"เงินไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาคือไม่มีเงิน"
GameFi ไหนเล่าาา - เล่าเรื่อง GameFi ให้ฟังแบบหมดจดทุกหยดหยาด
12 Apr 2022 15:38   [22224 views]

ตอนแรกว่าจะ Live แต่ไป ๆ มา ๆ สภาพร่างกายจิตใจไม่ค่อยพร้อมเลยขอเขียนเป็นบล็อกแทนละกัน จะได้เอาไป Reference กันยาว ๆ ได้ด้วย

บล็อกนี้จะพูดถึง GameFi ในภาพรวมจากที่ได้ลงไปเล่นมาด้วยตัวเองหลายสิบเกม (อาจจะถึงร้อย) โดยจุดประสงค์ของการเล่นก็คืออยากได้ความรู้ ไม่ใช่อยากได้กำไร ซึ่งพอเล่นมาเยอะ ๆ ผ่านอะไรมาหลายอย่าง ก็ทำให้เห็น Fundamental เบื้องหลังของศาสตร์นี้ จึงรวบรวมเอามาเล่าให้ฟังว่าที่ผ่านมา GameFi เป็นมายังไง และอนาคตจะเป็นอย่างไรต่อไป โดยจะพูดถึงทั้งแง่ทฤษฎีและปฏิบัติ ไม่มีโลกสวย เน้นโลกแห่งความจริงน้อ

GameFi คือแชร์ลูกโซ่เสมอไปหรือไม่ ? GameFi คือเกม NFT หรอ ? GameFi ต้องอยู่บน Blockchain เสมอมั้ย ? GameFi จำเป็นต้องเป็น Play-to-Earn หรือเปล่า ? มีเกมที่ไม่แตกหรือเปล่า ? จำนวนโทเค่นส่งผลมั้ยกับความยั่งยืน ?

ทั้งหมดนี้จะได้คำตอบในบล็อกนี้ครับ

GameFi คืออะไร ?

คำว่า GameFi เกิดมาจาก Game + DeFi (Decentralized Finance) นิยามที่ชัดเจน 100% ยังไม่มี แต่ถ้าเอาทั้งสามคำ (Game, Decentralized และ Finance) มารวมกันแล้ว คำนิยามที่ใกล้เคียงสุดก็คงจะเป็น

playing video games on decentralised applications for economic incentives

หรือเกมแบบ Decentralized ที่เล่นเพื่อได้รับอะไรบางอย่างกลับมา

ด้วยองค์ประกอบของ Decentralized ทำให้เราสามารถสรุปได้ว่า GameFi จะต้องอยู่บนอะไรที่มีความ Decentralized ไม่มีใครควบคุมได้ตรงกลาง หนึ่งในนั้นคือการรันบน Blockchain เพื่อให้ทุกคนช่วยยืนยันธุรกรรม หรือจะเป็น DAO ที่ให้ทุกคนช่วยกำหนดทิศทางของเกม

คำถามแรกที่ถามว่า GameFi จำเป็นต้องอยู่บน Blockchain มั้ย ก็ตอบว่า ณ ตอนนี้ยังจำเป็นอยู่ อาจจะไม่ต้องทั้งหมด แค่บางส่วนก็ได้ ส่วนอนาคตหากมีอะไรที่สามารถ Decentralized โดยไม่ต้องใช้ Blockchain อันนั้นก็อาจจะเปลี่ยนรูปแบบไปได้

คำถามที่สองว่า GameFi จำเป็นต้องเป็น Play-to-Earn หรือเปล่า ? หากยึดตามนิยามข้างบนนี้ก็ต้องบอกว่าจำเป็น หลัก ๆ เพราะ GameFi ถูกพัฒนาต่อมาจาก DeFi ซึ่งมีคำว่า Finance เป็นองค์ประกอบหลัก และคนมาเล่น DeFi ก็เพื่อการ Earn เป็นหลัก เช่นเดียวกับ GameFi ที่พอเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นเกม แต่การ Earn ก็ยังคงเป็นแกนหลักของ GameFi

ทั้งนี้มันคือนิยามในเชิงความหมายของคำ แต่เดี๋ยวจะมีอธิบายในทางปฏิบัติด้วยว่าทำไม GameFi ถึงเทไปทาง Play-to-Earn เสมอ และก็ขอโน้ตไว้ตรงนี้ก่อนว่าแม้เกมจะเป็น Play-to-Earn แต่ก็ไม่ได้แปลว่ามันจะเป็นแบบนั้นตลอดไป มันเปลี่ยนได้เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม

GameFi ต้องเป็นเกม NFT ด้วยหรอ ?

สังเกตดูว่าไม่มีคำว่า NFT ใน GameFi และก็เป็นไปตามนั้น

GameFi ไม่จำเป็นต้องเป็นเกม NFT เสมอไป

เอาจริง ๆ GameFi เกมแรกที่เราเล่นตั้งแต่ต้นปีที่แล้วมันก็ไม่มี NFT แต่ก็ยัง Earn ได้มาพอสมควร

แต่พักหลังสาเหตุที่เกือบทุกเกมจะมาพร้อม NFT เสมอนั้นมีอยู่ 3 สาเหตุหลัก ๆ

1) ทำตามเกมที่สำเร็จก่อนหน้า - ตลาด GameFi เปลี่ยนไปเป็นแนวทางนี้ตั้งแต่ Axie Infinity ประสบความสำเร็จอย่างสูง ทำให้ผู้คนทำ NFT ตาม นี่เป็นสาเหตุหลักที่ทุกเกมหันเหมาทางนี้

2) Marketing - ด้วยความฟู่ฟ่าของตลาด NFT ในพักหลังช่วยให้เกมที่ใช้ NFT สามารถทำ Marketing ได้ง่ายขึ้น

3) NFT ช่วยเก็บมูลค่า ทำให้เกมแตกช้าลง - เนื่องจากเกมส่วนใหญ่จะเป็นเกม Play-to-Earn คือคนเข้ามาเพื่อหวังผลกำไรนั่นแหละ ในแง่ของ Tokenomic อยากให้มองว่ามันคือการที่คนโยนเงินเข้าไปเก็บเป็น Asset ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Token หรือ NFT แล้วก็ค่อย ๆ เอาเงินออกมา การมี NFT จะช่วยให้ผู้คนที่ถือ NFT เหล่านี้รู้สึกว่าได้ถือของที่มีมูลค่าอยู่ และมักจะมีมูลค่าสูงกว่า Token มาก อัตราการขาย NFT ในเกมจะต่ำกว่าการขาย Token อย่างมีนัยสำคัญด้วยสาเหตุนี้ อย่างไรก็ตามมันเป็นแค่ภาพลวงตาเพราะสุดท้าย NFT ก็จะไร้ค่าไปในวันที่เกมแตกอยู่ดี ในทางปฏิบัติ NFT จะค่อย ๆ ถูก Dilute ค่าลงไปเรื่อย ๆ แล้วคนก็เอาเงินออกในทางอื่น (เช่น Token) แต่ภาพรวมจะทำให้เกมแตกช้าลงเพราะคนไม่ค่อยเทขาย NFT กันนั่นเอง ตัว NFT จึงค่อนข้างจำเป็นต่อการออกแบบ GameFi ที่ยั่งยืนกว่าปกติ ... นิดนึง

สรุปแล้ว GameFi ไม่เท่ากับ NFT Game แต่หาก GameFi ไม่มี NFT มันจะไม่ดีต่อเกมเท่าไหร่นักทั้งในแง่การโปรโมทและความยั่งยืน นั่นเป็นสาเหตุว่าทำไมตอนนี้ GameFi กับ NFT Game แทบจะ Blend เป็นอย่างเดียวกันไปแล้ว และอนาคตก็น่าจะไม่ต่างจากนี้ไปเท่าไหร่นัก

อะไรคือจุดประสงค์หลักที่คนมาเล่น GameFi กัน ?

เราสามารถมีคำพูดสวยหรูว่าคนมาเล่นเพราะสนุกกันแหละ มันเกมนะเว้ย แต่เอาเข้าจริง โลกแห่งความจริงมันชัดเจนแล้วแบบคนเถียงได้ยากว่า

คนล้วนมาเล่นเพื่อโกยเงินทั้งนั้น

นี่เป็นปัจจัยสำคัญมากที่ทำไม GameFi ส่วนใหญ่ถึงเกิดมา-แตกยับ-แล้วตายไป เพราะการที่คนเข้ามาเพื่อโกยเงิน ตัว Economic ของเกมจะเป็นแชร์ลูกโซ่ไปในทันที หากออกแบบดีหน่อยก็อาจจะอยู่ได้หลายเดือน หากออกแบบไม่ดีก็อาจจะมีอายุขัยหลักนาทีได้เลย

เรื่องนี้เป็นสิ่งที่อุตสาหกรรมนี้กำลังพยายามหาทางก้าวข้าม เพราะโมเดลมันค่อนข้างชัดเจน

1) ถ้าคนเข้ามาเพื่อโกยเงิน - คนจะเลิกเล่นเมื่อมันทำเงินไม่ได้แล้ว ซึ่งมักจะใช้เวลาไม่นาน โมเดลเบื้องหลังก็คือ Ponzinomic หรือแชร์ลูกโซ่

2) ถ้าคนเข้ามาเพราะสนุก - คนจะเล่นต่อไปเรื่อย ๆ แถมยังเอาเงินเข้าระบบไปเรื่อย ๆ ด้วย โมเดลเบื้องหลังก็คือ Pay-to-Win ปกติที่เกมมือถือส่วนใหญ่เป็น ก็จะเห็นว่าบางเกมรันมาเป็นสิบปีก็ยังอยู่ต่อได้เรื่อย ๆ

แต่ตอนนี้หลังจากที่ลิสต์ GameFi ในตลาดทั้งหมด ต้องบอกว่ากว่า 99% จะอยู่ในกลุ่มแรก แต่ก็มีส่วนนึงนะที่อยู่ในกลุ่มสอง เดี๋ยวจะมาเล่าให้ฟัง

คำถามต่อไป มีโอกาสมั้ยที่ในเกมเดียวกันจะมีทั้งคนเข้ามาเพื่อโกยเงินและเข้ามาเพราะสนุก สุดท้ายจะยั่งยืนมั้ย ?

ต้องตอบว่ามันมีอยู่แล้วแต่ในแง่ Economic เงินที่ถูกอัดเข้าไปเพราะคนเล่นด้วยความสนุกยังไงก็ไม่พอจ่ายคนที่เข้ามาเพื่อโกยเงิน

ดังนั้นถ้าเกมถูกโปรโมทและถูกออกแบบมาในแง่ของ Play-to-Earn เต็ม ๆ มันก็จะถูกครอบงำด้วยโมเดลแชร์ลูกโซ่อยู่ดี แต่พอวันที่เกมแตกแล้วฝุ่นจะเริ่มจาง คนที่ยังเล่นอยู่ต่อนั่นแหละจะเล่นเพื่อความสนุก

GameFi เป็นแชร์ลูกโซ่เสมอมั้ย ?

ทางทฤษฎีแล้ว GameFi ไม่จำเป็นต้องเป็นแชร์ลูกโซ่ เอาง่าย ๆ เลยคือเกม Play-to-Earn ที่คืนเงินให้ผู้เล่นน้อยกว่าที่ผู้เล่นจ่ายไป เช่น ให้ผู้เล่นลง $10 แต่ได้คืนไม่เกิน $5 มันก็ Play-to-Earn เหมือนกัน

แต่ทางปฏิบัติแล้ว ตลาด GameFi เป็นตลาดที่คนเข้ามาเล่นเพื่อเงินเป็นส่วนใหญ่ เกมที่ทำในแง่นี้เลยมักจะไม่ประสบความสำเร็จ (แต่ก็มีบ้าง)

ดังนั้นจะบอกว่าในทางทฤษฎีเนี่ย GameFi ไม่จำเป็นต้องเป็นแชร์ลูกโซ่เลย แต่ในทางปฏิบัติ เรียกว่าแทบทุกเกมคือแชร์ลูกโซ่หมด แค่บางอันถูกออกแบบให้แตกนานหน่อย แต่บางอันออกแบบไม่ดีก็แตกในไม่กี่วัน จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่เห็น GameFi ตัวไหนที่ออกแบบมาโดยไม่ได้ใช้โมเดลของแชร์ลูกโซ่

ทั้งนี้มันจะมีบางเกมที่ไม่ใช่ Play-to-Earn เต็มตัวแต่โปรโมทเป็น P2E เพราะสาเหตุทางการตลาด เช่น MIR4 ซึ่งดึงคนเข้าไปเล่นได้ แต่สุดท้ายก็ไม่ใช่แชร์ลูกโซ่เพราะโมเดลเกมไม่ได้เน้นเรื่องของการ Earn ขนาดนั้นนั่นเอง (แถมต้องเติมเงิน)

สรุป ...

จนถึงตอนนี้เรียกได้ว่า 100% ของ GameFi ที่มีคนเล่นจะถูกเปิดตัวมาด้วยโมเดลแชร์ลูกโซ่ ถึงแม้มันจะไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนั้น แต่ในทางปฏิบัติมันยังเป็นแบบนั้นอยู่

ซึ่งถามว่ามันเป็นเรื่องแย่มั้ย ส่วนตัวก็ไม่เห็นว่าเป็นเรื่องแย่นะ แต่มันเป็นสิ่งที่อุตสาหกรรมต้องผ่านไปให้ได้แค่นั้นเอง

เริ่มต้นด้วยแชร์ลูกโซ่ แต่เปลี่ยนระหว่างทางได้มั้ย ?

ได้สิ มีทำได้หลายเกมแล้วด้วย

สิ่งหนึ่งที่ต้องเข้าใจคือพอขึ้นชื่อว่าเกมแล้วมันก็จะมีความสนุกอยู่ในนั้นอยู่บ้างแหละ แต่ปัญหาหลักของ GameFi คือความสนุกอย่างเดียวมันไม่พอที่จะดึงให้คนมาเล่น สุดท้ายในตลาดนี้คนจะแห่มาเล่นก็เพราะการโกยเงินทั้งนั้น ซึ่งอย่างที่บอก เกม Play-to-Earn มันเป็นแชร์ลูกโซ่ พอถึงเวลาคนก็จะเลิกเล่นไปถ้าหาเงินจากเกมนี้ไม่ได้แล้ว

แต่ถ้าเกมมันสนุก ก็จะเหลือคนอีกกลุ่มนึงเล่นต่อไปเรื่อย ๆ โดยไม่สนใจเงินอะไรทั้งสิ้น

เกมที่ทำได้แล้วก็เช่น Axie Infinity ที่คนเล่นต่อเพราะน้อนน่ารัก หรือเกม Splinterlands ที่คนเล่นเพราะหัวร้อน เอาเงินปาเพื่อให้ชนะ เกมเหล่านี้เริ่มหา Buyer ใน Token และ NFT ไม่ได้แล้ว แต่จำนวนคนเล่นก็ยังมีอยู่

หากใช้เป็น ถึงจะเริ่มด้วยแชร์ลูกโซ่ แต่ตอนจบก็สามารถไปต่อทางอื่นได้เหมือนกัน และมีคนพิสูจน์ให้เห็นแล้ว

จำนวน Token ส่งผลต่อความยั่งยืนของเกมมั้ย ?

ถ้าใครเล่น Play-to-Earn เยอะหน่อยก็จะรู้ว่าแต่ละเกมมีจำนวน Token ไม่เท่ากัน ง่ายสุดก็โทเค่นเดียว (หรือไม่มีเลย) หรือปาไป 4 Tokens ก็มี

อาจจะเกิดคำถามว่ามันต่างกันยังไง ? ทำไมเกมที่มี Token เยอะ ๆ จะดูไปได้นานกว่า

ความจริงแล้วการมีหลาย Token นั้นช่วยได้หลายอย่าง

1) ใช้เพื่อประกันความปลอดภัยของเกม - มีโอกาสที่เกมจะเกิดอะไรผิดพลาดขึ้น เช่นโดนแฮค หรือเริ่มต้นมาไม่ดีแล้วราคาร่วงเละ การที่มีหลายโทเค่นจะช่วยเปิดโอกาสให้ Dev แก้ไขข้อผิดพลาดได้ คือพังไปโทเค่นนึง แต่อีกอันยังไปต่อได้ ระหว่างนั้นก็แก้ไขแล้วกลับมาได้

2) ใช้เพื่อยื้อให้เกมแตกช้าลง - พอมีหลาย Token คนก็จะเล่นในหลาย ๆ รูปแบบ และสามารถยื้อการเติบโตของเกมลงได้ สุดท้ายเกมจะแตกช้าลงได้

แต่สุดท้ายแล้วไม่ว่าจะมีกี่ Token หากเกมรันด้วยโมเดลแชร์ลูกโซ่ เราสามารถ Simplify โมเดลลงได้เสมอ และสุดท้ายจะโทเค่นเดียวหรือ 4 โทเค่น ก็จะเหมือนกันหมดเพียงแต่ต้องดูให้ออก

ถามว่าดูยังไง ?

ในโมเดลแชร์ลูกโซ่ ปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการดูว่าระบบ Economic จะรันไปได้นานแค่ไหนคือ "อัตราการเติบโต"

ถ้าโมเดลถูกออกแบบให้การเติบโตสูง เกมก็จะอยู่ได้ไม่นานแล้วแตกยับ ตรงกันข้าม ถ้าโมเดลถูกยื้อให้การเติบโตต่ำลง เกมก็จะอยู่ได้นานขึ้น

คราวนี้เราก็ต้องดูให้ออกว่าให้บรรดาโทเค่นที่มี มีตัวไหนที่เป็นปัจจัยต่อการเติบโตบ้าง ขอยกตัวอย่างจากเคสจริง

1) Bombcrypto - มีโทเค่นเดียวและการเติบโตก็ตรงไปตรงมาคือดูว่าอัตราการคืนทุนอยู่ที่เท่าไหร่ ก็จะคำนวณได้ว่าแต่ละเดือนต้องมีผู้เล่นเพิ่มเท่าไหร่ถึงจะยังไม่แตก

2) Cryptomines - มีโทเค่นเดียวและการเติบโตถูกผูกกับจำนวนโทเค่นที่ถูกพิมพ์เพิ่มต่อวัน แต่ด้วยระบบ Oracle ทำให้กราฟบิดเบี้ยวเล็กน้อย แต่ก็ยังพอประเมินได้ว่าต้องอาศัยการเติบโตเท่าไหร่ถึงจะรอด

3) Axie Infinity - มีสองโทเค่นแต่การเติบโตผูกกับโทเค่น SLP เป็นหลัก ดังนั้นเราสามารถประเมินได้ว่าเกมต้องมีการเติบโตเท่าไหร่ถึงจะไปต่อได้โดยยังไม่แตกด้วยการดูว่าอัตราการมิ้นต์ SLP อยู่ที่เท่าไหร่ ส่วน AXS ไม่ต้องไปดูเลย

4) Farmersworld - มี 3 โทเค่น แต่การเติบโตถูกผูกกับโทเค่นเดียวคือ FWW แต่ FWW ถูกจำกัดการเติบโตด้วยโทเค่น FWF ซึ่งจำเป็นต้องใช้ FWW ในการสร้าง พันกันไปพันกันมา แต่ถ้าให้เข้าใจง่ายก็คือ FWW ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มันจะต้องมีช่วงพักเพื่อไปสร้างอย่างอื่นเพื่อมาสร้าง FWW ต่อ ทำให้เกมมีการจำกัดการเติบโตให้ช้าลง ส่งผลให้เกมอยู่ต่อได้นานขึ้นกว่าเกมอื่น ๆ

สรุปว่ามีกี่โทเค่นก็ไม่สำคัญเท่าอัตราการเติบโตสุทธิที่เราคำนวณออกมาได้ หากมี 10 โทเค่นแต่อัตราการเติบโตไม่ได้ลดลง เกมก็แตกในไม่กี่วันได้เช่นกัน ตรงกันข้าม หากมีโทเค่นเดียวแต่สามารถยื้อการเติบโตลงได้ เกมก็จะอยู่ได้นาน (แต่อัตราการตอบแทนก็อาจจะน้อยจนคนไม่อยากเล่น ต้อง Balance)

เกมที่ไม่ลิมิตการเติบโต = ตายทันที

เกมที่อ่อนด้อยเรื่อง Ponzinomic และไม่รู้จักการจำกัดการเติบโตก็จะมีปลายทางชัดเจนคือ ... ตายทันที

เกมที่ว่าก็มีให้เห็นหลายตัวแล้วเช่น Plants vs Undead และ Wanaka Farm ที่เปิดให้ใครก็เล่นได้ฟรี ส่งผลให้เกมเติบโตได้แบบอนันต์ภายในเวลาสั้น ๆ และเกมในแง่ของ Play-to-Earn ก็เลยตายไปอย่างรวดเร็ว

Zero Sum Game - กำไรของเราคือน้ำตาของใครบางคน

ในโมเดลแชร์ลูกโซ่นี้เป็นอะไรที่ Zero Sum Game คือถ้ามีคนกำไรก็จะมีคนขาดทุน และพอถึงวันที่เกมแตกไปก็อาจจะมีคนที่สูญเสียทุกอย่างไปได้เลยเช่นกัน

อย่างนึงที่อยากเตือนไว้คืออย่าหลงดีใจกับเงินที่ได้มามากขนาดนั้น เพราะโมเดลนี้ค่อนข้างสีเทาค่อนไปทางดำ และเงินที่เราได้มาอาจจะสร้างน้ำตาแห่งความเสียใจให้คนอื่นอยู่นะ

อนาคตของ GameFi

GameFi ยังคงไม่สามารถข้ามเส้นของ "ความโลภ" เพื่อไปอยู่ในจุดของ "ความสนุก" ได้เพราะ GameFi ดันไปสร้างอยู่บนโครงสร้างของ DeFi ที่คนเข้ามาเพราะความโลภเป็นหลักนั่นเอง ส่งผลให้เกมที่เน้นความสนุกโดยไม่เน้นรายได้ของผู้เล่นมักจะได้รับความนิยมน้อยกว่าเกมที่เน้นโกยเงิน น้อยกว่าในที่นี้คืออาจจะทำให้เกมนั้นไม่มีคนเล่นและตายไปได้เลยนะ

จริงอยู่ว่าทางทฤษฎี GameFi นั้นไม่จำเป็นต้องเป็นแชร์ลูกโซ่ เพียงแต่ตอนนี้มันยังเป็น Ponzi อยู่ด้วยเหตุผลที่ค่อนข้างชัดเจน อุตสาหกรรม GameFi จะต้องก้าวข้ามตรงนี้ไปให้ได้และไปยังจุดที่ยั่งยืนกว่านี้ ไม่ใช่เกิดมาแล้วตายไปแล้วเกมใหม่ก็โผล่มาเรื่อย ๆ วนไปแบบนี้

และเอาจริง ๆ ... ส่วนตัวคิดว่ายากมากที่ GameFi จะไปถึงจุดนั้นเพราะในแง่ Fundamental นั้นไม่เอื้อให้เป็นแบบนั้นเลย

มีหลายโปรเจคที่พยายามสร้างเกมโดยที่โฟกัสทางความสนุก เช่น Gala Games Network แต่ก็ยังมีอะไรหลายอย่างที่ต้องพิสูจน์และปลดล็อคไป คอยติดตามกันไปครับ ถ้าถึงวันที่ GameFi ข้ามความเป็นแชร์ลูกโซ่ไปได้ ตลาดนี้ก็คงจะเปลี่ยนไปอีกเยอะครับ

ส่งท้าย

ก็เป็นการอธิบายโดยละเอียดแล้วว่าภาพรวมของ GameFi เป็นยังไง ก็หวังว่าจะชัดเจนขึ้นในทุก ๆ แง่

ยังคงอยากจะเตือนไว้อีกรอบนึงว่า

ถึง GameFi จะไม่จำเป็นต้องเป็นแชร์ลูกโซ่ แต่กว่า 99% ของ GameFi ยังเป็นแชร์ลูกโซ่อยู่ วันนึงอาจจะไม่ใช่แบบนี้แล้วแต่ตอนนี้ยังเป็นแบบนั้นอยู่

ถ้าจะเล่นก็ต้องทำความเข้าใจในหลักการและความเสี่ยงด้วย และที่เหลือทุกคนจะต้องรับความเสี่ยงเองครับ ถ้าจะเล่นตลาดนี้เราไม่สามารถโทษคนอื่นได้น้า

จบครับ

บทความที่เกี่ยวข้อง

May 14, 2024, 13:16
3072 views
โลกสิบปีจากนี้จะไม่ง่ายสำหรับมนุษยชาติ
Oct 31, 2021, 09:26
32043 views
เข้าใจความปลอดภัยของ WAX Chain และข้อควรระวังเพื่อไม่ให้โดนแฮค
0 Comment(s)
Loading