"ความตั้งใจสร้างได้ทุกอย่าง ความไม่ตั้งใจทำลายได้ทุกสิ่ง"
อยากไปให้ถึง "ยอด" ต้องเข้าให้ถึง "แก่น" เพราะ Fundamental นั้นสำคัญ
15 Aug 2015 02:00   [21440 views]

หากนับเวลาที่เปิดบริษัท นี่ก็ผ่านมาแล้วหนึ่งปีกับอีกไม่กี่วัน แต่ถ้านับแค่เฉพาะตั้งแต่เริ่มเปิดสอน ก็รวม 9 เดือนแล้ว

ชีวิตการสอนเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆตามวันและเวลา คนที่พัฒนาขึ้นไม่ได้มีแต่คนเรียน แต่คนสอนก็พัฒนาไปด้วยเช่นกัน ต้องขอบคุณผู้เรียนทุกท่านจริงๆกับประสบการณ์ที่ได้รับมา ^_^

และจากการสอนนี้เองก็ทำให้มีโอกาสได้เจอคนมากมายหลายหลากจากที่ต่างๆ รวมถึงได้ทดลองและ Validate ผลอะไรหลายอย่าง จนได้เรื่องราวที่น่าสนใจมาอย่างนึงที่เกี่ยวเนื่องกับ "ความสามารถของนักพัฒนา"

หลุมพรางของทางลัด

ทุกวันนี้โลกของการเขียนโปรแกรมพัฒนาไปไกลมาก มากจนตามแทบไม่ทันแล้ว ทุกอย่างเริ่มถูกผลักไปอยู่ระดับ High Level และมีวิธีลัดถูกนำเสนอมหาศาลมากมายบานตะไทบรรลัยกัลป์

ถึงแม้มันจะฟังดูดีที่หลายๆทำได้อย่างรวดเร็วทันใจ แต่มันก็เป็นดาบสองคมเช่นกัน เพราะยิ่งใช้วิธีลัดก็จะยิ่งเข้าใจมันอย่างถ่องแท้น้อยลง สุดท้ายก็แค่ใช้ๆไป

ถ้าเป็นงานงานเดียวแล้วเลิกก็คงพออยู่แหละ แต่ในทางปฏิบัติแล้วเราไม่ได้ทำแบบนั้นกันหนิ ถ้าจับงานด้านไหนแล้วก็จะไปด้านนั้นยาวๆ และนั่นแหละ การใช้วิธีลัดจะทำให้เดินต่อไม่ได้

คุยกับนักพัฒนารุ่นใหม่หลายคน พบว่าตกหลุมพรางวิธีลัดเหล่านี้กันเยอะมาก

หากเทียบเรื่องนี้กับ "ต้นไม้" จุดหมายปลายทางของงานที่เราจะทำก็คือ "ผลไม้ลูกน้อยๆที่อยู่บนปลายกิ่ง" ความรู้ศาสตร์ต่างๆก็เปรียบเหมือนการแตกแขนงของกิ่งไม้จากลำต้นไปสู่กิ่งย่อยลงไปเรื่อยๆ

วิธีลัดก็เหมือนการเอาบันไดมาพาดต้นไม้แล้วเก็บผลไม้ ก็สะดวกดีนะ แต่ปัญหาคือพอจะต้องไปเก็บลูกอื่น ก็ต้องปีนลงมา แบกบันได แล้วก็วิ่งไปพาดที่ใหม่ แล้วก็ปีนใหม่ ความลำบากจะเริ่มเยอะขึ้นตามเวลาไปเรื่อยๆ

จุดอ่อนของการที่เริ่มต้นแล้วไปสอยผลไม้เลยก็คือ คุณจะไม่สามารถย้อนกลับไปยังลำต้นเพื่อไปยังกิ่งอื่นได้ เวลาจะเก็บลูกใหม่ก็ต้องเริ่มต้นปีนใหม่ทุกครั้ง เทียบกับการศึกษาก็คือต้องศึกษาใหม่ทุกครั้ง ทั้งๆที่เป็นศาสตร์เดียวกันแต่กลับต้องศึกษาใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า

และคุณจะไม่มีทางเก่งหรือเชี่ยวชาญได้เลย

ลองมองใหม่ ถ้าขึ้นไปทางลำต้น ก็จะสามารถย้อนกลับมาแล้วไปต่อได้เรื่อยๆอย่างไม่จำกัด และหากมีกิ่งใหม่แตกออกไป (ความรู้ใหม่) คุณก็จะไปยังกิ่งใหม่นั้นได้ทันที เพราะความรู้ทั้งหมดถูกต่อยอดขึ้นไปเรื่อยๆจากความรู้กลางดั่งกิ่งก้านถูกต่อยอดขึ้นไปจากลำต้นนั่นเอง

และเจ้าลำต้นนี่แหละที่เราเรียกว่า Fundamental

Fundamental คือสิ่งสำคัญที่สุดในการเรียนรู้อะไร

Fundamental หรือรากฐานของสิ่งใดๆจึงเป็นสิ่งที่สำคัญเอามากๆในการศึกษาเรื่องใดๆ เพราะถ้าเริ่มจากตรงนี้ จะสามารถไปต่อตรงไหนก็ได้และจะเก่งขึ้นเรื่อยๆ

สาธยายมาซะยาวยืด ที่อยากจะบอกคือปลายทางเหมือนกันคือได้ผลไม้ แต่หนทางที่ได้มานั้นต่างกัน หลักๆก็จะมีสองวิธีนั่นแหละ

วิธีที่ง่ายแต่ฉาบฉวยไม่ยั่งยืน กับ วิธีที่ยากกว่าแต่ยืนนาน

ซึ่งแน่นอน คุณภาพของคนที่ใช้วิธีทั้งสองก็ต่างกันด้วย ดังนั้นระวังเวลาดูคนอย่าดูแค่ผลงาน วิธีการที่ได้มาก็สำคัญมากๆเช่นกัน

เช่นเดียวกัน การพัฒนาตนก็สำคัญมากๆที่จะต้องใส่ใจที่ Fundamental ก่อนเป็นอย่างแรก แล้วค่อยต่อยอดจากตรงนั้นไป

ยกตัวอย่างสิ่งที่ใกล้มือที่สุดเลยคือเรื่องของ Android Application ที่พอเข้าใจ Fundamental ของมันแล้ว มันออกแบบมายังไง แนวคิดคืออะไร Activity Lifecycle คืออะไรแล้วทำไมถึงออกแบบมาแบบนี้ ฯลฯ คราวนี้ต่อให้มีเรื่องใหม่มากี่เรื่องก็ตามก็จะสามารถทำได้ทันทีภายใน 5 นาที แทบไม่มี Learning Curve แต่ถ้าไม่เข้าใจ Fundamental ก็คงได้แต่นั่งงงว่าอะไรว้าาา เหมือนมี Learning Curve อยู่ตลอดเวลานั่นเอง

หรือถ้าซูมออกไปเป็นภาพใหญ่ขึ้นมาหน่อย หากเข้าใจ Fundamental ของ Mobile Application ก็จะทำให้สามารถไปทำบน OS ไหนก็ได้แบบคร่าวๆแล้ว (ซึ่งแน่นอนว่าต้องไปเจาะ Fundamental ของแต่ละ OS ด้วยอีกทีนึง)

ก็สักพักนึงแล้วถ้าเราจะเริ่มต้นกับเรื่องไหนก็ตาม จะวิ่งไปดู Fundamental ก่อนเลย การสอนแอนดรอยด์ที่ผ่านมาก็ใช้แนวคิดนี้เช่นกันแล้วก็เพิ่ง Validate ว่ามันเวอร์คกว่าจริงๆเพราะพอผ่านไป 2-3 เดือน คนจำนวนมากพัฒนาตัวเองขึ้นจนไปทำอะไรต่อก็ได้แล้ว

และเชื่อเนยว่าถึงวิธีนี้จะใช้เวลามากกว่าทางลัด แต่ระยะยาวแล้วคุ้มค่ากว่ามากครับ

พอวันหนึ่งเมื่อคุณเชี่ยวชาญมากพอ คุณจะเป็นคนแตกกิ่งขึ้นมาด้วยตัวเองจาก Fundamental เหล่านั้นด้วย และจุดนั้นคุณจะกลายเป็นผู้สร้างอย่างแท้จริง

นี่แหละครับ

อยากจะไปถึง "ยอด" ต้องเข้าใจให้ถึง "แก่น" (Fundamental)

สำคัญนะ ลองดูครับ =)

บทความที่เกี่ยวข้อง

Sep 26, 2015, 20:58
69434 views
บันทึกการหลุดพ้นจากบ่วงกรรมการอ่อน "ภาษาอังกฤษ" ใน 2 ปี
Mar 16, 2015, 14:29
65528 views
ประสบการณ์การ "ตอกเส้น" ที่ศูนย์พัฒนาการแพทย์แผนไทยสุโขทัย @ พุทธวิชชาลัย
0 Comment(s)
Loading