"ความตั้งใจสร้างได้ทุกอย่าง ความไม่ตั้งใจทำลายได้ทุกสิ่ง"
"เรากำลังสร้าง Value อะไรให้องค์กรอยู่ ?" คำถามที่คนทำงานควรถามตัวเองอยู่ตลอดเวลา
21 Sep 2020 06:44   [40150 views]

ช่วงนี้ทำงานหนักมาก มากจนไม่มีเวลาเขียนบล็อกหรือทำ Live อะไรเท่าไหร่ เพราะแค่จบวันก็หมดสภาพนอนหมดแรงอยู่บนเตียงแล้ว วันต่อมาตื่นก็ต้องทำงานต่ออีก เสาร์อาทิตย์บางทีก็ต้องทำงานอีก (จริง ๆ ไม่จำเป็นแต่เราอยากทำเอง)

ฟังดูเหนื่อยล้านะ ก็ยอมรับว่าเหนื่อย แต่ในขณะเดียวกันก็ยอมรับเช่นกันว่า "มีความสุขมากกกก"

ก็ถามตัวเองอยู่นะว่าทำไมเหนื่อยขนาดนี้ถึงยังมีความสุขอยู่ได้ ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาก็เลยได้มีโอกาสกลั่นกรองความคิดจากทั้งตัวเองและจากการพูดคุยกับเพื่อนร่วมงาน ก็ตระหนักได้ออกมาเป็นคีย์เวิร์ดคำหนึ่ง

รู้สึกตัวเองมี "Value"

ก็เป็นคำที่อยู่ในหัวมานานเป็นสิบ ๆ ปีละ แต่ที่ผ่านมายังไม่ค่อยได้ตกผลึกกับสิ่งนี้เท่าไหร่ แต่รอบนี้จากการที่เริ่มโตขึ้น ได้มีโอกาสทำงานในองค์กรที่ใหญ่ขึ้น ก็เลยมีโอกาสได้ต่อยอดความคิดว่าอะไรคือ Value กันนะ อะไรทำให้เกิด Value ได้ และจะรู้ได้ไงว่า Value คืออะไร ฯลฯ คือคิดอะไรไปสารพัดสารเพมาก และสุดท้ายก็พบว่ามันเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เพราะมันไม่ใช่แค่เรื่องของปัจเจกบุคคล แต่เป็นเรื่องของระดับองค์กรเลย ทุกคนมีส่วนร่วมด้วยกันหมดเพื่อให้ใครสักคนสร้าง Value ให้บริษัทได้

หลังจากความคิดตกผลึกก็รู้สึกว่ามันเป็นอะไรที่น่าจะมีประโยชน์ต่อผู้คนมากเลยโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่หลงทางอยู่ว่าแต่ละวันนี่เราทำงานไปเพื่ออะไร รวมถึงอะไรที่ทำให้เราเติบโตได้จากการทำงานได้ เลยใช้เวลาวันอาทิตย์นั่งเขียนบล็อกเรื่องนี้ให้อ่านกัน หวังว่าจะสร้าง Value ให้คนอื่นได้กั๊บบบ

ค่าของเราอยู่ที่เราสร้าง Value อะไรให้องค์กรบ้าง

คนไทยทุกคนคงเคยได้ยินว่า

"ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน"

อันนี้เห็นด้วยเลย แต่สิ่งที่อยากเสริมเพิ่มเติมคือ "ต้องคิดด้วยว่าอะไรคือนิยามของผลของงาน ?"

มันคือชั่วโมงที่ทำงานหรอ ? มันคือการเข้างานตรงเวลาหรอ ? ... เอาจริง ๆ มันไม่ใช่ สิ่งเหล่านั้นเป็นแค่การทำงาน แต่ไม่ได้บอกเลยแม้แต่น้อยว่าสิ่งที่เรามันได้สร้างคุณค่าอะไรบ้าง

ระหว่างคนที่ทำงานวันละ 16 ชั่วโมงแต่ผลงานที่ออกมาไม่ได้สร้าง Value อะไรให้องค์กรเลย กับอีกคนทำงานวันละ 8 ชั่วโมง แต่สิ่งที่ทำสร้าง Value ให้องค์กรมหาศาล หากต้องเลือกว่าจะต้องเก็บใครไว้ คิดว่าใครคือคนที่องค์กรคิดว่าสำคัญ ?

นั่นแหละ ผลของงานไม่ใช่เรื่องของปริมาณ (Quantity) แต่เป็นเรื่องของคุณภาพ (Quality) และนี่แหละคือตัวที่จะบอกว่าค่าของเรามีเท่าไร

แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าผลงานที่เราทำมามันสร้าง Value อะไรให้กับองค์กรหรือเปล่า ?Goal และ Direction ขององค์กรเป็นตัวใช้วัด Value ของคนในองค์กร

องค์กรแต่ละแห่งมีตัวชี้วัด Value ที่ต่างกันไป เพราะแต่ละองค์กรล้วนมีเป้าหมาย (Goal) เป็นของตัวเอง และนี่แหละที่เราจะใช้บอกว่าสิ่งที่แต่ละคนทำสร้าง Value ให้องค์กรได้แค่ไหน ก็คือผลงานของเราได้พาองค์กรไปสู่เป้าหมายหรือเปล่านั่นแหละ

และมันสิ่งที่สำคัญมากของแต่ละองค์กรที่จะต้องสามารถสื่อสารให้ทุกคนมีเป้าหมายร่วมกันได้ และแน่นอน เป้าหมายคือปลายทางและสิ่งที่จะต้องสื่อสารเพิ่มอีกอย่างคือเราจะไปถึงปลายทางนั้นได้อย่างไร ... Direction นั่นเอง

ปราศจากสองสิ่งนี้ มันยากมากที่องค์กรจะขับเคลื่อนไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมือนทุกคนต่างคนต่างเดิน ไม่รู้ว่าต้องไปทางไหน แล้วจะรู้ได้ยังไงหละว่าอันไหนควรทำอันไหนไม่ควรทำ ?

ดังนั้นการที่คนในองค์กรจะสร้าง Value ได้มากน้อยแค่ไหนมันไม่ได้อยู่ที่แค่ตัวบุคคล แต่องค์กรจะต้องสร้างสภาพแวดล้อมและการสื่อสารให้ทุกคนมีความรู้สึกร่วมกันด้วย หลายต่อหลายทีที่เราจะได้เห็นว่าการที่คนในองค์กรไม่สามารถสร้าง Value ได้จริง ๆ เป็นความผิดของระดับผู้บริหาร

แต่ระดับปฏิบัติการก็จะโดนกล่าวโทษอยู่ดี ฮ่า ๆ

อยู่ผิดที่ อีกสิบปี Value ก็ไม่เกิด

เจอบ่อยมากองค์กรที่อยากได้ Developer เทพ ๆ แต่พอเข้าไปทำงานก็ไม่สามารถดึง Value จากคนเหล่านั้นได้เลยเพราะ Goal และ Direction ไม่ได้เอื้อต่อคนนั้น ๆ เหมือนแค่อยากได้เพราะเทรนด์โลกมันพาไปทางนั้น เราจะต้องมี Developer เทพ ๆ ให้ได้ แต่ไม่ได้ดูเลยว่าเหมาะสมกับองค์กรเรามั้ย

แต่ทันทีที่คนนั้นย้ายองค์กร ปรากฎว่าองค์กรใหม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและเติบโตไปด้วยกันทั้งระดับคนและระดับบริษัท

ลิงได้แก้ว หัวล้านได้หวี สามารถเอามาใช้ในบริบทนี้ได้แบบตรง ๆ องค์กรอาจจะไม่ได้แย่ คนก็ไม่ได้แย่ แต่แค่เป็นสองฝ่ายนี้ไม่สามารถไปด้วยกันได้จริง ๆ เพราะคนเก่งคนนั้นอาจจะไม่สามารถสร้าง Value ให้องค์กรได้ ก็แค่นั้นแหละ

เลยบอกว่าถ้าอยู่ผิดที่ อีกสิบปีก็ไม่มีทางเกิด Value ได้ เป็นไปได้ก็อยากให้วิเคราะห์เรื่องพวกนี้และหากคิดว่ามันตรง การเปลี่ยนงานก็อาจจะเป็นทางเลือกที่ดี

อ้อ สุดท้ายแล้วขอให้หลีกเลี่ยงเลยนะสำหรับองค์กรที่ไม่มี Goal และ Direction ที่ชัดเจน ขนาด Startup ยังต้องมี ถ้าองค์กรไหนไม่มีบอกเลยว่าเราไม่มีทางสร้าง Value ได้หรอก เสียเวลาเปล่า

ค่าของคนอยู่ที่คนของใคร ?

ถ้าเจอองค์กรแบบนี้ลาออกโลดครับ

ผู้นำที่ดีต้องสามารถดึง Value จากคนใต้ Report ได้

อันนี้ก็ถือว่าฝากถึงคนในเลเวลผู้นำหรือผู้จัดการ หากคนใต้ Report คุณไม่สามารถเดลิเวอร์ Value ได้ นั่นเป็นหน้าที่ของคุณที่จะต้องสามารถค้นหาให้ได้ว่าเราจะสามารถดึง Value ของคนนั้น ๆ ออกมาได้ยังไง ไม่ใช่แค่สั่ง ๆ งานไปวัน ๆ แบบนั้นถือเป็นผู้นำที่ไม่ได้เรื่อง

เช่นเดียวกัน หากคุณตกอยู่ในความรู้สึกว่าเราช่างไร้ค่าต่อองค์กรเสียจริง ขอให้ไปคุยกับหัวหน้าหรือคนที่เรา Report แล้วบอกเค้าไปตรง ๆ เพื่อตามหาทางออกที่ดีที่สุด จูน Goal และ Direction กันสักหน่อย สุดท้ายก็จะหาได้เองว่าส่วนไหนที่เราเข้าไปช่วยแล้วสร้างคุณค่าได้ แล้วชีวิตจะดีขึ้นเองครับ

หรือถ้าสุดท้ายหาไม่ได้จริง ๆ เราก็อาจจะตัดสินใจได้ง่ายขึ้นที่จะย้ายงาน

Value ไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปแบบของชิ้นงาน การสร้างคนก็นับ

ถึงแม้สุดท้าย Value จะเกิดจากผลงานก็จริง แต่ผลงานนั้นไม่จำเป็นต้องเกิดจากมือเราเองก็ได้ อยากให้มองให้กว้างกว่านั้น การที่เราสามารถสร้างคนเพิ่มขึ้นมา 10 คนแล้วช่วยกันทำงานเพื่อบรรลุถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้น 6 เดือน นั่นก็คือการสร้าง Value ให้องค์กรใช่มั้ย ?

นั่นแหละ เลยอยากให้ทุกคนมองคุณค่าของการกระทำของเรากว้างหน่อย อะไรที่คิดว่าเราทำได้ดีและตรงกับเป้าหมายทิศทางขององค์กรก็ลุยเลย อย่าไปรอช้า !

จากประสบการณ์เนี่ยการสร้างคนถือเป็นวิธีที่ดีมากวิธีหนึ่งเลยนะ สกิลการสื่อสารจึงเป็นอีกสกิลที่อยากจะเชียร์ให้ทุกคนได้พัฒนากันครับ

Team Value ก็สำคัญ อย่าไปบล็อค Value คนอื่น

ในขณะที่เราพยายามขวนขวายหาทางสร้าง Value ให้องค์กรก็ต้องคิดไว้เสมอด้วยว่าการกระทำของเราห้ามบล็อคการสร้าง Value ของคนอื่นด้วย เพราะสุดท้ายหากคนนั้นไม่สามารถทำงานได้มันก็ความผิดเราเช่นกัน

ยกตัวอย่างเช่น เราบอกว่าเราอยากทำงานทุกอย่างเลยเลยกั๊กงานทุกอย่างไว้กับตัวเองไม่ยอมปล่อยให้คนอื่นช่วยเราจะได้มีผลงาน สุดท้ายก็ไม่สามารถส่งงานได้เพราะทำไม่ทัน ทั้ง ๆ ที่ถ้าหากเราปล่อยงานไปครึ่งนึงให้คนอื่นให้ทุกคนช่วยกันสร้าง Value ก็จะทำให้ผลลัพธ์ออกมาดีกว่าแท้ ๆ

สิ่งนี้เรียกว่า Team Value เวลาทำอะไรอย่ามองแต่ตัวเรา เพราะเราไม่ได้ทำงานคนเดียว สิ่งที่สำคัญที่สุดคือทีมและองค์กร งานไหนทำไม่ทันก็จงปล่อยงานเพื่อทำให้ทีมสร้าง Value ได้สูงที่สุด ตามนั้นส์

สร้าง Value ในแบบ Ownership ไม่ต้องรอให้ใครสั่ง

สิ่งหนึ่งที่เรียนรู้มาจากประสบการณ์คือ

ยิ่งคุณมีความรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ (Ownership) ในผลงานมากเท่าใด คุณก็จะมีโอกาสสร้าง Value ให้องค์กรได้มากเท่านั้น

สาเหตุเพราะการที่คุณมีความรู้สึกถึง Ownership ในผลงานใด ๆ นั่นแปลว่าคุณมีความ "อิน" กับผลงานส่วนนั้นแล้ว ผลที่ตามมาคือในหัวคุณจะเกิดไอเดียเลิศล้ำมากมายว่าจะทำอะไรให้งานเป็นไปตาม Goal และ Direction ได้ สุดท้ายก็จะทำออกมาเพราะความรู้สึกอินนั้นเอง แค่นั้นก็เป็นการสร้าง Value แล้วเห็นมะ

ดังนั้นเราแนะนำว่าไม่ว่าคุณจะทำงานเป็นอะไรในองค์กร จงหา Area of ownership ให้ได้ แล้วชีวิตจะดีเองครับ

ประยุกต์ได้ในระดับธุรกิจ "เราสร้าง Value อะไรให้ลูกค้าบ้าง ?"

คำว่า Value สามารถประยุกต์ไปใช้ได้ในเกือบทุกเรื่อง รวมถึงเรื่องของสเกลการทำธุรกิจเลย

ความจริงมันเป็นพื้นฐานของธุรกิจเลยนะ ทำไมคนถึงยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการเรา ?

เพราะมันมี Value สำหรับเค้ายังไงหละ !

ทำไมคนยอมจ่ายเงินเป็นสิบ ๆ ล้านเพื่อซื้อรถแลมโบกินี ? ก็เพราะ Value สำหรับเค้ามันมากกว่าเงินที่จ่ายไปยังไงหละ

ก็ฝากหัวข้อส่วนนี้ไว้สำหรับเหล่าเจ้าของกิจการด้วยละกันนะ เฝ้าถามตัวเองด้วยว่าทำไมคนต้องจ่ายเงินมาซื้อสินค้าหรือบริการของเรา หากยังหาคำตอบไม่ได้ธุรกิจก็คงไปได้ยาก

หา Value ให้เจอก็เป็นสุข

 

ย้อนกลับมาอีกทีกับวลีอมตะ

ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน

เราขอเปลี่ยนเป็น

ค่าของคนอยู่ที่คุณค่าของตัวงาน

คุณค่า (Value) จริง ๆ มันอยู่ในทุกส่วนของชีวิตการทำงานเลย ยิ่งเราเข้าใจตรงนี้ได้เร็วเท่าไหร่ เราก็จะมีโอกาสเติบโตในอาชีพการงานได้เร็วเท่านั้นครับ

ก็อยากให้ถามตัวเองอยู่ตลอดเวลานะเราสร้าง Value อะไรให้องค์กรบ้าง เพราะผลดีไม่ได้ตกต่อองค์กรเพียงอย่างเดียว ตัวคุณก็ได้ด้วย มันจะทำให้ทุกวันที่คุณตื่นมาจะรู้สึกมีความสุขกับการทำงาน จะไม่เกลียดวันจันทร์อีกต่อไป หนำซ้ำอาจจะอยากทำงานวันเสาร์อาทิตย์ด้วยซ้ำไป

ความจริงเรื่องนี้มันสามารถเอาไปใช้ได้มากกว่าชีวิตการทำงานด้วยซ้ำ การสร้าง Value ให้กับตัวเองในชีวิตก็ส่งผลต่อการเติบโตเช่นกัน

ไม่ใช่การเติบโตทางอาชีพการงาน แต่เป็นการเติบโตทางจิตใจ

แล้วเราจะใช้ชีวิตในทุกวันอย่างมีความสุขครับ

บทความที่เกี่ยวข้อง

May 5, 2020, 09:03
99395 views
พามาดูภาษีเงินได้ที่ต้องจ่ายในสหรัฐอเมริกาฉบับเบื้องต้นพื้นฐาน
Oct 11, 2020, 13:09
46156 views
Blameless Post-mortem วัฒนธรรมการหาต้นเหตุความผิดพลาดโดยไม่กล่าวโทษใคร
0 Comment(s)
Loading