กลับมาไทยได้ก็เป็นเดือนแล้ว แต่เพิ่งมีโอกาสได้เขียน เกี่ยวกับประสบการณ์ครั้งแรกที่ได้ไปสัมผัสกับโลก Startup ของจริง เป็นเวลา 100 วัน ที่สิงคโปร์ กับค่าย JFDI
เป็น 100 วันที่ผ่านไปเร็วอย่างไม่น่าเชื่อจริงๆ เร็วมาก มากๆ มากมากมากกกกกกกกกกกกกกกกกกกกก
และก็ไม่น่าเชื่อเหมือนกันว่า เพียง 100 วัน อะไรหลายๆอย่างก็เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง รู้สึกได้เลยว่า ตัวเราเมื่อ 100 วันก่อนเข้าค่าย กับวันนี้ ต่างกันคนละเรื่อง ทั้งแนวคิดและจิตใจ
ก็ได้พบเจอะเจอเรื่องราวมาเยอะแยะมากมาย ชนิดที่ว่า ตลอด 2 ปีที่อยู่ในวง Startup ในไทย เทียบไม่ได้เลยกับแค่ 3 เดือนนิดๆที่อยู่ที่นั่น อะไรที่เคยคิดว่าถูก มันก็ไม่ถูก อะไรที่เคยเห็นว่ามันใช่ตอนอยู่ในไทย มันกลับไม่ใช่ ไม่รู้จะเขียนยังไงให้หมด ยอมรับว่าเรียบเรียงยากมาก แต่ก็จะพยายามสื่อออกมาให้ดีที่สุดเท่าที่จะดีได้ละกันนะกั๊บ
ย้อนเวลาหา MOLOME
ยิ่งแก่ขึ้นก็ยิ่งรักความเป็นส่วนตัวมากขึ้น ก็เลยค่อยๆทำตัว Low Profile จนเริ่มไม่มีใครรู้จักละ ยังไงก็ขอแนะนำตัวคร่าวๆก่อนละกันครับว่าเป็นใครและเป็นมายังไง
เนยก็เป็นโปรแกรมเมอร์ตัวเล็กๆธรรมดาๆคนนึง ไม่มีอะไรพิเศษ ทำงานด้าน Mobile App มา 11 ปี เปิดบริษัทเล็กๆเกี่ยวกับ Mobile App ทำโปรดักส์รับโปรเจคตามประสา
แล้ววันดีคืนดีเมื่อสามปีก่อน ก็เกิดอยากทำความฝันของตัวเองที่คิดฝันไว้ร่วม 5 ปี มันคือแอพฯ Photo Sharing Social Network ที่ชื่อว่า MOLOME มีแผนการตลาดชัดเจนว่าจะใช้กลยุทธ์ "ป่าล้อมเมือง" ทำ Platform อย่าง Symbian, MeeGo, BlackBerry ก่อน แล้วค่อยไปทำบน iOS และ Android
ตอนนั้นยังจำได้ วันที่โปรเจคนี้เริ่มขึ้น สามสี่ชีวิต นั่งกองกันอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆ โค้ด ดีไซน์ ทำทุกอย่าง จนมันเสร็จออกมาใน 1 เดือน (ใช่ครับ MOLOME เวอร์ชั่นแรก ใช้เวลา 1 เดือนในการทำ) ไม่ต้องแปลกใจที่แอพฯจะดีไซน์ดูง่อยๆ เพราะโปรแกรมเมอร์ดีไซน์เองล้วนๆ แต่สุดท้ายมันก็ออกมาเสร็จ
แล้วก็พัฒนาต่อ โชคดีที่ได้ดีไซเนอร์ที่เก่ง UI และมนุษย์ผู้เก่ง UX มาร่วมทีม ทำให้พัฒนา UI ออกมาใหม่จนตอนนี้ถึง MOLOME 3.x เป็นที่เรียบร้อย
ด้วยโชคหลายๆอย่าง ปรากฎว่า Scale มันใหญ่ขึ้นโดยไม่รู้ตัว ผู้ใช้ทะลุล้านคน แต่ปัญหาที่ประสบพบเจอก็คือ ยัง Monetize ไม่ได้ แต่ก็ยังโตอยู่ จนค่าใช้จ่ายต่อเดือนสูงขึ้นจนจ่ายไม่ไหว
ปัญหาคลาสสิค แต่น่าเจ็บปวด
ณ ตอนนั้นกระแส Startup ก็กระพัดกระพือขึ้นมาในไทย คนสนใจกันเยอะ เราเลยไปส่องๆดูว่ามันคืออะไร แล้วก็เริ่มได้เข้าใจ Ecosystem ที่มี Startup Company, Investor, Accelerator ฯลฯ ประกอบกันเพื่อดันบริษัทที่อยากทำผลงานอะไรสักอย่างแล้วดูมีอนาคต ให้สามารถทำได้จริงและเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จ
จึงเพิ่งรู้ว่า MOLOME มันก็อยู่ใน Way Startup นะ ควรจะเริ่มหา Investor เพื่อเอาเงินมาดันให้โปรดักส์โตกว่านี้ ไม่งั้นถ้ายังอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ สักวันก็ต้องปิดตัวลงไปแน่แท้
คิดแค่นั้น อย่างอื่นไม่รู้แล้ว ภารกิจเดียวคือจะหา Investor ให้จงได้ ...
ครั้งแรกที่ความคิดนี้ผ่านเข้ามาในหัวคือราวๆสองปีที่แล้ว ก็มีโอกาสได้พูดคุยได้รู้จักกับ Startup Community ในไทยเป็นจำนวนมาก เข้าใจสิ่งต่างๆ แต่จนแล้วจดรอดก็ไม่มีโอกาสได้ไปหา Investor จริงๆจังๆสักที เพราะ "กลัว" กลัวว่า Investor จะคาดหวังอะไรที่เราให้ไม่ได้ และ Connection ก็ไม่เพียงพอที่จะเดินไปหา Investor ได้เลย (เพราะตอนนั้นอยู่ในไทยด้วยแหละ) สุดท้ายเลยไม่ไปหาสักทีนึง
ผ่านมาปีครึ่ง เริ่มท้อแท้ เหนื่อยล้า กับความฝันที่ใหญ่โต แต่ทำไม่ได้เพราะไม่มีเงินทุน จังหวะนั้นโครงการ JFDI ที่เป็น Accelerator ที่สิงคโปร์ก็บอกว่าเปิดรับสมัครพอดี เลยสมัครไป สัมภาษณ์ครั้งแรกทำได้ไม่ดีเท่าไหร่ จนคิดว่าคงไม่ได้ไปแล้วหละ
อยู่ดีๆก็มีสิ่งไม่คาดฝันเกิดขึ้น เมื่อ AIS จัดงาน AIS Startup Commercial Pitch แล้วเราก็ฝืนสมัครไป (ที่บอกว่าฝืนเพราะไม่มั่นใจในภาษาอังกฤษตัวเองเลย แต่ด้วย Passion ที่มี จึงสมัครไป) และก็ได้รับคัดเลือกให้ไป Pitch จริง นับเป็นการ Pitch เป็นภาษาอังกฤษครั้งแรกในชีวิต มีเวลาเตรียมตัวไม่มาก เพราะตอนนั้นป่วยเป็นไข้เลือดออก แม้วันที่ Pitch ก็อ่อนแอมาก แต่ก็กัดฟัน Pitch ไปจนจบ
ทุกอย่างผ่านไปด้วยดี ถึงไม่ได้รางวัลอะไร แต่ก็ได้ประสบการณ์ไปเต็มๆ
และ Jackpot ก็แตก เมื่อในห้อง Pitch วันนั้น มี Director ของ JFDI มานั่งฟังอยู่ด้วย ... ด้วยเหตุนั้น ทำให้เค้าเกิดสนใจผลงานขึ้นมา และรับเลือกทีมเราเข้าค่าย Accelerator
การเดินทางจึงเริ่มต้นขึ้น ...
JFDI คืออะไร
ใช้เวลาเกือบสองปีทำความเข้าใจว่า JFDI คืออะไร จนถึงก่อนไปก็ยังไม่รู้เท่าไหร่นัก และเชื่อว่าคนจำนวนมากรู้จัก JFDI แต่ก็ไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร เลยขอมาเล่าให้ฟัง
JFDI ย่อมาจาก Joyful Frog Digital Incubator เป็นบริษัทที่เปิดโดยกลุ่มผู้คร่ำหวอดในงานด้าน Startup อย่าง Meng Wong และ Hugh Mason ในประเทศที่ Develop ด้านเศรษฐกิจสูงสุดในเอเซียอย่างสิงคโปร์
จุดประสงค์ของ JFDI คือควาญหา Startup Company ที่ดูน่าสนใจทั่วโลก แล้วดึงมาเข้าแคมป์ Incubator เป็นเวลา 100 วัน พร้อมกับให้ Funding ก้อนเล็กๆ (15000 SGD) เพื่อให้กินอยู่ที่สิงคโปร์ตลอด 100 วันนั้น แลกกับหุ้นของบริษัทตาม Valuation ที่กำหนด
ถามว่าระหว่าง 100 วันนั้น ผู้เข้าแคมป์ทำอะไร? หลักๆมีอยู่สองอย่าง (1) พิสูจน์ว่าผลงานของคุณนั้นเวอร์ค (2) ซ้อม Pitch
แล้วทำยังไงถึงจะรู้ว่าผลงานเวอร์คไม่เวอร์คหละ? นอกจากจะมีวิธีตามมาตรฐาน (ไว้จะกล่าวในหัวข้อถัดไป) ยังมี Mentor ผู้อยู่ในวง Startup จำนวนหลายสิบคน คอยสลับสับเปลี่ยนมาให้คำปรึกษาและให้ความรู้เรื่อยๆ
และทุกวัน ก็จะมี Coordinator ชื่อว่า Ray คอยมากระทุ้งว่า "คุณทำโน่นทำนี่หรือยัง" ซึ่งส่วนใหญ่จะตามมาด้วยคำถามว่า "แล้วทำไมคุณยังไม่ทำ" เป็นการจี้ที่ทำให้สุดท้ายคนยอม Break the ice ได้ทำสิ่งที่ตัวเองไม่กล้าทำ (ทั้งๆที่ควรทำ)
นอกจากนั้นทุกสัปดาห์ยังจะมี Weekly Meeting (อันแสนน่ากลัว) โดยนาย Ray จะใช้วิธี Lean คอย Iterate ทุกสัปดาห์ว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาคุณเรียนรู้อะไร คุณมีอะไรที่รู้สึกดี คุณเจออะไรที่เป็นอุปสรรค และสัปดาห์นี้ Goal คุณคืออะไร
แรกๆก็รู้สึกน่าเบื่อและอึดอัดนิดหน่อย แต่ตอนนี้กลับชอบ กลับไทยมาก็มี Goal ให้ตัวเองทุก Week เลย ทำได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่อย่างน้อยก็รู้ว่าตัวเองทำอะไรอยู่หละนะ
สุดท้ายเมื่อผ่านไป 100 วัน ผลที่ออกมามีอยู่สองหนทาง
1) "ผลงานคมขึ้น" เนื่องจากผ่านการขัดเกลาและ Shape มาอย่างบ้าคลั่ง "Founder มั่นใจมากขึ้น" เพราะทุกอย่างไม่ได้เป็นสิ่งที่มโนขึ้นมา หากแต่พิสูจน์มาแล้ว และ "Pitch เก่ง" จากการซ้อมทุกสัปดาห์นั่นเอง
2) "ไม่เวอร์ค" - ในเมื่อโจทย์ที่ต้องหาคำตอบคือ "ผลงานเวอร์คหรือไม่" แน่นอนว่าหนึ่งในคำตอบที่เป็นไปได้ก็คือ "ไม่เวอร์ค" และมันไม่เรียกว่าความล้มเหลวแต่อย่างใด หากแต่เป็นการใช้สิ่งที่มีค่าที่สุดอย่าง "เวลา" อย่างคุ้มค่าที่สุด ด้วยการหยุด แล้วไปเริ่มทำอย่างอื่นแทน (อย่าง Batch ของเรา คนเลิกไป 2 ทีม)
เป็น 100 วันที่มีค่ามากจริงๆ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลยที่จะมีโอกาสเจอคนเก่งๆจำนวนนับไม่ถ้วนแบบนี้คอยมาช่วยคิดช่วยแนะนำผลงานของเรา จนกระทั่งได้คำตอบว่าเราจะเดินไปทางไหนและอย่างไร พร้อมกับ Connection มากมายที่พร้อมช่วยเหลือและเติมเต็มในสิ่งที่ขาด
หลังจากเข้าค่ายครบ 100 วัน ก็จะเป็นวันสุดท้าย "วัน Demo Day" เป็นวันที่ทุกคนจะต้อง Pitch ต่อหน้าธารกำนัน ... ไม่ใช่สิ ต่อหน้า Investor ที่ถูกเชิญมากว่า 50 ชีวิต และแต่ละคนไม่ใช่ธรรมดา หากแต่ถูกคัดมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น Golden Gate Venture, TNF, Telco ทั้งหลาย และคนที่คาดว่ามีโอกาสเจอแค่ครั้งเดียวในชีวิตนี้อีกมากมาย
และสิ่งที่เห็นเลยด้วยตาตัวเองจาก 8 ทีมที่ขึ้น Pitch ที่ทุกคนทำออกมา "ดีโคด" เกินคำว่า Awesome ไปอีกสี่คลิก ทั้งๆที่ 100 วันก่อนหน้า แต่ละคนไม่มีวี่แววว่าจะทำได้ดีขนาดนี้เลย
Incubator และ Accerelator ช่วย Startup ได้จริงๆ พิสูจน์มาให้เห็นกับตาตัวเองแล้ว และไม่ได้ช่วยธรรมดา หากแต่ช่วยให้สำเร็จได้เลย
Demo Day ไม่ใช่ Competition ดังนั้นจึงไม่มี Winner ไม่มีที่ 1 ที่ 2 หรือที่ 3 หากแต่สิ่งที่เกิดหลังจากนั้นต่างหากที่สำคัญ เพราะ Founder จะมีโอกาสได้คุยกับ Investor ที่หาตัวจับยากมากมายที่มาฟังวันนั้น แล้วก็นัดคุยกันจนกระทั่ง Raise Fund สำเร็จนั่นเอง
หลังจากผ่านวัน Demo Day แล้ว บรรยากาศช่างเงียบเหงา ทุกคนที่ใช้ชีวิตกันมา เจอหน้ากันทุกวัน คอยช่วยเหลือกัน อยู่กันอย่างครอบครัว ต่างแยกย้ายกลับบ้านเกิด แต่สิ่งที่ยังเหลืออยู่คือ Connection และความเป็นเพื่อน ที่คอยติดต่อ คอยแสดงความยินดี คอยช่วยเหลือ ไม่เคยขาดตกบกพร่อง (ตอนนี้อยากซื้อตั๋วบินไปสิงคโปร์เพื่อกินข้าวกับคนที่ JFDI เลย คิดถึงมาก)
และนี่คือสิ่งที่เราทำกันใน JFDI ครับ
สี่ขาที่จำเป็นต่อ Startup Ecosystem
มาถึงตรงนี้ เรื่องพื้นฐานแรกที่เรียนรู้จากที่นั่น (และคาดว่าทุกคนรู้อยู่แล้ว) คือ Startup Ecosystem มี 3 ขาที่ "ต้องมี" เพื่อให้ Ecosystem ขับเคลื่อนได้ ได้แก่
1) Startup Company - แน่นอน บริษัท Startup ที่ "มีความฝัน" และ "ทำมันให้สำเร็จ" เป็นพื้นฐานการขับเคลื่อนของ Ecosystem นี้ กลุ่มคนที่มี Potential ในการทำเพิ่มมูลค่าให้กับผลงาน ทำให้เงินงอกเงย จาก 1 เป็น 10 เป็น 100 เป็น 1000 จนมีนักลงทุนสนใจ อยากจะร่วมลงทุนด้วย
2) Investor - กลุ่มนักลงทุนที่เห็น Potential ของผลงานกลุ่มบริษัทที่มีความฝันและมีความสามารถ จนยอมลงเงินจำนวนหนึ่งเพื่อแลกกับหุ้น Investor มีหลายประเภท หลายเลเวล เรื่องนี้ไม่ขอกล่าวอะไรเยอะ เพราะรายละเอียดมันแยะ
3) Incubator / Accelerator - คนที่จับ Startup Company มาปั้นๆๆๆๆให้ทำถูกวิธี แล้วจับไปเจอกับ Investor ถือเป็นกลุ่มคนที่สำคัญมากเพราะ Startup ก็ต้องการ Investor ส่วน Investor ก็ต้องการ Startup แล้วใครหละจะพาทั้งสองมาเจอกันได้ ? ... ก็ Incubator / Accelerator นี่แหละครับ
4) Mentor - คนที่คอยให้คำแนะนำจากประสบการณ์จริง "อย่างถูกวิธี" สามารถเป็น Role Model ให้ทำตามได้ จนทำให้ผลงานคมขึ้นและไปในทางที่ถูกด้วยความเป็น Specialist ของคนนั้นๆ
สิ่งที่เมืองไทยขาดคือ 2, 3 และ 4 ...
Investor ในเมืองไทยที่เป็น Investor จริงๆ หวังลงทุนใน Startup ที่มีความเสี่ยงสูงมีอยู่น้อยนักเมื่อเทียบกับสิงคโปร์ และที่ลงก็จะลงเงินไม่เยอะมาก สาเหตุหนึ่งก็เพราะ Startup Company ในไทยยัง Potential สูงไม่เพียงพอ เงินเลยไหลออกไปประเทศอื่น
ปีนี้มีแนวโน้มที่ดีที่ Investor ต่างชาติจะมาลงทุนในไทยเยอะขึ้น เงินเหลือเยอะมากเลยหละ แต่คำถามคือ Investor เหล่านั้นจะมาเจอกับผลงานดีๆครีมๆในไทยได้อย่างไร จะทำยังไงให้เงินไม่ไหลไปประเทศอื่นอีก?
Incubator และ Accelerator ที่มีประสิทธิภาพและมีกำลังเพียงพอที่จะช่วยดึง Startup และ Investor มาเจอกัน เป็นสิ่งที่ขาดอย่างมากในไทย Accelerator ที่จริงจังกับ Startup มีการจัดการที่ดี และมีเป้าหมายชัดเจนว่าจะพาผลงานที่ดี ไปเจอกับ Investor ให้ได้ ไม่ใช่ทำเพื่อจุดประสงค์อื่นใดเลย มีอยู่น้อยมาก และถ้าถามว่าจะแก้ปัญหา Startup ในไทยควรจะเริ่มที่ไหน เนยว่าประเด็นเรื่อง Accelerator ดีๆนี่เป็นเรื่องแรกที่ควรจะทำออกมาให้เสร็จและเป็นรูปเป็นร่าง ขาที่เหลือจะตามมาเอง
ส่วนสุดท้าย Mentor ... เสน่ห์อย่างหนึ่งของ Startup Ecosystem คือ คนที่สำเร็จแล้วจะกลับมาช่วยคนที่เข้ามาใหม่ แต่เนื่องจากไทยใหม่มากเรื่อง Startup ทำให้คนที่สำเร็จมีอยู่หยิบมือหนึ่งเท่านั้น ไม่เพียงพอที่จะให้คำแนะนำทุกเรื่อง ไม่เพียงพอที่จะเป็น Role Model ให้คนรุ่นใหม่เดินตามได้
สุดท้าย Startup Ecosystem ในไทย เลยยังติดๆขัดๆด้วยปัจจัยเหล่านี้นี่เอง แต่ก็น่ายินดีที่แนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ
คุณกำลังแก้ปัญหาอะไร?
สิ่งที่ทาง JFDI คอยผลักดันทางแนวคิดอยู่เสมอคือ ให้ตอบให้ได้ว่า "คุณกำลังแก้ปัญหาอะไร"
เพราะปัญหา (Problem) กับทางแก้ (Solution) เป็นของคู่กัน เมื่อคุณเข้าใจว่ามันมีปัญหานั้นอยู่จริง ก็แปลว่ามีคนที่ต้องการทางแก้อยู่บนโลกนี้ และนั่นก็แปลว่า มีคนต้องการผลงานของคุณอยู่บนโลกนี้ ... มันคือการรู้กลุ่มเป้าหมายของตัวเองนั่นเอง
Instagram แก้ปัญหาการแต่งรูปให้สวยมันทำยากบนมือถือ
LINE แก้ปัญหาการแชทแล้วไม่เข้าใจอารมณ์ที่แท้จริงของฝั่งตรงข้าม
Facebook แก้ปัญหาการติดต่อและติดตามเรื่องราวของกันและกันมันยาก
Dropbox แก้ปัญหาการ Sync ไฟล์งานระหว่างเครื่อง ต้องก็อปไปก็อปมาลง Thumb Drive มันลำบาก
คำถามต่อมาคือ ปัญหาใหญ่พอหรือไม่ที่จะแก้?
ปัญหามีสองระดับ "มีทางแก้ก็ดี (Nice to have)" กับ "ต้องหาทางแก้ให้ได้ (Must have)" อย่างแรกเป็นพวกช่วยอำนวยความสะดวกสบาย ไม่มีก็ได้ แค่ลำบากหน่อย มูลค่าจะไม่สูงเท่าไหร่ ส่วนอย่างหลังจะเป็นของจำเป็น จึงมีมูลค่าสูงกว่ามาก ไม่ต้องแปลกใจที่อุตสาหกรรมยาถึงมีมูลค่าสูงลิบ เพราะมัน Must have นั่นเอง ถ้าได้รู้ว่าเม็ดเงินที่ Investor Spend ไปกับการ Research หาทางรักษามะเร็งสูงแค่ไหนแล้วจะขนลุกเกรียว (แน่นอนว่าเนยก็ไม่รู้ตัวเลขเป๊ะๆหรอก แต่รู้คร่าวๆว่ามันสูงมากแบบมากมาก มากมากมากกกก อ่ะ)
ถัดไปคือ มีคนเจอปัญหานี้เยอะแค่ไหน?
เป็นการบอกว่าตลาดคุณกว้างแค่ไหน ปัญหาที่คุณจะแก้มีคนเจอปัญหาอยู่ 10 คน กับ 1,000,000 คน มูลค่ามันต่างกันลิบลับ เมื่อรู้ว่ากลุ่มเป้าหมายใหญ่แค่ไหนและเป็นใคร คุณก็จะรู้ว่า Market Cap ของตลาดที่คุณกำลังจะไปเล่นนั้นมีสูงแค่ไหน ตัวเลขเหล่านี้จะเป็นการยืนยันให้กับ Investor ได้อย่างดีว่าคุณทำการบ้านมาดีแล้ว และคุณรู้จักกับตลาดของคุณดีพอ
เมื่อเข้าใจปัญหาแล้ว ต่อไปก็คือ ... อะไรคือ Solution ของคุณที่จะช่วยแก้ปัญหานี้? แล้วทำไมคุณถึงคิดว่า Solution คุณเวอร์ค? แล้วทำไม Solution ของคุณถึงดีกว่าคนอื่น?
คำถามยิงเป็นชุด ตอบให้ได้ให้หมดครับ เป็นสิ่งจำเป็นในการเล่าเรื่องและในการเข้าใจโปรดักส์ของเรา หากยังตอบคำถามเหล่านี้ไม่ได้ ให้หยุดก่อน แล้วใช้เวลาอยู่กับทีม คุยกัน Brainstorm กัน แล้วพยายามหาคำตอบให้ได้
แต่สุดท้ายถ้าบอกว่า "มันไม่มีปัญหา" มันไม่ได้แปลว่าคุณจะต้องล้มเลิก เพราะ Template ของการแก้ปัญหานี้เป็นแค่วิธีหนึ่ง ใช้ได้กับ Demand ที่มีอยู่แล้วเท่านั้น หากแต่ Demand ที่ยังไม่มีแต่เรากำลังจะสร้าง มันอาจจะไม่มีปัญหาอยู่ก็เป็นได้ และถ้าออกมาในแนวนั้น ก็ต้องพิสูจน์กันต่อไปว่ามันจะมี Demand ใหม่นี้เกิดขึ้นจริงๆ ความเสี่ยงสูง แต่ Return ก็สูงเช่นเดียวกันครับ อาจจะเหนื่อยหน่อยตอนคุยกับ Investor เพราะต้อง Convince ให้เค้าเชื่อให้ได้ว่าเราสามารถสร้าง Demand ได้
รูปแบบพื้นฐานของการพิสูจน์ผลงานของ Startup
โจทย์ใหญ่แกนหลักของผลงาน Startup ที่ Founder ต้องพิสูจน์ให้เห็นคือ "ทำให้เห็นหน่อยว่าคนต้องการผลงานของคุณ" หรือที่เราเรียกว่า
Prove Traction
คำว่า Traction เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ชนิดว่าถ้าคุณไม่รู้จักคำนี้ ก็แปลว่าคุณยังไม่รู้จัก Startup เลยทีเดียว เวลาจะคุยอะไรกันกับใครในวง Startup ประโยคที่ได้ยินกัน "ทุกครั้ง" ในวงคือ "Traction เป็นไงบ้าง" และคุณต้องมีคำตอบ ...
ทุกคนมีไอเดีย มีความเชื่อว่ามันเจ๋ง มันต้องมีคนใช้แน่ๆ แต่ ... ถ้าคุณไม่พิสูจน์ให้เห็น มันก็เป็นแค่ลมปาก มันก็เป็นแค่มโนภาพ คุณจึงต้องวัดผลออกมาจากของจริง จากชีวิตจริง จากผู้ใช้จริง ไม่ใช่สิ่งที่คุณคิดเอาเอง
วิธีการวัด Traction มีหลายวิธีนัก ง่ายสุดคือการ สร้าง MVP (Minimum Viable Product) หรือ ผลงานเล็กที่สุดที่ใช้งานจริงได้ (คำศัพท์ราวกับหรม.ครน.) จะเป็น Prototype ที่ทำงานตาม Concept ได้ หรือจะเป็นแค่ Slide สองสามหน้าก็ยังได้ แล้ว "เดินเข้าไปหากลุ่ม Target เพื่อสัมภาษณ์หาคำตอบว่าเค้าจะใช้หรือไม่ และเค้าจะยอมจ่ายค่าใช้ตามที่วางแผนไว้หรือไม่" จง Keep in mind ไว้เลยว่า ถ้าคุณยังไม่เดินเข้าไปหาลูกค้า คุณก็ไม่มีวันได้รู้เลยว่าผลงานคุณจะมีคนต้องการจริงๆหรือไม่ แค่ก้าวแรกคุณก็คิดไปเองแล้ว จะเดินก้าวต่อไปให้ถูกต้องได้ยังไง
ไม่ต้องเกรงใจว่าเค้าจะรำคาญเรามั้ย มันคือการสัมภาษณ์ และส่วนใหญ่คนจะยินดีให้เราสัมภาษณ์ เพียงแต่ต้องมีศิลปะในการพูดคุยเสียหน่อย อันนี้ที่ JFDI มีสอนกันหลายชั่วโมงเลย สุดท้ายสรุปได้ว่า เราต้อง Realize เสมอว่าเราไปกวนเวลาเค้าอยู่นะ เราต้องให้เกียรติเวลาเค้านะ พูดจาสุภาพ เนื้อหากระชับไม่ออกทะเล พยายามทำให้การคุยสนุก ฯลฯ สรุปแล้ว เป็นเรื่องความสามารถเฉพาะตัวแต่คนเลย มี Blog เมืองนอกให้อ่านอยู่หลายอันว่าเทคนิคการเข้าไป Interview ด้วย MVP เค้าทำยังไงกันบ้าง ลองไปอ่านกันดูๆ
และเมื่อได้ผลพิสูจน์ Traction ออกมาแล้ว ทำออกมาเป็นรายงานที่อ่านง่ายเตรียมไว้เลย Investor จะสนใจตรงนี้ที่สุด ถึงแม้ผลงานคุณจะเป็นแค่ MVP ที่รันจริงยังไม่ได้ แต่ Traction ถ้าน่าสนใจ เค้าก็มีแนวโน้มจะลงทุนกับคุณแล้วครับ
Startup บางคนอาจจะกังวลว่าผลงานยังไม่เสร็จ คนจะลงทุนกับเรามั้ย ตอบได้ว่าแล้วแต่สถานการณ์และแล้วแต่ประเภท Investor ครับ แต่ที่เห็นมาด้วยตาแล้วเนี่ย ถึงแม้ผลงานยังไม่ต้องเริ่มทำ แต่ Traction น่าสนใจ ทีมดูเชี่ยวชาญ เป็นไปได้ โอกาสที่เค้าจะมาลงทุนด้วยก็มีอยู่สูงลิบชนิดที่ได้เกือบจะแน่ๆแล้วครับ ในทางตรงกันข้าม ผลงานดูดี แต่ Traction ไม่มี วัดไม่ได้ โอกาสที่เค้าจะลงกับคุณก็เฉียดๆ 0 เลย
ทุกอย่างต้องวัดได้
คำต่อไปที่ต้องรู้จักและต้องใส่ใจอย่างรุนแรงมากมากมากมากมาก(เน้นเหลือเกิน)คือคำว่า
Metric
เป็นหนังสามภาคที่สนุกมากครับ ... ผิด
สิ่งที่ Startup รวมถึง Business ใดๆก็ตามต้อง Keep in mind ไว้เสมออีกอย่างหนึ่งก็คือ "ทุกอย่างต้องวัดผลได้"
เนื่องจาก Startup ส่วนใหญ่จะเกิดจาก "ความฝัน" และ "ความรัก" ในตัวผลงาน ซึ่งมัน Abstract มาก ... ทำให้เกินครึ่งหวังแค่ว่าทำๆไปให้มันเสร็จ พอเสร็จแล้วก็เย้ จบ ปล่อยให้คนใช้ แล้วก็ เย้ แล้วก็ ... ไม่สามารถวัดอะไรได้เลย
เป็นสิ่งที่ผิดมหันต์เพราะนั่นจะนำมาซึ่งภัยร้ายที่ทำให้ผลงานคุณล่มจมได้ง่ายๆ เพราะถ้าวัดไม่ได้ มันก็ไม่มี Goal ไม่มีพัฒนาการ ผลงานก็จะจบตั้งแต่วันที่ผลงานเสร็จ ไม่สามารถไปไหนต่อได้
เราจึงจำเป็นต้องสร้าง Metric (มาตรวัด) มาเพื่อวัดผลทุกสิ่งทุกอย่างเท่าที่เป็นไปได้ เพื่อพัฒนาปรับปรุงรวมไปถึงการหาจุดแข็งของผลงานหลังจากปล่อยไปแล้ว รวมถึงยังช่วยวัด Traction ว่ามีคนเข้าใช้เยอะเพียงใด และระบบเรา Keep คนได้หรือไม่
ยกตัวอย่างเช่น จะทำเกม ต้องวัดได้ว่ามีคนกดเข้าเล่นเกมในด่านแรกกี่คน เล่นจบกี่คน เล่นไปถึงด่านที่ 5 กี่คน คิดเป็นกี่ % เมื่อได้ค่าเหล่านี้มาก็จะรู้ว่าเราต้องปรับปรุงตรงไหนในเกม และตรงไหนที่ทำให้คนไม่อยากเล่นต่อ
Metric ที่สำคัญๆมีอยู่หลายตัวที่จำเป็นต้องวัดผลให้ได้ ที่สำคัญสุดๆเลยคือ User Engagement หรือความผูกพันธ์กับผู้ใช้ ทำไมถึงสำคัญ? ... ก็ผลงานทำมาเพื่อให้ User ใช้นี่นา ! ถ้าวัด User Engagement ไม่ได้นี่จบเลยนะ
วิธีวัดเป็นร้อยวิธี แล้วแต่ประเภทของผลงาน เช่น อัตราการกลับเข้าใช้บริการ (Return Rate), มีคนใช้งานนานเท่าไหร่ต่อวัน, แต่ละครั้งที่เปิดใช้งาน User ใช้เวลาเท่าไหร่, ระยะเวลาระหว่างการกลับเข้าใช้แต่ละครั้งนานเท่าไหร่ และอีกมากมายมหาศาล เขียนเป็น Metric ออกมาให้ได้ แล้วตัวเลขเหล่านี้จะสนับสนุน Traction ของผลงานคุณได้อย่างดีมาก นอกจากนั้นยังจะช่วยวัดพวกค่า UAC และ LTV ได้ ซึ่ง Investor จะดูตัวเลขเหล่านี้ประกอบในการพิจารณาว่าจะลงทุนหรือไม่ด้วย (ค่าพวกนี้คืออะไร ไปดูหัวข้อถัดไป)
ส่วน Metric อื่นๆที่ต้องวัด ก็จะแล้วแต่ความเหมาะสมต่อผลงาน เช่น ARPU เอย (ปรับปรุง Business) อัตราการกดปุ่มเอย (ปรับปรุง UX) เป็นต้น สังเกตุว่าสิ่งที่วัดผลได้ไม่ใช่งานด้าน Development อย่างเดียว หากแต่เป็นทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็น Business, Development หรือแม้กระทั่ง UX/UI Design ทุกครั้งที่คิดจะทำอะไร จงคิด Metric ไว้เสมอ
และจงจำไว้เสมอว่า
ความห่วยแตกที่วัดค่าได้ ยังมีค่ามากกว่าความสวยหรูที่วัดค่าไม่ได้
สาเหตุเพราะความห่วยแตกที่วัดค่าได้ เราสามารถเอาไปปรับปรุงให้มันไม่ห่วยได้ แต่ความสวยหรูที่วัดค่าไม่ได้ มันก็จบแค่ตรงนั้น ทำอะไรกับมันไม่ได้เลย ได้แต่หลงทางและวนอยู่ที่เดิมตรงนั้นตลอดไป
มีเครื่องมือจำนวนหนึ่งที่ช่วยวัดผลได้ แล้วแต่ประเภทผลงานคุณอีกเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น MixPanel ที่เป็นบริการเก็บ Datapoint ของการใช้งาน เพื่อเอามาวิเคราะห์ Stat ถ้า Datapoint ไม่เยอะมาก ก็ใช้งานได้ฟรี แต่ถ้าเยอะหน่อยก็อาจจะต้องเสียตังค์เล็กๆน้อยๆ แต่คุ้มครับแลกกับสิ่งที่ได้
จงรู้ UAC และ LTV ของผลงานตัวเอง
ตะกี้ทิ้งไว้กับสองคำ UAC และ LTV มันคืออะไร? ... มันเป็นคำที่จำเป็นต่อ Startup ทุกเจ้าอีกแล้ว และเป็นตัวเลขที่ต้องมีคำตอบไว้ในใจเสมอด้วย
UAC ย่อมาจาก User Acquisition Cost หรือ ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการดึง User หนึ่งคนมาใช้บริการ ยกตัวอย่างเช่น จ่ายค่าโฆษณา Facebook ไป User ละ $0.5 เพื่อให้คนเข้ามาใช้บริการ ตรงนี้คือต้นทุนที่ต้องเสียไปเพื่อให้ได้ User เพิ่มมา
LTV ย่อมาจาก Life Time Value หรือ มูลค่าเฉลี่ยของ User ตลอดอายุการใช้งาน ยกตัวอย่างเช่น โดยเฉลี่ย User จะซื้อของในแอพฯและสร้างรายได้ค่าโฆษณาเป็นมูลค่าคนละ $2 ตรงนี้คือ LTV
ถ้า LTV สูงกว่า UAC ก็น่าสนใจ แปลว่ายิ่งมี User เยอะ ก็จะยิ่งได้กำไรพอกพูนขึ้นเรื่อยๆ ใครๆก็ชอบ
ตรงกันข้าม ถ้า LTV ต่ำกว่า UAC ก็แปลว่าแย่ละ จ่ายเงินเพื่อให้คนเข้ามาใช้ แต่พอใช้เสร็จ ขาดทุน ยิ่งมีผู้ใช้เยอะก็ยิ่งขาดทุนเยอะ อย่างงี้ผลงานไม่อาจไปรอดได้ครับ และถามว่า Investor แคร์มั้ย ตอบได้เลยว่าแคร์
สองตัวเลขนี้ถูกใช้ในบนสนทนาบ่อยครั้ง อย่าลืมเตรียมตัวเลขไว้ด้วยครับ สำคัญมาก และจะทำให้มอง Startup เป็นธุรกิจได้ดีขึ้นอีกด้วยครับ
ต้องรู้ Unique Value Proposition ของผลงานตัวเอง
สัจธรรมอย่างหนึ่งของทุกอย่างในโลกนี้คือ คุณไม่มีทางเป็นคนแรกที่คิดจะทำอะไรก็ตามในโลกนี้ ทุกสิ่งล้วนมีคนเคยคิดหรือเคยทำมาแล้ว บ้างอาจจะสำเร็จแล้ว บ้างอาจจะยัง
ทีนี้ถ้ามีผลงานคล้ายๆกันในตลาด 10 ตัว แล้วคุณ "ต่าง" จากคนอื่นยังไง? พูดตามภาษา Startup คือ Unique Value Proposition ของผลงานคุณคืออะไร?
โลกนี้มีโปรแกรมแชทอย่าง Whatsapp ครองตลาดอยู่แล้ว แล้วทำไมจู่ๆ LINE ถึงมาตีตลาดเอเซียได้? ก็เพราะเค้ามี UVP เรื่องสติกเกอร์ ให้ส่งความน่ารักคุคิมุมิหากันได้
โลกนี้มีเว็บแชร์วีดีโออย่าง YouTube ครองโลกอยู่แล้ว ทำไม Vimeo ยังอยู่ได้? ก็เพราะ Vimeo มี UVP ว่า สวย สะอาดและดู Professional กว่า
แล้วผลงานของคุณเมื่อเทียบกับคู่แข่งใน Landscape คุณมี UVP อะไรหละ?
คำตอบของโจทย์ตรงนี้จะส่งผลโดยตรงกับแนวทางของผลงานที่จะเป็นไปได้เลย ทุกผลงานควรจะมี UVP ตั้งแต่เริ่ม แต่ก็บ่อยครั้งที่ผู้ใช้เป็นคนกำหนด UVP ให้หลังจากผลงานปล่อยใช้จริงแล้ว จึงควรคุยเรื่อง UVP นี้อยู่เรื่อยๆว่าจุดแข็งของผลงานเราคืออะไร ยิ่งหาจุดแข็งได้เร็ว ก็จะยิ่งหาตัวเองเจอเร็วขึ้นเท่านั้น
หาคำอธิบายสั้นๆในสองประโยคของผลงานให้ได้
ไม่ว่าผลงานจะซับซ้อนแค่ไหน เราก็ต้องหาคำอธิบายสั้นๆให้คนฟังเข้าใจได้ใน 5 วินาที อย่าง MOLOME ก็ได้คำอธิบายสองวันก่อนหน้า Pitch จริงว่า
Instagram makes yout photo prettier. MOLOME makes your photo funnier
เคลียร์มั้ยครับ จบเลยมะ? สำหรับผม ผมชอบเลยหละ มันสื่อให้คนเข้าใจว่ามันก็คล้ายๆ Instagram แหละ แต่ภาพออกมาจะ Funnier
พอคนเริ่มสนใจ ก็ค่อยคุยต่อในรายละเอียด
สังเกตุดู มันเป็นประโยคที่เล่นกับความเข้าใจของคนโดยตรง ไม่มีความเป็นฟีเจอร์อะไรเข้าไปปนแม้แต่น้อย ไม่ได้พูดเลยว่าเปลี่ยนฟิลเตอร์ได้นะ แปะสติกเกอร์ได้นะ แต่คนฟังก็เข้าใจได้ในทันทีว่ามัน Funnier ถ้าเค้าสนใจเค้าก็จะถามว่า แล้วมัน Funnier ยังไง? ก็เรียบร้อยครับ คุยต่อสนุกสนาน
คำพวกนี้จะเป็นคำเดียวกับที่จะใช้ใน Landing Page ของเว็บไซต์ จุดประสงค์เดียวกันคือ พอเค้าเข้ามาดูเว็บไซต์ เค้าต้องเข้าใจใน 5 วินาทีว่าผลงานเราทำอะไร อย่าคิดว่าเค้าจะ Spend เวลาเรียนรู้ครึ่งชั่วโมงเพื่อรู้ว่าเราทำอะไร คุณมีเวลาแค่ 5 วินาทีในการเชิญชวนให้เค้าอยากรู้ต่อครับ หลังจากนั้นค่อยว่ากัน
อีกหนึ่งตัวอย่างที่เนยชอบคำอธิบายสั้นๆของเค้ามากคือทีม Vault Dragon เค้าบอกว่าผลงานเค้าคือ
Dropbox for physical things
ให้เวลา 5 วินาที ลองคิดดูว่าเค้าทำอะไร
...
...
เค้าทำระบบรับฝากของ โดยจะมีพนักงานไปรับของมาเก็บให้และส่งของคืนถ้าต้องการ
เคลียร์ดีมะ? ^_^ ... ไหน ใครตอบถูกบ้าง !
สังเกตดูว่าทั้ง MOLOME และ Vault Dragon ใช้ชื่อของ Product ที่มีอยู่แล้วและทุกคนรู้จักอยู่แล้วมาเล่น (Instagram และ Dropbox ตามลำดับ) นี่เป็นเทคนิคนึงครับ จะช่วยร่นเวลาในการอธิบายว่าเราทำอะไรไปได้เยอะมากเลยทีเดียวเชียว
เอ้า! ไปคิดประโยคสั้นๆมาซะว่าผลงานคุณทำอะไร ปฏิบัติ !
เป้าหมายของ Startup คือการเพิ่ม Value ให้ตัวเอง
ปีที่แล้ว คิดมาตลอดว่า Startup คำว่า "จะหาเงินยังไง" เป็น Key หลัก ก็นี่มันโลกธุรกิจนี่นา
แต่พอไปสัมผัสจริง Key Objective ของ Startup ไม่ใช่จะหาเงินยังไง หากแต่เป็น "จะเพิ่มมูลค่า (Value) ให้ตัวเองได้ยังไง" ทุกอย่างจบที่คำว่า "Valuation" ไม่ใช่ Monetization ดั่ง Quote ที่ว่า
A job of a big company is to maximize value capture.
A job of a Startup is to maximize value creation.
บาง Startup ยังหาเงินไม่ได้เลย ขาดทุนไปทุกเดือนๆ แต่ Valuation เป็นพันล้านเหรียญ ทำไมเป็นอย่างนั้นได้เล่า ในเมื่อยังหาเงินไม่ได้เลยสักแดงเดียว
ก็เพราะว่ามูลค่าที่เพิ่มขึ้นคือ Potential ที่จะหาเงินได้ในอนาคตไม่จากทางใดก็ทางหนึ่ง เช่น ระบบ Social Network ที่คนใช้สิบล้านคนต่อเดือน ยังหาเงินไม่ได้ ไม่ได้แปลว่ามันจะหาเงินไม่ได้ เพราะแค่ใส่โฆษณาเข้าไป ก็จะได้เงินเป็นล้านต่อเดือนแล้ว
หรือการที่ Product มี Potential ที่บริษัทใหญ่จะซื้อไปต่อยอด ก็ทำให้ Valuation สูงได้เช่นกัน อย่างที่ Instagram ทำก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง ที่พอ Valuation สูง ก็จะมีบริษัทใหญ่มาขอซื้อกิจการ และได้เงิน(และหุ้น)ไปเต็มๆ
วิธีการเพิ่ม Value มีอยู่มากมาย เช่น เพิ่มจำนวนผู้ใช้ เพิ่ม Growth เพิ่ม Traction หรือแม้กระทั่งการ Monetization (คำตอบอยู่ตรงนี้ว่า Monetization Model ทำอะไรได้บ้าง มันไม่ใช่ Goal ใหญ่ของ Startup แต่เป็นหนึ่งในวิธีการที่ทำได้ และก็ง่ายสุดในการ Prove Traction เนื่องจากพิสูจน์ว่ามี Paid Customer แล้ว)
นี่คือความเซ็กซี่ของ Startup Ecosystem คือ Investor ไม่ได้สนใจว่ามันจะขาดทุนในช่วงปีแรกๆเลย ถ้า Valuation สูง Investor ก็แฮปปี้แล้ว ที่เคยไปคุยกับ Investor มา น่าสนใจที่ไม่มีเจ้าไหนถามเลยว่าคุณจะหาเงินยังไง เค้าถามว่า "คุณมีแผนจะเพิ่ม User ยังไง" และพอถามเค้าว่าเค้าไม่สนใจหรอว่าเราจะหาเงินยังไง เค้าตอบสั้นๆว่า "ยังอ่ะ"
โจทย์คือ คุณจะเพิ่ม Valuation ให้ผลงานคุณยังไง? แต่ละผลงานมีจุดแข็งจุดอ่อนและจุดขายต่างกัน ต้องพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนและทำเป็น Plan อย่างชัดเจนครับ แค่ Keep in mind ไว้ว่า "เพิ่ม Valuation คือ Key หลัก"
เป็นสิ่งที่ลำบากนิดหน่อยในไทย เพราะในไทยหา Investor ได้ยากกว่าสิงคโปร์มาก (จากที่สัมผัสมากับตัว) ทำให้หลายผลงานต้องจ่ายเงินลุยเอง และสุดท้ายก็ไปได้ไม่ไกล น่าเสียดายมาก ถ้ามีเงินมา Support ตรงนี้ Valuation พุ่งไปหลายผลงานแล้ว
แต่สุดท้ายทุกธุรกิจ ถ้าจะอยู่ได้ ก็ต้องหาเงินได้ มันเป็น Long Term Goal ของทุกคน เพียงแต่จะหาท่าไหน หาเองหรือได้เงินจากการซื้อกิจการ หรือยังท่าไหนก็แล้วแต่ ไม่ว่าจะยังไง ถึงจะยังหาเงินไม่ได้ ก็จะต้อง Prove ให้เห็นว่าผลงานมี Potential แล้วจะดีเองครับ
Mentor และ Investor ให้เกียรติทุกคน
ภาพ Mentor ที่เคยพบเคยเจอมาคือ คนที่เก่ง ประสบความสำเร็จ เป็นเทพเหนือเรา ทำให้เรารู้สึกต่ำต้อย
แต่ Mentor ตอนที่ไปเจอที่ JFDI กลับเป็นอีกแบบ เค้าเป็นคนที่เก่ง ประสบความสำเร็จ แต่ "เป็นเพื่อน" "เป็นแรงบันดาลใจ" และ "ให้เกียรติเราเสมอ"
ยังไม่เคยเจอ Mentor ที่มาด่าว่าผลงานคุณห่วยแตก ทำไปทำไม เลยแม้แต่ครั้งเดียว ถึงแม้เค้าจะไม่เห็นด้วยกับ Way ที่เรากำลังจะไป เค้าก็จะเสนออุปสรรคและวิธีให้เสมอ พร้อมกับการบ้านให้กลับไปทำ ผลออกมาแทนที่จะย่อท้อ กลับเป็นมีกำลังใจทำให้มันดีขึ้น
การเป็น Mentor ได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ถึงกับต้องมีจัดอบรมว่าคุณจะเป็น Mentor "ที่ดี" ได้อย่างไร และเนยว่ามันเป็นสิ่งจำเป็นมากที่ Mentor ในไทยควรจะต้องเรียนรู้ตรงนี้ไว้ด้วย เพราะมันส่งผลโดยตรงต่อคนที่เราให้คำปรึกษาเลย ตรงชนิดที่ว่า เค้าอาจจะล้มเลิกไปเลย ทั้งๆที่โครงการอาจจะเวอร์คก็ได้ เพียงแต่ Mentor เองต่างหากที่มองผิด
อย่างหนึ่งที่เราเห็นจาก Mentor ที่นั่นคือ เค้าไม่ได้คิดว่าตัวเองถูกเสมอไป หากแต่เชื่อมั่นว่า Founder นั่นแหละที่ถูก เพราะ Founder มีความรักต่อผลงาน และมีพลังบางอย่างที่สามารถทำสิ่งที่ Mentor ไม่คิดว่าสำเร็จ ให้ประสบความสำเร็จได้ ดังนั้นเค้าจะไม่เคย Break ว่ามันไม่เวอร์ค เพราะความจริงมันอาจจะเวอร์คก็ได้ แค่ Mentor ฝีมือไม่ถึง อย่างมากก็เอา Case Study ที่ใกล้เคียงกับของผลงานมาให้ศึกษา แล้วดูว่าจะทำยังไงให้สำเร็จ จะทำยังไงไม่ให้ผิดพลาด
นอกจากนั้น ภาพของ Investor ที่เคยคิดว่าต้องน่ากลัว ต้องเขี้ยว ต้องโหดร้ายต่อเราแน่เลย กลับไม่ใช่ ตรงกันข้าม เค้าเป็นคนคนนึง เป็นเพื่อน ตลก เฮฮา ให้คำปรึกษา และให้เกียรติเราเสมออีกนั่นแหละ
หากเค้าไม่อยากลงทุนกับเรา เค้าจะพูดอย่างสุภาพมาก เช่น บริษัทเราลงกับผลงานอีกประเภทนึง แต่ไม่เป็นไรนะ เราแนะนำให้ไปคุยกับ xxx, yyy, zzz เค้าน่าจะสนใจ แล้วเค้าก็ Forward Contact ต่อให้ เป็นแบบนี้ทุกราย
ผู้กำหนดชะตา Startup คือ Founder และไอเดียที่เกิดมาไม่มีถูกและไม่มีผิด
ไม่ว่าผลงานจะดีหรือไม่ดีอย่างไร คำแนะนำจากคนรอบข้างถือเป็นแค่ "ชิ้นของข้อมูล" เท่านั้น
สุดท้ายแล้ว
ผู้ที่กำหนดว่าผลงานจะเป็นยังไง ไม่ใช่คนอื่น แต่เป็น Founder เท่านั้น
เพราะ Founder เป็นคนที่รู้จักผลงานตัวเองดีที่สุด มีวิชั่นในงานที่สุด รักมันที่สุด มี Passion ที่ทำให้มันสำเร็จมากที่สุด นี่คือหลักของพัฒนาการหละ หากยังต้องยึดติดกับสิ่งเดิมๆ มันก็ไม่มีทางประสบความสำเร็จกับผลงานได้ ความสวยงามของ Startup Ecosystem คือ มันเปิดโอกาสให้คนคิดและทำได้อย่างเต็มที่
อย่าหลงเชื่อคำลวงจากคนรอบข้าง ทุกคนเกิดมาต่างที่กัน ต่างความคิดกัน ต่างประสบการณ์ หากคุณยังมีศรัทธากับผลงานอยู่ ก็จะทำในหนทางที่ตัวเองเชื่อว่าดีและพิสูจน์มันให้โลกเห็น
อย่าให้คนที่รู้จักผลงานคุณแค่เพียงผิวเผิน มาสั่งให้คุณทำอะไร
หากผลงานจะต้องถูกล้มเลิกจริง ต้องเกิดจากการตัดสินใจและผลการพิสูจน์ของ Founder เอง
ไอเดียที่เกิดมาไม่มีถูก ไม่มีผิด ไอเดียทุกอย่างดีหมด แค่อันไหนคุ้มที่จะทำ ก็ต้องมา Prove กันอีกที
Passion สำคัญที่สุด
เห็นมามากแล้ว ผลงานที่ไม่คิดว่าจะประสบความสำเร็จ แต่กลับสำเร็จได้ กับผลงานที่เจ๋งมาก แต่กลับล้มเลิกกลางคัน
ในทุก Case Study จะมีสิ่งหนึ่งอยู่ร่วมกัน คำสั้นๆที่สำคัญที่สุด
Passion
ทุกผลงานที่ประสบความสำเร็จ เกิดจากความฝันและความรักในตัวผลงาน อยากทำให้มันเกิดขึ้นจริงๆ อยากทำให้มันสำเร็จจริงๆ และให้มั่นใจว่าสิ่งที่ผลักดันคุณคือ Passion ไม่ใช่ผลประโยชน์และไม่ใช่อารมณ์ชั่ววูบ
ชีวิต Startup นั้น ถ้าเริ่มทำอะไรแล้ว จะต้องร่วมหัวจบท้ายไปกับมันอีกนาน ปราศจาก Passion แล้ว คุณไม่มีวันจะเดินไปถึงวันที่มันประสบความสำเร็จเลย
หนทางการเดินของ Startup มีแค่ 0.1% เองมั้งที่สวยหรู ไม่ลำบาก สบาย ไร้อุปสรรค ส่วนอีก 99.9% มีอุปสรรคและเหนื่อยยากตลอดทางเดิน
หากคุณไม่มีความอยากทำอย่างแท้จริงตรงนี้ คุณจะท้อ คุณจะล้า คุณจะยอมแพ้ตั้งแต่มันยังไม่ถึงไหน
ถ้าไร้ Passion สู้อย่าเริ่มทำเลยเสียดีกว่า
ดังนั้นก่อนจะเริ่มทำผลงาน ถามตัวเองก่อนว่ามี Passion กับมันจริงๆ หรือหวังแค่ผลประโยชน์?
ผลประโยชน์เป็นเรื่องที่ยอมแพ้ได้ในระยะสั้น ถ้าหารายได้ไม่ได้ในระยะเวลาสั้นๆ ทุกคนก็จะยอมแพ้ แยกย้าย แต่ Passion นั้นยั่งยืนกว่า ต่อให้มันมีอุปสรรค ลำบากลำบนแค่ไหน ก็จะฝ่าฟันผ่านพ้นไปได้
ผลประโยชน์ไม่อาจสร้าง Passion ได้ แต่ Passion นำมาซึ่งผลประโยชน์ได้
เจ้าของ Zappo เคยเขียนหนังสือไว้ว่า "จงแปลความรักให้เป็นกำไร" และนั่นเป็นสิ่งที่บอกถึงเรื่อง Passion ได้ดีที่สุด
Team สำคัญที่สุด
อะไรกัน ตะกี้ยังบอกว่า Passion สำคัญที่สุด ทำไมมาบอกว่าทีมสำคัญที่สุดซะแล้วหละ?
ความจริงแล้ว Passion ต้องยกเป็นเรื่องลอยตัว หากไม่มีก็อย่าเริ่มทำเลยดีกว่า มันเลยคำว่าสำคัญที่สุดไปละ มันเหมือนสิ่งที่ต้องมี หากไม่มีก็บ้ายบาย
แล้วถ้าตัดประเด็นเรื่อง Passion ไป ถามว่าอะไรกันที่สำคัญที่สุดในตัว Startup?
มันเป็นคำถามที่ Complicated นะ แต่หลังจากนั่งสังเกตการณ์และคุยกับคนโน้นคนนี้ ก็ได้คำตอบว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ "ทีม" มีความสำคัญราวๆ "70%" เลย
Fact อย่างหนึ่งที่เป็นสัจธรรมของโลกนี้คือ
Idea is cheap
ใครก็คิดได้ แต่ "มีแค่น้อยกว่า 0.1% ที่ทำได้"
จริงอยู่ ด่านแรกของการทำ Startup คือ ไอเดียคุณต้องดี มี Potential แต่ด่านต่อไปที่ต้องตอบได้คือ "คุณเป็นใครถึงจะทำมันให้สำเร็จได้ ตอบ!"
เป็นไปได้ที่จะมี 10 บริษัท มีไอเดียที่เหมือนกัน แต่ทำไมถึงมีแค่บริษัทเดียวทำสำเร็จรุ่งเรือง? "ทีม" คือคำตอบ จึงเป็น Unique Value ที่แต่ละทีม แต่ละบริษัทมีไม่เท่ากัน
สิ่งที่ Investor สนใจ (และจำเป็นต้องมีอยู่ใน Pitch) คือ แต่ละคนในทีมเป็นใคร มีพื้นและมีความเชี่ยวชาญด้านงานที่กำลังจะทำนี้แค่ไหน หากไอเดียดี ทีมดี ก็จบดีลไปแล้ว 50%
ทีมที่ดีต้องประกอบด้วย คนคิด คนทำ คนเล่าและคนขาย คำมาตรฐานอาจจะเป็น CEO, CTO, CMO, Sale
CEO - ผู้บริหารที่คอยควบคุมผลงาน ดูวิชั่น ดูแลบริษัท
CTO - Head ด้านการทำให้มันเกิดขึ้น
CMO - Head ด้าน Marketing
Sale - คนเอาผลงานไปขาย
Startup หลายๆเจ้าที่เริ่มใหม่มากๆ มักจะเป็น CEO, CTO, CMO และ Sale ในแบบ All in One ข้อดีคือไม่มีค่าใช้จ่าย มีหัวเดียว ไม่ต้องทะเลาะกับใคร ข้อเสียคือ ทำไม่ไหว มีหัวเดียว ไม่มีใครให้ปรึกษา ...
หากเป็นไปได้ แนะนำให้มีมากกว่า 1 คน จะเป็นเรื่องที่ดี แยก CEO กับ CTO ออกจากกันเป็นคนละคนได้ก็จะดีมาก มันทำให้เห็นความเป็นทีมที่มี Potential มากกว่าลุยเดี่ยว และหากยังไม่มี CMO หรือ Sale ทีมก็ควรจะต้องมี CEO กับ CTO เป็นพื้น มิฉะนั้นความน่าเชื่อถือของ Startup นั้นๆจะ Drop ลงทันที
เมื่อทุกอย่างถูกวางไว้พร้อม ก็จะเป็นการพิสูจน์ในสิ่งที่ Investor อยากเห็น "เราไม่ใช่แค่พูดได้ หากแต่ยังทำได้ดี"
ทุกอย่างเป็นไปได้ (ด้วยสภาพแวดล้อม)
อาจจะฟังดูเศร้าใจ แต่ก็ขอพูดจากสิ่งที่ได้สัมผัสมาละกัน
สิ่งที่รู้สึกต่างอย่างชัดเจนระหว่างอยู่ที่สิงคโปร์และอยู่ที่ไทยคือ
ตอนอยู่สิงคโปร์ทุกอย่างเป็นไปได้
แต่ตอนอยู่ไทย รู้สึกอะไรก็เป็นไปไม่ได้
อยู่ที่นั่น เมื่อติดอะไร เมื่อมีปัญหาอะไร ก็จะมีคนคอยช่วยให้คำตอบเสมอ รู้สึกทุกอย่างเป็นไปได้ คิดเลย เดี๋ยวก็ทำได้แน่นอน รับประกัน แต่พอกลับไทย ก็รู้สึกเหมือนอยู่ตัวคนเดียว ไม่รู้จะไปขอความช่วยเหลือใคร ไปที่ไหนก็มีแต่ทางตัน ไม่สามารถไปต่อได้ ไม่มีอะไรเป็นไปได้เลย
คุยกับพี่ๆน้องๆที่ทำ Startup อยู่เมกา รวมถึงคนที่เคยไปทำที่สิงคโปร์ ถามเค้าเรื่องนี้ เค้าบอกว่า "ใช่" อยู่ที่นั่น Mind Blowing มากๆ อุปสรรคเดียวที่จะทำให้ทำไม่ได้คือ ไม่มี Passion จะทำเอง ที่เหลือไม่ใช่ปัญหา
นี่เป็นสิ่งที่ทำให้ Startup ในประเทศที่ Develop แล้ว เป็นไปได้อย่างดีมาก มีผลงานใหม่ๆออกมาให้ประสบความสำเร็จอยู่เสมอ เพราะคนไม่เอาแต่คิด หากแต่ยังกล้าที่จะทำ เพราะเชื่อว่า "ทุกอย่างเป็นไปได้"
หลังจากได้รับความคิดนี้มา ทำให้หลายๆอย่างเปลี่ยนไป จากที่กลัวโน่นกลัวนี่จนไม่ได้เริ่มทำ ตอนนี้เมื่อคิดแล้ว ก็ Prove ทันทีว่ามันเวอร์คแล้วไล่ติดต่อคนที่เกี่ยวข้อง ลุยมันอย่างเต็มที่ ไม่เอาแต่นั่งกลัวอีกต่อไปแล้ว
อะไรคืออุปสรรคที่ทำให้ความคิดนี้ยังเกิดในไทยไม่ได้? มีสาเหตุอยู่มากมายหลายประการ แต่ที่ใหญ่สุดคือ "สังคมที่ไม่ยอมรับความล้มเหลว"
ความล้มเหลวเป็นสิ่งที่ยอมรับได้
อย่างที่บอก แม้แต่การเลิกทำ Startup เพราะดูแล้วมันไม่เวอร์ค ยังถือว่าเป็นความน่ายินดีอย่างหนึ่ง เพราะถือเป็นการเก็บประสบการณ์ที่จะเอาใช้ในการทำผลงานชิ้นถัดไป ประสบการณ์ที่หาไม่ได้จากการนั่งฟังคนอื่นพูด หาไม่ได้จากการเรียน ต้องลงมือทำเองถึงจะรู้ ถึงจะเข้าใจ
ไม่มีใครหรอกที่เกิดมาแล้วเก่งเลย ทุกคนก็ต้องเคยผิดพลาดมาก่อนจะประสบความสำเร็จ
สังคมที่เป็นอันตรายต่อการพัฒนาที่สุดคือ สังคมที่คิดว่าความล้มเหลวคือสิ่งที่ผิด
สังคมแบบนี้จะก่อ "ความกลัว" ฝังไว้ในทุกคนในสังคม กลัวว่าถ้ามันผิดพลาด ถ้ามันเจ๊งขึ้นมา คนจะตราหน้าเราว่ากากว่าห่วย แล้วเราจะอยู่ในสังคมต่อไปได้ยังไง
... ไม่ทำดีกว่า ...
พูดแบบไม่ซึน นี่คือภาพที่เกิดขึ้นจริงในไทยครับ และมันส่งผลให้ความเชื่อว่า ทุกอย่างเป็นไปได้ ยังคงเป็นจริงไม่ได้อยู่
ได้คุยกับคนหลายคน ได้ฟังประสบการณ์จากหลายท่าน สามารถบอกได้เลยว่าที่โน่นไม่เคยตีค่าความผิดพลาดเป็นเรื่องแย่เลย หากแต่เป็นความรู้และเป็นประสบการณ์ที่สามารถเอาไปแก้ไขสิ่งต่างๆได้ มันมีค่ายิ่ง
แต่สิ่งที่แย่ที่แท้จริงคือ การไม่ยอมทำอะไรเลยเพราะเอาแต่กลัวความล้มเหลว เอาแต่กลัวความผิดพลาด (แต่ต่างกับการรู้ว่าผิดพลาดแต่ยังจะทำนะ ไม่เหมือนกันๆ) แบบนี้เมื่อไหร่จะได้เรียนรู้ เมื่อไหร่จะประสบความสำเร็จเล่า
หากคุณจะทำ Startup ขอให้เชื่อไว้อย่างนึง
ความล้มเหลวเป็นสิ่งที่ยอมรับได้
แล้วลุยเลยครับ ไม่ต้องสนใจคำล่อลวงให้ท้อแท้จากใครอีกต่อไป นี่มันชีวิตคุณ ความล้มเหลวของคุณ และความสำเร็จของคุณครับ
Focus !!!
โฟกัส โฟกัส โฟกัส เป็นอีกหนึ่งคำที่ได้ยินบ่อยสุดๆพอๆกับ Passion
แม้แต่ตอนนี้ก็ยังมีคนมาถามหลังไมค์ว่า "ผมจะทำหลายๆผลงานดีมั้ยครับ Investor จะได้มีตัวเลือกเยอะๆ โอกาสได้ทุนจะได้สูง"
คำตอบสั้นๆคือ "ผิด" ส่วนคำตอบยาวๆ อยากให้ตามไปอ่านใน Blog ที่เขียนช่วงที่อยู่สิงคโปร์ เรื่อง "ทำทุกอย่างที่อยากทำ เคล็ดลับของความล้มเหลว" ครับ
สรุปแล้ว หากอยากประสบความสำเร็จ จง "โฟกัส" ไปยังผลงานที่คุณทำอยู่ อย่าเลือกทุกอย่าง เพราะคุณจะล้มเหลวทุกอย่างเช่นกัน
หยุดคิดได้แล้วว่าการได้ Funding คือความสำเร็จ
ความคิดที่ว่า "การได้ Funding คือความสำเร็จ" เป็นความคิดที่อันตรายอันดับต้นๆต่อ Startup และยังอันตรายไปจนถึงวงการ Startup
มันไม่ใช่ครับ มันไม่ใช่เลย หากคุณยังคิดอย่างนี้อยู่ ขอให้เปลี่ยนความคิดโดยไว
การได้ Funding เป็นเรื่องน่ายินดีก็จริง แต่ไม่ใช่ความสำเร็จครับ
ความสำเร็จที่แท้จริงของ Startup คือ Exit ได้ หรืออย่างน้อยก็ Profitable แต่การได้ Funding ถือเป็นการ "ได้รับโอกาสในการทำให้ผลงานออกมาจริง"
เราจะ Congratulations กับคนที่ได้ Funding ทุกครั้ง แต่เราไม่เคยบอกว่า Congratulations for your success เลย แต่เป็น Congratulations for your big move มันไม่ใช่จุดที่บอกว่าคุณประสบความสำเร็จเลยจริงๆนะ แต่เป็นจุดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการที่คุณจะพิสูจน์ให้โลกรู้ว่าคุณจะประสบความสำเร็จด้วยผลงานของคุณในอีกไม่ช้า
เงินเดือน Founder ควรจะเป็น 0
อีกหนึ่งคำถามที่เจอบ่อยคือเงินเดือน Founder ควรจะตั้งเท่าไหร่?
คำตอบคือ "ควรจะน้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้" หรือที่เค้าแนะนำเลยคือ "Founder ไม่ควรมีเงินเดือน" เพราะจากสถิติ ยิ่งเงินเดือน Founder น้อย โอกาสที่ผลงานจะประสบความสำเร็จจะยิ่งสูงขึ้น
แต่บางทีถ้า Founder ขาดสภาพคล่องส่วนตัว ไม่มีเงินกินอยู่ในแต่ละเดือนจริงๆ ก็สามารถใช้ท่าอื่นในการได้เงินได้เช่นกัน เช่น Director Fee หรือได้เป็นทรัพย์สินจากบริษัทเช่น คอมพิวเตอร์ แทน
อย่างไรก็ตาม Key หลักของเรื่องนี้คือ Founder ควรจะใช้เงินของบริษัทให้น้อยที่สุด แล้วรอรับเงินจากปันผล ซึ่งก่อเกิดจากรายได้ ด้วยวิธีนี้จะเป็นการบอก Investor ตรงๆว่า ผมมั่นใจในผลงานของผมมากพอที่จะไม่เอาเงินเดือน และรอรับปันผลแทน เป็นคุณคุณจะไม่ลงทุนกับบริษัทที่คิดแบบนี้หรือ?
แนวคิดนี้สามารถใช้ได้กับแทบทุก Startup แม้แต่บริษัทที่คิดว่าจะไม่มีกำไรอีกสามปี แต่ Valuation ขึ้นเอาๆ เราสามารถหาเงินเข้ากระเป๋าจากการ Raise Fund ครั้งถัดไปได้ครับ โดยใช้เงินส่วนต่างที่ขายหุ้นมาเป็นกำไรนั่นเอง (การ Raise Fund แต่ละครั้ง โดยปกติจะมีเงินเข้ากระเป๋าผู้ถือหุ้น Pre ด้วย)
Connection สำคัญมาก
ชีวิตที่เปลี่ยนไปหลังจากกลับมาจาก JFDI คือ มีโอกาสออกงานเมื่อไหร่ก็จะไปร่วมด้วยทันที เพราะได้เรียนรู้แล้วว่า Connection สำคัญมากจริงๆ
ยิ่งรู้จักคนเยอะ ก็ยิ่งเปิดโอกาสตัวเองมากขึ้นเท่านั้น โอกาสที่ "ทุกอย่างเป็นไปได้" ก็จะยิ่งมากขึ้นตามไป
ตอนกลับมาแล้วจะเข้าไปคุยกับคนที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่ม Growth ให้ MOLOME แล้วเข้าใจเลยว่า Connection สำคัญเพียงใด อยากคุยกับ Designer ก็โชคดีที่รู้จักคนที่รู้จัก Designer จำนวนมาก ทำให้เข้าหาได้ อยากเจอ Agency ก็มีคนรู้จักพาเข้าไปเจอ Agency ได้ นี่แหละ ความสำคัญยิ่งของ Connection
แนะนำ Founder ทุกท่าน หากมีโอกาสไปร่วมงานไหน ให้ไปโดยไม่ต้องรั้งรอ และเมื่ออยู่ในงาน คุยและทำความรู้จักกับทุกคนเท่าที่เป็นไปได้ "อย่างสุภาพและอย่างมีมิตรภาพ" ทำให้เค้าจำให้ได้ว่าเราเป็นใคร ... ในแง่ดีนะ จำไว้ว่าเราไปหา Connection เราไม่ได้ไปทำลาย Connection
ปกติเป็นคนจำคนไม่ค่อยได้ (มีปัญหาเรื่องความจำ ยอมรับ) แต่กลับเคยเจออยู่บ้างบางคนที่เราจำแม่นเลยทั้งหน้าตาและชื่อ จำไว้ว่าจะไม่คุยกับคนคนนี้อีก อย่าให้เกิด Moment นั้นเป็นอันขาด เพราะสังคมนี้มันเล็ก เมื่อมีคนมองคุณไม่ดีเกิน 3 คน โอกาสที่คนจะบอกต่อจนทั้งสังคมมองคุณไม่ดีมีสูง
จงหัดพูด หัดเข้าหาคนอื่น หัดคุย หัดปาร์ตี้ หัดสังสรรค์ จำไว้เสมอว่า ยิ่งรู้จักคนเยอะก็ยิ่งดี รู้จักไว้ก่อน ไม่เสียหายอยู่แล้น
อ้อ หัดกินเบียร์ด้วยนะ เหะๆ
ภาษาอังกฤษสำคัญโคด
โลกพูดภาษาอังกฤษครับ ทุกงานที่ไป ไม่ว่าจะไทยหรือเทศ คนเค้าก็พูดภาษาอังกฤษกันเกินครึ่ง ใครไม่ได้ภาษาอังกฤษ ก็เรียกว่าเป็นการปิดโอกาสในการเติบโตโดยสิ้นเชิง
หากมีเงินอยู่ก้อนหนึ่งแล้วอยากจะลงทุน อย่าเพิ่งไปซื้อหุ้นครับ เอาไปลงทุนเรียนภาษาอังกฤษก่อนเลย เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุดละ
มันสำคัญชนิดที่ว่า อยากให้คิดว่าถ้าคุณไม่รู้ภาษาอังกฤษ คุณมองว่าตัวเองเป็นคนด้อยพัฒนาได้เลย (ให้มองแรงๆแบบนั้นไปเลย จะได้มีแรงถีบตัวเองไปไขว่คว้าความรู้ด้านนี้เพราะมันสำคัญมากจริงๆ จริงๆ และจริงๆ)
นี่กำลังจะจูงมือณิชไปเรียนภาษาอังกฤษคอร์สใหญ่อยู่
มีโอกาส Pitch ก็จงไป Pitch
Pitching เป็นศิลปะอย่างหนึ่งในการอธิบายความน่าสนใจของผลงานคุณในเวลาจำกัด นั่นแปลว่าคุณจะถูกบังคับให้กลั่นกรองความคิดของตัวเองและความเจ๋งของผลงานออกมา เป็นประโยชน์ข้อแรก
ประโยชน์ข้อที่สองคือ ทุกงาน Pitch จะประกอบด้วยคนที่คุณไม่มีทางได้เจอในชีวิตปกติจำนวนมาก นี่เป็นโอกาสอันดีมากที่คุณจะได้ทำความรู้จัก
เทคนิคการ Pitch ไม่ใช่การยัดทุกอย่างเข้าไปในการพูด แต่เป็นการยัดสิ่งที่สำคัญที่ทำให้ผู้ฟังเกิดความสนใจ อยากเดินมาคุยกับเราใจจะขาด
ผลลัพธ์ของการ Pitch ไม่ใช่คนติดต่อมาขอลงทุนทันทีบนเวที (บ้าเรอะ) หากแต่เป็นการที่เค้าจะเดินมาหาหลังงานเพื่อทำความรู้จัก และต่อยอดการคุยจนได้ Funding การ Pitch ที่ดีจึงเหมือน "การเรียกร้องความสนใจ" และเป็นการ "เชิญชวน" ให้เค้าเดินมาหาเราหลังจากจบงานให้ได้ (ปกติงาน Pitch จะมี Networking หลังงานเสมออยู่แล้ว เพื่อการณ์นี้เลย)
และจงทำใจไว้อย่าง การ Pitch ทุกงานจะเป็นภาษาอังกฤษเสมอ แม้งานในไทยที่ทุกคนเป็นคนไทย ก็ต้อง Pitch เป็นภาษาอังกฤษ เตรียมให้เยอะ ซ้อมให้แยะ อย่าให้พลาด นะครับผม
อย่างไรก็ตาม หากได้ Funding แล้ว ก็จงหยุดไป Pitch สักพัก เพราะจะเป็นการแย่งโอกาสคนอื่นได้ ไม่ดีนัก
Just F*cking Do It !
วันสุดท้าย ก่อนจะจากลากลับไทย มีคนบอกว่า JFDI ย่อมาจาก "Just F*cking Do It" หรือ "ลงมือทำแม่ม"
ชอบมากกับคำนี้ กลับมาไทยก็ใช้บ่อยเลย
ก็เป็นเรื่องที่เน้นย้ำมาตลอดว่า อย่าเอาแต่คิด ลงมือทำด้วย ไม่งั้นมันจะสำเร็จมั้ย?
ไม่มีอะไรมากกว่านี้ครับ คำมันบอกในตัวแล้ว พูดตามผมคับ ...
J U S T F U C K I N G D O I T
JFDI 2014 เตรียมเปิดรับสมัคร ปีนี้รับ 3 รอบ!
บนหัวเว็บมี Random Quote ที่ชอบไว้หลาย Quote หนึ่งในนั้นคือ
โอกาสก็สำคัญพอกับอากาศนั่นแหละ
โอกาสมาก็ควรจะคว้าไว้ ปีนี้ JFDI เปิดรับสมัครคนเข้าแคมเป์ถึง 3 รอบด้วยกัน ถือเป็นเรื่องน่ายินดีต่อทั้ง JFDI ที่โตเอาๆ (ปีแรกมีครั้งเดียว ปีที่สองมีสองครั้ง ปีที่สามมีสามครั้ง) และเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับ Startup ที่จริงจังต่อผลงานและอยากไปสัมผัสโลก Startup ในระดับเอเชีย โอกาสมาแล้ว
ลองไปอ่านรายละเอียดได้จาก http://jfdi.asia/2014/01/23/jfdi-asia-announces-3-startup-accelerator-programs-for-2014/ ครับ
สำหรับคนที่อยากได้คำปรึกษา สามารถติดต่อได้ครับ ถ้ามีเวลาจะแว้บไปหาแว้บไปคุย อยากช่วยเหลือทุกคนเท่าที่เป็นไปได้ครับ
จบ
ความจริงมีเรื่องอะไรอยากจะเล่าอีกเยอะเลย ก็อยู่มาตั้ง 100 วันนี่นา (เกือบโดนยกไปเผาละ) ไว้มีโอกาสเจอกันจะเล่าเป็น Verbal ดีกว่าเนอะ ^ ^
ฝากทิ้งท้ายไว้กับ Quote สำหรับคนช่างฝัน
Dream for ordinary people is what that is not real
Dream for entrepreneur is what that happened before it becomes real
สำหรับคนทั่วไป ความฝันเป็นแค่สิ่งที่ไม่จริง
แต่สำหรับเจ้าของกิจการ ความฝันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนมันจะเป็นจริง
ฝันได้ แต่ทำด้วย ไม่งั้นมันก็จะเป็นแค่ฝัน ... นะจ๊ะ =)
ปีนี้หวังว่าจะได้เจอกันตัวเป็นๆบ่อยขึ้นนะครับ ทุกท่าน
มั๊วะะะะ
ปล. ยาวไปป่ะ