม ก็ไปบวกลบเพิ่มเอาว่าจะเหลือเงินเก็บเท่าไหร่

ดังนั้นค่าครองชีพที่นี่จะบอกว่าสูงก็สูง จะบอกว่าไม่สูงก็ไม่สูง แล้วแต่จะมองยังไง ค่าใช้ชีวิตประจำวันไม่ได้สูงกว่ากรุงเทพ ฯ เท่าไหร่ แต่พวกค่าที่พักอะไรพวกนี้ก็สูงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ถ้ามองค่าใช้จ่ายต่อรายได้ที่ได้รับแล้ว คงต้องยอมรับว่าที่นี่ค่าใช้จ่ายต่ำกว่ามากครับ

หมายเหตุ: เรทที่คำนวณ ๆ มานี้เป็นเรทของกลุ่มคนรายได้สูงเพราะเป็นกลุ่มที่ประเทศเมกามีความต้องการ ถามว่าทำไมถึงไม่คำนวณสำหรับกลุ่มรายได้ต่ำ ? คำตอบคือถ้ากลุ่มรายได้ต่ำบริษัทจะไม่ทำวีซ่าให้เข้าประเทศอยู่แล้วครับ ดังนั้นไม่ต้องคำนวณค่าใช้จ่ายที่นี่เลย อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่จะย้ายมาเพราะรวยอยู่แล้ว ไม่ได้จะมาทำงาน ก็จะมีค่าใช้จ่ายเปลี่ยนไปตามรัฐและเมืองที่อยู่ครับ ลองไปคำนวณดูเองได้ ๆ ใช้ข้อมูลด้านบนนี่แล

ก็จบไปอีกบล็อก น่าจะพอเห็นภาพแล้วว่าถ้ามาอยู่ที่นี่จะมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง ไว้รอบล็อกต่อไปน้า มั๊วะ =)

บทความที่เกี่ยวข้อง

Aug 19, 2019, 11:53
41585 views
คู่มือการย้ายมาอยู่เมกาตอนที่ 3: "ธนาคาร บัตรเครดิตและการทำธุรกรรม"
Sep 26, 2015, 20:58
69422 views
บันทึกการหลุดพ้นจากบ่วงกรรมการอ่อน "ภาษาอังกฤษ" ใน 2 ปี
0 Comment(s)
Loading