ประเด็นสายแลนและสายดิจิตอลต่าง ๆ ที่ใช้ส่งข้อมูลเสียงแบบดิจิตอลแต่กลับให้คุณภาพเสียงต่างกันนั้นกลับมาอีกแล้ว ซึ่งไม่แปลกใจอะไรเพราะบอกตั้งแต่รอบที่แล้วว่ามันจะกลับมาอีกเรื่อย ๆ เพราะเรื่องนี้อาศัย "ความเชื่อ" มากกว่า "วิทยาศาสตร์"
เพราะทุกครั้งที่มีข้อถกเถียงนี้ขึ้นมาจะแบ่งเป็นสองกลุ่มชัดเจนคือกลุ่มที่ใช้ข้อมูลที่วัดได้ (วิทยาศาสตร์) กับกลุ่มที่ใช้ความรู้สึกวัด (ความเชื่อ)
และนั่นมันจึงไม่สามารถหาข้อสรุปได้เพราะตราบใดที่คนสองกลุ่มมีมาตรวัดคนละเกณฑ์กัน มันก็ไม่มีทางเลยที่จะได้ข้อสรุปที่ตรงกันได้
พอเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น เรามักจะบอกว่าหยุดเถียงกันเถิดว่าใครถูกหรือใครผิด ทำไมหนะหรอ ? เพราะการถกเถียงทำนองนี้มักไม่ได้เกิดมาเพื่อหาข้อสรุปที่ตรงกัน แต่เป็นการเอาชนะกัน ซึ่งจะไม่สามารถจบลงไปได้เพราะจุดประสงค์ของการยกเรื่องนี้มาไม่ใช่เพื่อหาข้อสรุปมาตั้งแต่แรก
แต่ถึงกระน้ัน มีการทดลองเกิดขึ้นมากมายตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันจากการถกเถียงเรื่องนี้และเราว่าข้อสรุปของการทดลองเหล่านั้นมีค่าและควรจะถูกบันทึกไว้ เราเลยขอรวบรวมเอาเรื่องราวต่าง ๆ ยาวไปจนถึงเรื่องที่เรา Research เองมาเป็นข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้ทุกคนอ่านและนำไปวิเคราะห์ต่อเอง
สุดท้ายไม่สำคัญว่าใครจะเชื่อหรือไม่เชื่ออะไรเพราะมันไม่ได้เกิดประโยชน์ แต่สิ่งที่คาดหวังคือจะทำให้ผู้คนมีปัญญามากขึ้นครับ นี่คือจุดประสงค์ของ Blog นี้
ถ้างั้นเริ่มเลยนะ !
TL;DR;
ใครขี้เกียจอ่านบล็อกกดดูคลิปด้านล่างนี้ได้เลย อันเดียวจบ แต่ถ้าอยากอ่านละเอียดกว่านี้ก็เลื่อนลงไปอ่านด้านล่างต่อได้เลยจ้า
ต่อจากนี้จะเป็นแบบละเอียดละ ลุย !
ใช้สายส่งสัญญาณอนาล็อกหรือสัญญาณดิจิตอล ?
พอพูดถึงสายสัญญาณ บริบทมันจะกว้างมากเพราะใช้ส่งอะไรก็ได้ เพื่อให้การถกเถียงอยู่ในกรอบที่จำกัด เราเลยขอยกเรื่องนี้ขึ้นมาก่อน
"สายที่ได้มาใช้ส่งสัญญาณอนาล็อกหรือสัญญาณดิจิตอล"
จริงอยู่ที่สายแลนมันคือสายที่ใช้งานในทางดิจิตอล แต่เราไม่สามารถบังคับให้คนใช้งานในทางดิจิตอลเสมอได้เพราะมันก็เป็นแค่สายสัญญาณอยู่ดีอ่ะนะ ก็เจอในหลาย ๆ งานเค้าใช้สายแลนในการส่งสัญญาณอนาล็อก เช่น ใช้สตรีมสัญญาณเสียง (Wave Form) ไปยังลำโพง ซึ่งที่มีคนเอาไปใช้งานแบบนี้ก็เพราะสายแลนถือเป็นสายสัญญาณที่มีประสิทธิภาพสูง ทั้งถูกชีลล์ (Shield) มาเป็นอย่างดีจนสามารถป้องกันสัญญาณรบกวน (Noise) ได้เลยส่งสัญญาณความถี่ได้ทุกย่านรวมถึงสัญญาณความถี่สูง
ถ้าในกรณีนี้ สายแลนถูกใช้ในการนำส่ง "สัญญาณอนาล็อก" ก็ต้องบอกว่าสายดีหรือไม่ดีจะส่งผลต่อคุณภาพเสียงแน่นอน โดยรายละเอียดอื่น ๆ แทบไม่ต้องพูดถึงเพราะน่าจะรู้กันอยู่แล้วว่าการส่งสัญญาณอนาล็อกมันเป็นการส่งสัญญาณแบบดิบ ๆ ข้อมูลตกหล่นก็ไม่รู้ ข้อมูลโดนรบกวนก็ไม่สน ส่งยังไงก็เอาไปใช้อย่างงั้นเลยนั่นเอง
แต่ที่เรากำลังจะพูดถึงต่อในบล็อกนี้เป็นการนำสายแลนไปส่งสัญญาณดิจิตอลเท่านั้น เพราะเป็นข้อที่เป็นประเด็นว่าตกลงสายแลนเทพมันส่งผลจริง ๆ หรือไม่อย่างไร
สรุปหัวข้อนี้สั้น ๆ : ก่อนจะถกเถียงอะไรต่อ คุยให้เข้าใจก่อนว่าเอาสายแลนไปส่งสัญญาณอนาล็อกหรือดิจิตอล ไม่งั้นก็จะเถียงกันไม่จบเพราะคุยกันคนละเรื่อง
ดิจิตอลโปรโตคอลเกิดมาเพื่อแก้ปัญหา Noise
เอาหละ พอเรา Scope ชัดเจนขึ้นว่าเราจะโฟกัสไปที่สัญญาณดิจิตอลเท่านั้นก็จะเริ่มคุยกันง่ายขึ้นละ
ก่อนอื่นเลยเพื่อเป็นการปูพื้น จริง ๆ แล้วสัญญาณดิจิตอลเวลาส่งผ่านสาย มันก็จะเป็นรูปร่างหน้าตาเหมือนอนาล็อกแหละ มี Noise กวน มีการบิดเบี้ยว ฯลฯ ประมาณนี้
ก็จะเห็นว่ามันไม่ได้ส่งเป็น 0 กับ 1 แบบอุดมคติหรอก แค่ว่าพอถึงปลายทางตัวรับสัญญาณจะแปรสัญญาณที่ได้รับมาตาม Voltage ถ้าเกินกว่าที่ตั้งไว้ก็จะปัดเป็น 1 ถ้าต่ำกว่าก็จะกลายเป็น 0
อันนี้เป็นแค่ "ส่วนหนึ่ง" ของระบบดิจิตอลที่เอาไว้ส่งข้อมูลไปมาหากัน อย่างไรก็ตามก็ต้องยอมรับว่ามันมีโอกาสที่สัญญาณที่ส่งออกมามันอาจจะผิดเพี้ยนด้วยสิ่งแวดล้อมภายนอกหรืออะไรก็ตาม หากปลายทางรับสัญญาณผิดแค่ตัวเดียวทุกอย่างก็พังได้เลย ระบบดิจิตอลเลยจะมาพร้อมสิ่งที่เรียกว่า "โปรโตคอล (Protocol)" ที่มาแก้ไขปัญหาเหล่านี้ โดยโปรโตคอลที่ว่าจะมีหน้าที่
1) ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล (Error Detection) - โดยสัญญาณที่ส่งมามักจะมาพร้อมกับรหัสบางอย่างต่อท้ายเพื่อให้ปลายทางเช็คได้ว่าสัญญาณที่ส่งมาถูกต้องทั้งหมดหรือไม่ หากไม่ถูกต้องจะต้องทำการจัดการต่อไปด้วยวิธีต่าง ๆ
2) แก้ไขข้อมูลให้ถูกต้อง (Data Correction) - สัญญาณพ่วงท้ายจะมาพร้อมกับรหัสบางอย่างเพื่อให้สามารถแก้ไขความถูกต้องของข้อมูลได้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าส่งมา 8 บิตแต่ผิดไป 1 ตัว ระบบจะสามารถกู้คืน 1 ตัวที่ผิดได้ทันทีและนำไปใช้ได้เลย แต่จะทำได้ก็ต่อเมื่อสัญญาณที่ผิดนั้นมีไม่มาก มิฉะนั้นจะต้องทำด้วยวิธีอื่น
3) ขอให้ต้นทางส่งข้อมูลใหม่ - ในหลาย ๆ โปรโตคอล เช่น TCP/IP ซึ่งเป็นที่นิยมใช้ที่สุด หากข้อมูลที่ได้รับมานั้นผิดเยอะมากจนไม่สามารถกู้คืนข้อมูลได้ โปรโตคอลจะส่งสัญญาณกลับไปที่ต้นทางแล้วบอกให้มันส่งข้อมูลชุดนั้นมาใหม่จนกว่าจะถูกต้อง
ด้วยเหตุนี้ ในโลกดิจิตอลไม่ว่าจะผ่านไปกี่สิบปี สัญญาณก็จะยังถูกส่งไปอย่างถูกต้องเสมอเพราะมีดิจิตอลโปรโตคอลคอยควบคุมความถูกต้องของข้อมูลทั้งหมดอยู่ ไม่มีทางเลยที่สัญญาณจะผิดไม่ว่าจะจากสายสัญญาณหรือจากอะไรก็ตาม ส่งล้านข้อมูลก็จะเหมือนเดิมล้านข้อมูลตลอดไป
โดยรวมแล้วเลยบอกได้ว่า
ระบบดิจิตอลถูกออกแบบมาเพื่อแก้ไขปัญหา Noise ทั้งหมด ไม่ได้แปลว่าระบบจะไม่มี Noise แต่ว่า Noise จะทำอะไรระบบดิจิตอลไม่ได้เลย
อันนี้เป็น Fact ที่ไม่สามารถถกเถียงได้ว่าไม่จริงเพราะดิจิตอลมันถูกออกแบบมาด้วยเหตุผลนี้ตั้งแต่แรก เพื่อให้ข้อมูลถูกต้องเสมอไม่ว่าสภาพแวดล้อมจะดีหรือไม่ดีอย่างไรก็ตาม
เวลาส่งสัญญาณดิจิตอลมันมีแค่สายดีกับสายกาก ไม่มีสายเทพ
ถามว่างี้ใช้สายแลนอะไรก็ได้หรอในการส่งสัญญาณดิจิตอล ? ก็ไม่ใช่ เพราะถ้าดูวิธีการรับส่งข้อมูลของดิจิตอลโปรโตคอลด้านบนก็จะเห็นว่า Noise สามารถส่งผลต่อความเร็วในการส่งข้อมูลได้ โดยหลัก ๆ คือถ้า Noise เยอะจะทำให้ข้อมูลที่ส่งนั้นผิดจนไม่สามารถกู้คืนข้อมูลได้ ก็เลยต้องส่งกลับไปให้ต้นทางส่งใหม่จนกว่าจะถูก ดังนั้นมันจึงส่งผลต่อความเร็วแน่นอน เหมือนคนคุยกันแล้วก็ไม่ได้ยินแล้วก็ให้คนพูดพูดใหม่ไปเรื่อย ๆ นั่นแหละ
การทำให้ Noise ในสายเกิดขึ้นน้อยที่สุดก็ยังสำคัญ นั่นทำให้สายแลนมีการพัฒนาขึ้นมาเรื่อย ๆ เป็นมาตรฐาน CAT ต่าง ๆ โดยสายแลนดี ๆ จะมีคุณสมบัติในการป้องกันสัญญาณรบกวนจากภายนอกเพื่อให้เกิด Noise ในสายน้อยที่สุด ดังนั้นเวลาใช้งานจริงแล้วเราจึงควรจะต้องเลือกสายแลนที่มีการ Shield ไว้อย่างดี พวกนี้เราเรียกว่า "สายดี"
ส่วนสายที่ไม่ได้มีการป้องกันสัญญาณรบกวนไว้หรือทำแบบไม่ดี อันนี้เรียกว่า "สายกาก" ห้ามใช้ด้วยประการทั้งปวง
แล้วมันมีอะไรที่ดีกว่าสายดีมั้ย ? ปกติเราดูกันที่ว่าสายมันเป็น CAT อะไร CAT5, CAT5e, CAT6, CAT7 หรือ CAT8 ซึ่งตัวเลขที่สูงกว่าจะเป็นสายที่ดีกว่า ป้องกัน Noise ได้ดีกว่า แต่ถ้าเป็นสายใน CAT เดียวกันก็จะไม่ต่างครับ ต่อให้เอาทองเอาเพชรอะไรมาเสริมเพื่อให้ดูหรูขึ้นก็จะไม่สามารถอัปเกรดสายดีให้เป็นสายเทพได้
จากไฟล์เสียงสู่การได้ยินเสียง
เราสังเกตการณ์การถกเถียงเรื่องนี้มาหลายต่อหลายครั้ง แต่ทุกครั้งคนก็จะถกกันโดยวนอยู่ที่สายหรือ Noise บนสายเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้วการที่เสียงจะต่างกันออกไปนั้นมันมีหลายองค์ประกอบกว่านั้นมาก
เพื่อให้เห็นภาพ เราเลยขอลิสต์กระบวนการว่าจากไฟล์เสียงมาเป็นเสียงที่เราได้ยินนั้นจริง ๆ ต้องผ่านอะไรบ้าง (เอาแบบ Optimal เพื่อตัดองค์ประกอบไม่จำเป็นออก) ตามภาพนี้เลย
จะเห็นว่าจริง ๆ แล้วมันไม่ใช่แค่เรื่องของสายและเครื่องเสียงละ แต่ยังมีอีกปัจจัยนึงที่คนมองข้ามไปแบบดื้อ ๆ เลยคือ "สมอง"
การทำงานตั้งแต่ไฟล์เสียงจนคนได้ยินเสียงจะแบ่งเป็นส่วน ๆ ตามนี้
1) ไฟล์เสียงถูก Decode จากคอมพิวเตอร์ในรูปแบบของ Digital Audio แล้วนำส่งไปยังลำโพงที่มี DAC อยู่ภายใน
2) ลำโพงเปลี่ยน Digital Audio เป็น Analog Sound Wave ด้วย DAC แล้วเล่นผ่านลำโพง
3) เสียงเดินทางผ่านอากาศ
4) เสียงเข้าหู กระทบแก้วหู ผ่านกระดูกค้อนทั่งโกลน
5) สมองแปรสัญญาณทั้งหมดที่ได้รับในวินาทีนั้นออกเป็นเสียง
และ Blog นี้เราจะค่อย ๆ เจาะไปทีละส่วนเพื่อดูว่าส่วนไหนบ้างที่สัญญาณเสียงมีโอกาสจะผิดเพี้ยนเพื่อที่จะมาเชื่อมต่อและหาข้อสรุปกันในตอนจบครับ
ขั้นตอนของการ Decode เสียงและส่ง Digital Sound ไปยังลำโพง
การส่ง Digital Sound ไปยังลำโพงนั้นจะต้องทำผ่านดิจิตอลโปรโตคอลตามที่ได้เขียนไว้ด้านบน ซึ่งสายแลนมักจะนำมาใช้ตรงนี้แหละ
ตรงนี้สามารถสรุปได้จากที่อธิบายไปแล้วว่าหากใช้สายดีก็จะสามารถใช้งานส่งข้อมูลได้โดยสมบูรณ์เรียบร้อยแล้ว ส่วนสายเทพจะไม่มีผล จะใช้สายราคา 500 บาทหรือ 100,000 บาท การทำงานจะเหมือนกันเสมอด้วยคุณสมบัติของดิจิตอลโปรโตคอลที่จะส่งข้อมูลได้ถูกต้องเสมอและ Noise จะไม่ส่งผลใด ๆ
อันนี้เป็นการพยายามทำให้องค์ประกอบน้อยลงที่สุดนะเลยตัดสาย Coaxial ออกไปจากสมการและรวบ DAC + ลำโพงเข้าด้วยกัน
สรุป: หากใช้สายระดับมาตรฐาน ถึงจะเปลี่ยนก็สายก็จะทำงานได้เหมือนกันเสมอ
ขั้นตอนเปลี่ยน Digital Audio เป็น Sound Wave ด้วย DAC
DAC เอาไปใช้เปลี่ยนสัญญาณ Digital เป็น Analog กลายเป็น Sound Wave เล่นออกลำโพงให้เราได้ยินกัน
ซึ่งในระบบนี้ DAC กับลำโพงฝังอยู่ในส่วนเดียวกันทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องสายใด ๆ ทั้งสิ้น เมื่อข้อมูลเข้ามาก็จะแปลงเป็นเสียงแล้วเล่นออกลำโพงทันที
ส่วนคำถามว่า Floor Noise ที่อาจติดตามกับสายจะไปยำกับ Sound Wave แล้วออกมาเป็นเสียงจี่อะไรแบบนี้ได้มั้ย ขอตอบว่า
โดยปกติ DAC จะมีการ Shield ภายในเพื่อป้องกัน Noise ใด ๆ เข้ามารบกวนอยู่แล้ว ดังนั้นทางทฤษฎีจะไม่มีผลใด ๆ หากมีผล แนะนำให้เปลี่ยน DAC ไม่ใช่สายแลน
แต่หากมีข้อโต้เถียงว่ามันมีผลแน่นอน ผู้โต้เถียงจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าเสียงที่เป็น Wave Form มันต่างกันจริง ๆ ครับ ซึ่งจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีใครที่สามารถพิสูจน์ในทางที่วัดผลได้เลยแม้แต่คนเดียว
ขั้นตอน Sound Wave วิ่งผ่านอากาศ
อาจจะฟังดูแปลก ๆ แต่สภาพอากาศมีผลต่อการเดินทางของเสียงอย่างมีนัยสำคัญ โดยปัจจัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิหรือความชื้นก็ล้วนแล้วแต่ส่งผลต่อความเร็วในการเคลื่อนที่ของเสียงรวมไปถึงความดัง
ปกติ Sound Engineer ที่ทำระบบให้กับคอนเสิร์ตใหญ่ ๆ จะต้องพิจารณาเรื่องนี้ด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ใน Setup ของการฟังเพลงที่บ้าน ปัจจัยนี้แทบจะไม่ส่งผลใด ๆ เลย
ขั้นตอนเสียงกระทบหู
มีปัจจัยหลายอย่างมากที่ทำให้ Sound Wave รูปแบบเดียวกันจะทำให้เสียงที่กระทบแก้วหูไปถึงค้อนทั่งโกลนไม่เหมือนเดิม การเอียงหัว การมีของเหลวในหู การล้าของกล้ามเนื้อ ฯลฯ ล้วนทำให้เสียงที่กระทบเข้ามาตรงแก้วหูนั้นต่างกันไป แม้แต่จะฟังเสียงเดียวกัน 10 ครั้ง ก็อาจจะไม่เหมือนกันสักครั้งได้จากแค่เรื่องนี้
ขั้นตอนสมองแปลเป็นเสียงที่เราได้ยิน
อะไรคือการได้ยิน ?
คนเรามักจะคิดแบบตรงไปตรงมาว่าเราได้ยินเพราะคลื่นเสียงกระทบหูเราเลยได้ยิน แต่จริง ๆ แล้วมันซับซ้อนกว่านั้นมากกกกกก
การที่เราได้ยินเสียงแท้จริงแล้วมันคือการแปรผลสัญญาณที่เข้ามาจากประสาททั้ง 5 โดยสมองจนเกิดสิ่งที่เราเรียกว่า "การได้ยิน" นั่นเอง
สิ่งที่ทุกคนควรจะทราบเป็นพื้นฐานคือ สมองไม่ได้แปลแค่คลื่นเสียงที่ได้กระทบแก้วหูออกมาเป็นเสียง แต่ภาพที่เห็น กลิ่นได้ที่รับ ความหนาวเย็นที่กระทบผิวหนัง หรือแม้กระทั่งความรู้สึกสุขทุกข์ที่อยู่ในจิตใจ ล้วนส่งผลต่อเสียงที่เราได้ยินทั้งสิ้น !
มีการทดลองทางการแพทย์มากมายที่เขียนออกมาอย่างชัดเจนเรื่องนี้ว่าสมองเราสามารถถูกหลอกได้อย่างง่ายดายในหลากหลายวิธี "ภาพลวงตา" น่าจะเป็นอะไรที่ทุกคนคุ้นชินที่สุด แต่จะบอกว่ามันไม่ได้เกิดกับแค่การมองเห็นนะ การได้ยินก็เกิดขึ้นไม่ต่างกันหรือที่เรียกว่า Audio Illusion อันนี้เป็นคลิปจากต่างประเทศที่ทุกคนสามารถทดลองด้วยตัวเอง ลองกดดูกัน
จะเห็นว่าเสียงเดียวกันแต่ภาพที่เราเห็นต่างกัน เราก็จะได้ยินเสียงต่างกันแล้ว ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจหากเพลงเดียวกันเล่นซ้ำ ๆ กัน 10 รอบ เราจะได้ยินไม่เหมือนกันสักครั้ง เพราะการได้ยินเสียงมันไม่ได้เกี่ยวกับคลื่นเสียงเพียงอย่างเดียวนั่นเอง
และนี่เป็นส่วนที่อยากจะให้คนโฟกัสกันมากขึ้น อย่ามองแต่ว่าสายส่งสัญญาณเป็นยังไง เพราะจริง ๆ แล้วมันมีส่วนที่แปรเปลี่ยนไปได้ในทุกวินาที ไม่มีอะไรเหมือนเดิมเลยในแต่ละครั้ง
"สมอง"
หากเอาแต่เถียงกันในเรื่องสายโดยไม่มองปัจจัยตรงนี้ มันก็อาจจะไม่จบเพราะดันลืมส่วนที่สำคัญสุด ๆ ไปนั่นเอง
สาย LAN เทพอาจทำให้เสียงดีขึ้นจริง แต่อาจเกิดที่สมอง
จากองค์ประกอบด้านบนก็ได้ข้อสรุปจากทางวิทยาศาสตร์ดังนี้
1) สายแลนไม่ส่งผลใด ๆ ต่อเสียงที่ออกมาจากวงจรทุกส่วน
2) เสียงที่ออกมากระทบหูอาจเปลี่ยนได้ในแต่ละครั้ง
3) เสียงที่ได้ยินจากการแปรผลในสมองอาจไม่เหมือนเดิมในแต่ละครั้งเพราะประสาทสัมผัสอื่น ๆ ถูกนำมาใช้ในการแปรผลด้วย
ด้วยปัจจัยนี้เราเลยขอตั้งสมมติฐานนึงจากข้อมูลข้างต้นว่า
สายแลนเทพเกรด Audiophile อาจจะทำให้เสียงดีขึ้นจริง ๆ แต่มันไม่ได้ส่งผลมาจากคุณภาพของสายแลน เพียงแต่มันเกิดขึ้นใน "สมอง"
เคยทำวีดีโอไว้ตัวนึง ลองดูได้จ้า
และนี่อาจเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงถกเรื่องนี้กันไม่หยุดสักทีเพราะคุณภาพเสียงอาจจะดีขึ้นจริง ๆ ก็ได้นะ เพียงแต่เรามัวแต่หาคำอธิบายเรื่องสายและสัญญาณกันโดยไม่เคยมองเรื่องของสมองกันเลย
บล็อกนี้ก็ตั้งใจจะทำให้คนมองเรื่องนี้กว้างขึ้นครับ
Blind Test จากแบไต๋
Blind Test เป็นวิธีนึงที่เอาไว้ทดสอบได้ว่าสายแลนมีผลมั้ยเป็นอย่างดีเพราะเป็นการปิด Bias ทางสมองและทำให้ปัจจัยเหลือลดลง สุดท้ายเสียงอาจจะต่างกันไปในแต่ละครั้งเหมือนเดิมเพราะสมองก็ยังทำงานในแบบของมัน แต่ผลของการ Blind Test จะบอกได้ชัดว่าสายแลนมีผลหรือไม่ เพราะถ้ามีผลต่างอย่างเห็นชัด ผู้เข้าร่วมทดสอบจะต้องตอบได้แบบ 100% หรือใกล้เคียง แต่ถ้าบอกว่าต่างแต่ผลออกมาไม่ถูกต้องเลยว่าสายไหนเป็นสายไหน นั่นแปลว่ามันเป็นผลของการทำงานของสมองต่างหาก
อันนี้เป็น Blind Test ที่ทำออกมาได้ดีทีเดียวโดยแบไต๋ แนะนำให้ดูครับ
Blind Test เจ้าเดียวอาจจะไม่สามารถสรุปผลได้ขนาดนั้นเพราะ Blind Test อาจจะถูกเซตมาไม่ดีก็ได้ ยังไงแนะนำให้หา Blind Test ดูเพิ่มเติมได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษครับ เพราะนี่กดดูมาเป็นสิบละ ผลคือยังไม่มีอันไหนที่คนเข้าร่วมทดสอบสามารถแยกสายแลนออกเลยแม้แต่การทดลองเดียว
สายแลนเทพทำให้เสียงเปลี่ยนได้ยังไง
หากสมมติฐานที่ยกมาเป็นจริง "ความสุข" ของผู้ซื้อมาใช้งานคือคำตอบของปรากฏการณ์นี้ ต่อให้สัญญาณเหมือนเดิมแต่ความสุขในการฟังเปลี่ยนไป เสียงที่ได้ยินก็จะเปลี่ยนไปนั่นเอง
ใช้เนต AIS กับ 3BB เสียงอวบอิ่มต่างกันได้มั้ย ?
ได้ครับตามเหตุผลเดียวกันคือความรู้สึกต่างกัน ความเชื่อต่างกัน ล้วนทำให้อินพุตที่เข้าไปยังสมองต่างกัน สุดท้ายเสียงที่ได้ยินเลยต่างกันได้นั่นเอง
คนซื้อมีสิทธิ์ซื้อและมีความสุขกับคุณภาพเสียงที่เปลี่ยน แต่คนขายไม่มีสิทธิ์โฆษณาเกินจริง
โดยรวมแล้วมันก็มีศาสตร์เบื้องหลังรองรับอยู่และไม่ได้ส่งผลให้ใครเดือดร้อน (ไม่เหมือน GT-200) ดังนั้นเราต้องบอกว่าใครจะซื้อมาใช้ก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไรเลย และเสียงมันก็ดีขึ้นจริง ๆ มีความสุขกับสิ่งที่เค้าซื้อมาจริง ๆ
แต่มันมีเส้นนึงที่คนห้ามข้ามคือ "การเคลมว่าสายแลนทำให้เสียงดีขึ้น" เพราะมันคือการโฆษณาเกินจริง
สิ่งที่วัดผลไม่ได้ ไม่มีคุณสมบัติในการบอกว่าเป็นจริง
ไม่ว่าจะเป็นคนขายสาย ก็ห้ามโฆษณาว่าสายแลนมันคุณภาพดีกว่าจนทำให้เสียงดีขึ้น เพราะมันไม่มีอะไรยืนยัน เป็นการหลอกลวง 100% หากโดนฟ้องคือไม่มีสิทธิ์จะชนะคดีได้เลย
เช่นเดียวกับคนที่แฮปปี้กับสายแล้วได้ยินเสียงดีขึ้น ก็ไม่สามารถใช้ข้อโต้เถียงว่าสายแลนมันดีเลยทำให้เสียงดีขึ้นเพราะศาสตร์ด้านหลังถูกพิสูจน์มาหมดแล้วว่าไม่จริง หากต้องการจะโต้แย้ง ผู้โต้แย้งจำเป็นจะต้องหาหลักฐานมาพิสูจน์ให้เห็นเป็นประจักษ์และวัดผลได้ เพราะฝั่งวิทยาศาสตร์ได้พิสูจน์มาหมดแล้วในวิธีที่วัดผลได้นั่นเอง
สรุป
- มันมีวิทยาศาสตร์รองรับว่าสายแลนเทพส่งผลให้เสียงดีขึ้นจริง ๆ อยู่ เพียงแต่มันไม่ใช่ศาสตร์ทางวิศวกรรม แต่เป็นเรื่องของ Neuroscience
- ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเกิดจากสมองแน่นอนเพราะยังไม่ได้ทำการทดลองอย่างเต็มรูปแบบ แต่สามารถสรุปได้ว่าเสียงที่คุณภาพดีขึ้นไม่ได้เกิดจากสายแน่นอน
- เราไม่ควรกล่าวหาคนที่ซื้อสายแลนเทพแล้วเสียงดีขึ้นว่าบ้าหรือโง่ มันคือความสุขทางจิตใจที่ส่งผลดีต่อชีวิตเค้าจริง ๆ ไม่ต่างอะไรกับการซื้อกระเป๋าแบรนด์เนมหรือทำศัลยกรรมแล้วรู้สึกมั่นใจขึ้น
- คนที่ซื้อสายแลนเทพแล้วรู้สึกว่าเสียงดีขึ้นก็ไม่มีสิทธิ์จะด่าคนที่บอกว่าเสียงไม่ต่างเช่นกัน ตรงกันข้าม ลองไปศึกษาให้ลึกลงก่อนว่าที่ "รู้สึก" ว่าต่างมันเพราะอะไรกัน โดยใช้สิ่งที่วัดผลได้มาถกกัน
- คนขายไม่ควรโฆษณาเกินจริงว่าสายแลนทำให้เสียงดีขึ้นโดยยกเหตุผลต่าง ๆ นานามา เช่น ควอนตัมเอย อะไรเอย เพราะมันคือการหลอกลวง