""โอกาส" ก็สำคัญพอกับ "อากาศ" นั่นแหละ"
รีวิวเปรียบเทียบการโอนเงินกลับไทยจากเมกาผ่าน Transferwise และ Western Union
24 Apr 2020 14:24   [49572 views]

หลังจากที่ผ่านมาใช้ Transferwise โอนเงินกลับไทยมาตลอดเพราะเรตดี วันนี้อยากลองให้โอกาสตัวเลือกอื่น ๆ บ้าง นี่ก็เลยลอง Remitly, Xoom และ Western Union

เบื้องต้นเรตของ Remitly และ Xoom เลวร้ายกว่า Transferwise มาก แค่เทียบดูก็ลบแอป ฯ ทิ้งทันที แต่ตัวที่น่าสนใจและไม่เคยคิดมาก่อนว่าเรตจะดีขนาดนี้แล้วคือ Western Union เพราะเรตดีขนาดต้องไปเช็คซ้ำเลยว่ามันได้เท่านี้จริง ๆ หรอ !

ก็เลยตัดสินใจโอนเงินกลับไทยทันทีเพื่อทดสอบ โดยอยากรู้ว่าจะโดนหักอะไรอีกมั้ยตอนถึงไทยแล้ว ใช้เวลาเท่าไหร่ ฯลฯ และเพื่อความแฟร์ เราเลยขอโอนทั้ง Transferwise และ Western Union พร้อมกันเลยในวันเดียวกันด้วยจำนวนเงินเท่ากัน แล้วมาดูกันว่าผลเทียบกันจะออกมาเป็นยังไง !

ค่าธรรมเนียมการโอนและเรตสกุลเงิน

เริ่มต้นจากเรตและค่าธรรมเนียมก่อนเลย โดนเราจะลองโอนเงินจำนวน $10,000 กลับไทยดู โดยวันนี้อัตราการแลกเปลี่ยนสากลของสกุลเงินสหรัฐ ฯ - ไทย อยู่ที่ 32.52 บาทต่อ 1 USD และนี่คือภาพเงินที่เราจะได้จากการโอนเงิน $10,000 ผ่านทั้งสองแอป ฯ ครับ

ก็จะเห็นว่าของ Transferwise ได้เรตเดียวกับอัตราแลกเปลี่ยนสากลเลยคือ 32.52 บาทต่อ 1 USD แต่จะมีค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 102.44 USD (ซึ่งค่าธรรมเนียมจะมีเปลี่ยนตามอัตราแลกเปลี่ยนด้วย แต่จะอยู่ที่ประมาณ 1% มีบวกลบนิดหน่อย) โดยค่าธรรมเนียมจะถูก "หักออก" จากยอด 10,000 USD ที่เราจะโอน ทำให้สุดท้ายเงินจะถึงเรา 9897.56 USD หรือ 321,868.65 บาท

ซึ่งขอโน้ตไว้ว่าของ Transferwise ไม่ว่าคุณจะโอนเท่าไหร่ เรตก็จะคงที่ไม่มีเพิ่มหรือลด แค่จะมีค่าธรรมเนียมถูกหักไป

ส่วนของ Western Union มีให้เลือกหลายแบบมาก ถ้าต้องทำธุรกรรมกับสาขา ไม่ว่าจะเป็นตอนส่งหรือตอนรับ อัตราแลกเปลี่ยนจะเลวร้ายมากกกก ที่ประมาณ 29.73 บาทต่อ 1 USD เราจะไม่เอาทางเลือกนั้น แต่จะใช้ "การจ่ายเงินผ่านออนไลน์และโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารตรง" แทน ซึ่งบริการนี้เปิดมาไม่นานเพื่อไฝว้กับพวก Transferwise โดยเฉพาะนี่แหละ

สำหรับการจ่ายเงินผ่านออนไลน์และโอนเข้าบัญชีธนาคารตรงอัตราแลกเปลี่ยนจะใกล้เคียงอัตราแลกเปลี่ยนสากลแต่จะต่ำลงมาหน่อย อยู่ที่ 32.4352 บาทต่อ 1 USD อย่างไรก็ตาม เรตนี้จะเปลี่ยนตามจำนวนเงินที่โอนด้วย ถ้าโอนน้อยกว่า $6000 ก็จะเรตนึง ถ้ามากกว่าก็จะอีกเรตนึง แบบนี้

โอนน้อยก็จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น 0.37% ก็ต้องเอาตัวเลขตรงนี้มาเทียบกันด้วยตามแต่ละ Transaction

ส่วนค่าธรรมเนียมจะมีให้เลือก 3 แบบคือ

- เชื่อมกับธนาคารตรง ไม่มีค่าธรรมเนียม ใช้เวลา 0-6 วันทำการ

- ชำระผ่านบัตรเดบิต ค่าธรรมเนียม $2.99 ใช้เวลา 1-2 วันทำการ

- ชำระผ่านบัตรเครดิต เสียค่าธรรมเนียม $129.99 ใช้เวลา 1-2 วันทำการ

โดยค่าธรรมเนียมจะเป็นการ "เก็บเพิ่ม" จากยอดเงินที่จะโอน เช่นถ้าเลือกจ่ายผ่านบัตรเดบิตก็จะต้องเสีย $10,002.99 แทน

ทางเลือกที่ดูจะดีที่สุดคือจ่ายผ่านบัตรเดบิตเพราะเสียค่าธรรมเนียมแค่ $2.99 (ร้อยบาท) แต่เร็วมาก แค่ 1-2 วันก็เข้าระบบของ Western Union แล้ว แต่ไม่ได้แปลว่าจะได้เงินที่ไทยใน 1-2 วันนะ นี่เป็นแค่การโอนเงิน USD เข้า Western Union แต่ทาง WU จะต้องใช้เวลาอีกสักพักในการโอนเข้าไทยให้เรา

แต่ด้วยความงก ... ไม่สิ แค่อยากลอง เลยลองโอนด้วยการเชื่อมกับธนาคารโดยตรงซึ่งไม่เสียค่าธรรมเนียม แล้วมาดูกันว่าจะใช้เวลานานแค่ไหนกว่าจะถึงไทย

สุดท้ายเงิน $10000 ที่โอนผ่าน Western Union ทางแอป ฯ ขึ้นว่าเราจะได้รับเงินไทยที่ 324,352.38 บาท ซึ่งเยอะกว่า Transferwise ถึง 2,500 บาท !! (เยอะนะ) เดี๋ยวมาดูกันว่าตอนถึงไทยจะได้เต็มจำนวนมั้ยหรือมีอะไรโดนหักไปรึเปล่า

ขั้นตอนด้านหลังของการโอนเงิน

ทั้ง Transferwise และ Western Union ประกอบด้วยสองขั้นตอนด้วยกัน คือ

1) โอนเงินจากบัญชีเราเข้าระบบ Transferwise หรือ Western Union

2) ทาง Transferwise หรือ Western Union แปลงค่าเงิน หักค่าธรรมเนียม และโอนเงินบาทให้เรา

ซึ่งทั้งสองขั้นตอนต้องใช้เวลาครับ

การยืนยันการโอนเงิน

ทาง Western Union จะมีการรอยืนยันการโอนเงินโดยใช้เวลาประมาณ 30 นาที ไม่แน่ใจว่าใช้ระบบอัตโนมัติหรือคนทำ แต่ก็ประมาณ 30 นาทีจริง ๆ ซึ่งระหว่าง 30 นาทีนั้นเราจะยังสามารถยกเลิกการโอนได้อยู่ แต่ถ้าได้รับการยืนยันแล้วจะยกเลิกไม่ได้ละ

ส่วนทาง Transferwise ถ้ายอดเงินไม่เยอะก็จะโอนได้เลยไม่มีปัญหา แต่ถ้ายอดเงินเริ่มเยอะ อย่างเช่นเราโอน $10,000 นี่ก็จะโดนให้ยืนยันตัวตนโดยใช้ Passport ซึ่งเราก็ไม่มีปัญหาอะไร ทำไปเรียบร้อย (จริง ๆ การโอนเงินจำนวนเยอะ ๆ ไม่ค่อยดีเพราะจะถูกจับตา แต่นี่ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจเพราะเงินได้มาอย่างถูกต้อง ก็เลยลองดู)

เรื่องการยกเลิก Transferwise จะสามารถยกเลิกได้ตลอดเวลาถ้าเงินยังไม่ถูกโอนเข้า Transferwise ครับ ซึ่งความเร็วก็แล้วแต่วันที่เราทำธุรกรรมเลย เร็วสุดที่เคยเจอนี่คือสามชั่วโมงแล้วอีกไม่กี่นาทีต่อมาก็เข้าบัญชีที่ไทยเลย แต่นานสุด 4-5 วันก็มีโดยเฉพาะถ้าทำธุรกรรมวันศุกร์ตอนเย็น

เวลาประมาณการได้รับเงิน

หลังจากเราสั่งโอนเงินแล้ว ทางระบบก็จะแจ้งมาบอกว่าเราจะได้รับเงินประมาณเมื่อไหร่

สำหรับ Transaction ที่เราทดลองทำในบล็อกนี้ (ทำวันที่ 17 เมษายน) ปรากฎว่า

- Transferwise บอกเงินจะถึงภายในวันที่ 21 เมษายน

- Western Union บอกเงินจะถีงภายในวันที่ 29 เมษายน

ต่างกันเยอะเหมือนกัน เดี๋ยวมาลองดูว่าเอาเข้าจริงเงินจะถึงไทยวันไหนทั้งสองเจ้า

เวลาจริงที่เงินเริ่มถูกโอนเข้าระบบ

สำหรับ Western Union จะเกิด Transaction โอนเงินออกไปยัง Western Union ทันทีหลังจากได้รับการยืนยันการโอนแล้ว ก็คือ 30 นาทีหลังเริ่มสั่งโอน แต่ก็ต้องใช้เวลา Process สักพักนึง (ที่เมกาการโอนเงินจะใช้เวลา ไม่ใช่โอนแล้วได้ทันที) ซึ่งเวลาที่ Process ก็ประมาณ 2 วัน

ส่วน Transferwise นี่แล้วแต่วันและยอดเงิน เคยเร็วสุดคือ 4 ชั่วโมงเข้าระบบเลย แต่ที่นานสุดที่เคยเจออย่างเช่นการโอนครั้งนี้ก็ใช้เวลาถึง 2 วันครึ่ง (โอนวันศุกร์บ่าย เงินเข้าระบบตีสองของเช้าวันจันทร์)

สำหรับการทดลองโอนรอบนี้ Transferwise เงินจะเข้าระบบช้ากว่า Western Union ประมาณครึ่งวันครับ

วันที่เงินเข้าบัญชีที่ไทย

การโอนทั้งสอง Transactions ที่เราทดลองในบล็อกนี้เริ่มต้นพร้อมกันคือวันศุกร์ แต่ Western Union เราเริ่มโอนก่อนโดยเริ่มทำตอนเที่ยง ๆ ส่วน Transferwise เราทำ 6 ชั่วโมงถัดไปซึ่งก็คือตอนเย็น

โดยอย่างที่บอกหัวข้อด้านบน เงินเข้าระบบ Transferwise ช้ากว่า Wester Union ราวครึ่งวัน ที่เหลือก็คือรอว่าเงินจะเข้าบัญชีที่ไทยเมื่อไหร่

... รอ รอ รอ รอ รอ ...

ตือดึ๋งงงง เสียงแอป ฯ KPLUS เด้งขึ้นมาว่ายอดเงินเข้า ปรากฎว่าผู้ชนะคือ Transferwise จ้า โดยเงินเข้าประมาณ 5 ทุ่มครึ่งของวันจันทร์ ก็คือวันเดียวกับที่ได้รับแจ้งว่าเงินเข้าระบบ Transferwise นั่นเอง ซึ่งครั้งนี้ถือว่าค่อนข้างช้านะเพราะใช้เวลาตั้ง 21 ชั่วโมงหลังได้รับแจ้งว่า Transferwise ได้รับเงินแล้ว ปกติจะใช้แค่ 2-3 ชั่วโมงเท่านั้นเอง แต่อาจจะเพราะรอบนี้โอนเยอะกว่าปกติ

รวมแล้ว Transferwise ใช้เวลาโอนทั้งสิ้น 3 วัน 6 ชั่วโมง

สำหรับ Western Union นี่คือรอจนลืมเลยเพราะกว่าเงินจะเข้าก็โน่น ห้าทุ่มครึ่งของวันพฤหัส นานกว่ามาก รวมแล้ว Wester Union ใช้เวลาโอนทั้งสิ้น 6 วัน 12 ชั่วโมง

Western Union นานกว่า Transferwise อย่างเห็นได้ชัดเลย คราวนี้ต้องมาวัดกันที่เรตละ !

จำนวนเงินที่เข้าบัญชีที่ไทย

ปรากฎว่า ทั้งสองเจ้าเงินที่เข้าเท่ากับที่ระบุไว้ตอนเริ่มส่ง ไม่มีการหักอะไรเพิ่มหลังจากนั้น

สรุปอีกครั้ง

Transferwise โอน $10,000 ได้ 321,868.65 บาท เสียค่าธรรมเนียมไปทั้งหมด 3,331.35 บาท

ในขณะที่ Western Union ได้รับ 324,352.38 บาท เสียค่าธรรมเนียมไป 847.62 บาท

ส่วนต่างของทั้งสองเจ้าสูงถึง 2,500 บาท หรือคิดเป็น 0.77% เลยทีเดียว

ทั้งนี้ ส่วนต่างก็จะต่างกันไปตามยอดเงินที่โอนด้วย เพราะอย่างที่บอก ถ้าโอน Western Union น้อยกว่า $6,000 จะได้อีกเรตนึง

สรุป

เนื่องจากมีหลายตัวแปรพอสมควร เลยขอสรุปแบบนี้

- ถ้าโอนแบบค่าใช้จ่ายต่ำสุด: Transferwise จะเงินถึงไทยเร็วกว่าอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่ Western Union ได้รับช้ากว่าอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน

- ถ้าโอนแบบค่าใช้จ่ายสูงขึ้น (WU): Western Union จะถึงเร็วขึ้นเล็กน้อย แต่ก็ยังช้ากว่า Transferwise อยู่ดี

- ถ้าโอนยอดเงินน้อย (ต่ำกว่า $2,000): ทั้งสองเจ้ายอดแทบไม่ต่างกัน โอน Transferwise ได้เลย เร็วกว่า

- ถ้าโอนยอดเงินเยอะ (สูงกว่า $2,000): Western Union จะได้เงินไทยเยอะกว่ามาก ๆ ๆ ๆ ๆ อย่างที่เห็นในตัวอย่างนี้ Western Union ได้เยอะกว่าตั้ง 0.77% ซึ่งตีเป็นเงินก็ตั้ง 2,500 บาท ส่วน Transferwise นี่คือดูง่อยไปเลย ถ้าไม่รีบก็โอนด้วย WU เลยครับ คุ้มกว่า แต่ถ้ารีบก็ใช้ TW ได้

ดังนั้นสามารถใช้ได้ทั้งคู่ครับโดยมีตัวแปรที่ต้องพิจารณาคือ "รีบแค่ไหน" และ "ยอดเงินเท่าไหร่" คิดไม่ยาก คิดไว้เลยว่า

- ถ้ารีบหรือยอดเงินน้อย --> ใช้ Transferwise ไป

- ถ้าไม่รีบและยอดเงินสูง --> ใช้ Western Union ครับ

จบ เย่ !

บทความที่เกี่ยวข้อง

Jun 9, 2019, 10:30
78185 views
คู่มือการย้ายมาอยู่สหรัฐอเมริกา ตอนที่ 1: เรื่องของ "วีซ่า"
Apr 9, 2020, 20:12
59670 views
สัมภาษณ์ทีมพัฒนาแอป "หมอชนะ" บันทึกการเดินทาง วิเคราะห์ความเสี่ยง COVID-19 ให้โดยอัตโนมัติ
0 Comment(s)
Loading