ช่วงปีที่ผ่านมาอาการไมเกรนและออฟฟิศซินโดรมต่าง ๆ ดีขึ้นมากจากการออกกำลังกาย แต่แล้วโชคชะตาก็ไม่เข้าข้างเมื่ออยู่ดี ๆ กลางปีก็เป็นโรควูบ อยู่ ๆ จะวูบไปตอนไหนก็ได้ ก็เลยไม่สามารถออกกำลังกายได้อีกต่อไป ร่างกายก็เลยค่อย ๆ กลับมาเป็นเหมือนเดิม ปวดหัว ปวดไหล่ ปวดหลัง รวมถึงไมเกรนระดับรุนแรงจนไม่สามารถขยับเขยื้อนร่างกายได้
ก็รู้ว่าการออกกำลังกายและโยคะเป็นวิธีที่ดีที่สุด แต่ด้วยข้อจำกัดสุดท้ายก็เลยต้องหาที่พึ่งทางอื่นไปก่อน ลองไปหลายศาสตร์มากทั้งนวดไทย นวดอายุรเวช ฝังเข็มจีน ฯลฯ แต่ที่เวอร์คที่สุดคือ "ฝังเข็มฝรั่ง (Dry Needling)" ทำครั้งเดียวแล้วหายไมเกรนไปเลย เวอร์คจนต้องขอมาเขียนรีวิวลงบล็อกเผื่อใครสนใจจะไปตาม
ฝังเข็มฝรั่ง (Dry Needling) vs ฝังเข็มจีน (Acupuncture)
พอพูดถึงการฝังเข็ม คนไทยเราก็จะนึกถึงการฝั่งเข็มแผนจีน (Acupuncture) กันเพราะมันเป็นหนึ่งในศาสตร์ทางเลือกที่คนไทยค่อนข้างคุ้นเคยกันอยู่แล้ว แต่ศาสตร์ที่เราจะมาแนะนำในวันนี้นั้นต่างกันเพราะเป็นการฝังเข็มแผนตะวันตกหรือที่เรียกว่า Dry Needling เพื่อให้เห็นความต่าง เราขออธิบายว่าสองศาสตร์นี้ต่างกันยังไงก่อนนะ เริ่มจากฝังเข็มแผนจีนก่อน
การฝังเข็มแผนจีน (Acupuncture) เป็นการฝังเข็มตามเส้นลมปราณ (Meridian) ซึ่งมีอยู่ 349 จุดด้วยกัน
โดยศาสตร์เบื้องหลังคือ การกระตุ้นให้เส้นเลือดบริเวณที่ฝังขยายตัว รวมไปถึงทำให้เกิดการบีบตัวของกล้ามเนื้อในอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายที่อาจจะห่างไกลจากจุดที่ฝังได้ เช่น ฝังหน้าแข้งแล้วกระเพาะอาหารทำงานดีขึ้น และการฝังจะเป็นการฝังจิ้มแล้วจบแล้วก็คาไว้สักพัก ฝังเสร็จก็จะกลายร่างเป็นเม่นไปในทันที
แล้วก็มีศาสตร์ต่อยอดไปอีก เช่น การกระตุ้นไฟฟ้า เพื่อกระตุกกล้ามเนื้อบริเวณที่ฝัง (สนุกดี)
ส่วนตัวก็เคยไปฝังอยู่ 4-5 ครั้ง ใครสนใจก็ลองไป Search หา "หัวเฉียวแพทย์แผนจีน" ดูครับ ค่อนข้างหลากหลายแต่อาจจะต้องโทรไปนัดก่อนเพราะหมอแต่ละท่านที่เชี่ยวชาญคนละด้านเข้าไม่พร้อมกัน
คราวนี้มาศาสตร์การฝังเข็มแผนตะวันตก (Dry Needling) กันบ้าง โดยที่เรียกว่า Dry Needling เพราะปกติเข็มฉีดยามักจะมากับของเหลวที่เอาไว้ฉีดเข้าร่างกาย ส่วนการฝังเข็มแบบนี้ไม่มีของเหลวแต่เป็นการฝังเข็มลงไปเพียว ๆ ก็เลยเป็นการฝังเข็มแบบแห้งหรือ Dry Needling นั่นเอง ซึ่งเข็มที่ใช้ฝังก็เป็นเข็มแบบเดียวกับแผนจีนนั่นแหละ แต่ความต่างคือ
พื้นฐานของศาสตร์นี้จะเป็นการใช้เข็มจิ้มลงไปที่จุดกดเจ็บ (Trigger Point) ของกล้ามเนื้อแล้วขยี้ ๆ ๆ ๆ เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือดบริเวณนั้น ซึ่งจะกระตุ้นให้ร่างกายซ่อมแซมและคลายปมกลามเนื้อนั้น ๆ ได้ในที่สุด
สำหรับคนที่ยังไม่รู้จัก Trigger Point มันคือบริเวณที่มีปมกล้ามเนื้อ (Muscle Knot) ซึ่งเกิดขึ้นจากการหดตัวของกล้ามเนื้อมัดนั้น ๆ แต่ไม่ยอมคลายตัวออกเนื่องจากการขาดการยืดกล้ามเนื้อ (ออกกำลังกาย) สุดท้ายจึงเกิดเป็นจุดแข็งและกดเจ็บมาก ที่เราไปนวดไทยแล้วรู้สึกสบายก็เพราะเค้านวดโดนปมพวกนี้นี่แหละ
แล้วปมพวกนี้จะทำให้เลือดไม่ไหลเวียนอีกด้วย ปมจึงใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ตามเวลาอีกต่างหาก นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมยิ่งปล่อยไว้ถึงยิ่งปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ ขนาดนี่คือจับได้ด้วยมือเปล่าเลย ประมาณ 0.5-1 ซ.ม. ตัว Trigger Point นี่แหละที่เป็นตัวการทำให้เกิด Office Syndrome เอย ไมเกรน(บางชนิด)เอย อาการชามือชาเท้าก็เป็นไปได้ ดังนั้นถ้าอาการปวดมีต้นเหตุจาก Trigger Point ก็สามารถรักษาด้วยวิธีนี้ได้หมดครับ
การรักษาก็ตรงไปตรงมามาก หมอจะคลำหาปมเหล่านี้แล้วทำการฝังเข็มลงไปแล้วขยี้ ๆ ๆ ๆ ๆ ลงเข็มทีเดียวแต่แทงซ้ำเป็นนาที
สุดท้ายเลือดจะไหลเวียนเพิ่มขึ้น
แล้วปมก็จะค่อย ๆ คลายและหายไปในที่สุดครับ (แต่ไม่ได้หายทันที ต้องรอให้ร่างกายซ่อมแซมตัวเองหลายวันอยู่)
ใครเป็นไมเกรน ใครเป็น Office Syndrome ก็ลองสำรวจดูว่า Trigger Point ของเราอยู่ที่ไหน ตอนไปหาหมอก็จะได้บอกจุดถูกต้องครับ อย่างเช่นไมเกรนก็มักจะเป็นที่คอและไหล่
ก็จะเห็นว่าถึงจะใช้เข็มแบบเดียวกันแต่ศาสตร์พื้นฐานของแผนจีนและแผนตะวันตกนั้นต่างกันโดยสิ้นเชิงเลย ของแผนฝรั่งนี่จะเป็นการฝังทีละเล่ม ขยี้จนสาแก่ใจแล้วก็ถอนออกเลย เน้นการให้เลือดไหลเวียนให้ร่างกายไปรักษาปมกล้ามเนื้อบริเวณนั้น ๆ ต่อ ความจริงนวดแผนไทยและอายุรเวชก็คล้าย ๆ กันแหละ เป็นการกดปมเหล่านี้แรง ๆ เพื่อให้เลือดไหลมาแถวนี้เยอะขึ้น แต่การนวดมันเป็นการทำจากภายนอก ทำให้ประสิทธิภาพเลยไม่สูงเท่าการฝังเข็ม
ถ้าใครอยากดูเพิ่มเติมเป็น Animation ก็ลองดูคลิปนี้ได้เลย ๆ Trigger Point Dry Needling เห็นภาพชัดมาก ดูจบแทบจะหายปวดหลังเองเลย
อย่างไรก็ตาม พักหลังศาสตร์ฝังเข็มมันประยุกต์กันไปกันมา ก็เริ่มมีปน ๆ กันบ้าง เช่น หมอตะวันตกฝังแบบจีน อันนี้ก็ไม่ต้องแปลกใจ แต่สุดท้ายพื้นฐานจริง ๆ ก็ตามที่เล่าหละ
เข้าใจหลักการแล้ว ต่อไปเป็นการเล่าประสบการณ์ที่ไปฝังมาเองแล้ว ตามนี้
ความรู้สึกระหว่างทำ
ถ้าใครเป็นคนกลัวเข็มก็คงใจตุ้ม ๆ ต่อม ๆ แหละเพราะเข็มก็คือเข็ม แต่ต้องบอกก่อนว่า เข็มสำหรับการฝังเข็มนั้นเล็กมากกกก เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 85 µm หรือขนาดเท่าเส้นผมเท่านั้นเอง ซึ่งเล็กกว่าเข็มฉีดยาถึง 3 เท่า
ความรู้สึกตอนลงเข็มนี่ต่างกันเข็มฉีดยาคนละเรื่องเลย ทุกวันนี้ก็ยังไม่ชินกับการโดนเข็มฉีดยาเจาะ แค่เข็มเดียวก็ทรมานใจแล้ว (ถึงจะโดนเกือบทุกเดือนก็ตาม) แต่กับเข็มที่เอาไว้ฝังนี่ไม่รู้สึกว่ามันเจ็บเลยแม้แต่น้อย 50 เล่มก็โดนมาแล้ว เจ็บน้อยกว่านวดไทยอีกมั้ง ดังนั้นสบายใจได้ว่าตอนลงเข็มมันไม่เจ็บหรอก ถ้าเคยเห็นรูปคนที่หลังเป็นเม่นแล้วยังยิ้มได้ ก็นั่นแหละ เค้าไม่ได้ฝืนยิ้ม แต่เค้าไม่รู้สึกเจ็บอะไรเลยจริง ๆ
อย่างไรก็ตาม ตอนที่เค้าขยี้ ๆ ๆ ๆ นี่แหละที่อาจจะมีรู้สึกกันบ้าง เนื่องจากมันก็คือการเข้าไปทำลายกล้ามเนื้อย่อม ๆ และบางทีเข็มก็ไปจิ้มโดนเส้นทำให้กระตุกได้ แต่ก็ไม่เจ็บมากครับ สนุกดี
แล้วก็นะ ถ้าเข็มไปโดนจุด Trigger Point นี่บอกเลยว่าสนุกใจมากกกกกกก อยากจะบอกหมอว่าแทงอีกแทงอีกแทงอีกแทงอีกกกก อย่าหยุดนะหมอ แทงต่อปายยยยย อารมณ์เหมือนหาหมอนวดไทยแล้วเค้าเจอจุดนั่นแหละ
จุดนึงก็ใช้เวลาขยี้ประมาณ 40-60 วินาทีครับ แล้วแต่ความรุนแรงของอาการในจุดนั้น ๆ มีจุดที่ขยี้สองนาทีก็เจออยู่บ้าง (เราเป็นหนัก)
โดยรวมระหว่างรักษาถือเป็นประสบการณ์ที่ไม่น่ากลัว ยิ่งถ้าฝังในส่วนที่มองไม่เห็นนี่แทบจะถามหมอเลยว่านี่ฝังแล้วหรอครับ ดังนั้นสบายใจได้ ๆ
อาจจะมีคำถามว่าคนที่กลัวเข็มระดับ Phobia จะทำได้มั้ย ... อันนี้ไม่แนะนำครับ เพราะการจินตนาการว่าเข็มกำลังจะเจาะลงไป การคิดภาพว่าเข็มกำลังไปขยี้ในร่างกาย ก็น่าจะจุดความ Phobia ขึ้นมาและเป็นลมไม่ก็ลงไปดิ้นกับพื้นได้เลย ก็ให้มั่นใจว่าตัวเองไม่ได้กลัวเข็มขนาดนั้นค่อยไปเนาะ
อาการหลังทำ
อาการปวดจะไม่ได้หายไปในทันที ตรงกันข้าม ส่วนที่ถูกฝังมันจะระบมมาก มากแบบ มากกกกกกก หากเคยระบบจากการโดนพญาช้างสารเหยียบในร้านนวดไทยแล้วหละก็ บอกเลยว่าการระบมนี้แรงกว่านั้นอีก
ก็อย่างที่บอก มันเป็นการเข้าไปจิ้มทำลายกล้ามเนื้อ ดังนั้นมันก็เลยเกิดความเสียหายและระบมโดยไม่ต้องแปลกใจ ระบมเหมือนโดนทุบมา (มันเท่ตรงที่ว่าแค่ใช้เข็มจิ้ม ๆ ไปก็ระบมได้ถึงขนาดนี้) ถ้าใครฝังที่คอ ตอนเดินออกจากโรงพยาบาลก็อาจจะมีตึง ๆ มึน ๆ งง ๆ กันบ้าง ต้องใช้เวลาประมาณ 3-7 วันแล้วแต่คน อาการระบมจึงจะหายไป ระหว่างนั้นก็ต้องทนไปหน่อยครับ ยังทำงานได้แต่อย่าใช้ร่างกายเยอะ ใครมีธุระอะไรที่ต้องใช้ร่างก็ควรจะวางแผนดี ๆ ไปฝังเมื่อพร้อมเท่านั้น
แต่ความน่ามหัศจรรย์คือ
หลังจากที่หายระบมแล้ว อาการปวดในจุดที่ฝังก็หายไปเหมือนไม่เคยเป็นมาก่อนเลย
ไมเกรนที่เป็นรุนแรงระดับเดินไม่ได้ก็หายไปเลย 3 เดือนเต็มหลังจากฝังเพียงครั้งเดียว กดที่ไหล่ดูก็แทบไม่เจอปมที่เคยมีแล้ว สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขไปอีกนานมาก
ผลลัพธ์ออกมาน่ามหัศจรรย์มาก ถึงกับต้องมาเขียนแนะนำในบล็อกเลยทีเดียว
หายตลอดไปมั้ย ?
คำว่าตลอดไปไม่มีจริง #ความรักก็เช่นกัน
อาการจะดีขึ้นอยู่ระยะเวลาหนึ่ง ถ้ายังใช้ชีวิตแบบเดิม ๆ ไม่ยืดเส้น ไม่ออกกำลังกาย สุดท้ายก็จะกลับมาเป็นอีก ไม่ยอมออกกำลังกายก็ต้องไปฝังอีกรอบนะเออ (นี่ก็เป็นอีกรอบเหมือนกัน T__T)
ไปทำ Dry Needling ได้ที่ไหน
เนื่องจากศาสตร์นี้เป็นศาสตร์ตะวันตก ดังนั้นจึงสามารถไปทำได้ที่โรงพยาบาลทั่วไปในแผนกกายภาพบำบัดครับ อย่างเราก็ไปโรงพยาบาลสมิติเวชสุขุมวิทเพราะใกล้บ้าน ค่าใช้จ่ายก็สบาย ๆ พันนิด ๆ เท่านั้นเองเพราะเครื่องมือไม่ได้ซับซ้อนอะไร
ข้อจำกัดของการทำ Dry Needling
เนื่องจากเข็มค่อนข้างยาว หมอเลยจะไม่ฝังตรงบริเวณที่อาจไปทะลุอวัยวะภายในได้ หลัก ๆ ก็คือช่วงลำตัว อย่างปวดสะบักหลังนี่ก็ฝังไม่ได้เพราะอาจจะทะลุปอด ต้องไปใช้วิธีอื่นเอา แต่ถ้าเป็นส่วนที่ไม่มีอวัยวะสำคัญภายในก็จะทำได้ เช่น คอ ท้ายทอย ไหล่ สะบักนอก แขน เป็นต้น ก็ถือเป็นข้อจำกัดนิดนึง คนที่ปวดหลังก็อาจจะใช้วิธีนี้ไม่ได้ครับ
หมายเหตุ: บางโรงพยาบาลยอมทำให้ แต่เข้าใจว่าจะต้องเซ็นเอกสารยินยอมก่อนด้วย ก็ต้องรับความเสี่ยงกันเอาเองครับ นี่ก็ปวดสะบักมากแต่ไม่กล้าทำเหมือนกัน
คะแนน
ให้ 9 เต็ม 10 เลยสำหรับศาสตร์นี้ หักไป 1 เพราะฝังได้แค่บางจุด ต้องไปทำอย่างอื่น (เช่น Shockwave) ในบางส่วนอยู่ดี
ไม่ได้ค่านายหน้าจากโรงพยาบาลไหนแต่อย่างใด ก็ลองติดต่อโรงบาลใกล้บ้านดูนะว่าแผนกกายภาพบำบัดเค้ามีฝังเข็มแบบฝรั่งมั้ย (ใช้คำว่า Dry Needling ก็ได้) แล้วก็ลองไปดูครับ ไม่รู้ว่าโรงบาลไหนดีไม่ดีนะ รับความเสี่ยงกันเอาเองเน้ออออ เก๊ารับผิดชอบอะไรไม่ได้ แต่ที่ลองมาแล้วโอเคมากจริงอะไรจริง
เลิฟเลิฟ บุญรักษา ขอให้ไมเกรนหายออฟฟิศซินโดรมคลายกันทุกคน เพี้ยง !