"ความรักต้องไม่พยายาม"
ถอด Mathematic Model เบื้องหลังการแตกของ Cryptomines
11 Dec 2021 14:45   [63219 views]

บอกไว้ตั้งแต่ต้นเดือนพ.ย.ว่า Cryptomines จะแตกรูปแบบเดียวกับ Cryptoblade เพราะสมการคณิตศาสตร์เบื้องหลัง Tokenomic นั้นเหมือนกันทุกประการ แค่รอเวลาเท่านั้นเอง สุดท้ายผ่านไป 1 เดือนมันก็แตกตามรูปแบบที่บอกไว้เป๊ะ ไม่มีผิดเพี้ยนและเกมก็ปิดตัวลงพร้อมเตรียมสร้างเหรียญใหม่เรียบร้อย ทิ้งให้คนจำนวนมากสูญเงินไปเป็นจำนวนมหาศาล

วันนี้เลยขอมาเขียนบล็อกสรุปให้ฟังว่า Mathematic Model เบื้องหลังของเกม Cryptomines เป็นยังไง ทำไมถึงรู้ล่วงหน้าว่าจะแตกในรูปแบบเดียวกับ Cryptoblade ? ดูที่อะไร ? ก็จะมาแผ่ให้ดูในบล็อกนี้ครับ

Tokenomic ในโลก Play-to-Earn มันเป็นศาสตร์

ถึงคนจำนวนมากจะเล่นแบบไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร บ้างก็เน้นกาว บ้างก็หน้ามืดตามัวเล่นไปตามเค้าเพราะหวังรวย แต่ความจริงมันมีศาสตร์ของมันนะ ไม่ใช่การซื้อหวยแล้วเสี่ยงดวง แต่เป็นการที่เข้าใจว่าเงินไหลเข้าออกอย่างไรและส่งผลอย่างไรต่ออนาคต

อย่างแรกที่ต้องรู้ก่อนเลยคือเกม Play-to-Earn ทุกเกมนั้นใช้โมเดลแชร์ลูกโซ่ (Ponzinomic) เรื่องนี้สำคัญเพราะมันเป็นตัวที่บอกว่าเงินจะไหลจากไหนไปไหนในรูปแบบไหน หากยังไม่ยอมรับว่ามันคือแชร์ลูกโซ่ เราก็จะไม่มีทางหาโมเดลทางคณิตศาสตร์ที่ถูกต้องได้

โดยหลักการของ Ponzinomic Model ก็ไม่มีอะไรมาก

มันคือการเอาเงินของคนที่ลงเพิ่มไปจ่ายให้คนที่เล่นอยู่

ทุกอย่างมันคือ Zero Sum Game ไม่มีแหล่งรายได้อื่นใด ก็แค่เอาเงินคนนึงไปให้อีกคนนึง คิดซะว่ามันคือการที่ทุกคนโยนเงินเข้าไปในสระว่ายน้ำเพื่อเข้าเล่น และคนที่อยากจะเลิกเล่นก็ก็หยิบเงินในสระนั้นแล้วเดินออกไป

เมื่อเข้าใจตรงนี้ สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือการหาโมเดลคณิตศาสตร์ (Mathematic Model) ที่สร้างขึ้นมาจากตัวแปรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น Inflation Rate, User Growth Rate, Reward Locking Period ฯลฯ รวมถึงเอาปัจจัยที่ Subjective หน่อยอย่าง "จิตวิทยา" มาร่วมพิจารณาด้วย เพื่อให้รู้ว่าจะมีคนโยนเงินเพิ่มลงสระอีกแค่ไหน รวมถึงตอนไหนที่คนจะแห่โกยเงินหนีกัน (แตก)

เมื่อข้อมูลเหล่านี้ครบ เราจะได้สมการคร่าว ๆ ที่ทำให้เห็นได้ว่าภาพสุดท้ายกราฟจะออกมาเป็นอย่างไรครับ

เข้าใจ Tokenomic และตัวแปรของ Cryptomines

Tokenomic ของ Cryptomines ออกแบบมาดังนี้

1) มีเหรียญเพียงเหรียญเดียวคือ $ETERNAL

2) ของในเกมจะต้องซื้อโดยใช้เหรียญ $ETERNAL

3) แต่ราคาของในเกมจะถูกตรึงราคาไว้ในหน่วย USD ด้วยระบบ Oracle ก็คือไม่ว่าจะเข้าเล่นตอนไหนก็จะใช้เงินเท่ากันในการซื้อยานสักลำนึงมาเล่น

4) รางวัลที่ได้ก็จะอยู่ในหน่วยของ $ETERNAL เช่นกัน และจำนวนเหรียญรางวัลที่ได้ก็ปรับตาม Oracle เช่นกัน

5) รางวัลมีการล็อคไว้ ถ้าใครอยากได้เลยก็จะไม่ได้รางวัลเต็มจำนวน แต่ถ้ารอจนครบก็จะได้ครบตามจำนวน

ฟังดูดีนะ เล่นตอนไหนก็ใช้เงินเท่ากันและได้เงินเท่าเดิม ก็น่าจะปลอดภัยหนิ ? เปล่าเลย Oracle นี่แหละตัวร้าย ปัจจัยที่ทำให้เกมนี้ปลายทางไม่มีหนทางอื่นเลยนอกจาก "แตกกระจุย" ก็คือ Oracle นี่แหละ ... ถามว่าทำไม ? เดี๋ยวไปดูกัน

สมการขาขึ้น

โมเดล Tokenomic ของ Cryptomines สามารถแบ่งได้ออกเป็น 3 ช่วงด้วยกันได้แก่ ช่วงขึ้น ช่วงคนเริ่มขาย และช่วงแตก ขอเริ่มจากช่วงขาขึ้นก่อนว่าทำไมมันถึงพุ่งจาก $10 ไปเป็น $800 ได้

สำหรับช่วงขาขึ้นนั้น สมการที่ใช้ไม่มีอะไรมากไปกว่าสมการของ LP (Liquidity Provider) โดย LP คือการที่เราสร้างบ่อน้ำมาบ่อนึง แล้วโยนเหรียญเข้าไปสองชนิด และนั่นก็เป็นตัวกำหนดว่าราคาของเหรียญแต่ละตัวจะเท่าไหร่

ยกตัวอย่างเช่นเราโยนเหรียญ ETERNAL ลงไป 100,000 อัน พร้อมกับเงิน USDT อีก 1,000,000 USDT ก็จะส่งผลให้ ETERNAL มีมูลค่าเหรียญละ $10 นั่นเอง

จากนั้นตอนที่เรา Swap เหรียญจาก USDT เป็น ETERNAL มันก็คือการเอาเงิน USDT โยนลงไปในบ่อและหยิบเหรียญ ETERNAL ออกมาในมูลค่าเท่ากัน (ณ ขณะนั้น)

สิ่งที่เกิดขึ้นหลัง Swap เสร็จคือในบ่อจะมีเงิน USDT เพิ่มขึ้น สมมติเป็น 1,010,000 USDT ส่วน ETERNAL ลดลงเหลือ 99,009.901 และ ETERNAL จะไม่ได้มีมูลค่า $10 แล้ว แต่จะเป็น $10.2 และหากมีคน Swap อีก USDT ก็จะเพิ่มขึ้นอีกส่วน ETERNAL ก็จะลดลงอีก มูลค่า ETERNAL ก็จะเพิ่มขึ้นอีก

และจากการที่ USDT มีจำนวนเยอะขึ้นเรื่อย ๆ สวนทางกับจำนวน ETERNAL ที่ลดลงเรื่อย ๆ ทำให้พลอตออกมาได้เป็นสมการ Exponential ตามที่วงไว้ด้านบนนั่นเอง

ทำไมขึ้นแล้วไม่ลง ?

คำถามที่น่าสนใจคือ LP มันก็ใช้กับทุกเหรียญหนิ แล้วทำไมเหรียญนี้ถึงพุ่งขึ้นอย่างเดียว ส่วนเหรียญอื่นมีขึ้นมีลง ?

อันนี้เป็นเพราะกลไกที่เกมออกแบบมาครับ

ปกติแล้วถ้าเหรียญราคาขึ้นสูงมาก ๆ ก็จะมีคน Take Profit ขายทำกำไร ทำให้เหรียญราคาลง แต่พอมันเป็นเกมนี้ ผู้เล่นไม่ได้เก็งกำไรค่าเหรียญ แต่เอาเหรียญไปเปลี่ยนเป็นอุปกรณ์เล่นเกม (ยาน) ไปหมดแล้ว แถมรางวัลที่เล่นได้ก็ต้องรอ 14 วันเพื่อให้ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ด้วยเหตุผลเหล่านี้ทำให้เกิดกำลังซื้ออย่างเดียว ไม่มีแรงเทขายใด ๆ ไม่มี Supply ของ ETERNAL เพิ่ม กราฟจึงมีแต่ขึ้นนั่นเอง

และหากเอาปัจจัยทางจิตวิทยาเข้ามาพิจารณาด้วย ยิ่งเหรียญขึ้นคนก็จะยิ่งแห่เข้ามาใช่มั้ยหละ นั่นแหละยิ่งส่งผลให้เหรียญขึ้นไปอีกและไม่สามารถลงได้เพราะคนซื้อก็เอาไปแลกยานหมด

ช่วงรางวัลปลดล็อค

พอรางวัลปลดล็อค คนก็จะตัดสินใจว่าจะทำยังไงต่อระหว่าง Take Profit (เอาเงินออก) กับ Reinvest (ซื้อยานเพิ่ม) ก็จะมีคนจำนวนนึงที่เลือก TP ทำให้เหรียญราคาตกไปช่วงสั้น ๆ แต่หากกราฟมันขึ้นชันมาก คนจะไปในทางโลภมากกว่าและจะเลือก Reinvest ทำให้เงินไม่ไหลออกและไปต่อได้

อย่างไรก็ตาม ช่วงรางวัลปลดล็อคนี้มีสิ่งที่ต้องเข้าใจคือ ระบบ Oracle ได้สร้างปัญหาบางอย่างเป็นที่เรียบร้อย เพราะคนกลุ่มแรกที่เล่นตอน ETERNAL ราคา $10 เค้าจะได้รางวัลจากการเล่นครั้งเดียวถึง 2 ETERNAL ในขณะที่คนที่เล่นตอนมัน $400 จะได้แค่ 0.05 ETERNAL เท่านั้น

ทำให้คนที่เข้าก่อนได้รางวัลมาเป็นกอบเป็นกำ ถ้า Take Profit ก็ได้เงินไปเลย แต่ถ้าเลือกเอาไปซื้อยานเพิ่ม รางวัลที่ได้จากการเล่นนั้นสามารถเอาไปสร้างยานได้จำนวนมหาศาลเลยเพราะระบบ Oracle ลดราคายานลงไป 40 เท่า (ในหน่วย ETERNAL)

สิ่งที่เกิดขึ้นในเฟสนี้คือ จำนวนยานจะถูกสร้างขึ้นมามหาศาลมาก ๆ สมมติวันแรก ๆ มียานอยู่ 10,000 ลำ แต่จาก Oracle ทำให้จำนวนยานอาจพุ่งไป 1,000,000 ลำได้เลย และนี่คือตัวสร้างปัญหา

เพราะยานเป็นสิ่งที่ต้องใช้ในการเก็บเกี่ยวเหรียญ ETERNAL หากคุมปริมาณ Inflation ของยานไม่ได้ ก็จะคุมปริมาณเหรียญ ETERNAL ที่ถูกสร้างเพิ่มไม่ได้

อันนี้เป็นระเบิดเวลาที่ยังไม่เผยความเสียหายเท่าไหร่นักในตอนขาขึ้น เพราะตอนที่มันราคาขึ้น จำนวน ETERNAL ที่ได้ต่อการเล่นแต่ละครั้งมันจะน้อยลงเรื่อย ๆ ทำให้ไม่เกิด Inflation ที่น่ากังวลเท่าไหร่นัก

จนกระทั่งมันถึงจุดลง ...

ช่วงแตก

เมื่อราคา ETERNAL ขึ้นสูงมาก ๆ จำนวนยานก็จะถูกสร้างขึ้นมาเยอะมากจากปัจจัยเรื่อง Oracle และความบันเทิงจะเกิดขึ้นทันทีเมื่อเริ่มมีคนเทขาย

เพราะตอนมีคนเทขาย ราคา ETERNAL จะลง แล้วระบบ Oracle จะปรับให้รางวัลที่ได้รับนั้นสูงขึ้นในหน่วย ETERNAL

ผลคือมียานมหาศาลและรางวัลก็ดันสูงขึ้นอีก คราวนี้ก็คูณกันไปครับว่าแต่ละวันจะมีเหรียญ ETERNAL ถูกสร้างเพิ่มมาเท่าไหร่

บอกได้เลยว่า ถ้าคำนวณเป็นจะรู้ว่ามันเยอะกว่าเหรียญที่ถูกกวาดซื้อจากผู้เล่นทั้งหลายมาเพื่อเล่นเกมตอนแรกเยอะมาก พูดง่าย ๆ ภาษาชาวบ้านว่า เหรียญ ETERNAL เฟ้อเป็นที่เรียบร้อย ผลจาก Oracle ล้วน ๆ

คนที่รู้ตัวแรก ๆ ก็จะได้เปรียบไปเพราะสามารถไป Swap เงินกลับเป็น USDT ผ่าน LP ได้ แต่เนื่องจากจำนวนเหรียญ ETERNAL มันถูกสร้างมาเยอะมาก ๆ ทำให้เหรียญมันไร้มูลค่าไปเป็นที่เรียบร้อย ขึ้นอยู่กับว่าคนจะรู้ตัวกันรึเปล่า พอคนเริ่มรู้ตัวกันมากขึ้นก็จะเกิดแรงเทขายมากขึ้น และพอถึงจุดนึงก็จะเกิด Snowball Effect เทขายกระจาย

มันจะกลายเป็นการปรับฐานหากไม่มีเหตุการณ์เหรียญเฟ้อจาก Oracle ขึ้น แต่พอมันเฟ้อแล้ว มันจึงไม่มีโอกาสให้ปรับฐาน แต่เป็นการ "แตกโดยสมบูรณ์" แทนเพราะยิ่งลงเหรียญก็ยิ่งเฟ้อ แต่ละวันจะมีเหรียญถูกสร้างเพิ่มมากกว่าที่มีอยู่ในระบบเป็นร้อยเท่า และยิ่งราคาลงก็ยิ่งเพิ่มขึ้นจนเข้าใกล้อนันต์ และยิ่งเหรียญเพิ่มราคาก็ยิ่งลง มันจึงไม่มีฐานให้ปรับ กลายเป็นสมการนิวเคลียร์ที่วนไปไม่รู้จักจบสิ้นจนถึงจุดดับสูญ

และนี่คือคณิตศาสตร์เบื้องหลังที่ทำให้ Cryptomines แตกไป และต่อให้ Dev เก่งแค่ไหนก็ไม่มีทางหลีกหนีความจริงนี้พ้น เพราะคณิตศาสตร์ที่คิดมานั้นผิดตั้งแต่แรก ไม่สามารถรันได้ยาวด้วยประการทั้งปวง

Oracle ไม่เป็นมิตรต่อ Ponzinomic

Oracle สร้างปัญหามากกว่าแก้ปัญหา เพราะจะเป็นตัวที่ทำให้ไม่สามารถควบคุม Inflation ได้ จนถึงตอนนี้ยังไม่มีเกมไหนที่ใช้ Oracle แล้วอยู่รอดได้ยาว ๆ เลย แต่ก็จะมีช่วงเก็บเกี่ยวของมันอยู่ จะเล่นก็ต้องเข้าใจด้วย

ยังมีโมเดลอีกหลายแบบ

อันนี้ยก Mathematic Model มาให้ดูตัวนึง ความจริงมีโมเดลอีก 3-4 แบบที่ทำไว้สำหรับ Tokenomic แบบต่าง ๆ แต่อันอื่นคงไม่เปิดเผย อันนี้แค่อยากยกตัวอย่างง่าย ๆ มาให้ดูอันนึงเพื่อจะได้เข้าใจว่าเกม Play-to-Earn มันมีศาสตร์เบื้องหลังครอบอยู่นะ ไม่ใช่แค่กาว ๆ หรือซื้อมั่ว ๆ

และบอกได้เลยว่าจนถึงตอนนี้เล่นมาจำนวนเกมนับไม่ถ้วน ยังไม่มีตัวไหนเลยที่อธิบายในทางคณิตศาสตร์เชิงเศรษฐศาสตร์ไม่ได้ ยังไงก็ลองหาโอกาสศึกษาและมองให้ออกดูครับ

ฝากไว้อีกครั้งกับวลีเดิม

เข้าใจก็เป็นเสือ ไม่เข้าใจก็เป็นเหยือ

อยากเป็นเสือหรืออยากเป็นเหยื่อก็เลือกเอาครับ

บทความที่เกี่ยวข้อง

Sep 12, 2023, 14:42
7982 views
สายแลนเทพอาจทำให้เสียงดีขึ้นจริง แต่มันอาจเกิดที่ "สมอง" ไม่ใช่ที่สาย
Oct 31, 2021, 09:26
31401 views
เข้าใจความปลอดภัยของ WAX Chain และข้อควรระวังเพื่อไม่ให้โดนแฮค
0 Comment(s)
Loading