"เวลามีค่ามากกว่าเงิน"
วิธี Post Process งาน 3D Print จากเครื่องพิมพ์สู่งานระดับโปรดักชั่น
3 Feb 2020 13:22   [43253 views]

ซื้อ 3D Printer แบบ FDM มาได้ 2 เดือนละ เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ หลายอย่างเลย และหนึ่งสิ่งที่สนุกมากคือการพิมพ์โมเดลออกมาเพ้นต์ ความท้าทายคือ จะทำยังไงให้โมเดลดูดีที่สุด ให้เหมือนของที่วางขายที่สุด ให้ดูไม่ออกว่าพิมพ์ออกมาจาก 3D Printer ถ้าเป็นเครื่องพิมพ์แบบ SLA คงทำได้เลย แต่เผอิญของเราเป็น FDM เลยมี Layer Line ชัดเจน และนั่นแหละคือโจทย์ จะทำยังไงให้งานเรียบไม่เห็นเส้นต่าง ๆ ได้

จึงเป็นโปรเจคทดลองประมาณยี่สิบกว่าวิธีเพื่อหาขั้นตอนที่ทำให้ผลงานออกมาโปรที่สุด หลังจากลองมาทุกวิถีทางตั้งแต่สารเคมียันการขัดกระดาษทราย สุดท้ายก็ได้วิธีที่ใช้พลังน้อยที่สุดแต่ผลงานออกมาดีมาก งานพักหลังที่เอาขึ้นโพสต์เฟสบุ๊คก็ใช้วิธีนี้หมด

บล็อกนี้เลยขอมาเขียนวิธี Post Process งาน 3D Print แบบที่เราทำมาเป็นสิบชิ้นละ ค่อนข้าง Universal คือใช้ได้กับทุกโมเดล คิดว่าน่าจะมีประโยชน์กับคนอื่นๆ เผื่อมีใครจะทำตามดูคร้าบ

เริ่มเลยนะ

อุปกรณ์ที่ต้องใช้

สำหรับอุปกรณ์ที่ต้องใช้ Post Process งานมีดังต่อไปนี้

1) คีมตัด

2) สเปรย์ Filler Primer เอาไว้อุด Layer Line เมืองไทยอาจจะหาซื้อยากหน่อย ที่เห็นว่ามีขายคือ 2-in-1 Filler & Sandable Primer อันนั้นก็ใช้ได้เช่นกันครับ

3) กระดาษทรายเบอร์หยาบ กลางและละเอียด (เราใช้ 150 grit, 320 grit และ 600 grit ตามลำดับ)

4) Body Filler ซึ่งมีให้เลือกหลายอย่าง ที่เราใช้คือ Spackling (แป้งเปียกสำหรับอุดร่องก่อนทาสี) เอาไว้ซ่อมแซมและอุดรูที่อาจเกิดขึ้นจากการพิมพ์

5) กาวตราช้าง

6) สีอะคริลิคและชุดพุ่กัน

อุปกรณ์หลายอย่างอาจจะหายากในไทยอยู่ โดยเฉพาะ Filler Primer ใครอยู่ไทยคงต้องลองหาตัวเลือกอื่น ๆ ที่ใกล้เคียงกันดูครับ (ข้อดีของการอยู่เมกา มีอุปกรณ์ DIY ทุกอย่างขาย)

งานที่ดีเริ่มต้นตั้งแต่เครื่องพิมพ์

ก่อนจะเริ่ม Post Process สิ่งสำคัญที่ต้องคิดไว้เสมอคือ ถ้างานที่พิมพ์ออกมาไม่ดี ยังไงก็ Post Process ให้ดีไม่ได้หรอก (หรืออาจจะยากมาก) ดังนั้นอย่างนึงที่ต้องทำให้เชี่ยวชาญก่อนคือ การปรับจูน 3D Printer ให้คุณภาพของการพิมพ์ออกมาให้สูงที่สุด

หลัก ๆ คือ

1) ปรับอุณภูมิให้เหมาะกับ Filament เพื่อให้ไม่มี Oozing และ Stringing ซึ่งตรงนี้ Temperature Tower ช่วยในการตัดสินใจได้ว่าจะใช้อุณหภูมิเท่าไหร่ดี

2) ตั้ง Layer Height ให้ต่ำ ๆ ไว้เพื่อให้ Layer Line บางที่สุด ที่เราใช้คือ 0.12mm หรืออย่างแย่สุดคือ 0.20mm อาจจะใช้เวลาพิมพ์หน่อยแต่คุ้ม อย่างไรก็ตาม ถ้างานชิ้นใหญ่มากก็ตั้ง Layer Height ให้สูงกว่านี้ได้อยู่เพราะเราไม่จำเป็นต้องเก็บรายละเอียดมาก 

3) ให้ชัวร์ว่าเพลาเฟืองแกน Z ตั้งตรงแนวเดียวกับ Stepper Motor เพื่อไม่ให้เกิด Z-Banding (เส้นแนวนอน)

โดยรวมงานที่พิมพ์ออกมาต้องสมบูรณ์แบบที่สุด ไม่งั้นการ Post Processing จะยากลำบากมาก ถ้าใครยังไม่เชี่ยวกับ 3D Printer ของตัวเองก็เล่นให้เชี่ยวก่อนครับแล้วค่อยไปขั้นตอนต่อไป

ขั้นตอนที่ 1: แกะ Support และตัด Oozing/Stringing ให้หมด

ขั้นตอนแรกก็มาตรฐาน แกะ Support ออกอย่างระมัดระวังด้วยคีมตัด หากมี Oozing หรือ Stringing ก็ตัดออกให้หมดด้วย จะได้ออกมาแบบนี้ แถ่แด๊น !

ถ้าระหว่างแกะมีชิ้นส่วนหักก็เก็บไว้ดี ๆ อย่าทำหาย เราประกอบกลับไปได้

ขั้นตอนที่ 2: ขัดหยาบ

โดยปกติงานที่พิมพ์ออกมาจะมีบางส่วนที่พื้นผิวมีความขรุขระไม่เรียบเนียนตามโมเดลในคอมพิวเตอร์

ก่อนจะไปทำอะไรต่อให้ใช้ตะไบหรือกระดาษทรายเบอร์หยาบสุด (120-150 grit) มาขัดพื้นผิวพวกนี้ออกจนเรียบที่สุดเท่าที่จะทำได้

ขั้นตอนนี้ขอแค่เก็บรายละเอียดหยาบ ๆ พวกนี้พอ ส่วนพวก Layer Line ไม่ต้องไปสนมัน ไม่ต้องไปขัดเพราะขัดตอนนี้ไปก็ไม่มีประโยชน์อะไร

ขั้นตอนที่ 3: ติดชิ้นส่วนต่าง ๆ เข้าหากันด้วยกาว

หากมีชิ้นส่วนที่หักหรือพิมพ์ชิ้นแยกจากกันแต่ต้องการ Post Process ร่วมกันก็ให้ใช้กาวเชื่อมติดกันตั้งแต่ตอนนี้เลย ซึ่งกาวที่ใช้เชื่อมก็แล้วแต่ประเภท Filament เช่น ถ้าเป็น PLA ก็ใช้กาวตรงช้างหรือน้ำยาเชื่อมอะคริลิคเชื่อมชิ้นงานเข้าด้วยกันได้

แต่ถ้าชิ้นงานไม่เชื่อมต่อกัน เช่น มีตัวและหมวกที่สามารถใส่กันทีหลังได้ อันนั้นก็แยก Post Process แล้วค่อยมาติดกาวด้วยกันทีหลังได้เช่นกัน แล้วแต่วิจารณญาณเลยครับ

ขั้นตอนที่ 4: อุดรูด้วย Body Filler

บางทีงานที่พิมพ์ออกมาอาจจะมีรู มีรอยแตก หรือมีความไม่เรียบอย่างรุนแรงชนิดที่ขัดยังไงก็ไม่ได้ เช่น ส่วนที่มีความชัน (Overhang Angle) สูงมาก ๆ อาจจะเกิด Layer Line ที่ชัดเจนได้จากความเหลื่อมของแต่ละชั้น

พวกนี้เราสามารถใช้ Body Filler (สีโป๊ว) ซึ่งเอาไว้อุดรูในงานทาสีบ้านมาโปะได้ เนื้อจะเป็นลักษณะแป้งเปียกหรือดินเหนียว สามารถนำมาโปะแล้วปาดให้เรียบ ๆ ได้ ใช้มือ (สวมถุงมือด้วย) ก็ได้ หรือถ้ามี Putty Knife ก็จะง่ายและเรียบขึ้นมาก

หลังจากโปะเสร็จก็รอให้แห้ง ตัว Body Filler จะแข็งตัว ให้เราใช้กระดาษทรายขัดเบา ๆ ให้มันเรียบก่อนจะทำต่อในขั้นตอนถัดไป

ทริค: ถ้าที่บ้านมีอุปกรณ์อบแห้งที่ใช้ในงาน 3D Print อยู่แล้วก็สามารถเร่งขั้นตอนนี้ด้วยการเอาชิ้นงานไปอบได้เลย ขั้นตอนต่าง ๆ จะเร็วขึ้นมาก ๆ

ขั้นตอนที่ 5: พ่น Filler Primer รอบที่ 1

หลังจากได้รูปทรงที่ถูกต้องแล้ว จากนี้คือการทำให้ผิวเรียบละ โดยอุปกรณ์ที่เราใช้ในการทำเรียบคือ Filler Primer ซึ่งเป็นสเปรย์ที่มี Texture คล้ายดินเหนียว ตอนพ่นไปแล้วจะมีวอลุ่มกว่าสีทั่วไป นอกจากนั้นมันยังมีคุณสมบัติเป็น Primer ทำให้สีที่เราระบายในตอนเพ้นต์เกาะติดกับพื้นผิวได้ดีขึ้นมากอีกด้วย

การพ่นรอบแรกก็ไม่มีอะไรมาก แค่พ่นไปทั่ว ๆ แบบเท่า ๆ กัน เว้นระยะพ่นที่ประมาณ 20-30 ซม. ความหนาไม่ต้องหนา ขอให้เห็นสีที่พ่นไปครอบคลุมไปทั่วทุกพื้นผิวก็พอ

พ่นเสร็จแล้วก็รอทิ้งไว้ให้แห้ง ซึ่งถ้าใช้ Filler Primer ยี่ห้อเดียวกันก็รอ 20 นาทีก็แห้งละ ซึ่งพอแห้งแล้วก็จะเป็นแบบนี้ !

ขั้นตอนที่ 6: ขัดเรียบ

การพ่น Filler Primer รอบแรกก็จะยังเห็นเส้น Layer Line ชัดอยู่ ซึ่งไม่ต้องตกใจเพราะเป็นเรื่องที่ Expected

ก็ขอให้คิดว่าพื้นผิวตอนนี้ยังมีความเป็นคลื่นเหมือนลาย Layer Line อยู่ แต่ด้วยคุณสมบัติของ Filler Primer ที่สามารถขัดด้วยกระดาษทรายได้ เราเลยสามารถใช้กระดาษทรายทำให้พื้นผิวมันเรียบขึ้นได้ง่าย ๆ ดังนั้นขั้นตอนนี้เราจะใช้กระดาษทรายมาขัดเรียบกัน ! โดยเบอร์ที่ใช้จะอยู่ระดับกลางคือ 240-320 Grit ก็ขัดไปทั่ว ๆ แล้วใช้นิ้วลูบดูว่ารู้สึกเรียบรึยัง

และนี่คือโมเดลที่ขัดเสร็จแล้ว !

ถึงดูด้วยตาอาจจะเยินก็ไม่ต้องกังวล ให้ใช้นิ้วลูบดูเอาว่าเรียบรึยังเป็นพอ ตามน้านนน

ขั้นตอนที่ 7: พ่น Filler Primer รอบ 2

จับพ่นอีกรอบ Filler Primer อีกรอบ คราวนี้พ่นหนากว่าเดิมนิดหน่อยได้ แต่อย่าให้หนาไป ไม่งั้นมันจะกองเป็นหยดน้ำอยู่ตามพื้นผิว ซึ่งไม่ดี

พ่นเสร็จหน้าตาแบบนี้ !

รอให้แห้งอีกเช่นกัน หาอะไรทำไประหว่างรอออ

ขั้นตอนที่ 8: ขัดละเอียด

นี่คือหน้าตาตอนแห้งแล้ว

จะเห็นว่ารอบนี้เส้นจะจางลงไประดับหนึ่งแต่ก็ยังพอมองเห็นอยู่ ซึ่งก็ไม่เป็นไรเพราะเป็นอะไรที่ Expected เช่นกัน และก็เหมือนเดิม ขัดด้วยกระดาษทรายกันอีกรอบ แต่รอบนี้ขัดด้วยกระดาษทรายละเอียดเบอร์ 600 grit ขึ้นไป

แล้วก็เหมือนรอบที่แล้ว ตรงไหนที่มองด้วยตาเปล่าแล้วเห็นเส้นเห็นว่าไม่เรียบก็ขัดลงไป ขัดจนรู้สึกว่ามันเรียบ ขัดให้ทั่วทุกจุดแล้วก็พอ

เดาออกใช่มั้ยว่าจะเราจะทำอะไรกันต่อ ...

ขั้นตอนที่ 9: พ่น Filler Primer รอบที่ 3

ก็พ่นเลยจ้า อีกรอบนึง โดยรอบนี้พ่นให้เหมือนรอบ 2 แต่ให้ดูดี ๆ ว่ามันทั่วจริง ๆ เพราะรอบนี้เนื้อสเปรย์มักจะเกาะติดกับพื้นผิวดีจนมีความหนืด ถ้าพ่นไม่ทั่วจะเกิดก้อนน้ำซึ่งจะทำให้เนื้อไม่เรียบ

อันนี้ไม่ถ่ายรูปมาละนะ ก็แค่พ่นเหมือนรอบที่แล้วนั่นแหละ จากนั้นก็รอให้แห้งจ้าา

ขั้นตอนที่ 10: เก็บรายละเอียด

ความจริงแล้วหลังจากพ่นรอบนี้ผิวควรจะเรียบและพร้อมเพ้นต์แล้ว เรียกว่าเรียบเนียนสวยเหมือนดินเหนียวเลยหละ

เห็นมะว่าดูไม่ออกเลยว่าออกมาจาก 3D Printer เนียนกริ๊บบบบบ

ใครพอใจกับคุณภาพแล้วก็เริ่มเพ้นต์ได้เลย แต่ถ้ายังมีส่วนไหนที่ไม่พอใจเราก็สามารถใช้กระดาษทรายเบอร์ละเอียดมากเช่น 1,200 - 1,500 Grit ขัดเฉพาะส่วนนั้นได้

ส่วนจะพ่น Filler Primer อีกรอบมั้ยก็แล้วแต่ จริง ๆ ไม่จำเป็น แต่ถ้ามันเกินเยียวยาจริง ๆ ก็พ่นอีกรอบก็ได้ แต่อย่าให้เกินรอบที่ 4 เพราะหลังจากนั้นจะหนาจนรายละเอียดหายเกลี้ยงได้

ขั้นตอนที่ 11: เริ่มเพ้นต์ชั้นที่ 1 - รองพื้น

คราวนี้ก็เริ่มเพ้นต์ได้ ! ซึ่งการเพ้นต์นี้แนะนำให้ใช้สีอะคริลิคเพราะเกาะติดกับพื้นผิว Filler Primer ได้ดีที่สุด และอย่างนึงที่ต้องเข้าใจคือ

อย่าคาดหวังว่าเพ้นต์ชั้นเดียวแล้วจบ

ซึ่งถ้าถามว่าต้องเพ้นต์กี่ชั้นจริง ๆ ก็แล้วแต่ว่าเราลงสีอะไร ถ้าเป็นสีเข้มมากเช่นสีดำก็ชั้นเดียวอยู่ แต่ถ้าเป็นสีที่อ่อนลงมาเช่นสีน้ำตาลก็ต้อง 2 ชั้น หรือถ้าเป็นสีที่อ่อนมาก ๆ เช่นสีขาวหรือสีเหลืองอาจจะต้องไปถึง 4 ชั้นเลย

แต่เพื่อความชัวร์ ขอให้คิดว่าเราจะระบาย 3 ชั้นสำหรับทุกสี เป็นอะไรที่ชัวร์สุด

ด้านการผสมสีอันนี้ถือเป็นสกิล ไม่สามารถสอนได้ ต้องลองฝึกผสมให้เชี่ยวเอง หรือถ้าผสมยังไม่เก่งก็ลองซื้อสีที่มีให้เลือกเยอะ ๆ ในชุดแล้วระบายด้วยสีนั้น ๆ ไปเลยก็ได้ครับ (แต่เชียร์ให้ผสมให้เป็นนะ สำคัญ)

ก็ไม่ต้องพูดพร่ำทำเพลงละ เริ่มเพ้นต์เลย ! โดยชั้นแรกจะเป็นการลงรองพื้น ระบายไปทั่ว ๆ ได้เลย

ซึ่งชั้นแรกนี้ไม่ต้องกังวลเรื่องลายพู่กัน ยังไงก็มีแต่ลายเต็มไปหมดอยู่ละ ระบายให้ทั่วก็พอ

เรียบร้อย รอให้แห้ง ซึ่งน่าจะใช้ราว 30 นาที

ขั้นตอนที่ 12: เพ้นต์ชั้นที่สอง

เพ้นต์ชั้นที่สองก็ระบายไปทั่ว ๆ เช่นกัน แต่รอบนี้ให้ทาแบบย้ำคิดย้ำทำ ทาไปเรื่อย ๆ ถ้าตรงไหนสีดูไม่ชัดก็เกลี่ย ๆ ทาเพิ่มไปจนเท่ากันทั้งหมดทุกบริเวณ รอบนี้สีจะเริ่มชัดขึ้นมาก ถึงจะยังไม่เนียน 100% แต่แนวโน้มก็เริ่มไปในทางที่ดี สำหรับลายพู่กันก็จะยังเห็นอยู่ แต่ก็จะน้อยลง ไม่ต้องกังวลอะไรเดี๋ยวรอบถัด ๆ ไปก็จะดีขึ้นเอง

รอให้แห้งอีก 30 นาที ไปกลิ้ง ๆ ดูซีรี่ส์รอนะ

ขั้นตอนที่ 13: เพ้นต์ชั้นที่สาม

ลงสีอีกรอบ แต่รอบนี้ให้ลงแล้วลูบไปเรื่อย ๆ ต่อให้มันเริ่มแห้งก็ลูบต่อไป สีจะเริ่มเต็ม เส้นลายพู่กันจะค่อย ๆ หายไปเรื่อย ๆ ที่สำคัญคืออย่าให้มีส่วนไหนมีสีเทาของ Filler Primer โผล่ออกมา ถ้าเจอต้องเอาสีมาแต้มเติมจนกลายเป็นสีที่ต้องการ ถ้าเจอตรงไหนที่เป็นลายแปรงพู่กันชัดเจนก็ค่อย ๆ ลูบให้มันหายไป ต้องใจเย็น ๆ และทำไปเรื่อย ๆ รอบนี้อาจจะเหนื่อยหน่อยแต่จะเห็นผลแล้วหละ จะเห็นแววความเรียบด้วยตาเปล่าเลย

จากนั้นก็รอจนแห้งครับ

ขั้นตอนที่ 14: เพ้นต์ชั้นที่สี่ (ถ้าจำเป็น)

สำหรับสีที่เป็นสีอ่อนเช่นสีเหลือง อาจจะจำเป็นต้องเพ้นต์อีกชั้นนึงเพื่อให้เรียบสนิท แต่ถ้าเป็นสีที่เข้มกว่าก็อาจจะจบที่ชั้นสามได้ครับ

อันนี้ถือเป็น Optional ถ้าจำเป็นต้องทาก็ทาได้เลยโดยวิธีการทาจะเหมือนชั้นที่ 3 ทุกประการครับ เพียงแต่ให้ใช้พู่กันเบอร์ที่เล็กหน่อย เพราะจะทำให้พวกเส้นต่าง ๆ จางหายไปและเบลนด์ไปกับสีที่ลงไว้ก่อนหน้าอย่างสวยงามครับ

เนียนแล้ว ! แต่ถ้าใครยังไม่พอใจก็ถมไปเรื่อย ๆ ครับ สุดท้ายจะเนียนเรียบสวยงามเอง

ขั้นตอนที่ 15: เพ้นต์สีพื้นส่วนอื่น ๆ และเพ้นต์รายละเอียด

สีพื้นจริง ๆ มีอยู่หลายส่วนด้วยกัน เช่น ถ้าเราเพ้นต์โมเดลคนก็จะมีสีพื้นของผม ผิวหนัง เสื้อผ้า จนถึงขั้นตอนนี้เราสามารถทยอยลงสีพื้นให้กับส่วนต่าง ๆ จนครบได้ตามต้องการ โดยลง 3-4 ชั้นเหมือนขั้นตอนด้านบนทุกประการ สำหรับการแยกว่าจะเพ้นต์อะไรก่อนหลังก็แบ่งเองได้เลยครับ ถ้าแบ่งดี ๆ ก็ประหยัดเวลาได้เพิ่มอีกเยอะพอควร

คำแนะนำของเราคือตอนนี้ให้ลงสีพื้นของส่วนที่ยังไม่ได้ลงไปพร้อม ๆ กับเพ้นต์รายละเอียดบนสีพื้นที่ลงไปแล้ว แล้วก็ทำไปเรื่อย ๆ จนเสร็จหมดทั้งตัวครับ

สำหรับการเพ้นต์รายละเอียดก็คงสอนในบล็อกไม่ได้ เพราะรายละเอียดก็ต่างกันไปตามแต่ละส่วน ... เอาเป็นว่าเทคนิคอยู่ที่การเลือกพู่กันให้เหมาะกับงาน ลองใช้ Common Sense เลือกแล้วลองดูครับ ไม่ยาก ๆ ส่วนความมือนิ่งนั้น ... ตัวใครตัวมันจย้าาา

ชื่นชมผลงาน

เสร็จแล้ว !

กว่าจะเสร็จหมดก็นานเหมือนกัน แต่ผลออกมาก็คุ้มนะ นอกจากผลงานจะดูดีจนเอาไปอวดคนอื่นได้แล้ว คนที่ทำก็ได้สกิลใหม่ ๆ อีกเพียบ รวมถึงได้ฝึกสมาธิ ฯลฯ อีกมากมาย นี่ทำมาสิบกว่าตัวรู้สึกความคิดสร้างสรรค์ดีขึ้นพอสมควรเลย

เวลาที่ใช้ทั้งหมด

ขั้นตอนทั้งหมดค่อนข้างใช้เวลาทีเดียว โมเดลแต่ละตัวใช้เวลาเป็นวันกว่าจะเสร็จ (ไม่รวมเวลาพิมพ์) เวลาส่วนใหญ่ใช้ไปกับการรอสีแห้งดังนั้นถ้าแบ่งเวลาดี ๆ ก็เอาเวลาที่เหลือไปทำอย่างอื่นได้

โดยรวมเหนื่อย ใช้ความพยายามสูง แต่สนุกนะ ได้ผลลัพธ์มาแล้วก็แฮปปี้ ~~~

ลองดูววว ^0^

บทความที่เกี่ยวข้อง

Jul 12, 2016, 05:44
164331 views
ย้อนความทรงจำวัยเด็กในรูปแบบ 360 องศา
Jan 21, 2020, 09:44
45314 views
รู้จักโรคปอดอักเสบอู๋ฮั่น โรคระบาดตัวใหม่ พร้อมย้อนรอยโรค SARS และ MERS
0 Comment(s)
Loading