"จงให้แล้วเจ้าจะได้รับ"
สร้างเครื่องฟอกอากาศเอื้ออาทรสู้ฝุ่น PM2.5 เองในราคาพันนิด ๆ พร้อมข้อควรระวัง
2 Feb 2019 16:24   [53125 views]

หลังจากที่ปล่อยเรื่อง 3M Filtrete ไปก็ได้รับผลตอบรับดีมาก ดีเกินคาด ดีเกินไป สินค้าขาดตลาด คนเขียนบล็อกเองยังไม่มีใช้ ...

วันก่อนของลงเพิ่มก็หมดใน 1 วัน ดูแล้วถึงจะมีเพิ่มอีกเท่าไหร่ก็ไม่คิดว่าจะพอ Demand อยู่ดี แถมดูจากสภาพอากาศแล้วคาดว่าสถานการณ์จะยังไม่คลี่คลายง่าย ๆ นาทีนี้ทำอะไรได้ก็ควรทำไป เราเลยขอนำเสนออีกทางเลือกเพื่อให้อากาศภายในบ้านสะอาดกันครับ

เครื่องฟอกอากาศทำเอง

หลักการทำงานพื้นฐานของเครื่องฟอกอากาศ

หลักการของเครื่องฟอกอากาศค่อนข้างตรงไปตรงมาคือ

ดูดลมผ่าน Filter เข้าไปให้พวกฝุ่นถูกดักจับใน Filter จากนั้นก็พ่นลมที่สะอาดออกมา ทำแบบนี้ในห้องปิดสักพักอากาศในห้องก็จะสะอาดขึ้นมาก

ดังนั้น คีย์เวิร์ดหลักของเครื่องฟอกอากาศหรือเครื่องกรองอากาศก็คือ Filter นั่นแหละ

สำหรับ Filter ที่ใช้สำหรับกรอง PM2.5 เราจะเรียกมันว่า HEPA Filter หรือชื่อเต็มคือ High Efficiency Particulate Air ด้านในเป็นเส้นใยที่ถูกถักทออย่างไม่เป็นระเบียบ ซึ่งพวก PM2.5 ก็จะถูกเส้นใยเหล่านี้แหละดักจับเอาไว้

แต่เนื่องจากว่าเนื้อของ HEPA Filter จะต่างจาก 3M Filtrete A/C Filter มาก โดย HEPA Filter จะเป็นเนื้อที่แน่นเหมือนการกรองน้ำอะไรอย่างงั้นเลย ทำให้ลมผ่านได้ยาก หากเอาไปติดแอร์นี่แอร์พังได้เลย เราก็เลยจะเอาเจ้า HEPA Filter นี้มาประกอบกับสิ่งที่เหมาะสมกว่าอย่าง "พัดลม" ครับ

การประกอบก็ตรงไปตรงมา เจาะช่องกล่องกระดาษแล้วยัดพัดลมเข้าไป ซีลรูต่าง ๆ ด้วยเทปผ้า จากนั้นเจาะด้านหลังให้เล็กกว่า HEPA Filter เล็กน้อย หันให้ถูกด้านแล้วก็ติดเทปซีลไว้ เป็นอันเรียบร้อยครับ เราก็จะได้เครื่องฟอกอากาศเอื้ออาทรมาสู้ฝุ่นกับแล้ววว ใช้เวลาทำไม่นานด้วย

ค่าเสียหายแค่ประมาณ 1200 บาทเท่านั้นเอง พัดลม 600 บาทและ HEPA Filter อีก 600 บาทครับ หรือถ้าจะทำให้ดีหน่อยก็ 1600-1800 ครับ (ราคาอาจเปลี่ยนไปตามดินฟ้าอากาศและความหน้าเลือดของพ่อค้า)

การเลือก HEPA Filter

HEPA Filter ในตลาดมีอยู่เยอะ แนะนำให้เลือกตามนี้

1) เลือกตัวที่เป็น HEPA Filter ชั้นเดียว เพราะบางอันมันมาหลายชั้นมาก เช่น มี Activated Carbon ด้วย ซึ่งจะบล็อค Airflow จนลมไม่ออกได้

2) ดูสเปคว่ามันฟิลเตอร์ PM2.5 ได้จริงมั้ย (ของปลอมก็เยอะอยู่)

3) ขนาดฟิลเตอร์ควรจะพอ ๆ กับขนาดพัดลม

4) ลอกคนอื่นที่ทำแล้วเวอร์ค

ตัวที่ยืนยันว่าเวอร์คแล้วคือฟิลเตอร์ของ Xiaomi และ Hatari HA-9218 ส่วนตัวที่ไม่แนะนำคือ Hatari RAP-1201 เพราะหนาเกินไป แต่ถ้าจะใช้ก็ได้แต่ต้องแกะเอาเฉพาะชั้น HEPA มาครับ ชั้นอื่นเอาทิ้งไป

สามารถหาซื้อได้ตาม Lazada หรือ Shopee ครับ ยังมีอยู่ทั่วไป หรือถ้าหาไม่ได้สั่งจากจีนเอาก็มีอยู่

การเลือกพัดลม

แนะนำว่าควรจะเป็น "พัดลมระบายอากาศ" เท่านั้นครับ ขนาดสัก 8 หรือ 10 นิ้วกำลังดี เพราะกำลังลมดีและทนความร้อนได้สูง ส่วนพัดลมที่ไม่แนะนำคือ พัดลมตั้งโต๊ะ เพราะมันถูกออกแบบมาอีกแบบนึง มีโอกาสไหม้สูงครับ

สำหรับรูปทรงแนะนำเป็นทรงสี่เหลี่ยมเพราะจะประกอบง่ายที่สุด

ข้อควรระวัง: พัดลมไหม้ได้

อันนี้ขอเน้นย้ำเลยว่า การ DIY เครื่องฟอกอากาศนี้มีความเสี่ยงถึงขั้นไฟไหม้ได้เลย เนื่องจาก HEPA Filter จะขวาง Airflow ของพัดลมเต็ม ๆ ส่งผลให้มอเตอร์ทำงานหนักมาก หาก HEPA Filter หนาเกินไปหรือมี Layer ที่เยอะเกินไป จะทำให้พัดลมไหม้ได้ง่าย ๆ นี่ไม่ได้ขู่เพราะระหว่างทดลองก็ไหม้คามือมาแล้วด้วยการเปิดเพียง 10 นาที

ดังนั้นควรให้ผู้มีความรู้เรื่องไฟฟ้าและกลไกในการทำจะดีกว่าครับ หรือถ้าจะทำตามในเนตก็ต้องเช็คว่าคนทำเค้าเปิดใช้งานจริงหลายวันแล้วยังไม่พังค่อยซื้ออุปกรณ์ตาม หากซื้ออุปกรณ์ผิดเพียงนิดเดียวอาจไฟไหม้ได้เลย และที่สำคัญคือตอนเปิดใช้งานเราต้องอยู่กับเครื่องด้วยเสมอ หากมีเหตุไม่คาดฝันอะไรจะได้แก้ไขได้ทันเวลาครับ

ขอเตือนจริง ๆ ว่าการทำ DIY นี้ถือว่าอันตรายระดับหนึ่งอยู่ ถึงจะดูราคาถูกและประกอบง่าย แต่จริง ๆ มีเรื่องของระบบไฟฟ้าและ Inductor ที่เราควรจะต้องรู้ด้วย นี่ทำมาสัปดาห์กว่าแล้ว ทำพัดลมไหม้ไปสองตัว ตอนแรกว่าจะไม่เขียนบล็อกแล้วแต่รู้สึกว่ามันเป็นความรู้ที่ควรแชร์ทั้งเรื่องดีและเรื่องน่ากลัว จะได้ผ่านวิกฤติฝุ่นนี้ไปกันอย่างปลอดภัยครับ

ดูกันแบบวีดีโอ

อันนี้เป็นวีดีโออธิบายละเอียด เผื่อใครจะลองทำดูนะ

รักษาสุขภาพกันทุกคนครับ แว้บบบ

บทความที่เกี่ยวข้อง

Feb 25, 2019, 16:44
28813 views
พรีวิวมือถือ Samsung Galaxy S10, S10+ และ S10e มือถือจอเต็มกล้องโหดครบรอบ 10 ปีของ Galaxy S
Dec 24, 2018, 06:44
49128 views
รีวิว DJI Osmo Pocket ของคู่กายที่ Vlogger คู่ควร ฉบับละเอียดยิบยิบยิบยิบยิบ
0 Comment(s)
Loading