เป็นอีกรอบที่ได้มางานเปิดตัวมือถือซัมซุงในต่างประเทศ ซึ่งรอบนี้เดินทางไกลมาก ... ซานฟรานซิสโก !! นั่งรถไฟฟ้าไป 30 นาทีถึง เดินทางเหนื่อยเลย ฮ่า ๆ ๆ
ซึ่งงานเปิดตัวมือถือรอบนี้มีความน่าตื่นเต้นตรงที่ถือเป็นการเปิดทศวรรษใหม่ของมือถือซัมซุง มาพร้อมกับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หลายอย่าง รวมถึงมือถือตระกูลใหม่ที่พอจะทำให้เดาอนาคตได้เลยว่ามือถือใน 3-4 ปีข้างหน้าจะเป็นยังไง
งานนี้มีโปรดักส์อยู่ 3 เซตที่เปิดตัวได้แก่ มือถือกลุ่ม S20 สามรุ่น มือถือ Z Flip และ หูฟัง Galaxy Bud+ แต่เนื่องจากเนื้อหาเยอะก็เลยขอแยกบล็อกกันละกันนะ โดยบล็อกนี้ขอโฟกัสไปที่ตัวหลักอย่าง S20 ทั้งสามรุ่นก่อนเลย
งั้นเริ่มเลยนะ !
เปิดตัว 3 รุ่น เน้นไปทาง High ทั้งหมด
นี่ถือเป็นครั้งที่สองในตระกูล Galaxy S ที่เปิดตัวทีเดียวสามรุ่นรวด โดยครั้งก่อนคือตอน S10 ที่เปิด S10e, S10 และ S10+ พร้อมกัน
แต่ถึงแม้รอบนี้จะเปิดสามตัวเหมือนกัน รวมถึงมีตัวยืนพื้นอย่าง S20 และ S20+ เหมือนกัน แต่รุ่นที่งอกเพิ่มออกมานั้นต่างกันเพราะไม่ใช่รุ่น e (Essential) ซึ่งสเปคต่ำแล้ว แต่กลับเป็นรุ่นที่หรูหราฟู่ฟ่าพุ่งแซงตัว S20+ ไปซะอีก นามว่า S20 Ultra นั่นเองงง ซึ่งจะมีอะไรแตกต่างกันบ้างในแต่ละรุ่นเดี๋ยวเราจะมาเหลาให้ฟังในหัวข้อถัด ๆ ไป
ชื่อรุ่นกระโดดจาก 10 ไป 20 เพื่อรับทศวรรษใหม่ 2020
อีกหนึ่งเทรนด์ของปีสองปีที่ผ่านมาคือ "การเริ่มนับเลขรุ่นใหม่" อย่าง Samsung Galaxy S รุ่นล่าสุดนี้ก็กระโดดจาก S10 เป็น S20 ไปเลย
ถามว่าเหตุผลเบื้องหลังคืออะไร หลายคนอาจจะบอกว่าเพราะอยากแซงคู่แข่งอะไรงี้ แต่จริง ๆ แล้วสาเหตุหลัก ๆ เพราะคือ
มันเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ทศวรรษใหม่
ในแง่ของ Marketing แบรนด์ต่าง ๆ ก็ล้วนอยากจะสื่อให้เห็นชัดเจนว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากนี้นะ และนี่คือจุดเริ่มต้นนะ ทุกคนเตรียมตัวไว้ให้ดี อะไรงี้ แน่นอนว่าซัมซุงก็ด้วย
สำหรับ Samsung ก็ถือโอกาสที่ปีนี้เป็นปี 2020 พอดี เลยขอขยับเลขจาก 10 เป็น 20 ไป และจากนี้ทุกรุ่นที่ออกก็จะตรงเลขปีพอดี ! ซึ่งถือว่าฉลาดดีนะ การจะรู้ว่ารุ่นนี้ออกมากี่ปีแล้วก็จะง่ายขึ้นไปอีก และก็แน่นอนว่ามันไม่ใช่แค่การขยับเลขเล่น
ส่วน Note ที่(น่าจะ)เปิดตัวปลายปีก็เดาไว้ล่วงหน้าได้เลยว่ามันคือ Note 20 แหงม ๆ
สเปคของแต่ละรุ่นในตระกูล S20
ก็เริ่มมาดูสเปคของแต่ละรุ่นกันเลยละกันนะ
อย่างที่บอกข้างต้น มันมีทั้งหมดสามรุ่นด้วยกันได้แก่ S20, S20+ และ S20 Ultra เรียงลำดับตามความหรูหราอลังการ แต่ละรุ่นส่วนใหญ่มีอะไรค่อนข้างเหมือนกัน แต่ก็มีบางอย่างที่แตกต่างกันไปอยู่ เพื่อให้เทียบกันได้ง่าย งั้นพามาดูกันตามตารางนี้เลย
ที่ต่างกันหลัก ๆ อย่างแรกแน่นอนคือขนาดเครื่องและหน้าจอ โดย S20, S20+ และ S20 Ultra จะมาพร้อมจอขนาด 6.2", 6.7" และ 6.9" ตามลำดับ แต่ความละเอียดจอเท่ากันนะ !
ตัว S20 และ S20+ จะมีทั้งรุ่น 4G และ 5G (แต่ตัวที่เข้าไทยเป็น 4G) ในขณะที่ S20 Ultra จะมีแค่รุ่น 5G เท่านั้น
ทางด้านแบตเตอรี่ก็จัดมาอย่างเหลือ ๆ เริ่มต้นที่ 4,000 mAh และก็เติบโตเป็น 4,500 mAh และ 5,000 mAh ตามลำดับ
ระบบกล้องหลังของรุ่น Ultra และอีกสองรุ่นนั้นต่างกันคนละเรื่องประหนึ่งเป็นคนละตระกูลกันเลยก็ว่าได้ เพราะกล้องหลักของ S20 Ultra เป็นเซนเซอร์ขนาด 108 ล้านพิกเซล ในขณะที่ S20 และ S20+ เป็นขนาด 12 ล้านพิกเซลมาตรฐาน ขนาดของแต่ละพิกเซลก็ต่างกัน ของ S20 Ultra ขนาดพิกเซลละ 0.8 ไมโครเมตร ส่วนอีกสองรุ่น 1.8 ไมโครเมตร ซึ่งเลขตรงนี้สำคัญกับเรื่องคุณภาพของภาพพอสมควร (ใครเล่นกล้องอยู่แล้วน่าจะรู้)
นอกจากกล้องหลักที่ต่างกันแล้ว กล้องรองก็ต่างกันอีกด้วย ทั้งมุมทั้งขนาดเซนเซอร์ ก็ตามสเปคที่เห็นในตารางเลย ส่วนสาเหตุว่าทำไมถึงต้องทำแบบนั้นเดี๋ยวเราจะพาเจาะลึกลงไปอีกในหัวข้อ "สเปคกล้อง" อีกที (มันมีเหตุผลของมัน)
สุดท้ายที่ต่างกันคือ ToF Sensor ที่รุ่นเล็กสุดอย่าง S20 จะไม่มีมาด้วย ในขณะที่อีกสองรุ่นมีเหมือนเดิมจ้า ดังนั้นด้านมิติของรูปในโหมด Live Focus กล้องของสองรุ่นบนก็จะดีกว่า
สเปคก็ต่างกันคร่าว ๆ ตามนี้ ราคาต่างกันเยอะขนาดนี้จะให้เหมือนกันหมดคงไม่ได้อ่ะเนอะ ส่วนรายละเอียดเพิ่มเติมเดี๋ยวอ่านต่อกันได้เลย !
พาดูตัวเครื่อง
เริ่มต้นจากพาดูหน้าตาภายนอกรอบ ๆ ก่อน เริ่มด้วย Samsung Galaxy S20
ตัวเครื่องถือว่าขนาดกำลังเหมาะมือ ไม่ใหญ่ไม่เล็กจนเกินไป ความโค้งของตัวเครื่องก็ทำมาได้สวยและสมส่วนกับขนาดเครื่องมาก
ต่อไปพาดูรอบ ๆ เครื่องเลยละกันนะ
ต่อมาก็เป็น S20+ ครับ ตัวเครื่องใหญ่ขึ้นมาหน่อย แต่สำหรับมือผู้ชายก็น่าจะยังถือได้เหมาะมืออยู่
รอบ ๆ เครื่องก็เหมือน S20 ตัวน้อยไม่มีผิด
สุดท้ายมาที่ S20 Ultra ครับ
ตัวเครื่องหน้าตาคล้ายกันแต่ก็ใหญ่กว่า S20+ ขึ้นมาอีก รวมถึงหนักและหนาขึ้นอย่างรู้สึกได้อีกด้วย รอบ ๆ เครื่องโดยรวมเหมือนกันยกเว้นส่วนของกล้องที่แตกต่างจากสองรุ่นที่เหลือ
ตัว S20 Ultra นี่หยิบขึ้นมาให้ความรู้สึกเหมือนหยิบกล้องเลย มันดูอลังมาก !
ตัวเครื่องทนทานด้วย Gorilla Glass 6
S20 เป็นรุ่นแรกที่เอา Gorilla Glass 6 ซึ่งแข็งแรงกว่า Gorilla Glass 5 ถึงสองเท่ามาใช้กับตัวเครื่องทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ทำให้แข็งแรงขึ้นมาก โดยตามสเปคคือแข็งแรงกว่า Gorilla Glass 5 ที่ใช้ใน S10 ถึงสองเท่าเต็ม ๆ มีคนทดลองว่าตกระยะ 1 เมตรได้ถึง 15 ครั้งต่อกันถึงจะแตก เรียกว่าทนมาก ๆ
ส่วนการใช้งานจริงจะทนแค่ไหนเราก็ยังบอกไม่ได้เพราะยังไม่ได้ลอง ครั้นจะลองทำตกในงานก็กลัวโดนปรับ ... แฮ่
จุดขายหลักของ S20 คือ "กล้อง" เต็ม ๆ
จากผลการวิจัยที่ซัมซุงทำมาพบว่าเหตุผลใหญ่สุดที่ทำให้ผู้คนตัดสินใจซื้อมือถือใหม่คือคำสั้น ๆ ว่า
กล้อง
ทำให้ซัมซุงตัดสินใจมุ่งเน้นไปเรื่องกล้องอย่างเต็มที่ในรุ่นใหม่นี้ และด้วยการกระโดดของตัวเลขรุ่น พี่ซุงก็เลยจัดเต็มกับกล้องด้วยสิ่งที่ตัวเองไม่เคยทำมาก่อนเลยมากมายหลายหลาก รวมถึงเซนเซอร์กล้องที่ดีดพุ่งไป 108 ล้านพิกเซลเลยทีเดียว อีกทั้งฟีเจอร์เกือบทั้งหมดที่เน้นและทำมาเพิ่มก็จะเกี่ยวกับกล้องเสียส่วนใหญ่ เรียกได้ว่าจุดขายหลักของ S20 คือ "กล้อง" เลยหละ
ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจถ้าเนื้อหาในบล็อกนี้จะเป็นเรื่องกล้องกว่า 80% ก็พี่ซุงเค้าจัดมาแบบเน้ ~~~
ดีไซน์กล้อง
การจัดเรียงกล้องของ S20 ทั้งสามรุ่นยังคงแนวทางของ Note 10 คืออยู่ชิดฝั่งขวาของตัวเครื่องและเรียงกล้องจากบนลงล่าง ส่วนพวกอุปกรณ์อื่นทั้งหลายเช่น แฟลช, ToF Sensor และรูไมค์สำหรับทำ Audio Zoom ก็จะวางอยู่ข้าง ๆ กัน แต่รอบนี้ที่ต่างจาก Note 10 คือมีการตีกรอบล้อมรอบเป็นสี่เหลี่ยมครอบคลุมทั้งพื้นที่เลย
แน่นอนว่าส่วนนี้เลยมีความหนาออกมาพอสมควร เวลาวางกับพื้นก็จะไม่ราบเรียบลงไปกับตัวเครื่องอีกต่อไป แบบนี้
แต่ถามว่าเป็นปัญหามั้ย เป็นรอยง่ายรึเปล่า ตอบคือซัมซุงเค้าคิดมาแล้วก็เลยทำกระจกกันรอยไว้อย่างดีด้วย Gorilla Glass 6 เลยไม่ต้องกังวลว่ามันจะเป็นรอยได้ง่าย ๆ ครับ
สเปคกล้องหลังและหน้าที่ของกล้องแต่ละตัว
ระบบกล้องหลังของรุ่น Ultra และอีกสองรุ่นนั้นต่างกันคนละเรื่องประหนึ่งเป็นคนละตระกูลกันเลยก็ว่าได้ อย่าง S20 และ S20+ จะเหมือนกันยกเว้น DepthVision (ToF Sensor) ตามนี้
แต่ S20 Ultra กล้องหลักและกล้องรองจะต่างกับอีกสองตัวที่เหลือทั้งคู่
ก็จะเห็นว่ากล้องหลัก (กล้อง Wide-Angle) ของ S20 Ultra เป็นเซนเซอร์ขนาด 108 ล้านพิกเซล ในขณะที่ S20 และ S20+ เป็นขนาด 12 ล้านพิกเซลมาตรฐาน นอกจากเซนเซอร์จะมีจำนวนพิกเซลต่างกันแล้ว ขนาดของแต่ละพิกเซลก็ยังต่างกันด้วย ของ S20 Ultra ขนาดพิกเซลละ 0.8 ไมโครเมตร ส่วนอีกสองรุ่นอยู่ที่ 1.8 ไมโครเมตร ซึ่งเลขตรงนี้สำคัญกับเรื่องคุณภาพของภาพพอสมควร (ใครเล่นกล้องอยู่แล้วน่าจะรู้)
นอกจากกล้องหลักที่ต่างกันแล้ว กล้องรอง (Telephoto) ก็ต่างกันอีกด้วย อย่าง S20 และ S20+ กล้องรองถึงจะเรียกว่า Telephoto แต่จริง ๆ เป็นกล้อง Wide-Angle มุม 76 องศา เวลารับภาพจึงได้เป็นภาพกว้าง ๆ เหมือนกล้องหลักแหละ แค่ว่าเวลาถ่ายซูม x2 มันจะ Crop ภาพตรงกลางมาให้เพื่อทดแทนการซูม
และนี่เป็นเหตุผลว่าทำไมกล้องรองของ S20 และ S20+ ถึงทำมาที่ 64 ล้านพิกเซล ก็เพื่อให้เวลา Crop ภาพแล้วยังได้ภาพที่มีรายละเอียดคมชัดที่ 12 ล้านพิกเซลอยู่นั่นเอง
และเซนเซอร์ที่ทำมาก็คือเหลือ ๆ ด้วย ทำให้เราสามารถซูมเข้าไปได้ถึง 3 เท่าโดยยังไม่เสียรายละเอียดด้วยเหตุผลตรงนี้
ส่วน S20 Ultra จะเป็นกล้องที่มีเลนส์มุมมองแคบ 24 องศา ซึ่งแคบกว่าเลนส์ Telephoto ปกติ (ปกติเลนส์ต้อง 45 องศาเพื่อการซูมสองเท่า) ดังนั้นในช่วงการซูมแรก ๆ จะยังใช้กล้องหลักที่ทำเซนเซอร์มาเหลือ ๆ ถึง 108 ล้านพิกเซลอยู่ แต่หลังจากถึงระยะที่เซนเซอร์หลักคุณภาพไม่น่าพอใจแล้ว (3 เท่า) ตัวเครื่องก็จะสลับไปใช้กล้อง Telephoto แทน และจากการที่เซนเซอร์ทำมาเหลือ ๆ ถึง 48 ล้านพิกเซล ก็เลยทำให้เราซูมต่อเข้าไปได้อีกหน่อยนึง รวมแล้ว S20 Ultra เลยซูมได้ถึง 10 เท่าโดยไม่เสียรายละเอียดด้วยเทคนิคตรงนี้นั่นเอง
ที่อธิบายไปนี้คือสิ่งที่ซัมซุงเรียกว่า Optical Hybrid Zoom นั่นเอง คือไม่ได้ใช้เลนส์ในการซูม แต่ใช้เซนเซอร์ในการทำแทน
ย้อนกลับไปที่ S20 และ S20+ จะเห็นว่าเซนเซอร์ของกล้องหลักทำมาที่ 12 ล้านพิกเซล แต่ถ้าใครจำได้ ในงานเปิดตัวซัมซุงโฆษณาไว้ว่า S20 ทุกรุ่นสามารถถ่ายวีดีโอ 8K ได้ ซึ่งนั่งคำนวณแล้ว 8K มันละเอียดถึง 33 ล้านพิกเซล เอ๊ะ แล้ว S20 ถ่ายวีดีโอ 8K ได้ยังไง ?
อาจจะเดากันออกแล้ว
S20 และ S20+ ใช้กล้อง Telephoto ในการถ่าย 8K ครับ และนั่นเป็นอีกเหตุผลว่าทำไมถึงทำเป็นเลนส์ Wide และยัดเซนเซอร์มาถึง 64 ล้านพิกเซล
ในขณะที่ S20 Ultra จะใช้กล้องหลักในการถ่ายเพราะเซนเซอร์ทำมาพอนั่นเอง
สรุปแล้วก็จะเห็นว่าการถ่ายรูปและการถ่ายวีดีโอทุกอย่างของ S20/S20+ นั้นต่างกับ S20 Ultra เหมือนเป็นคนละตระกูลกันเลย และถามว่าอะไรดีกว่า ตามสเปคและเทคนิคเบื้องหลังคงตอบได้ไม่ยากว่า S20 Ultra แน่นอน โดยเฉพาะการถ่ายวีดีโอ 8K ตัว S20 Ultra จะใช้เทคนิคอะไรบางอย่างทำให้ถ่ายได้ภาพออกมาดีกว่าอย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้มันก็เป็นเรื่องตามสเปคอ่ะนะ การจะบอกได้จริง ๆ คงต้องรอเทสต์เครื่องขายจริงกันอีกทีนึง
กล้องหน้าก็คนละเรื่องกันเลยนะ
กล้องหน้าของ S20 Ultra นี่ก็พุ่งแซง S20 และ S20+ ไปแบบไม่เห็นฝุ่นเลย เพราะจัดเต็มมาที่ 40 ล้านพิกเซล ! ในขณะที่อีกสองรุ่นอยู่ที่ 10 ล้านพิกเซล
แต่ขนาดพิกเซลก็ต่างกันด้วยนะ ของ S20 Ultra จะเล็กหน่อยที่ 0.7 μm ในขณะที่ของสองรุ่นรองจะขนาด 1.22 μm หลังจากคำนวณแล้ว ขนาดเซนเซอร์กล้องหน้าของ S20 Ultra จะใหญ่กว่าสองรุ่นรองอยู่ 14% ก็ถือว่าใกล้ ๆ กันแหละ
โดยรวมถึงจะละเอียดกว่าจริงทั้งจำนวนพิกเซลและขนาดเซนเซอร์ แต่คงต้องดูที่ Software ว่าจะสามารถรวมข้อมูลจาก 4 พิกเซลจนเหลือ 1 แล้วลดจำนวนพิกเซลลงเหลือ 10 ล้านพิกเซลด้วยคุณภาพที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญได้มั้ย คงต้องรอดูรีวิวจริงอีกทีครับ
มาดูขนาดเซนเซอร์กันหน่อย
รายละเอียดกล้องรอบนี้ทำเอาปวดหัวเลยพูดจริง ๆ เพราะเทคนิคแพรวพราวสุด ๆ และมัน Geek มากกกก ต้องมานั่งนึกคำอธิบาย
สำหรับกล้อง S20/S20+ และ S20 Ultra นั้นเซนเซอร์ต่างกันเกือบทุกกล้อง จะมีที่เหมือนกันก็แค่กล้อง Ultra-Wide Angle ตัวเดียว ที่เหลือไม่เหมือนกันเลยยยย และสำหรับคนที่เล่นกล้องก็จะรู้ว่าขนาดเซนเซอร์นั้นมีผลต่อคุณภาพของภาพมาก ดังนั้นเราเลยขอมาเจาะเรื่องขนาดเซนเซอร์สักนิดหน่อย
กล้องหลัก
ตัว S20 และ S20+ จะมีขนาดพิกเซลอยู่ที่ 1.8 μm ซึ่งใหญ่ขึ้นกว่า S10 และ Note 10 ที่อยู่ที่ 1.4 μm มาก ดังนั้นคุณภาพภาพจึงคาดหวังได้ว่าจะดีขึ้นแน่นอน
ส่วนกล้องหลักของ S20 Ultra จะมีขนาดพิกเซลอยู่ที่ 0.8 μm ซึ่งไม่ต้องตกใจว่าทำไมถึงเล็กกว่า หากเราเลือกถ่ายที่ 108 ล้านพิกเซลเลย คุณภาพต่อพิกเซลก็อาจจะแย่กว่ากล้องของสองรุ่นรองแหละ แต่ชีวิตจริงใครเค้าถ่าย 108 ล้านพิกเซลกันนนน เราก็ถ่าย 12 ล้านพิกเซลแหละ และทางซัมซุงก็ทำเทคนิคที่เรียกว่า Nona Binning หรือการรวมเอาข้อมูล 9 พิกเซลมาประมวลผลให้เหลือ 1 พิกเซล ซึ่งถ้าคำนวณจาก 108 ล้านพิกเซลก็จะเหลือ 12 ล้านพิกเซลพอดี
และด้วยเทคนิคนี้ทำให้เราตีความได้ว่าพิกเซลจะมีขนาดถึง 2.4 μm เลยทีเดียวถ้าถ่ายด้วยความละเอียด 12 ล้านพิกเซล ! ซึ่งแน่นอนว่าจะทำให้ถ่ายในที่มืดได้ดีขึ้นอีกด้วยนั่นเองงง
กราบบบบ
ส่วนการถ่ายวีดีโอ 8K เนื่องจากความละเอียดมันอยู่ที่ 33 ล้านพิกเซล ดังนั้นจึงใช้ Nona Binning ไม่ได้ รวมถึง Tetra Binning (ใช้ 4 พิกเซล) ก็ไม่ได้ ตามเทคนิคแล้วคิดว่าน่าจะได้คุณภาพของพิกเซลที่ 0.8 μm ไปครับ ซึ่งก็จะเท่ากับของสองรุ่นรองเพราะอีกสองรุ่นจะใช้กล้อง Telephoto ในการถ่ายวีดีโอ 8K นั่นเอง
กล้อง Telephoto
สำหรับทั้งสามรุ่นถึงแม้เซนเซอร์จะมีจำนวนพิกเซลไม่เท่ากัน (ของสองรุ่นรองอยู่ที่ 64 ล้านพิกเซล ส่วน Ultra อยู่ที่ 48 ล้านพิกเซล) แต่ขนาดของพิกเซลนั้นเท่ากันทุกประการคือ 0.8 μm ดังนั้นในแง่คุณภาพก็น่าจะถือว่าทัดเทียมกัน คงเหลือแค่ว่าเลนส์จะสามารถจัดแสงมาเข้าเซนเซอร์ได้ดีแค่ไหน อันนี้ต้องรอรีวิวเครื่องจริงอีกทีครับ
ส่วนการถ่ายวีดีโอ 8K ก็อย่างที่ว่า สำหรับรุ่น S20 และ S20+ จะใช้กล้องตัวนี้ในการถ่าย ทำให้ได้คุณภาพพิกเซลออกมาที่ 0.8 μm นั่นเอง
จบ ... Geek ไปมั้ย
ซูมด้วย Folded Lens
อีกหนึ่งความพิเศษที่มีเฉพาะใน S20 Ultra คือ กล้อง Telephoto จะมาพร้อม Folded Lens ด้วย !
โดย Folded Lens คือเทคนิคการวาง Prism หักเหแสงเพื่อเพิ่มระยะทางระหว่างเลนส์กับเซนเซอร์รับภาพ ส่งผลให้มิติและคุณภาพของภาพออกมาดีขึ้นนั่นเอง
และด้วย Folded Lens นี้ทำให้ S20 Ultra สามารถซูมตั้งแต่ระยะ 4x ไปจนถึง 10x ได้โดยไม่เสียรายละเอียดเลย
สำหรับ S20 และ S20+ ไม่มี Folded Lens ตรงนี้เลยจะซูมแบบไม่เสียรายละเอียดได้แค่ 3x เท่านั้น
ความสามารถในการซูม
ตามสเปค S20 และ S20+ จะสามารถซูมโดยไม่เสียรายละเอียดได้ 3 เท่า ในขณะที่ S20 Ultra จะได้ถึง 10 เท่า อย่างไรก็ตามเรายังสามารถ Digital Zoom ต่อได้ถึง 30 เท่าสำหรับ S20 และ S20+ และได้ถึง 100 เท่าสำหรับ S20 Ultra
สำหรับการซูมนี่เรามีโอกาสได้ทดสอบนิดหน่อยแต่ไม่สามารถดึงภาพออกมาจากเครื่องเพื่อดูคุณภาพแบบละเอียด ๆ ได้ แต่ที่ดูด้วยตาสามารถบอกได้ว่า
S20 และ S20+ สามารถซูมแล้วภาพยังสวยอยู่ได้ที่ 10 เท่า ส่วน S20 Ultra จะได้ที่ 30 เท่า
ระยะซูมหลังจากนั้นคือใช้จริงไม่ได้ละ
อันนี้ลองเอา S20 Ultra ทำ Space Zoom ไปที่ 30 เท่าให้ดู พกพาน้อง Baby Yoda ไปเองเพื่อการณ์นี้เลยนะะะ ผลออกมาได้เป็นแบบนี้ !
ส่วนนี่เป็นของ S20/S20+
ซึ่งก็จะเห็นว่า 10x ยังถือว่าโอเคอยู่ และตอนที่ถ่ายเสร็จภาพก็จะคมชัดขึ้นอีกด้วยนะ
สำหรับคนที่ถามเรื่องประสิทธิภาพการซูมในแง่การใช้งานจริงก็ตามนี้คร้าบ
ความสามารถในการถ่ายวีดีโอ
สเปคการถ่ายวีดีโอของรุ่นนี้คือจัดเต็มมากเพราะเป็นรุ่นแรกที่ถ่ายวีดีโอ 8K ได้ แถมได้ที่ fps ใช้งานจริงด้วยคือ 24fps ! แต่ขนาดไฟล์ก็จะใหญ่หน่อยคือตกนาทีละ 600MB
สำหรับฟีเจอร์ถ่ายวีดีโอ 8K เราว่ามันอาจจะไม่ได้ใช้จริงเท่าไหร่นักหรอกเพราะจอที่เปิดไฟล์ 8K ได้มีอยู่กี่เครื่องในโลกกันเชียว แถมถ่ายได้แป๊บเดียวเครื่องก็เต็มแล้ว ดังนั้นในแง่ของวีดีโอที่ถ่ายออกมาน่าจะเป็นการนำเสนอความเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีมากกว่า
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เรารู้สึกว่าการถ่ายวีดีโอ 8K นั้นมีประโยชน์กลับเป็นฟีเจอร์ที่ต่อยอดไปอีกขึ้นที่เรียกว่า 8K Video Snap
มันคือการที่เราสามารถแคปเจอร์เฟรมภาพมาแล้วบันทึกเป็นไฟล์ภาพนิ่งได้เลยที่ 33MP และจากที่ลองคือคุณภาพออกมาดีด้วยนะ บางทีถ้าคิดไม่ออกว่าจะถ่ายรูปมุมไหนสวย การถ่ายวีดีโอ 8K แล้วค่อยมา Snap ทีหลังก็ถือเป็นเทคนิคที่น่าสนใจดี
นอกจาก 8K แล้ว S20 ทั้งสามรุ่นยังคงสามารถถ่ายวีดีโอ 4K ที่ 60fps ได้เหมือนรุ่นก่อน ๆ แต่ที่เพิ่มเติมขึ้นมาคือความสามารถในการซูม (แน่นอนหละ ความแข็งแกร่งของ S20 นี่นา) โดย S20 และ S20+ จะซูมได้ 12X ส่วน S20 Ultra จะซูมได้ 12X ครับ
อย่างไรก็ตาม การซูมการการถ่ายวีดีโอเป็นศัตรูกันโดยชาติกำเนิด ถ้าคิดจะซูมอย่าลืมพก Gimbal ไปด้วยนะคร้าบ ไม่งั้นภาพสั่นแหงก ๆ ๆ ๆ OIS เอาไม่อยู่หรอก
ด้านการถ่ายวีดีโอ Slow Motion ยังคงไม่มีการอัปเกรดจากรุ่นก่อน ยังถ่ายได้ที่ 1080p @ 240fps และ 720p @ 960fps อยู่ (เป็นข้อจำกัดของเซนเซอร์)
สลับกล้องระหว่างถ่ายวีดีโอได้ด้วยนะ !
มีฟีเจอร์การถ่ายวีดีโอหลายอย่างมากที่อัปเกรดจากรุ่นก่อน อย่างนึงที่ชอบมากคือการที่เราสามารถสลับกล้องระหว่างถ่ายวีดีโอได้แล้ว ! แบบเนียนกิ๊กเลยด้วย แค่ปัดเพื่อเปลี่ยนกล้องแล้วมันก็จะถ่ายอัดต่อทันทีอย่างไร้รอยต่อ
สำหรับคนทำงานสาย vlog นี่คือฟินมากแน่นอน
Super Steady ที่ดีขึ้นไปอีก
Super Steady หรือความสามารถในการถ่ายวีดีโอแบบนิ่งเหมือนถ่ายด้วย Gimbal อันเป็นฟีเจอร์สุดเด็ดขาดของ Samsung มาหลายรุ่น รุ่นนี้ก็ยังมีอยู่และมีการอัปเกรดความสามารถขึ้นไปอีกขั้นด้วยคือ สามารถถ่ายตอนกลางคืนได้แล้ว
ยังไม่รู้ว่าดีแค่ไหน เดี๋ยวไว้ได้เครื่องมาจะลองอีกทีนึงนะ
ถ่ายวีดีโอด้วย Pro Mode ได้แล้ว !
อันนี้ถือเป็นฟีเจอร์ที่รอคอยมานานมากกกกก ส่วนตัวใช้มือถือถ่าย Pro Mode บ่อยเพื่อคุม Speed Shutter หรือ ISO ให้ได้ภาพตามต้องการ แต่ที่ผ่านมาพอถ่ายวีดีโอแล้วมันได้แต่ Auto มารุ่นนี้พี่ซัมซุงก็จัดให้เรียบร้อย Pro Mode สำหรับการถ่ายวีดีโอจ้าาาาาา ใช้ได้ครบทุกอย่างเหมือนตอนถ่ายภาพนิ่งเลย เลิฟมากกกก
และไม่ต้องกลัวว่าเริ่มถ่ายแล้วจะเปลี่ยนอะไรไม่ได้ เพราะเราสามารถเปลี่ยน Settings ต่าง ๆ ระหว่างถ่ายวีดีโอได้ด้วย เช่น ถ้าแสงไม่เท่าเราก็ปรับ Speed Shutter ขึ้นลงได้ตามเราต้องการเลย ไม่ต้องเทคใหม่
ผ่าน !
เปลี่ยน Effect ระหว่างถ่าย Live Focus Video ได้แล้ว
Live Focus Video ก็ถือเป็นอีกโหมดนึงที่ดีมากเพราะถ่ายวีดีโอออกมาแล้วดูโปรมาก ๆ แต่ติดเรื่องนึงคือพอเริ่มถ่ายแล้วเราไม่สามารถเปลี่ยนค่า Settings ใด ๆ ได้อีกเลย ต้องอยู่กับค่านั้นไปจนถ่ายเสร็จ
แต่สำหรับ S20 ตอนนี้เราสามารถเปลี่ยนค่า Effect ระหว่างถ่ายได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยน Effect ไปเลย หรือเปลี่ยน Parameter ก็ตาม ดู Live Demo กันเลยยย
นี่ก็ผ่าน !!
Night Hyperlapse
Hyperlapse อาจจะเป็นฟีเจอร์ที่คนไม่ได้ใช้กันบ่อยนักเพราะต้องวางมือถือทิ้งไว้ แต่ถ้าพูดถึงคุณภาพวีดีโอแล้วต้องถือว่ามีความเป็นเอกลักษณ์และสวยมาก
ในรุ่น S20 นี้โหมด Hyperlapse ก็มีการเพิ่มฟีเจอร์ขึ้นมาหนึ่งอย่างชื่อว่า Night Hyperlapse ซึ่งพูดง่าย ๆ คือแต่ละเฟรมที่มันถ่ายมันจะเปิดชัตเตอร์ค้างไว้นานกว่าปกตินิดหน่อย (Long Exposure นั่นเอง) เพื่อให้ได้ภาพไฟยืด ๆ ตามความเคลื่อนไหวของวัตถุ ซึ่งเหมาะมาก ๆ กับการถ่ายถนนที่มีรถวิ่งไปวิ่งมา
นี่มีโอกาสเอา Z Flip มาลองถ่ายโหมดนี้เลยแอบหยิบมาโพสต์ให้ดูว่าผลลัพธ์ออกมาจะเป็นประมาณไหน นี่เลยยย (แต่ของ S20 อาจจะดีกว่านี้เพราะกล้องดีกว่า)
สำหรับคนที่สงสัยว่าถ้าไม่เปิด Night Hyperlapse แล้ววีดีโอจะออกมาหน้าตาเป็นยังไง อันนี้เราลองถ่ายตอนกลางคืนที่เดียวกันโดยไม่เปิดโหมดนี้ดู ผลออกมาเป็นแบบนี้คร้าบ
ก็จะเห็นว่าวีดีโอตัวที่เปิด Night Hyperlapse ไฟรถจะเป็นเส้น ๆ ส่วนตัวที่ไม่เปิดจะเป็นภาพนิ่งธรรมดา
ประโยชน์มีมั้ย สำหรับคนที่ชอบถ่าย Hyperlapse พูดเลยว่ามันเจ๋งมากกกกกกก
นี่ก็อยากถ่ายอีก สนุก >0<
Single Take Photo
อีกฟีเจอร์เด็ดนึงที่ S20 ทำมาและเราว่ามันมีประโยชน์มากคือ Single Take Photo หรือการที่เราถ่ายวีดีโอความยาว 10 วิ (หรือน้อยกว่า) แล้วตัว AI จะทำการสร้างภาพนิ่งและวีดีโอที่ระบบคิดว่าดูดีออกมาให้เราเลือกเอาไปใช้งาน
ที่เราชอบตรงนี้มีสองเหตุผลคือสำหรับคนที่แต่งภาพหรือหามุมวีดีโอสวย ๆ ไม่เก่ง ฟีเจอร์นี้จะช่วยได้ดีมาก ๆ ส่วนอีกเหตุผลคือรู้สึกว่าซัมซุงคำนึงถึงการใช้งานจริงดี ไม่ได้คิดแต่จะอัดสเปคให้จบ ๆ ไป
สำหรับคนที่สงสัยว่า Single Take Photo เป็นยังไง มันอธิบายเป็นคำพูดยากมาก เอาเป็นว่าดูวีดีโอเดโมเลยละกันนนน
การถ่ายวีดีโอสามารถถ่ายได้มากสุด 10 วิ แต่กดหยุดก่อนได้ วีดีโอและภาพที่ออกมาระบบจะคิดให้ว่าทำออกมาเท่าไหร่ดีโดยอิงกับความสั้นยาวและเนื้อหาของวีดีโอ
และแน่นอนว่าภาพนิ่งและวีดีโอที่ระบบสร้างขึ้นมาให้ เราสามารถนำมันไปแต่งต่อได้อีกตามต้องการ รวมถึงหากรูปนั้นเป็นรูป Live Focus เราก็สามารถปรับความเบลอได้อีกตะหาก
โหมดนี้เหมาะกับการถ่ายภาพหรือวีดีโอในสภาวะชุลมุนมาก ไม่ต้องกลัวว่าจะพลาดอะไรสำคัญ ๆ มั้ย ระบบทำให้ แต่ก็จำกัดที่แค่ 10 วินะ ก็ต้องคิดดูว่าจะใช้กับสถานการณ์ไหน หรือจะถ่ายแบบปกติดี
แต่งรูปไม่เก่งไม่เป็นไร ก็อป Preset ได้นะรู้ยัง !
สำหรับคนที่เห็นรูปใน IG ชาวบ้านว่าทำไมสีสวยจุง อยากจะแต่งแต่ก็แต่งตามไม่ได้ ทำยังไงดีว้าาา
พี่ซัมซุงก็จัดฟีเจอร์ให้อีกเช่นกันด้วยการสามารถโหลดภาพนั้น ๆ จากในเนตแล้วก็อปสไตล์การแต่งรูปมาแต่งให้รูปเราได้ทันทีเลย !
ฟีเจอร์นี้ลืมถ่ายมาให้ดู แต่ใช้งานได้ดีเลยหละ อาจจะไม่ได้เหมือนแบบ 100% แต่โทนได้ เอาไปแต่งต่อได้ง่ายขึ้นมาก ๆ
จอกลับไปแบนสไตล์ 2.5D
รุ่นก่อนหน้านี้ขอบจอมีความโค้งแบบสุด ๆ (เรียกว่าจอ 3D) ซึ่งมีปัญหากับการติดพวกฟิล์มกันรอยหรือ Tempered Glass มาก แต่สำหรับ S20 นี้จอก็กลับไปแบนลงอีกครั้งแต่ไม่ได้แบนแบบราบเรียบ ยังคงมีความโค้งอยู่หน่อย ๆ ตรงขอบแต่น้อยมาก เรียกว่ายังสวยอยู่แต่ชีวิตก็ไม่ลำบากแล้วด้วย เราเลยเรียกจอแบบนี้ว่า 2.5D นั่นเอง
จอ 120 Hz
สำหรับคนที่ต้องการความลื่นไหลของภาพบนหน้าจอ เราสามารถปรับ Refresh Rate ของ S20 ไปได้สูงถึง 120 Hz จากค่าเริ่มต้น 60 Hz
อย่างไรก็ตาม ความลื่นไหลนี้ก็จะแลกมาด้วยแบตเตอรี่ที่ไหลเพิ่มไปด้วยนะ
Touch Sensor 240 Hz
อีกหนึ่งสิ่งที่อัปเกรดไปไกลคือความไวของ Touch Screen ที่รุ่น S20 จัดมาที่ 240 Hz เลยทีเดียว ซึ่งสูงกว่ารุ่นอื่น ๆ ถึง 2-4 เท่าเลยทีเดียว
สำหรับความแตกต่างจะเห็นชัดแค่ไหน เดี๋ยวต้องลองกับเครื่องวางขายอีกทีครับ แต่สำหรับสายเกมน่าจะแฮปปี้อยู่
ร่วมมือกับ Google ปล่อยฟีเจอร์ Live Caption
เป็นอีกฟีเจอร์ที่ประทับใจมาก ๆ เพราะเราน่าจะได้ใช้จริงเยอะ กับความสามารถใส่ซับไตเติ้ลให้กับเสียงที่ถูกส่งออกมาจากเครื่องไม่ว่าจะผ่านแอป ฯ อะไรก็ตาม เช่น YouTube, Hulu, Netflix แอป ฯ อะไรก็ได้เลย
และทั้งหมดนั้นทำงานแบบ Offline ไม่มีการส่งข้อมูลอะไรไปยัง Server ทั้งสิ้น ใช้งานบนเครื่องบินยังได้ !
คราวนี้ถ้าอยากดูหนังแต่ฟังเสียงไม่ออกเราก็เปิดฟีเจอร์นี้และดูได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องง้อแอป ฯ นั้น ๆ อีกต่อไปว่าจะมีซับไตเติ้ลให้ดูมั้ย
สำหรับข้อจำกัดที่ Live Caption มีคือจะไม่สามารถใช้เสียงจากแอป ฯ ฟังเพลงและแอป ฯ คุยโทรศัพท์ เช่น Phone หรือ Skype ได้ ซึ่งจริง ๆ มันคือฟีเจอร์หละ เพื่อป้องกันปัญหา Privacy นั่นเอง
สำหรับนักพัฒนา หากไม่ต้องการให้แอป ฯ เราถูกนำเสียงไปใช้ในการทำ Live Caption ได้ เราก็สามารถกำหนด Flag ไว้ในแอป ฯ ของเราเพื่อ Opt Out ได้เช่นกันจ้า
ร่วมมือกับ Google ปรับ Google Duo สำหรับ S20 โดยเฉพาะ
Google Duo คือแอป ฯ แบบเดียวกับ Facetime แต่มีใช้งานในแอนดรอยด์ ในไทยอาจจะใช้กันไม่เยอะมาก แต่ทั่วโลกคือใช้กันเยอะเลยหละ
สำหรับ S20 นี้ซัมซุงมีการร่วมมือกับ Google เพื่อเพิ่มฟีเจอร์เฉพาะสำหรับมือถือ Samsung เช่น การใช้ภาพจากกล้อง Wide Angle หรือการนำ AR Emoji มาใช้ระหว่างการคอล
อาจจะดูเป็นเหมือนกิมมิคเล็ก ๆ แต่สำหรับคนที่ใช้งาน Google Duo อยู่ ฟีเจอร์พวกนี้น่าจะตอบโจทย์ผู้ใช้เลยหละ
Quick Share มาแล้ว AirDrop ของซัมซุง !
AirDrop เป็นฟีเจอร์ที่ชาวแอนดรอยด์อยากได้มานาน ซึ่งเรายอมรับเลยว่ามันดีจริง ๆ และล่าสุดซัมซุงก็ทำของเหมือนกันออกมาแล้วนามว่า Quick Share ~~~
ทุกอย่างคือเหมือนกันเลยจริง ๆ ถ้าเครื่องไหนรอบ ๆ ตัวเปิด Quick Share อยู่ เราจะสามารถส่งไฟล์หาเค้าผ่าน Quick Share ได้ทันที โดยเทคนิคที่มันใช้ส่งก็คือ WiFi หรือ WiFi Direct ดังนั้นไม่ต้องกลัวว่าจะช้า มันเร็วมากกกก
Quick Share ยังจำกัดเฉพาะมือถือซัมซุงอยู่ แต่ในอนาคตคาดว่าจะมีมาตรฐานอะไรแบบนี้ออกมาให้ใช้กันข้ามตระกูล ... ก็หวังว่านะใส่ microSD ได้สูงสุด 1TB
สำหรับคนที่ชอบถ่ายรูปถ่ายวีดีโอจนเมมไม่พอ S20 ก็เปิดช่องให้สามารถใส่ microSD Card ได้อย่างเต็มที่ถึง 1TB ซึ่งสำหรับ S20 และ S20+ ก็จะจำกัดเฉพาะรุ่น LTE เท่านั้น ส่วน S20 Ultra ก็จะมีเฉพาะรุ่นแรม 12GB ที่ใส่ microSD เพิ่มได้ครับ
รุ่นแรก ๆ ที่ใช้แรม DDR5
ถือเป็นการอัปเกรดใหญ่อีกหนึ่งอย่างด้านประสิทธิภาพเพราะ S20 เป็นรุ่นแรก ๆ ที่เอาแรม DDR5 ซึ่งความเร็วในการรับส่งข้อมูลสูงกว่า DDR4 ถึงสองเท่ามาใช้งานจริง
เรียกว่า S20 นอกจากจะแรมเยอะเหลือเฟือแล้วยังเร็วมาก ๆ อีกด้วย แถมประหยัดพลังงานกว่ารุ่นก่อนด้วยน้า
แบตเตอรี่จัดมาอย่างเพียงพอ
รอบนี้ซัมซุงเรียกว่าไม่กั๊กอะไรเลยรวมถึงแบตเตอรี่ที่จัดมาเยอะจัด ๆ โดยรุ่น S20 มาพร้อมแบตเตอรี่ 4,000 mAh ซึ่งเท่ากับของตัวใหญ่ของรุ่นพี่อย่าง S10+ เลย ส่วน S20+ และ S20 Ultra นั้นมาพร้อมแบตเตอรี่ 4,500 mAh และ 5,000 mAh ตามลำดับ
งานนี้ซัมซุงก็เลยพูดได้อย่างเต็มปากในงานเปิดตัวแล้วว่า Day Long Battery ซึ่งก็เป็นแบบนั้นจริง ๆ ครับ
สี
S20 มีให้เลือกอยู่สามสีคือ ชมพู (Cloud Pink), ฟ้า (Cloud Blue) และ เทา (Cosmic Gray)
ส่วน S20+ มีสามสีเช่นกันแต่เป็น ฟ้า (Cloud Blue), เทา (Cosmic Gray) และ ดำ (Cosmic Black)
สุดท้าย S20 Ultra มีแค่สองสีได้แก่ เทา และ ดำ ครับ
ราคา
มันมีมากมายหลายรุ่นมาก เลยขอบอกราคาเฉพาะที่เข้าไทยนะ ตามนี้
- Samsung Galaxy S20 รุ่น 128GB แรม 8 GB ราคา 28,900 บาท
- Samsung Galaxy S20+ รุ่น 128GB แรม 8 GB ราคา 31,900 บาท
- Samsung Galaxy S20 Ultra 5G รุ่น 128GB แรม 12 GB ราคา 39,900 บาท
โดยรวมถือว่าราคาเปิดตัวในไทยถูกลงจากรุ่น S10 ด้วยซ้ำ เยอะด้วย จะมีก็แค่ S20 Ultra 5G ที่แพงโดดไปหน่อย แต่ก็เพราะอย่างท่ีร่ายยาวด้านบนแหละว่าจริง ๆ มันถือว่าคนละรุ่นเลยก็ได้ ไม่มีอะไรเหมือนกันเลยโดยเฉพาะกล้อง
ทั้งนี้ ทั้งสามรุ่นที่เข้าไทยจะใส่ microSD Card เพิ่มได้หมด และรุ่น S20 Ultra 5G จะสามารถใช้งาน 4G ได้ด้วยถ้าไม่มีเครือข่าย 5G ใช้ครับ
ยังไม่หมดงานเปิดตัว
บล็อกนี้โฟกัสไปที่ S20 ก่อน ซึ่งก็สั้น ๆ ... เนอะ แหะ ๆ เขียนเพลินไปหน่อย ก็ยาวนิดนึงแต่น่าจะมีประโยชน์ครับ เนื้อหาค่อนข้างเจาะลึกไม่น่าจะหาที่ไหนได้ อ่านเพลิน ๆ ไปเนอะะะ
แต่งานเปิดตัวไม่ได้มีแค่นี้เพราะยังมี Galaxy Z Flip และ Bud+ อีก รอบล็อกถัดไปได้เลย กำลังเขียนอยู่ เลิฟมากโดยเฉพาะ Z Flip
ไปหละ เจอกัน !