"ความตั้งใจสร้างได้ทุกอย่าง ความไม่ตั้งใจทำลายได้ทุกสิ่ง"
รู้จักโรคปอดอักเสบอู๋ฮั่น โรคระบาดตัวใหม่ พร้อมย้อนรอยโรค SARS และ MERS
21 Jan 2020 09:44   [45710 views]

ช่วงนี้โรคระบาดชนิดใหม่เริ่มกลายเป็นประเด็นใหญ่ หลังจากที่มีคนจีนติดโรคนี้หลายร้อยคน (เฉพาะที่ตรวจเจอ) ซึ่งถ้ารวมคนที่ยังไม่ได้ตรวจ ส่วนตัวเชื่อว่าน่าจะอยู่หลักพันหลักหมื่นคนแล้ว ซึ่งในบรรดาคนที่ตรวจเจอก็มีคนเสียชีวิตแล้ว 4 คน

ล่าสุดก็มีข่าวยืนยันแล้วว่าโรคนี้สามารถติดจากคนสู่คนได้ ซึ่งส่วนตัวเชื่อแบบนั้นมาตั้งแต่ได้ยินข่าวแรก ๆ เพราะตัวไวรัสค่อนข้างคล้ายกับไวรัสโรคที่เคยเกิดขึ้นในโลกนี้หลายตัว และทุกตัวล้วนติดจากคนสู่คนได้

แล้วด้วยเหตุผลบางอย่างทำให้เราเชื่อว่าโรคนี้จะระบาดในไทยด้วยเร็ว ๆ นี้ ไม่อยากให้แตกตื่นนะ แต่ทุกคนควรจะตื่นตัวและรู้จักโรคนี้เพื่อที่จะได้รับมือได้

บล็อกนี้เลยจะมาเขียนรายละเอียดให้ทุกคนรู้จักโรคระบาดใหม่นี้กันครับ

อาการของคนติดโรคระบาดจากไวรัสตัวใหม่

อาการค่อนข้างหลายหลาก แต่โดยรวมจะอยู่ในหมวดของ "ปอดอักเสบ (Pheumonia)" จะเริ่มต้นจากการมีไข้ ไอ จากนั้นจะเริ่มหายใจลำบากซึ่งเป็นอาการของปอดที่ถูกโจมตี ขั้นรุนแรงสุดคือเหมือนโรค SARS เลยคือปอดล้มเหลว ซึ่งเป็นส่วนของอาการที่ทำให้เสียชีวิตได้

โดยรวมค่อนข้างคล้ายโรค SARS (โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง) เป็นอย่างมาก ถึงจะยังไม่มีชื่อภาษาไทยอย่างเป็นทางการ แต่ภาษาอังกฤษตอนนี้เค้าเรียกกันว่า "Wuhan Pneumonia" หรือ โรคปอดอักเสบอู๋ฮั่น ดังนั้นถ้าพูดถึงโรคชนิดนี้ก็ให้คิดไปทาง โรคปอดอักเสบหรือโรคที่ทำให้ระบบทางเดินหายใจล้มเหลว ครับ ซี่งน่าส่วนที่ทำให้แยกแยะได้ง่ายขึ้นระหว่างโรคนี้กับโรคหวัดทั่วไป

หากใครเจออาการที่มีความเสี่ยงขอให้ไปพบแพทย์โดยด่วนครับ

สำหรับใครที่เป็นแพทย์อยากให้เริ่มต้นตั้งชื่อภาษาไทยจากอาการจะได้เป็นการให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจโรคนี้มากขึ้นครับ ฝากด้วย ๆ

ไวรัสอยู่ในกลุ่ม Coronavirus

ก็มีการยืนยันแล้วว่าไวรัสที่ก่อโรคระบาดชนิดนี้เป็นตระกูล Coronavirus ซึ่งเป็นไวรัสหน้าตาแบบด้านบนนี่แหละ ที่ผ่านมา Coronavirus ก่อเกิดโรคระบาดในมนุษย์แล้วหลายตัว ตั้งแต่ไข้หวัดธรรมดา (Common Cold) ไปจนถึง SARS และ MERS ที่คงเคยได้ยินชื่อกัน

สำหรับไวรัสตัวใหม่นี้นับเป็นชนิดที่ 7 ในตระกูล Coronavirus ที่สามารถทำให้เกิดโรคในมนุษย์ได้ มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า 2019 Novel Coronavirus (2019-nCoV)

ต้นกำเนิดจากสัตว์สักชนิด

ยังไม่ทราบต้นกำเนิดของไวรัสชนิดนี้อย่างแน่ชัด แต่นักวิทยาศาสตร์ลงความเห็นว่ามันมาจากสัตว์สักชนิดแน่นอน แค่ยังไม่รู้ว่าชนิดไหน และการติดต่อสู่คนก็เกิดที่ตลาดสด ณ เมืองอู๋ฮั่น ทำให้โรคนี้เลยมีชื่อว่า โรคปอดอักเสบอู๋ฮั่น นั่นเอง

มีติดต่อจากคนสู่คน

ช่วงแรก ๆ คนยังสบายใจอยู่หน่อย ๆ เพราะพบผู้ติดเชื้อไม่มากและทางการจีนบอกว่ายังไม่พบหลักฐานว่ามีการติดต่อจากคนสู่คน

ซึ่งส่วนตัวตั้งแต่วันที่รู้ว่ามันเป็น Coronavirus ก็เชื่ออยู่ละว่ายังไงมันก็ติดจากคนสู่คน แค่รอหลักฐานยืนยันเท่านั้นเอง

ล่าสุดทั้งจีนและ WHO ออกมายืนยันแล้วว่า มีการติดต่อจากคนสู่คนจริง แถมการระบาดยังอัตราก้าวหน้าที่น่ากังวลอีกด้วย ล่าสุดเฉพาะคนที่ถูกยืนยันแล้วว่าติดโรคนี้ก็มีถึง 222 ราย ถ้าคนที่อาการไม่หนักหรือตรวจไม่เจอหรือเป็นพาหะนี่น่าจะเป็นหลักพันคนละ แค่รอการตรวจพบ

สำหรับวิธีการติดต่อนั้นยังไม่ชัดเจน แต่องค์การอนามัยโลกออกมาบอกว่า "ติดต่อผ่านการสัมผัสใกล้ชิด" ซึ่งก็น่าจะเป็นผ่านสารคัดหลั่งรวมถึงน้ำลายที่กระจายออกจากการไอจามหรือจูบอีกด้วย แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะติดเสมอด้วยนะ เหมือนว่าจะติดเฉพาะบางกรณีเท่านั้น ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ยังหารูปแบบที่ชัดเจนไม่ได้

ผู้ติดเชื้อเริ่มกระจายไปทั่วโลก

หลังจากมีข่าวออกมาจากจีนไม่นาน ตอนนี้ล่าสุดเริ่มปรากฎพบผู้ติดเชื้อในหลายพื้นที่แล้ว ในจีนเองก็พบผู้ป่วยที่ปักกิ่งและมณฑลกวางตุ้ง ต่างประเทศก็เจอแล้ว ที่ยืนยันแล้วก็มีญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ที่ไทยหากไม่นับคนที่ถูกกักกันที่สนามบิน ก็มีนักท่องเที่ยวที่บินไปเมืองอู๋ฮั่นก่อนมาเที่ยวต่อที่ไทยกำลังนอน ICU อยู่ที่ภูเก็ต รอการยืนยันว่าเป็นไวรัสตัวเดียวกันหรือไม่ แต่อาการเหมือนกันมากจนไม่มีข้อโต้แย้ง

อัตราการเสียชีวิตยังไม่สูงมาก

ตอนนี้มีเคสที่ตรวจเจอ 222 ราย เสียชีวิต 4 ราย อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 1.8% ซึ่งถือว่ายังไม่สูงมากเมื่อเทียบกับโรค SARS

แต่ก็อย่างว่า ตอนนี้ยังเป็นแค่ช่วงเริ่มต้น ตัวเลขสถิติยังไม่สูงพอและหลายตัวก็ยังไม่นิ่ง มีโอกาสผิดพลาดสูง คงต้องรอดูตอนจบเคสถึงจะสรุปได้ ยังไงก็รักษาสุขภาพไว้เป็นดีครับ

ย้อนรอยโรค SARS และ MERS

อย่างที่บอกไว้ตอนต้น Coronavirus เป็นไวรัสตัวร้ายของโรคระบาดใหม่นี้ และโรคระบาดร้ายแรงอย่าง SARS และ MERS ก็มาจาก Coronavirus นี้ด้วยเช่นกัน ก็เลยขอเอาข้อมูลสถิติของโรคทั้งสองโรคนี้มาเล่าให้ฟังนิดหน่อย

SARS (Severe Acute Respiratory Syndrome)

เป็นโรคปอดอักเสบที่อาการคล้ายกับโรคปอดอักเสบอู๋ฮั่นนี้มาก แถมยังมีต้นกำเนิดที่จีนเหมือนกันด้วย โดย SARS มีจุดกำเนิดมาจากค้างคาวและมีชะมดเป็นพาหะ ทำให้กระจายไปออกไปเป็นวงกว้างถึง 29 ประเทศ มีผู้ติดโรคนี้ถึงกว่า 8,000 คนและมีผู้เสียชีวิต 800 คน อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 10% ซึ่งถือว่าสูงพอสมควร

ตอนนั้น SARS ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก มีการร่วมมือกันทั่วโลก เลยสามารถควบคุมโรคได้ใน 6 เดือน

MERS (Middle East Respiratory Syndrome)

MERS ก็เป็นโรคที่คล้ายกัน อยู่ในหมวดปอดอักเสบแต่ร้ายแรงกว่าเพราะมีอาการแทรกซ้อนอย่างอื่นด้วย ตั้งแต่อาเจียน ท้องเสียไปจนถึงไตวาย ทำให้มีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่ามากที่ถึง 35% เสียชีวิต 842 คนจากทั้งหมด 2442 คนที่ได้รับการยืนยัน

MERS มีจุดกำเนิดอยู่ที่ตะวันออกกลางตามชื่อ โดยเชื่อว่าอูฐเป็นจุดกำเนิด แต่ก็ยังไม่ชัดเจน และที่สำคัญ โรคระบาดนี้ยังพบผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอยู่เรื่อย ๆ แม้แต่ตอนนี้เอง แต่ก็โชคดีที่โรคนี้เกิดที่ตะวันออกกลางเป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้ระบาดใหญ่ทั่วโลกอีกแล้ว

ทั้ง SARS และ MERS มีการติดต่อจากคนสู่คนได้ทางการสัมผัสใกล้ชิด เช่น การไอจาม ซึ่งโดยรวมแล้วเหมือนกับโรคปอดอัปเสบอู๋ฮั่นตัวใหม่นี้มาก ๆ

วิธีป้องกันตัวจากโรค

นี่เป็นคำแนะนำจากองค์กรอนามัยโลก (WHO) ให้ทำตามนี้

1) ล้างมือด้วยสบู่บ่อย ๆ

2) เวลาไอจามให้ปิดปากปิดจมูกเสมอ

3) หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับคนที่มีอาการคล้ายหวัด

4) หลีกเลี่ยงอาหารดิบ ทำอาหารให้สุกทุกครั้ง

5) หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ป่าหรือสัตว์ในฟาร์มโดยตรง

6) ห้ามรับประทานสัตว์ที่ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ

7) อย่าถ่มน้ำลายในที่สาธารณะ

8) มีอาการเสี่ยงเมื่อไหร่ไปหาหมอทันที

คนไทยควรระวังเป็นพิเศษ

ประเทศไทยค่อนข้างมีความเสี่ยงกว่าชาติอื่นเพราะ

1) คนจีนชอบมาเที่ยวไทย

2) สถานการณ์ PM2.5 ทำให้ร่างกายคนอ่อนแอลง

ด้วยเหตุผลบางประการทำให้เรารู้สึกว่าโรคนี้น่าจะระบาดใหญ่ในไทยในไม่ช้านี้ ถ้าไม่เกิดขึ้นก็ดีไป แต่ถ้าเกิดทุกคนควรจะต้องสามารถรับมือได้ครับ ผู้เกี่ยวข้องควรให้ความรู้อย่างต่อเนื่องนะ ๆ

ตอนนี้ไทยวิกฤติหลายอย่างจัด ก็ขอให้ผ่านมันไปได้กันนะ

บทความที่เกี่ยวข้อง

Oct 11, 2020, 13:09
45915 views
Blameless Post-mortem วัฒนธรรมการหาต้นเหตุความผิดพลาดโดยไม่กล่าวโทษใคร
Jun 9, 2019, 10:30
78990 views
คู่มือการย้ายมาอยู่สหรัฐอเมริกา ตอนที่ 1: เรื่องของ "วีซ่า"
0 Comment(s)
Loading