"จงเรียนรู้เพื่อเติบใหญ่ จงตัดสินใจเพื่อเติบโต"
คาดการณ์การเปลี่ยนผ่านโลกมนุษย์สู่ A.I. Era จะเกิดอะไรขึ้นในยุคที่ Automation ทำงานแทนคน
4 Jun 2017 15:56   [306533 views]

ต้องยอมรับว่ายุคของ Smartphone กำลังจะค่อย ๆ จบลงแล้ว ซึ่งไม่ได้แปลว่ามันจะตาย แต่มันจะโตไปกว่านี้ไม่ได้แล้ว Smartphone จะกลายเป็นสินค้าประจำตัวที่ทุกคนมีใช้และเจ๋งมากอยู่ แต่ผู้ใช้ก็จะไม่รู้สึกหวือหวาอะไรเหมือนช่วงก่อนหน้านี้แล้ว (สำหรับใครหรือแบรนด์ไหนที่บอกว่า Smartphone จะตาย จะไม่มีใครใช้อีกต่อไป อันนี้เนยขอเถียงขาดใจนาจา)

เมื่อกระแสหลักอย่าง Mobile ค่อย ๆ หายไปจากบทสนทนา คำถามที่เกิดขึ้นคือ "อะไรจะเกิดขึ้นต่อไปหละ?"

สิ่งสำคัญมาก ๆ ของคนในสายงานไอทีคือ ต้อง Forecast ให้ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในยุคต่อไป แล้ววิ่งไปดักหน้า ถ้ารอให้มันมานี่ไม่มีทางทันกินหรือยิ่งใหญ่ได้เลยแน่นอน

ปีที่แล้วได้รับเกียรติให้ไปพูดหลายงานเรื่อง Trend ในอนาคต ซึ่งทุกงานเราพูดไปในทางเดียวกันหมดว่า

"หมดยุคของ Mobile แล้วน้า และยุคต่อไปคือยุคของ A.I. และ Robotic"

ปีที่แล้วเป็นการพูดปากเปล่าเพราะยังต้องรอข้อมูลเพิ่มเติมอยู่ แต่สำหรับตอนนี้เทรนด์ก็ชัดเจนแล้วว่าเรา Forecast ถูก

ยุคต่อไปเป็นยุค A.I. Era แน่นอน

หนึ่งในตัวชี้วัดที่ชัดเจนคือ ยักษ์ใหญ่อย่าง Google ขยับขาเปลี่ยนจาก Mobile First มาเป็น A.I. First เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

และการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงระดับผู้ใช้เท่านั้น แต่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับ "การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งใหญ่" เลยทีเดียว สิ่งที่เราเคยรู้จักหลายอย่างจะเปลี่ยนโฉมไปอย่างสิ้นเชิง ไม่เว้นแม้แต่ "ระบอบทุนนิยม" ยันระบบการปกครองของประเทศต่าง ๆ หากปรับไม่ทันอาจจะถึงกับมีประเทศที่ล่มสลายได้เลย

ในบล็อกนี้เราจะขอแชร์สิ่งที่เนย Forecast เอาไว้ครับว่าจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนี้บ้างในยุคของ A.I. และ Automation อาจจะดู Sci-Fi ราวกับดึงมาจากหนังสักหน่อย แต่นั่นแหละ ลองคิด ๆ ดูว่าอะไรบ้างที่เราคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้แต่ก็เกิดขึ้นเรียบร้อยแล้วในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ... นาทีนี้ก็เช่นกันครับ

และก็ขอออกตัวไว้ก่อนนะว่าบทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวทั้งสิ้น เป็นเรื่องที่เขียนจากประสบการณ์ที่พานพบมา เอามันมา Connect to dot เอง เป็น Original Content ไม่ได้แปลหรือ Reference จากไหน ดังนั้นโปรดใช้วิจารณญาณในการรับชมด้วยจ้า อนาคตมันไม่มีอะไรแน่นอนหรอก เนอะ =)

โอเค ถ้าพร้อมแล้วก็เริ่มกันเลย มา !

Automation คืออะไร

Automation ฟัง ๆ ดูคล้ายคำว่าอัตโนมัติอะไรแบบนั้น ซึ่งจริง ๆ ก็ใช่ครับ มันคือการทำให้งานบางอย่างทำไปโดยอัตโนมัติ แล้วใครหละที่ทำให้เรา ? ... แน่นอน "เครื่องจักร" นั่นเอง ความหมายที่สมบูรณ์ของคำว่า Automation เลยคือ

การให้เครื่องจักรทำงานแทนคน

นั่นเองครับ

ซึ่ง Automation จริง ๆ มีมานานแล้ว อะไรที่เครื่องจักรทำงานแทนคนได้นั่นก็เรียกว่า Automation หมด อย่างของใกล้ตัวง่าย ๆ ก็เช่น การตัดเงินค่าไฟอัตโนมัติจากธนาคาร นั่นก็ Automation

เครื่องกดซื้อของอัตโนมัติก็ใช่

หรืออย่างที่เมกาตามซุปเปอร์มาร์เก็ตก็มีช่อง Self-Checkout ให้คนชำระค่าสินค้าได้เองโดยไม่ต้องมี Cashier คอยยิงบาร์โค้ดให้ ลดคนงานไปได้มหาศาล

ไกลตัวอีกนิดแต่ก็ยังใกล้ตัวอยู่ก็เครื่องทำขนมปังในโรงงาน ที่กดเดินเครื่องก็ได้ขนมปังออกมาพร้อมขายแล้ว

หรือถ้าจะดูไกลตัวไปอีกหน่อยก็คงพวกเครื่องจักรในโรงงานที่ Automation ระดับโหด ๆ มีหุ่นยนต์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น โรงงานประกอบรถ

ซึ่งก็จะเห็นว่า Automation ไม่จำเป็นต้องฉลาด มันแค่เป็นเครื่องจักรที่ทำงานแทนคนได้ในหลาย ๆ ส่วน ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมางานหลาย ๆ อย่างที่ทำเป็น Routine (ทำซ้ำไปซ้ำมา) ก็สามารถถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักรได้แล้ว ผลคือคนที่ทำงานตำแหน่งนั้น ๆ ก็ทยอยตกงานกันไป แต่มุมมองของเจ้าของกิจการถือว่าดีมากเพราะลดต้นทุนระยะยาวลงไปได้เยอะมาก แถมเครื่องจักรยังสามารถทำงานได้ 24 ชั่วโมง ไม่ต้องหยุดพัก ไม่เหนื่อย ไม่บ่น ไม่ดราม่า สบายกันไป

แต่ข้อจำกัดของ Automation ในยุคที่ผ่านมาคือ มันเน้นการทำงานเป็น Routine เป็นหลัก แต่อะไรก็ตามที่ต้องใช้ความฉลาดหรือความคิดวิเคราะห์แบบไม่ตรงไปตรงมาในการทำงานก็ยังต้องใช้มนุษย์อยู่ เช่น การประกอบรถก็ไม่สามารถใช้ Automation ประกอบได้ 100% ยังมีงานอีกจำนวนมากที่ต้องใช้มนุษย์ทำ เพราะคอมพิวเตอร์ยังไม่มีปัญญาสูงพอจะตัดสินใจอะไรได้

และนั่นคือโจทย์ของมนุษยชาติ "จะทำยังไงให้เครื่องจักรฉลาดได้" เพื่อเสริมงานด้าน Automation ที่ยังมีจุดให้เครื่องจักรเสียบแทนอยู่

ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ศาสตร์การเพิ่มปัญญาให้เครื่องจักรหรือที่เราได้ยินกันบ่อย ๆ กับคำว่า Artificial Intelligence หรือ A.I. ได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นมาอย่างมีนัยสำคัญด้วยเหตุผลประกอบหลาย ๆ อย่าง ซึ่งมันคืออะไรนั้น และทำไมถึงอยู่ดี ๆ มาฮิตเอาช่วงนี้ มาหาคำตอบกันในหัวข้อถัดไป

A.I. คืออะไร

Artificial Intelligence (A.I.) หรือภาษาไทยคือ ปัญญาประดิษฐ์ กลายเป็นศาสตร์ที่ฮอตเอามาก ๆ ในช่วงนี้ (จริง ๆ ฮอตมาหลายปีแล้ว แต่ยังอยู่แค่ในวงแคบ ๆ แต่เพิ่งมา Mass เอาปีนี้)

A.I. คือความพยายามในการทำให้เครื่องจักร (Machine) มีความคิด สติปัญญาและความฉลาด (Intelligence) ขึ้นมา สามารถคิดอะไรที่ซับซ้อนไม่ตรงไปตรงมาได้ ซึ่งเราก็มี A.I. ใช้ในชีวิตจริงอยู่หลายตัวแล้ว เช่น Siri ที่สามารถรู้ว่าเราพูดอะไรไปและตอบกลับมาอย่างชาญฉลาด อันนี้ชัดเจนมาก รวมถึง Google Assistant ก็เช่นกัน

A.I. ที่เราไม่เห็นแต่ก็ใช้งานอยู่ทุกวันก็มี เช่น ระบบตัดสินใจว่าอีเมลที่เข้า Gmail เป็นสแปมหรืออีเมลจริง ๆ อันนี้ก็ใช้ A.I.

Chatbot อันนี้ก็มีบ้าง แต่ก็ไม่ใช่ทุก Chatbot นะที่เป็น A.I. ส่วนใหญ่ยังเป็น Automation ปกติ มีไว้ถามตอบแบบตรงไปตรงมา ยังคิดอะไรหรือทำอะไรที่ซับซ้อน ๆ ไม่เป็น (มีคนสับสน Chatbot กับ A.I. เยอะอยู่ เลยยกมาบอกไว้)

แล้วถามว่า A.I. เค้าสร้างมาได้ยังไง ?

A.I. มีอยู่หลายระดับ สมัยโบราณที่ทำให้เกมเล่นแข่งกับเราได้ อันนั้นก็ A.I. แต่ก็ไม่ได้ซับซ้อนมาก อันนี้เราเลยจะขอพูดถึงวิธีสร้าง A.I. ในยุคใหม่ที่กำลังเป็นที่นิยมในช่วงนี้และมีแนวโน้มว่าจะเปลี่ยนโลกได้

เบื้องต้นเอาแบบง่าย ๆ ไม่ลงรายละเอียดลึกเกินไป ก็คือตอนนี้เราสามารถสร้างการทำงานเลียนแบบสมองไว้บนคอมพิวเตอร์ได้แล้ว แต่จะเป็นสมองเปล่า ๆ โล่ง ๆ ไม่มีความคิดอะไร

หน้าที่ของมนุษย์คือต้องสอนให้มันเรียนรู้และเข้าใจสิ่งต่าง ๆ จนเกิดเป็นเครือข่ายประสาทขึ้นมาเหมือนสมองของสิ่งมีชีวิตเด๊ะ

และยิ่งสอนมันเยอะ เครือข่ายประสาทตรงนี้ก็จะซับซ้อนขึ้นเรื่อย ๆ เรื่อย ๆ และ เรื่อย ๆ ซึ่งแน่นอน เครื่องจักรก็จะฉลาดขึ้นเรื่อย ๆ จนเกิดเป็นปัญญาประดิษฐ์ขึ้นมานั่นเอง

การสอนตรงนี้เราเรียกมันว่า Machine Learning หรือ การที่เครื่องจักรมีความสามารถในการเรียนรู้ได้โดยไม่ต้องเขียนโปรแกรมเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ ลงไปนั่นเองครับ เครือข่ายสมองจะถูกสร้างขึ้นมาจากการเรียนรู้เองโดยอัตโนมัติ (เหมือนสิ่งมีชีวิตเลยมะ) ซึ่งคำนี้น่าจะเป็นอีกคำที่เราได้ยินกันบ่อยพอสมควร

ความจริงเรื่องตรงนี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรขนาดนั้น ก็มีมานานแล้วเหมือนกัน แต่ที่เพิ่งมาฮิตในช่วงหลัง ๆ นี้ก็เพราะเหตุผลว่า ........ คอมพ์มันแรงงงงงง แรงพอจะเอาสมองกลที่ซับซ้อนมาก ๆ ไปทำงานได้แล้วนั่นเอง ซึ่งนั่นก็แปลว่ามันพร้อมจะถูกเอาไปใช้งานในวงกว้างแล้วแว้ววแว้ววแว้วววแว้วววว

และนี่คือ A.I. ครับ ที่เรียกมันว่า "สมองกล" ก็ไม่มีอะไรเว่อร์เกินไป เพราะมันเป็นการทำงานของสมองจำลองจริง ๆ นั่นเอง ที่เราคุยกับ Siri แล้วมันรู้ว่าเราพูดว่าอะไร นั่นก็เพราะว่า Siri ถูกสอนคำและประโยคต่าง ๆ มาเป็นปี จนเกิดเป็นสมองที่มีเครือข่ายประสาทซับซ้อน ใครพูดอะไรมาก็รู้ก็เข้าใจนั่นเอง

เช่นเดียวกับ AlphaGo ที่สามารถชนะแชมป์โลกที่เป็นมนุษย์ได้ก็เพราะ AlphaGo ถูกสอนการเล่นโกะมาเป็นล้าน ๆ เกมจนมีสมองที่ซับซ้อนมากนั่นเอง

และนี่เป็นเหตุผลที่ A.I. ที่ถูกสร้างขึ้นมาในยุคหลัง ๆ จึงฉลาดมาก ๆ เพราะมันก็เรียนรู้เหมือนคนเรานี่แหละ แต่สิ่งที่ต่างกันคือมันมีความเร็วในการเรียนรู้สูงมาก ถ้าอยากจะให้มันอ่านลายมือออก ก็สามารถส่งลายมือที่เขียนข้อความต่าง ๆ ไปให้มันเรียนรู้ได้นับแสน ๆ ชิ้นต่อวันได้เลย ส่วนมนุษย์นี่ได้อย่างมากก็แค่หลักร้อยต่อวันเท่านั้นเอง คนอาจจะต้องใช้เวลาเรียนรู้ 10 ปี แต่คอมพิวเตอร์แค่ไม่กี่วันก็ทำได้แล้ว

พอเข้าใจตรงนี้ก็จะเห็นแล้วว่า A.I. มีวิธีการเรียนรู้ที่ชัดเจนแล้ว แค่หาวิธีสอนมันได้ เราก็จะได้สมองที่ฉลาดในด้านนั้น ๆ มาใช้งานทันที พอเครื่องจักรเริ่มมีความฉลาด มันก็เลยถูกยกเอามาทำงานแทนมนุษย์ได้ในหลาย ๆ งานมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างที่เราเห็นทุกวันนี้นั่นเอง

A.I. กำลังทำสิ่งต่าง ๆ ได้มากขึ้นเรื่อย ๆ

แล้วที่บริษัทต่าง ๆ กำลังทำ A.I. กันอยู่นี่หมายความว่าอะไร ? จริง ๆ แล้วภาพรวมคือบริษัทต่าง ๆ ต่างกำลังหาวิธีสอนคอมพิวเตอร์ในศาสตร์ต่าง ๆ อยู่

เช่น บริษัททนายก็มีการเอาสำนวนคดีต่าง ๆ โยนให้ A.I. เรียนรู้ สุดท้ายก็ได้ทนายจักรกลมาว่าความแทนคนได้ทันที รวมถึงงานด้านบัญชี แค่โยนบิลต่าง ๆ ให้มันไปเรียนรู้ สุดท้ายมันก็ทำบัญชีให้เราได้เลย

ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับเวลาว่าบริษัทต่าง ๆ จะหาวิธีสอนได้เมื่อไหร่ ถ้าสอนได้แล้วและพิสูจน์ได้ว่ามันฉลาดพอจะทำงานได้จริง ๆ มันก็พร้อมจะทำงานแทนคนได้ทันที

คนที่มีข้อมูลเยอะคือผู้ชนะ

อย่างที่เขียนไว้ข้างต้น A.I. เกิดขึ้นมาได้จากการ "เรียนรู้" แล้วถามว่ามันเรียนรู้จากอะไรหละ ?

แน่นอนว่ามันก็ต้องเรียนรู้จากข้อมูลจริง ๆ ที่มีอยู่นั่นเอง

ในสงคราม A.I. ครั้งนี้ ผู้เล่นที่สามารถมีโอกาสชนะได้คือผู้ที่มีข้อมูลถืออยู่ในมือเยอะพอจะเอาไปสอน A.I. ได้

สุดท้ายไพ่จะออกไปยังผู้ที่เก็บข้อมูลต่าง ๆ มาโดยตลอดหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งจะใครอีกหละ ... สามในนั้นคือ Google, Apple และ Facebook แน่นอน

และด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ ... พี่จีนก็จะมี A.I. ไหลออกมาให้เราใช้มหาศาลแน่นอน เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมาจีนเก็บข้อมูลต่าง ๆ ไว้เยอะมาก นี่แหละ ข้อมูลเป็นทองของยุคนี้ ใครเก็บไว้จะทำอะไรต่อได้อีกเยอะครับ

งานจำนวนมากกำลังถูก A.I. และ Automation แทนที่

และอย่างที่เห็น A.I. ตัวใหม่ ๆ กำลังทยอยออกมาและทำโน่นทำนี่ได้ดีกว่าคนเสียอีก อีกทั้งยังไม่มีเหน็ดเหนื่อย ไม่มีบ่น ทำงานได้ 24 ชั่วโมงไม่ต้องพักสบาย ๆ แค่จ่ายค่าไฟไปถูก ๆ ต้องการคนเพิ่มก็ไม่ต้องไปรับสมัครงาน ก็อปปี้ A.I. ขึ้นมาอีกตัวแล้วให้ทำงานแทนได้ จบ !

พอจะเห็นแนวโน้มแล้วใช่มั้ยว่า งานจำนวนมากกำลังจะถูก A.I. และ Automation แทนที่ ทันทีที่ Automation ทำงานได้ดีเท่าหรือดีกว่ามนุษย์ เจ้าของกิจการก็พร้อมจะสลับมาใช้เพราะมันช่วยลดต้นทุนระยะยาวลงได้เยอะมาก นั่นแปลว่ากำไรก็จะเยอะขึ้น ธุรกิจไหน ๆ ก็ต้องการ

อีกเช่นกัน มันขึ้นอยู่กับ "เวลา" เท่านั้นเอง

ห้วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่าน

จากนี้ Automation จะค่อย ๆ กินตำแหน่งงานมนุษย์ไปทีละนิด ๆ ถามว่าจะกินไปเท่าไหร่ ? เราว่ายาว ๆ นี่อาจจะกินไปกว่า 30% ได้เลยนะ (ซึ่งถ้าคำนวณเป็นอัตราคนตกงานต้องถือว่าเยอะมาก)

เพียงแต่มันจะไม่ได้เกิดขึ้นแบบสองวันแล้วเทคโอเวอร์หมดโลก แต่จะกินเวลาทั้งหมดหลายปีกว่าจะถึงจุดนั้น อาจจะสัก 5 ปี และนี่คือ "ห้วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่าน" ครับ

การเปลี่ยนครั้งนี้ไม่เหมือนการปฏิวัติอุตสาหกรรมหรือการปฏิวัติเกษตรกรรมที่ผ่านมา เพราะก่อนหน้านี้เป็นการลดงานบางส่วนให้เครื่องทุ่นแรง แต่คนก็ยังต้องทำงานอยู่ในส่วนอื่น ๆ แต่คราวนี้ Automation จะมาทำงานแทนในส่วนต่าง ๆ จนไม่มีงานอื่นใดให้มนุษย์ทำแล้ว

ในช่วงแรก ๆ ผลกระทบอาจจะยังไม่ได้ใหญ่มาก คนที่ตกงานก็แค่หาอะไรอย่างอื่นทำ แต่พอผ่านไปสักพักคนจะตกงานไปเรื่อย ๆ จนเริ่มไม่มีอันจะกิน ไม่สามารถเข้าถึงปัจจัยสี่ได้ ในขณะที่นายทุนก็จะรวยขึ้นเรื่อย ๆ เพราะต้นทุนลด และถ้าประเทศไหนตามโลกไม่ทันไม่คิดจะปรับเปลี่ยนนโยบายการปกครองอะไร พื้นฐานของประเทศก็จะสั่นคลอน อาชญากรรมจะปรากฎให้เห็นทุกหนแห่ง และอาจจะส่งผลให้ประเทศมีปัญหาเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในที่สุด

ห้วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านนี้จะเป็นอะไรที่สำคัญมาก หากปรับตัวไม่ทันประเทศนั้นอาจจะได้รับผลกระทบรุนแรงเลย และนี่เป็นเรื่องที่ประเทศพัฒนาแล้วหลายชาติพากันให้ความสนใจว่า`ไขยังไง ซึ่งหนึ่งวิธีที่ถูกพูดถึงกันอย่างแพร่หลายคือสิ่งที่เรียกว่า Basic Income ครับ

Basic Income ... ทุนนิยมที่ถูกเปลี่ยนแปลง

มีคนคิดว่า Automation อาจจะทำให้ทุนนิยมล่มสลายได้ แต่เราคิดว่ามันไม่ใช่แบบนั้น ทุนนิยมแค่จะ "เปลี่ยนแปลง" อีกครั้งเท่านั้นเอง

โดยแนวคิดที่หลาย ๆ คนคิดว่ามันอาจจะเวอร์คคือ "Basic Income" หรือที่บางที่เรียกว่า Universal Income ซึ่งเป็นแนวคิดจากการที่คิดว่า Automation จะแย่งงานคนทำหมด แต่มนุษย์ทุกคนก็ยังต้องกินต้องใช้อยู่ ถ้าพวกคนที่ไม่มีงานทำไม่มีเงินใช้ ยังไงก็ต้องออกปล้นออกก่ออาชญากรรมเพื่อให้ตัวเองอยู่รอดอยู่ดี แล้วจะทำยังไงเพื่อแก้ปัญหานี้ดีหละ ?

คำตอบก็คือ

รัฐจะต้องจ่ายเงินเดือนให้กับประชาชนทุกคนให้เพียงพอต่อการกินอยู่ในแต่ละเดือนครับ มันถึงถูกเรียกว่า Basic Income หรือ "รายได้พื้นฐาน" นั่นเอง

แล้วถามว่ารัฐจะเอาเงินจากไหน ? ... สุดท้ายทุนนิยมก็ยังอยู่ รายได้หลักก็คือภาษี มีโอกาสสูงมากที่กฎหมายจะไปเก็บภาษีจาก A.I. และ Automation มากขึ้น เพื่อให้รัฐมีพอจะเอาไปจ่ายให้กับประชากรของประเทศนั่นเอง

แนวคิด Basic Income เริ่มหรือกำลังถูกนำมาใช้ในหลายประเทศแล้ว เช่น ฟินแลนด์ และ แคนาดา แต่มันไม่ได้รับการยืนยันว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุด แค่เป็นวิธีที่คิดออกตอนนี้ เนื่องจากมันปรับจากปัจจุบันไม่มาก ก็ต้องลองดูว่ามันจะเวอร์คหรือไม่อย่างไร ถ้าไม่เวอร์คเราก็จะได้ข้อมูลเพียงพอจากการทดลองแล้วหละว่าจะต้องทำยังไง เพราะแนวโน้มของโลกทางนี้ดูแล้วจะไม่มีทาง Revert กลับได้ เมื่อ Automation ทำงานแทนคนได้แล้วก็แทบไม่มีโอกาสเลยที่คนจะกลับมาทำงานนั้น ๆ ได้อีก ทางออกเดียวคือต้องหาวิธีให้ได้ ไม่งั้นประเทศพังแน่นอน

งานอะไรบ้างที่จะถูก A.I. / Automation แย่งงานไป ?

ต่างประเทศถึงกับมีสัมมนาเลยนะว่างานอะไรจะไม่ถูก Automation แย่งบ้าง

ส่วนตัวหลังจากสัมผัส A.I. มาบ้าง ก็คงต้องบอกว่างานอะไรที่ทำซ้ำได้น่าจะโดน A.I. แย่งงานไปหมด เช่น ทนายความ นักบัญชี รวมถึง ... โปรแกรมเมอร์เองก็ตาม

อันไหนที่ทำเป็น Routine ได้ก็จะโดนก่อนเลย (เช่น งานการผลิตในโรงงาน) แต่อันไหนที่ซับซ้อนหน่อยก็จะโดนทีหลัง (ไม่ใช่ว่าไม่โดน) เช่น การตัดต่อวีดีโอ อาจจะโยนให้ A.I. ตัดให้เลยก็ได้ ไม่ต้องมาเสียเวลาตัดเอง

(ช่วงนี้อยากให้ลองเปิดดูข่าวเรื่อย ๆ จะเห็นเลยว่าคนโดน Lay Off ออกไปเรื่อย ๆ ในทุกกิจการ นั่นแหละ สัญญาณหละ)

แต่งานที่จำเป็นต้องใช้ "ความน่าเชื่อถือ" เช่น แพทย์ อันนี้น่าจะไม่ตกงานง่าย ๆ แต่จะมีเครื่องทุ่นแรงอื่นโผล่มาเพื่อแทนงานอื่นในโรงพยาบาลแน่นอน เช่น เครื่องเจาะเลือด รวมถึง A.I. จะสามารถ "ช่วย" วิเคราะห์อาการของคนไข้ได้แม่นยำยิ่งขึ้น แต่ก็ต้องทำงานคู่กับแพทย์อยู่ดี

รวมถึงงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ ตอนนี้ A.I. ก็ยังไปไม่ถึงจุดนั้น แค่ต้องระวังว่าบางงาน A.I. อาจจะทำงานผลงานออกมาได้ดีกว่าความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์เท่านั้นเอง เช่น การออกแบบเว็บ มันคิดใหม่ไม่ได้หรอก แต่ผลงานที่มันเรียนรู้จากผลงานเก่า ๆ และสร้างออกมาเป็นชิ้นใหม่มันก็ดีพอจะเอาไปใช้งานแล้ว เป็นต้น

สุดท้าย งานที่ต้องใช้ "ความเป็นตัวตน" เช่น ดารา พิธีกร อันนี้ก็จะยังอยู่ต่อไป เพราะความลุ่มหลงในตัวตนของมนุษย์จะยังคงอยู่ มันเป็นพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตครับ

Robotic ยังต้องใช้เวลาอีกสักพัก

A.I. คือ "สมองกล" มันคือความฉลาดทางความคิด แต่การจะนำความฉลาดนั้นออกมาใช้งานก็มีอยู่หลายรูปแบบ ถ้าแบบง่ายสุดคือการทำงานในแง่ซอฟต์แวร์ เช่น Siri หรือ Google Assistant อันนี้สามารถใช้งานมันได้อย่างเต็มที่

แต่ถ้าเป็นงานที่ต้องมีขยับเขยื้อนกลไกที่จับต้องได้เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น หุ่นยนต์ อันนี้จะเริ่มยากละ เพราะมันจะต้องเอาศาสตร์ของ Robotic เข้ามาประกอบกับ A.I. และใช้งานร่วมกัน ก็เหมือนกับที่สมองเราทำงานร่วมกับแขนขาได้นั่นแหละ ศาสตร์ของสมองเนี่ยแนวโน้มไปได้อีกไกลละ แต่สำหรับศาสตร์ของการสร้างแขนขาเนี่ยยังติดปัญหาในเรื่องของ "ต้นทุน" อยู่ เพราะมันแพงมากสำหรับการผลิตกลไกใด ๆ ขึ้นมา อีกทั้งยังมีความเสื่อมและปัจจัยอื่น ๆ ให้คำนึงถึงอีก

อย่าง AlphaGo นี่ก็ไม่ได้เดินหมากเองนะ มันบอกได้แค่ว่าจะเดินไปทางไหนแล้วสุดท้ายก็ให้มนุษย์เป็นคนเดินให้

ดังนั้นงานที่ต้องใช้หุ่นยนต์ เนยคิดว่าคงจะจำกัดอยู่กับงานที่มีมูลค่าสูงเท่านั้น เช่น โรงงานประกอบรถยนต์ แต่กับงานที่มูลค่าโปรดักส์ไม่ได้สูงมากนัก หรืองานที่ใช้ตามบ้าน อันนี้หุ่นยนต์จะยังต้นทุนสูงไป สู้ใช้แรงงานคนอาจจะถูกกว่า (ยกเว้นบางสายงานที่มันไปถึงแล้ว เช่น หุ่นยนต์ดูดฝุ่น)

แต่สุดท้ายเมื่อถึงจุดที่ต้นทุนการผลิตลดลงจนรับได้แล้ว Automation ก็จะเทคโอเวอร์ได้กว้างขึ้นอีก โดยจะส่งผลกระทบทั้งระดับภาคผู้ผลิตและระดับผู้บริโภคเองเลย

มนุษย์จะได้ทำสิ่งที่ตัวเองรัก(สักที)

สุดท้าย ถามว่าการที่หุ่นยนต์ยึดงานคนไปทำหมดนี่เป็นเรื่องดีหรือเรื่องไม่ดี ?

เราเคยถามตัวเองและคนรอบข้างอยู่บ่อยครั้ง คำถามง่าย ๆ ที่ถามไปทีไรก็ยาวทุกที

รักงานที่ตัวเองทำมั้ย ?

ปรากฏว่ามีคนเยอะมากที่บอกว่าไม่ชอบงานที่ทำเลย แต่เปลี่ยนงานไม่ได้ เพราะต้องหาเงินเลี้ยงครอบครัว ถ้าทำงานที่รักจะได้เงินไม่พอใช้ชีวิต บลา ๆ ๆ ๆ ๆ

พอรู้ตัวอีกทีก็แก่เฒ่าเกษียณเสียแล้ว ยังไม่ทันได้ทำงานที่ตัวเองรักเลย (เศร้าจัง)

ฟังแล้วเรารู้สึกเสียใจว่าทำไมมนุษย์ถึงไม่สามารถทำสิ่งที่ตัวเองรักได้ เหมือนเกิดมา ทำงาน ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ (ที่ตัวเองไม่ชอบ แต่ต้องทำเพื่อเงิน) แล้วตายไป มนุษย์ที่ถูกเรียกว่าสัตว์ประเสริฐกลับมีค่าแค่นี้หรอ ?

(น่าจะเคยได้ยินว่าคนที่โชคดีทางการงานที่สุดในโลกคือคนที่ทำงานที่ชอบแล้วงานนั้นเป็นที่ต้องการของโลกพอดี เห็นด้วยเลย)

ความจริงแล้วสาเหตุที่คนยังต้องอยู่ในวังวนนี้ก็เพราะว่าระบอบทุนนิยมกำหนดให้มนุษย์เป็นแบบนั้นครับ แต่การที่ Automation กำลังจะมาเปลี่ยนโฉมทุนนิยมไป แน่นอนว่ามันก็จะส่งผลต่อการใช้ชีวิตด้วย

ก่อนหน้านี้ทุนนิยมมีผลมากในการทำให้โลกหมุนเร็วขนาดนี้ ก็ต้องยอมรับว่ามันเป็นเรื่องที่ดีของยุคที่ผ่านมา ทุกคนถูกกดดันจากการหาเงินทำให้ต้องทำงานอย่างหนักจนโลกเปลี่ยนแปลงไป แต่วันนี้โลกก็ค่อย ๆ อยู่ตัวแล้วและพร้อมจะส่งต่องานที่ทำกันมานานให้ Automation ทำต่อแล้วอย่างไม่มีปัญหา

แล้วคนหละ ?

ในประเทศที่หมุนตามโลกทัน ประชากรของประเทศนั้นจะมีความสุขขึ้นจากการที่ไม่ต้องตกอยู่ในบ่วงของการเอาแต่หาเงินไปวัน ๆ และคนเหล่านั้นจะสามารถไปทำงานที่ตัวเองรักได้ ซึ่งจะส่งผลดีแบบก้าวกระโดดต่อประเทศนั้น ๆ ในยุคใหม่ เพราะว่าคนที่ชอบด้านไหน ๆ มักจะสร้างอะไรที่โดดเด่นในด้านนั้น ๆ ขึ้นมาได้เสมอนั่นเอง

หากเป็นไปตามนั้น การที่ Automation แย่งงานคนไปก็ไม่ใช่เรื่องแย่หรอก ที่เรารู้สึกว่าแย่เพราะเรายึดติดกับระบบเก่า ๆ ถ้าประเทศหมุนตามทันมันจะเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่ถ้าประเทศนั้นล้าหลังและยังยึดติดกับโลกเก่าทั้ง ๆ ที่มันหมุนไปเรื่อย ๆ หละก็ ประเทศนั้นจะเจ็บตัวหนักมาก

เนยปรับตัวยังไง ?

ปกติเรา Forecast ก็เพื่อที่จะรู้ว่าเราจะต้องเดินหน้าต่อไปยังไง แต่ครั้งนี้มันท้าทายมาก ไม่เหมือนกับการ Forecast ครั้งก่อน ๆ เลย ขอสารภาพ

ตอนนี้อยู่ระหว่างการตัดสินใจว่า

1) ทำ A.I. - เนื้อหอมมาก มีงานทำไปอีกสักพักแน่นอน แต่พอถึงวันนึงที่ A.I. ฉลาดพอ คนทำ A.I. ก็จะตกงานไปด้วย

2) ทำอะไรที่ A.I. ไปไม่ถึงแน่นอน

เพื่อเอาชัวร์ ตอนนี้ทำ A.I. เป็นแล้ว แต่ข้อมูลไม่ค่อยมี ก็เลยทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันไม่ได้ ส่วนอาชีพอื่นที่ A.I. ไปไม่ถึงเนี่ย ยังคิดอยู่ว่าทำอะไรดี เป็นดาราดีมั้ยน้า ... #จุดยืนต้องชัด

อันนี้แค่มาแชร์ให้ฟังเฉย ๆ แหละว่ากำลังคิดอยู่ว่าจะเอายังไงกับชีวิต ยังคงตัดสินใจอะไรไม่ได้ คิดมาเป็นปีละ นี่ก็ยังคิดอยู่ สับสนในชีวิตมาก 555

ก็ลองคิด ๆ ในทางของตัวเองดูก๊ะ =D

สรุป

หากเป็นไปตามที่คิดไว้ การเปลี่ยนแปลงสู่ A.I. Era ครั้งนี้จะยิ่งใหญ่ในระดับ "การปฏิวัติอุตสาหกรรม" เลยก็ว่าได้ ระบบต่าง ๆ ของโลกจะเปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก ตามที่อธิบายไว้ด้านบนนั่นเอง

สิ่งที่สำคัญเอามาก ๆ คือ อยากให้ทุกคนคอยติดตามเรื่องราวและปรับตัวให้ทันโลกให้ได้ และอยากให้คิดเผื่อไว้ล่วงหน้าเลย 5 ปี เพราะถ้าไม่เตรียมตัวตั้งแต่ตอนนี้ เมื่อการเปลี่ยนแปลงมาถึงคุณจะรู้สึกโหวงเหวงมาก โดยเฉพาะคนที่ทำงานเดียวมาตลอดชีวิต หากถึงตอนนั้นงานโดน Automation แย่งไปโดยสมบูรณ์แล้วหละก็ ซึมเศร้าได้ง่าย ๆ เลยนะ

นี่แหละโลกมนุษย์ เราหมุนมันไม่ได้ แต่ถ้าเราเข้าใจมันพอก็จะรู้ได้ว่ามันจะหมุนไปทางไหน วิ่งไปดักหน้าซะ แล้วคุณจะมีความสุขครับ =)

บทความที่เกี่ยวข้อง

Mar 4, 2015, 20:50
15040 views
มาดูภาพรวมของตลาด Smartphone ในปี 2014 กัน
Nov 7, 2021, 07:56
87948 views
เปิดตำรา Ponzinomic Model ศาสตร์เบื้องหลังเพื่อเล่นเกม Play-to-Earn อย่างเข้าใจ
0 Comment(s)
Loading