"ใจเค้าซื้อกันด้วย 'ใจ'"
แนะนำ Collaboration Tools ทั้งหลายจากงานสัมมนาสมาคม Startup Thailand
2 Aug 2015 01:36   [156388 views]

เมื่อต้นเดือนมิถุนายน มีงานของสมาคมงานนึงที่จัดขึ้นชื่อว่า The Collaboration Tools พูดถึงเรื่อง Tools ที่ใช้คุยงานกัน วันนี้เลยมาขอเขียนสรุปงานและ Tools ที่พูดถึงกันในวันนั้น เพื่อจะได้เป็นประโยชน์ต่อองค์กรต่างๆครับ =)

(ขออภัยที่เขียนช้า หลังจากจบงานก็วุ่นมาตลอดเลย T_T)

ทำไมต้องมี Collaboration Tools?

เพราะงานแต่ละงานไม่เคยใช้คนคนเดียวในการทำเสร็จได้ โปรเจคที่มีคุณภาพต้องประกอบด้วยทีมงานทุกฝ่ายทำงานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น Developer, Designer, Marketing, PR และ Business รวมถึงอีกหลายฝ่ายที่ไม่ได้กล่าวมา ณ ที่นี้

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าคนที่มาจากคนละสายงาน ก็มีภาษาที่ใช้พูดคุยต่างกัน แนวทางการทำงานก็ต่างกัน การคุยแล้วไม่เข้าใจกันจึงเกิดขึ้นบ่อยๆในทุกองค์กร เพราะ Mindset ต่างกันออกไปนั่นเอง

ปัญหาการสื่อสารถือเป็นปัญหาสุดยอดคลาสสิคที่ผ่านมากี่ปีแล้วก็ยังคงเป็นปัญหาต่อไป และหากปัญหานี้แก้ได้ ก็จะสามารถลดเวลาในการทำงานลงไปได้ แต่จะได้บรรยากาศการทำงานที่ดีอีกด้วย

เมื่อมีปัญหามันก็มี Pain เมื่อมี Pain มันก็เลยมีคนทำทางแก้ออกมามากมาย เครื่องมือที่เกิดขึ้นมาเพื่อช่วยให้การสื่อสารระหว่างทีมเป็นไปได้อย่างราบรื่นหรือที่เรียกว่า Collaboration Tools จึงถูกพัฒนาออกมาเพียบ!

ตลอดหลายๆปีที่ผ่านมา มีบริษัทต่างๆเอามาใช้หลายต่อหลายตัว และผลลัพธ์ที่เห็นจากบริษัทที่ใช้เครื่องมือพวกนี้ก็ยืนยันได้อย่างดีว่ามันช่วยเรื่องงานได้จริงๆ

และนี่คือเหตุผลว่าเราควรจะต้องใส่ใจและรู้จัก Collaboration Tools ต่างๆเพื่อเอามาเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานกันครับ

Email คือปัญหา

จุดเริ่มต้นของ "เครื่องมือสำหรับประสานงาน" อย่างแรกที่คิดถึงคงจะเป็นโทรเลข ... ไม่ใช่สิ ยุคนี้แล้ว มันต้อง Email !

ทุกวันนี้คือทุกคนมีอีเมลกันหมดแน่นอน และเช็คกันทุกวันชัวร์ แต่นั่นแหละ การที่อีเมลมันเป็นระบบเปิดมาก ใครก็ส่งเข้ามาได้ Spam ก็เพียบ จากที่ไปอ่าน Stat เมืองนอก ข้อมูลบอกว่าโดยเฉลี่ยเราจะเสียเวลาไปกับการเช็คหรือลบอีเมลที่ไม่ได้ใช้ถึง 92% ซึ่งเรียกได้ว่าประสิทธิภาพย่ำแย่มาก

ดังนั้น อีเมลจึงไม่เหมาะกับการใช้คุยงานครับ ซึ่งตรงกับที่วิทยากรทุกท่านในงานพูด ไม่มีใครใช้อีเมลในการคุยงานภายในอีกแล้ว แต่มีเอาไว้ใช้กับภายนอกเท่านั้น ซึ่งผมเห็นด้วยครับ จากนี้ใครยังใช้อีเมลอยู่ ลองพิจารณา Tools อื่นๆที่เกิดมาเฉพาะทางมาใช้ทดแทนดูครับ

ถ้าลองไปดู Strategy การทำงานเมืองนอกหลายๆบริษัทถึงกับบอกว่า "เรามาหาเครื่องมือที่ใช้แทน Email กันเถอะ" เลยทีเดียว

Collaboration Tools

ถ้างั้นเริ่มมาดูกันทีละตัวเลยละกันเนอะว่าในงานนั้นมีพูดถึง Tools ตัวไหนบ้าง

Post-It

เริ่มต้นจากอะไรที่คลาสสิคสุดๆ ... Post It นี่แหละ!

Post It ถือเป็นนวัตกรรมแห่งโลกที่ปฏิวัติวิธีทำงานของมนุษย์โลกเลยก็ว่า ด้วยความสามารถในการจดสิ่งที่คิดหรือจะทำ(ซึ่งปกติจะมีเยอะมาก)แล้วลิสต์แปะไว้บนข้างฝา

เราสามารถประยุกต์ใช้ Post It ได้ในหลายๆแบบตามที่ต้องการ ไม่ว่าจะทำงานกันภายในฝ่าย Developer ด้วยวิธี Kanban หรือจะใช้ทำ Agile ฯลฯ แต่ทั้งหมดทั้งมวลควรจะเป็นงานที่มีข้อมูลขนาดเล็ก เช่นหัวข้อของงาน แต่ไม่ควรจะลงดีเทล เพราะ Post It ไม่ได้เกิดมาเพื่อการณ์นั้น

อย่างไรก็ตาม Post It มีข้อด้อยอย่างนึงคือมันเป็น Physical ทำให้ไม่สามารถย้ายกลับไปทำงานที่บ้านได้ แปะที่ไหนก็ต้องทำงานที่นั่น

สรุปคือใช้งานได้ดี แต่ต้องเข้าใจข้อจำกัด จะได้รู้ว่างานๆนั้นเหมาะกับการใช้ Post It หรือไม่ครับ

ส่วนตัวแล้ว ทุกวันนี้ก็ยังใช้ Post It อยู่ แต่จะใช้กับงานที่ทำคนเดียวมากกว่า รวมถึงตอนยังรับทำแอพฯ ก็ใช้ Post It แปะเต็มกระดาน เพราะยังไงก็ทำงานที่ออฟฟิศเหมือนกัน ผลคือประสิทธิภาพการทำงานดีมากครับ

ใช้งาน: หาซื้อได้ที่ห้างใกล้บ้านท่าน

เหมาะสมกับ: งานที่มีข้อมูลไม่เยอะ ใช้ได้กับทุกฝ่ายไม่มีจำกัด

Trello

Trello จะมี Concept คล้ายๆกับ Post-It คือสร้างกระดาน (Board) ขึ้นมาได้ และสามารถสร้างการ์ด (Card) มาแปะๆๆๆ ก็ Post-It เลยแหละ แต่ย้ายไปทำอยู่บนออนไลน์แทน

และเนื่องจากมันเป็นออนไลน์ ก็เลยมีฟังก์ชั่นที่ Rich ขึ้นมาหน่อยก็คือ แปะภาพได้ ใส่ลิสต์ข้อมูลยิบย่อยได้ จดโน่นจดนี่ได้เยอะพอสมควร สามารถลากย้ายไปย้ายมาได้อย่างสะดวก รวมถึงยังสามารถกำหนดได้ว่าใครจะเข้าถึงบอร์ดนี้ และใครแก้ไขได้ ใส่ Tag ได้ทำให้ Search ได้ (แต่ก็ยากอยู่) สุดท้ายกำหนดได้ด้วยว่างานไหนใครทำอยู่

ด้วยข้อดีทั้งหมดนี้ มันก็เลยกลายเป็นสุดยอด Tools ตัวนึงที่เหมาะอย่างยิ่งกับการใช้ Collaborate กันภายในทีม ซึ่งสามารถประยุกต์ได้ตามที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการประสานระหว่างทีมหรือประสานภายในทีม

แต่ข้อเสียของมันคือ หน้าจอแต่ละหน้าจอจะแสดงผลได้ Card ได้ค่อนข้างจำกัด หากมีข้อมูลเริ่มเยอะจะเริ่มทำงานลำบาก เราเลยแนะนำให้สร้างกระดานแบบย่อยไว้ ไม่ใช่ทุกอย่างในงานใส่ไว้ในบอร์ดเดียว แต่ให้ฝ่าย Developer บอร์ดนึง ฝ่าย Designer บอร์ดนึงอะไรงี้ น่าจะเหมาะสมกว่าครับ

สรุปแล้วจากประสบการณ์ Trello เป็นสิ่งที่ดี แต่เหมาะกับงานเล็กๆครับ พอสร้างกระดานใหญ่จะเริ่มเห็นปัญหาตามมา ตอนนี้เห็น Startup สัก 30% เห็นจะได้ที่ใช้ Trello อยู่ ยังไงลองดูได้ครับ แนะนำๆ

ใช้งาน: http://trello.com

ค่าใช้จ่าย: ฟรี, จ่ายเงินเพื่อใช้ฟีเจอร์กุบกิบเช่นเปลี่ยน Background, แปะ Emoticon

เหมาะสมกับ: งานที่มีข้อมูลไม่เยอะ ใช้ได้กับทุกฝ่ายไม่มีจำกัด

Asana

Asana มาพร้อมสโลแกน "Teamwork without email" เป็น Task Management อีกตัวที่มุมมองคล้ายๆ Trello แต่ซีเรียสกว่าและเกิดมาเพื่อ Manage งานแบบจริงจัง ลองดูวีดีโอแนะนำได้ครับ

รอบตัวมีคนใช้อยู่หลายคนเหมือนกัน และทุกคนแฮปปี้ครับ พูดพ้องกันหมดว่าเลิกเช็คอีเมลแล้ว ทุกวันนี้ใช้แต่ Asana

ใช้งาน: http://asana.com

ค่าใช้จ่าย: ฟรีสำหรับการเริ่มต้นใช้งาน, เริ่มต้นเดือนละ $21 สำหรับใช้พรีเมียมฟีเจอร์

เหมาะสมกับ: การประสานงานกันทั้งในฝ่ายและระหว่างฝ่าย

Basecamp

ก็เป็น Task Management อีกตัวแถมชื่อดังมากๆ เพราะเป็นของเจ้าของหนังสือที่ชื่อ Rework นั่นเอง

ฟีเจอร์เรียกได้ว่ามีครบ สามารถสร้างโปรเจคและสร้าง To Do ขึ้นมา เพื่อให้แต่ละคนทำงานที่ได้รับ โดยสามารถกำหนด Deadline ฯลฯ ได้ด้วย

ในส่วนของ Discussion ก็จะเหมือน Forum ให้คุยกันไปคุยกันมาได้ หากมีไฟล์ที่ต้องส่งหากันระหว่างก็สามารถแนบไฟล์ได้ด้วย

อีกทั้งยังทำงานร่วมกับอีเมลได้อย่างสมบูรณ์แบบ Reply บนอีเมลก็จะไปปรากฏบน Basecamp ได้ทันที

ข้อเสียของมันคือฟีเจอร์มันมีเยอะเกินไป และหน้าตาก็ค่อนข้างจะโบราณไปหน่อย ซึ่งตรงนี้ Subjective หลายคนก็บอกว่าชอบ หลายคนก็บอกว่ามันแย่มาก คงต้องลองดูกันก่อนครับว่าเหมาะกับทีมของคุณหรือเปล่า มันมี Free Trial ให้ลองอยู่ (สำหรับผม ผมไม่ชอบแฮะ)

ใช้งาน: https://basecamp.com/

ค่าใช้จ่าย: ฟรี 60 วัน, เริ่มต้นเดือนละ $20 (ได้ 10 โปรเจค ไม่นับโปรเจคที่ Archieve ทิ้งไปแล้ว)

เหมาะสมกับ: การประสานงานกันทั้งในฝ่ายและระหว่างฝ่าย รวมถึงกับคนจากบริษัทพาร์ทเนอร์ด้วย

Sketch

มาถึงเรื่องการทำงานในแง่ดีไซน์กันบ้าง ก่อนหน้านี้เวลาเราจะออกแบบแอพฯเราก็จะใช้กันอยู่สองตัวคือ Adobe Photoshop ไม่ก็ Adobe Illustrator

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองตัวไม่ได้เกิดมาเพื่อออกแบบ UI เผอิญว่ามันทำได้แค่นั้นเอง คนก็เลยใช้กัน ผลก็คือฟีเจอร์หลายๆอย่างที่แอพฯออกแบบ UI ควรมี แอพฯสองตัวนั้นก็เลยไม่มี

Sketch จึงเกิดมาเพื่อการณ์นี้ เป็นแอพฯที่เกิดมาเพื่อออกแบบ UI โดยเฉพาะ ฟีเจอร์ทุกตัวมีไว้สำหรับออกแบบ UI เลย ไม่ว่าจะเป็น Web หรือ Mobile

ในแง่ของการออกแบบ Sketch ใช้วิธีเดียวกับ Illustrator คือเก็บข้อมูลรูปภาพเป็น Vector ทำให้สามารถสเกลได้อย่างไม่มีปัญหา และข้อดีที่ตามมาก็คือไฟล์จึงเล็กและเหมาะกับการทำงานร่วมกันมากขึ้นกว่า Photoshop และ Illustrator มาก

อย่างไรก็ตาม มันเพิ่งเกิดมาไม่นาน หลายๆอย่างจึงอาจจะน่าหงุดหงิดหรืออึดอัดบ้าง แต่ก็บอกได้ว่ามัน Mature ระดับหนึ่งแล้ว สามารถใช้งานได้จริงแล้วและมีคนใช้เยอะมากกกกกกกกกกกด้วย

ข้อจำกัดใหญ่ๆข้อเดียวที่เจอคือมันมีแต่บน Mac OS X เพื่อแก้ปัญหานี้ ... ซื้อ Mac กัน ...

สิ่งที่ทำให้ Sketch เติบโตได้อย่างทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งก็เพราะระบบ Plugin ที่ทาง Sketch เปิดให้สามารถเขียนโปรแกรมเข้ามา Plug ได้ ทำให้พอคิดอยากจะได้อะไร มันก็มักจะทำได้เสมอ แค่ต้องหา Plugin มา

และจากการที่มันได้รับความนิยม จึงมี Template แจกในเนตมากมาย อยากจะทำอะไรก็สามารถโหลด Template แล้วเริ่มทำงานได้ทันที

ล่าสุดหลังจาก Sketch โด่งดังมาก Adobe CC ก็เลยออกฟีเจอร์ใหม่มาเพื่อแข่งกับ Sketch แล้ว แต่ไปๆมาๆ Sketch ก็ยังน่าใช้สุดอยู่ดีในนาทีนี้ครับ แนะนำให้บริษัทต่างๆเปลี่ยนมาใช้ Sketch กันเยอะๆ มันดีมากจริงๆ =)

ใช้งาน: http://bohemiancoding.com/

ค่าใช้จ่าย: Free Trial, $99 ต่อ License

เหมาะสมกับ: เหมาะกับการทำงานภายในฝ่ายออกแบบ

Zeplin

Sketch มันเหมาะกับฝ่ายออกแบบ แต่ก็ยังไม่ Friendly กับ Developer จึงไม่ต้องแปลกใจที่จะมีคนทำแอพฯเพิ่มมาอีกหนึ่งตัวเพื่อให้ดีไซน์ที่ออกแบบมาสามารถเอาไปใช้ในงาน Development ได้ง่ายขึ้น และเครื่องมือตัวนั้นมีชื่อว่า Zeplin

หลักๆก็คือ Export ดีไซน์จาก Sketch แล้วมาเปิดใน Zeplin จากนั้นก็จะสามารถวัดขนาดต่างๆได้ทั้งหน่วย px, pt และ dp และนำไปใช้งานต่อในแง่ Development ได้ทันที มาดูวีดีโอตัวอย่างการใช้งานกัน

ก็จะเห็นว่านอกจากวัดขนาดได้แล้ว ยังสามารถ Export สีและภาพสำหรับ dpi ต่างๆได้อีกด้วย เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่อยากให้ใช้ Sketch กันครับ เพราะตัว Zeplin นี่เอง

ถือเป็น Tools ที่ทำมาเพื่อให้ Designer และ Developer ทำงานร่วมกันที่มีประสิทธิภาพที่สุดในนาทีนี้จ๊ะ

ใช้งาน: https://zeplin.io/

ค่าใช้จ่าย: ฟรีสำหรับโปรเจคแรก, $15 ต่อเดือนสำหรับ 3 โปรเจคถัดไป

เหมาะสมกับ: เหมาะกับการประสานงานระหว่างฝ่ายออกแบบและนักพัฒนา

Git Server

มาเรื่องเบาๆที่ต้องรู้กันอยู่แล้วบ้าง แต่ก็เขียนไว้หน่อยน่าาาา

ฝ่าย Developer นอกจากจะต้องทำงานร่วมกันในแง่ของ To Do/Task Management แล้วการรับผิดชอบ Source Code ก็ถือเป็นงานที่ต้องทำด้วย จะได้รู้ว่าใครแก้ไขอะไรตรงไหนไป และหากมีปัญหาจะได้แก้กลับได้ ใช่แล้ว เราพูดถึง Version Control

ถึงตอนนี้จะมีอยู่หลายตัว แต่ตัวที่ Standard สุดและใช้กันทั่วไปคือ Git นาทีนี้ใครยังไม่ใช้ Git อีก ... บาป!!

มีอยู่หลายที่ให้ใช้นะสำหรับ Git Server ถ้าเป็น Public Repo (ซึ่งคงไม่เหมาะกับการทำงานในบริษัท) ก็ GitHub ถ้าเป็น Private Repo (อันนี้คงเหมาะขึ้น) ก็ BitBucket หรือถ้าจะให้ดี ตั้ง Server เองเลยโดยใช้พวก gitosis, gitolite หรือ gitlab ก็ดี จะได้ไม่มี Source Code หลุดไปไหน มีให้เลือกหลายตัวอยู่ ลองดูวว

Dropbox / Google Drive

เรื่องเบาๆอีกเรื่องนึงกับบริการเก็บไฟล์และให้แต่ละคนสามารถเข้าถึงไฟล์ร่วมกันได้จากที่ไหนก็ได้ หรือที่เรียกว่า Cloud Storage นั่นเอง

นาทีนี้ก็มีให้เลือกหลายตัวนะที่แข็งแรงแล้ว ส่วนเราแนะนำเป็น Dropbox หรือ Google Drive (ส่วนตัวใช้ Dropbox แล้วโอเค ยังไม่คิดจะเปลี่ยนไปใช้ตัวอื่น แต่สงครามตลาดนี้คุกรุ่นมาก อย่าง Google Drive ก็ถูกกว่า Dropbox มากกกกกกกกก สักพักคงมีคนเจ็บตัวหนัก ซึ่งน่าจะเป็น Dropbox ...)

ยังไงก็แนะนำให้เซฟงานทั้งหมดไว้ใน Cloud Storage เพื่อป้องกันมันหายและทำให้แต่ละคนสามารถทำงานร่วมกันได้ง่ายขึ้นเยอะมากครับ ลุยยยย

ราคา: Dropbox, Google Drive

Xero

งานด้านบัญชีเป็นสิ่งที่วุ่นวายและทุกบริษัทต้องทำ Tools จึงจำเป็นเอามากๆ (ถึงแม้จะเห็นหลายบริษัทนั่งจิ้มกันใน Excel ก็เถอะ แต่ใช้ Tools เถิดหนา)

Xero ถือว่าตอบโจทย์งานทางด้านการออก Invoice และทำบัญชีราบรับรายจ่ายได้ดีมากๆตัวหนึ่ง ลองดูวีดีโอการใช้งานดูครับ

ไม่รู้จะพูดอะไรละ ลองไปดูละกันนะครับ 555 แต่เชื่อว่าฝ่ายบัญชีน่าจะรู้จัก Xero กันทุกคนอยู่แล้ว

ใช้งาน: https://www.xero.com/

ค่าใช้จ่าย: Free Trial, เริ่มต้น $20 ต่อเดือน แต่ใช้งานได้จริงจังคือ $30 ต่อเดือน

เหมาะสมกับ: ฝ่าย Admin + ฝ่ายบัญชี

Salesforce

งานด้านการขายและ CRM มีใครไม่รู้จัก Salesforce ม้ายยย

นาทีนี้มี CRM ให้เลือกเยอะแยะเต็มไปหมด แต่ตัวที่น่าเชื่อถือและมาตรฐานก็คือ Salesforce นี่แหละ

ข้อดีคือมันทำได้ทุกอย่างอย่างยอดเยี่ยม ข้อเสียคือมันแพง คงไม่พูดเยอะกว่านี้แล้ว เพราะน่าจะเป็นที่รู้จักกันอยู่แล้วเนอะ ^_^

ใช้งาน: http://www.salesforce.com/

ค่าใช้จ่าย: เริ่มต้นเดือนละ 27 ยูโรต่อ User สำหรับทีมเล็กๆ แต่ถ้าจริงจังจะเริ่มต้นที่ 70 ยูโรต่อ User

เหมาะสมกับ: ฝ่าย Sale

SugarCRM

เป็น Alternative ของ Salesforce ด้วยราคาที่ถูกกว่าเมื่อเทียบกับฟีเจอร์ที่เท่ากัน

ในวันที่มีสัมมนา มีคนใช้ SugarCRM อยู่ 2-3 คนครับ ส่วนตัวไม่มีประสบการณ์กับตัวนี้ ยังไงลองไปลองดูกันได้ครับ

ใช้งาน: http://www.sugarcrm.com/

ค่าใช้จ่าย: เริ่มต้นเดือนละ $40 ต่อ User (เทียบได้กับตัว 70 ยูโรของ Salesforce)

เหมาะสมกับ: ฝ่าย Sale

Google Calendar

นอกจากการนั่งทำงานแล้ว บางหน้ามีนัดเยอะแยะมากมาย ให้ตายยังไงก็จำไม่ได้ Google Calendar เป็น Tools ที่ Powerful ที่สุดแล้วสำหรับการกำหนดนัดและเตือนความจำ หนำซ้ำยังฟรีอีกด้วย

คงไม่ต้องพูดอะไรแล้วกับตัวนี้ คนที่ตารางงานวุ่นวายอย่างเช่นคนสาย Sale สาย AE สายพูดน่าจะใช้กันหมดอยู่แล้ว ส่วนใครยังไม่ใช้ ... ใช้ซะะะะ

Slack

แนะนำมาหลายตัวมาก ขอจบด้วยตัวนี้ ตัวที่จะเชื่อมทุกตัวที่พูดถึงเข้าด้วยกัน Slack ที่มาพร้อมแนวคิด A messaging app for team ดังนั้นก็ตรงตัว มันคือแอพฯแชทสำหรับการทำงานร่วมกันนั่นเอง

ปัญหาทั้งหมดทั้งมวลเกิดจากการที่มี Collaboration Tools เยอะเกินไป เวลาทำงานทีก็ต้องใช้ตัวโน้น สลับไปตัวนี้ นั่นโน่นนี่เต็มไปหมด คนก็เลยพยายามรวมศูนย์กลางไว้ที่เดียวคือแอพฯแชท

ก่อนหน้านี้หลายคนพยายามจะใช้แอพฯแชทตัวอื่นเช่น LINE, Facebook Messenger ในการคุยงาน แต่ผลคือมันตกไปอย่างรวดเร็ว ค้นหาก็ไม่ได้ ไฟล์เฟยไปอยู่ไหนก็ไม่รู้ สรุปคือมันไม่เหมาะกับการคุยงานเลย

Slack จึงเกิดมาเพื่อแก้ปัญหานี้ แอพฯแชทที่รวมทุกอย่างไว้ด้วยกัน! โดยตัว Core หลักจะเป็นแอพฯแชทที่หลักการเหมือน IRC เปี๊ยบ (ใครเกิดทัน Pirch บ้าง) แต่ความหล่อความเท่ของมันคือสามารถ Plug ให้ทำงานร่วมกับบริการอื่นๆได้ด้วย เช่น Dropbox, Twitter ฯลฯ แถมยังสามารถเขียน Plugin เองเพื่อให้ใช้งานร่วมกับ Slack ได้อีกด้วย คงบอกได้ว่ามันคือแกนหลักของ Collaboration Tools ทุกตัวอย่างแท้จริงนั่นเอง

เรียกว่าเป็นตัวรวมทุกอย่างไว้ด้วยกันอย่างแท้จริง ฟังดูทำอะไรได้เยอะ แต่ต้องยอมรับเลยว่าทำมาได้ดีและใช้งานง่ายมาก แถมยังมีอยู่บนทุกแพลตฟอร์มชั้นนำ หากไม่มีก็ใช้งานบนเว็บได้อย่างไม่มีปัญหา จึงไม่ต้องแปลกใจเลยที่ Slack จึงกลายเป็น Startup สุดร้อนแรงที่ Valuation ทะลุพันล้านไปอย่างง่ายดาย

Concept อย่างนึงของตัวนี้คือคำว่า Transparency คือทุกคนที่เกี่ยวข้องควรจะได้เห็นความคืบหน้าของการทำงาน แล้วงานจะได้เป็นไปอย่างราบรื่น อย่างไรก็ตาม หากมีข้อมูล Sensitive ที่อยากจะให้ใครบางคนหรือบางกลุ่มเท่านั้นที่จะเห็นได้ ก็มีฟีเจอร์ Direct Message และ Private Group ให้ใช้ด้วย ครบจริงๆ

ตัวนี้วิทยากรทุกคนพูดเป็นคำเดียวกันครับ Recommended อยากให้ทุกคนลองใช้ครับ

ใช้งาน: http://slack.com

ค่าใช้จ่าย: ฟรี (จำกัดการ Search และจำนวน Integration), เริ่มต้นเดือนละ $6.67 ต่อ User (ไม่จำกัดการ Search และจำนวน Integration)

เหมาะสมกับ: การคุยงานเชิงแชททั้งระหว่างฝ่ายและภายในฝ่ายรวมถึงระหว่างบุคคล

คำแนะนำจากวิทยากรเรื่องเครื่องมือที่เหมาะสม

สิ่งที่วิทยากรทุกท่านพูดตรงกันคือ "มันไม่มีเครื่องมือที่เหมาะกับทุกองค์กรหรอก"

สุดท้ายคนที่อยู่ในองค์กรนั้นๆจะเป็นคนตัดสินเองว่าอันไหนเหมาะกับเราหรือไม่เหมาะกับเรา

บาง Tools คนอื่นบอกว่าดีเลิศ พอเอาไปใช้ในองค์กรเรา คนไม่ใช้ ... ความเลิศของมันก็ไร้ประโยชน์ จริงมะ

ดังนั้นอย่าแค่ไปเชื่อคนโน้นคนนี้ว่ามันดี สิ่งที่ต้องทำจริงๆคือลองใช้เลยครับ แล้วอันไหนคิดว่าเหมาะกับวัฒนธรรมองค์กร หรือแก้ปัญหาที่องค์กรนั้นๆเจออยู่ได้พอดี ก็ใช้ตัวนั้นไปเลย

ตามนั้นคร้าบผม =)

บทความที่เกี่ยวข้อง

May 31, 2014, 21:21
5754 views
ประกาศผล 5 ทีมสุดท้าย dtac Accelerate v2
May 7, 2014, 22:03
7753 views
Lean Startup กับ Scott Bales ณ ค่าย #dtacaccelerate
0 Comment(s)
Loading