"ความรักต้องไม่พยายาม"
สุดยอดเทคโนโลยีใหม่ไม่จำเป็นต้องเป็น The Next Big Thing เสมอไป ดูอย่างไรอะไรจะเกิดอะไรจะดับ ?
1 Jan 2019 22:18   [38270 views]

ในชีวิตสายเทคที่ต้องเผชิญกับสิ่งใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา ก็เลยต้องผ่านเทคโนโลยีใหม่มาเยอะมาก เฝ้าดูตั้งแต่วันที่มันยังเป็นวุ้นจนถึงวันที่มีคนใช้ทั่วโลก ในขณะเดียวกันเทคโนโลยีเก่าก็ค่อย ๆ ตายไปตามกาลเวลา เกิดเป็นยุคของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็น Cycle เรื่อย ๆ

ถ้าพูดถึงเทคโนโลยีใหม่ที่ดูเหมือนจะมีมาให้เห็นไม่เว้นแต่ละวัน แต่จะบอกว่าการเฝ้าดูตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมาบอกชัดเจนเลยว่า

มีเพียงเทคโนโลยีใหม่หยิบมือหนึ่งเท่านั้นที่จะไปถึงฝั่งฝัน

วันนี้ก็จะขอมาเขียนบันทึกไว้หน่อยว่าอะไรคือปัจจัยหลักให้เทคโนโลยีใหม่เหล่านั้นถึงถูกนำไปใช้ทั่วโลกได้ รวมถึงทำไมเทคโนโลยีบางตัวถึงได้ถูกพูดถึงทั่วโลกแต่สุดท้ายกลับไปไม่รอด อันนี้ค่อนข้างสำคัญสำหรับคนสายงานไอที เพราะสกิลที่สำคัญเอามาก ๆ คือ เราต้องมองให้ออกว่าอนาคตกำลังจะไปทางไหน หากเดินช้าไปก็จะไม่ทันคนอื่นเขา หรือหากเดินผิดทางก็เท่ากับเสียเวลาเปล่าไปเลยทีเดียว

บ่อยครั้งมากที่เห็นคนหลงใหลมัวเมากับเทคโนโลยีที่มีความหวือหวาจนหลงลงไปเล่นกับมันเต็มตัว รู้ตัวอีกทีก็เสียเวลาไป 5 ปีอย่างไร้ค่า สุดท้ายก็ตามคนอื่นไม่ทันอีกต่อไป น่ากลัวอยู่ บล็อกนี้เลยจะมาเล่าให้ฟังกันแหละว่าอะไรคือสาเหตุหลักที่เทคโนโลยีใด ๆ จะไปต่อได้ อะไรคือสาเหตุที่บางเทคโนโลยีโด่งดังขึ้นมาแล้วตายไป โดยขอเล่าจากสิ่งที่ย่อยออกมาจากการเฝ้าสังเกตการณ์มาตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา เผื่อจะมีประโยชน์ในการเอาไปพิจารณาว่าคุณควรจะจับงานสายไหนเพื่ออนาคตยาว ๆ ครับ

มาถึงตอนนี้อาจจะงง ๆ ว่า เอ๊ะ แล้วเทคโนโลยีที่ว่านั้นคืออะไร เพื่อความไม่งง งั้นขอยกตัวอย่างให้ดูหน่อยละกันว่าช่วงสักสิบปีที่ผ่านมามีอะไรดังขึ้นมาและมีตัวไหนที่ไปต่อตัวไหนที่ตายไป

ตัวอย่างของเทคโนโลยีที่เกิดแล้วได้ไปต่อยาว ๆ

เอาที่ทุกคนรู้จักกันดีสุดเลยคือ แอนดรอยด์

แอนดรอยด์ถูกสร้างโดย Startup รายหนึ่งก่อนจะโดน Google ซื้อไปและกลายเป็นระบบปฏิบัติการสำหรับโทรศัพท์มือถือที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก ณ ขณะนี้ แต่ถ้าใครตามมาตั้งแต่ต้นก็จะรู้ว่ามันเกือบไปไม่รอดแล้ว แต่ด้วยความไม่ยอมแพ้สุดท้ายก็เลยกลายเป็นสิ่งสำคัญของโลกไปอย่างตอนนี้

หรือถ้าไม่จำกัดระบบปฏิบัติการ Smartphone ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้แล้วในยุคนี้ จากที่สิบปีที่แล้วไม่มีใครนึกว่าทุกวันนี้โลกจะมีภาพแบบนี้อยู่

อันต่อไปก็ โดรน อันนี้ไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย อยู่ดี ๆ ก็ได้รับความนิยมขึ้นมาและก็มีคนประยุกต์ไปทำสิ่งต่าง ๆ เพียบ ตั้งแต่ถ่ายภาพ ทำ Light Show (ของ Intel) ยันทำโดรนส่งของ

พวก Stabilizer อย่าง DJI, Zhiyun ฯลฯ ก็อยู่ในหมวดนี้เช่นกัน ทุกวันนี้ใครจะถ่ายวีดีโอนิ่ง ๆ ก็ไม่ต้องไปหาอุปกรณ์แพง ๆ แล้ว ไม่กี่พันก็เพียงพอ

ความจริงยังมีอีกเยอะ แต่ขอยกตัวอย่างอย่างหอมปากหอมคอเนอะ

ตัวอย่างของเทคโนโลยีที่เกิดแล้วตายไป

มีหลายตัวมาก เลือกมาพูดถึงไม่ถูกเลย 555 ไหน ๆ ข้างบนก็พูดถึงแอนดรอยด์แล้ว ตรงนี้ขอยกเจ้า Windows Phone มาละกัน ซึ่งชะตากรรมของ Windows Phone นั้นต่างจากแอนดรอยด์เหมือนฟ้ากับเหว ไมโครซอฟต์พยายามผลักมันเต็มที่ แต่สุดท้ายตอนนี้ก็เลิกพัฒนาและจบสิ้นหมดอายุขัยไปเรียบร้อย

ตัวต่อไปก็คือผลิตภัณฑ์ที่ฝืนทนขายอยู่พักใหญ่ ๆ ก่อนสุดท้ายจะลาจากตลาดไปอย่าง 3D TV (เผื่อใครยังไม่รู้ ไม่มีผลิต ไม่มีขายแล้วนะจ๊ะ) ซึ่งจะบอกว่าขายอยู่หลายปีเลยนะก่อนจะพิสูจน์ตัวเองได้ว่าไปต่อไม่รอดแล้วแน่นอน

อีกสักตัวละกันเนอะ ขอเป็น Google Glass ละกัน แว่นสุดเท่ที่ชาว Geek หลงใหล เพราะมันดูอนาคต 21st Century มาก ๆ แต่สุดท้ายก็กลายเป็นเทคโนโลยีต้นแบบที่ไม่ได้ใช้ทำอะไรต่อแล้ว หาซื้อไม่ได้ละ

เครื่องขุด ASIC Miner ก็กึ่ง ๆ จะจัดอยู่ในหมวดนี้ได้เหมือนกัน ...

สังเกตดูว่าทุกตัวที่เราพูดถึงด้านบนมีอย่างนึงร่วมกันคือ

ทุกตัวล้วนเคยโด่งดังจนแทบทุกคนในโลกรู้จัก

และนี่คือสิ่งที่อยากจะเล่าให้ฟังในบล็อกนี้แหละ การที่มันเป็นที่รู้จัก การที่มันโด่งดัง หรือแม้การที่มันจะผลิตออกมาขายทั่วโลกแล้ว มันก็ไม่สามารถใช้เป็นเหตุผลได้เลยว่าสิ่งนั้น ๆ จะไปรอด บางตัวเกิดมาเพื่อให้ผู้ผลิตล้มละลายเลยด้วยซ้ำไป

อาจจะมีคำถามว่าแล้วอะไรที่ทำให้เทคโนโลยีเหล่านี้ดังขึ้นมา และอะไรที่ทำให้มันไปไม่รอด เดี๋ยวมีบอกแน่นอนด้านหลัง

ตัวอย่างของเทคโนโลยีที่หาทางตัวเองสู่ Mass

ก็ยังมีบางเทคโนโลยีที่เกิดมาแต่ยังขยายตัวสู่โลกกว้างไม่ได้ อยู่ได้แค่ Niche เช่น 3D Printer ซึ่งก่อนหน้านี้มันเคยได้รับการพูดถึงในแง่ของอุปกรณ์ที่ต้องมีทุกบ้าน แต่ดูตอนนี้สิ ก็อย่างที่เห็น มีแค่ Maker House หรือบางบริษัทเท่านั้นที่ซื้อไปพิมพ์โน่นนี่เล่น

แต่ถามว่ามันตายไปหรือยัง ก็ยัง แต่มันกำลังหาวิธีไปสู่ Mass ได้อยู่ ก็อาจจะเห็นว่าเริ่มมีเทคโนโลยีการพิมพ์อาหาร การพิมพ์เหล็ก ฯลฯ ออกมา ซึ่งสุดท้ายเป็นการต่อยอดจากเทคโนโลยี 3D Printer ทั้งสิ้น ก็จะเรียกว่ามันไม่ใช่เทคโนโลยีที่ไปสู่ Mass แต่เป็นฐานที่จะสร้างสิ่งใหม่ที่ไปสู่ Mass นั่นแหละ

อีกอันก็ Blockchain และ Cryptocurrency ตอนนี้ก็ยังแค่ตั้งไข่อยู่ ถึงคนจะพูดกันถึงหนาหู แต่เอาเข้าจริงมันมีการใช้งานน้อยมาก และส่วนใหญ่ที่ใช้กันก็จะไปทาง Private Blockchain เสียมากกว่าด้วยซ้ำ ก็ยังบอกไม่ได้ว่าอนาคตจะเป็นยังไง มันยังหาทางตัวเองอยู่ครับ

VR, AR อะไรพวกนี้ก็ด้วย ก่อนหน้านี้เฟสบุ๊คพยายามดันเหลือเกินว่าทุกบ้านจะต้องมี แต่ก็อย่างที่เห็น มันไปได้แค่เพียงบางตลาดเท่านั้น แต่ตอนนี้ก็เริ่มดีขึ้นเรื่อย ๆ คงจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในอีก 2-3 ปีข้างหน้าครับ

สาเหตุหลักที่เทคโนโลยีใหม่สักตัวจะดังขึ้นมา

ตัวอย่างด้านบนเราพยายามยกมาจากสิ่งที่ทุกคนรู้จักกันเป็นวงกว้างเพื่อให้เปรียบเทียบกันชัดเจนว่าการที่เทคโนโลยีใด ๆ ถูกพูดถึงไม่ได้แปลว่ามันจะไปรอด

และจะบอกว่าที่คนส่วนใหญ่มองข้ามไปแต่กลับเป็นเป็นเรื่องสำคัญมากคือ "ทำไมมันถึงมันดังขึ้นมาได้" ถ้าเราเข้าใจเหตุผลเบื้องหลังเราก็จะมองออกครับว่าอนาคตของสิ่งนั้น ๆ จะเป็นอย่างไร

จากที่เฝ้าดูมา ปัจจัยหลักที่สรุปมาได้มีอยู่ 3 อย่างคือ

Gimmick - สิ่งที่ทำให้คนพูดถึงเยอะมักจะเป็นสิ่งที่มีลูกเล่นแพรวพราวจนคนรู้สึกว่าว้าว ! หรือที่เราเรียกว่ากิมมิคนั่นแหละ พอมันว้าวคนก็บอกต่อกันจนสุดท้ายกลายเป็นไวรัลคนพูดถึงกันเยอะ แต่อย่างที่ทุกคนรู้กัน กิมมิคมักจะมากับความไม่ยั่งยืน เพราะความว้าวมันเป็นเรื่องชั่วคราวเท่านั้น เห็นแค่ครั้งเดียวแล้วก็อาจจะจบไป อันนี้เป็นหนึ่งในเหตุผลใหญ่ที่เทคโนโลยีมักไปต่อไม่ได้ เพราะของใหม่มักว้าวเสมอ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องตอบโจทย์การใช้ชีวิตประจำวันเสมอไป ยกตัวอย่างจากด้านบนก็คือ 3D TV ครับ

Big Brand Marketing - อันนี้เป็นเหตุผลที่ใหญ่ที่สุดที่เจอมา บริษัทใหญ่ ๆ มักจะมีผลิตภัณฑ์ใหม่และพยายามผลักดันให้มันเกิดให้ได้ แล้วต้องทำยังไง ? ... ก็เปย์ค่าทำตลาดสิครับ จ่ายเงินไปทั่วเพื่อให้คนพูดถึง จัดอีเว้นต์ ซื้อโฆษณา ฯลฯ สุดท้ายคนรู้จักไปทั่วและเกิดความน่าเชื่อถือว่ามันจะเกิด อาจจะมีบ้างที่ไปต่อได้ แต่ส่วนใหญ่มักจะตาย เพราะการเอาเงินหว่านโดยไม่ได้โฟกัสประโยชน์ที่แท้จริงก็ไม่อาจทำให้ผู้บริโภคสนใจได้ ยกตัวอย่างเช่น Windows Phone นั่นเอง

ความโลภ - ถ้าเทคโนโลยีนั้น ๆ เกี่ยวกับการเงิน ความโลภก็สามารถทำให้มันดังขึ้นมาได้ ก็เอาง่าย ๆ ... Cryptocurrency นั่นเอง จนถึงตอนนี้มีคนไม่ถึง 1% ที่ลงเงินกับตลาดนี้ที่เข้าใจ จะตายไปก็ไม่แปลกเพราะสุดท้ายเทคโนโลยีนั้น ๆ ก็ยังพิสูจน์ตัวเองไม่ได้เลยว่ามีประโยชน์ต่อชีวิตคนเรา

ก็ลองย้อนดูว่ามีเทคโนโลยีอะไรที่ดังมาก ๆ แล้วตายไปบ้าง สุดท้ายจะเห็นได้ว่าเราจับมันเข้ามาอยู่ในสามสาเหตุนี้ได้เกือบทั้งหมดเลย ที่น่ากลัวสุดคือ Big Brand Marketing เพราะบางทีจะกระทบต่ออาชีพด้วย เช่น ถ้าเราไปโฟกัส Windows Phone เพราะดันเชื่อไมโครซอฟต์แทนที่จะไปทำแอนดรอยด์นี่คือเสียเปรียบคนอื่นในตลาดหมดเลยนะ

คำถามต่อไป แล้วอะไรทำให้เทคโนโลยีเกิดได้ยาว ๆ หละ ?

คีย์เวิร์ดหลักคือ Adoption

ความจริงแล้วมีอยู่แค่ปัจจัยเดียวเท่านั้นที่จะบอกได้ว่ามันจะไปรอดมั้ยคือคำสั้น ๆ ที่เรียกว่า "Adoption" ครับ ภาษาไทยคือ "มีคนเอาไปใช้งานจริง" นั่นเอง

สมาร์ทโฟนเอย โดรนเอย Stablizer เอย ทีวีจอแบน Activity Tracker กล้อง Dash Cam ทุกอย่างที่ว่ามามันเกิดได้เพราะมีคนใช้งาน ไม่ใช่มีคนใช้งานเพราะมันเกิด

ตัวอย่างตลก ๆ ของตลาด Cryptocurrency คือ อยู่ดี ๆ เหรียญง่อย ๆ อย่าง Dogecoin ก็มีมูลค่าขึ้นมา ทั้ง ๆ ที่เทคโนโลยีเบื้องหลังมันไม่มีอะไรเลย ในขณะที่หลายตัวเทคโนโลยีหวือหวามากแต่ยังใช้งานจริงไม่ได้กลับมูลค่าลดลงเรื่อย ๆ ตามเวลา อันนี้ก็เป็นอีกหนึ่งอย่างที่เอาไว้บอกได้ว่า Adoption มีผลต่อมูลค่าและอนาคตของสิ่งนั้นจริง ๆ

ในขณะเดียวกัน ถ้า Adoption ไม่เกิด เช่น Windows Phone (คนซื้อใช้น้อยมาก), 3D TV (ใส่แว่นดูแล้วลำบาก ดูธรรมดาดีกว่า) หรือ Google Glass (ตาเหล่ ใช้แล้วไมเกรนจะขึ้น) ทั้งหมดนี้ถึงจะดังมากกกกก (ดังจนพอบอกว่ามันตายแน่ ๆ ยังมีคนตั้งกรุ๊ปมาดราม่า) แต่สุดท้ายก็ตายไปในที่สุด เหตุผลเดียวเลย "ไม่มีคนใช้จริง"

และนี่คือสิ่งสำคัญมาก ๆ ในการมองว่าเทคโนโลยีไหนจะไปรอดหรือไม่รอด เราต้องดูว่าสุดท้ายจะมีคนใช้งานจริงมั้ยเป็นหลักครับ โดยเหตุผลประกอบหลัก ๆ ก็ได้แก่

- ราคา - ถ้าราคาแพงจนไม่มีใครซื้อใช้ได้ มันจะมีคนใช้จริงได้อย่างไร

- ประโยชน์ต่อชีวิตจริง - ประเด็นสำคัญคือมันมีประโยชน์ต่อชีวิตประจำวันหรือเปล่า (เพราะมันคือแกนกลางของคำว่า Adoption เลย) ถ้ามันสามารถแก้ปัญหาอะไรบางอย่างในชีวิตจริงได้มันก็จะไปต่อได้ง่าย แต่ถ้าเหมือนไร้ประโยชน์ ทำมาเพื่อความว้าว มันก็จะอยู่ได้ไม่นาน

- ความสะดวกในการใช้งาน - คนเราใฝ่หาวิธีเพิ่มความสะดวกสบายไม่ใช่เพิ่มความลำบาก หากใช้งานยากคนก็ไม่ทรมานใช้หรอก

- คู่แข่งทั้งตอนนี้และอนาคต - อันนี้อาจจะต้องใช้วิสัยทัศน์นิดนึง ต้องดูว่าเทคโนโลยีนั้น ๆ จะถูกแทนที่ด้วยคู่แข่งในเวลาอันสั้นได้หรือไม่ เพราะถึงมันจะดีจริง มีคนอยากใช้งานจริง แต่ถ้าอีกตัวดีกว่าคนก็ไปใช้อีกตัวแทนหมด

แม้แต่ตัวที่คนลงเงินไปเพื่อเก็งกำไรอย่าง Blockchain และ Cryptocurrency ก็ใช้หลักการเดียวกันหมดครับ (หลายคนอาจจะได้ยินคำว่า Mass Adoption บ่อย ๆ ก็เรื่องนี้แหละ)

แต่ทุกเทคโนโลยีมีอายุขัยของมัน

ที่พูดถึงมาทั้งหมดนี้เป็น "การไปต่อได้ของเทคโนโลยี" เป็นหลัก แต่สุดท้ายทุกเทคโนโลยีก็จะต้องตายไปครับ ทุกอย่างมีอายุขัยของมัน ยังไงก็อย่าลืมอัปเดตตัวเองเรื่อย ๆ มองดูด้วยว่าอะไรกำลังจะตายไป (ก็คิดดูว่าถ้าเรายังเขียน Symbian อยู่เราจะอยู่ยังไง) และอะไรกำลังจะเกิดใหม่ ถ้ามองออกก็วิ่งไปดักหน้าซะ แล้วจะได้เปรียบคนอื่นมากครับ

ส่งท้าย

บทความนี้ก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไรอ่ะนะ แต่ Keyword หลักที่อยากให้คนตระหนักไว้ตลอดเวลาคือ

อย่าเชื่อกระแสเพราะกระแสสร้างได้ด้วยเงิน แต่สุดท้ายโลกหมุนไปในทางที่ทุกคนในโลกกำหนด ไม่ใช่เพราะนายทุนเพียงไม่กี่คนครับ

หากไม่พิจารณาอย่างถี่ถ้วนก็อาจจะหลงกลไปเสียเวลาชีวิตกับสิ่งไม่จำเป็นได้ ยังไงปีนี้มาดูกันว่ามีเทคโนโลยีใหม่อะไรที่จะทำให้โลกเปลี่ยนไปบ้าง ช่วงนี้กำลังสนุกเลยหละ ^__^

สวัสดีปีใหม่ครับ

บทความที่เกี่ยวข้อง

Feb 24, 2018, 12:48
146839 views
คาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในตลาด Cryptocurrency ปี 2018
Oct 31, 2021, 09:26
31133 views
เข้าใจความปลอดภัยของ WAX Chain และข้อควรระวังเพื่อไม่ให้โดนแฮค
0 Comment(s)
Loading