บล็อกที่แล้วเราพาไปสรุปเหตุการณ์ให้ฟังกันแล้วว่าเกิดอะไรขึ้นกับ WeWork ซึ่งถ้าจะให้พูดตรง ๆ นี่เป็นเหตุการณ์ที่เรียกได้ว่า "จุดเริ่มต้นของจุดจบ" อย่างแท้จริง เปรียบเสมือนโดมิโนชิ้นแรกที่เพิ่งล้มลงและจากนี้คือจะล้มระนาวต่อไปเป็นทอด ๆ เลย
บล็อกนี้เลยจะมาเล่าให้ฟังต่อว่าจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนี้ กับวันที่ WeWork ยกเลิก IPO อย่างเป็นทางการและทุกคนมองว่ามันเป็นของหลอกลวง (Fraud) จนยากจะพลิกภาพกลับมาให้เป็นบวกได้แล้ว สถานการณ์จะเดินต่อไปทางไหน มีโอกาสรอดมั้ย ใครจะเจ็บบ้าง มาอ่านบทวิเคราะห์กันในบล็อกนี้ได้เลยยย
เงินสดเหลือพอใช้แค่ไม่เกิน 6 เดือน
เดือนมิถุนายน We Co. เหลือเงินสดอยู่ 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ฯ ฟังดูเยอะแต่ความจริงคือน้อยมากกกกเพราะว่า Burn Rate ของ We Co. อยู่ที่ถึง Quarter ละ 700 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ เลยทีเดียว
จากตอนนั้นถึงตอนนี้ผ่านมาสามเดือน คิดว่าน่าจะเหลือเงินสดแค่ 1.8 พันล้านเหรียญละ ดีดลูกคิดดูก็จะเห็นว่าคงอยู่ได้อีกแค่ 4-6 เดือนเท่านั้น
แล้วจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเงินสดหมด ?
ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่า ต้องทยอยปิด
ธุรกิจของ WeWork เป็นการเช่า (Lease) พื้นที่ระยะยาวแล้วปล่อยเช่าต่อระยะสั้น สัญญาที่ทำคือสิบปีขั้นต่ำ และแน่นอน ถ้าเงินสดหมดแล้วจะเอาเงินที่ไหนไปจ่ายค่าเช่า ?
ตอบว่า ... ก็ไม่มีไงจ๊ะะะะะ
พอไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าก็ตรงไปตรงมาเลย ต้องปิดสาขาต่าง ๆ ไปโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ น่าจะเกิดขึ้นภายใน Quarter 1 ปีหน้านี่แหละ
ต้องคืนเงินสมาชิก
สำหรับคนที่จ่ายค่าสมาชิกล่วงหน้าไว้แล้วแต่ไม่มีที่ให้ทำงานจะทำยังไงหละ ก็ต้องคืนเงินสิ
แต่จะคืนยังไงเมื่อไม่มีเงินสดเหลือ ?
ก็ไม่มีคืนงายยยยย คงเป็นเรื่องเป็นราวอีก หากเงินก้อนนั้นสำคัญต่อธุรกิจของคนที่มาเช่าก็อาจจะมีคนเดือดร้อนหนักอีก
มอง ๆ ไปมีแต่ค่าใช้จ่ายจริง ๆ WeWork ทำอะไรเนี่ยยยย
Softbank น่าจะอุ้มต่อ แต่คงยื้อได้ไม่นาน
นาทีนี้ Softbank ขี่หลังเสือแล้ว ถ้าตัดใจตอนนี้ เงิน 10.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ฯ ที่ตัวเองลงไปกับ WeWork ก็คงสูญสิ้น เลยคิดว่า Softbank น่าจะอุ้มต่อโดยอัดฉีดเงินให้อยู่ต่อได้อีกสัก 1-2 พันล้านเหรียญ ซึ่งคงต่ออายุได้อีก 6 เดือนโดยประมาณ
แต่เมื่อ Core Business มันเละเทะขนาดนี้ มันก็ได้แค่ยื้อเวลา เพราะ Business Model ถูกกำหนดมาแต่แรกแล้วให้ไม่มีมูลค่าอะไร ก็คงต้องดูว่า Softbank จะรับมือกับมันยังไง
น่าจะหาทุนเพิ่มไม่ได้
ภาพของ WeWork ตอนนี้ชัดเจนแล้วว่าเป็นบริษัทที่ไม่มีทางทำกำไรได้ ดังนั้นในแง่ของการหานักลงทุนหน้าใหม่คาดว่าคงจะเป็นไปไม่ได้ ตอนนี้คือนับถอยหลังสู่วันที่บริษัทเงินสดหมดมือเท่านั้นเอง
จะกู้ธนาคารก็คงทำไม่ได้เช่นกัน เพราะเครดิตของบริษัทไม่ดีพอ บริษัทไม่มี Asset อะไรไปค้ำประกัน (เพราะเช่าเค้ามาหมด) ไม่มีทางออกไหนที่จะเพิ่มทุนได้เลย
ขายของแหลกแต่ก็คงไม่พอค่าใช้จ่าย
นาทีนี้ WeWork เปรียบเสมือนเด็กน้อยผู้สร้างหนี้มาพันล้านบาท แต่ตัวเองมีเงินเดือนอยู่สองหมื่นสอง แล้วปรากฏว่ารู้ชะตากรรมละว่าบ้านกำลังจะโดนยึด ทำยังไงหละ ก็เลยต้องเร่ขายของที่ตัวเองมีอยู่ให้หมด ซึ่งก็คือบริษัทที่ We Co. ซื้อไว้ตลอดหลายปีที่ผ่านมาออกไป รวมถึงขาย Private Jet ที่ CEO คนก่อนทะลึ่งไปซื้อมาอีก ทำได้อย่างเดียวตอนนี้คือขายทุกอย่าง
แต่ถามว่าช่วยอะไรมั้ย ? ก็ไม่ช่วย เพราะติดหนี้พันล้านไง ขายพวกนั้นได้อย่างมากก็ได้สักสิบล้านอะไรงี้ ขายได้หมดนั่นก็ได้แค่ยื้อเวลาเพิ่มสัก 1-2 เดือน แล้วก็กลับสู่สถานการณ์เดิม
มุ่งสู่การล้มละลาย
จากสถานการณ์ล่าสุดและสิ่งต่าง ๆ ที่สาธยายมาให้ฟังด้านบน ทางออกเดียวที่เห็นเลยตอนนี้คือ
"ล้มละลาย"
มันไม่ใช่ว่าจะล้มละลายมั้ย คำตอบคือ "เมื่อไหร่" แค่นั้นเอง และเดาว่าน่าจะอีกไม่นาน ...
เจ็บคนแรกคือพนักงาน
We Co. มีพนักงานอยู่ 15,000 คน เมื่อสถานการณ์ตอนนี้คือการลดค่าใช้จ่าย สิ่งที่ต้องเกิดขึ้นแน่นอนคือการ "ไล่คนออก" ยังไม่มีประกาศข่าว แต่คงจะอีกไม่นาน และคาดว่าน่าจะไล่ออกถึง 5,000 - 10,000 คนเลยทีเดียว
ซึ่งแน่นอนว่าการไล่คนออกต้องมีเงินชดเชยให้ตามกฎหมาย แต่ด้วยสถานการณ์ทางการเงิน เชื่อว่าบริษัทน่าจะไม่มีจ่ายค่าชดเชยตรงนี้
สำหรับคนที่ไม่โดนไล่ออกก็ไม่ได้โชคดีแต่อย่างใดเพราะเมื่อบริษัทเตรียมนับถอยหลังสู่การล้มละลาย การเงินของบริษัทก็คงแย่ลงเรื่อย ๆ จนถึงวันนึงก็จะไม่มีเงินจ่ายเงินเดือนพนักงานอีกต่อไป
นั่นเป็นแค่เด้งแรก เด้งต่อไปคือเรื่องของ "หุ้น" (Stock Option)
ในไทยไม่รู้เป็นยังไง แต่ที่นี่ (เมกา) การเข้าไปทำงานบริษัท Startup พวกนี้ พนักงานไม่ได้หวังแค่เงินเดือนนะ แต่หุ้นที่ได้ก็สำคัญกับเค้ามากเพราะบางทีมันมีมูลค่าเท่ากับเงินเดือนเลย แค่ยังขายออกมาเป็นเงินไม่ได้ ยิ่งถ้าเข้าตลาดหุ้นแล้วอาจจะเพิ่มขึ้นอีก บางคนก็รวยจากหุ้นพวกนี้แหละ
หลายคนคำนวณแล้วว่าบริษัทกำลังจะ IPO ตัวเองมีหุ้นเท่านี้ ๆ ๆ ๆ ก็เริ่มใช้เงินล่วงหน้า เช่น ซื้อบ้าน อาจจะดูไม่รอบคอบ แต่ก็ทำแบบนี้กันจริง ๆ
ซึ่งพอ IPO ไม่สำเร็จแถมข่าวออกมาในแง่ลบรัว ๆ จนคิดว่าบริษัทคงจะล้มละลายแน่แล้ว มูลค่าหุ้นก็เหลือ 0 เลย ถึงก่อนหน้านี้จะ 1 ล้านเหรียญ แต่วันนี้เหลือ 0 จ้า จากเศรษฐีเงินล้านกลายเป็นไม่มีเงินเลยนะ คนละเรื่องละราวเลย
ใครยังไม่ได้ใช้เงินก็โชคดีไป แต่ถ้าใครวางแผนล่วงหน้าไว้แล้วก็คือเครียดละ แถมมีแววจะตกงานเร็ว ๆ นี้อีก (จากตอนแรกดูไม่มีเค้าเลย) ถ้าไม่มีเงินเก็บเยอะ ๆ คงผมร่วงหละ
พนักงานเลยเป็นคนแรก ๆ ที่โดนโดมิโนล้มทับไป มีหลายท่าให้เจ็บมาก ๆ ตามที่เขียนไว้ด้านบน เจ็บแบบรับไปเต็ม ๆ เลย ส่วนผู้บริหารไม่เดือดร้อนเท่าไหร่หรอก ได้เงินไปเท่าไหร่แล้วดูสิ ... (อย่างมากก็ต้องหนีหัวซุกหัวซุนเพราะโดนคนโกรธแค้น ก็แล้วแต่บุญแต่กรรม)
Landlord ก็เจ็บ
คนที่ WeWork เช่าพื้นที่มาก็เจ็บไม่น้อย หามองไว ๆ อาจจะนึกว่าแค่กำลังจะขาดเงินจากค่าเช่า แต่จริง ๆ ยังมีต้นทุนแฝงอยู่อีกมากที่เรานึกไม่ถึง ยกตัวอย่างเช่น การที่ปล่อยเช่ายาว ๆ แบบนี้ บ่อยครั้งที่ Landlord ต้องมีการลงทุนปรับปรุงพื้นที่ครั้งใหญ่ก่อนปล่อยเช่า นี่บางทียังไม่ทันคุ้มทุนค่าปรับปรุงเลยก็เกิดเหตุการณ์นี้แล้ว ถ้า WeWork ปิดกิจการและต้องย้ายออก ทาง Landlord ก็ต้องปรับปรุงพื้นที่ใหม่อีกถึงจะปล่อยเช่าต่อได้ งานนี้คืออาจจะเจ็บหนักหลักเข่าอ่อนได้เหมือนกันสำหรับ Landlord หลาย ๆ ราย
ก็โชคยังดีหน่อยที่ Landlord ส่วนใหญ่ที่ WeWork เซ็นด้วยเป็นรายใหญ่ ก็เลยมีเงิน Back อยู่พอสมควร ถึงจะเจ็บแต่ก็ล้มบนฟูก ไปต่อได้ไม่ยากเย็นอะไร
Softbank เจ็บหนัก แต่รวยเลยคงไม่เป็นไร
นักลงทุนหลักอย่าง Softbank ผู้ลงเงินจากในกอง Vision Fund ไปแล้ว 10.4 พันล้านเหรียญ ตอนนี้ก็ต้องเตรียมใจแล้วว่าเงินก้อนนั้นอาจจะเหลือศูนย์ หรือไม่ก็ต้องพยายามหา Assets ขายเพื่อ Liquidate คืนเป็นเงินให้นักลงทุน แต่ยังไงก็คงไม่ถึง 1 พันล้านหรอก
แต่ถึงเงินจะสูญก็คงไม่เดือดร้อนอะไรเพราะ Softbank รวยมากกกกก คงแค่สะอึกและเซ็ง ๆ แล้วก็ปล่อยให้ผ่านไป แต่ที่คงกระทบแน่ ๆ คือในแง่ความมั่นใจในความสามารถของ Masayoshi Son CEO ของ Softbank ที่ดูไม่มีวิชั่นเลย (ช่างตรงกันข้ามกับชื่อกองทุน Vision Fund) ทุกตัวที่ลงทุนคือเละหมด (ยกเว้น ARM ตัวเดียว) ไม่ใช่เละเพราะโชคไม่ดี แต่เละแบบไม่ควรจะลงทุนแต่แรก คือมองไม่ออกเลยจริง ๆ ว่าธุรกิจพวกนี้น่าลงทุนยังไง แต่ Softbank ก็ลง
การกระทบความเชื่อมั่นตรงนี้ส่งผลต่อ Partnership ของ Vision Fund โดยตรง อย่างซาอุ ฯ ที่วางแผนจะลง Second Round อีก 45 พันล้านเหรียญในกองทุนก็อาจจะไม่ลงแล้วเพราะไม่เชื่อในตัว Son แล้ว
ดังนั้นถามว่า Softbank น่าสงสารมั้ย ตอบว่าไม่เลย อยากให้เห็นเป็น Case Study ของนักลงทุนที่ไม่มีความรอบคอบในการลงทุนเอาซะเลยเสียด้วยซ้ำ ก็หวังเจ็บคราวนี้(และคราวก่อนหน้านี้รวมถึงคราวก่อนหน้นโน้น)จะทำให้พัฒนาวิชั่นขึ้นในอนาคตได้นะ
สถานการณ์เดียวกับแชร์ลูกโซ่ที่ระเบิด
เขียนมาจนถึงตอนนี้ จะบอกว่า สถานการณ์ที่เห็นมันเหมือนกับตอนแชร์ลูกโซ่ถึงปลายสายเลย นาทีนี้คือเรื่องที่สร้างไว้กำลังไล่ย้อนเก็บทีละส่วน ๆ ๆ ๆ ๆ ไปเรื่อย ๆ เจ็บกันหมดยกเว้น CEO (ผู้โดนไล่ออกไปแล้ว)คนเดียว และเหมือนแชร์ลูกโซ่ ... เมื่อปลายโซ่ขาดแล้ว มันก็คือการถึงจุดจบแล้วนั่นเอง
และนี่คือเรื่องราวที่ควรศึกษาเอาไว้ น่าจะเป็นเรื่องที่เลวร้ายอันดับต้น ๆ ของ Silicon Valley เลยหละ ถ้าจะมีใครเทียบเคียง Theranos ได้ ก็คงเป็น WeWork นี้ คงสอนอะไรใครได้ดีในเรื่องธุรกิจ ไม่ว่าจะคุณจะอยู่ตำแหน่งไหนก็ตาม
ย้ำอีกที
หัวใจของธุรกิจคือ "ธุรกิจ"
ใครสอนให้คิดเอาแต่ปั่น Valuation แต่สินค้าไม่เคยมีค่าจริง สุดท้ายเมื่อถึงวัน มันไม่เคยจบสวยเลยแม้แต่รายเดียว
สวัสดี