""โอกาส" ก็สำคัญพอกับ "อากาศ" นั่นแหละ"
ต่อยอดบล็อกพี่ปุ๋ย Somkiat.cc "ทำไม ​Dev เก่งๆในไทยไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในระดับโลก?"
6 Nov 2016 20:44   [86741 views]

วันนี้บล็อกพี่ปุ๋ย (Somkiat.cc) เด้งขึ้นมาในหน้าฟีด "คำถาม ทำไม developer ในไทยเก่ง ๆ เยอะมาก ๆ แต่กลับไม่เป็นที่รู้จักหรือได้รับการยอมรับในระดับโลกเท่าไหร่ ?"

เป็นคำถามที่น่าสนใจและจากจุดที่ตัวเองพยายามผลักดันโน่นนี่ในไทยมาร่วมสิบปี ส่วนตัวก็เลยคิดว่าตัวเองน่าจะพอตอบได้ ก็เลยถือโอกาสเขียนบล็อกตอบซะเลย

บล็อกเกอร์นี่มันบล็อกเกอร์จริงๆ ...

เอาหละ เริ่ม !

นักพัฒนาในไทยเก่งจริงมั้ย?

เริ่มด้วยประเด็นร้อนก่อนจะไปถึงเรื่องอื่น นักพัฒนาในไทยเก่งจริงหรอ? โดยขอจำกัดความคำว่านักพัฒนาในบล็อกนี้เป็น "นักพัฒนาซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ทางเทคโนโลยี" เท่านั้นนะครับ

เอาแบบพูดตรงๆเลยคือ โดยเฉลี่ยนักพัฒนาที่ไม่เก่งและฉาบฉวยมีเยอะมากๆๆๆๆ มากกว่าคนที่เก่งมหาศาล

แต่ ... มันแปลกตรงไหน ทุกวงการก็มีคนไม่เก่งเยอะกว่าคนเก่งทั้งนั้น มันเป็นธรรมชาติของโลกมนุษย์ในทุกสรรพสิ่งเลย สุดท้ายมันคือปิรามิดที่ทุกคนต้องปีนป่ายเพื่อให้ขึ้นไปอยู่ในจุดที่สูงที่สุดให้ได้ แต่อย่างไรฐานก็ยังใหญ่กว่ายอดมากอยู่ดี

คราวนี้ลองเปลี่ยนมาโฟกัสบนจุดยอดๆบ้างว่ามี Dev เก่งๆเยอะมั้ย และเก่งแค่ไหน?

จากที่รู้จักและคลุกคลีอยู่ในวงการมาพักใหญ่ๆ คงตอบว่า

เยอะมากกกกกกกก และเก่งสาดดดดดดดดด

ดังนั้นเรื่องสกิลและฝีมือนี่ถือว่าถือว่าเด็ดครับ ยอมรับเลย รู้จักคนที่เก่งระดับโหดเฟร่อเฉพาะเป็นการส่วนตัวนี่ก็หลายร้อยคนละ แต่ถามว่าจำนวนทั้งหมดเยอะขนาดจะไปเทียบกับเมกาหรือจีนอะไรงี้ได้มั้ย? ... ก็ตลกละ คนไทยมีจำนวนประชากรแค่ 70 ล้านคน มีนักพัฒนาอยู่สักกี่ % เชียวและคนที่อยู่บนยอดปิรามิดจะเหลืออยู่กี่ %

สุดท้ายคนที่เก่งระดับนี้ก็เลยมีปริมาณอยู่หยิบมือ (หลัก[หลาย]หมื่นคน) มีไม่เยอะแต่ก็เก่งจริงๆจนอยากประนมก้มกราบ

ส่วนคนที่ไม่เก่งนี่เรายังไม่ขอพูดถึงอะไรนะ แบบ พื้นฐานไม่แน่น สกิลไม่สูง เพดานบินไม่เยอะพอ บลาๆๆๆ อันนั้นการไม่เป็นที่รู้จักในระดับโลกก็คงไม่แปลก เราจะโฟกัสไปที่คนที่สกิลสูงปรี้ดก่อนละกัน

โอเค คราวนี้คงเห็นปริมาณละ ซึ่งปริมาณก็ไม่น้อยนะ แต่คำถามคือ ทำไมคนเหล่านี้ถึงไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในระดับโลก?

"Impact" เงื่อนไขของการเป็นที่รู้จักระดับโลก

เบอร์หนึ่งเรื่องโปรแกรมมิ่งตอนนี้คือประเทศอะไรรู้มั้ย? จริงๆเดาได้ไม่ยาก ประเทศจีนนั่นเอง

นักพัฒนาระดับเทพในจีนนี่หลักล้านคนนาจา คำถามคือมีคนจีนที่เป็นที่รู้จักระดับโลกอยู่กี่คน?

เอิบ นั่งคิดระลึกนึกถึงชื่อ ... ก็ไม่เยอะป่ะ

แล้วลองไล่ดูว่าใครที่เรารู้จักกัน และรู้จักเพราะอะไร

- Evan You ... รู้จักเพราะเค้าเขียน Vue

- 偏右 รู้จักเพราะเค้าทำ Ant Design

- 安正超 รู้จักจากที่เค้าทำ WeChat SDK

- Andrew Ng อันนี้ถึงจะไม่ได้เป็นคนจีนโดยกำเนิด แต่ก็ดังจากการทำ AI ใน Google ก่อนจะดังขึ้นไปอีกตอนย้ายไปทำที่ Baidu

ที่เหลือก็เริ่มนึกเป็นคนไม่ออกละ จะรู้จักในนามบริษัทมากกว่า อย่างเช่น Alibaba ที่ทำ Weex เป็นต้น

คราวนี้ไปฟากเมกาและอินเตอร์บ้าง อันนี้รู้จักเยอะเลย

- Jake Wharton ทำไลบรารี่แอนดรอยด์มาให้ใช้เยอะแยะมากมาย

- Chris Banes พนักงานกูเกิลที่เขียนบทความดีๆเกี่ยวกับแอนดรอยด์มาอย่างต่อเนื่อง

- Ray Wenderlich ผู้เป็น iOS Developer ระดับข่นบ้า

- Taylor Otwell ผู้สร้าง Laravel

- Bob Hartman ที่คนสาย Agile ไม่รู้จักไม่ได้

- ฯลฯ

จะเห็นว่าคนที่เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับในระดับโลกจะเป็นผลมาจาก 2 อย่าง

1) Impact ของผลงาน - ถ้าผลงาน Impact มาก คนที่ทำก็จะดังมาก ค่อนข้างตรงไปตรงมา

2) ความต่อเนื่อง - ถ้าทำมางานเดียวจบก็ไม่มีใครรู้จักจนถึงกับมีคนยอมรับ ความต่อเนื่องของผลงานจึงสำคัญมากเช่นกัน

และนี่คงเป็นหนึ่งในจุดที่ทำให้ยังมีคนไทยไม่เยอะมากที่เป็นที่รู้จักในระดับโลก เพราะถึงจะเก่งมากแต่ผลงานก็ไม่ได้ Impact ในวงกว้างขนาดนั้น เช่นเดียวกับความต่อเนื่องที่ยังไม่ค่อยมีคนที่ปล่อยอะไรที่ออกมาเรื่อยๆไม่หยุดเท่าไหร่

Contribution จุดเริ่มต้นที่ดี ... ที่ไม่ค่อยมีใครยอมทำ

แล้วอะไรจะทำให้เกิด Impact เป็นวงกว้างได้? จริงๆมีหลายวิธี แต่สิ่งที่ง่ายที่สุดที่ทุกคนทำได้คือ Contribution หรือการแบ่งปันความรู้ให้ผู้อื่น

ซึ่งก่อนจะไปถึงระดับโลก เอาแค่ประเทศไทยก่อน มีคนเก่งอยู่หยิบมือเท่านั้นที่ Contribute อะไรกลับสู่สังคม ซึ่งจริงๆมีเหตุผลอยู่คือ ก่อนหน้านี้ Culture คนไทยชอบซ้ำเติมคนผิดพลาด ถ้าเห็นอะไรที่ผิดหรือแค่คิดไม่ตรงกันก็ด่ากระจุยกระจายด้วยคำแรงๆแทนที่จะพูดดีๆเพื่อให้ทุกคนเก่งขึ้น ซึ่งคนที่ Contribute เค้าก็เหนื่อยมากอยู่แล้วจากการเขียนเนื้อหา พอเจอแบบนี้ก็ท้อ ไม่ต้องเขียนแหละดีที่สุดแล้วก็เลิกไป

อีกปัญหานึงคือเรื่องของลิขสิทธิ์ ช่วงสัก 3-4 ปีที่แล้วนี่ถ้าเนื้อหาที่เขียนดีและได้รับความนิยม คนก็ก็อปไปแปะเป็นของตัวเองและไม่ให้เครดิตคนเขียนเลย คราวนี้ก็ท้อแท้อีกเช่นกัน เลิก เขียนไปทำไม ...

แต่ แต่ แต่ แต่ โชคดีของสังคมไทยตอนนี้ที่ปัญหาทั้งสองอย่างค่อยๆจางหายไป

Culture การด่าและซ้ำเติมคนผิดพลาดถึงจะมีอยู่แต่ก็เหลือน้อยมากแล้ว น้อยจนไม่ต้องไปแคร์อะไรมัน รวมถึงเรื่องลิขสิทธิ์ก็ไม่ค่อยใช่ประเด็นแล้ว เพราะว่าพักหลังเว็บที่ก็อปเนื้อหาก็มีวิธีเล่นงานแล้ว มีคดีตัวอย่างเรียบร้อยจนแทบไม่มีคนทำละ

สรุปตอนนี้ไม่มีปัจจัยภายนอกขัดขวางการ Contribute เท่าไหร่ละ ที่เหลืออยู่ก็แค่ปัจจัยภายใน ... ถ้าไม่ยอมเขียน ถ้าไม่ยอมพูด ถ้าไม่ยอม Contribute กัน ก็อย่าหวังว่าจะสร้าง Impact ในวงกว้างได้ และก็อย่าหวังจะได้เป็นที่ยอมรับของผู้คนได้เช่นกัน

ใครอยากจะเริ่มต้นก็เริ่มได้ง่ายๆด้วยการเขียนบล็อกนี่แหละ ผลักดันมาหลายปีละ คนที่เชื่อก็ได้ดีไปกี่คนแล้วไม่รู้ มี Case Study ให้เห็นอยู่มากมาย หรือถ้ามีสกิลการพูดก็อยากให้ไปบรรยายตามงาน เช่น Codemania งี้ นั่นก็เป็นการ Contribute แบบนึงที่สำคัญมากๆเช่นกัน

และอีกสิ่งที่ยังคงสำคัญเช่นเดิมคือ "ความต่อเนื่อง" เห็นหลายคนแล้วเหมือนกันที่เขียนบล็อกไปสามบล็อกแล้วบัย ไม่เขียนละ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม

สิ่งนึงที่อยากจะบอกคือการ Contribute นั้นช่วยอะไรผู้ให้หลายอย่างมาก ช่วยให้คนๆนั้นพูดรู้เรื่องขึ้น ช่วยให้คนๆนั้นเก่งขึ้น ช่วยให้สังคมเก่งขึ้น ถึงช่วงแรกๆอาจจะมีคนอ่านน้อยก็อย่าไปท้อ เพราะตามการปฏิบัติแล้ว การ Contribute จะต้องอาศัยความต่อเนื่องสักระยะนึงถึงจะเริ่มติดตลาดได้ นั่นแปลว่าต้องเขียนเรื่อยๆอย่าหยุด ช่วงแรกๆคนไม่อ่านก็ไม่เป็นไร ยาวไปจะมีคนอ่านเยอะเองโดยไม่ทันได้รู้ตัว

จำไว้ว่า

ยิ่งให้ยิ่งได้

แล้วจะดีเองครับ

อันนี้อย่าว่าแต่คนไทยเลย เมืองนอกก็ไม่ได้มีเยอะมากที่ Contribute เป็น แต่ที่เราเห็นว่าเยอะก็เพราะว่าเค้ามีประชากรมากกว่านั่นเอง พอมาเป็นเมืองไทยที่มีอยู่หยิบมือ สุดท้ายก็เลยเหลืออยู่ไม่กี่คนเท่านั้นเอง

อย่างไรก็ตาม การได้รับการยอมรับในประเทศตัวเองน่าจะเป็นอะไรที่ง่ายที่สุดในสถานการณ์ทั่วไปแล้ว เป็นจุดเริ่มต้นที่ทุกคนควรจะเริ่มจากตรงนี้ครับ อย่าเพิ่งคิดถึงระดับโลกในช่วงแรก เดี๋ยวจะเกินตัวจนเกินไป

ภาษาอังกฤษ ... Barrier ใหญ่ของการไปสู่ระดับโลก

เอาหละ หลังจากที่ได้รับการยอมรับในประเทศแล้ว การจะไปสู่ระดับโลกได้คงไม่สามารถใช้ภาษาไทยได้อยู่แล้ว บ้าเหรอ แน่นอน ต้องภาษาอังกฤษสิ ! (แม้แต่เทพจีนที่เก่งๆดังๆในจีน มีคนติดตามเยอะกว่าคนเมกาหลายคน แต่ถ้าเค้ายังใช้แต่ภาษาจีนทั้งหมดเค้าก็ไม่มีใครรู้จักในระดับโลกอยู่ดี มีอยู่หลายคนเลยที่เจอ)

ดังนั้นภาษาอังกฤษจึงเป็นสิ่งสำคัญมากกกกกกกก

แล้วถามว่าการจะมีคนรู้จักในระดับโลกจำเป็นต้องดังมาก่อนมั้ย? ตอบเลยว่าไม่จำเป็นครับ อันนี้เป็นกรณีศึกษาจากการเขียนบล็อกเป็นภาษาอังกฤษเมื่อปีที่ผ่านมา ลองอ่านดู >> โอกาสจากการเขียนบล็อกโปรแกรมมิ่งเป็นภาษาอังกฤษ กรณีศึกษาจากบล็อก The Cheese Factory

จะเห็นจากเนื้อหาในบล็อกว่า เว็บ The Cheese Factory เริ่มต้นจากไม่มีใครรู้จักเลยแม้แต่คนเดียว แต่แค่เขียนเป็นภาษาอังกฤษที่เนื้อหาอ่านง่าย มีคนสนใจ (ก็คือเนื้อหามีคุณภาพ) ก็จะมีคน Search เจอและเข้ามาอ่านเองครับ อยากจะบอกว่าโอกาสที่มีคนเข้ามามีสูงกว่าเนื้อหาภาษาไทยเสียอีก เพราะว่าพอเป็นภาษาอังกฤษ ฐานผู้อ่านก็จะกว้างขึ้นทันทีร้อยเท่า

ดังนั้นไม่จำเป็นที่คุณจะมีชื่อเสียงหรือเป็นที่ยอมรับจากที่ไหนมาก่อน หากทำของดีออกมาและมี Impact ต่อคนที่ต้องการ คนก็จะรู้จักคุณเอง ง่ายๆแค่นี้เพราะว่าโลกหมุนมาถึงจุดนี้แล้วครับ จุดที่โลกใบเล็กลงมากเพราะอินเทอร์เนต แค่จะคว้าโอกาสไว้มั้ยก็เท่านั้นแหละ

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นปัญหาใหญ่มากๆของคนไทย เพราะภาษาอังกฤษก็ยังเป็นจุดอ่อนของคนไทยจำนวนมากอยู่ แต่จากประสบการณ์ที่พานพบมา จะพบว่าคนที่เก่งระดับที่เทพมากๆจนอยากก้มกราบมักจะไม่มีปัญหาเรื่องภาษาอังกฤษ ...

ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องบังเอิญ มันเป็นเหตุและผล เนื่องจากเนื้อหาดีๆมันเป็นภาษาอังกฤษซะหมด ถ้าคุณไม่มีปัญหาเรื่องภาษา คุณก็จะเก่งขึ้นได้เองจากเนื้อหาในเนต แต่ถ้าไม่เก่งภาษา ก็จะทำโน่นทำนี่ไม่ได้ครับ

ดังนั้นภาษาอังกฤษเนี่ยสำคัญมากจริงๆ อยากจะเน้นย้ำว่าทุกคนต้องมีสกิลภาษาอังกฤษ มีโอกาสก็ฝึกก็เรียนซะ จะเปิดโอกาสให้คุณได้มากๆครับ

คราวนี้ก็จะพบความจริงอีกข้อนึงถึงสาเหตุว่าทำไมยังไม่ค่อยเห็นคนไทยที่ดังระดับโลก

แค่คนที่เก่งที่เทพก็คัดออกมาเหลือหยิบมือนึงแล้ว แล้วคนที่เก่งเหล่านั้นที่สามารถและยอม Contribute ได้ก็เหลืออยู่แค่ 1% เองมั้ง และคนในกลุ่มนั้นก็มีแค่ 0.1% เองมั้งที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษด้วย

ยังไงถ้าคนที่ Contribute เป็นภาษาไทยอยู่แล้ว เชียร์ให้ทำภาษาอังกฤษด้วยเลยตั้งแต่วันนี้ครับ ความสำคัญมันเป็นแบบ Passive เพราะพอสิ่งดีๆอยู่ในเนตแล้ว ต่อให้คุณหลับคุณก็ดังขึ้นได้ นี่แหละข้อดีของอินเทอร์เนต

อ้อ อย่าลืมเรื่องความต่อเนื่องด้วยนะ ... สำคัญมากมาย 

"พื้นฐาน" ไม่แน่นก็เตรียมชนกับ "เพดาน"

สิ่งหนึ่งที่เรียนรู้จากการไปเล่น Contribute ให้กับคอมมูนิตี้ในระดับ Global มาคือ มาตรฐานในระดับโลกนั้นสูงกว่าเมืองไทยมาก สิ่งที่สำคัญสุดๆกลับไม่ใช่เรื่อง Advance แต่เป็นพื้นฐานที่แน่นพอจะพลิกแพลงและต่อยอดไปเรื่องต่างๆได้

มันไม่ใช่การทำตามคนโน้นคนนี้หรือตาม Tutorial แต่ต้องเป็นคนที่คิดว่าวิธีไหนดีหรือวิธีไหนไม่ดีได้ด้วยตัวเอง ซึ่งมีวิธีเดียวที่จะทำได้ก็คือต้องมีพื้นฐานที่ดีพอที่จะรู้ว่าอะไรดีหรือไม่ดี

และพอคิดทุกอย่างได้เอง Content ที่จะ Contribute ก็จะเป็นในรูปแบบของตัวเอง ไม่ซ้ำใครและนั่นจะทำให้คุณมีเอกลักษณ์และเป็นที่ยอมรับครับ

ตรงกันข้าม ถ้าพื้นฐานไม่แน่น ได้แต่ทำตามคนอื่นบอก สิ่งที่คุณจะเจอคือ "เพดาน" และ Content คุณก็จะเป็นได้แค่ Just Another Content ไม่สามารถสู้กับใครในระดับโลกได้ครับ

พื้นฐานสำคัญมาก เอาบล็อกเก่ามาฝากเลยละกัน ไม่เขียนซ้ำละ อยากไปให้ถึง "ยอด" ต้องเข้าให้ถึง "แก่น" เพราะ Fundamental นั้นสำคัญ

ฐานะและรายได้ที่ไม่สมดุลคอยขัดขวางเวลา

พูดถึงเรื่องรายได้ ก็ยังต้องบอกว่าคนไทยมีปัญหาอย่างนึงคือเงินเดือนไม่ค่อยสมดุลกับรายจ่ายเท่าไหร่ เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ข้าวของแพงขึ้นเรื่อยๆ แต่เงินเดือนดันไม่เพิ่ม

และเงินกับเวลาเป็นของที่เทรดกันได้ ถ้ามีเงินเยอะพอก็เอาเงินไปซื้อเวลาได้ ถ้าไม่มีเงินก็ต้องเอาเวลาไปแลกเงิน

ผลคือคนจำนวนนึงจะไม่สามารถแบ่งเวลามา Contribute อะไรให้คนอื่นได้เพราะว่าต้องใช้เวลาทั้งหมดในการหาเงิน จะเอาเวลาที่ไหนมาเขียนเนื้อหาหรือเตรียมเนื้อหาเพื่อคนอื่นหละ

อันนี้ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้แบ่งเวลามา Contribute อะไรให้สังคมเรื่อยๆนะครับ เพราะว่าพอถึงจุดนึง สิ่งที่คุณ Contribute นั่นแหละจะปลดล็อคคุณออกจากลูปนรกลูปนี้ได้

ก็ถือเป็นอุปสรรคใหญ่ๆอุปสรรคนึงที่เกิดขึ้นในเมืองไทยโดยเฉพาะครับ แต่ว่ากันตามตรง คนที่เก่งระดับนึงแล้วจะไม่มีปัญหาเรื่องนี้เช่นกันเพราะสภาพการคลาดแคลนนักพัฒนาระดับคุณภาพในไทยจะทำให้คนกลุ่มนี้มีเงินเดือนเยอะพอจะปลดล็อคตัวเองจากสภาวะนี้ได้ครับ

จริงๆสภาพคล่องทางการเงินนี่ส่งผลหลายอย่างนะ นี่แหละ เราอยู่ในโลกทุนนิยม โลกที่คนรวยรวยขึ้นเรื่อยๆ ส่วนคนจนจนลงเรื่อยๆ ปีนข้ามช่องว่างตรงนี้ให้ได้ครับแล้วสิ่งดีๆจะตามมา พยายามเข้าทุกคน (เนยก็พยายามอยู่)

การได้รับการยอมรับจากผลงานแบบไม่ต้อง Contribute

แล้วถามว่ามีวิธีมั้ยที่ไม่ต้อง Contribute แล้วเป็นที่ยอมรับได้?

มีครับ แต่คีย์เวิร์ดเดิมยังอยู่ "Impact" และ "ความต่อเนื่อง"

Impact - ผลงานที่คุณทำต้องเด็ดจริงและทำให้คนสนใจได้เยอะมากจริงๆ

ความต่อเนื่อง - ผลงานเจ๋งๆผลงานเดียวไม่พอ ต้องมีอะไรออกมาให้คนเห็นตลอดเวลาด้วย

ยกตัวอย่างเช่น สมมติเป็นเทพ AI และทำผลงานที่คอมพ์ฉลาดมากๆออกมาไม่หยุด ถึงแม้คุณจะไม่ได้เปิด Source หรือสอนคนอื่นทำ คนก็จะยอมรับว่าคุณเก่ง AI ได้ครับ

สรุป

ก็ฝากไว้ครับ สิ่งที่สำคัญในบทความนี้สรุปเป็นคีย์เวิร์ดเลยคือ "Impact", "Contribute", "ความต่อเนื่อง", "ภาษาอังกฤษ" และ "การลงมือทำ"

อยากเป็นที่รู้จักในระดับโลกก็ต้องลงมือทำงานเป็นชิ้นเป็นอัน และงานชิ้นนั้นต้องสร้าง Impact ใหญ่ให้กับคนส่วนมาก และอย่าลืม Contribute ให้โลกรู้ในสิ่งที่ทำและวิธีทำ แน่นอน ... ด้วยภาษาอังกฤษครับ

เริ่มทำแต่วันนี้ ไม่ก็รอดูคนอื่นแซงหน้าตาปริบๆไปเรื่อยๆครับ

บทความที่เกี่ยวข้อง

Nov 19, 2016, 13:30
259143 views
ทำไมต้องคูณหารก่อนบวกลบ? มาย้อนความหลังกันกับเรื่องราวของ Order of Operations
Oct 31, 2016, 20:43
73205 views
แนวโน้มการใช้งานและการพัฒนา Mobile Web และ Mobile App ในปี 2017
0 Comment(s)
Loading