"เงินไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาคือไม่มีเงิน"
WeWork ตอนที่ 1: "สรุปเหตุการณ์" จากการ IPO สู่การเสี่ยงล้มละลาย
3 Oct 2019 05:03   [30462 views]

ช่วงนี้ข่าว WeWork กระจุยกระจายมาก ยิ่งฝั่งนี้คือกลายเป็น Talk of the town เลย ตีข่าวกันสนุกมาก วันนี้เราเลยมาขอเล่าให้ฟังว่าเกิดอะไรกับ WeWork สตาร์ทอัปที่เคยมีมูลค่า 47 พันล้านเหรียญสหรัฐ ฯ (แต่กำลังร่วงลงอย่างต่อเนื่อง ตอนนี้ต่ำกว่า $10B ละ) ถือเป็น Case Study ที่สนุกเลยหละ

WeWork คืออะไร 

WeWork เป็น Startup ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมาด้วย Valuation ที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ และดูเหมือนจะสเกลกิจการออกไปเร็วมาก แทบจะเห็นอยู่ทุกหัวถนน

โดยธุรกิจของ WeWork คือ "การเช่าพื้นที่ระยะยาว สร้างเป็นออฟฟิศและปล่อยให้คนอื่นเช่าต่อเป็นรายเดือน" 

คุ้นมั้ย ... คุ้นสิ มันคือ Service Office ที่เป็นธุรกิจมาหลายสิบปีแล้ว ไม่ใช่ของใหม่อะไรเลย แต่นั่นแหละ WeWork มาทำในช่วงที่ Tech Startup บูม ก็เลยเกาะกระแสและเปลี่ยนไปใช้คำว่า Co-Working Space แทน แต่หัวใจหลักก็คือ Service Office ธรรมดานี่แหละ

แต่อ้อ มีสิ่งที่ต่างจาก Service Office อย่างพวก Regus นิดหน่อยคือ WeWork Space มีบริการด้าน Tech Startup ให้ด้วย เช่น ด้านกฎหมาย ด้านบริษัท ฯลฯ คนที่มาเช่าที่นี่ก็เลยจะได้ใช้บริการตรงนี้ด้วย 

Core Business มีความเสี่ยงสูงด้วยตัวมันเอง 

ธุรกิจ Service Office เป็นธุรกิจที่มีมานานก็จริง แต่เป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงมากกกกนะ สาเหตุเพราะมันเป็นการเช่าพื้นที่มาระยะยาว แต่ปล่อยเช่าคนอื่นต่อในระยะสั้น (ขั้นต่ำ 1 เดือน)

ดังนั้นในแง่ของค่าใช้จ่ายแล้ว WeWork มีค่าใช้จ่ายที่ Fix ยาวไปเลยเป็นสิบปี ไม่สามารถปรับลดได้ แต่รายได้กลับมีความแปรปรวนตามสภาพเศรษฐกิจได้อย่างง่าย ๆ หากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจก็คือขาดทุนยับได้เลยเพราะค่าใช้จ่ายคงเดิม แต่รายได้ไม่มี

ในไทยเราอาจจะคุ้นชื่อ Regus ก็ถือเป็นคู่แข่งหลักของ WeWork หลาย ๆ คนคงคิดว่ามันเป็นธุรกิจที่ดีมาก แต่จริง ๆ แล้ว Regus ก็เคยล้มละลายนะ ในปี 2003 Regus ต้องยื่นล้มละลายจาก Dot-Com Bubble ซึ่งก็คือเข้าข่ายเคสนี้เลย ค่าใช้จ่ายเท่าเดิม แต่ไม่มีใครเช่าอีกต่อไป ถึงภายหลังจะกลับมาได้ แต่ก็อาจจะล่มอีกเมื่อไหร่ก็ไม่มีใครรู้

WeWork ก็เช่นกัน

ซึ่งตอนนี้ก็ขาดทุนยับอยู่แล้ว 

เนื่องจาก WeWork วางแผนจะยื่น IPO ก็เลยต้องเขียนเอกสารรายงานรายรับรายจ่าย กำไรและขาดทุน ผลออกมาคือ WeWork ขาดทุนยับจ้าาาา ยิ่งลงทุนเพิ่มเท่าไหร่ก็ยิ่งขาดทุนเพิ่มเท่านั้น ซึ่งเป็นรูปแบบตัวเลขที่น่ากลัวมาก

ปี 2018 ปีเดียว WeWork มีรายได้มหาศาลถึง $1.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ฟังดูดี แต่พอสรุปรายได้สุทธิมาแล้ว ปรากฎว่าขาดทุนยับไปถึง $1.9 พันล้านเหรียญ หรือคิดเป็นชั่วโมงละ $216,800 เหรียญ (บ้าบอมาก) และถ้าคำนวณจากจำนวนลูกค้า ก็พบว่าขาดทุนถึงหัวละ $5200

นี่มันธุรกิจบ้าอะไรเนี่ย ...

ส่วนปีนี้ คาดว่าน่าจะขาดทุนรวม $3 พันล้านเหรียญ เพิ่มขึ้นไปอีก

Valuation ที่สูงไป 

เนื่องจากการเติบโตขึ้นทุกปี (เพราะไปเช่าตึกเค้าเพิ่มทุกปี) ทำให้นักลงทุนใหญ่ ๆ หันมาสนใจกันเยอะ โดยเฉพาะ Softbank ที่ลงไปแล้ว $10.65 พันล้านเหรียญ นับเป็นนักลงทุนที่ถือหุ้นเยอะสุดใน We Co. ถึง 29%

แน่นอนว่าลงทุนเยอะขนาดนั้น Valuation ก็ต้องสูงกว่านั้น ครั้งหนึ่ง WeWork เคยมี Valuation สูงถึง 47 พันล้านเหรียญ

ก็ต้องขอบคุณ CEO นักสร้างฝันที่ทำให้นักลงทุนเชื่อหลาย ๆ อย่างอย่างสนิทใจจนลงเงินเยอะขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงวันที่มูลค่าพุ่งสูงไปเกินกว่าที่มันควรจะเป็น นั่นก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบทั้งปวง

วันนี้ We Co. มูลค่าร่วงลงไปต่ำกว่า 10 พันล้านเหรียญแล้ว และยังดูไม่มีทีท่าว่าจะหยุด จะคงความเป็น Unicorn ได้ต่อมั้ยคงต้องรอดูกันต่อไป

สำหรับ Valuation โชคดีที่เรามีบริษัทให้เทียบอยู่ ... Regus ละกัน โดย

- Regus มีพื้นที่ทั่วโลกอยู่ถึง 57 ล้านตารางฟุต

- มีรายได้ 2.8 พันล้านเหรียญ

- ปีที่แล้วกำไร $171 ล้านเหรียญ

- บริษัทมีมูลค่า 3.7 พันล้านเหรียญ 

ส่วน We Co.

- มีพื้นที่ทั่วโลก 45 ล้านตารางฟุต

- มีรายได้ 1.8 พันล้านเหรียญ

- ปีที่แล้วขาดทุน 1.9 พันล้านเหรียญ

- มูลค่าบริษัท 47 พันล้านเหรียญ 

ก็จะเห็นความไม่สมเหตุสมผลอยู่มาก ถ้าให้เทียบบัญญัติไตรยางค์แล้ว We Co. ตอนนี้ควรจะมีมูลค่าเพียง 3 พันล้านเหรียญเท่านั้น และถ้าเอามูลค่าการขาดทุนเข้ามารวมแล้ว ก็อาจจะตกจากการเป็น Unicorn ไปได้เลย

CEO มีความโลภและ Sketchy สูงมาก

ตัวธุรกิจเองก็มีปัญหาใหญ่อยู่แล้ว แต่ที่เป็นปัญหาใหญ่มากอีกอย่างคือตัว(อดีต) CEO อย่าง Adam Neumann เองที่มีความไม่โปร่งใสสูงมาก ทำทุกอย่างเพื่อตัวเองไม่ใช่เพื่อบริษัท 

เอาอย่างเบสิคง่าย ๆ เลยคือ เครื่องหมายการค้า We ที่ควรจะเป็น Asset ของบริษัทก็ดันไปจดในชื่อตัวเอง และบอกว่าถ้าบริษัทจะใช้ต้องจ่ายเงินให้ตัวเอง 5.9 ล้านเหรียญ ซึ่งเรื่องนี้ทำให้นักลงทุนไม่พอใจเป็นอย่างมาก สุดท้าย Neumann ก็คืนเงินไป แต่ความไว้ใจ เมื่อหายไปแล้วก็คงยากที่จะคืนกลับมา

Neumann ยังมีนิสัยการใช้เงินบริษัทที่น่าสงสัยอยู่อีกหลายอย่าง มีแนวโน้มที่ใช้เงินบริษัทอันไม่สมควร เช่น ซื้อ Private Jet หรือเอาเงินไปใช้เพื่อครอบครัว และก็มีปัญหาเรื่องการใช้ยาอีกด้วย

จากปัญหาที่มีมาอย่างต่อเนื่อง สุดท้ายนักลงทุนรายใหญ่รวมถึง Softbank เลยบีบให้ Neumann ต้องลาออก ไม่อย่างงั้นจะไม่ลงทุนต่อ ล่าสุดก็เลยลงจากตำแหน่งไปแล้ว แต่แน่นอนว่าหอบเงินไปด้วยจำนวนหนึ่งอย่างสวย ๆ ไม่ผิดกฎหมายอะไรด้วย

เรื่องแดงจากเอกสารยื่น IPO 

WeWork เป็นหนึ่งในบริษัทที่ฮอตมากสำหรับการเปิด IPO ในปีนี้ แต่จากการที่จะยื่น IPO นี่เอง ทำให้ทุกคนเห็นว่าจริง ๆ แล้วธุรกิจของ WeWork เป็นยังไง เงินขาดทุนที่เติบโตอย่าง Exponential ที่ขึ้นมาในบัญชีทำให้ผู้คนยกธงแดง 

การ Doubt ตรงนี้ทำให้คนไม่กล้าซื้อ IPO เกิดกระแสแง่ลบรุนแรง ทำให้บอร์ดต้องบีบ CEO ให้ลาออกในที่สุด และแน่นอน ต้องเลื่อน IPO ออกไปอย่างไม่มีกำหนด

ตอนนี้ผู้คนรู้แล้วว่า WeWork ทำธุรกิจแบบ "ยิ่งโตยิ่งเจ๊ง" ก็ทำได้ตามสบายตอนเป็น Private Company แต่พอจะ Public แล้วมันทำไม่ด้ายยยย ทำให้ CEO คนใหม่เลยต้องเริ่มต้นด้วยการ "ตัดต้นทุนออก" เริ่มจากการขาย Private Jet ของ Neumann และบริษัทที่เคยซื้อมา 3 บริษัทด้วยกัน

นาทีนี้ WeWork อยู่ในสถานะ "วิกฤติ" เรียบร้อย สิ่งที่ต้องทำอย่างหนักคือทำให้สถานะทางการเงินกลับมาดีให้ได้ ไม่อย่างงั้นป้ายหน้าไม่ใช่ IPO แต่เป็นการ "ล้มละลาย" 

ใน S-1 Filing ยังมีปัญหาอีกหลายจุด ทั้งเรื่อง Structure ของบริษัท สิทธิ์ในการโหวตของ Neumann ฯลฯ และจากเหตุผลทั้งหมดนี้นั้นทำให้การยื่นขอ IPO จึงต้องยกเลิกไปในที่สุด 

สรุป 

WeWork เป็น Case Study นึงที่ทำให้เห็นว่า Startup ที่บ้าคลั่งกับคำว่า "Growth" แต่กลับไม่สนใจธุรกิจที่แท้จริง ถึงระหว่างทางจะสวยงามแค่ไหน แต่ตอนจบไม่เคยสวยสักราย

ยิ่งเคส WeWork นี่ด้วยตัวธุรกิจเองก็มีความเสี่ยงสูงมากแล้ว แถมตัว CEO ก็ยังสร้างความเสี่ยงให้องค์กรเพิ่มเข้าไปอีก ดับเบิ้ลความโหดกันไป 

ความน่ากังวลสุด ๆ ของ WeWork ที่ผ่านมาคือ "เห็นเงินนักลงทุนเป็นรายได้มาโดยตลอด" ปั้น Valuation ให้สูงให้ได้ Funding เยอะ ๆ แล้วเอาเข้ากระเป๋า ที่จะ IPO ก็เหมือนกัน เตรียมปั่นเงินเข้ากระเป๋าอีกนั่นแหละ แต่โดนคนจับได้ซะก่อน

ใครทำธุรกิจก็อย่าลืมนะว่า "แกนหลักของธุรกิจคือ *ธุรกิจ*" และต้องเป็นธุรกิจที่เกิดรายได้จากลูกค้าด้วย หากมองเงินนักลงทุนเป็นรายได้เมื่อไหร่ สุดท้ายมันก็จะกลายเป็นแค่แชร์ลูกโซ่ในรูปแบบบริษัทเท่านั้นเอง ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น 

รอดูกันต่อไปว่าเส้นทางของ WeWork จะเป็นอย่างไร แต่ที่แน่ ๆ ตอนนี้คนเริ่มไม่ปล่อยให้ WeWork เช่าแล้ว เพราะกลัวว่าจะไม่มีเงินจ่าย ผลกระทบเริ่มเกิด คงเป็นปี(หรืออีกหลายปี)ที่ลำบากของ WeWork ต่อจากนี้ครับ

บทความที่เกี่ยวข้อง

Aug 2, 2015, 01:36
155689 views
แนะนำ Collaboration Tools ทั้งหลายจากงานสัมมนาสมาคม Startup Thailand
Oct 3, 2019, 10:31
37559 views
WeWork ตอนที่ 2: "เมื่อโดมิโนล้มลง" เหตุการณ์ที่จะเกิดต่อเนื่องจาก WeWork หลังจากนี้
0 Comment(s)
Loading