ก่อนหน้านี้ได้พูดถึง Metaverse ไว้สองโพสต์ในเพจ ขอแปะเอาไว้เป็น Reference เผื่อมีใครจะไปอ่านเล่น
แต่วันนี้ขอมาโพสต์ในบล็อกแทนเพราะเนื้อหาค่อนข้างยาวและจัด Layout บนโพสต์เฟสบุ๊คยาก อีกสาเหตุคือคิดว่าเนื้อหานี้น่าจะเก็บเป็น Reference ไว้ใช้ได้อีกหลายปี เลยขอเก็บไว้บนนี้ละกัน มันจะได้ไม่ตกไปไหน
Metaverse ยังใหม่มาก
ความจริงอยากให้ไปอ่านสองโพสต์บนเพจก่อนนะเพราะจะเห็นภาพคร่าว ๆ ว่า Metaverse ณ นาทีนี้มันรูปร่างเป็นยังไงบ้าง แต่ถ้ายังไม่ได้อ่านก็ขอสรุปสั้น ๆ ไว้ว่า
- Metaverse เป็นการเข้าไปสู่อีกโลกนึงที่คนที่อยู่คนละที่ในโลกสามารถมีปฏิสัมพันธ์กันได้
- Metaverse ยังเพิ่งเริ่มต้นมาก ๆ จนไม่มีนิยามกลางที่ตรงกัน
- กว่า Metaverse จะเป็นรูปเป็นร่างและ Ecosystem พร้อมน่าจะใช้เวลาเป็นสิบปีจากนี้
- Metaverse ไม่จำเป็นต้องเป็น VR/AR หรือ XR ตัวใด ๆ และไม่มีความเกี่ยวข้องอะไรกับ Blockchain เลย
- Metaverse กับ MMORPG มีองค์ประกอบร่วมกันหลายอย่าง
โดยรวมแล้ว Metaverse ยังเป็นคำนิยามที่กว้างมาก ๆ ยังต้องผ่านการขัดเกลาและเปลี่ยนแปลงรูปร่างอีกหลายรอบมาก ณ นาทีนี้กลุ่ม Early Adoptor อย่างคนทำ VR/AR และคนทำอุตสาหกรรมเกมก็ถือเป็นแรงสำคัญที่ช่วย Shape หนทางที่ควรจะเป็นของ Metaverse ออกมา อย่างโพสต์ 7 Rules of Metaverse นั่นก็เขียนด้วยตัวท็อปของวงการ VR/AR
ส่วนบล็อกวันนี้ก็เป็นอีกมุมมองของ Jon Radoff หนึ่งในตัวเอ้วงการ GameTech ที่ทำด้านนี้มานานมากเช่นกัน โดย Radoff ได้แตก Metaverse ออกเป็น 7 เลเยอร์เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น เหมือนเช่นเดียวกับที่ Network นั้นมี 7 เลเยอร์ ส่วนเลเยอร์ทั้งเจ็ดของ Metaverse จะเป็นยังไงนั้นเราจะพามาดูกัน
7 Layers of the Metaverse
เนื่องจาก Metaverse นั้นเป็นอะไรที่สเกลใหญ่เอามาก ๆ มันไม่ใช่แค่ซอฟต์แวร์ที่เปิดใช้ แต่มันเป็นระบบที่มีองค์ประกอบนับไม่ถ้วนมารวมกันเป็น Metaverse และนี่เป็นสาเหตุที่ Jon Radoff เลยช่วยแจกแจงมันออกเป็น 7 เลเยอร์เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้นและสื่อสารง่ายขึ้นว่าเรากำลังทำอะไรส่วนไหนของ Metaverse อยู่กันแน่
และนี่คือภาพเลเยอร์ทั้ง 7 ของเมตาเวิร์สที่ Radoff เสนอมาครับ
ขอพาไปดูทีละส่วนเลยละกันนะ เริ่มจากส่วนนอกสุดไปยังในสุด
Layer 1: Experience
เป็นส่วนที่มอบประสบการณ์ Metaverse ให้กับผู้ใช้ เช่น เกม การจับจ่ายซื้อของ การดูหนัง ฯลฯ
ความเข้าใจของคนทั่วไปที่มีต่อ Metaverse ก็จะเป็นเลเยอร์นี้แหละ แต่ก็อย่างที่เห็น มันเป็นแค่ส่วนนึงของ Metaverse เท่านั้น ยังมีส่วนประกอบอื่นอีกเยอะมาก
ทั้งนี้ Experience ที่ว่านี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การใส่ VR Headset แล้วเข้าไปทำโน่นทำนี่กันใน 3D Space นะ แต่มันเป็นอะไรก็ได้ที่สามารถมอบประสบการณ์ให้กับผู้ใช้ได้ เช่น คุยผ่าน Alexa ก็ได้ หรือถือรีโมทแล้วทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์บางอย่าง นั่นก็ทำได้เช่นกัน
ดังนั้น Experience ในโลก Metaverse นั้นไม่มีขีดจำกัดใด ๆ ทุกสิ่งเป็นไปได้หมด
Layer 2: Discovery
เมื่อ Metaverse เป็นระบบที่ใหญ่มาก น่าจะสเกลเดียวกับอินเทอร์เนตในปัจจุบันนี้ ปัญหาคลาสสิคก็จะเกิดคือ แล้วคนจะหา Experience ที่เราสร้างขึ้นมาได้ยังไงในเมื่อมันมีให้เลือกเยอะขนาดนี้ ?
และเลเยอร์ที่ 2 จึงเกิดขึ้นเพื่อสิ่งนี้ Discovery เป็นการทำให้ Experience เป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้ใช้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เช่น ถ้ามีเพื่อนเราเล่น App นี้เยอะ ๆ มันก็จะขึ้นมาแนะนำเรา หรือถ้าเราทำอะไรอยู่แล้วมีสิ่งที่เราน่าจะชอบจากการกระทำนั้น ระบบก็อาจจะเสนอแอป ฯ ขึ้นมา หรือแบบง่ายสุดก็อาจจะแนะนำผ่านทางโฆษณาได้เช่นกัน
Layer 3: Creator Economy
หนึ่งในจิ๊กซอว์ที่ทำให้ระบบใด ๆ เติบโตขึ้นคือ Creator Content เพราะหากเราต้องพึ่งพาแต่โปรแกรมเมอร์เพื่อสร้างอะไรขึ้นมาให้ใช้ ระบบนั้นจะถึงทางตันในที่สุด ตรงกันข้าม หากระบบนั้นสามารถผลักดันให้ Creator สามารถสร้าง Content ในรูปแบบอื่น ๆ โดยไม่ต้องมานั่งเขียนโปรแกรมได้ ระบบนั้นก็จะโตไปได้อย่างไม่สิ้นสุด
เหมือนทุกวันนี้ที่ Social Network เติบโตได้ก็เพราะ Creator Content ทั้งนั้น ดังนั้น Layer 3 อย่าง Creator Economy จึงมีความจำเป็นต่อการเติบโตของ Metaverse ด้วย
ใน Layer 3 นี้คือการสร้างระบบเพื่อให้ Creator สามารถเข้ามาใช้งานได้อย่างง่ายดาย เช่น ระบบสร้าง Experience ใน Metaverse โดยคนสร้างไม่ต้องมีความรู้ทางด้านเขียนโปรแกรม หรือระบบให้คนที่อยากจะขายของเอาของมาวางได้ทันที
Layer 4: Spatial Computing
ตั้งแต่เราใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์กันมา ส่วนใหญ่เราก็จะเน้นทำอะไรกับคีย์บอร์ด (คอมพิวเตอร์) ไม่ก็จอ (สมาร์ทโฟน) แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าขึ้น ตอนนี้เรากำลังพยายามก้าวข้ามไปยังการใช้งานคอมพิวเตอร์ผ่านอะไรที่ล้ำหน้าไปกว่านั้นเพื่อทะลายขีดจำกัดของการปฏิสัมพันธ์กับคอมพิวเตอร์ให้สะดวกขึ้น
สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วคือการที่เราสามารถใช้คอนโทรลเลอร์ในการฟาดฟันดาบในโลก VR หรือการที่เราสามารถหยิบวัตถุ 3 มิติโน่นนี่ไปวางบนโต๊ะที่มีอยู่จริง ๆ ของเราได้ผ่าน AR หรือแม้กระทั่งการที่เราสามารถกระโดดโลดเต้นด้านหน้าทีวีเพื่อเล่นเกมได้ผ่าน Sensor ต่าง ๆ
สิ่งเหล่านี้เรียกว่า Spatial Computing โดยเลเยอร์นี้จะเน้นไปที่ Software เท่านั้น โดยซอฟต์แวร์อะไรก็ตามที่เกี่ยวกับการทำให้เกิด Spatial Computing ได้จะอยู่ในส่วนนี้หมด รวมถึง 3D Engine อย่าง Unity หรือ Unreal Engine ด้วย ส่วนฮาร์ดแวร์ที่เกี่ยวข้องจะไปอยู่ในอีกเลเยอร์นึง
Layer 5: Decentralization
Radoff เป็นอีกผู้นึงที่เชื่อว่า Metaverse ไม่ควรจะถูกควบคุมด้วยใครหรือองค์ใดองค์กรหนึ่ง แต่ทุกอย่างควรจะเป็นระบบเปิดและกระจายศูนย์ (Decentralized) แล้วทุกอย่างจะเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว
ภาพอาจจะยังไม่ชัดเจนว่าจะทำยังไงให้ Decentralized ได้บ้างเพราะอาจจะมีหลายส่วน เช่น การครอบครองสินทรัพย์ต่าง ๆ บน Metaverse ควรจะอยู่บน Blockchain หรือการเข้าใช้ควรจะใช้ผ่าน Web3 เป็นต้น แต่ก็ยังมีอะไรต้องแก้ไขอีกเยอะกว่าจะถึงจุดนั้น
หรือบางส่วนก็อาจจะไม่ใช่เรื่องของผู้ใช้ แต่เป็นเรื่องของการกระจายการประมวลผลไปยังส่วนต่าง ๆ ที่ไม่ใช่ Data Center ประมาณ Grid Computing หรือการทำ Microservice กระจายตัวบริการไปรันบนทุกที่แทนที่จะเป็นแค่เครื่องเดียว
Layer 6: Human Interface
เนื่องจาก Metaverse เป็นโลกอีกใบนึง เราจึงจำเป็นต้องมีฮาร์ดแวร์ที่จะพาเราเชื่อมต่อเข้าไปยังโลกของ Metaverse และนี่คือหน้าที่ของเลเยอร์นี้
อุปกรณ์ที่มีเห็นแล้วก็อาจจะเป็นแว่น VR เอย โทรศัพท์มือถือเอย หรือแหวน Smart Ring แต่ก็ยังมีอีกมากมายที่รออยู่ เช่น ถุงมือที่จะทำให้เรารู้สึกเหมือนหยิบของในโลกเสมือนอยู่จริง ๆ หรือ Biosensor ที่ฝังเข้าไปในผิวหนังเพื่อรับรู้อะไรบางอย่าง
มีความเป็นไปได้อีกมากแต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าเทคโนโลยีจะไปได้เร็วแค่ไหน
Layer 7: Infrastructure
โครงสร้างพื้นฐานที่ทำให้ทุกอย่างเกิดขึ้น เช่น 5G สำหรับการเชื่อมต่อทุกคนเข้าด้วยกันจากที่ไหนก็ได้
ยังไม่ใช่นิยามสากล
เลเยอร์ทั้ง 7 นี้ถูกนำเสนอโดย Jon Radoff ไม่ใช่เป็นสิ่งที่สากลตกลงร่วมกัน แต่ก็อย่างที่บอก Metaverse ยังใหม่มาก สุดท้ายสิ่งที่แต่ละคนเสนอมาก็จะถูกหยิบมาใช้และร่วมขัดเกลาเพื่อไปสู่ Metaverse ที่ทุกคนเห็นตรงกัน และไม่ต้องแปลกใจที่สุดท้ายส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดของ 7 Rules of Metaverse ของ Parisi และ 7 Layers of the Metaverse ของ Radoff จะถูกหยิบไปเป็นหนึ่งในโครงสร้างของ Metaverse ในวันข้างหน้า เพราะคนที่ทำงานจริงตอนนี้นี่แหละที่จะช่วยหานิยามสากลให้ทุกคนกัน
สำหรับคนที่จะเข้าทำ Metaverse ตอนนี้ก็ต้องเตรียมตัวพบกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในระดับทุก 3 เดือน สิ่งที่รู้วันนี้มันอาจจะไม่ใช่แล้วในอีกสามเดือนข้างหน้า
จะทำ Metaverse หรอ ... ส่วนไหนหละ ?
การที่มีคนบอกว่า "เราจะทำ Metaverse" นั้นไม่สามารถบอกได้เลยว่าเค้าจะทำส่วนไหนของ Metaverse
เห็นมีคนพูดเยอะมากว่าเราจะทำ Metaverse กลายเป็น Buzzword ที่ทุกคนพูดถึง ยังไงถ้าอ่านบทความนี้จบก็อาจจะรู้ว่า Metaverse มันเป็นอะไรที่ใหญ่มาก ถึงแม้มันจะยังไม่มีนิยามที่ตรงกันสำหรับทุกคนแต่ก็ค่อนข้างชัดแล้วว่ามันเป็นสิ่งที่ใหญ่มาก ๆ การบอกว่าเราจะทำ Metaverse มันก็เหมือนกับที่มีคนมาบอกว่า "เราจะทำ Internet" นั่นแหละ ซึ่งมันไม่มี มันมีแต่ทำเว็บ ทำ Infra ทำ Front End ทำ SaaS ฯลฯ
คำถามที่เตรียมถูกถามกลับและควรจะตอบให้ได้คือ
แล้วทำส่วนไหนของ Metaverse หละ ?
ถ้าตอบไม่ได้อาจต้องมานั่งทำความเข้าใจกันใหม่ว่า Metaverse คืออะไรกันแน่ และ Metaverse ที่เราเข้าใจก่อนหน้านี้คืออะไร ? และที่เราจะทำจริง ๆ มันคืออะไร ?
เพราะถ้ายังตอบไม่ได้ มันก็ยากที่จะวาง Direction ให้กับโปรเจคที่จะทำ หรือพูดอีกอย่างก็คือมันยากมากที่จะมีปลายทางที่ดีรออยู่นั่นเอง
Source: The Metaverse Value-Chain