"ความรักต้องไม่พยายาม"
บันทึกปลดหนี้ฉบับสมบูรณ์จากคนที่ไม่มีต้นทุนทางชีวิตใด ๆ
16 Apr 2022 12:21   [97122 views]

และแล้วบล็อกก็ดำเนินมาถึงบล็อกที่ 999 ... ตามความตั้งใจว่าบล็อกที่ 999 และ 1000 จะทำเป็นบล็อกพิเศษที่แชร์อะไรบางอย่างที่สำคัญในชีวิต มีความหมาย และสามารถสร้างประโยชน์ให้กับคนเป็นวงกว้างได้

และบล็อกนี้ขอเขียนถึงเรื่องที่ทำให้ชีวิตปั่นป่วนตั้งแต่จำความได้จนถึงทุกวันนี้อย่าง

การปลดหนี้

ครอบครัวมีหนี้ตั้งแต่เด็กด้วยเหตุผลบางอย่างจนทำให้ไม่สามารถทำอะไรได้อย่างที่หวังด้วยสถานะทางการเงินนี้เอง นี่เลยต้องหาเงินแต่เด็ก ทำงานมากมายมหาศาลจนไม่ได้หยุดพัก เพื่อปลดหนี้ให้ครอบครัวและทำให้ทุกคนเป็นไท สามารถมีชีวิตของตัวเองกันได้

ทุกวันนี้หนี้ก็ยังไม่หมดหรอก แต่มีความคืบหน้าสูงมากจนเกือบจะหมดแล้ว และประสบการณ์การปลดหนี้ตั้งแต่เด็กจนวัยกลางคนอย่างตอนนี้นี่แหละที่สอนอะไรเราหลายอย่างมาก ความรู้ที่ได้มานี้เรารู้สึกว่ามันมีค่ามาก ๆ ควรค่าแก่การส่งต่อเผื่อว่าคนอื่นจะเจอเหมือนกันแล้วต้องการแนวทางเพื่อให้ชีวิตดีขึ้น ประโยชน์ที่ได้ไม่ใช่แค่เรื่องของการปลดหนี้ แต่เป็นการวางแผนการเงินทั่วไป รวมถึงการนำความรู้หลาย ๆ ส่วนไปใช้ในการทำธุรกิจได้อีกด้วย

บล็อกนี้เลยจะมาเล่าเรื่องของการปลดหนี้ตั้งแต่วิธีคิดยันวิธีการ ทั้งหมดที่เขียนในบล็อกนี้มาจากประสบการณ์ตรงล้วน ๆ ลงมือทำเองล้วน ๆ ไม่ได้มาจากการอ่านที่ไหนแล้วมาเล่าต่อ ก็หวังว่าจะมีประโยชน์ต่อทุกคนครับ

ปล. บล็อกค่อนข้างยาวถึงยาวมาก แต่เพื่อความย่อยง่ายเลยขอแบ่งเป็นหัวข้อ ๆ ไป อ่านวันเดียวไม่จบก็ทยอยอ่านก็ได้น้อ

หนี้นี้เนยได้แต่ใดมา

ตอนที่บอกคนอื่นว่าเรามีหนี้เยอะมาก (หลายล้านบาท) ทุกคนก็จะถามด้วยสีหน้าอันสุดแปลกใจว่าเนยไปทำอะไรมา ทำไมมีหนี้เยอะขนาดนั้น

ยอดหนี้หลักหลายล้านบาทนั้นเราไม่ได้ก่อเองหรอก จะไปก่อหนี้หลายล้านตอนอายุไม่ถึงสิบขวบได้ยังไงกัน แต่มันเกิดจากการที่บ้านไปค้ำประกันญาติแล้วสุดท้ายโดนเชิดเงินไป ก็เลยปล่อยให้ครอบครัวเราต้องใช้หนี้แทนหลายล้านบาท สถานะทางการเงินจากที่ครอบครัวมีเงินเก็บ ก็กลายเป็นมีแต่หนี้สินมหาศาลแทนภายในวันเดียว และชีวิตหนี้ของเราก็เริ่มมาตั้งแต่ตอนนั้นเอง

และหนี้ที่ว่านี้ไม่ใช่หนี้แบบที่ก่อให้เกิดรายได้หรือทรัพย์สินอย่างการกู้บ้านอะไรแบบนั้น มันคือหนี้เสีย (NPL) เต็ม ๆ ไม่มีอะไรดีเลย

หนี้หลายล้านบาทนี้เป็นหนี้เงินกู้ธนาคารเป็นหลัก ทำให้ดอกเบี้ยสูงมาก คร่าว ๆ ก็คือต้องจ่ายดอกเบี้ยประมาณเดือนละ 50,000 บาทเป็นอย่างน้อย (ความจริงสูงกว่านั้นด้วย) ซึ่งก็อยากให้คิดว่าสิบยี่สิบปีที่แล้วจะหาเงินเดือนละ 50,000 บาทมาจากไหนได้ มันยากนะ แถมหาได้ก็จ่ายได้แค่ดอกเบี้ยอีก

ที่เห็นชีวิตเราทำงานตลอดเวลาจนหมดแรงก็เพราะเรื่องนี้แหละ ที่ทุกวันนี้กินข้าวแค่วันละมื้อก็เพราะเรื่องนี้อีกเช่นกัน (ตอนเด็ก ๆ ช่วยที่บ้านประหยัดเงิน สุดท้ายเลยลดอาหารตัวเองลงจนเหลือวันละมื้อ แล้วร่างกายก็ขินแบบนั้นมาจนตอนโต) และที่ชีวิตไม่มีชีวิตวัยเด็กเลยก็เพราะเรื่องนี้อีกนั่นแหละ

สำหรับหลาย ๆ ครอบครัวที่บอกว่าติดหนี้ร้อยล้านแต่ก็ใช้คืนจนหมด ถ้าไปศึกษาดี ๆ ก็จะพบว่าส่วนใหญ่ครอบครัวจะมีสินทรัพย์อะไรบางอย่าง เช่น โรงงาน ร้านค้า ฯลฯ ที่สามารถก่อให้เกิดรายได้หรือแม้แต่ขายออกเพื่อแลกเป็นเงินมาจุนเจือครอบครัวได้อยู่ แต่โชคร้ายของเราที่ครอบครัวเราไม่มีสินทรัพย์อะไรเลยแม้แต่อย่างเดียว ดังนั้นเดือนละ 50,000 บาทนี่คือลำบากชีวิตมาก ๆ

คนที่จนมันก็เลยต้องจนเรื่อย ๆ เพราะเรื่องนี้นี่แหละ ยินดีต้อนรับสู่โลกทุนนิยมครับ ... (เฮ้อ)

ด้วยการที่ชีวิตช่วงเด็กจนถึงวัยรุ่นตอนต้นไม่มีความรู้ทางการเงินมากนัก ก็เลยเอาแต่หาเงินใช้หนี้ไปเรื่อย ๆ แต่หนี้กลับไม่ลดลงเลยเพราะจ่ายไปแต่ดอกเบี้ย แต่สุดท้ายพอเห็นว่าท่าไม่ดีก็เลยเริ่มศึกษาเรื่องการเงินจนถึงวิธีการต่าง ๆ เพื่อให้หนี้ลดลงได้ในเชิงปฏิบัติ

จนถึงวันนี้ ถ้านับแต่หนี้เสีย มันก็ลดลงจนเหลือแค่ล้านกว่าบาทแล้ว (ล้านกว่าบาทคือใช้คำว่าแค่นะ) แต่ยังใช้คืนไม่หมดด้วยสาเหตุต่าง ๆ ซึ่งถ้าอ่านบล็อกนี้จบก็จะรู้ว่าทำไมนั่นแหละ

อันนี้ก็น่าจะเห็นภาพแล้วว่าโครงสร้างหนี้เป็นยังไง หนี้เสียล้วน ๆ และเราก็ต้องใช้คืนแทนคนอื่น คราวนี้มาดูกันว่าระหว่างทาง ชีวิตได้เรียนรู้อะไรมาบ้างจนสามารถลดหนี้ลงจนเกือบหมดได้ จัดไป

บันทึกการปลดหนี้ #1: "ลดความอยากลงคือพื้นฐาน"

รายได้เท่าไหร่ยังไม่สำคัญว่าแต่ละเดือนเงินเหลือเท่าไหร่ เพราะถ้าหามาได้เดือนละล้าน แต่ใช้สองล้าน (แบบใช้หมดไป) นั่นคือฐานะย่ำแย่กว่าคนเงินเดือนสองหมื่นแต่ใช้หมื่นเดียวอีกนะ

สิ่งที่สำคัญเอามาก ๆ คือ ทุกครั้งที่เราเสียเงินไป เราจะต้องคิดให้ดีว่าเรากำลังจ่ายไปเพื่ออะไร คุ้มค่ามั้ย จะมาเสียใจในภายหลังหรือเปล่า

เห็นคนอื่นซื้อรองเท้าหรูหรามากมาย ส่วนนี่ก็อยากได้บ้างเป็นบางครั้ง แต่สุดท้ายก็กลับมานั่งที่บ้านแล้ว เอ้อ จริง ๆ ก็ไม่ได้อยากได้นี่นา สุดท้ายซื้อคู่ละ 300 บาทมาใช้แทน เปลี่ยนปีละคู่ไม่ก็สองปีคู่ มีความสุข

รถสวย ๆ ใครก็คงอยากมี แต่นี่ไม่คิดจะซื้อใช้เองเลย (ซื้อให้พ่อแม่ใช้อย่างเดียว) เพราะคำนวณแล้วยังไงก็ไม่คุ้มค่ากับเงินที่เสียไป ยอมจ่ายค่าแท็กซี่ ยอมเช่ารถเป็นครั้ง ๆ ไป จนถึงตอนนี้ประหยัดเงินไปได้หลายแสนแล้วแค่เรื่องนี้

แต่ของแพงไม่ได้แปลว่าไม่ยอมซื้อนะ คอมพ์เครื่องละเกือบแสนก็ซื้อมาละ แต่เพราะเรารู้ว่าเราหาเงินจากคอมพ์เครื่องนี้ได้หลายล้าน มันคือการลงทุน มันคือการจ่ายเพื่อให้เงินงอก อันนี้ยอม

นี่อยากได้ 3D Printer มานานละ สุดท้ายเพิ่งจะมายอมซื้อตอนไม่กี่เดือนที่แล้วเพราะมันลดราคา และตอนนี้ก็กล้าพูดละว่าใช้คุ้มค่าราคาเครื่อง 5,000 บาทแล้วด้วย

นี่คือพื้นฐานอย่างแรก เมื่อคุมความอยากได้ได้ก็จะคุมค่าใช้จ่ายได้ พอคุมค่าใช้จ่ายได้กดจะคุมเงินที่เหลือต่อเดือนได้ อะไรที่ฟุ่มเฟือยก็ตัดทิ้งไปเถอะ ดูฐานะตัวเองว่าอะไรที่เหมาะสม อะไรที่คุ้มค่า ที่สำคัญคือมองด้วยว่าเงินที่เสียไปนั้นเราจะได้อะไรกลับคืนมาหรือเปล่า ถ้าไม่ได้ก็ตัดทิ้งไป รอเงินเหลือเฟือค่อยหาซื้อของฟุ่มเฟือยมาปรนเปรอตัวเองอีกทีก็ยังไม่สาย

ไม่ต้องอยากมีแบบคนอื่นเขา แค่ได้มีในแบบของตัวเรา มันก็สุขแล้ว

ถ้าไม่มีทุนทรัพย์ก็ไม่ต้องไปอวดชีวิตหรูหราฟู่ฟ่าให้ใครเห็นหรอก จะมีประโยชน์อะไรหากมีคนข้างนอกมองเข้ามาว่าชีวิตเราดีแต่เอาเข้าจริงแค่เงินจะกินข้าวยังไม่มี สุดท้ายคุณก็จะไม่เหลืออะไรเลยอยู่ดีนั่นแหละ

บันทึกการปลดหนี้ #2: "หนี้ครอบครัวเป็นเรื่องของทุกคนในครอบครัว"

สถานการณ์ที่ขัดขวางการปลดหนี้ครอบครัวที่เจอบ่อยมากคือ มีคนนึงพยายามหาเงินใช้หนี้ ในขณะที่คนอื่นพยายามหาหนี้มาเพิ่ม จึงเกิดการติดลูปอนันต์ ผ่านไป 10 ปีหนี้ก็ไม่มีทางลดลง

ถ้าตั้งใจจะปลดหนี้ครอบครัวแล้วจริง ๆ สิ่งสำคัญมากที่ต้องตระหนักไว้ในใจคือ "ทุกคนต้องร่วมมือกันถึงจะทำสำเร็จได้"

จุดเริ่มต้นที่ดีของการวางแผนสำหรับภารกิจคือ "การจับทุกคนที่เกี่ยวข้องมาคุยกันอย่างเปิดใจถึงสถานการณ์ที่เจออยู่"

ทุกคนต้องเปิดชัดว่ามีรายได้เท่าไหร่ รายจ่ายส่วนตัวเท่าไหร่ มีค่าอะไรบ้าง และหนี้สินที่ต้องชำระต่อเดือนเป็นต้นเท่าไหร่ ดอกเบี้ยเท่าไหร่ หนี้เสียเท่าไหร่ หนี้สินทรัพย์เท่าไหร่ กางออกมาให้หมด

มาถึงจุดนี้ทุกคนต้องมีจุดหมายร่วมกันว่าจะจบหนี้ลงละนะ เป้าหมาย 5 ปี 10 ปีว่าไป แต่เปิดใจไปเลยว่าช่วงเวลานี้ทุกคนจะต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบากหน่อย อาจต้องประหยัดหน่อย อาจเที่ยวบ่อยไม่ได้ละนะ อาจจะกินของดี ๆ บ่อยไม่ได้ละนะ แต่ถ้าผ่านไปได้ หลังจากนี้ก็จะสบายไปยาว ๆ แล้ว

หากใครไม่ยอมรับ เราก็อาจจะต้องใจร้ายหน่อยด้วยการควบคุมแกมบังคับ เช่น ถ้าเค้าก่อหนี้เพิ่ม เราต้องให้เค้ารับผิดชอบเอง คนอื่นจะไม่ช่วย ฯลฯ ทั้งนี้เพราะหนี้ครอบครัวไม่ใช่เรื่องของคน ๆ เดียว ทุกคนต้องช่วยกัน

ซึ่งหลังจากกางทุกอย่างออกมาแล้ว จริง ๆ ก็มีหลายทางเลือกให้เลือกนะ หากหนี้สินล้นจนร้อยปีก็จ่ายได้แค่ดอก บางทีการล้มละลายก็อาจเป็นทางเลือกนึง พวกนี้ไว้ลงรายละเอียดอีกที ที่สำคัญสำหรับโพสต์นี้คือ "ทุกคนต้องลงเรือลำเดียวกัน"

อย่างครอบครัวเรา หลังวันที่ตกลงวางแผนกัน เราก็หักบัตรเครดิตที่บ้านทิ้งหมด เหลือเราถือไว้ใบเดียว เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายทุกอย่างให้เป็นไปตามแผน (และสำรองไว้สำหรับตอนที่มันไม่เป็นไปตามแผนด้วยเช่นกัน)

ระหว่างนี้ก็บอกครอบครัวว่าอาจจะเที่ยวบ่อยไม่ได้ละนะ ขอเวลาสักนิดนึงแล้วค่อยไปเที่ยวอีกที ซึ่งก็เจ็บปวดใจหน่อย ๆ เพราะอีกทีนั่นพ่อแม่อาจจะแก่แล้ว แต่นั่นแหละ ชีวิตมันไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

นี่ผ่านมาสิบปีได้ละหลังจากเป็นตัวหลักในการจัดการทุกอย่างในบ้านอย่างจริงจังและมีแบบแผน เหนื่อยเลือดตาแทบกระเด็น ลำบากกันหมดทุกคนในบ้าน ล่าสุดตอนนี้ถึงหนี้จะยังไม่หมด 100% แต่ก็ใกล้มาก ๆ แล้ว

สำหรับคนที่มีปัญหาคุยกับคนในครอบครัวไม่ค่อยได้ความ นาทีนี้ก็คงต้องใช้ภาวะผู้นำและทำให้ได้หละ เพราะก้าวแรกนี้สำคัญมาก

ทุกคนต้องเดินไปในทางเดียวกัน ลำบากพร้อมกัน แต่สุดท้ายถ้าทำได้ รางวัลมันเรียกว่าสวยงามเลยนะ

ลุยเลย !

บันทึกการปลดหนี้ #3: “ต้องเรียนรู้เรื่องดอกเบี้ยให้ทะลุปรุโปร่ง”

พูดถึงคำว่า “ดอกเบี้ย” เชื่อว่าไม่มีใครไม่รู้จักว่ามันคืออะไร แต่พอมาถึงเรื่องการวางแผนปลดหนี้แล้ว เราจำเป็นมากที่จะต้องรู้จักเรื่องของดอกเบี้ยโดยละเอียดไม่ตกหล่น เพราะอุปสรรคหลัก ๆ ของการปลดหนี้ก็คือดอกเบี้ยนี่แหละ

ในสภาวะหนี้ ทุกวันที่ผ่านไปคือดอกเบี้ยที่งอกขึ้นเรื่อย ๆ พูดง่าย ๆ พระอาทิตย์ตกปุ๊บเราติดหนี้เพิ่มขึ้นกว่าเมื่อวานทันที !

ปัญหาสามัญที่เจอคือ ถ้าหนี้ยอดสูงมาก บางทีดอกเบี้ยอาจจะสูงจนเท่ากับรายได้ต่อเดือนของเราได้เลย พูดง่าย ๆ ถ้าใช้หนี้แบบไม่เข้าใจระบบดอกเบี้ยอย่างถ่องแท้ แต่ละเดือนที่จ่ายไปอาจจะกลายเป็นว่าหนี้เท่าเดิม จะผ่านไปอีกกี่ปีก็ไม่มีทางลด ก็ปิดประตูปลดหนี้ได้เลย ไม่มีทางสำเร็จหรอก

เป็นเรื่องเบสิคสุด ๆ นะ แต่เชื่อมั้ยว่าเราให้คำปรึกษาเรื่องหนี้มาหลายคน แล้วพบว่าส่วนใหญ่ไม่ตระหนักเรื่องนี้ เลยต้องเน้นย้ำว่าต้องรู้เรื่องนี้จริง ๆ นะ สำคัญมากกกก จำเป็นต้องรู้ตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผนเลย ไม่งั้นไม่มีทางสำเร็จ

ดังนั้นขั้นตอนแรกคือเราต้องกางหนี้ออกมาทุกก้อนก่อน แล้วลิสต์ยอด + ดอกเบี้ย (ซึ่งจะกำหนดเป็น %) ให้ชัดเจน เช่น คลี่ออกมาเลยว่า

1) หนี้ก้อนแรกยอด 3,000,000 บาทนะ ดอกเบี้ยต่อปี 5.5% แปลว่าดอกเบี้ยต่อวันอยู่ที่ 452 บาท

2) ก้อนที่สองยอด 300,000 บาท ดอกเบี้ยต่อปี 18% ดอกเบี้ยต่อวัน 148 บาท

ถึงตรงนี้ถ้าใครคำนวณไม่เป็นต้องรีบศึกษาด่วนนนน (ซึ่งจริง ๆ มันง่ายมากนะ)

หลุมพรางแรกที่เจอ บางคนมองเป็นจำนวนแล้วเจอว่า เฮ้ยยย ก้อนแรกดอกเบี้ยต่อวันมันสูงจังงง งั้นเก็บก้อนนั้นก่อน ... โนววว เป็นวิธีที่ผิด ! การปลดหนี้อย่างมีประสิทธิภาพควรเริ่มจัดการจากก้อนที่ "อัตราดอกเบี้ย (%)" สูงก่อน อย่างเช่นเคสนี้คือต้องหาวิธีจัดการก้อนหลังก่อนไม่ใช่ก้อนแรก ผลลัพธ์ต่างกันเป็นเท่าตัวเลยนะ

และคำว่าจัดการก็ไม่ใช่แค่ว่าจ่าย ๆ ๆ ๆ ๆ นะ พอเจอละว่าก้อนนี้ดอกเบี้ยสูง เราต้องไปเรียนรู้กลไกว่ามีวิธีทำให้ "ดอกเบี้ยลดลง" ยังไงได้ด้วย

อย่างเช่นวิธีคลาสสิกที่ทำกันก็คือ Refinance ไม่เจ็บตัว แต่ต้องใช้เครดิตนิดหน่อย ลดภาระดอกเบี้ยไปได้เยอะเลยโดยเฉพาะก้อนใหญ่ ๆ เช่น บ้าน

แต่ถ้าเจอบางก้อนที่ดอกเบี้ยสูงจนดูแล้วไม่ไหวแล้ว แถมดอกก็ลดไม่ได้อีก จะกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำมาโปะก็ไม่มีเครดิตพอ เป็นแบบนี้ต่อไปอีกสิบปีก็จ่ายได้แค่ดอก ทำยังไงดี ๆ ๆ ๆ

พวกนี้จัดเข้ากลุ่มหนี้เน่าได้เลย พวกหนี้เน่าก็จะมีวิธีจัดการที่ช่วยได้มากแต่จะเสียเครดิตจากการขึ้นโรงขึ้นศาลอยู่อย่างเช่นการ Hair Cut (การหยุดจ่ายไปดื้อ ๆ แล้วไปไกล่เกลี่ยกับเจ้าหนี้ที่ศาลเอา) อาจจะทำธุรกรรมที่ต้องใช้เครดิตไม่ได้อีกสักพักใหญ่ ๆ แต่อาจจะน้อยกว่าเวลาใช้หนี้ด้วยวิธีปกติ (แต่การ Hair Cut รายละเอียดเยอะมาก ถ้าจะทำควรปรึกษาผู้มีความรู้ ทำพลาดอาจโดนยึดทรัพย์พาลไปจนถึงล้มละลายได้)

สิ่งที่ต้องเรียนรู้เลยคือดอกเบี้ยคืออะไร ทำงานยังไง หาวิธีลดดอกเบี้ยลงให้มากที่สุด และถ้าลดไม่ได้แล้วแต่จ่ายไม่ไหว ก็ต้องเรียนรู้กลไกว่ามีทางออกอะไรบ้างครับ

ชีวิตที่เราเจอคือช่วงใช้หนี้แรก ๆ ดอกเบี้ยต่อเดือนอยู่ที่ราว ๆ 50,000 บาท และครึ่งนึงเป็นดอกเบี้ยจากหนี้เสีย (คือหนี้ที่ไม่ก่อรายได้) ก็คิดดูละกันว่าต้องทำงานหาเงินหนักแค่ไหนเพื่อจ่ายหนี้ในแต่ละเดือน

ซึ่งยอมรับเลยว่าช่วงแรกก็ไม่มีความรู้อะไรมาก ชำระหนี้ไปเรื่อย ๆ แล้วก็มาเช็ค เอ๊ะ ทำไมยอดไม่ลดเลย ก็เลยไปจัดการอย่างเต็มรูปแบบ (ทำไปเยอะมาก) ผ่านไปไม่กี่ปี ดอกเบี้ยของหนี้เสียตอนนี้เหลือแค่หลักพันบาทแล้ว ทำให้ปีหลัง ๆ เลยลดหนี้ลงได้เร็วขึ้นมากนั่นเอง

พูดได้เลยว่าหากยังไม่เข้าใจว่าดอกเบี้ยทำงานยังไงก็ไม่มีทางปลดหนี้ได้สำเร็จ และเช่นเดียวกัน ถ้าไม่รู้กลไกว่าจะทำยังไงกับดอกเบี้ยที่เราไม่มีทางจ่ายไหว เราก็จะเสียเงินไปเปล่า ๆ

อย่าเอาแต่ก้มหน้าจ่ายหนี้ตามที่เค้าแจ้งมาอย่างเดียว เราทุกคนควรเรียนรู้เรื่องดอกเบี้ยอย่างละเอียดตั้งแต่ตอนนี้ มีทางออกอีกเยอะมากเพื่อจัดการกับภาระดอกเบี้ยตรงนี้ หากเข้าใจและหาทางออกได้ถูกต้อง หนี้อาจจะหมดลงอย่างรวดเร็วได้ ตรงกันข้าม หากเราไม่เข้าใจ เราอาจจะต้องนั่งใช้หนี้ไปจนวันตายเลย

ซึ่งคงไม่มีใครอยากเป็นแบบนั้นใช่มั้ยล่า

บันทึกการปลดหนี้ #4: “บัตรเครดิต ทั้งนรกและสวรรค์ในบัตรเดียวกัน”

เดินทางมาถึงบันทึกที่ 4 แล้ว สังเกตมั้ยว่ายังไม่มีโพสต์ไหนพูดถึงการชำระหนี้เลย นั่นก็เพราะ

สำหรับการจะปิดหนี้ได้นั้น การวางแผนและการเข้าใจระบบทุกอย่างนั้นเป็นเรื่องสำคัญมากกกก เรียกว่า 95% ของความสำเร็จเกิดจากการวางแผนที่ดีนี่แหละ การดั้นด้นจ่ายหนี้ไปเรื่อย ๆ โดยไม่เข้าใจหรือปรับพฤติกรรมอะไรเลยนั้นเป็นกับดักชิ้นใหญ่ที่ทำให้คนส่วนใหญ่ปลดหนี้ไม่สำเร็จ นี่พูดเลย

สำหรับโพสต์นี้ก็เช่นกัน เราจะยังไม่ไปถึงการชำระหนี้ แต่จะมาพูดถึงการปรับนิสัยและมุมมองที่มีต่อ “บัตรเครดิต” กันก่อน

จากเท่าที่คุยกับหลายคนมา พบว่าเกือบทุกรายมีหนี้ก้อนใหญ่เป็นหนี้บัตรเครดิต ส่วนใหญ่ก็มาจากการใช้จ่ายฟุ้งเฟ้อ ได้บัตรเครดิตมาแล้วดันมีความคิดว่าวงเงินนั้นเป็นเงินของเรา (ซึ่งมันไม่ใช่ !) และส่วนหนึ่งถึงแม้จะเข้าใจดีว่าบัตรเครดิตคืออะไรแต่ก็ยังสามารถเกิดหนี้บัตรเครดิตได้อยู่ดี เช่น เกิดจากการที่หมุนเงินไม่ทัน ไม่ได้วางแผนเผื่อค่าใช้จ่ายไปก่อน เกิดเหตุฉุกเฉิน ฯลฯ จนสุดท้ายทำให้ต้องรูดบัตรเครดิตไปก่อน รู้ตัวอีกทีหนี้บัตรเครดิตก็พุ่งทะยานไป 3-4 เท่าของเงินเดือนแล้ว ซึ่งต้องจ่ายเป็นปีถึงจะหมด นั่นแปลว่าต้องโดนดอกเบี้ยอีกตั้งเกือบ 20% อีกด้วยแหนะ

บัตรเครดิตเลยเรียกได้ว่าเป็นปัญหาสามัญของเกือบทุกคน ต้องจัดการก่อนจะเริ่มทำอะไร เพราะถ้าไม่จัดการและปรับมุมมองให้ถูกต้อง ทุกเดือนที่ผ่านก็มีแต่จะต้องนั่งจ่ายดอกเบี้ยบัตรเครดิตไปเรื่อย ๆ แถมอาจจะรูดเพิ่มรูดเพิ่มอย่างไม่มีสติจนชีวิตวอดวายได้ง่าย ๆ

ทั้งหมดนี้เพราะมุมมองที่คนส่วนใหญ่มีต่อบัตรเครดิตนั้นผิด ยิ่งถ้าโดนกิเลสครอบงำแล้วนี่หลายคนยอมผิดอย่างเต็มใจเลย (ซึ่งมันไม่ถูก !!!) เรื่องราวพวกนี้ถูกพูดถึงและเล่าให้ได้ยินมาตลอดเวลาจนหลายคนรู้สึกว่าบัตรเครดิตเป็นของไม่ดี แต่เอาจริง ๆ ถ้าไปถามคนที่บริหารเงินเป็นจะรู้ว่าเกือบทุกคนแนะนำให้มีบัตรเครดิตหมด เพราะบัตรเครดิตจริง ๆ มีประโยชน์มากกกก

“บัตรเครดิตใช้ไม่เป็นก็คือนรก แต่ถ้าใช้เป็นมันคือสวรรค์ครับ”

คำว่าใช้เป็นไม่มีอะไรมาก ยึดไว้อย่างเดียวเลย “ไม่ใช่รูดตามวงเงินบัตร แต่รูดตามที่เราจ่ายไหวเต็มจำนวนเท่านั้น”

เช่น วงเงินบัตร 150,000 บาท แต่เงินสดที่เราสามารถใช้ซื้อของได้ในแต่ละเดือนมีแค่ 20,000 บาท ก็ห้ามรูดเกิน 20,000 บาท และเดือนถัดไปต้องชำระคืนเต็มจำนวน ห้ามมียอดเหลือแม้แต่บาทเดียว

ด้วยวิธีนี้ เราจะไม่มีทางเสียดอกเบี้ย เหมือนเราจ่ายเงินสดเลยทุกประการ แต่เราจะได้สิทธิประโยชน์ของบัตรเดรดิตอย่างครบถ้วนโดยไม่ต้องเสียเงินเลยแม้แต่สตางค์เดียว !

สิทธิประโยชน์ที่ว่ามีอะไรบ้าง พื้นฐานเลยก็คือบัตรเครดิตจะมีระยะปลอดดอกเบี้ยอยู่ที่ 45 วัน การที่เรารูดใช้วันนี้ ถ้าเราใช้คืนใน 45 วันก็ไม่ต้องเสียอะไร ทำให้ช่วงเวลานี้หากใครสามารถนำเงินไปหมุนแล้วเกิดรายได้ ก็จะทำให้ได้ทั้งของและได้ทั้งเงินทอนเพิ่มอีกต่างหาก คุ้มมาก

แต่แน่นอนว่าการเอาเงินไปหมุนก็มีความเสี่ยง หากต้องการจะปลดหนี้และยังไม่มีความสกิลในการเอาเงินตรงนี้ไปสร้างรายได้ แนะนำให้รูดเสร็จแล้วชำระเลยทันทีดีที่สุด กิเลสจะได้ไม่ครอบงำ

แต่ถ้าใครทำเป็น พวกโปรผ่อน 0% ก็ช่วยให้เอาเงินไปหมุนได้ยาวขึ้นอีกด้วย รายได้ก็สูงขึ้น แต่ก็จำไว้เสมอว่าต้องชำระเต็มครบทุกเดือนด้วยนะ ไม่งั้นเละจ่ะะะ

สิทธิประโยชน์ต่อไปคือ Cash Back ก็ตรงไปตรงมามาก เวลาเราจ่ายไป แล้วเดี๋ยวก็ได้เงินคืนมาตาม % ที่ระบุในเงื่อนไข (ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 1-3%) ก็ถ้าใช้เงินสดต้องจ่าย 100 บาท แต่ถ้ารูดบัตรจ่ายแค่ 97 บาทโดยไม่เสียอะไร แล้วทำไมจะไม่ใช้หละะะะ

พวกสะสม Point ก็เหมือน Cash Back แค่ไม่ได้คืนมาเป็นเงิน มีประโยชน์แหละแต่จะมีประโยชน์สำหรับคนมีฐานะมากกว่า เพราะการสะสม Point มักจะแลกเป็นสิทธิประโยชน์อื่น ๆ เช่น ตั๋วเครื่องบิน ซึ่งไม่ตรงกับเป้าหมายการปลดหนี้เท่าไหร่

คนที่จะปลดหนี้คงแนะนำเป็นพวก Cash Back มากกว่าสะสม Point ครับ

แล้วก็แน่นอน บัตรเครดิตมีหลายประเภท เงื่อนไขแต่ละใบก็ต่างกันไป บางใบออกแบบมาสำหรับคนที่เดินทางบ่อย บางใบออกแบบสำหรับคนที่ซื้อของที่ห้างนี้ ๆ บ่อย ก็ต้องเลือกบัตรเครดิตด้วยว่าอันไหนจะทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้มากที่สุด เลือกใบที่เหมาะกับเราเนอะ

อ้อ บางใบมีค่าธรรมเนียมรายปีด้วยนะ ! อ่านเงื่อนไขด้วย หรือถ้ามีใบที่ถืออยู่โดนเก็บค่าธรรมเนียมก็ลองโทรไปยกเว้น (Waive) ดู ไม่งั้นอาจเสียเงินฟรีปีละหลายพันได้

ก็จะเห็นว่าประโยชน์มีเยอะมากถ้าใช้เป็น สำหรับคนที่มีหนี้บัตรเครดิต แนะนำให้หาวิธีลดยอดคงค้างจนเหลือ 0 ให้ได้เป็นอันดับแรก ๆ ครับ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี (ส่วนวิธีนั้นมีอยู่หลายทาง ทั้งเจ็บตัวและไม่เจ็บตัว ไว้จะเขียนเพิ่มในตอนต่อ ๆ ไป)

สุดท้ายให้จำไว้เสมอว่าห้ามเสียดอกเบี้ยบัตรเครดิตเป็นอันขาดหรือพูดง่าย ๆ คือห้ามมียอดคงค้างในบัตรเครดิตนั่นแหละ ถ้ามีวินัยก็จะมีแต่ได้โดยไม่เสียอะไรเลยแม้แต่นิดเดียว แถมเครดิตจะดีขึ้นเรื่อย ๆ ทำอะไรก็ได้ในระยะยาว ตรงกันข้าม หากไร้วินัยก็จะมีแต่จนลง ๆ เครดิตก็มีแต่จะแย่ลง ๆ และสุดท้ายจะทำธุรกรรมอะไรไม่ได้อีกเลย

“ให้ใช้บัตรเครดิตในการสร้างเครดิต ไม่ใช่ทำลายเครดิต”

บันทึกการปลดหนี้ #5: “ได้เงินมา อย่างแรกที่ต้องทำไม่ใช่เอาไปใช้หนี้”

ทุนนิยมมันก็คือการเอาเงินมาต่อเงิน หากขาดเงินตั้งต้นไปแล้ว มันก็ยากมากที่จะสร้างเงินก้อนใหม่ได้อีก ดังนั้นถ้าได้เงินมาแล้วอย่าเพิ่งเอาไปใช้หนี้จนหมด เพราะคุณจะไม่มีแรงสร้างเงินต่ออีกและไม่มีทางปลดหนี้ทั้งหมดได้สำเร็จ

ในสภาวะการเป็นหนี้พูดเลยว่าไม่มีใครมีความสุข อย่าว่าแต่ลูกหนี้เลย เจ้าหนี้ก็หวั่นใจเหอะ ! คือลูกหนี้เครียด เหนื่อยตัวเป็นเกลียว ส่วนเจ้าหนี้ก็กลัวว่าจะได้หนี้คืนรึเปล่า

หากมองเป็นภาพรวม สภาพที่ทำให้ทุกคนแฮปปี้ได้คือ “ลูกหนี้ต้องหาเงินมาใช้หนี้ได้ให้” พูดง่าย ๆ คือลูกหนี้เป็น “เครื่องผลิตเงิน” นั่นแหละ

และเอาเข้าจริงนะ หนี้ที่ต้องมาทุกข์แบบนี้อ่ะมันใช้หมดใน 1-2 เดือนไม่ได้หรอก ต้องโน่นนน เป็นปีสองปีสามปีก็ว่าไป และต่อให้เป็นเครื่องจักรราคาแพง ให้ทำงานต่อเนื่องอย่างงั้นยังไงมันก็พังงงง

ดังนั้นอีกหนึ่งพื้นฐานที่ต้องตระหนักไว้สำหรับคนจะปลดหนี้คือ “เราต้องอยู่ได้แบบไม่พังแบบยาว ๆ”

เพราะถ้าพังเมื่อไหร่ก็คือจบ ลูกหนี้ก็หมดอาลัยตายอยาก เจ้าหนี้ก็ไม่ได้เงิน ไม่มีใครแฮปปี้หรอก จึงเป็นแนวทางที่อาจจะฟังดูแปร่ง ๆ แต่สำคัญ

“ได้เงินมาอ่ะอย่างแรกที่ต้องทำไม่ใช่เอาไปใช้หนี้ !”

เรียงความสำคัญก่อนนน ทำยังไงให้เครื่องผลิตเงินนี้ยังดำเนินต่อไปโดยไม่พังไม่ว่าจะผ่านไปอีก 3 ปี 5 ปี แล้วเอาเงินไปลงกับ “สิ่งจำเป็น” เหล่านั้นก่อน

อย่างแรกเลย ให้ตายยังไงก็ต้องมีที่ซุกหัวนอน บ้านห้ามโดนยึด ต้องมีที่อยู่ ต้องมีไฟฟ้าใช้ ต้องมีอาหารกิน เพราะถ้าไม่มีปัจจัยสี่เหล่านี้แล้วเราจะเอาอะไรไปผลิตเงินมาใช้หนี้หละ นี่คนนะ ไม่ใช่ผักที่จะเอาขาไปปักดินกลางป่าดูดซึมอาหารทางเส้นเลือดฝอยหรือสังเคราะห์แสงด้วยหน้าฝากเหม่ง ๆ อันนั้นได้

ตอนวางแผนทางการเงินเราเลยต้องลิสต์ก่อนเลยว่ามีอะไรที่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตบ้าง เช่น ถ้ามีเงินต้องผ่อนบ้านก็กันไว้เลยว่าเป็น Fixed Cost ที่ลดไม่ได้ อาหารกินกี่มื้อมื้อละเท่าไหร่ ถ้ามีเงินเหลือหน่อยนึงจะกันมื้อพิเศษเพื่อให้รางวัลตัวเองสักมื้อก็ได้ (แต่อย่าแพงมากจนถึงขั้นฟุ่มเฟือย) แล้วก็คำนวณออกมาเป็นตัวเลขกลม ๆ ว่าเรามีค่าใช้จ่ายที่ต้องกันไว้ให้เราอยู่ได้เท่าไหร่ในแต่ละเดือน

ยังไม่พอแค่นั้น ชีวิตไม่เคยเป็นอย่างที่หวังหรอก การใช้ชีวิตแบบเดือนชนเดือนถึงตอนสถานการณ์นิ่ง ๆ มันจะก็โอเค แต่ถ้าเจออะไรวิกฤติขึ้นมาโดยที่เราไม่ทันตั้งตัวนี่อาจจะวอดวายได้ ดูอย่างช่วง COVID-19 นี่ก็ได้ ดังนั้นต้องวางแผนออมเงินไว้อย่างน้อย ๆ 6 เดือนเลยสำหรับทุกคน แต่ถ้างบเยอะมาหน่อยก็ออมให้ได้ไปถึงสัก 1 ปี แล้วจะลดความเครียดของเราไปได้มาก

พอได้ตัวเลขพวกนี้ออกมาก็มานั่งรีวิวดูรอบนึงก่อนว่าเราพอจะลดอะไรได้บ้าง เช่น บ้าน Refinance ได้มั้ย ค่าอาหารมีวิธีทำให้ถูกลงได้มั้ย ทำจนได้ตัวเลขที่ลดลงมาแต่ก็ยัง Balance กับความสุขของชีวิตได้อยู่ระดับนึง (ไม่ต้องสุขมาก บทความก่อน ๆ ก็บอกไว้ว่าอาจจะต้องลำบากกันไปสักระยะนึง แต่ก็ต้องให้รางวัลตัวเองบ้างแหละ)

พอได้ตัวเลขก็เอามาคำนวณจากรายได้ต่อเดือนว่าเราพอจะเหลือเงินเพื่อเอาไปใช้หนี้เท่าไหร่ ถ้าเอามาเทียบกับยอดหนี้ที่มี จนถึงจุดนี้เราจะเห็นทางรำไรละว่าจะเดินไปทางไหนต่อ

แต่หนทางที่ว่าอาจมีทั้งยิ้มและน้ำตานองนะ ถ้ายิ้มก็คือ อื้อหือออ เห็นเลยว่าถ้าใช้หนี้แบบนี้ไป สองสามปีก็หมดแล้ว อดทนหน่อย ๆ เย้ ! ในขณะที่แบบน้ำตานองคือ โอ้โห ตัวเลขหนี้เกินตัวมากชนิดที่ร้อยปีก็ยังใช้ไม่หมดแล้วก็หมดอาลัยตายอยากไป

อย่าเพิ่ง ! เราเริ่มต้นมาขนาดนี้แล้ว หนี้เยอะก็ไม่เป็นไร ทุนนิยมมันเดินทางมาตั้งกี่ร้อยปีแล้ว มันมีกลไกของมัน ถ้าหนี้เยอะจนเกินเอื้อมไปก็มีวิธีลดหนี้อยู่หลายวิธี เช่น ประนอมหนี้ ซึ่งจะไว้เขียนในตอนต่อ ๆ ไป

ก็ค่อย ๆ ทำทีละขั้น เริ่มต้นได้ดีละตั้งแต่การปรับพฤติกรรม ปรับความเข้าใจ และนี่ก็เริ่มลงตัวเลขให้เห็นว่าทุกอย่างจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ หรือถ้าดูยังไม่ก็ไม่สิ้นสุด เราก็จะดิ้นด้วยท่าอื่นต่อไป

ท่าที่ว่านั้นมีอะไรบ้าง เดี๋ยวไว้เขียนในตอนต่อ ๆ ไปจ้าาา ส่วนตอนนี้ใครอยากจะปลดหนี้ก็ … ไปเขียนแผนการใช้เงินในแต่ละเดือนให้เรียบร้อยก่อน ปฏิบัติ !!!

บันทึกการปลดหนี้ #6: “รู้จักกลไกการลดหนี้ให้ครบ”

การที่เราตั้งใจจะปลดหนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแล้ว แต่ถ้าไม่วางแผนอย่างถูกต้อง นอกจากหนี้จะไม่ลดแล้วยังอาจจะเพิ่มโดยไม่รู้ตัวอีกต่างหาก

ในตอนก่อนหน้านี้เราถึงเน้นเขียนเพื่อให้ทุกคนทำความเข้าใจหนี้ที่ตัวเองถืออยู่ ปรับพฤติกรรม วางแผนการเงินให้เห็นเป็นรูปธรรม ฯลฯ เพื่อให้เห็นภาพใหญ่ของหนี้ที่เราถืออยู่เพื่อจะได้เริ่มต้นได้อย่างถูกต้อง

ถ้าทำตามคำแนะนำตอนนี้ก็น่าจะเห็นตัวเลขกลม ๆ ละว่าแต่ละเดือนเรามีปัญญาจ่ายหนี้เท่าไหร่ เทียบกับดอกเบี้ยที่วิ่งอยู่นั้นเราสู้ได้มั้ย แต่มันยังไม่สุดแค่นั้น อย่าเพิ่งรีบชำระหนี้มั่ว มันยังมีกลไกลดหนี้และดอกเบี้ยลงได้ด้วย !

ในบันทึกชิ้นนี้เราเลยขอเล่าถึงกลไกการ “ลดหนี้” โดยเฉพาะ

ทุนนิยมมีมานานแล้ว หนี้เสียหนีสูญก็มีมาเป็นร้อยปีแล้ว ไม่ต้องแปลกใจที่ระบบจะพัฒนาไปจนถึงจุดที่มีกลไกมาตรฐานทั้งแบบโจ่งแจ้งและลับหลังค่อนข้างเยอะว่าคนเราควรจะต้องปลดหนี้ด้วยท่าไหน

เอาท่าเบสิคสุด ๆ ก็คือที่พูดไปหลายโพสต์ละ Refinance นั่นเอง ก็พูดอีกทีเพราะการ Refinance ช่วยลดดอกเบี้ยลงได้เยอะมากกกกกแถมไม่เจ็บตัว

หลักการ Refinance ก็คือการไปกู้เงินกับสถาบันการเงินเจ้าใหม่เพื่อโปะเงินต้นทั้งก้อนไปที่สถาบันการเงินเจ้าเดิมเพื่อปิดยอดแล้วเริ่มต้นผ่อนกับเจ้าใหม่แทน และเพื่อดึงดูดให้คนทำ สถาบันการเงินก็จะออกโปรลดดอกเบี้ยออกมาเรื่อย ๆ (ก็แหงหละ ไม่งั้นจะย้ายเจ้าทำไมถ้าแพงขึ้น) ข้อดีคือดอกเบี้ยลดฮวบทันทีและอาจจะลดยอดการผ่อนต่อเดือนได้ด้วย อาจช่วยให้บริหารเงินเหลือต่อเดือนได้ง่ายขึ้น

หน้าที่ของเราคือต้องคอยศึกษาหาข้อมูลเรื่อย ๆ ว่ามีเจ้าไหน Refinance ด้วยอัตราดอกเบี้ยเท่าไหร่ ลดลงเยอะมั้ย มีช่วงห้าม Refinance ซ้ำกี่ปี ฯลฯ ถ้าเจอตัวที่คุ้มในจังหวะที่เหมาะก็จัดเลยยยย ช่วยได้เยอะมากจริง ๆ

แต่อย่าลืมคำนวณพวกค่าธรรมเนียมด้วยเพราะปกติการ Refinance จะไม่ใช่แค่โอนยอดไปสถาบันทางการเงินเจ้าใหม่แบบดื้อ ๆ แต่มันจะมาพร้อมค่าธรรมเนียมกี่ % ก็ว่าไป ก็คำนวณดูเอาว่าคุ้มมั้ย มีเงินสดสำหรับทำสิ่งนั้นรึเปล่า บลา ๆ ๆ ๆ ถ้าไม่มีแต่คิดว่า Refinance นั้นคุ้มมากก็เก็บเงินแล้วทำให้เรียบร้อย

นี่แหละที่มีคนถามว่าเราจะเรียนคณิตศาสตร์ไปทำไม ได้ใช้นะเว้ยยยย

นอกจาก Refinance แล้วก็มีการโทรไปขอปรับลดดอกเบี้ยธนาคารเดิม (Retention) โดยจะทำได้กับพวกสินเชื่อบ้านเมื่อผ่านช่วงห้าม Refinance ไปแล้ว (โดยปกติคือ 3 ปี) ถ้าขี้เกียจย้ายธนาคารหรือเครดิตไม่ดีพอจะ Refinance หรือไม่มีเวลาไปวิ่งเรื่อง ทางเลือกนี้ก็โอเค

แต่ข้อเสียของ Retention คือมักจะลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าการ Refinance นี่คือเป็นเรื่องปกติเลย แต่ก็แล้วแต่ประวัติการชำระหนี้ที่ผ่านมาด้วย ถ้าประวัติดีก็อาจจะใกล้เคียงกัน อย่างเราก็ได้อัตราเกือบเท่ากันจนยอมไม่ย้ายธนาคารเลย

สำหรับพวกรถก็ใช้ท่า Refinance ได้เหมือนกัน ลองอ่านรายละเอียดสัญญาดูดี ๆ หลักการไม่ต่างกัน

ท่าต่อไปคือ “ประนอมหนี้” ซึ่งจะทำกับหนี้เครดิตที่ไม่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน (ไม่มีอะไรให้ยึด เพราะถ้ามีอะไรให้ยึดมันเจรจายาก) ประนอมหนี้เป็นคำที่กว้างมาก ๆ เพราะขั้นตอนจริงของการประนอมหนี้มีอยู่หลายระดับมากกกก ทั้งแบบเสียเครดิตและไม่เสียเครดิต

เอาแบบไม่เสียเครดิตก่อน แบบไม่เสียเครดิตก็คือง่าย ๆ ตรงไปตรงมา ถ้าชำระหนี้มานานแล้วก็โทรหาไฟแนนซ์แล้วขอต่อรองตรง ๆ เลยว่าเราจ่ายไม่ไหวแต่อยากปิดยอดแล้ว ลดดอกเบี้ยให้เราได้มั้ยยย หรือมีวิธีลดอะไรได้บ้าง

แต่แบบนี้มักจะได้ลดน้อย การต่อรองไม่ค่อยเป็นผล เพราะรูปการณ์เหมือนเราไปง้อ อัตราต่อรองเลยไปอยู่ที่เจ้าหนี้ไม่ใช่เรา สุดท้ายอาจจะลดได้แค่ไม่กี่ % ซึ่งไม่คุ้มเลย

ถ้าพูดถึงการประนอมหนี้เพื่อปลดหนี้เนี่ยก็ต้องยอมรับว่าที่นิยมทำกันจะเป็นแบบเสียเครดิตกันมากกว่า โดยเราจะทำสิ่งที่เรียกว่า “Hair Cut”

Hair Cut คือการทำให้หนี้อยู่ในสภาพ “เน่า” มาก ๆ จนเจ้าหนี้จัดเข้าสู่บัญชีหนี้สูญแล้ว คิดแล้วว่ายังไงก็ไม่ได้หนี้ก้อนนี้คืนแน่ ๆ แล้วก็รอไกล่เกลี่ย

แล้วจะทำยังไงให้หนี้เน่าหละ ? … ก็เลิกชำระหนี้ไปดื้อ ๆ เลยนั่นเอง … เป็นวิธีที่ดูขัดใจ แต่ก็เป็นกลไกที่ทำกันมานานหละ

พอหนี้เน่าแล้ว ทางสถาบันทางการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ก็จะส่งเรื่องไปยังบริษัททวงหนี้ แล้วทางบริษัททวงหนี้ก็จะตามจิกเราให้ได้เงินมาให้ได้

โดยกลไกคือบริษัททวงหนี้นี้จะซื้อหนี้มาจากสถาบันการเงินในราคาที่ถูกกว่ายอดหนี้พอสมควร (เพราะสำหรับสถาบันทางการเงินแล้ว เค้าไม่หวังละว่าจะได้เงินคืน ขายทิ้งถูก ๆ ดีกว่า) ทางบริษัททวงหนี้ถ้าสามารถได้เงินเยอะกว่าที่ซื้อมามันก็คือกำไรของเค้า

และการที่บริษัทเหล่านี้ซื้อหนี้มาในราคาถูก มันเป็นการเปิดโอกาสให้เราสามารถต่อรองกับเค้าได้นั่นเอง

บริษัทเหล่านี้จะโทรมาทวงหนี้บ่อยถึงบ่อยมาก สิ่งที่ต้องรอรับเลยคือความเครียด เค้าจะขู่ต่าง ๆ นานา ทำใจไว้ล่วงหน้าก่อนเลย (แต่เป็นการขู่ในระบบนะ เช่น จะฟ้อง จะยึดทรัพย์ จะขังคุก ซึ่งจริงบ้างไม่จริงบ้าง ถ้าอยากลดความเครียดก็ต้องศึกษาว่าอะไรเป็นไปได้ อะไรเป็นไปไม่ได้ จะได้รู้ว่าอะไรคือขู่อะไรคือจริง) แต่เราต้องยอมรับสภาพของตัวเองว่ามันคือสิ่งที่ต้องแลกมา เรายังบริสุทธิ์ใจในการชำระหนี้อยู่จริง ๆ ไม่ได้หนีไปไหน แต่เราจ่ายก้อนเดิมไม่ไหวจริง ๆ ก็ต้องยอมเครียดไปและไม่จ่ายต่อไปเรื่อย ๆ

ระหว่างนี้เค้าจะยื่นข้อเสนอส่วนลดมาให้เรื่อย ๆ ลด 20% บ้าง 30% บ้าง บางคนก็ตอบรับแหละ แต่ส่วนใหญ่จะรอจนถึงจุดที่เค้า “ยื่นฟ้องศาล” (ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 ปีอย่างต่ำ)

ใช่แล้ว Hair Cut จะต้องมีขึ้นโรงขึ้นศาลกันด้วย เราก็เลยบอกไงว่ามันจะเสียเครดิต ทำธุรกรรมอะไรหลังจากนี้จะยากมาก ก็ต้องคำนวณเอาว่าคุ้มมั้ยกับชีวิตใหม่ที่จะได้มาหลังปลดหนี้เสร็จแล้ว ถ้าคุ้มก็คงต้องยอม

แต่ถามว่าเอาจริง ๆ บริษัทเหล่านี้อยากให้เรื่องถึงศาลมั้ย เค้าก็ไม่อยากหรอกเพราะมันเสียเวลาเค้า เสียเงินด้วย และอย่างที่บอก เนื่องจากบริษัททวงหนี้จะได้ยอดหนี้ก้อนนี้มาในราคาที่ถูกกว่ายอดหนี้มาก และหนี้ก็ถูกตรีตราว่าเป็นหนี้เน่าอยู่แล้ว อัตราต่อรองก็เลยจะอยู่ฝั่งลูกหนี้แทน

ในจุดนี้ก็เป็นจุดที่ดีที่จะไกล่เกลี่ยเพื่อหาทางออกร่วมกัน พอถึงวันไปที่ศาลเราก็สามารถตกลงนอกศาลกันได้ โดยยอดอาจจะลดลงไปกว่าเท่าตัวได้เลย

สุดท้ายก็ตกลงกันให้เรียบร้อยว่าจะชำระยังไง ก้อนเดียวจบแล้วลดเยอะ ๆ หรือผ่อนแล้วลดน้อยหน่อย ที่สำคัญคือ “ต้องทำตามสัญญาให้ได้” แต่ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องห้ามหายหน้า ต้องคุยกับเจ้าหนี้ตลอดเวลาเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ

สุดท้ายถ้าไม่ทำตามสัญญาจริง ๆ อาจจะถึงขั้นบังคับคดีตามที่ศาลตัดสิน ซึ่งจะส่งผลตามมาอีกหลายอย่าง อย่าให้ถึงขั้นนั้น (ถึงบอกว่า Hair Cut ควรจะทำโดยมีผู้เข้าใจช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด ไม่งั้นพังได้)

วิธีนี้ต้องแลกกับอะไรมาหลายอย่าง ก่อนหน้านี้เรียกว่าวิธีมืด ๆ แต่ตอนนี้น่าจะกลายเป็นวิธีเทา ๆ ละ ผู้คนเริ่มยอมรับโดยเฉพาะสังคมอุดมหนี้อย่างในตอนนี้ ถ้าเป็นก่อนหน้านี้คงไม่เขียนเรื่องนี้ให้อ่าน แต่ตอนนี้เราว่ามันน่าจะมีประโยชน์ต่อทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้แหละ เจ้าหนี้ก็ได้เงิน ส่วนลูกหนี้ก็ต้องเสียอะไรหลายอย่าง ไม่ใช่ได้มาแบบฟรี ๆ แต่ก็ปลดหนี้ได้

แต่ถ้าดูแล้วต่อให้ทำท่าไหนก็ไม่มีทางจ่ายหนี้ได้หมดในชีวิตนี้ อีกกลไกนึงที่ทำได้คือ “รอโดนฟ้องล้มละลาย” แต่สิ่งที่ตามมาคือจะโดนยึดทรัพย์ไปทุกอย่างและสภาพล้มละลายจะอยู่ในประวัติไปอีกหลายปี ทำธุรกรรมอะไรต่าง ๆ ยาก บินไปต่างประเทศลำบาก แต่ถ้าคำนวณแล้วว่าคุ้มก็อาจเป็นทางเลือกนึง

บันทึกอันต่อไปจะแชร์เรื่องล้มละลายให้ฟัง แต่ละประเทศไม่เหมือนกันด้วย ที่ไทยอาจจะทำยากหน่อย แต่ก็มีทำกันบ้างเรื่อย ๆ

บันทึกการปลดหนี้ #7: “การล้มละลายคือโอกาสเริ่มต้นชีวิตใหม่ ไม่ใช่การลงโทษ”

ได้ยินคำว่า “ล้มละลาย” เชื่อว่าหลายคนคงร้องยี้ เป็นคำที่ฟังดูน่ารังเกียจอย่างบอกไม่ถูก ใครเป็นบุคคลล้มละลายคงดูถูกดูแคลนต่าง ๆ นานา ซึ่งนี่แหละที่เป็นสิ่งที่ทำให้คนไทยหลายคนไม่เลือกทางเลือกนี้ ทั้ง ๆ ที่ถือเป็นทางออกนึงที่ดีมากในการเริ่มต้นชีวิตใหม่ (แต่ก็แลกมากับความขมขื่นหลายปีแต่ก็ยังถือว่าระยะสั้น)

แต่เอาจริง ๆ กฎหมายประเทศไทยก็ทำให้มันน่ากลัวด้วยแหละ โพสต์นี้จะเขียนไว้ในตอนท้าย ๆ เปรียบเทียบให้ด้วยว่าทำไมที่อเมริกากฎหมายถึงอำนวยความสะดวกในการเริ่มต้นชีวิตใหม่มากกว่าที่ไทย ทำไมที่เมกาคนหนี้ท่วมที่นี่ถึงเดินไปยื่นล้มละลายด้วยตัวเองเลยด้วยซ้ำ แต่ก็เริ่มจากการล้มละลายที่ไทยก่อนละกันนะ

การล้มละลายคืออะไร ? ภาษาบ้าน ๆ คือการประกาศให้บุคคลหรือนิติบุคคลนั้น ๆ อยู่ในสภาพ “ใช้หนี้ให้ตายยังไงก็ไม่หมด” ซึ่งถูกออกแบบมาให้คนสามารถหลุดพ้นสภาวะหนี้ที่ไม่มีที่สิ้นสุดและเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้

แต่การเป็นบุคคลล้มละลายไม่ได้แปลว่า เย้ ! ศาลตัดสินแล้ว เรารอดแล้วววว ไม่ใช่นะ มันมีสิ่งที่ตามมาเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนที่เท่าเทียม ซึ่งจะเขียนไว้ในโพสต์นี้แหละ

การฟ้องล้มละลายเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่เจ้าหนี้จะทำต่อลูกหนี้แล้วจริง ๆ เพราะผลของการที่ลูกหนี้ล้มละลายจะทำให้สภาพหนี้อยู่ในอารมณ์แบบ “อ่ะ ๆ มีเท่าไหร่ก็เอา ได้นิดนึงก็ยังดีกว่าไม่ได้” คือสิ้นหวังมากแล้วนั่นเอง หนี้ที่ได้ก็เลยอาจจะน้อยมาก ๆ แต่ก็ดีกว่าไม่ได้เลย

โดยเงื่อนไขของการโดนฟ้องล้มละลายในไทยมีทั้งที่เขียนอยู่ชัดเจนและไม่ชัดเจนคือ

ถ้าเป็นบุคคล หนี้จะต้องเกิน 1 ล้านบาท ในขณะที่ถ้าเป็นนิติบุคคล หนี้จะต้องเกิน 2 ล้านบาท และ/หรือลูกหนี้มีสถานะของ “หนี้สินล้นพ้นตัว”

โดยคำว่าเป็นหนี้สินล้นพ้นตัวคือการที่คนนั้น ๆ มีแนวโน้มชัดเจนว่าไม่สามารถชำระหนี้ได้ เช่น หนี้สองล้าน แต่เงินเดือน 8,000 บาท ต่อให้กางทรัพย์สินที่มีทั้งหมดในชีวิตก็ไม่มีทางชำระได้ รวมถึงถ้ามีพฤติกรรมฉ้อฉลตั้งใจจะหลบหนีการจ่ายหนี้ พวกนี้ก็จะเข้าข่ายหนี้สินล้นพ้นตัวและศาลก็จะใช้เงื่อนไขนี้แหละอนุมัติการล้มละลาย

แต่ถ้าไม่เข้าข่ายศาลก็ไม่ให้ล้มละลายนาจา

ความไม่สะดวกของที่ไทยในกฎหมายล้มละลายคือเราต้องรอให้เจ้าหนี้ฟ้องเท่านั้น ไม่สามารถยื่นล้มละลายด้วยตัวเองได้ ขั้นตอนก่อนจะฟ้องล้มละลายก็เลยอาจจะยืดยาวมากกกก ตั้งแต่ประนอมหนี้ ทวง ๆ ๆ ๆ ๆ ขึ้นศาลคดีประนอมหนี้ เผชิญความเครียดมากมาย ผ่านไปหลายปีถ้าสภาพหนี้เลวร้าย ๆ จริง เจ้าหนี้ถึงจะยอมฟ้องล้มละลายบุคคล ซึ่งตอนอยู่ระหว่างสั่งฟ้องศาลก็ยังอาจจะโดนทวงอีกจนกว่าศาลจะตัดสิน ระหว่างนั้นก็อาจจะได้รับทางเลือกประนอมหนี้เป็นสิบทาง อันนี้ก็แล้วแต่ทางเลือกของแต่ละคนกันไป

แต่สุดท้ายถ้าจบที่ศาลตัดสินให้เป็นบุคคลล้มละลายจริง ๆ ก็ไม่ใช่เรื่องแย่อะไร อย่างที่บอก มันเป็นทางเลือกหนึ่งที่ดีอยู่สำหรับคนต้องการเร่ิมต้นชีวิตใหม่ แต่ต้องเตรียมตัวรับกับสิ่งที่จะตามมาอันได้แก่

- ศาลแต่งตั้งเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์มาดูแลบริหารทรัพย์สินของบุคคลนั้นเพื่อนำไปชำระหนี้

- โดนยึดทรัพย์ไปขายทอดตลาด ทรัพย์สินที่ว่านี้ก็ตั้งแต่อสังหาอย่างบ้านหรือที่ดิน หรือทรัพย์สินต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพ เช่น แหวน เพชร พลอย รวมถึงเงินฝาก เงินชดเชยการตกงานพวกนี้จะโดนยึดหมด

- เงินเดือนจะถูกชำระผ่านทางเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์และจะส่งมาให้เราแค่ 20,000 บาทเท่านั้น (ถ้าเกิน) ส่วนที่เกินจากนั้นก็จะโดนยึดไปชำระหนี้

- รถยนต์หากไม่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพก็จะยึดได้ แต่ถ้าจำเป็นหรือติดไฟแนนซ์ก็จะยึดไม่ได้

- เปิดบัญชีธนาคารไม่ได้ ทำธุรกรรมอะไรไม่ได้เลยจะถือเป็นโมฆะหมด

- ไปต่างประเทศไม่ได้ ยกเว้นได้รับอนุญาตจากศาล

- ถ้าไปทำงานต่างประเทศจะต้องทำข้อตกลงนำส่งเงินเดือนกลับมาชำระหนี้ตามอัตราส่วน

- เป็นกรรมการบริษัทไม่ได้ ยกเว้นศาลอนุญาต

สภาพนี้จะคงอยู่ไปอีก 3 ปีนับตั้งแต่วันที่ศาลตัดสิน ซึ่งตัวเลข 3 ปีนี้เป็นตัวเลขมาตรฐาน คนส่วนใหญ่จะหลุดจากสถานะล้มละลายหลังผ่านไป 3 ปี สภาพหนี้จะเหลือศูนย์ ยกเว้นถ้าลูกหนี้ไม่ให้ความร่วมมือ มีเจตนาไม่ดีหรืออะไรก็ตาม ศาลจะสามารถยืดไปได้อีกถึง 10 ปี ก็อย่าให้เป็นแบบนั้น

และหลังจากถูกปลดจากการเป็นบุคคลล้มละลายแล้ว ข้อมูลนี้จะถูกฝังเครดิตบูโรไปอีก 3 ปี (แต่ก่อนนี่ตลอดชีวิตเลย แต่ก็ค่อย ๆ ลดลงมาตามเวลา) การทำสินเชื่อใด ๆ คงจะยากไปอีก 3 ปี แต่หลังจากนั้นสถานะก็จะหายวับ ได้เริ่มต้นชีวิตใหม่อย่างแท้จริง

ก็จะเห็นว่ากระบวนการค่อนข้างยาวนาน ต้องเจอความเครียดและข้อจำกัดของชีวิตอะไรมากมาย วิธีคิดว่าจะยอมล้มละลายมั้ย อย่างแรกเลยคือมีตัวเลขกลม ๆ สำหรับการตัดสินใจ “ถ้าต้องใช้หนี้เกิน 5 ปีก็มองการล้มละลายเป็นทางเลือกได้”

เพราะอย่างที่ลิสต์ด้านบน สถานะล้มละลายจะอยู่เวลาช่วงเวลา 3 ปี (ถ้าไม่ทำอะไรแย่ ๆ) และจะติดอยู่ในเครดิตบูโรอีก 3 ปี เวลาก็พอ ๆ กัน (ยังไม่รวมเวลาเจรจากับเจ้าหนี้ก่อนจะยอมฟ้อง ซึ่งก็จะต่างกันไปในแต่ละเคส มองเป็นปัจจัยไว้ด้วย)

ซึ่งจากใจ เวลา 3 ปีนั้นมันสั้นมากเมื่อเทียบกับสิ่งที่ได้กลับมาเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ ถ้าดั้นด้นใช้หนี้ บางที 3 ปียังได้แค่เสี้ยวเดียว เที่ยวก็ไม่ได้ ทำโน่นนี่ก็ไม่ได้ ไม่ต่างอะไรกับการล้มละลายเลย แถมถ้าฝืนไปเรื่อย ๆ ก็ยังไม่จบใน 3 ปีอีก อาจจะยาวไปครึ่งชีวิตเลยก็ได้

อย่างที่สองคือต้องมองว่าทำให้ใครเดือดร้อนรึเปล่า เท่าที่ดูก็มีเคสเดียวหลัก ๆ แหละ “มีใครค้ำประกันรึเปล่า” เพราะต่อให้บุคคลนั้น ๆ ล้มละลายไปแล้ว แต่ผู้คำ้ประกันให้บุคคลนั้น ๆ ไม่ได้ล้มละลายไปด้วย เจ้าหนี้จะยังสามารถทวงหนี้ไปยังผู้คำประกันได้อยู่

จนกว่าผู้ค้ำประกันจะยอมจ่ายหรือยอมล้มละลายไปอีกคน …

เป็นสถานะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของสภาพหนี้ในไทยจำนวนมาก เจอหลายเคสมากที่เป็นแบบนี้ สุดท้ายไม่ใครก็ใครก็เจ็บ

ดังนั้นอย่าค้ำประกันใครนะจ๊ะ … ไว้เขียนเรื่องนี้ไว้ในอีกตอน นี่ครอบครัวเราก็โดนจากการค้ำประกันนี่แหละ

และกลับมาเข้าเรื่องต่อ อย่างที่สามคือต้องเข้าใจว่าการล้มละลายจะคุ้มครองหนี้ในระบบเท่านั้น ส่วนหนี้นอกระบบก็จะยังคงอยู่ และนี่เป็นเหตุผลว่าอย่าไปกู้หนี้ยืมสินนอกระบบ มันไม่มีทางออกเลยแม้แต่ทางเดียว !

คร่าว ๆ ก็ประมาณนี้สำหรับการล้มละลาย จะเห็นว่าเป็นทางออกที่ดีทางออกนึงเลย พื้นฐานของการล้มละลายคือ

“มันคือทางเลือกของการเริ่มต้นชีวิตใหม่ ไม่ใช่การลงโทษ”

ตอนเรามีไปปรึกษาเรื่องการเงินกับใครหลาย ๆ เชื่อมั้ยว่า “ทุกคน” ให้ทางเลือกล้มละลายมาหมดเลย จากตอนแรกที่รู้สึกขยาดกับคำนี้ พอได้ไปศึกษาจริงก็รู้ว่ามันเป็นเรื่องดีนะ

แค่กฎหมายไทยยังไม่ค่อยอำนวยเท่าไหร่เลยดูไปทางลงโทษมากไปหน่อย

สำหรับอเมริกามีทั้งส่วนที่คล้ายและต่างกันกับไทยในหลาย ๆ เรื่อง เอาภาพใหญ่ก่อน เมกาจะแบ่งการล้มละลายเป็นสองแบบ “Chapter 7 กับ Chapter 13” ซึ่งถ้าให้เทียบ Chapter 13 จะเหมือนการทำ Hair Cut คือประนอมหนี้แล้วยอมจ่ายให้จบใน 4-5 ปีอะไรก็ว่าไป ในขณะที่ Chapter 7 คือการจบสถานะหนี้ใด ๆ แบบหายวับ

นี่คือความต่างอย่างแรก ที่ไทยจะต้องอยู่ในสถานะล้มละลายไป 3 ปีหรือนานกว่านั้น แต่ที่นี่ถ้าศาลบอกว่ายอมรับการล้มละลายแบบ Chapter 7 ก็คือเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้เลยทันที ส่วนข้อมูลการล้มละลายก็จะอยู่ในรายงานเครดิตนานกว่าหน่อยนึงคือ 7-10 ปี แต่หลังจากนั้นก็หายวับไปเช่นกัน

แต่ส่วนที่คล้ายกันก็เช่น การพิจารณาว่ามีหนี้สิ้นล้นพ้นตัวมั้ย จ่ายหนี้ไม่ไหวจริง ๆ รึเปล่า ถ้าจ่ายไหวก็ไม่ให้ล้มละลายด้วย Chapter 7 แต่ไปใช้ Chapter 13 แทน (เผื่อคนหัวหมอจะมาหนีหนี้)

ส่วนถ้าศาลบอกว่า โอเค เจ้าล้มละลายได้ ก็จะมีเจ้าหนี้ที่พิทักษ์ทรัพย์มาดูแลทรัพย์สินของเราเพื่อขายทอดตลาดคืนเจ้าหนี้ (Liquidate) และนี่ก็เป็นอีกอย่างที่ต่างกันไปในรายละเอียด เพราะที่เมกาจะยกเว้นทรัพย์สินที่จำเป็นต่อการเริ่มต้นชีวิตใหม่ไว้ให้ เช่น บ้าน หรือ รถ ส่วนที่เหลือจะโดนยึดไปหมด ซึ่งเอาจริง ๆ แค่นี้ก็ช่วยได้มากแล้ววว

ไม่ต้องแปลกใจเลยที่คนที่นี่ถึงมองการล้มละลายเป็นเรื่องดี (แต่ก็ต้องทำด้วยความบริสุทธิ์ใจนะ) และคนในประเทศนี้มองว่าการล้มละลายเป็นเรื่องที่ไม่แปลกอะไร ทุกคนมีโอกาสเริ่มต้นใหม่ทั้งนั้นถ้าหากไปต่อไม่ได้จริง ๆ ดังนั้นประเทศนี้ “คุณเดินมาขอยื่นล้มละลายเองได้เลย” ใช่ครับ ที่ไทยต้องให้เจ้าหนี้ฟ้อง ส่วนที่นี่ยื่นขอล้มละลายตัวเองได้เลย !

ขั้นตอนของเวลาเลยกระชับกว่าไทยมาก ไม่ต้องรอเจรจากับเจ้าหนี้มากมาย ใช้เวลาประมาณ 6 เดือนเพื่อรอการตัดสินได้ (แต่ระหว่าง 6 เดือนนั้นก็เตรียมโดนทวงหนี้กระจุยกระจายได้ไม่ต่างกัน)

การล้มละลายรายละเอียดเยอะมากกก โดยรวมที่บอกว่าเป็นทางเลือกที่ดีเพราะมันช่วยร่นระยะเวลาการเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ แทนที่จะลืมตาอ้าปากไม่ได้ไป 10 ปี ก็ลำบากหน่อยสัก 5-6 ปีแล้วลุยต่อ ที่เมกาเนี่ยโอเคเลยนะแต่ในไทยนี่รู้สึกไม่ค่อยอำนวยกับอะไรเท่าไหร่ ถ้าจะทำการล้มละลายก็ควรจะศึกษาผลกระทบกับคนรอบตัวเป็นอย่างแรก และถ้าต้องการทำจริง ๆ ควรจะปรึกษาทนายความอย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้พลาดพลั้งทำอะไรพลาดไปจนเกิดความเสียหายได้ครับ

บันทึกการปลดหนี้ #8: “รู้ว่าเวลากับเงินมันเทรดกันได้”

ประโยคที่ว่า “เงินซื้อเวลาไม่ได้” นั้นเป็นได้แค่คำสวยหรูที่ไม่เคยเป็นความจริงเลยสำหรับเรา เพราะประสบการณ์ชีวิตบอกมาชัดเจนแล้วว่า “แท้จริงแล้วเงินกับเวลามันแลกเปลี่ยนกันได้เสมอ”

ถ้าอยากจะปลดหนี้เราจะต้องบริหารเงินให้เป็น และในเมื่อเงินกับเวลามันเทรดกันได้ เราก็ต้องบริหารเวลาให้เป็นด้วยเช่นกัน !

ถามว่าทำไมเราถึงบอกว่าเงินกับเวลามันแลกเปลี่ยนกันได้ ? ก็ง่าย ๆ เลย เพราะทุกนาทีเราสามารถเอาไปใช้ทำงานเพื่อหาเงินได้นั่นเอง ในขณะเดียวกัน เราก็สามารถปาเงินเพื่อร่นเวลาในจะทำอะไรหลาย ๆ อย่างได้เช่นกัน

เพื่อให้เห็นภาพ เอาตัวอย่างง่าย ๆ ที่จับต้องได้เลยนะ ถ้าเรามีธุระต้องเดินทางไปสักที่นึง รถเมล์อาจจะแค่ 8 บาท แต่ต้องรอ 45 นาทีและเดินทาง 30 นาที ในขณะที่ถ้านั่งแท็กซี่อาจจะ 100 บาท แต่ประหยัดรอไปได้ 45 นาทีเต็มและเดินทางใช้เวลาน้อยลงด้วย สมมติว่าลดลง 15 นาที

เงินส่วนต่างคือ 92 บาท เวลาส่วนต่างที่แลกมาด้วยเงินก้อนนั้นคือ 1 ชั่วโมง

นี่ไง เงินกับเวลามันแลกกันได้

หรือสมมติเราต้องทำปูกระเบื้องหลังคาใหม่ซึ่งใช้เวลา 8 ชั่วโมงเต็มในการทำให้เสร็จ แต่เราสามารถเลือกจ่ายเงินจ้างคนมาทำแล้วเราเอาเวลาที่แลกมาด้วยเงินก้อนนั้นไปทำอะไรอย่างอื่น

จะเห็นว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตจะมีการแลกเปลี่ยนไปมาระหว่างเงินกับเวลาเสมอ ลองนั่นคิดดูก็ได้ว่าสัปดาห์ที่ผ่านมามีอะไรที่เข้าสมการที่ว่านี้บ้าง

สาเหตุที่เรื่องนี้สำคัญคือ สำหรับคนปลดหนี้แล้ว “เงิน” ก็ยังเป็นผลลัพธ์ที่เราต้องมุ่งเป้าไปหา และด้วยเหตุนี้ เราจึงจะต้องคำนวณให้เป็นว่าเราจะต้องบริหารทั้งเงินและเวลายังไงเพื่อให้ได้เงินมากที่สุด

หากยอมขึ้นแท็กซี่จ่ายเพิ่ม 92 บาท แต่เวลา 1 ชั่วโมงที่ได้คืนมา เราสามารถหาเงินเพิ่มได้ 200 บาท ก็จ่ายค่าแท็กซี่สิ ได้เงินเพิ่มด้วยนะ ! แต่ถ้าเวลาที่ซื้อมาไม่สามารถสร้างเป็นเงินได้ บางทีรอรถเมล์ก็อาจจะคุ้มกว่า

ตรงนี้ถามว่าเราควรจะขึ้นรถเมล์หรือแท็กซี่ อันนี้ตอบจากประสบการณ์ชีวิตจริงเลยนะ

“แต่ละช่วงชีวิตของแต่ละคนมูลค่าของเงินและเวลาก็จะต่างกันไปโดยสิ้นเชิง”

ใครฟันธงว่าขึ้นรถเมล์สิหรือขึ้นแท็กซี่สิโดยไม่สนใจปัจจัยอะไรเลยก็ขอให้เราสะบัดบ็อบแล้วเดินหนีปายยยย เพราะจริง ๆ แล้วมูลค่าของเงินและเวลาจะเปลี่ยนไปตามฐานะและอาชีพการงาน ไม่มีใครเหมือนกันเลย

ช่วงนึงของชีวิตที่จนมาก ๆ ระดับที่มีเงินเหลือ 300 บาทแต่ต้องอยู่ให้ได้สองสัปดาห์ ถามว่าควรขึ้นรถแท็กซี่ได้มั้ย ก็ไม่ไง ! ตอนนั้นยอมขึ้นรถเมล์แต่ใช้เวลารอรถเมล์เพื่อทำงานแทน (ทุกนาทีมีค่า … โดยเฉพาะค่าใช้จ่าย T__T)

ส่วนช่วงนึงของชีวิตที่มีเงินมาระดับนึงพอหายใจหายคอได้ (แต่หนี้ก็ยังท่วมอยู่นะ) อันนั้นก็นั่งแท็กซี่กับรถไฟฟ้ารัว ๆ เพราะเราคำนวณแล้วว่าเงินที่ได้จากเวลาที่ประหยัดไปนั้นสูงกว่าค่าเดินทางมาก

สุดท้ายแล้วไม่มีคำตอบที่แน่นอนว่าเราควรจะเลือกทางไหนระหว่างเงินกับเวลา มันขึ้นอยู่กับคน ขึ้นอยู่กับฐานะ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ รวมถึงปัจจัยอีกแสนกว่าอย่าง แต่ที่อยากให้ทุกคนตระหนักไว้เสมอในทุกการเคลื่อนไหวของชีวิตคือ

“เงินและเวลามันแลกเปลี่ยนกันได้เสมอ”

เวลาจะทำอะไรให้จำประโยคนี้ไว้เสมอและพิจารณาด้วยตัวเองว่าตอนไหนควรประหยัดเวลาตอนไหนคือประหยัดเงินเพื่อให้เป้าหมายในการหาเงินให้ได้มากที่สุด

เมื่อฝึกฝนความสามารถตรงนี้ นอกจากจะช่วยปลดหนี้ลงแล้วก็ยังทำให้ความสามารถในการบริหารของคุณสูงขึ้นอีกด้วยครับ =)

บันทึกการปลดหนี้ #9: “อย่ายึดติด ขายทรัพย์สินที่ไม่จำเป็นทิ้งบ้างเพื่อลดภาระ”

หนึ่งในสิ่งที่น่าสนใจมากหลังจากคุยกับคนติดหนี้มาหลายคนคือ เชื่อมั้ยว่าแต่ละคนต่อให้มีหนี้สินท่วมท้นมากแค่ไหน แต่ “ทุกคน” ล้วนถือครองทรัยพ์สินไม่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตไว้หมดเลย

ทั้ง ๆ ที่ถ้าขายทรัพย์สินเหล่านั้นไปก็อาจจะโปะหนี้ไปได้และลดภาระดอกเบี้ยไปได้เยอะมาก ทำให้ชีวิตในแต่ละเดือนผ่านไปอย่างเครียดน้อยลงได้สบาย ๆ เลย

แต่ก็ไม่ขาย ดีไม่ดีบางคนเปลี่ยนมันเป็นหนี้ด้วย ! (เอาเข้าโรงรับจำนำ เป็นต้น)

พอถามว่าทำไมไม่ขายทิ้ง ส่วนใหญ่ก็จะบอกว่าเสียดาย ก็เข้าใจว่าบางชิ้นมีคุณค่าทางจิตใจแหละ แต่หลายชิ้นมากที่เป็นแค่กิเลส เช่น กระเป๋าหรู ทอง เพชร พวกนี้ไม่ใช่ของจำเป็นเลยต่อทั้งชีวิตและจิตใจ มีแค่กิเลสจริง ๆ ที่กั้นขวางไว้จนยังยึดติดกับทรัพย์สินเหล่านี้อยู่

สิ่งที่อยากจะเน้นย้ำคนปลดหนี้ไว้คือ

“ขายทรัพย์สินที่ไม่จำเป็นออกไปบ้างเถอะถ้ามันช่วยเรื่องการเงินได้”

อย่างที่บอก คนที่มีทรัพย์สินอยู่นี่ชีวิตเปลี่ยนเลยนะถ้าหยุดยึดติดได้อ่ะ

ขั้นตอนแรกในการบรรลุผลตรงนี้คือลิสต์ทรัพย์สินมีค่าที่มีอยู่ออกมาให้หมด (เอาแค่มีค่าพอนะ ของสิบบาทที่ขายต่อไม่ได้ไม่ต้อง เดี๋ยวจะเยอะไป) แล้วก็แยกว่า “ชิ้นไหนจำเป็น และชิ้นไหนไม่จำเป็น”

นิยมของคำว่าจำเป็นคือ “จำเป็นต่อการดำรงชีวิตหรือมีคุณค่าทางจิตใจมาก” เช่น บ้าน รถ หรือ แหวนแต่งงานที่ตกทอดมาจากรุ่นทวด ส่วนที่ไม่จำเป็นก็อาจจะเช่น กระเป๋าแบรนด์เนม ทองคำ แหวนเพชร แยกมันออกจากกันให้ชัดเจน

ใช้เวลาให้เต็มที่เพราะขั้นตอนนี้ช่วงแรกจะมีคำว่า “เสียดาย” ผุดขึ้นมาเต็ม แต่พอผ่านไปได้แป๊บนึงเราก็จะกล้าตัดใจมากขึ้นและเริ่มรู้ว่าอะไรจำเป็นอะไรไม่จำเป็นจริง ๆ

แล้วก็คำนวณว่ามูลค่าของสิ่งที่ไม่จำเป็นแต่ละชิ้นว่าสามารถเปลี่ยนแนวทางชีวิตได้มั้ย บางชิ้นถ้าขายออกไปแล้วโปะก้อนหนี้ดอกเบี้ยสูงได้เลยก็ขายเลยเพราะการลดภาระดอกเบี้ยได้นี่ช่วยชีวิตได้มาก ๆ ลุยคณิตศาสตร์กดเครื่องคิดเลขให้เต็มที่แล้ววางแผนเลยว่าถ้าขายชิ้นนี้ได้จะทำอะไรได้ จะลดภาระได้เท่าไหร่ แล้วใจจะชื้นขึ้นมากกกกก

การวางแผนก็จะมีความท้าทายทางด้านจิตใจหละ แต่ความท้าทายในการปฏิบัติจะอยู่ในขั้นตอนถัดไป “ขาย”

อุปสรรคนึงที่เจอเลยคือ ของที่จะขายนั้นขายออกยากมากกกกก ไม่ได้เป็นไปตามที่เราวางแผนนักหรอก ดังนั้นเผื่อไว้เลยว่าการขายจะต้องใช้เวลา ก็หาเทคนิคกันไปตามสไตล์แต่ละคนและตามรูปแบบของแต่ละชิ้น

และบางชิ้นอาจจะขายไม่ได้เลย ก็เรียนรู้ไว้ว่านี่แหละ ทรัพย์สินที่เราแยกไว้แต่แรกว่ามันเป็นของมีค่าสุดท้ายก็ไม่ได้มีค่าอะไร ไม่มีใครอยากได้เลยด้วยซ้ำ ความเข้าใจตรงนี้จะส่งผลให้เราซื้อของระวังขึ้นในอนาคต

กฎนึงที่อยากจะให้ระวังไว้คือ “อย่าเปลี่ยนทรัพย์สินเป็นหนี้” หรือพูดแบบตรงไปตรงมา ... อย่าเอาไปเข้าโรงรับจำนำาาาา เพราะจะปลดหนี้ได้เราต้องลดภาระดอกเบี้ยลงให้ได้ แต่การเอาเข้าโรงรับจำนำคือได้หนี้เพิ่ม ได้ดอกเบี้ยเพิ่ม สุดท้ายไม่มีอะไรคุ้มเลย

ก็ยกเว้นกรณีจำเป็นต้องใช้เงินด่วนจริง ๆ เช่น คนในบ้านป่วยหนักต้องจ่ายค่ารักษา ก็อาจจะทำได้ แต่ให้มองไว้ตั้งแต่ตอนเข้าโรงรับจำนำไว้เลยว่าจะปล่อยหลุด หลังจากนั้นจะพยุงหรือจะวางแผนยังไงก็อีกที (แต่ควรทำให้เร็วที่สุด)

เรื่องหนี้โรงรับจำนำนี่ไม่เหมือนหนี้บัตรเครดิตด้วย ถึงดอกเบี้ยจะถูกกว่าบัตรเครดิต แต่ในแง่ของการประนอมหนี้ไม่มีนะ หลุดคือหลุด บางคนกว่าจะรู้ตัวคือเสียดอกเบี้ยไปเกินค่าทรัพย์สินละก็มี ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวที่ต้องระมัดระวังมาก

ถ้ามีโอกาสได้ทำตามคำแนะนำนี้ คุณจะได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างเลย เรียนรู้ว่าอะไรที่แท้จริงแล้วจำเป็นหรือไม่จำเป็น อะไรที่มีค่าหรือไม่มีค่า บางคนเรียนรู้ถึงการละกิเลสไปยาว ๆ เลยด้วยซ้ำ

ประโยคของปู่บัฟเฟตที่ว่า “หากคุณใช้เงินสดในการซื้อของที่ไม่จำเป็น สุดท้ายคุณอาจจะต้องขายของที่จำเป็นเพื่อนำเงินมาประทังชีวิต” นั้นจริงและเห็นด้วยอย่างยิ่งมาก แต่ขอเสริมว่าไม่ใช่แค่การซื้อของใหม่นะแต่รวมถึงทรัพย์สมบัติที่เราถืออยู่เดิมด้วย ในสภาวะเป็นหนี้แล้ว “หากคุณครอบครองแต่ของไม่จำเป็น สุดท้ายคุณก็จะต้องขายของจำเป็นเพื่อประทังชีวิต”

หากไม่รู้จักขาย ไม่รู้จักตัดใจและเลิกยึดติด สุดท้ายแล้วของมีค่าที่คุณหวงนักหวงหนาก็จะไม่เหลือสักชิ้นอยู่ดีตอนที่ถูกยึดทรัพย์ทุกอย่างไปหมดแล้ว

ก็เป็นเช่นนั้นแล

บันทึกการปลดหนี้ #10: “ไม่เลือกงาน เตรียมล่มจม”

คงเคยได้ยินคำที่ใครก็ไม่รู้บอกไว้ว่า ไม่เลือกงาน ไม่ยากจน เป็นอีกคำที่ฟังดูสวยหรู แต่สามารถบอกไว้ตรงนี้ได้เลยว่า ตลอดสิบปีที่ผ่านมา ถ้าเราไม่เลือกงานป่านนี้เราน่าจะไม่มีบ้านอยู่ละ

ไม่เลือกงานไม่ยากจนนั้นจริงแค่เสี้ยวเดียวเท่านั้น พอจะใช้กับบริบทที่คนผู้นั้นไม่มีภาระทางการเงินอะไรแบบใช้ชีวิตไปวัน ๆ ประคองตัวเองไปได้เรื่อย ๆ ได้อยู่บ้าง กรณีนี้ทำงานแบบไม่เลือกได้ แต่ก็อีกนั่นแหละ ไม่ได้แปลว่าจะไม่ยากจน พลาดมางานเดียวหรือทำงานมั่วซั่วไปสักงาน ชีวิตก็อาจจะล่มสลายได้เลย

ยิ่งกับคนมีหนี้บานจนต้องทำงานแข่งกับดอกเบี้ย หากทำงานไม่เลือกไม่มีแผนการนี่เตรียมล่มจมได้เลย

สาเหตุก็เพราะหากเราย้อนกลับไปก่อนหน้านี้สองสามหัวข้อ เราพูดถึงไว้ว่าสิ่งที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินได้คือ “เวลา” และยิ่งเราทำให้เวลาของเรามีค่ามากเท่าไหร่ ผลลัพธ์ก็จะยิ่งออกมาดีมากเท่านั้น ตรงกันข้าม หากใช้เวลาไปกับสิ่งไม่มีค่า ทำงานแทบตายแต่ไม่ได้อะไร เวลามันจะไร้ค่ามากและไม่มีทางหาเงินมาสู้หนี้ได้เลย

มันถึงมีวลีที่ว่า ทำงานผิดที่ สิบปีก็ไม่รวย เกิดขึ้นมาไง

เวลามีงานเข้ามา เราต้องมองมันให้เป็น “การลงทุน” คำถามก็คือ เราจะลงทุนเวลาเรากับอะไร หากมีโอกาสเข้ามาพร้อม ๆ กัน ก็ต้องเลือกโอกาสที่ดีที่สุดทั้งสำหรับตอนนี้และอนาคตยาว ๆ แต่ถ้ามีโอกาสเข้ามาไม่มาก ก็ต้องพิจารณาว่าถ้าคว้าไว้เราจะสู้หนี้ได้มั้ยหรือจะมีข้อเสียอะไรตามมามั้ย (เช่นเสียโอกาสหากมีโอกาสใหม่ ๆ เข้ามา หรืออาจโดนโกงจนหนี้งอกได้) แล้วก็เลือกเอาว่าจะรับงานมั้ย

ส่วนคนที่บอกว่างั้นไม่เลือกสักโอกาสดีกว่า ... แล้วมันเรียกว่าการลงทุนตรงหนายยยย มันเรียกว่าเอาเวลาไปทิ้งงงง ดังนั้นเลือกเอาสักโอกาสนึงแค่มองให้ยาว ๆ ด้วย

หลักการเลือกงานของเราคือ

- เงินที่หาได้พอจะประคับประคองชีวิตและสู้ดอกได้มั้ย

- หลังงานเสร็จจะมีอะไรตามมายาวจนเราต้องเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์รึเปล่า (เช่น Maintainence) หรือถ้ามีก็ต้องคิดค่า M/A ให้เป็นด้วย

- ตัวงานมีอนาคตมั้ย มีโอกาสให้เราไต่เต้าไปยังจุดที่ได้เงินเยอะขึ้นจนปิดหนี้ได้ในอนาคตรึเปล่า เช่น งานนึงทำที่ไทย สัญญา 1 ปี ได้ 20 ล้าน แต่ถ้าได้ Offer งานที่เมกาได้เงินปีละ 10 ล้านแต่จ้างยาวแถมมีโอกาสที่จะขยับเป็นปีละ 15 ล้านอย่างมั่นคงในปีสองปี ก็ควรเลือกอันหลัง

ก็อย่างที่เห็น ปัจจัยมันมีทั้งปัจจุบันและอนาคต คำนวณโอกาส ค่าของเวลา รวมถึงความเสี่ยงไว้ให้เรียบร้อย เสร็จแล้วก็เลือกมาโอกาสนึงที่คุ้มค่าที่สุดต่อทั้งระยะสั้นและระยะยาวแล้วก็ลุยให้เต็มที่เลยยยย

ข้อเสียของการรับงานไม่เลือกนี่มีให้เห็นเยอะมาก ระวังไว้ให้ดี คนฉกฉวยโอกาสมีอยู่เยอะ หากหลงติดกับ นอกจากจะไม่ได้เงินแล้ว อาจจะหมดตัวไปจนถึงล้มละลายได้เลยจากการรับงานพลาดงานเดียว

กฎนี้ประยุกต์ใช้ได้หมดกับคนทุกฐานะ จะจนหนี้ท่วมหรือพอหายใจหายคอได้แล้ว เราต้องเลือกใช้เวลาอย่างคุ้มค่าที่สุดเสมอ

สังเกตดูว่าจนถึงตอนนี้เราไม่ได้พูดถึงงานสบายหรืองานหนักเลย พูดถึงแต่งานนั้นสร้างผลลัพธ์ออกมาทางการเงินและอนาคตดีแค่ไหนล้วน ๆ ถ้าโอกาสนั้นดีแต่งานหนักมากก็อย่ากลัว สุดท้ายแล้วคนที่ไม่สู้งานก็พ่ายแพ้ต่อคนขยันอยู่ดี ดังนั้น ... ถึงงานหนักแต่หากร่างไหวและอนาคตไกลก็ทำไปเถอะ แค่คิดให้รอบคอบก็พอ (เช่น ถ้าหนักเกินไปจนล้มป่วยค่ารักษาแพงกว่ารายได้นี่ก็ไม่ควร)

งานหนักไม่ใช่งานที่น่ากลัว งานที่น่ากลัวจริง ๆ คืองานที่ไม่มีอนาคตต่างหาก

บันทึกการปลดหนี้ #11: “ลงทุนกับสุขภาพเยอะ ๆ”

จะเห็นว่าในหลาย ๆ โพสต์ก่อนหน้าเราเน้นย้ำเรื่อง “เวลา” ถือเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้น ๆ เพราะถ้าไม่มีเวลาก็ไม่มีทางหาเงินมาปลดหนี้ได้ และเชื่อหรือไม่ว่าชีวิตนี้มีหลายสิ่งมากที่ส่งผลกระทบต่อเวลาของเราได้เยอะมาก อย่างหนึ่งที่อยากจะเน้นในโพสต์นี้คือ “สุขภาพ”

“เวลา” และ “สุขภาพ” เป็นสองสิ่งที่เกี่ยวข้องกันโดยตรง ยังไงหนะหรอ ก็ถ้าใช้เวลาอย่างหักโหมไม่รู้จักพักผ่อน ปัญหาสุขภาพก็จะตามมา และถ้าสุขภาพย่ำแย่ ปัญหาด้านเวลาก็จะตามมาเพราะต้องรักษาตัว แถมพ่วงด้วยปัญหาการเงินอีกเพราะต้องใช้เงินรักษา

คงได้ยินคำว่า ทำงานหาเงินเอาเงินไปหาหมอ นี่แหละ หนึ่งในลูปนรกของชีวิตคนติดหนี้หละ

ชีวิตนี้ลองมาหลายแบบ มีตั้งแต่ทำงานหักโหมสิ้นสติ นอนวันเว้นวันเป็นปี ๆ (วันเว้นวันจริง ๆ นะ) ไปจนถึงควบคุมเวลาทำงานและพักผ่อนให้เพียงพอ สองสิ่งนี้ส่งผลต่อสุขภาพชัดเจนโดยไม่ต้องบอกเนอะว่าอันไหนสุขภาพดีกว่ากัน

ในช่วงทำงานหักโหม ทำงานรวด 40 ชั่วโมงนอน 8 ชั่วโมง พบว่าเหมือนจะรู้สึกดีว่าเราขยันจุงเบยยย แต่พอมาคำนวณพบว่างานที่ได้ออกมานั้นไร้ประสิทธิภาพมาก ปริมาณก็ไม่ได้ คุณภาพก็ไม่ได้ เพราะเราฝืนร่างกายมากจนเกินไป แถมพอทำงานไปได้พักนึงก็จะล้มป่วย ทำงานไม่ได้ไปเป็นสัปดาห์แถมเสียค่ารักษาอีก เสียทั้งเงินทั้งเวลา

ในขณะที่ช่วงสุขภาพดี ทำงานวันละ 10 ชั่วโมง นอน 8 ชั่วโมง พักเล่น 6 ชั่วโมง พบว่าถึงชั่วโมงทำงานจะน้อยกว่าแต่กลับทำงานได้ประสิทธิภาพดีกว่ามหาศาล แถมที่สำคัญแทบไม่มีวันล้มป่วยเลย ชีวิตดีมาก ดีทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต ประหยัดได้ทั้งเงินและเวลา ดีกว่าด้วยประการทั้งปวง

ยิ่งช่วงออกกำลังกายนี่ทำงานได้ประสิทธิภาพสูงขึ้นไปอีก แนะนำว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากเลยนะการออกกำลังกาย อยากให้หาเวลาทำกัน

ดังนั้นอย่างแรกเลยคือ อยากให้ลงทุนกับสุขภาพเยอะ ๆ รู้จักออกกำลังกายและรู้จัก Balance การทำงานและการพักผ่อนออกอย่างเหมาะสม ไม่อยากให้มองการพักผ่อน(ที่เหมาะสม)เป็นความขี้เกียจ แต่จริง ๆ แล้ว “การพักผ่อนคือส่วนหนึ่งของการทำงาน” อย่างที่บอกไปข้างต้นว่ามันส่งผลต่อประสิทธิภาพงานแค่ไหน และแน่นอน ส่งผลต่อเงินที่หาได้และเก็บได้ด้วย !

พิสูจน์มาแล้วจากลองผิดลองถูกจากการทำงานกว่า 20 ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม มนุษย์นะไม่ใช่ซุปเปอร์แมน ถึงจะพักผ่อนเพียงพอแค่ไหน วันดีคืนดีก็อาจจะล้มป่วยได้อยู่ดี ไม่ว่าจะจากเชื้อโรคอันแสนสตรองหรือจากอุบัติเหตุก็ตาม คิดไว้เลยว่าปีนึงจะป่วย 15-30 วัน และวางแผนการเงินการงานไว้เผื่อสถานการณ์แบบนี้ด้วย

ในทางการเงินก็คือสำรองเงินไว้เสมอเผื่อกรณีเจ็บไข้ได้ป่วย เราจะได้สามารถใช้ชีวิตอยู่ต่อได้แบบไม่ต้องทำงานสักเดือนนึง เพราะนี่เคยมาแล้วที่ป่วยด้วยและต้องทำงานหาเงินด้วย พักไม่ได้แม้แต่วันเดียว บอกเลยว่านั่งร้องไห้ทุกคืนจ้าาาา แต่นั่นเพราะไม่มีการวางแผนที่ดี พอวางแผนเป็นแล้วก็ไม่มีอะไรละ

อันนี้ใช้ได้กับทุกฐานะนะแต่ต้องประกอบกับเทคนิคอื่น ๆ ที่เคยเขียนมา เช่น การประนอมหนี้ การลดค่าใช้จ่าย การขายทรัพย์สินไม่จำเป็น การล้มละลาย ฯลฯ ถ้าจนมากแล้วบอกว่าแค่หาเงินเดือนชนเดือนได้ก็ลำบากแล้ว เราเข้าใจดี พยายามลดค่าใช้จ่ายทุกวิถีทางและสะสมเงินสำรองสำหรับสักหนึ่งเดือนให้ได้ แล้วเก็บไว้ห้ามแตะต้อง จากนั้นก็เดือนชนเดือนต่อได้ถ้าไม่ไหว (แต่ถ้าไหวก็สะสมอีกสักหน่อยก็ดี) ส่วนคนที่ฐานะดีขึ้นมาหน่อยก็คงไม่มีปัญหาอะไรเรื่องสำรองเงิน แต่มันสำคัญนะ อย่าลืมสำรองเงินเพื่อสุขภาพเสมอ

สำหรับโรคภัยไข้เจ็บเบา ๆ ก็ไม่มีปัญหาอะไรหรอก แต่ถ้าเป็นโรคที่ใหญ่โตมาก เช่น มะเร็ง ถ้าสถานการณ์ทางการเงินไม่ดีอยู่แล้วคือชีวิตคือจบเลยนะพูดกันตามตรง ดังนั้นสิ่งที่แนะนำมาก ๆ สำหรับคนทำงานทุกคนคือ

“ซื้อประกันสุขภาพไว้ด้วย”

สำหรับคนที่ร่างกายดูแข็งแรงดีมักจะมองว่าประกันสุขภาพเป็นการเปลืองตังค์ แต่พอป่วยขึ้นมาแล้วจะมานั่งคิดว่าทำไมเราไม่สมัครประกันไว้นะ คงประหยัดเงิน(และเวลา)ได้มากกว่านี้มาก แต่กว่าจะรู้ตัวก็สายไปเสียแล้ว

อย่างบ้านเราพ่อแม่ก็ไม่ได้สมัครประกันไว้ ทุกวันนี้ค่าใช้จ่ายเกินครึ่งคือค่ารักษาพยาบาล ซึ่งก็ทำอะไรไม่ได้แล้วเพราะแก่แล้ว

ดังนั้นแนะนำเลยว่าถ้าอายุยังไม่เยอะก็ควรเริ่มซื้อประกันไว้เลย ราว 20 ต้น ๆ ก็ซื้อได้ละ แล้วก็ต่ออายุไปเรื่อย ๆ เบี้ยตอนอายุเยอะจะไม่สูงมาก โดยการซื้อก็ซื้อให้เหมาะกับฐานะ ถ้ายังจนมากก็ซื้อแบบถูกสุดไป เดือนละไม่กี่ร้อยบาท คุ้มครองแสนสองแสนก็ว่าไป หรือถ้ามีฐานะมาระดับนึง เวลามีค่าเยอะขึ้นก็ซื้อแพลนที่แพงขึ้นไปได้ ลองตัดสินใจดู

การซื้อประกันสุขภาพคือการทำเพื่อตัวเอง แต่ชีวิตไม่มีความแน่นอน เราอาจจะเสียชีวิตเมื่อไหร่ก็ได้ใครจะไปรู้ และในสัจธรรมของโลกนี้ คนที่ตายจริง ๆ คือสบายแล้ว แต่คนที่ยังอยู่ต่างหากที่ลำบาก สุดท้ายคนที่อยู่ข้างหลังอาจจะไม่เหลืออะไรโดยเฉพาะถ้าคนที่จากไปเป็นหัวหน้าครอบครัว ดังนั้นจึงแนะนำให้ซื้อประกันอีกอย่างด้วย

ประกันชีวิต

ประกันชีวิตเป็นการทำเพื่อคนข้างหลัง จะพ่อแม่พี่น้องลูกเมียอะไรก็ได้ เราจะได้จากไปอย่างสบายใจ

ถ้าทำทุกอย่างครบแล้วก็ถือว่าเป็นการลงทุนทางสุขภาพที่ครบถ้วนแล้ว จากนี้ก็จะได้ลุยงานได้อย่างไม่มีปัญหา ความเครียดความกังวลลดลง นอนหลับได้อย่างสบายใจ และถ้าถึงเวลาต้องตายก็จะตายได้อย่างสงบอีกด้วย

เย้ !

บันทึกการปลดหนี้ #12: “เริ่มบริหารสัดส่วนการจ่ายหนี้ได้ ปฏิบัติ !”

หัวข้อก่อนหน้าทั้งหมดเป็นการปรับวิธีคิดและการบริหารเพื่อที่จะได้สามารถสร้างแผนการชำระหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะอย่างที่บอกไว้ตั้งแต่แรก การจะปลดหนี้ได้มันเป็นเรื่องของการบริหารและความรู้ทางด้านการเงิน ดังนั้น 90% ของแรงที่ลงไปจะอยู่กับการวางแผนนี่แหละ ถ้าไม่มีการวางแผนที่ดียังไงก็ไม่มีทางปลดหนี้ได้หมด

และถ้าเข้าใจและทำตามสิ่งที่เขียนไว้ด้านบนจนหมดแล้ว ตอนนี้เราเชื่อว่าคุณน่าจะมีข้อมูลที่สำคัญทั้งหมดในมือ พร้อมกับความเข้าใจทุกอย่างในหัวแล้ว จุดนี้คุณก็พร้อมจะเริ่มชำระหนี้ได้แล้ว !

เอาข้อมูลทั้งหมดที่รวบรวมมาได้ เอามาสร้างเป็น Spreadsheet เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ก้อนไหนยอดเท่าไหร่ ดอกเบี้ยเท่าไหร่ กี่เดือนกี่ปีจ่ายหมด ฯลฯ ทำให้เข้าใจทุกอย่างจากการมองแว้บเดียวให้ได้ (หากคิดฟอร์แมตดี ๆ ไม่ออก ลองไปหา Framework ที่เค้าใช้ ๆ กันมาลองก็ได้ แต่ขอไม่เขียนในนี้เพราะมันจะยาว อาจต้องลองหาอ่านเป็นบทความ ๆ ไป)

จากนั้นก็จะเห็นภาพละว่าจะทำอะไรต่อ หนี้ก้อนไหนจะประนอมหนี้ก็ลุยได้เลย หนี้ก้อนไหนจะ Hair Cut ก็เตรียมดำเนินการเลย หรือถ้าจะ Refinance ก็จัดการให้เรียบร้อย จากนั้นก็แบ่งสรรปันส่วนรายได้ที่ได้มา ต้องสำรองเท่าไหร่ ต้องออมเท่าไหร่ ค่าใช้จ่ายจำเป็นเท่าไหร่ ฯลฯ ลิสต์ทุกอย่างออกมาเป็นสิ่งที่จับต้องได้ให้ได้

สุดท้ายลิสต์ของหนี้จะดูง่ายลงเยอะมากและเข้าใจง่ายขึ้นสุด ๆ เหมือนอ่านการ์ตูนเลยทีเดียว ด้วยข้อมูลและตัวเลขทุกอย่างที่มี คุณก็จะเห็นละว่าเราสามารถบริหารเงินแต่ละเดือนยังไง

ณ จุดนี้หากมีหนี้ก้อนไหนที่คุณจะปิดโดยไม่ต้องประนอมหนี้ คุณก็สามารถเริ่มชำระหนี้ได้ทันที โดยขอให้เริ่มจากก้อนที่ดอกเบี้ยสูงสุดก่อน หากมีกำลังทรัพย์ก็โปะได้ ส่วนก้อนไหนดอกเบี้ยต่ำก็จ่ายขั้นต่ำไปก่อนเพื่อไม่ให้ผิดนัดชำระหนี้

โฟกัสไปที่ก้อนเดียวก่อนก็ดีเพราะทันทีที่คุณปิดยอดนั้นได้ คุณจะได้กลับมาสองอย่างในทันที

1) ค่าใช้จ่ายที่ลดลงทันทีเพราะไม่ต้องผ่อนชำระอีกต่อไป

2) กำลังใจว่าเราทำได้และพร้อมจะทำต่อไป

หากคุณทำทุกอย่างอย่างถูกต้อง คุณน่าจะเห็นผลลัพธ์ที่แตกต่างออกไปทันทีภายใน 1 ปี หนี้ที่อาจไม่เคยลดลงเลยก็อาจจะลดฮวบ ๆ ๆ ๆ จนหมดในเวลาอันสั้น เป็นกำลังใจให้ครับ

บันทึกการปลดหนี้ #13: “อย่าค้ำประกันใคร แม้แต่คนในครอบครัวตัวเองก็ตาม”

ตั้งแต่ส่วนนี้เป็นต้นไปจะเป็น Part ปิดท้ายคือการปรับเปลี่ยนชีวิตเพื่อไม่ให้เกิดหนี้ขึ้นมาอีกได้ในอนาคต

อย่างนึงที่เราจะเตือนทุกคนตลอดและก็อยากจะเขียนไว้ ณ ตรงนี้ด้วยเช่นกัน

อย่าเซ็นค้ำประกันใครเป็นอันขาด แม้เค้าจะเป็นคนสนิทสุด ๆ หรือเป็นพ่อแม่พี่น้อง ก็ห้ามเซ็น

เพราะการค้ำประกันคือการเอาชีวิตเราไปฝากไว้กับความไม่แน่นอนของคนอื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดและไม่ควรทำมาก ๆ ใครจะบอกว่าเห็นแก่ตัวก็ได้ ยอมโดนด่าดีกว่ามานั่งใช้ชีวิตที่เหลือไปกับการใช้หนี้ของคนอื่นไปจนตายนะ เชื่อสิ

อย่างที่เกริ่นไว้ตั้งแต่ตอนแรกว่าชีวิตเราเจอหนี้มาจนถึงตอนนี้ก็เพราะเรื่องของการค้ำประกันนี่แหละ เราเลยรู้ซึ้งถึงเรื่องนี้ดี และไม่อยากให้ใครต้องมาเจออะไรแบบเดียวกันอีก

มีคนอื่นให้เรียนรู้ก็ดีแล้ว อย่าเจ็บด้วยตัวเองเลยเน้อ

บันทึกการปลดหนี้ #14: “คบเพื่อนที่เข้าใจสถานะทางการเงินเป็นอย่างดี”

หลายครั้งที่อยากไปเจอเพื่อนบ้าง ก็เลยตอบรับการไปกินข้าวหรือไปเที่ยว ปรากฎว่าเงินหายไปครึ่งนึงของชีวิต ลำบากไปอีกหลายเดือน ในขณะที่มันเป็นแค่เศษเงินของเพื่อนเท่านั้น

ถือเป็นเรื่องที่เจ็บปวดสำหรับคนจน ๆ อย่างเราที่พออยากจะคบเพื่อนก็ทำได้ยากเพราะไม่มีเงินไปทำกิจกรรมอะไรเท่าไหร่ กินข้าวในร้านอาหารหรู ๆ ก็ไม่ไหว ไปเที่ยวต่างจังหวัดก็ไม่ต้องพูดถึง ไม่มีเงินไปหรอก

แต่ก็มีบางทีที่ยอมไป แล้วผลสุดท้ายคือน้ำตาเพราะเงินหมด ...

พอเริ่มปฏิเสธการไปกินข้าวหรือไปเที่ยว เพื่อนก็ทยอยหายหน้าหายตา

สุดท้ายจึงเข้าใจความจริงที่ว่า เราควรต้องคบกับสังคมเพื่อนที่เหมาะสมกับฐานะเราด้วย ไม่ได้แปลว่าคนจนต้องคบกับคนจน แต่ด้วยข้อจำกัดทางการเงิน เราควรจะคบกับคนที่เข้าใจสถานะทางการเงินเป็นอย่างดีและสามารถคบกับเราต่อได้แม้เราไม่มีตังค์

ไม่ได้แปลว่าให้เค้าเลี้ยงนะ แต่เพื่อนจะต้องเข้าใจข้อจำกัดด้านนี้และไม่ทำให้มันกระทบความเป็นเพื่อน เช่น ไปกินข้าวร้านข้างทาง ไปเที่ยวแบบไม่ต้องหรูมาก หากเจอเพื่อนที่เข้าใจคุณแบบนี้แล้วให้คบกันไว้นาน ๆ เพราะเค้ากำลังพาคุณไปสู่ความเจริญของชีวิต ในขณะเดียวกัน หากคบเพื่อนแล้วหมดตัว ก็ควรจะพิจารณาเช่นกันว่าควรจะคบต่อไปมั้ย หรือควรจะทำอย่างไร

บันทึกการปลดหนี้ #15: “ห้ามกู้นอกระบบเป็นอันขาด”

การกู้นอกระบบเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทย เพราะมันตามมาด้วยดอกเบี้ยที่ไม่มีจำกัด ไม่มีทางปลดหนี้ได้หมด แถมอาจจะอันตรายถึงชีวิตได้เลยหากเลยเถิด

โครงสร้างของประเทศไทยที่หนี้ท่วมและคนจนเต็มประเทศ แต่คนก็ต้องกินต้องใช้อ่ะนะ ครั้นจะไปกู้เงินในระบบอย่างเช่นธนาคาร เครดิตคนที่จนอยู่แล้วก็ไม่มีพอจะไปกู้หรอก อย่างมากก็เอาสินทรัพย์ไปแลกเปลี่ยนเป็นเงิน เช่น เอารถไปค้ำแลกเงิน เอาบ้านไปค้ำแลกเงิน แต่สุดท้ายก็จะไม่เหลืออะไรให้ค้ำอีกต่อไป ทางเลือกสุดท้ายก็เลยเป็น ...

การกู้นอกระบบ

การกู้นอกระบบก็บอกอยู่แล้วว่าไม่มีอะไรควบคุมได้ ดังนั้นดอกเบี้ยก็จะไม่ถูกจำกัดตามที่แบงก์ชาติกำหนด ผู้ให้กู้สามารถเปลี่ยนเงื่อนไขได้ตลอดเวลาไม่ว่าจะเพื่อเอาเงินเพื่อหรือกลั่นแกล้ง บางคนกู้หมื่นเดียวแต่จ่ายดอกเป็นแสนก็มี อาจจะมีบ้างที่ทุกอย่างทำออกมาดีและมีจริยธรรม แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ความเสี่ยงที่จะเจอคนที่แย่นั้นสูงมาก คำว่าแย่ตรงนี้ไม่ได้แค่เรื่องของดอกเบี้ยนะ แต่รวมไปถึงการทวงหนี้ที่อาจถึงกับทำร้ายและเอาชีวิตกันได้เลยทีเดียว

การกู้นอกระบบนั้นถือเป็นสิ่งที่เลวร้ายมากจนไม่ควรจะยุ่งเกี่ยวด้วยประการทั้งปวง หากถึงจุดที่ชีวิตถึงทางตันแล้วจริง ๆ ควรจะหาหนทางในระบบเพื่อไปต่อมากกว่า หากไม่มีความรู้ทางด้านนี้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ทางออกจะสวยงามกว่าเสมอครับ

บันทึกการปลดหนี้ #16: “บัตรเครดิตโปะบัตรเครดิตคือบาป”

ไม่คิดว่าจะมีคนทำ แต่มันก็มีคนทำจริง ๆ ที่ไปเปิดบัตรเครดิตใหม่เพื่อกดเงินไปจ่ายบัตรเครดิตใบเก่า ... ซึ่งมันผิดทุกอย่าง ทุกอย่างจริง ๆ

หากอ่านมาถึงตรงนี้ ทุกคนน่าจะเข้าใจเรื่องระบบดอกเบี้ยเป็นอย่างดีแล้ว และก็ทำให้รู้ว่าหนี้ที่ดอกเบี้ยสูงนั้นแย่กว่าหนี้ดอกเบี้ยต่ำเกือบจะเสมอ ๆ

และถึงจะไม่บอกแต่ก็น่าจะประยุกต์ความรู้ต่อได้ทันทีว่า การกดเงินจากบัตรเครดิตใบนึงเพื่อไปชำระหนี้นอีกใบนึงนั้นเป็นการเพิ่มดอกเบี้ยซึ่งส่งผลให้หนี้มุ่งไปในทางที่แย่ลง ไม่ใช่ดีขึ้น

เพราะว่าการกดเงินจากบัตรเครดิตนั้นจะมีค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยที่สูงกว่าการรูดซื้อปกติมาก นอกจากหนี้ไม่ลดลงแล้วมันยังจะเพิ่มขึ้นอีกด้วยนะ

เชื่อว่าถ้าใครอ่านมาถึงตรงนี้ก็ไม่คิดจะทำตั้งแต่แรกอยู่แล้ว แต่ก็อยากจะเขียนเน้นย้ำไว้ว่า

การเอาบัตรเครดิตใบนึงไปโปะอีกใบนั้นมันบาปมาก !

บันทึกการปลดหนี้ #17: “หากมีงานรายได้สูงมา คว้าเลยอย่ารีรอ”

บางทีงานที่เข้ามาอาจจะไม่ได้สร้างความสุขให้เราแบบ 100% แต่ถ้าสามารถสร้างเงินเพื่อปลดหนี้ได้เร็วขึ้นโดยไม่มีผลเสียอื่น ก็คว้าไว้ ค่อยตามความฝันทีหลัง

คำสาปของความจนคือเราจะต้องอยู่กับความทุกข์ตลอดเวลา ทุกข์ที่ต้องมานั่งคิดว่าเมื่อไหร่จะใช้หนี้หมด เมื่อไหร่จะมีชีวิตเป็นของตัวเอง ทุกข์ว่าพรุ่งนี้จะเอาอะไรกิน

ยังไงก็ทุกข์

ดังนั้นหากมีงานรายได้สูงเข้ามา ถึงแม้จะเป็นงานที่เราไม่ชอบ งานที่เราทำแล้วทุกข์สักนิดนึง ก็อาจจะต้องลองบริหารความทุกข์ดูว่าทุกข์จากหนี้หรือทุกข์จากงานอันนี้ อันไหนมากกว่ากัน หากพบว่าทำงานทุกข์น้อยกว่าแต่ได้เงินกลับมาเยอะมากพอจะปิดหนี้ได้ ก็ทำสิ อย่าไปรอช้า

อ้อ อย่าลืมคิดหน้าคิดหลังให้ดีด้วยก่อนจะรับงานถึงผลกระทบระยะยาว เช่น งานได้รายได้สูงแต่จะต้องทนทุกข์ไปอีก 40 ปี อันนี้ก็ไม่เอา หรืองานผิดกฎหมาย ทำไปแล้วติดคุก อันนี้ก็ไม่เอาเช่นกัน

ก็ลองบริหารให้ดี หัวข้อนี้อยากให้เห็นว่าบางทีการ Sacrifice บางอย่างได้แล้วหนี้จบเร็วขึ้น ก็ควร Sacrifice ไป (ถ้าไม่ส่งผลเสียระยะยาวอ่ะนะ)

เมื่อหนี้หมดหรือลดลง จะมาวิ่งตามความฝันตอนหลังก็ยังไม่สายน้อ

บันทึกการปลดหนี้ #18: “ศึกษาหาความรู้เรื่องการลงทุนและบริหาร Wealth อย่างต่อเนื่อง”

ที่เขียนจากต้นจนถึงตอนนี้เราเน้นพูดถึงแต่เรื่องของการบริหารและการจัดการเงินอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งความจริงก็เพียงพอแล้วสำหรับบุคคลทั่วไปที่จะจัดการหนี้ให้หมดไปจากชีวิตแต่มีอีกอย่างนึงที่ถ้าทำได้ ชีวิตจะดีขึ้นไปอีกระดับนึงเลย หนี้อาจจะลดลงเร็วขึ้นด้วย นั่นคือ "การลงทุน"

ในโลกทุนนิยมมันคือการเอาเงินต่อเงิน ถ้าไม่มีเงินมันก็ยากที่จะสร้างเงินก้อนใหม่ขึ้นมาได้ ตรงกันข้าม คนที่มีเงินอยู่แล้วก็จะรวยขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยเหตุผลเดียวกัน

อย่างที่บอกตั้งแต่ต้นว่าเรายังไม่ชำระหนี้คืนทั้งหมดทั้ง ๆ ที่มีเงินพอแล้วที่จะจ่าย นั่นมันมีสาเหตุ ก็เพราะว่าโลกแห่งการเงิน เงินก้อนเดียวกันสามารถก่อกำเนิดได้ทั้งรายได้และรายจ่าย

การติดหนี้แล้วก็ต้องเสียดอกเบี้ยไปเรื่อย ๆ มันคือการทำให้เงินเกิดรายจ่าย แต่มันก็มีวิธีทำให้เกิดรายได้เช่นกันนะ การลงทุนยังไงหละ

หากเราสามารถหารายได้จากเงินก้อนนั้นได้มากกว่าดอกเบี้ยที่เสียไป เช่น เงิน 10,000 บาท หากติดหนี้อยู่จะเสียดอกเบี้ยเดือนละ 150 บาท แต่หากเอาไปลงทุนแล้วได้เดือนละ 300 บาท ก็เอาไปลงทุนสิ จะรีบใช้หนี้ทำไม

ไม่ได้บอกว่าไม่ให้ใช้หนี้นะ แต่ถ้ารีบใช้แล้วจะไม่มีเงินเพื่อต่อเงินอีก ตรงกันข้าม ถ้าเงินมันงอกขึ้น เราก็จะต่อเงินไปได้อีก สุดท้ายเจ้าหนี้ก็แฮปปี้ เราก็แฮปปี้ Win-Win เถอะ

แต่การจะทำตรงนี้ได้ เราจะต้องมีองค์ความรู้ของการลงทุน ซึ่งเอาจริง ๆ ... มันยากนะ แต่อยากให้ศึกษาไว้ และแบ่งเงินเอาไว้ลงทุนสักนิดสักหน่อย ช่วงแรก ๆ อาจจะเสียเงินแต่ก็จะได้ความรู้ จนถึงวันนึงเมื่อความรู้พร้อม ทุกอย่างมันจะง่ายขึ้น แต่ถ้าไม่ลงมือศึกษาหรือทำอะไรเลย มันก็จะไม่มีวันนั้นแน่นอน

นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงเขียนไว้เป็นหัวข้อสุดท้าย เพราะไม่ใช่ทุกคนที่สามารถประสบความสำเร็จจากการลงทุนได้ บางทีลงไป 10,000 บาท จบปีอาจจะเหลือแค่ 9,000 บาท รายได้ก็ไม่ได้ เงินลดลงอีกต่างหาก ดอกเบี้ยหนี้ก็ต้องเสีย สุดท้ายอาจจะยืดเวลาชำระหนี้ออกไปอีกด้วยซ้ำ แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลที่เราจะไม่สนใจเรื่องการลงทุนเลย ศึกษาไว้ ๆ

สุดท้ายเมื่อเรื่องการเงินเข้ามาในหัวเยอะขนาดนี้ เราจะเข้าใจเรื่องกระแสเงินขึ้นมาเยอะมากโดยไม่รู้ตัว ด้วยความรู้และความเข้าใจที่มีตรงนี้ก็อย่าลืมบริหารความมั่งคั่ง (Wealth) ของตัวเองด้วย เช่น การกระจายความเสี่ยงของสินทรัพย์ที่มี เพื่อให้วันที่มีอะไรผิดพลาดเราจะได้สามารถใช้ชีวิตต่อได้ เป็นเครื่องผลิตเงินที่สามารถดำเนินการต่อไปเรื่อย ๆ

เครื่องผลิตเงินที่ถึงยังมีหนี้อยู่ แต่ก็มีความสุขกับการที่เราสามารถบริหารทุกอย่างได้อย่างอยู่หมัดนั่นเอง

ส่งท้าย

การไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ

เชื่อสิว่ามันเป็นความจริง การรวยอาจไม่รับประกันว่าจะมีความสุข แต่การจนเนี่ยรับประกันเลยว่าทุกข์แน่ ๆ จนที่ว่านี่คือการมีหนี้ ส่วนคนที่ไม่มีหนี้แล้ว พอมีพอกิน อันนั้นสำหรับเรา เราไม่เรียกว่าจนนะ ถ้าไม่มีหนี้แล้วก็คือโชคดีมาก ๆ แล้ว

ดังนั้นหากคุณยังมีหนี้อยู่ก็ควรหาวิธีปลดหนี้ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อที่คุณจะได้มีชีวิตเป็นของตัวเอง ได้ทำสิ่งที่ตัวเองต้องการโดยไม่ต้องพะวงอะไร

และสำหรับคนที่ขาดแรงผลักดันในการทำอะไรในชีวิต ยังไงก็อย่าลืมหาหนี้เพิ่มดูครับ ได้ผลเสมอ ...

เอ๊ะ

เอาเป็นว่าจบบล็อก ก็หวังว่าจะมีประโยชน์คร้าบบบ

บทความที่เกี่ยวข้อง

Jan 21, 2020, 09:44
45651 views
รู้จักโรคปอดอักเสบอู๋ฮั่น โรคระบาดตัวใหม่ พร้อมย้อนรอยโรค SARS และ MERS
Apr 24, 2020, 14:24
50627 views
รีวิวเปรียบเทียบการโอนเงินกลับไทยจากเมกาผ่าน Transferwise และ Western Union
0 Comment(s)
Loading