"จงให้แล้วเจ้าจะได้รับ"
"Tokenomic" เล่นคริปโตต้องรู้จัก แยกให้ออกอะไรคือแชร์ลูกโซ่ อะไรคือโปรดักส์
25 Jul 2021 10:45   [51318 views]

ไม่ได้อัปบล็อกมาหลายเดือนมากเพราะงานยุ่งสุด ๆ และ ... ขี้เกียจ แหะ ๆ แต่วันนี้รู้สึกอยู่ดี ๆ ก็อยากอัปบล็อกเลยกลับมาเขียนอะไรให้อ่านกันนิดหน่อย

ความจริงก็ไม่เชิงว่าอยู่ดี ๆ ก็อยากเขียนหรอก แต่มันมีสาเหตุ เนื่องจากว่าช่วงปีที่ผ่านมาตลาดคริปโตบูมมาก และส่วนตัวก็แอบศึกษา DeFi มาเป็นปีแล้วทั้งทางด้านเทคนิคและทางด้าน Economic หรือที่เรียกกันในสายคริปโตว่า Tokenomic

ตอนนี้ก็เรียกว่าเล่นไปเป็นร้อย ๆ อันแล้ว และก็ทำให้ทำความเข้าใจ Tokenomic ระดับหนึ่ง มีแชร์ลงเฟสอยู่เรื่อย ๆ ถึง Tokenomic แบบต่าง ๆ ทำให้ที่ผ่านมาก็เลยมีคนเข้ามาปรึกษาเรื่องนี้เรื่อย ๆ เรื่อย ๆ และเรื่อย ๆ มาถึงจุดนี้ก็เลยรู้สึกว่าอยากรวบรวมความรู้เรื่อง Tokenomic แล้วแชร์ให้อ่านกันไปเลยดีกว่า น่าจะมีประโยชน์ในวงกว้างมากกว่า ก็เลยเป็นที่มาของบล็อกนี้ แท่น แท๊นนนน

ใช่แล้ว บล็อกนี้เราเลยจะมาจัดเต็มกับเรื่องของ Tokenomic กัน อาจจะมีหลากหลายมุมมองหน่อย ไม่ใช่แค่เรื่องของ DeFi แต่รวมไปถึงตลาดคริปโตโดยรวมเลย ก็ลองอ่านกันดูนะ อ่ะ เริ่ม !

Tokenomic คืออะไร ?

Tokenomic เป็นการสมาสสองคำอย่าง Token และ Economic เข้าด้วยกัน คำแปลก็ตรงตัวจากสองคำนี้เลย "เศรษฐศาสตร์ของโทเค่น"

มันคือการเอาความรู้ทางด้านเศรษฐศาสตร์มาใช้ทำความเข้าใจโทเค่นและสามารถอธิบายออกมาในรูปแบบที่จับต้องได้ โดยความรู้ทางด้านเศรษฐศาสตร์ที่ว่านี้มีตั้งแต่ขั้นพื้นฐานอย่าง Demand/Supply หรือลึกลับซับซ้อนไปจนถึงเรื่องอัตราเงินเฟ้อหรืออัตราเงินฝืด ยาวไปจนถึงการประเมินการเติบโตจาก Market Size ที่เป็นไปได้ ฯลฯ

Tokenomic เลยเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องทำความเข้าใจให้ดีก่อนจะไปลงเล่นกับเหรียญคริปโตตัวไหน ต่อให้ไม่มีความรู้ทางด้านเทคนิคในการไปอ่าน Smart Contract แต่อย่างน้อยความรู้ที่ควรจะมีก็คือเศรษฐศาสตร์ เพราะมันหมายถึงอนาคตของเหรียญนั้น ๆ โดยตรง

ทำไม Tokenomic ถึงสำคัญ ?

เชื่อว่าทุกคนที่เอาเงินมาลงในคริปโตก็เพื่อหวังว่าจะได้เงินที่งอกเงยขึ้น หรือที่เรียกว่า "การลงทุน" นั่นแหละ

แต่ถึงกระนั้น คนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เล่นในแง่การลงทุนเท่าไหร่แต่จะไปในแนว "การพนัน" ซะมากกว่า แบบก็แค่ลงตาม ๆ เค้าแล้วก็ลุ้นเอาว่าจะรวยหรือจะเจ๊ง

การจะลงทุนกับอะไรเราต้องทำความเข้าใจกับสิ่งนั้นให้ดีก่อน และถ้าเราหวังผลตอบแทน เราก็ต้องทำความเข้าใจเรื่องเศรษฐศาสตร์และธุรกิจของ Business นั้น ๆ ในการลงทุนกับบริษัทใด ๆ เราก็จะต้องไปอ่าน Deck หรือผลประกอบการว่ารายได้เป็นยังไง เติบโตเป็นยังไง โอกาสขยายเท่าไหร่ ฯลฯ

แต่พอมันเป็นคริปโตแล้ว อะไรหละที่จะเป็นหลักประเมินว่าธุรกิจนี้จะไปได้ไกลแค่ไหน อนาคตจะเป็นยังไง ?

ก็ Tokenomic นี่แหละ

ดังนั้นการทำความเข้าใจ Tokenomic คือจุดที่เอาไว้ตัดสินเลยก็ว่าได้เรากำลัง "ลงทุน" กับเหรียญนั้น ๆ หรือเป็นแค่ "การพนัน" เฉย ๆ

หมายเหตุ: การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดอ่านคำเตือนบนฉลากก่อนดื่มทุกครั้ง ... ลงทุนไม่ได้แปลว่าจะกำไรเสมอไป แต่อย่างน้อยเราก็เข้าใจและไม่ได้ลงมั่ว ๆ

แยกให้ออกก่อนว่าเป็นเหรียญสกุลเงิน หรือโทเค่นใช้งาน

ก่อนจะไปลงรายละเอียดว่า Tokenomic มีอะไรที่เราต้องทำความเข้าใจบ้าง ขออนุญาตแวะมาเล่าภาพใหญ่ที่ทุกคนจะต้องทำความเข้าใจก่อนจะไปวิเคราะห์ส่วนอื่น ซึ่งก็คือ "การวางตัวของเหรียญแต่ละตัว" เพราะการวางตัวที่ต่างกันไปเราก็จะต้องใช้คนละวิธีคิดกัน หลัก ๆ เลยเหรียญคริปโตจะมีอยู่สองแบบด้วยกันคือ

1) เหรียญที่ตั้งใจจะเป็นสกุลเงิน - ก็คือเหรียญที่ตั้งใจว่าจะเป็นสกุลเงินที่เอาไว้ใช้แลกเปลี่ยนกันได้ เช่น Bitcoin หรือ EGLD เหรียญพวกนี้วางตัวไว้ชัดเจนว่าในอนาคตเราจะใช้มันแทนเงินที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้

2) เหรียญที่ไม่มีทางเป็นสกุลเงิน ต้องแลกเป็นเงินถึงจะใช้ได้ - เหรียญที่ไม่มีโอกาสในอนาคตเลยที่จะถูกนำไปใช้เป็นสกุลเงิน แต่ถูกออกแบบมาเป็นแค่สื่อแลกเปลี่ยนในระบบปิดบางอย่าง ให้มองเหมือนเราไปบ่อนแล้วต้องแลกโทเค่นมาเล่นกัน แต่สุดท้ายเราก็ต้องแลกกลับเป็นเงินก่อนถึงจะเอาไปใช้งานในโลกภายนอกได้ อันนี้จะเป็นเหรียญ/โทเค่นส่วนใหญ่ในโลกคริปโตเลยก็ว่าได้ (กว่า 99.99%)

สาเหตุที่ต้องแยกให้ออกก็เพราะอย่างที่บอกด้านบนคือ เมื่อจุดวางตัวของเหรียญต่างกัน มุมมองของการวิเคราะห์มูลค่าเหรียญและ Tokenomic ก็จะต่างกันไป

วิธีคิดสำหรับเหรียญที่ตั้งใจจะเป็นสกุลเงิน

สำหรับเหรียญแนวนี้ก็ให้คิดเหมือนตอนเราถือเงินบาทหรือเงินดอลล์แหละ เราถือเงิน 1,000 บาท เราก็ไม่ได้สนใจอะไรมากไปกว่าว่าเราถือ 1,000 บาท แค่นั้นเลย หากเราเชื่อว่ามันจะเป็นสกุลเงินได้แล้ว การถือครองในสัดส่วนและจำนวนที่เราต้องการก็จะตอบโจทย์ระยะยาวแล้ว

ยกตัวอย่างเช่น เราอยากถือ Bitcoin 1 BTC ต่อให้ราคาในหน่วยเงินบาทจะขึ้นหรือร่วง มันก็ไม่ได้ส่งผลอะไรกับเราเพราะเราก็ยังมี 1 BTC อยู่ดี แต่นั่นต้องอยู่ในพื้นฐานว่าอนาคตมันจะกลายเป็นสกุลเงินได้

Tokenomic ของเหรียญสกุลเงินนั้นจะตรงไปตรงมามาก สิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจก็มีแค่

1) Market Size - จะมีกี่ประเทศ กี่เมือง กี่คน ที่จะยอมรับเหรียญนี้เป็นสกุลเงิน เพราะนั่นคือ Market Cap และนี่เป็นเหตุผลว่าทำไม Bitcoin ถึงนำเป็นอันดับหนึ่งมาโดยตลอดและคงยากที่จะมีใครโค่นลง เพราะว่ามันมีโอกาสสูงสุดแล้วที่จะเป็นเหรียญที่นานับประเทศในโลกจะยอมรับ ตัว Market Cap เลยจะนำคนอื่นเค้าเสมอ

2) Full-Dilluted Market Cap - เมื่อประเมิน Market Size แล้ว ให้ลองประเมินดูว่า Market Cap ที่เหมาะสมจะอยู่ที่เท่าไหร่ และให้คำนวณจากเหรียญทั้งหมดที่จะมี อย่าเอาแค่ที่กำลังหมุนเวียนอยู่ในระบบ เพราะนั่นคือมูลค่าที่แท้จริงในระยะยาว

3) Maximum Supply - เหรียญนั้น ๆ มีจำนวนเหรียญจำกัดหรือไม่และถ้ามีจะอยู่ที่เท่าไหร่ ? หากไม่มีการกำหนด Maximum Supply ที่แน่ชัด ส่วนใหญ่มักจะเป็นสกุลเงินลำบากเพราะอัตราเงินเฟ้อจะเป็นตัวทำให้เหรียญนั้นมูลค่าต่อหน่วยจะลดลงตามเวลา ซึ่งตรงข้ามกับจุดประสงค์ของการลงทุนระยะยาวในคริปโต (ยกเว้นจะออกแบบดีมาก)

4) อัตราเงินเฟ้อ (Inflation) - โดยปกติเหรียญจะไม่พิมพ์ออกมาครบตั้งแต่แรก คำถามคืออัตราการพิมพ์เพิ่ม (Inflation) จะมากน้อยแค่ไหน หากเยอะมากจนถึงขั้น Hyperinflation ก็จะทำให้เหรียญหมดความน่าเชื่อถือได้ แต่ถ้า Inflation ในระดับที่เหมาะสมก็จะทำให้ระบบ Healthy มากขึ้นได้เช่นกัน ทั้งนี้ควรจะมี Maximum Supply อยู่ดี จนถึงจุดนึง Inflation จะต้องหยุดและเข้าสู่จุด Deflation เท่านั้น

เหรียญสายนี้มูลค่าของมันเกิดจาก "การให้ค่าของผู้คน" ล้วน ๆ มันคือเหมือนกับการที่เราใช้เปลือกหอยบอกว่ามันมีค่านั่นแหละ ตัวเหรียญตอนนี้อาจจะไม่ต้องใช้งานอะไรได้ก็ได้ แต่อนาคตแค่มีคนยอมรับว่าสามารถใช้แลกเปลี่ยนแทนเงินได้ มันก็มีค่าในตัวของมันเองแล้ว

ก่อนจะลงเหรียญที่คิดว่าจะเป็นสกุลเงินได้ก็ลองคำนึงถึงคุณสมบัติเหล่านี้ดูครับ เหรียญสายนี้ไม่มีอะไรซับซ้อนมากเพราะมูลค่าผูกกับการให้ค่าของคนโดยตรง

วิธีคิดสำหรับโทเค่นที่ไม่สามารถเป็นสกุลเงิน

เหรียญ/โทเค่นแนวนี้จะซับซ้อนกว่าเหรียญสายสกุลเงินมาก เพราะมูลค่าของโทเค่นประเภทนี้จะอยู่ที่ "การใช้งาน" ยิ่งการใช้งานเยอะ มีคนใช้งานเยอะ มูลค่าของเหรียญก็จะเพิ่มขึ้นได้ ตรงกันข้าม หากคนใช้งานน้อยมูลค่าเหรียญก็จะต่ำลง มูลค่ามันเลยเหวี่ยงขึ้นลงได้ตามการใช้งาน ไม่ได้มีมูลค่าตามการให้ค่าแบบ BTC

รวมถึงวิธีคิดมูลค่าก็ไม่ได้อยู่ที่ว่าเราถืออยู่กี่โทเค่น แต่อยู่ที่ว่าเราถือ Token มูลค่ารวมกี่ USD อยู่ตอนนี้ เนื่องจากสุดท้ายเราจะต้องแปลงกลับเป็น USD เพื่อเอามาใช้งานอยู่ดี

ถึงจะฟังดูตรงไปตรงมาแต่ด้วยความ Flexible ของการออกแบบ Tokenomic เหรียญทำให้มันมีปัจจัยต้องพิจารณาหลายตัวมาก ถ้าให้เทียบกับธุรกิจก็คือต้องมานั่งอ่าน Pitch Deck หรือผลประกอบการเลยหละเพื่อทำความเข้าใจ

ปัจจัยหลัก ๆ ที่ต้องประเมินสำหรับเหรียญแนวนี้คือ

1) อัตราการเติบโตของผู้ใช้งาน - แน่นอนว่ายิ่งมีผู้ใช้งานเยอะมูลค่าของโทเค่นก็จะสูงขึ้นด้วย แล้วโทเค่นนั้น ๆ จะมีโอกาสที่คนจะใช้งานเยอะขึ้นแค่ไหน ? อะไรทำให้คนมาใช้งาน ?

2) Use Case ทำให้เกิดการใช้ซ้ำได้มั้ย - หากผู้ใช้ใช้ครั้งเดียวแล้วไม่มีเหตุต้องใช้อีก จำนวนการใช้งานโดยรวมก็จะน้อยมากเพราะผูกกับจำนวนผู้ใช้อย่างเดียว ตรงกันข้าม หากผู้ใช้คนเดียวใช้แล้วใช้อีกได้ จำนวนการใช้งานก็จะทวีคูณขึ้นมาเยอะมากและส่งผลต่อมูลค่าได้

3) มี Maximum Supply มั้ย - ถ้าไม่มี Maximum Supply ก็แปลว่ามูลค่าของเหรียญถูกตั้งให้ลดลงเรื่อย ๆ เพราะจะมี Supply ใหม่มาเพิ่มเรื่อย ๆ อันนี้ต้องพิจารณาให้เคลียร์ว่าอัตราการใช้งานและการเพิ่มของผู้ใช้จะแซงจำนวน Supply ที่เพิ่มมาเรื่อย ๆ มั้ย ? หรือถ้าไม่มี Maximum Supply ถ้าถึงวันที่ Supply หมดแล้ว ระบบได้ออกแบบอะไรไว้รองรับครบถ้วนหรือยัง ?

4) Inflation สูงแค่ไหน - โดยปกติโทเค่นแนวนี้จะมีการพิมพ์เหรียญเพิ่มอยู่แล้ว อันนี้ต้องทำความเข้าใจว่า Inflation นั้นสูงแค่ไหน และอัตราการเพิ่มของการใช้งานนั้นสูงกว่าหรือไม่ ถ้าไม่ ... หนีปายยยย

5) การใช้งานเป็นการใช้งานอะไร - อันนี้สำคัญ เราต้องมองให้ออกว่าการใช้งานนั้นคืออะไร มีความจำเป็นมั้ย ? ทำไมคนต้องใช้ ? คู่แข่งมีมั้ย ? ฯลฯ หากเป็นการใช้งานพื้น ๆ ไม่มีความสำคัญอะไร สุดท้ายเหรียญก็จะไปสู่ $0 เป็นอันแน่นอน แต่ถ้าการใช้งานเป็นอะไรที่เกิดขึ้นเรื่อย ๆ และมีแต่เพิ่ม อันนี้ถึงจะยั่งยืน

สุดท้ายการเล่นคริปโตมันเป็น Zero Sum Game เหรียญจะมีมูลค่าเพิ่มได้ก็ต่อเมื่อมีคนเอาเงินมาลงเพิ่ม และมูลค่าจะลดลงเมื่อมีคนเอาเงินออก ตรงไปตรงมาแค่นั้น และอะไรหละที่จะทำให้คนอยากเอาเงินมาเพิ่มเรื่อย ๆ ในตลาดที่คนต้องการแค่เอากำไรและตั้งใจจะเอาเงินออกเรื่อย ๆ ?

นี่แหละประเด็นสำคัญ

และเนื่องจากสุดท้ายการใช้งานมันก็มีอยู่ไม่กี่ประเภทหรอกที่ใช้ได้จริง ทำให้โทเค่นสายนี้ถูกนำมาสร้างเป็นแชร์ลูกโซ่แบบมหาศาลในโลกคริปโต ไว้เดี๋ยวจะเล่าให้ฟังว่าเราจะแยกแชร์ลูกโซ่กับโปรดักส์จริง ๆ ออกจากกันได้ยังไง

Demand/Supply คือพื้นฐานของทุกอย่าง

เขียนมาเยอะระดับนึง ถึงจุดนี้อยากจะมี Checkpoint หน่อยว่าสุดท้ายแล้วทุกอย่างจะถูกดึงไปยังเศรษฐศาสตร์พื้นฐานอย่าง Demand และ Supply ไม่ว่าจะเป็นเหรียญหรือ Asset ประเภทไหน มันก็ใช้หลักการนี้ได้เสมอมา

คำถามคือเรารู้กันหรือยังว่าระบบ Demand/Supply ของเหรียญที่เรากำลังลงอยู่นั้นมันไปทางไหน และอะไรคือเหตุผลสนับสนุน ? ถ้ายัง ... ไปทำความเข้าใจให้เรียบร้อยก่อนเน้อออ 

แชร์ลูกโซ่ vs โปรดักส์

บอกอยู่เสมอว่ากว่า 99% ของเหรียญในโลกคริปโตนั้นเป็น "แชร์ลูกโซ่"

ทำไม ?

เพราะหากไปพูดถึงเรื่อง Use Case ที่บอกไว้ก่อนหน้านี้ว่ามูลค่าของเหรียญจะผูกกับการใช้งาน แต่มันมีการใช้งานนึงที่ไม่ควรจะถูกเรียกว่า Use Case เลยด้วยซ้ำก็คือ "ถือเหรียญเพื่อได้เหรียญเพิ่ม" (หรือการฟาร์มนั่นเอง) แต่เผอิญมันง่ายและฉาบฉวยที่สุดในโลกการเงินแล้ว มันก็เลยถูกเอามาใช้อย่างไม่หยุดยั้งชนิดที่ว่ามีแชร์ลูกโซ่วงใหม่เกิดขึ้นทุกวัน ไม่ได้จำกัดแค่คริปโตนะ ทุกอย่างในโลกมีการทำแบบเดียวกันนี้หมด

แล้วทำไมการถือเหรียญเพื่อได้เหรียญเพิ่มถึงเป็นแชร์ลูกโซ่ ? คำตอบคือเหรียญมันไม่ได้มีมูลค่าเป็นของตัวเอง ที่มันมีมูลค่าได้เพราะเราเอาเงินคนอื่นมาเป็นกำไรของเรา และคนนั้นก็หวังจะเอาเงินคนอื่นมาเป็นกำไรของเค้าอีกเช่นกัน และเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ

ก็แชร์ลูกโซ่ดี ๆ นี่เอง

และถ้าวันนึงมันไม่มีใครให้หลอกแล้ว วงแชร์ก็จะแตก ใครเข้าก่อนก็ได้กำไรไป ใครเข้ามาทีหลังก็หมดตัวไป แล้วก็รอวงแชร์ใหม่เกิดมาแล้วก็วนแบบนี้ไปเรื่อย ๆ

หากโปรดักส์ของฟาร์มคือการฟาร์ม นั่นเป็นแชร์ลูกโซ่ ไม่ใช่โปรดักส์

ดังนั้นก่อนจะลงอะไรคิดไว้ให้ดีว่า Use Case นั้นเป็นการใช้งานจริง ๆ หรือแค่แชร์ลูกโซ่ เพราะถ้าเป็นแชร์ลูกโซ่มันก็เป็นแค่อะไรที่รอวันแตกดับ แต่ถ้าเป็นโปรดักส์มันคือการรอวันเติบโต ฝากไว้

โปรดักส์ต้องมีแหล่งรายได้จากภายนอก

แล้วจะทำยังไงให้โปรดักส์เป็นโปรดักส์จริง ๆ ไม่ใช่แชร์ลูกโซ่ ? คำตอบง่าย ๆ เลยคือ

"ต้องมีรายได้จากภายนอก"

แชร์ลูกโซ่นั้นมีรูปแบบว่ามีการสร้างอะไรภายในแล้วหารายได้จากคนภายในกันเองแล้วก็เป็นต่อไปแบบนี้เรื่อย ๆ สุดท้ายไม่มีคนอยากรับต่อแล้วก็วงแตกไป

แต่ถ้าลองดูบริษัทต่าง ๆ ว่ามูลค่าหุ้นเค้าสูงขึ้นได้ยังไง คำตอบก็คือ "เค้าหารายได้เข้ามาในบริษัท" ยังไงหละ เค้าไม่ได้หาเงินจากคนถือหุ้นกันเอง ตลาดหุ้นมันเป็น Zero Sum Game ถ้าไม่หาเงินจากภายนอกมา มันก็ไม่มีทางที่ Market Cap จะสูงขึ้นได้

เช่นเดียวกัน สำหรับคริปโตแล้วโปรดักส์ที่จะเป็นโปรดักส์ที่ยั่งยืนได้นั้นจำเป็นต้องหารายได้จากแหล่งภายนอก ไม่ใช่จากคนกันเอง

อันนี้จะเป็นคำตอบว่าทำไมเราถึงเห็น Exchange กลายเป็นผลงานที่มีรายได้อันดับต้น ๆ ของ DeFi ได้


Source: TokenTerminal

เพราะถ้าพิจารณาให้ดี Exchange นั้นไม่ได้หารายได้จากคนถือเหรียญ Exchange ด้วยกันเอง แต่เป็นการหารายได้จากคนที่จะมา Swap เหรียญ (หัก %) ดังนั้นมันจะเติบโตไปพร้อมกับตลาด DeFi รวมและทำให้มีแหล่งรายได้จากภายนอกมาไม่หยุดนั่นเอง ต่อให้ไม่มีคนถือเหรียญของ Exchange เพิ่ม รายได้ก็ยังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ได้เพราะมันไม่ได้อยู่ในสมการนั่นเอง

ตรงกันข้าม เพราะรายได้เพิ่มเรื่อย ๆ นี่แหละเลยอยากทำให้คนถือเหรียญเพิ่ม (แต่ก็ต้องเข้าใจ Tokenomic ของเหรียญ Gov Token ด้วยนะ ไม่งั้นก็เจ๊งเหมือนกัน) นี่แหละคือโปรดักส์หละ !

Axie Infinity ก็แชร์ลูกโซ่นะ

ตอนนี้เกม Axie Infinity รายได้ขึ้นเป็นอันดับหนึ่ง คนเล่นกันเยอะแยะมากมายมหาศาล แต่ขอกระซิบให้ฟังว่า จริง ๆ Axie Infinity ก็แชร์ลูกโซ่นะ

สาเหตุเพราะมันคือการผลิตของภายในเกมเพื่อขายให้คนภายในเกมไปใช้เพื่อหวังจะหากำไรจากมัน สุดท้ายมันคือการหารับต่อไปเรื่อย ๆ ตราบใดที่มีคนมาเล่นเพิ่มก็จะยังโตไปได้เรื่อย ๆ แต่ถ้าวันหนึ่งฐานผู้ใช้ไม่เพิ่มแล้ว วันนั้นวงแชร์ลูกโซ่ก็จะแตกเปรี้ยง

แต่ที่ทำให้ Axie Infinity พิเศษกว่าวงแชร์อื่น ๆ คือ Mechanic ของเกมบางประเด็นทำให้วงแชร์นี้ไม่แตกง่าย ๆ คือ 

1) ที่มีการใช้เหรียญในเกม ทำให้การรับต่อนั้นฝืดเคือง มีการเอาไปเผาใช้ระหว่างทางจน Supply ไม่ได้ล้นตลาดขนาดนั้น เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ใช้ที่เพิ่มขึ้นอย่าง Exponential มันก็เลยยังไปได้อยู่ (แต่ถามว่าการใช้เหรียญภายในเกมนั้นใช้ทำอะไร มันก็เพื่อใช้สร้างของเอาไปส่งต่ออยู่ดี เพียงแต่มันจะช้ากว่าส่งต่อตรง ๆ)

2) 95% ของรายได้นั้นถูกส่งกลับให้ผู้เล่น ทำให้มีเงินหมุนเวียนให้แชร์ลูกโซ่นี้ไม่แตกเร็วเท่าอันอื่น

3) NFT ทำให้คนถือรู้สึกว่ากำลังถือของมีมูลค่า(ทิพย์) ถึงแม้ว่ามันจะขายไม่ออกก็ตาม แต่คนก็รู้สึกว่ามันเป็น Asset

4) ใช้เวลาคืนทุนนาน (เดือนครึ่งถึงสองเดือน) ทำให้ไม่เกิดการเทเละเทะของเหรียญขึ้นจากการได้กำไรเร็วเกินไป

โดยรวมทำให้ Axie Infinity เลยเป็นวงแชร์ลูกโซ่ที่โตมาถึงตอนนี้ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่แตกนะ ถ้าฐานผู้ใช้หยุดโตก็แตกได้อยู่

ตอนนี้ Axie Infinity ก็กำลังพยายามสร้างแหล่งรายได้จากภายนอกอยู่ จะเห็นว่าทีม Axie ได้สร้าง Universe ของเกมไว้และมีแผนว่าจะโยกรายได้จากเกมอื่นมาแจกจ่ายคนในเกม Axie Infinity ด้วย

แต่รูปแบบนี้มันก็เป็นการเอาเงินจากแชร์ลูกโซ่อีกวงมาลงในวงนี้ สุดท้ายก็อันตรายอยู่ดี แต่อย่างที่บอกว่าการเติบโตมันสูงมากและ Supply หมุนเวียนยังไม่ Meet Demand ในเร็ววัน อาจจะใช้เวลาอีกเป็นเดือน คราวนี้ก็แค่ต้องรอดูว่าทีม Axie จะหารายได้จากภายนอกจริง ๆ เข้ามาได้มั้ย (เช่น โฆษณา) วันนั้นเกมนี้ก็จะไม่ใช่แชร์ลูกโซ่อีกต่อไป

Yield Optimizer อีกหนึ่งตัวอย่างโปรดักส์จริง

เพื่อให้ชัดขึ้นเลยขอยกตัวอย่างโปรดักส์เพิ่มอีกหนึ่งตัว ขอเป็น Yield Optimizer ละกัน

โดย Yield Optimizer คือที่ที่ให้เราเอาเหรียญหรือ LP ไปวางไว้ แล้วเดี๋ยวเค้า Auto Compound บลา ๆ ๆ ๆ ให้

พวกบริการเหล่านี้จะหัก Performance Fee จากผลผลิตการฟาร์มมาเป็นรายได้ ซึ่งอันนี้ถือว่าเป็นรายได้ภายนอกเพราะไม่ได้หาเงินจากคนที่ถือเหรียญ Gov Token กันเอง

คราวนี้ก็ขึ้นอยู่กับการออกแบบ Tokenomic แล้วว่าจะเอารายได้นั้นแจกจ่ายกลับไปยัง Token Holder หรืออะไรยังไง แต่โดยรวมก็ถือเป็นโปรดักส์อีกตัวที่น่าสนใจ

แต่ ... ยังไงก็อย่าลืมดูเรื่อง Inflation ฯลฯ อะไรด้วย ไม่งั้นรายได้ขึ้นไม่ทันอัตราเงินเฟ้อน้า

ก็น่าจะเห็นแล้วนะว่ามันต่างกันยังไงระหว่างแชร์ลูกโซ่กับโปรดักส์ ความจริงมันดูไม่ยากเลย แค่ต้องเข้าใจหลักการ

การออกแบบ Tokenomic แบบ Dual Token

จะเห็นว่ามีหลายเว็บ (ส่วนใหญ่จะเป็นเกม) ที่ออกแบบระบบออกมาให้มี 2 เหรียญใช้คู่กัน เช่น Axie จะมี AXS และ SLP หรือ Binamon จะมี BMON และ BNRG

ถามว่าทำไปทำไม ? ทำไมไม่ใช้เหรียญเดียวไปเลย ? คำตอบคือ

เค้าพยายามสร้างระบบที่มีทั้ง Unlimited Supply Asset และ Limited Supply Asset เพื่อไม่ทำให้เหรียญตาย

สังเกตดูว่าระบบแบบนี้จะมีเหรียญนึงที่มี Maximum Supply กับอีกเหรียญนึงที่มีได้ไม่จำกัด (อย่าง Axie ก็มี AXS ที่จำกัด 270 ล้านโทเค่น ส่วน SLP มีได้ไม่จำกัด)

นั่นก็เพราะว่าถ้าใช้เหรียญเดียวที่มี Maximum Supply ก็จะเกิดปัญหาว่าวันนึงจะไม่สามารถสร้างเหรียญเพิ่มได้แล้วจนทำเป็นรางวัลให้ผู้เล่นไม่ได้ ก็เลยจำเป็นต้องแตกอีกเหรียญที่พิมพ์มาได้ไม่จำกัดเพื่อแจกเป็นรางวัลให้กับผู้เล่นแทน นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมเล่นเกม Axie ถึงได้รางวัลเป็น SLP ไม่ใช่ AXS

(แต่ AXS จะเป็นรางวัลจากการเล่นเกมอื่นใน Universe ในอนาคตด้วยเพื่อเสริม Ecosystem)

คราวนี้ก็จะไม่เกิดปัญหาในการรันเกมระยะยาวอีกต่อไปแล้ว และเหรียญที่จะมีความมั่นคงคือ AXS เพราะรายได้ที่ได้มาจะตกไปสู่ผู้ถือ AXS ในขณะเดียวกัน SLP นั่นคือเหรียญแชร์ลูกโซ่ที่รอวันแตก วันนึงเหรียญนี้อาจจะไร้มูลค่าลงไป แต่ทีมน่าจะหาวิธีทำอะไรบางอย่างเพิ่มมาได้เพียงแต่สุดท้ายคนที่จะได้ประโยชน์คือผู้ถือ AXS

ก็จะเห็นว่าการออกแบบแนว Dual Token จะเปิดโอกาสให้เหรียญนึงในเกมตายได้แต่จะมีเหรียญนึงที่คงอยู่ต่อ ซึ่งจะทำให้โปรเจครวมไม่ตายง่าย ๆ นั่นเอง

จากนี้น่าจะเห็น Dual Token ออกมาเรื่อย ๆ ด้วยเหตุผลนี้ และต้องมองให้ออกด้วยว่าเหรียญไหนถูกออกแบบมาให้ตาย และเหรียญไหนจะยังอยู่

สรุป

Tokenomic ถึงจะซับซ้อนและมีปัจจัยเยอะมาก แต่สุดท้ายความจริงก็จะสรุปลงไปที่เรื่องง่าย ๆ อย่าง Demand/Supply อยู่ดี

แค่เราต้องเข้าใจว่า Supply มีแค่ไหน เกิดเยอะแค่ไหน มี Inflation เท่าไหร่ ฯลฯ รวมถึงมีระบบ Deflation เพื่อลด Supply หรือไม่

ส่วน Demand ก็ต้องทำความเข้าใจว่าทำไมคนถึงอยากได้เหรียญนี้ มีการใช้งานยังไง มีการใช้บ่อยแค่ไหน ฯลฯ และรายได้ที่ได้มาส่งผลต่อ Demand ของเหรียญที่จะถือมั้ย (เพราะบางทีรายได้กระจุยแต่ผู้ถือเหรียญไม่ได้อะไรเลยก็มี)

สุดท้ายหาก Demand สูงกว่า Supply มันก็ขึ้น แต่ถ้า Demand ต่ำกว่า Supply มันก็ลง และการที่จะทำให้ Demand สูงขึ้นเรื่อย ๆ ได้ต้องผ่านการออกแบบที่ดีและมีรายได้จากแหล่งภายนอกชัดเจน

และฝากไว้อีกครั้ง ... แยกให้ออกนะระหว่างแชร์ลูกโซ่และโปรดักส์ ถ้าแยกออก ถ้าเข้าใจ นั่นคือการลงทุน แต่ถ้าไม่เข้าใจ ลงมั่ว ๆ อันนั้นการพนันนะ

บทความที่เกี่ยวข้อง

Apr 9, 2020, 20:12
60332 views
สัมภาษณ์ทีมพัฒนาแอป "หมอชนะ" บันทึกการเดินทาง วิเคราะห์ความเสี่ยง COVID-19 ให้โดยอัตโนมัติ
Jul 25, 2021, 10:45
51318 views
"Tokenomic" เล่นคริปโตต้องรู้จัก แยกให้ออกอะไรคือแชร์ลูกโซ่ อะไรคือโปรดักส์
0 Comment(s)
Loading