"มีเพื่อนดี คนเดียว ถึงจะน้อย ดีกว่าร้อย เพื่อนคิด ริษยา..."
บันทึกการต่อสู้โควิดของสหรัฐอเมริกาตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ฝากถึงรัฐและคนไทย
25 Apr 2021 06:38   [40519 views]

โควิดเข้ามา ช่วงนี้แอบเหนื่อยใจกับรูปแบบการบริหารจัดการโควิด-19 ของประเทศไทยเป็นอย่างมาก พูดตามตรงว่าทำเหมือนโควิดเพิ่งเกิดมาเมื่อวานเลย ไม่ได้เรียนรู้จากการรับมือของประเทศอื่นเลยแม้แต่น้อย วันนี้เลยขอใช้โอกาสนี้มาบันทึกว่าอเมริกา

เริ่มต้นไม่ดีเพราะทรัมป์บิดเบือน

วลี "ก็แค่หวัด" ไม่ได้เกิดแค่บางประเทศแถวภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคหรอก ประเทศผู้นำอย่างสหรัฐอเมริกาก็มี โดยอดีตปธน.คนก่อนอย่างทรัมป์ก็เคยทำงามหน้าด้วยการกล่าววลีนี้มาแล้วเช่นกัน

สาเหตุเพราะโควิดเข้ามาตอนช่วงที่ทรัมป์กำลังจะหมดวาระ และทรัมป์ก็สนใจแต่ตัวเลขเศรษฐกิจจนไม่สนใจอะไรอย่างอื่นเลย เพราะมันส่งผลต่อผลเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง

สุดท้ายทรัมป์เลยรับมือโควิดได้ในระดับเลวร้ายมาก โกหกบิดเบือนอะไรต่าง ๆ นานา จนสุดท้ายโรคก็ระบาดไปทั่ว คนเสียชีวิตเริ่มเยอะขึ้นเรื่อย ๆ สถานการณ์เลวร้ายลงตามเวลา

ถือเป็นการเริ่มต้นที่ไม่ดีเอามาก แต่เพราะเหตุนี้คะแนนนิยมของทรัมป์จึงต่ำลงมาก ๆ ทรัมป์จึงเปลี่ยนท่าทีและเริ่มโฟกัสการแก้ไขปัญหาโควิดมากขึ้นในมือของ Fauci แต่ถึงกระนั้น การระบาดก็เข้าสู่เฟส 3 (ลุกลามจนไม่สามารถหยุดได้) เรียบร้อยแล้ว

คนติดกระจาย โรงพยาบาลเต็ม เครื่องมือไม่พอ

ผ่านช่วงแรกไปไม่นาน คนติดโควิดก็พุ่งกระฉูด ผู้ป่วยหนักเต็มประเทศจนโรงพยาบาลมีเตียงไม่พอ หมอพยาบาลทำงานอย่างหนักจนต้องมีการเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากภาคประชาชนให้ช่วยกันลดภาระของหมอด้วยการช่วยการ Flattening the Curve หรือการพยายามทำให้แต่ละวันมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ พยายามทำให้ผู้ป่วยอยู่ในความจุที่สถานพยาบาลรับได้ให้ได้

มาตรการต่าง ๆ จึงถูกประกาศออกมา อย่างเช่นการไม่อนุญาตให้คนนั่งใน Indoor ได้เพื่อลดการกระจายของเชื้อไวรัส มีการจำกัดคนที่จะเข้าไปใน Supermarket หรือพื้นที่ปิดใด ๆ ออกกฎให้คนใส่หน้ากาก (ถ้าไม่ใส่มีสิทธิ์โดนจับได้ในหลายรัฐ) รวมถึงมาตรการ Social Distancing ที่ให้ทุกคนยืนห่างกันอย่างน้อย 6 ฟุต

หลายรัฐก็ทำตามอย่างดี (เช่น California) แต่หลายรัฐ (รัฐสีแดงของทรัมป์ล้วน ๆ) ที่ชอบขัดขืน ไม่ใส่หน้ากาก จัดปาร์ตี้ทำโน่นทำนี่กันไป สุดท้ายก็รับกรรมกันไปเป็นโซน ๆ ดูแลกันเอง

ตัวเลขการระบาดก็ยังคงเพิ่มขึ้นซึ่งมาจากหลายสาเหตุ ทั้งเรื่องของสายพันธุ์ไวรัสที่มีอัตราการระบาดสูง สภาพอากาศที่เหมาะกับการดำรงชีวิตของไวรัส ฯลฯ แต่ทุกคนก็พยายามกันอย่างเต็มที่เพื่อลดภาระของหมอให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

คนติดเชื้อรักษาอยู่บ้าน ป่วยหนักค่อยมีรถมารับไปโรงพยาบาล

และสิ่งที่ลดภาระของหมอและสถานพยาบาลได้ดีอย่างมากคือ "การให้คนติดเชื้อแบบไม่มีอาการรักษาตัวอยู่บ้าน"

ในช่วงแรกที่คน Panic กันสุด ๆ คนก็แห่กันไปหาหมอ แต่ผ่านไปไม่นานหมอก็เริ่มไม่อนุญาตให้อยู่รักษาตัวที่โรงพยาบาลอีกต่อไปหากไม่มีอาการหรืออาการเบา เพราะอยากจะสำรองเตียงและเครื่องมือ (ECMO) สำหรับคนที่จำเป็นเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นโควิดอาการรุนแรงเองหรือโรคอื่น ๆ

และนั่นก็กลายเป็น Norm ของสังคมไป สุดท้ายคนติดโควิดก็แค่คนป่วยปกติ เดี๋ยวก็หาย เดี๋ยวร่างกายก็ต่อสู้กับไวรัสเอง ถ้าอาการหนักค่อยไปขอความช่วยเหลือ (มีเบอร์ให้โทรให้รถพยาบาลไปรับถึงบ้านเลย)

ทำให้คนเริ่มมองว่าโควิดมันก็แค่โรค ๆ นึง รักษาอยู่บ้านยังหายเลยนะแกรรร

ก็เคยเห็นคนที่ไทยบอกว่า "ดูสิ อเมริกาลำบากมาก ถ้าติดเชื้อต้องรักษาอยู่บ้าน ไปหาหมอไม่ได้" มันไม่ใช่เว้ยยยย ความจริงแล้วนี่แหละคือสิ่งที่ทำให้ Mindset คนที่นี่กับคนที่ไทยต่างกันออกไป คนไทยยังคงกลัวกันอยู่ว่าติดโควิดคือโรคร้าย แต่คนที่นี่ติดโควิดก็แค่โรค ๆ นึง ไม่ได้น่ายินดีหรอกแต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่าน่ากลัวอะไร

เข้าถึงการตรวจเชื้อง่าย ตรวจเมื่อไหร่ก็ได้และฟรีหมด

แล้วจะรู้ได้ยังไงอ่ะว่าเราติดเชื้อรึยัง ?

ช่วงแรกก็ตรวจก็ทำได้ยากอยู่เพราะอุปกรณ์ตรวจมีไม่พอตามที่เคยได้เห็นข่าวกัน แต่พอผ่านไปได้ 1 เดือนชุดตรวจก็พรึบเต็มประเทศ มี Site สำหรับขับรถไปตรวจแบบ Drive-thru ได้เลยเยอะมาก ๆ ถ้าดูมีอาการก็ขับรถไปจิ้มจมูกได้เลย แล้วก็รอผลอยู่บ้าน 24-48 ชั่วโมงรู้ผล ไม่ต้องไปทำที่โรงพยาบาลแต่อย่างใด ซึ่งตรงนี้ช่วยลดภาระของหมอพยาบาลได้เยอะมาก ๆ

โควต้าการตรวจฟรีก็จะแล้วแต่รัฐ แต่ส่วนใหญ่เท่าที่เห็นก็จะประมาณ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ คือเหลือเฟือมากอ่ะ ใครอยากเจ็บตัวบ่อย ๆ ก็แวะไปได้เรื่อย ๆ

ทั้งนี้การตรวจของที่นี่จะเป็นแบบ PCR ทั้งหมดซึ่งให้ผลแม่นยำกว่า Rapid Test ทำให้ค่อนข้างน่าเชื่อถือมาก

สุดท้ายการเข้าถึงการตรวจคือง่ายมาก และนั่นทำให้ทุกคนสามารถดูแลตัวเองได้ ถ้าอยากรู้ว่าตัวเองติดรึเปล่าก็ไม่ต้องไปถึงโรงพยาบาล ถ้ารู้ว่าตัวเองติดแล้วก็ดูแลตัวเองที่บ้านได้ ทุกอย่างคือทำได้ด้วยตัวเองทั้งหมด

นั่นทำให้เลขผู้ติดเชื้อพุ่งมาก ก็ใครก็ตรวจได้ฟรีหมดนี่นา

อเมริกาถือครองประเทศที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงมาโดยตลอด ถามว่าทำไม ... ก็ระบาดหนักจริง และ ... ตรวจได้ตลอดเวลาไง ! ไม่มีการปกปิด ไม่มีข้อจำกัดด้านการตรวจ เป็นคือเป็น ไม่เป็นคือไม่เป็น จบ

มันน่าสบายใจกว่าประเทศที่การเข้าถึงการตรวจยากมากเยอะ จะบอกว่านี่เป็นส่วนสำคัญมากในการที่ทุกคนสามารถดูแลตัวเองกันได้แถมยังช่วยลดการ Panic ลงได้อย่างดี

ประเทศไทยควรปรับปรุงนโยบายเรื่องนี้เป็นการเร่งด่วน หากยังเข้าถึงการตรวจยากและยังต้องรับทุกคนที่ติดเชื้อไปกักตัวที่โรงพยาบาลจะมีแต่การสูญเสียที่ไม่จำเป็นเกิดขึ้น ขอฝากไว้

ยอมรับความจริงว่าอเมริกาพื้นที่ใหญ่จนคุมยาก

อีกหนึ่งสาเหตุที่อเมริกาคุมการกระจายเชื้อโรคได้ยากคืออเมริกาพื้นที่ใหญ่มาก ๆ เอาเป็นว่าใหญ่กว่าไทย 48 เท่าอ่ะ แถมแต่ละรัฐก็เชื่อมต่อถึงกัน ทำยังไงก็ไม่มีทางควบคุมได้ สหรัฐ ฯ จึงไม่ใช้วิธีการป้องกันไม่ให้เกิดการระบาด แต่จะยอมให้เกิดการระบาดแต่ด้วยอัตราที่ยอมรับได้แทน (Flattening the Curve) หากฝืนก็มีแต่จะพัง ไม่ส่งผลดีต่ออะไรเลย

จึงใช้วิธีอยู่ร่วมไม่ใช่ปลอดโรค

ดังนั้นทางฝั่งนี้จึงไม่เคยมีแนวคิดว่าคนติดเชื้อต้องเหลือ 0 เลย ปล่อยให้การระบาดเกิดขึ้นแต่อยู่ในช่วงที่หมอยังทำงานได้ อันนี้ตรงกันข้ามกับไทยโดยสิ้นเชิงที่คลั่งเลข 0 กันจนทุกอย่างยาก

แน่นอน ในแง่การสูญเสียก็อาจจะสูงเพราะล่าสุดคนเสียชีวิตทั่วอเมริกาไปแล้วเกือบ 6 แสนคน แต่นั่นคือสิ่งที่ทุกคนพร้อมจะรับและอยู่กับมัน ทุกคนเข้าใจว่ามันคือโรคระบาด ระวังตัวให้ดีที่สุดและพร้อมถีบคนที่ละเมิดกฎ เช่น เข้าใกล้เกิน 6 ฟุต (ถีบนี่ถีบจริง ๆ นะ)

นั่นก็คือภาพที่เห็นตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขดูน่ากลัวแต่ทุกคนใช้ชีวิตตามปกติครับ

ลดการเดินทางที่ไม่จำเป็น

นโยบาย Work from Home ถูกนำมาใช้กันทั่วประเทศ สาเหตุก็เพราะเพื่อไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อกันในออฟฟิศ รวมถึงการลดการเดินทางที่ไม่จำเป็นอันอาจส่งผลต่อการติดต่อของโรคได้

นโยบายนี้ทำให้การทำงานยากขึ้น ห้างร้านต่าง ๆ เงียบเหงาลงไป แต่ก็ช่วยลดการติดต่อของโรคลงได้เยอะ (ปีที่แล้วถึงกับไม่มีไข้หวัดใหญ่ระบาดในช่วง Seasonal Flu เป็นครั้งแรกในรอบสิบปี)

แต่แน่นอน ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถ WFH ได้ มันก็ยังมีคนที่จำเป็นจะต้องเดินทางอยู่ ที่สำคัญคือสังคมไทยจะต้องไม่ Blame และเข้าใจ

Balance ระหว่างการสูญเสียจากโรคและการสูญเสียจากเศรษฐกิจ

สภาวะที่โลกเผชิญอยู่ตอนนี้คือสภาวะ "โรคระบาด" มันก็คือสงครามดี ๆ นั่นแหละ การสูญเสียเป็นอะไรที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แค่ว่าจะสูญเสียทางไหน ? หลัก ๆ ก็มีสองอย่างแหละ การสูญเสียจากตัวโรคเองและการสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการตกงาน ฯลฯ

การสูญเสียจากโรคเป็นอะไรที่วัดได้ในขณะที่การสูญเสียจากเศรษฐกิจและอื่น ๆ นั้นวัดยาก ไทยเลือกจะใช้วิธีลดการสูญเสียจากตัวโรค แต่ตัวเลขเศรษฐกิจนี่บอกไม่ได้ว่าพังแค่ไหนเพราะไม่มีตัวเลขออกมา

แต่สหรัฐ ฯ เค้าพยายาม Balance ระหว่างการสูญเสียจากตัวโรคและเศรษฐกิจ ซึ่งถามว่าเค้าวัดยังไง ? เค้าใช้ตัวเลข "ผู้ว่างงาน" ครับ ถ้าช่วงไหนจำนวนผู้ว่างงานสูง เค้าประเมินได้ว่ามันส่งผลกระทบยังไง และอาจจะมีการ Loosen นโยบายด้านโควิดลง ในขณะที่ถ้าผู้ว่างงานลดก็จะเคร่งเรื่องโควิดขึ้น

สุดท้ายอเมริกาจึงใช้เลขสองตัวนี้ในการ Balance นโยบายเพื่อให้ทุกอย่างยังเป็นไปได้ต่อไป

ถามว่าไทยมีมั้ยจำนวนตัวเลขผู้ว่างงานเนี่ย ตอบว่ามีครับแต่มีวิธีการคำนวณที่แปลก ๆ และแน่นอน ไม่ได้เอามาใช้บริหารอะไรในสถานการณ์โควิดเลยจนถึงตอนนี้

คนติดเชื้อไม่เป็นจำเลยสังคม ก็แค่ป่วย รักษาให้หาย

อาจจะเป็นเพราะฝั่งนี้คนติดไวรัสเยอะจนกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว ทำให้คนที่ติดโควิดที่นี่จึงไม่ใช่คนที่สังคมรังเกียจเหมือนประเทศไทย แค่ทุกคนต้องรับผิดชอบตัวเอง ถ้าติดก็ต้องกักตัว (Self Isolation) นะ รักษาตัวเองให้หาย จะได้ไม่ไปแพร่ให้คนอื่น

การไม่ติดเชื้อเป็นอะไรที่ดีที่สุด เราพยายามให้เต็มที่เพื่อหลีกเลี่ยงกัน แต่ถ้าติดเชื้อก็รักษาให้หาย มันก็แค่นั้น ถ้าเสียชีวิตก็น่าเสียใจแหละ แต่ก็พยายามดีที่สุดแล้ว เราอยู่ในสภาวะโรคระบาดอ่ะเนอะ มันเป็นความเสี่ยงที่ต้องเจอตั้งแต่ลืมตาดูโลกแล้ว

สิ่งที่น่ากังวลมาก ๆ ของประเทศไทยคือ คนติดโควิดกลายเป็นคนที่สังคมรังเกียจ กลายเป็นจำเลยสังคม แกมันเป็นโรคร้าย แกมันเป็นตัวเชื้อโรค ผลคือเกิดการเหยียดและประณามกันในสังคม

ถามว่ามันส่งผลเสียยังไง ? ... ใครจะกล้าตรวจและเปิดเผยตัวว่าติดโควิดหละครับแบบนี้ ?

ตัวเลขก็ไม่ขึ้นไง รัฐบาลคงมีความสุขแหละ แต่ประชาชนก็รับกรรมไปนะ การระบาดก็ไปเรื่อย ๆ นะ ปกปิดกันเต็มที่เพราะกลัวโดนสังคมประณามไง

เป็น Mindset ที่ต้องเปลี่ยนได้แล้วสำหรับสังคมไทย คนที่ติดโควิดคือติดไวรัส ต้องรักษาให้หาย ต้อง Educate ให้ทุกคนมีความรับผิดชอบต่อชีวิต

ทุกวันนี้สังคมไทย Blame กันเก่งมาก แกมันทำให้โรคเกิดการระบาด แกมันทำให้เศรษฐกิจพัง ... คือเราอยู่ในภาวะโรคระบาด ถ้าสังคมยังเป็นแบบนี้จะมีแต่พังกับพังครับ ด้วยความเป็นห่วง

มีแต่รัฐบาลนี่แหละที่ยิ้มเพราะออกกฎมาแต่ละอย่างเพื่อให้คนด่ากันเองชัด ๆ ลอยตัวสบายเลย มีคนผิดแล้วไง แต่รัฐบาลทำอะไรบ้างหรอ ... ช่วยหาตัวคนโดนด่าไง แก้ปัญหาแบบไทยมาก

วางแผนรองรับคนตกงาน

สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จากสภาวะโรคระบาด (ซึ่งคือสภาวะสงครามดี ๆ นี่แหละ) คือผลกระทบทางเศรษฐกิจ การปิดกิจการ การตกงาน การพักงาน ซึ่งจะบอกว่าบางคนที่หาเช้ากินค่ำนี่มันหมายถึงชีวิตเค้าเลยนะ

แน่นอนว่าที่อเมริกามีการจัดเตรียมทุกอย่างไว้อย่างดี อย่างที่บอกก่อนหน้านี้ มันมีการรับมือทั้งจากตัวโรคเองและจากตัวเศรษฐกิจ นโยบายควบคุมโรคก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะส่งผลให้คนไปร้านซื้อของต่าง ๆ น้อยลง ร้านค้าขาดรายได้ก็ส่งผลต่อสถานภาพการทำงานของพนักงานเช่นกัน

สวัสดิการสังคม (Social Security) จะช่วยดูแลตรงนี้ คือมั่นใจได้ว่าถึงจะตกงานแต่ก็จะยังมีเงินกินข้าวนะ เอาไว้ช่วยยื้อชีวิตระหว่างรอให้ทุกอย่างกลับมาดีขึ้นแล้วหางานใหม่ได้อีกครั้ง

นี่คือสิ่งที่ประเทศไทยขาดไปอีกเช่นกัน การโฟกัสไปที่คนตกงานโดยเฉพาะเพื่อพยุงชีวิตคนและควบคุมสถานการณ์โรคระบาดไปพร้อม ๆ กัน ฝากไว้ครับ

มองเป็นการสู้ระยะหลักปีไม่ใช่วันต่อวัน สู้เพื่อรอวัคซีน

อเมริกามองการต่อสู้กับโควิดเป็นเกมยาวมาแต่แรกแล้ว เค้ามองแล้วว่ามันคือการวิ่งมาราธอนที่ต้องวิ่งต่อเนื่องเป็นปี ๆ (และอาจจะอีกหลายปีจากนี้) และจุดเปลี่ยนที่จะทำให้หยุดพักวิ่งได้คือ "วัคซีน" ไม่ว่าจะเป็นปลายทางหรือเป็นแค่ Checkout แต่มันทำให้สถานการณ์เปลี่ยนได้แน่นอน

ระหว่าง 1 ปีที่ผ่านมาอเมริกาเลยใช้วิธีรับมือตามที่บอกไป ควบคุมอัตราการระบาดให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้แต่ทุกคนก็ยังใช้ชีวิตกันต่อไปเพื่อไม่ให้เกิดการล่มสลายทางเศรษฐกิจ และสิ่งที่ทุกคนรออย่างใจจดใจจ่อคือ วัคซีน

รัฐบาลมองเห็นตรงนี้ตั้งแต่การระบาดเริ่มต้นแล้วว่ามันคือทางออก จึงสั่งจองและวางแผนเรื่องวัคซีนไว้อย่างดีตั้งแต่ตอนนั้น มีการกระจายความเสี่ยงด้วยการสั่งจองทุกยี่ห้อ (แน่นอนว่ายกเว้นของจีน) ระหว่างทางก็มีการพยายามเร่งทุกกระบวนการให้ทำออกมาได้เร็วที่สุด การอนุมัติฉุกเฉินก็ทำทันทีที่มั่นใจแล้วว่ามันมีประสิทธิภาพและปลอดภัย สุดท้ายจึงกลายเป็นประเทศที่ฉีดวัคซีนได้อย่างรวดเร็วและส่งผลให้เห็นจาก Curve การระบาดที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

อันนี้เป็นสิ่งที่ผู้นำประเทศไทยสอบตกอย่างรุนแรง ประเทศไทยบริหารเหมือนแค่ให้ผ่านไปวัน ๆ ยินดีรื่นเริงกับเลข 0 แต่ไม่ได้มองยาวหรือปลายทางเลย จึงเป็นอย่างที่เห็นตอนนี้นี่แหละ

กระจายวัคซีนทั่วถึง ฉีดได้จาก Supermarket หรือในรถ

อย่างที่บอก วัคซีนคือทางออกของวิกฤติครั้งนี้ แต่ปัญหาต่อไปคือ จะทำยังไงให้การฉีดวัคซีนเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว ?

คำตอบคือ "มีให้ฉีดมันทุกที่เลย"

เมืองไทยเราอาจจะมองภาพการฉีดวัคซีนว่าต้องไปฉีดที่โรงพยาบาลหรือคลีนิคจริงจัง แต่สำหรับที่นี่ ร้านขายยาตาม Supermarket ก็สามารถฉีดวัคซีนให้กับผู้คนได้เช่นกัน อาจจะไม่ใช่ทุกตัว แต่สำหรับโควิดนี่คือได้รับการอนุมัติเป็นพิเศษให้เภสัชกรตามร้านขายยาเป็นคนฉีดยาให้ได้ทันที

ไม่ใช่แค่นั้น ยังมีการเปิดซุ้มฉีดวัคซีนแบบ Drive-thru ให้ฉีดได้ในรถกันเลย !

ทั้งหมดนี้ทำให้ลดภาระของหมอพยาบาลตามโรงพยาบาลได้เป็นอย่างดี ในขณะเดียวกัน ก็ลดความเสี่ยงในการกระจุกตัวกันของผู้คน รวมถึงการกระจายวัคซีนก็ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วอีกด้วย

ด้วยการร่วมมือกันของทุกฝ่าย ตอนนี้สหรัฐ ฯ สามารถฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นถึง 2-3 ล้านคนต่อวัน หรือราว 60-100 ล้านคนต่อเดือน ตัวเลขล่าสุดคือคนฉีดเข็มเดียวไปแล้ว 137 ล้านคน ในขณะที่คนฉีดครบโดสแล้ว 83 ล้านคน จากประชากรทั้งหมด 328 ล้านคน

นึกภาพไปฉีดยาตามร้านขายยาในประเทศไทยไม่ออกจริง ๆ แต่ถ้าจะทำ Mass Vaccination คงใช้วิธีแบบเดิม ๆ ไม่ได้แล้วนะ

มีลำดับการฉีดวัคซีนตามความสำคัญ

ที่นี่มีการฉีดวัคซีนตามลำดับความสำคัญชัดเจน โดยเริ่มฉีดผู้สูงอายุ (เกิน 65) และผู้มีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงก่อน จากนั้นก็ค่อย ๆ ลดอายุลงมา ล่าสุดก็คืออายุมากกว่า 16 ก็ฉีดได้หมดทุกคนแล้ว

ผลลัพธ์ออกมาถือว่าน่าพอใจมาก ซึ่งจะบอกว่าการฉีดตามคลัสเตอร์ที่ระบาดแบบที่ไทยทำนั้นไม่ได้ช่วยอะไรเลยนะ ฉีดตามลำดับความจำเป็นนั้นสำคัญกว่ามาก

รับมือโควิดได้ไม่ดีแต่มีการเรียนรู้และปรับตัว

ที่พิมพ์มาจะเห็นได้ว่าอเมริกาก็ไม่ได้รับมือโควิดได้ดีนักโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงแรก แต่ก็ยังดีที่ประเทศยังเรียนรู้และปรับตัว รวมถึงมีการรองรับผลกระทบทุกด้านเป็นอย่างดี อันนี้ต้องชมเรื่องความจริงจังด้านการบริหารประเทศของรัฐบาล

การรับมือของสหรัฐ ฯ ไม่ได้ดีเลิศ มีทั้งสิ่งที่น่าทำตามรวมถึงสิ่งที่ไม่ควรทำเลย ส่วนตัวคิดว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตควรจะน้อยกว่านี้ แต่นั่นแหละ มันไม่มีอะไร Perfect แต่สิ่งที่น่าชื่นชมคือสหรัฐ ฯ ได้ลองอะไรไปหลายอย่างมากในวิกฤติครั้งนี้ มีการปรับเปลี่ยน Guideline เรื่อย ๆ ตามข้อมูลได้ที่เพิ่มขึ้นมาเพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคลง

อยากจะบอกว่าเราสามารถเอาสิ่งที่สหรัฐ ฯ ลองมาแล้วเรียนรู้จากมันโดยไม่ต้องลองเองได้เยอะมาก ๆ เราเองก็ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างจากเหตุการณ์ครั้งนี้

ก็แปลกใจนะที่ไทยผ่านมา 1 ปีแล้ว ยังบริหารเหมือนโควิดเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวานนี้ มีอะไรให้เรียนรู้จากประเทศอื่นเยอะมากเลยนะ กรุณาให้เกียรติเลข 19 ในโควิด-19 ด้วย ...

สรุป: ฝากถึงรัฐและสังคมไทย

ที่เขียนบทความนี้มาเพราะอยากจะทำให้มัน Actionable ตอนแรกจะเปิด Session ใน Clubhouse แต่เปลี่ยนมาเขียนบทความแทนเพราะน่าจะเอาไปใช้ Reference ง่ายกว่า

ก็ขอส่งท้ายด้วยการฝากถึงรัฐก่อน

1) อยากให้สธ.ยกเลิกการกักตัวทุกคนที่ติดเชื้อในสถานพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนามได้แล้ว

2) ยกเลิกเงื่อนไขการให้คนไข้เข้ารักษาที่โรงพยาบาลที่ตรวจได้แล้ว

3) เปิดให้ตรวจฟรีสำหรับทุกคนได้แล้ว

4) เปิด Site ตรวจนอกโรงพยาบาลเพื่อลดภาระหมอ

5) วางแผนเรื่องวัคซีนแบบจริงจังได้แล้ว ไม่ใช่ขอไปที ทั้งเรื่องการสั่งและการกระจาย

6) ออกนโยบายอะไรให้ออกมาพร้อมตัวเลขเศรษฐกิจด้วย

7) พยุงคนตกงานและ Blue Collar ด้วย

8) เลิกหนีปัญหา ยอมรับก่อนว่ามีปัญหา ไม่งั้นจะแก้ปัญหาไม่ได้

และฝากถึงสังคมไทย

1) ถ้าอยากจะลดความสูญเสียก็อยากให้ยอมรับความจริงว่ามันคือโรค ๆ นึง ไม่ใช่รังเกียจกัน

2) เลิก Blame กันหากตัวคนผิดได้แล้ว เพราะมันไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไรเลย มันคือการหนีปัญหา

3) ในสภาวะโรคระบาดการสูญเสียนั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้ โรคระบาดมันเกิดมาเพราะมีเหตุผลของมัน อยากให้ปรับจิตปรับใจเพื่อสู้มันไปด้วยกัน

ถ้าอยากจะผ่านไปได้ทุกคนต้องช่วยกันนะครับ ฝากไว้

Disclaimer:

1) มีคนรอบตัวติดโควิดจนขี้เกียจนับแล้ว

2) มีคนรู้จักเสียชีวิตแล้วหลายคน

ที่พิมพ์มาไม่ใช่ไม่มีประสบการณ์หรือพูดหล่อ ๆ ครับ แต่ผ่านมันมาแล้ว และอยากให้คนไทยปรับตัวเพื่อรับความจริงกัน ไม่งั้นความเสียหายจะหนักมากนะ

บทความที่เกี่ยวข้อง

Oct 11, 2020, 13:09
45670 views
Blameless Post-mortem วัฒนธรรมการหาต้นเหตุความผิดพลาดโดยไม่กล่าวโทษใคร
Sep 21, 2020, 06:44
39613 views
"เรากำลังสร้าง Value อะไรให้องค์กรอยู่ ?" คำถามที่คนทำงานควรถามตัวเองอยู่ตลอดเวลา
0 Comment(s)
Loading