ใครตาม Facebook เราอยู่ก็คงรู้ว่าเรามีปัญหาเรื่องตาอยู่ระดับนึง ด้วยเหตุนี้ก็เลยไปศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับจอคอมพ์/จอมือถือและดวงตาเพิ่มดู อ่านเปเปอร์มาหลายตัวเหมือนกัน ก็ได้ข้อมูลที่น่าสนใจที่อยากเอามาแชร์ถึงเรื่อง Blue Light Hazard หรือ "อันตรายจากแสงสีฟ้า" (ความจริงๆคือแสงสีน้ำเงิน แต่ไหนๆก็เรียกติดว่าแสงสีฟ้าแล้ว เอาสีฟ้านี่แหละ)
ฟิล์มกันรอยหลายต่อหลายเจ้าหยิบยกเจ้าเรื่อง "แสงสีฟ้า" นี้มาโฆษณาเยอะมากตลอดครึ่งปีที่ผ่านมา ก็ไม่ได้สนใจอะไร นึกว่าเป็นแค่เรื่องทางโฆษณา แต่พอไปอ่านเรื่องราวโดยละเอียดแล้ว มันน่ากลัวกว่าที่คิดแฮะ
เราอยู่ในยุคที่เทคโนโลยีโตเร็วมาก เร็วเกินกว่าจะศึกษาผลข้างเคียงได้หมด แม้แต่ทุกวันนี้คลื่นจากมือถือทำอะไรสมองได้หรือไม่เราก็ยังไม่รู้ เพราะระยะเวลาทดลองยังสั้นเกินไป เทคโนโลยีต่างๆที่มีให้เราใช้อยู่ในทุกวันนี้ หลายตัวจึงอาจสร้างปัญหาสุขภาพระยะยาวให้เราได้โดยที่เราไม่รู้มากก่อน รวมถึงไม่มีใครรู้มาก่อน เพราะเราทุกคนเป็นตัวทดลองอยู่นี่แหละ
รู้จัก Blue Light Hazard
จอ LED อันแสนวิเศษ มีอยู่ทั่วไปทุกหนแห่งในชีวิตประจำวันของเรา ไม่ว่าจะเป็นจอคอมพ์ จอมือถือ หรือจอโฆษณาตามสถานที่ต่างๆ ได้รับการทดลองและวิจัยอย่างต่อเนื่องออกมาถึงผลเสียถาวรที่จะมีต่อสุขภาพ สำหรับเรื่องแสงสีฟ้านี้ มีการทดลองและบันทึกค่ามาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้วว่า "แสงสีฟ้าจะทำให้จอประสาทตาเสื่อมสภาพ" และยังคงศึกษาถกเถียงกันต่อไป
พูดง่ายๆ การที่เรามองจอต่างๆเหล่านี้ ก็เป็นการทำลายการมองเห็นลงไปเรื่อยๆโดยที่เราไม่รู้ตัวเลย
แสงสีฟ้าเป็นแสงในกลุ่มพลังงานสูง HEV (High Energy Visible) ซึ่งเป็นกลุ่มแสงที่อยู่ถัดจากกลุ่มแสง UV ซึ่งกลุ่มแสง HEV ในช่วงคลื่นหนึ่งเป็นตัวทำลายการมองเห็น ก่อให้เกิดปัญหาจอประสาทตาเสื่อม (Macular Degeneration) ได้
โดยแสงสีฟ้าแบ่งเป็นสองชนิดคือ Blue-Turquoise (Good Blue Light) และ Blue-Violet (Bad Blue Light) กลุ่มแรกจะเป็นแสงสีฟ้าที่มีประโยชน์ ส่วนกลุ่มหลังเป็นแสงสีฟ้าที่เกิดโทษ
ในแสงกลุ่ม Blue-Violet มีงานวิจัยออกมาว่ามันจะพุ่งทะลวงเข้าสู่จอประสาทตาและการที่มันมีพลังงานสูงนี้เอง ก็จะทำให้จอประสาทตาเสื่อมลงได้ อาจจะไม่ทันที แต่ค่อยเป็นค่อยไป
อย่างไรก็ดี ดวงตาเรามีกลไกในการป้องกันแสงสีฟ้าอยู่แล้วระดับหนึ่ง ทั้งตัวเลนส์และเม็ดสีหลังดวงตา แต่กลไกนี้จะมีอยู่เฉพาะตอนกลางวันและมีหมดกำลังป้องกันได้ถ้าเจอแสงสีฟ้ามากๆเข้า ซึ่งก็คงไม่มีปัญหาอะไรถ้าเป็นแต่ก่อน เพราะแต่ก่อนคนเราอยู่กับธรรมชาติ แต่ทุกวันนี้คนเราวันๆก็เอาแต่เล่นคอมพ์ ก้มหน้าก้มตากดมือถือ ทุกอย่างมันเปลี่ยนไปหมดแล้ว
ถึงแม้ Light Source ที่เราเจอในชีวิตประจำวัน จะมีความเข้มไม่รุนแรงพอจะทำลายตาเราได้ทันที (ยกเว้นพระอาทิตย์) แต่การใช้งาน "สะสม" จะทำให้เกิดปัญหาในระยะยาวได้ นี่คือปัญหาของแสงสีฟ้าครับ ไม่ได้เกิดทันที แต่เกิดเรื่อยๆโดยที่เราไม่รู้ตัว พอรู้ตัวอีกทีก็แย่แล้ว
เป็นสิ่งที่คนยุคเราควรต้องตื่นตัวเพราะมันเป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเราจริงๆ ถ้าคิดจะใช้มือถือหรือคอมพ์ต่อไป ก็ควรจะศึกษาเรื่อง Blue Light Hazard ไว้ด้วยครับ กว่าจะเห็นผลกระทบอาจจะเป็นสิบปี ถึงตอนนั้นเราอาจจะมานั่งเสียใจ มาป้องกันกันตั้งแต่ตอนนี้ดีกว่า
วิธีป้องกัน
ฟิล์มกันรอยป้องกันแสงสีฟ้าก็คงจะเป็นหนทางหนึ่ง แต่บอกตามตรงว่าไม่รู้เลยว่ามันป้องกันได้ดีแค่ไหน ข้อมูลทั้งหมดที่มีมันก็มาจากโฆษณาทั้งนั้นอ่ะ
สำหรับจอมือถือก็คงต้องแปะฟิล์มกันไป (แล้วจอจะสีเพี้ยนมั้ยก็ต้องไปลองดูกัน) ส่วนจอคอมพ์นี่ เราเชื่อว่าโปรแกรมเมอร์น่าจะมองจอคอมพ์นานกว่าจอมือถือ ก็หาฟิลเตอร์ป้องกันแสงสีฟ้ามาแปะจอหน่อยก็ดี ไม่ก็ซื้อแว่นที่สามารถฟิลเตอร์แสงสีฟ้ามีโทษออกไปได้
และถ้าออกไปในที่แสงจ้าๆ อย่าลืมใส่แว่นกันแดดที่ผ่านมาตรฐาน กรองแสง UV อะไรพวกนี้ด้วย เพราะแสงจ้าๆก็ทำให้จอประสาทตาเสื่อมได้เหมือนกันครับ (UV ทำลายตาส่วนหน้า แถวกระจกตา ส่วน Blue-Violet ทำลายจอประสาทตา)
ส่วนงานวิจัยก็มีบอกเรื่องของกลางวันและกลางคืนด้วย อ่านบทสรุปในหลายๆเปเปอร์เค้าก็บอกว่าให้หลีกเลี่ยงแสงสีฟ้าในตอนกลางคืน ไฟในห้องก็ให้เป็นไฟส้มอะไรไปจะดีกว่าไฟสีฟ้าครับ
สำหรับโปรแกรมเมอร์ที่ชอบทำงานตอนกลางคืน จงไปหาแว่นที่บล็อคแสงสีฟ้ามาใส่ทำงาน เอาที่มันได้มาตรฐานนะครับ ไม่งั้นเสียเงินไปเปล่าประโยชน์แน่ๆ
และสำหรับคนทั่วไป ... เลิกใช้มือถือก่อนนอนได้แล้วนะจ๊ะะะ
แสงฟ้าก็มีประโยชน์
ชีวิตคนผ่านวิวัฒนาการมากี่ช่วงอายุคนมาแล้ว ยังไงก็ตาม ตาเราต้องมีกลไกป้องกันอะไรที่มันพอเหมาะพอควรอยู่แล้ว และการที่เรายังมองเห็นแสงสีฟ้าอยู่ ก็คงมีเหตุผลของมัน (เรื่องสีคืออย่างหนึ่งหละ)
แสงสีฟ้าก็ไม่ใช่มีแต่โทษซะเสมอไป นอกจากมันทำให้เรามองเห็นสีได้ครบแล้ว แสงสีฟ้ากลุ่ม Blue-Turquoise และยังทำให้เราตื่นตัวในตอนเช้าและ Alert ในตอนกลางวันอีกด้วย และช่วยตั้งนาฬิกาชีวิตอีกด้วย
แต่คำเตือนทั้งหลายเรื่องแสงสีฟ้ามันเกิดจากการที่ช่วงชีวิตที่แล้วของมนุษย์ ยังไม่มีจอมือถือหรือจอคอมพ์แบบนี้ให้ใช้กันอย่างแพร่หลายเลย วิวัฒนาการมนุษย์คงยังรับมือไม่ทันหรอก ประโยคนึงที่อ่านแล้ว Convince มากเลยคือ
Eyes are not designed to look directly at light -- they are designed to see with light
ซึ่งก็เออ จริงๆแฮะ ทุกวันนี้เรามองไปที่แหล่งกำเนิดแสงตลอดเวลาเลยนี่หว่า ชีวิตคนเรา แต่ก่อนไม่ใช่แบบนี้
แต่โลกมันก็หมุนมาทางนี้แล้วอ่ะโนะ ปัญหาคงเป็นเรื่องของ "ความพอดี" มากกว่า ใช้แต่พอดีนะและรู้จักป้องกัน ทะนุถนอมดวงตาอยู่เสมอนะครับ สำคัญสุด
ศึกษากันต่อไป
อย่างที่บอก เรื่องนี้เพิ่งมีการศึกษามายังไม่ถึงชั่วอายุคนเลย ยังบอกอะไรทั้งหมดไม่ได้ บางทีก็มีงานวิจัยโต้แย้งออกมา เรื่องทั้งหมดที่อ่านวันนี้อาจจะเป็นเท็จไปเลยก็ได้
ยังไงก็ตาม อย่าลืมถนอมสายตาตัวเองเสมอครับ การจ้องจอคอมพ์นานๆ ถึงจะไม่มีงานวิจัยมาสนับสนุน มันก็ไม่ดีอยู่แล้ว ที่จะต้องเพ่งมอง Light Source อยู่ตลอดเวลา ถ้าทำงานกับคอมพ์ก็รู้จักพักสายตากันบ้างเรื่อยๆ ถ้าต้องทำงานกลางแจ้ง ลงทุนกับแว่นกันแดดดีๆเพื่อการมองเห็นจนวันสุดท้ายของชีวิตดีกว่าครับ =)
Reference:
- The Effects of Blue Light on Ocular Health
- Opening Our Eyes to dangers of blue light
- Artificial Lighting and the Blue Light Hazard
- The Lowdown on Blue Light: Good vs. Bad, and Its Connection to AMD