ช่วงที่มีปัญหา อยากได้ที่ระบาย อยากได้ยา อยากจะให้มันผ่านไปไวๆ เลยมีโอกาสได้แวะไปหาหมอจิตเวชสองรอบด้วยกัน
หลายคนคิดว่าการไปหาหมอจิตเวชต้องเป็นบ้าอะไรทำนองนั้น ไม่ใช่นะ ที่เมืองนอกนี่ไปนั่งบ่นนอนบ่นกันเป็นประจำ ดูจากหนังก็ได้ เป็นเรื่องที่ค่อนข้างปกติมาก
สำหรับเราก็ถือว่ามันเป็นประสบการณ์ที่ดีนะ ได้เรียนรู้และเข้าใจอะไรหลายอย่าง เอามาปรับใช้ได้ดีทีเดียว
คิวยาวเพราะการรักษาต่อเคสต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมง
ปกติไปหาหมอเราก็จะ Walk In ไม่ค่อยได้โทรจองหรอก ครั้งนั้นก็เช่นกัน เดินเข้าไปเลย
ปรากฎว่าหมอไม่ว่างจ้าาาา แถมกว่าจะได้คิวก็อีก 5 วันถัดไปเลยทีเดียว
สอบถามก็พบสาเหตุว่าเพราะแต่ละเคสก็ต้องใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง และหมอก็ผลัดเข้ามา ไม่ได้เข้าพร้อมกัน ทำให้แต่ละวันรับคนไข้ได้แค่ 10 คน
สุดท้ายก็เลยจองไป
แค่ได้พูดก็ดีขึ้นแล้ว
ตอนนั้นไปในสภาพที่สะบักสะบอมทางจิตใจมากทีเดียว เข้าไปถึงก็เจอคุณหมอหน้าตาเจี๋ยมเจี้ยม
"เป็นยังไงบ้างครับ มาหาหมอเป็นอะไรมา" - หมอถามด้วยเสียงโทนมาตรฐานของหมอจิตเวช (เนิบๆ นิ่งๆ เดาว่าน่าจะเป็นโทนเสียงที่ถูกวิจัยมาแล้วว่าทำให้จิตใจคนพูดด้วยสงบหละมั้ง)
และนั่นเป็นครั้งแรก ยังไม่มีประวัติ ก็เลยร่ายยาวทุกสิ่งอย่างตั้งแต่เด็กยันโต
พอเล่าจบ สิ่งแรกที่รู้สึกคือ รู้สึกดีอย่างน่าใจหายที่ได้ระบาย ถึงแม้จะยังไม่ได้รับคำแนะนำใดๆจากหมอ แต่ก็รู้สึกหายอัดอั้นไปได้มากแล้ว และเป็นการระบายที่สบายใจเพราะเป็นการระบายให้คนไม่รู้จักฟัง ไม่มีผลข้างเคียง ไม่มีความลับรั่วไหล ไม่มีคนเอาไปเม้าท์
ก็ได้เข้าใจละว่าทำไมเมืองนอกถึงชอบไปนอนระบายให้หมอจิตเวชฟังจัง แค่ได้ระบายก็รู้สึกดีแล้วนั่นเอง
หมอไม่ตัดสินใจ ให้เราคิดเอง
จากนั้นหมอก็ค่อยๆเริ่มให้คำแนะนำ สิ่งที่เรียนรู้ตลอด 1 ชั่วโมงที่อยู่ในนั้นคือ "ทุกคำแนะนำล้วนให้เราตัดสินใจเอง"
นี่เป็น Key หลักที่เราคิดว่า ผู้คนควรเรียนรู้เอาไว้
หลายต่อหลายครั้งที่ตอนคนเราให้คำปรึกษาอะไรใคร ก็มักจะตัดสินใจให้หมดเลย ทำอย่างโง้นสิ ทำอย่างงี้สิ ... แต่กับคนที่เป็น Depress จะมีคำถามอยู่ในใจมากมาย และสิ่งที่เป็นการตัดสินใจจากคนอื่น ก็จะเป็นได้เพียงคำถามที่เพิ่มขึ้นมาในหัวอีกหนึ่งสิ่ง
การให้คำปรึกษาของหมอนั้นเน้นไปว่า "ถ้าเป็นอย่างงั้นคุณคิดยังไง" "แล้วถ้าเป็นอย่างงั้นหละ" สุดท้ายเหมือนเป็น Guide ให้เราช่วยคิดหาคำตอบ และนั่นเป็นเรื่องดีที่ทำให้คำถามหายไปทีละคำถามๆ ชีวิตที่หลงทางก็ค่อยๆกลับสู่ลู่ทางได้ทีละนิดๆ
ตอนออกมาจากห้อง รู้สึกถึงความต่างทางความคิดเลยหละ
ถ้าจะให้คำแนะนำใคร เราแนะนำว่าอย่าไปตัดสินใจอะไรแทนเค้าเลย เพราะเราไม่ใช่ตัวเค้า เราไม่ได้รู้จักเค้ามากเท่ากับตัวเค้าเอง กระตุ้นให้เค้าคิดหาคำตอบเองดีกว่า ดีที่สุดแล้วในทุกทาง =)
หมอเน้นให้เรามองเห็นค่าของตัวเอง / การเรียนรู้ในคำปลอบใจ
Depress เป็นโรคที่ "คนไม่เห็นค่าของตัวเอง" แต่บ่อยครั้งมากที่เห็นคนปลอบใจด้วยคำว่า "คนนั้นเจอหนักกว่านี้ ยังผ่านไปได้เลย"
เป็นคำปลอบใจที่อันตรายมาก เพราะเป็นการซ้ำเติมความไม่เห็นค่าของตัวเองได้เป็นอย่างดี นอกจากไม่ช่วยแล้วยังทำให้ทุกอย่างแย่ลงได้อีก
การรักษา Depress ที่ดีที่สุดคือ "ต้องให้คนไข้เห็นค่าของตัวเอง"
ตลอดเวลาที่รักษา หมอไม่เคยมีพูดออกมาแม้แต่คำเดียวที่ทำให้เรารู้สึกว่าต้อยต่ำ แต่มีถามว่า "เคยเทียบตัวเองกับใครบ้างมั้ย?" พอตอบว่า "เคย" หมอก็พยายามเกลี้ยกล่อมให้ไปหยุดเทียบตัวเองกับคนที่ทำให้เรารู้สึกด้อยค่าซะ
แล้วก็พยายามให้เรานึกว่ามีอะไรที่เราเคยทำแล้วภูมิใจในชีวิตบ้างมั้ย ก็นั่งนึกแล้วเล่าให้ฟัง บลาๆๆๆ
เป็นช่วงที่อึ้งนิดหน่อยเพราะตลอดเวลาที่ผ่านมาไม่เคยนึกถึงเรื่องในอดีตเท่าไหร่ พอไล่นึกว่าเคยทำอะไรมาบ้างแล้วก็ ... ตกใจนะ ตกใจว่าทำไมเราทำอะไรมาเยอะจัง รู้สึกตัวเองมีค่าขึ้นมาพอสมควรเลย
"คุณจะทำได้อีกมั้ย?" - หมอถาม
"ได้ครับ" - เนยตอบ
คีย์หลักของการรักษาคือตรงนี้จริงๆ การให้มองเห็นค่าของตัวเอง ... =)
โรคซึมเศร้าอาจเกิดจากกายภาพ
โรคซึมเศร้ามีสาเหตุที่จับต้องได้อย่างนึงคือสารเคมีในสมองผิดเพี้ยนไป ปรากฎว่าไปครั้งแรกก็โดนจับตรวจไทรอยด์เลย หมอบอกว่าถ้าไทรอยด์ผิดปกติอาจจะทำให้เกิดความหม่นหมองได้
ส่วนของเรา สุดท้ายผลตรวจออกมาไทรอยด์ปกติหละ อันนี้ซึมเศร้าด้วยสาเหตุอื่นเอง
หมอช่วยเราปรับทัศนคติ แต่สุดท้ายคนที่รักษาได้ดีที่สุดคือตัวเรา
ครั้งที่สองที่ไป ก็เข้าไปขอคำแนะนำเหมือนเดิม หมอก็เริ่มพูดอย่างสนิทสนมเหมือนครั้งแรก
คุยกันไปเรื่อยๆ เริ่มมีอะไรแปลกๆ เพราะเหมือนที่หมอให้คำแนะนำมามันไม่ใช่เรื่องของเรา
สรุป ... เค้าจำเรื่องผิด 555555
คิดว่าคงเพราะสตอรี่ที่หมอเจอเป็นประจำมีอยู่ไม่กี่อย่าง แต่ของเราไม่ใช่เคสปกติทั่วไป ค่อนข้างซับซ้อนมาก เข้าใจหมอว่าแต่ละวันต้องเจอเคสเยอะ จะให้จำเรื่องเราได้จากการคุยแค่ 1 ชั่วโมงแรกก็มหัศจรรย์ละ
แต่นั่นก็ทำให้เข้าใจว่าหมอจิตเวชเป็นผู้ให้คำแนะนำเรา ไม่ใช่คนที่จะดีดนิ้วแล้วเราหาย เค้าไม่ได้อยู่กับเราตลอดเวลา เราอาจจะเศร้าอยากฆ่าตัวตายเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ที่หมอทำคือฝัง "การเห็นค่าของตัวเองลงในหัว" และนั่นแหละที่จะอยู่กับตัวเราตลอดเวลา
จับทางได้ว่า "คนที่รักษาอาการนี้ได้ดีที่สุดคือตัวเรา"
หลังจากนั้นก็เลยไม่ไปหาหมออีก แต่ใช้การเข้าใจตัวเอง ซึ่งถามว่าดีขึ้นมั้ย? ... ก็สวิงขึ้นลง ยังไม่หายดี แค่คิดว่าไปหาหมอก็คงไม่ช่วยอะไรแล้ว เพราะเข้าใจแล้วว่าหมอต้องการสื่ออะไร หมอจะช่วยอะไรยังไง ฝังอยู่ในหัวใจเรียบร้อย ที่เหลือก็คงต้องใช้เวลาแหละ ^_^
บุญรักษา อโรคยา ปรมาลาภา กันนะทุกคน มั๊วะ