"ท้อมีไว้ให้ลิงถือ"
กรณีศึกษากว่า 10 ปีของการแบนถุงพลาสติกในอเมริกา ใช้ชีวิตกันยังไง ? ได้ผลจริงมั้ย ?
2 Jan 2020 10:15   [62825 views]

เห็นว่าประเทศไทยเริ่มต้นไม่แจกถุงพลาสติกตามร้านค้าใหญ่ ๆ แล้ว ซึ่งก็เป็นไปตามคาด ... มันตามมาด้วยกระแสดราม่าหลายอย่างมาก วันนี้เลยขอมาเขียนเรื่องนี้หน่อย ไม่ใช่เรื่องที่ไทย แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วที่อเมริกา

ถ้าพูดถึงเรื่องการไม่แจกถุงพลาสติก ที่เมกาไม่แจกมาสิบปีได้แล้ว ถ้าใครต้องการถุงจะต้อง "จ่ายเงินซื้อ" และถุงส่วนใหญ่ก็เป็นถุงกระดาษด้วย ซึ่งถามว่าคนที่นี่ดราม่ามั้ย ? สิบปีที่แล้วก็ไม่รู้เหมือนกันนะ แต่ตอนนี้ทุกคนใช้ชีวิตได้อย่างปกติกันมาก บล็อกนี้จะมาเล่าให้ฟังว่าเค้าใช้ชีวิตกันยังไง มีวิถีชีวิตการใช้ถุงอย่างไร มีปัญหาอะไรมั้ยกับการที่ร้านไม่แจกถุง รวมถึงมันสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมได้จริงมั้ย

อ่ะ เริ่ม !

แนวทางมาตรฐานของร้านทั่วไป "เราไม่มีถุงให้นะ อยากได้จ่ายมา $0.10"

ที่นี่มีกฎหมายแบนถุงพลาสติกอย่างชัดเจน ซึ่งรายละเอียดก็จะต่างกันไปตามรัฐ แต่โดยรวมแล้วเกินครึ่งของจำนวนรัฐในเมกามีการแบนถุงพลาสติกอย่างเป็นทางการแล้ว (แต่ก็ยังมีรัฐที่ไม่แบนเลยอยู่)

เพื่อให้เข้าใจง่ายและเนื้อหาเกี่ยวกับสถานการณ์ของประเทศไทย เลยขอโฟกัสไปที่แคลิฟอร์เนียซึ่งมีการแบนถุงพลาสติกจากร้านขายปลีกมาสักพักใหญ่ ๆ แล้ว

ซึ่งพอเป็นกฎหมาย Norm ของร้านขายปลีกที่นี่ก็เลยคือ "เราไม่มีถุงให้นะ" ซึ่งสร้าง Mindset ให้คนที่นี่ไปแล้วว่าถ้าจะไปซื้ออะไรจะไม่มีถุงให้ กลายเป็นเรื่องปกติไป ตรงกันข้าม ถ้าร้านมีถุงให้จะเซอร์ไพรส์สุด ๆ ซึ่งต่างกับประเทศไทยที่มี Norm ว่าทุกร้านต้องมีถุงให้ ถ้าไม่มีคือด่ายับ

แต่ร้านที่นี่ก็ไม่ใจร้าย "ถึงเราจะไม่มีถุงให้ แต่ถ้าอยากได้ก็จ่ายเงินซื้อได้อยู่" ราคามาตรฐานก็อยู่ที่ถุงละ $0.10 (ราว ๆ 3 บาท) เพราะมันเป็นขั้นต่ำตามกฎหมาย แต่ที่แพงกว่านี้ก็มี ซึ่งถุงหลัก ๆ ที่มีให้ซื้อจะเป็นถุงกระดาษ แต่ถุงพลาสติกก็มีให้ซื้อเหมือนกันเพราะสินค้าบางชนิดนั้นใส่ถุงกระดาษไม่ได้ ซึ่งถุงพลาสติกก็จะไม่ใช่แบบบาง ๆ ง่อย ๆ แต่เป็นแบบหนาเหนียวเพื่อให้ใช้งานซ้ำได้อีกหลายรอบ (เป็นกฎหมายอีกเช่นกันว่าต้องเป็นถุงพลาสติกรีไซเคิลเท่านั้น และห้ามเป็นถุงพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง)

แต่ถ้าต้องซื้อจริง ๆ คนส่วนใหญ่ก็จะเลือกถุงกระดาษกัน (จากที่สังเกต) ส่วนถุงพลาสติกนี่นาน ๆ จะเห็นคนขอซื้อทีนึง

สรุปแล้ว คนที่นี่ปรับตัวกับถุงพลาสติกได้แล้ว จะไม่ใช้เลยถ้าไม่จำเป็น แม้แต่ร้านอาหารต่าง ๆ อะไรห่อใส่ถุงกระดาษกล่องกระดาษได้ก็จะจับใส่กระดาษให้หมด แทบไม่มีพลาสติกให้เห็นเลย

เตรียมถุงไปเองเป็นเรื่องปกติของคนที่นี่

สิ่งนึงที่น่าสนใจคือ

ผู้คนที่นี่เวลาจะซื้อของอะไรก็จะพกกระเป๋าหรือถุงไปเองเสมอ

คำว่าเสมอคือเสมอเลยจริง ๆ เรียกว่าเป็นนิสัยไปแล้ว วันนี้ไปยืนดูที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตจำนวนรวม 20 คนว่าเค้าทำยังไงบ้าง ผลคือ

10 คนเอาถุงมาเอง

8 คนไม่ใส่ถุง หิ้วด้วยมือไปเลย

2 คนซื้อถุงกระดาษ

ตัวเลขด้านบนนี้ก็เป็นคำตอบได้อย่างดีแล้วว่าคนที่นี่ใช้ชีวิตกันอย่างไรถึงแม้ร้านจะไม่มีถุงให้

อย่างเราตอนนี้คือติดนิสัยพกกระเป๋าติดตัวเสมอไม่ว่าจะไปไหน และ 11 เดือนที่ผ่านมา เราซื้อถุงกระดาษไปแค่ 3 ใบ ที่เหลือคือใช้ถุงผ้าที่พกไปเองทั้งหมด

ก็จะเห็นว่าการเอาถุงไปเองไม่ใช่เรื่องหนักหนาอะไรเลย ถ้าปรับนิสัยได้แล้วมันก็จะกลายเป็นเรื่องที่แสนปกติไป และจากที่สังเกตนะ เราลดขยะไปได้เยอะมาก ๆ เลยหละ

จิตวิทยาให้คนรู้จัก Reuse

ถามว่าทำไมคนถึงพกถุงไปเอง จริง ๆ แล้วมันเป็นผลทางจิตวิทยาของ "การจ่ายเงินซื้อถุง" หละ

พอใช้ชีวิตที่นี่เราก็จะรู้ว่าเราไปซื้อของตาม Grocery บ่อย ๆ แหละ และถ้าต้องจ่ายเงินซื้อถุงทุกครั้งมันเปลืองเงินมาก และนั่นทำให้ผู้คนรู้สึกว่าการพกถุงไปเองมันฉลาดกว่า รู้สึกเหมือนชนะอ่ะ ก็เลยไม่ต้องแปลกใจที่มีคนซื้อถุงน้อยมาก ๆ

อย่างตอนเรามาเที่ยวใหม่ ๆ เมื่อหลายปีที่แล้ว เราก็ซื้อถุงสัก 5 ครั้งแรกได้ จากนั้นรู้สึกว่าเปลืองตังค์จัง แล้วก็พกถุงไปเองตลอดหลังจากนั้น

ก็จะเห็นแล้วว่าเหตุผลของการเก็บเงินค่าถุงไม่ใช่จะหากำไรจากถุง แต่ผลที่ทางรัฐต้องการจริง ๆ คือให้คนเลิกผลิตขยะใหม่โดยไม่จำเป็น ซึ่งเรารู้สึกว่ามันดีและได้ผลมาก และที่มันได้ผลกับคนที่นี่ได้ก็เกิดจากเรื่องนี้เลย "ถุงต้องจ่ายตังค์ซื้อ" หากทำกับที่ไทยได้ก็คงดี

คำถามถึงคนไทยคือ ... พร้อมรึเปล่าที่จะจ่ายเงินซื้อถุง หรือจะดราม่าว่าร้านค้าหาผลประโยชน์จากถุงอีก ?

ก็ฝากไว้ให้คิด

ที่ต้องแบนจริง ๆ คือ "อะไรก็ตามที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง"

ถึงแม้คนจะเคยชินและติดปากกับคำว่า "แบนถุงพลาสติกเพื่อสิ่งแวดล้อม" แต่ความจริงแล้วมันค่อนข้าง Misleading เพราะความจริงแล้วการเปลี่ยนไปใช้ถุงผ้าหรือถุงกระดาษนั้นไม่ได้ดีต่อสิ่งแวดล้อมกว่าการใช้ถุงพลาสติกเสมอไป หากใช้ไม่ถูกต้องกลับจะสร้างมลภาวะให้กับโลกมากขึ้นเสียอีก

ทำไม ?

เพราะการผลิตถุงพลาสติกนั้นค่อนข้างดีต่อโลกกว่าการผลิตถุงกระดาษ การสร้างถุงกระดาษขึ้นมาสักใบจะต้องใช้น้ำมากกว่าการผลิตถุงพลาสติกถึง 4 เท่า แถมยังปล่อยแก๊สเรือนกระจกออกมามากกว่าถึง 3 เท่าตัว

แถมถุงผ้ายิ่งหนักเข้าไปใหญ่ กว่าจะทำเป็นผ้าออกมาได้ กว่าจะฟอกโน่นฟอกนี่ สร้างมลภาวะระหว่างการผลิตสูงมาก

มีการศึกษาว่า

เราต้องใช้ถุงผ้าซ้ำถึง 131 ครั้งถึงจะดีกว่าสิ่งแวดล้อมกว่าการใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง

ดังนั้นจริง ๆ แล้วสิ่งที่เราควรแบนไม่ใช่ถุงพลาสติก แต่เป็น "อะไรก็ได้ที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง" หรือ "อะไรที่ใช้ซ้ำไม่ได้"

ก็เป็น Mindset ที่อยากให้เปลี่ยนว่า

ถ้าอยากจะรักษาสิ่งแวดล้อมจริง ๆ เราต้องพยายามใช้ซ้ำทุกอย่างให้ได้

อะไรก็ตามที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งควรหลีกเลี่ยงให้หมดครับ

ซึ่งพอเราสำรวจตัวเองก็พบว่าปีที่ผ่านมาเราใช้ถุงผ้าแค่สองใบ เกิน 131 ครั้งต่อใบไปเรียบร้อย =) ถือว่ามาตรการทางจิตวิทยาค่าซื้อถุงนั้นได้ผลมาก ๆ

ถ้าคนไทยจะเริ่มต้นกับการรักษาสิ่งแวดล้อมก็ควรเริ่มจากการมี Mindset ว่าจะใช้ซ้ำถุงเดิมไปจนกว่ามันจะพังครับ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี จะใช้ถุงพลาสติกก็ได้ แต่ใช้จนกว่ามันจะพังนะ

สำหรับมาตรการรัฐของเมกาที่กำลังจะดำเนินต่อเพื่อปี 2030 คือ "การแบนพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวไปให้หมด" ซึ่งตรงนี้รวมถึงพวกขวดน้ำแก้วน้ำอะไรงั้นด้วย ซึ่งก็เชื่อว่าน่าจะค่อย ๆ ทำได้อยู่ เพราะผู้คนที่นี่สามารถใช้ชีวิตแบบไม่มีพลาสติกกันได้แล้วแบบไม่ดราม่า

ถุงขยะต้องซื้อเอา

อีกสิ่งที่ผู้คนที่ไทยโวยวายกันคือ ถ้าไม่มีถุงพลาสติกมาให้แล้วจะเอาถุงที่ไหนไปใส่ขยะ

สำหรับคนที่นี่ก็ซื้อถุงขยะเอาเป็นปกติครับ

ก็เป็นที่ถกเถียงว่าการลดถุงพลาสติกจากการซื้อของตาม Grocery แล้วสุดท้ายก็ยังต้องซื้อถุงพลาสติกมาใส่อยู่ดีนี่มันดีต่อสิ่งแวดล้อมจริง ๆ หรอ ?

อันนี้เป็นตัวเลขที่น่าสนใจจากที่เค้าเก็บมาในช่วงเวลา 12 เดือนก่อนและหลังแบนถุงพลาสติกในร้านค้าปลีกครับ

ยอดขายถุงขยะเพิ่มขึ้นทันที 120% หรือคิดเป็น 12 ล้านปอนด์ แต่จำนวนถุงพลาสติกใส่ของที่ลดได้สูงถึง 40 ล้านปอนด์ หักลบแล้วลดถุงพลาสติกไปได้ 28 ล้านปอนด์หรือ 12.7 ล้านตัน

ดังนั้นสำหรับคนที่ถามว่ามันลดถุงพลาสติกได้จริงมั้ย ก็ตอบว่าลดได้จริงครับ แต่ทั้งนี้ มันต้องดำเนินการประกอบกับมาตรการที่คิดมาดีแล้วด้วยเท่านั้นถึงจะได้ผล ยังไงก็ลองศึกษาจากแคลิฟอร์เนียเป็นตัวอย่างดูละกันครับ

แล้วมันได้ผลเชิงสิ่งแวดล้อมรึเปล่า ?

ยังเถียงกันอยู่เลย ... มันก็เร็วไปที่จะบอกแหละ แต่ตัวเลขในช่วงปีหลัง ๆ ก็น่าสนใจดีตรงที่เราแทบไม่เห็นการขยับเพิ่มของขยะพลาสติกในอเมริกาเลย ค่อนข้างนิ่งมาก ๆ ถึงจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยแต่ก็เพียงแค่ 2-3% ต่อปีเท่านั้น

แต่ในแง่ของสิ่งแวดล้อมนั้นมีอะไรต้องร่วมพิจารณาอีกเยอะมาก ทั้ง Carbon Footprint เอย การปล่อยแก๊สเรือนกระจกเอย แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็เห็นแนวโน้มว่าดีขึ้นเรื่อย ๆ ครับ แค่คงต้องใช้เวลาอีกสักหน่อยในการสรุปผล

สรุป Bring Your Own Bag (BYOB) คือคำตอบ

สรุปแล้วไม่ว่าถุงอะไร จริง ๆ มันก็แย่กับสิ่งแวดล้อมไปหมดแหละถ้าใช้ครั้งเดียว

และจากการศึกษาพบว่าวิธีที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมที่สุดคือ

เอาถุงมาเองซะ

มันเป็นทั้งการลดขยะและเพิ่มการใช้ซ้ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีที่สุดของเรื่องนี้ทั้งสองอย่าง ให้คิดเสมอว่าการใช้ถุงเพิ่มเป็นการทำบาป แล้วชีวิตจะเริ่มปรับตัวได้เองครับ

เพราะทุกวันนี้เราก็รู้สึกแบบนั้นแล้วหละ ... ซึ่งรู้สึกดีนะ =D

แถม: Fee is smarter than a ban

ไม่รู้เหมือนกันว่าที่ไทยตอนนี้คือแบนถุงพลาสติกไปเลยแบบไม่มีให้ซื้อถุงเลยรึเปล่า แต่ก็ขอฝากเปเปอร์ที่น่าสนใจไว้อันนึง: Bag Bans vs Bag Fees

เปเปอร์ไม่ยาวมาก แต่ถ้าให้สรุปสั้น ๆ เลยคือ

การตั้งราคาถุงส่งผลดีให้คนใช้ถุงเดิมซ้ำกว่าการแบนไปเลย

ก็ฝากไว้ให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง ... และคนไทยที่ชอบดราม่าการจ่ายค่าถุงกันด้วย

Reference

Paper vs. Plastic Bags

Life cycle assessment of supermarket carrier bags: a review of the bags available in 2006

Proposed Plastic Bag Levy - Extended Impact Assessment

Plastics: Material-Specific Data

บทความที่เกี่ยวข้อง

May 1, 2017, 22:33
553303 views
ลองเล่น Toreba ตู้คีบตุ๊กตาญี่ปุ่นแบบออนไลน์ คีบได้ส่งให้ถึงบ้าน !
Jun 21, 2015, 13:36
11026 views
ประมวลภาพ I/O Rewind Bangkok 2015
0 Comment(s)
Loading