ถึงแม้ DJI Osmo Pocket จะได้รับความนิยมสูงปรี้ดจนของขาดตลาดหาซื้อไม่ได้แล้ว แต่จะว่าไปค่าตัวมันก็แรงอยู่นะเพราะเปิดตัวมาอยู่ที่ 13,500 บาท ก็เลยมีคำถามที่หลายคนถามเข้ามาว่า งี้ซื้อ DJI Osmo Mobile 2 คุ้มกว่ามั้ย เพราะมันค่าตัวแค่ 4,450 บาทเอง ต่างกัน 3 เท่าเชียวนะ !
ในฐานะที่เคยใช้มาแล้วทั้งสองตัว ก็เลยขอเขียนบล็อกเปรียบเทียบทั้งสองตัวนี้ในแง่การใช้จริงซะหน่อย เผื่อจะมีประโยชน์ในการช่วยตัดสินใจว่าจะสอยตัวไหนดี เอ้า จัดปายยยยย
ขนาด น้ำหนักและความสะดวกในการพกพา
เริ่มจากสิ่งที่เห็นชัดเจนจากภายนอกก่อนอย่างเรื่องของขนาด ซึ่งเอาจริง ๆ สำคัญ(มาก)นะ ! นี่จากใจคนที่เคยพก Osmo Mobile มาก่อน
สำหรับขนาดทั้งสองตัวนี่ต่างกันคนละโลกเลย ดังนี้ !
เอาเป็นว่าทั้งตัวของ Osmo Pocket นี่ยังสูงไม่ถึงด้ามจับของ Osmo Mobile 2 เลย สำหรับน้ำหนักก็เป็นไปตามอัตราส่วน Osmo Pocket เบากว่าตั้งประมาณ 4.5 เท่าเลยทีเดียว เบาจนถือยังไงก็ไม่เมื่อย ส่วน Osmo Mobile 2 นี่ถือแป๊บเดียวก็ปวดแขนแล้ว
ดังนั้นความสะดวกในการพกพาจึงต้องยกประโยชน์ให้กับทาง Osmo Pocket เต็ม ๆ เอารูปนี้มาเปรียบเทียบให้ดูเลยว่าตอนพกจริงนั้นรู้สึกต่างกันยังไงบ้าง
ตอนช่วงใช้ Osmo Mobile นี่คือคิดแล้วคิดอีกว่าจะเอาออกไปด้วยดีมั้ยว้า แต่พอเป็น Osmo Pocket นี่ถือหยิบติดใส่กระเป๋าไปด้วยทุกที่โดยไม่คิดอะไรเลย
รูปแบบการใช้งาน
Osmo Pocket สามารถใช้งานด้วยตัวมันเองได้เลย (Standalone) แค่หยิบขึ้นมาก็ถ่ายได้ทันที ถ้าอยากจะได้ฟีเจอร์เพิ่มเติมที่สมบูรณ์ค่อยต่อเข้ามือถือ แต่สำหรับ Osmo Mobile 2 มันเป็นแค่ Stabilizer ไม่มีกล้องในตัว ดังนั้นเวลาจะใช้ถ่ายงานต้องเสียบมือถือเข้าไปด้วยเท่านั้นถึงจะเริ่มใช้งานได้
ในแง่ของรูปแบบการใช้งาน DJI Osmo Mobile 2 จะใช้ "ถือ" เป็นหลัก ส่วน Osmo Pocket จะสามารถใช้ได้ทั้ง "ถือ" และ "วางตั้ง" ไว้ เพราะตัวเครื่องออกแบบมาเป็นทรงเหลี่ยมให้วางได้บนพื้นเรียบทันที ซึ่ง Osmo Mobile 2 จะวางก็ได้แต่ต้องซื้ออุปกรณ์เสริมมา ราคาเบา ๆ ประมาณ 400 บาท
ซึ่งฟีเจอร์การ "วาง" นี่จะบอกว่าเป็นฟีเจอร์สำคัญซะด้วยนะ ถ้าวางไม่ได้ก็ถ่ายพวกงาน Timelapse ไม่ได้เลย (หรือจะถือค้างไว้ 20 นาทีก็ตามจายยยย) หรือพวกงานที่วาง Gimbal ไว้เฉย ๆ ให้มันหันตาม (ActiveTrack) ก็ต้องใช้ที่วางอยู่ดี
และแน่นอน การที่ Osmo Mobile 2 นั้นใหญ่กว่า Osmo Pocket มาก แถมน้ำหนักรวม (ตัวมัน + มือถือ) ก็เกินครึ่งโลเข้าไปแล้ว ทำให้พื้นที่ที่ต้องใช้วางก็ต้องใหญ่และมั่นคงมากขึ้นไปด้วย อย่างเจ้า Osmo Pocket นี่วางตรงระเบียงขอบตึกยังพอได้อยู่เลย (ตามในรูป) แต่ของ Osmo Mobile 2 ต้องวางบนโต๊ะ ไม่งั้นมีสั่นไหวกันได้ ... ไม่ใช่กล้องนะ ใจคนนี่แหละ
ความสะดวกในการหยิบใช้งาน
เนื่องจาก Osmo Pocket นั้นเล็กมาก และสามารถทำงานแบบ Standalone ได้ ทำให้ความสะดวกนั้นสูงกว่า Osmo Mobile 2 แบบเทียบกันไม่ติดเลยอีกเช่นกัน เพราะ Osmo Mobile 2 มีต้นทุนการเริ่มใช้งานสูงมาก จะต้องเอามือถือเสียบเข้า Gimbal ต้องเปิดเครื่อง ต้องเปิดกล้องในมือถือ กว่าจะเริ่มต้นถ่ายได้ต้องใช้เวลาเป็นนาที ในขณะที่ Osmo Pocket นี่หยิบถ่ายได้เลย
และการที่มันเบา ทำให้เราสามารถหยิบมันขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ได้ อย่างเช่นวันก่อนเราซ้อนมอเตอร์ไซค์อยู่ แล้วก็คิด ๆ ว่า เฮ้ย มุมนี้มันสวย อยากถ่ายอ่ะ ก็เลยหยิบ Osmo Pocket ขึ้นมาถ่ายระหว่างซ้อนมอไซค์อยู่เลย ซึ่งถ้าเป็น Osmo Mobile 2 นี่ไม่มีสิทธิ์อ่ะ
แต่แน่นอน พอ Osmo Pocket มันเล็กมาก มันก็เลยมีราคาที่ต้องจ่ายอยู่ มาดูกันในหัวข้อถัดไป
ความสะดวกในการควบคุมจากตัวเครื่อง
ด้วยความเป็นไซส์พกพาของ Osmo Pocket ทำให้มันเลยไม่มีพื้นที่พอจะวางได้ครบทุกอย่าง ตัวปุ่มควบคุมบนตัวเครื่องเลยมีแค่ให้ใช้งานได้อย่างง่าย ๆ เท่านั้น ก็คือปุ่มกดถ่ายและปุ่มสลับโหมด ที่เหลือจะสามารถทำได้บนหน้าจอ แต่ก็ใช้งานยากมาก ๆ
นี่เลยเป็นข้อได้เปรียบของ Osmo Mobile 2 ที่พื้นที่เยอะกว่ามาก ทำให้ยัดฟังก์ชั่นการควบคุมมาได้อย่างครบถ้วน ทั้ง Joystick ทั้งปุ่ม Record รวมไปถึงการซูมด้วย ไม่ต้องไปจิ้มหน้าจอเพื่อถ่างซูมเอาอีกต่อไป
ก็ถือเป็นข้อดีที่ชนะ Osmo Pocket ไปแบบใส ๆ ครับ (แต่ก็แลกมาด้วยอะไรหลายอย่าง) ซึ่งเอาจริง ๆ ถ้าอยากจะเพิ่มปุ่มก็ทำได้ตามสไตล์ของ Osmo Pocket ... ซื้ออุปกรณ์เสริมจ้าาาา อันนี้เป็น Wheel ที่เอาไว้หมุน ๆ เพื่อ Pan/Tilt ได้ง่ายขึ้น (แต่ดูตัวอย่างการใช้งานแล้วมันก็ไม่ได้ง่ายขนาดนั้นอยู่ดี)
สนนราคาแอบโหดอยู่ที่ $59 เข้าไทยน่าจะราว ๆ 2,000 - 2,500 บาท ตัวเครื่องก็แพงอยู่แล้ว อุปกรณ์เสริมก็ยังจะแพงอี๊กกก เหอะ
วิธีการเชื่อมต่อกับมือถือ
ทั้ง Osmo Mobile 2 และ Osmo Pocket สามารถเชื่อมต่อกับมือถือได้แต่คนละวิธีกัน โดย Osmo Pocket จะใช้วิธีเสียบช่อง Universal Port เข้ากับมือถือแบบนี้
ส่วน Osmo Mobile 2 จะเห็นว่าไม่มีสายอะไรจิ้มเข้าไปยังมือถือเลย เพราะมันใช้วิธีเชื่อมต่อไร้สายผ่าน Bluetooth 4.0 นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม จริง ๆ แล้ว Osmo Pocket ก็สามารถเชื่อมต่อไร้สายผ่าน Bluetooth และ WiFi ได้เหมือนกันนะ แต่ ... ต้องซื้ออุปกรณ์เสริม Wireless Module จ้าาา
ก็ถือว่ายังออกแบบมาดีอยู่ สามารถเสียบแล้ววางตั้งได้เหมือนเดิม ส่วนราคาก็เศร้าเท่ากับอิเจ้า Wheel ข้างบน $59 หรือราว ๆ 2,000 - 2,500 บาทครับ
อย่างไรก็ตาม ในแง่ความง่ายในการเชื่อมต่อ ความจริงแล้วทั้งสองก็ไม่ต่างอะไรกันมาก ถือว่าเชื่อมต่อง่ายมากไม่ว่าจะผ่านหัวต่อหรือ Bluetooth ครับ เพียงแต่ตอนถือ Osmo Mobile 2 จะถือสะดวกกว่าเล็กน้อย เพราะจับที่ด้ามได้ ไม่ต้องยกแขนสูง แต่กับเจ้า Osmo Pocket เราจะต้องจับที่มือถือแทน และเพื่อให้จออยู่ในระดับสายตาเราก็เลยต้องยกแขนสูงกว่าซึ่งเมื่อยกว่า (แต่น้ำหนักก็เบาอยู่นะ)
Software ที่ใช้บนมือถือและคุณภาพภาพ
เป็นเรื่องต่อจากข้างบน สำหรับการเชื่อมต่อกับมือถือก็เพื่อเข้าถึงฟังก์ชั่นต่าง ๆ อย่างสมบูรณ์นั่นเอง ซึ่งก็ต้องอาศัยแอป ฯ ที่อยู่บนมือถือด้วย โดยสองตัวนี้ใช้แอป ฯ คนละตัวกัน Osmo Mobile 2 ใช้แอป ฯ DJI GO
ส่วน Osmo Pocket ใช้แอป ฯ DJI Mimo ครับ
แต่ฟังก์ชันพื้นฐานก็ค่อนข้างคล้าย ๆ กัน คือเอาไว้ถ่ายภาพ/วีดีโอ ส่วนฟีเจอร์เสริมต่าง ๆ ก็มีมาครบทั้งคู่ เช่น Slow Motion, Timelapse, Motionlapse, ActiveTrack, Panorama ฯลฯ แต่ของ Osmo Mobile 2 จะปรับอะไรได้เยอะกว่าหน่อยเพราะการถ่ายเป็นการถ่ายจากมือถือ 100% ทำให้ Software เลยทำอะไรได้เยอะกว่า เช่น ถ่าย HDR ได้ เป็นต้น ในขณะที่ Osmo Pocket เป็นการเอาภาพจากกล้องบนตัวเครื่องสตรีมมาขึ้นจอเฉย ๆ ทั้งนี้ มีบางฟีเจอร์ที่มีเฉพาะบนตัวใดตัวหนึ่งเท่านั้นด้วย เดี๋ยวเอามาบอกในหัวข้อหลัง ๆ ครับ
ในขณะเดียวกัน ด้วยเหตุผลว่า Osmo Mobile 2 ใช้กล้องมือถือในการถ่ายนี่แหละ การตั้งค่าบางอย่างบนแอป ฯ DJI GO ก็เลยถูกจำกัดไว้ที่ประสิทธิภาพของกล้องด้วย เช่น มือถือบางตัวอาจถ่าย 4K ได้ บางตัวอาจได้แค่ Full HD รวมถึงคุณภาพของภาพที่ถ่ายได้เลยอยู่ที่กล้องมือถือตัวน้ัน ๆ ด้วย หากมือถือแพงหน่อยกล้องดีหน่อยภาพก็อาจจะดีกว่า Osmo Pocket ได้ แต่ถ้ามือถือถูก ๆ กล้องคุณภาพไม่ดี ภาพก็อาจจะออกมาแย่กว่ามากก็ได้
ทั้งนี้สำหรับ Osmo Mobile 2 ถ้าเกิดต้องการแค่ถ่ายวีดีโอโดยไม่ได้ใช้ฟังก์ชั่นเสริมอย่างพวก Timelapse เราก็สามารถใช้แอป ฯ กล้องของมือถือในการถ่ายด้วยเช่นกัน โดยใช้ Gimbal แค่ทำให้ภาพนิ่งและช่วยให้หันไปมาอย่างลื่นไหล และอยากจะบอกว่าภาพมักจะสวยกว่าด้วย ด้วยสาเหตุสามอย่างคือ
(1) Software ของตัว Stock Camera ทำมาดีกว่า DJI GO มาก ภาพออกมาสีสวยกว่า ปรับแสงดีกว่า พวก HDR อะไรสมบูรณ์แบบ
(2) มือถือตัว Top มักจะมี OIS (กันสั่น) มากับเลนส์อยู่แล้ว พอกันสั่นของ Gimbal กับกันสั่นของเลนส์มาเจอกัน ภาพก็จะนิ่งขึ้นอีก
(3) แอป ฯ กล้องที่ติดมากับเครื่องมักจะถูกพัฒนาให้ดึงความสามารถของกล้องมือถือรุ่นนั้น ๆ ออกมาอย่างเต็มประสิทธิภาพ อีกทั้งมักจะมาพร้อมฟีเจอร์เสริมบางอย่าง เช่น Hyperlapse ก็ใช้งานได้เลยทันที
แต่ถ้าต้องใช้ฟีเจอร์ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุม Gimbal เช่น Motionlapse ไรงี้ก็คงหลีกเลี่ยงใช้แอป ฯ DJI GO ไม่ได้ครับ
สุดท้ายนี้เราไม่สามารถบอกได้จริง ๆ ว่าคุณภาพภาพที่ได้จาก Osmo Pocket และ Osmo Mobile 2 อันไหนจะดีกว่ากัน เพราะว่าปัจจัยหลักอยู่ที่มือถือล้วน ๆ ครับ ก็อยากให้มองว่า Osmo Pocket คือกล้อง ส่วน Osmo Mobile 2 ไม่ใช่กล้องแต่เป็นอุปกรณ์เสริมของกล้องเฉย ๆ และคุณภาพของภาพตัดสินกันที่ "กล้อง" ล้วน ๆ ครับ
องศาภาพ
Osmo Pocket ถูก Fix องศาภาพ (FOV) ไว้ที่ 80 องศา ส่วน Osmo Mobile 2 นั้นก็ขึ้นอยู่กับกล้องมือถืออีกเช่นกันครับ ถ้าอยากได้ภาพกว้าง ๆ หน่อยก็มีมือถือหลายรุ่นที่ FOV มากกว่า 90 องศาอยู่
การเสียบไมโครโฟนภายนอก
เนื่องจาก Osmo Mobile 2 การบันทึกภาพและเสียงล้วนเกิดบนมือถือ ทำให้เราสามารถเสียบไมค์แยกเข้ามือถือได้เลย (ซึ่งถ้าใครใช้ไอโฟนก็ซื้อ Adapter กันไปนาจาาาา ฮี่ ๆ) แต่ก็มีข้อจำกัดเล็กน้อยคือ ตอนอยู่ในแนวนอน การเสียบไมค์อาจจะยากหน่อยเพราะจะติดก้าน Gimbal ก็ต้องเลื่อนมือถือไปทางซ้ายหน่อยนึงและต้องใช้แจ๊คไมค์ที่หัก 90 องศาลงมาด้านล่างถึงจะใช้ได้ หรือถ้ากล้องอยู่ตรงขอบ (เช่น iPhone) ก็สามารถหันหัวมือถือเข้าด้านก้านเพื่อเสียบไมค์ตรงฝั่งซ้ายก็ทำได้เช่นกันครับ
ส่วน Osmo Pocket ไม่สามารถเสียบไมค์ภายนอกได้ แต่ถ้าอยากจะเสียบจริง ๆ ก็ต้องใช้วิธีแก้ปัญหาแบบ Osmo Pocket ... ใช่จ้าาาา ซื้ออุปกรณ์เสริมเพิ่มจ้าาาาา ตัวนี้ !
แต่ข้อเสียหลัก ๆ คือตอนเสียบอุปกรณ์เสริมตัวนี้เข้าไปแล้วจะวางตั้งไม่ได้อีกต่อไป ต้องถืออย่างเดียว สุดท้ายคงต้องหาอุปกรณ์เสริมเพิ่มอีกตัวเพื่อให้มันวางได้อีก ไว้ค่อย Work กันอีกรอบ
การ Live Video
อีกข้อจำกัดนึงของ Osmo Pocket คือไม่สามารถ Live ได้ แต่สำหรับ Osmo Mobile 2 นี่สบายยยยย เพราะอย่างที่บอก มันก็ยังเป็นกล้องมือถืออยู่ดี จะ Live โดยตรงผ่านแอป ฯ นั้น ๆ เลยก็ได้ หรือจะ Live ผ่านแอป ฯ DJI GO ก็ได้ มีให้เลือกอยู่หลายตัว เช่น Facebook, YouTube, Weibo
ข้อนี้น่าจะสำคัญสำหรับใครหลายคน ก็ถือเป็นข้อมูลเอาไว้ตัดสินใจกันนะครับ
ว่าแต่เสื้อเหลืองน่ารักจุง ...
การใช้งานในแง่ Action Cam
ความเทอะทะของ Osmo Mobile 2 นั้นทำให้มันหมดสิทธิ์จะใช้งานในด้าน Action Cam โดยสมบูรณ์ แต่สำหรับ Stabilizer พร้อมกล้องไซส์มินิอย่าง Osmo Pocket นั้นสามารถทำงานนี้ได้สบายมาก ! เพราะนอกจากจะมีขนาดที่เหมาะสมแล้ว Osmo Pocket ยังมาพร้อม FPV Mode ที่เปิดให้ทุกแกนสามารถหมุนได้อย่างอิสระ ไม่มีการล็อคใด ๆ ทำไว้เพื่อการถ่ายงาน Action Cam โดยเฉพาะ แต่แน่นอนหละ ต้องซื้ออุปกรณ์เสริมเพิ่มอีกแล้ว หลัก ๆ ก็คือหัว Mount ติดกับหมวกหรือกระเป๋านั่นเองครับ
รวมถึงถ้าอยากเอาไปใช้ดำน้ำก็จัดไป Waterproof Case ที่กันน้ำได้ลึกถึง 60 เมตร
ทำไมมีแต่อุปกรณ์เสริมฟระ DJI !!! มี GoPro เป็นไอดอลสินะ
แบตเตอรี่
ขนาดที่ต่างกันลิบขนาดนี้ ไม่ต้องแปลกใจที่ความจุแบตเตอรี่ก็เลยต่างกันไปชนิดเทียบกันไม่ติด (ราว ๆ 11 เท่า) เอาสเปคให้ดูก่อนตามนี้
Osmo Pocket
- ความจุ 875 mAh
- สามารถถ่ายได้ต่อเนื่องราว ๆ 100 นาที (โฆษณาบอก 140 นาที แต่ในสถานะอุดมคติ)
- ชาร์จผ่านพอร์ต USB Type-C
- ใช้เวลาชาร์จจนเต็มประมาณ 1 ชั่วโมง 10 นาที
- สามารถชาร์จไปถ่ายไปได้
Osmo Mobile 2
- ความจุ 9600 mAh
- ถ่ายต่อเนื่องได้ประมาณ 12 ชั่วโมง (โฆษณาบอก 15 ชั่วโมง แต่ในสถานะอุดมคติ)
- ชาร์จผ่านพอร์ต microUSB
- ใช้เวลาชาร์จจนเต็มประมาณ 2 ชั่วโมง
- สามารถชาร์จไปใช้งานไปได้
โดยทั้งสองตัวไม่สามารถถอดแบตเตอรี่เปลี่ยนได้ ต้องชาร์จในตัวเท่านั้น
ในด้านของ Osmo Pocket ก็ไม่มีอะไร ค่อนข้างตรงไปตรงมา ถ้าใช้แบบ Standalone ก็จะเสียแบตไปกับตัวเครื่องเท่านั้น แต่ถ้ามีการเสียบมือถือเข้าไป แบตก็จะลดลงเร็วขึ้นอีกอย่างมีนัยสำคัญ (ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่แนะนำให้เสียบเข้ามือถือเท่าไหร่)
แต่กับ Osmo Mobile 2 ที่ตอนถ่ายจะต้องใช้มือถือร่วมด้วย กลับกลายเป็นว่ามีแบตเตอรี่ที่เกี่ยวข้องอยู่สองส่วนคือเจ้าตัว Gimbal และแบตมือถือ ซึ่งก็บ่อยครั้งอยู่นะที่เกิดเหตุการณ์ว่า Gimbal แบตยังเหลือเฟือแต่มือถือแบตหมดซะแล้ว ทำยังไงหละ ? ... ไม่ใช่ปัญหาอะไร DJI คิดเผื่อไว้แล้ว ! เพราะ Osmo Mobile 2 มีช่อง USB เพื่อปล่อยไฟให้ชาร์จมือถือระหว่างใช้งานได้ด้วย ! (แต่ถ้าชาร์จตัว Osmo Mobile 2 อยู่จะปล่อยไฟออกให้มือถือไม่ได้นะ)
ก็ถือว่าสะดวกมาก ๆ ยังไม่มีทางที่แบตมือถือจะหมดก่อนละ เสียบชาร์จไปเลย ถ้าหมดก็หมดพร้อมกันไปละกันน้าาาาา
ในด้านแบตเตอรี่ก็คงต้องยอมรับว่า Osmo Mobile 2 ชนะเลิศ แต่ถ้าใช้ Osmo Pocket แล้วพก Powerbank ก็เป็นออปชั่นที่ไม่เลวเพราะมันชาร์จไปถ่ายไปได้ด้วยนั่นเอง
ฟีเจอร์ที่มีบน Osmo Mobile 2 แต่ไม่มีบน Osmo Pocket
ฟีเจอร์ของทั้งสองตัวค่อนข้างซ้อนทับกัน เหมือนกันไปซะ 90% เห็นจะได้ แต่ก็มีบางฟีเจอร์ที่มีเฉพาะบนตัวนึงเท่านั้น หัวข้อนี้จะมาพูดถึงตัวที่มีบน Osmo Mobile 2 แต่ไม่มีบน Osmo Pocket ก่อน
การซูม
เป็นสิทธิประโยชน์จากการใช้กล้องมือถือ Osmo Mobile 2 ก็เลยซูมวีดีโอได้ ซึ่งมันก็เป็น Digital Zoom แหละ แต่มือถือรุ่นใหม่ ๆ บางรุ่น Digital Zoom แล้วก็ยังชัดได้อยู่ถ้าไม่ได้ถ่ายความละเอียดระดับเต็ม (เช่น กล้องถ่ายได้ 4K แต่ถ่ายแค่ 1080p ก็จะซูมได้ระดับนึงก่อนภาพแตก)
ข้อนี้จริง ๆ ทางเทคนิค Osmo Pocket ก็ควรทำได้ แต่ตอนนี้ยังทำไม่ได้เท่านั้นเอง ก็ต้องรอลุ้นว่าจะมีอัปเดต Firmware เพื่อเพิ่มฟีเจอร์ตรงนี้มั้ยอีกที
Hyperlapse
บล็อกที่แล้วเรานำเสนอวิธีการถ่าย Hyperlapse ด้วย Osmo Pocket ไป แต่นั่นมันก็เป็นเทคนิคแบบแฮค ๆ เพราะโหมดนี้ไม่มีใน Osmo Pocket แต่มันกลับมีใน Osmo Mobile 2 หลัก ๆ คือมันจะสามารถตั้งเวลาได้ว่าทุกกี่วิจะถ่ายรูปทีนึง จากนั้นมันจะรวมเป็นวีดีโอให้ ระหว่างนั้นเราก็เดินไปจนกว่าจะพอใจครับ
ทั้งนี้ เราสามารถถ่ายวีดีโอปกติแล้วไปเร่งสปีดเอาทีหลังก็ได้เช่นกัน
UltraWide Angle Panorama / 360°
เป็นโหมดนึงใน Panorama ที่สามารถถ่ายภาพ 360° ได้ แต่ก็ไม่ได้เต็มทุกมุมหรอก แค่เกือบครบเฉย ๆ
ฟีเจอร์ที่มีบน Osmo Pocket แต่ไม่มีบน Osmo Mobile 2
คราวนี้มาดูฟีเจอร์ที่มีแต่บน Osmo Pocket กันบ้าง
FPV Mode
เป็นโหมดที่กล้องหมุนตามเราในทุกแกน ไม่มีการล็อค เอาไว้ถ่ายงาน Action Cam นั่นเอง
FaceTrack
เมื่อเราหันกล้องเข้าตัวเอง Osmo Pocket จะทำการตรวจจับใบหน้าและหมุนตามโดยอัตโนมัติ ฟีเจอร์นี้ไม่มีบน Osmo Mobile 2 แต่อย่างไรก็ตาม เราสามารถใช้ ActiveTrack แทนได้ครับ
สรุป
สองตัวนี้เอาจริง ๆ มันมีอะไรที่ซ้อนทับกันอยู่เยอะมาก แทบจะแทนกันได้เลย เลือกใช้แค่ตัวเดียวก็พอ โด
อยากให้มองว่า Osmo Pocket คือกล้องสำเร็จรูปที่มีทุกอย่างครบ ใช้งานได้เลยทันที ในขณะที่ Osmo Mobile 2 เป็นอุปกรณ์ที่ทำให้การถ่ายวีดีโอด้วยมือถือภาพออกมา Professional ขึ้นมหาศาล สุดท้ายก็วัดกันที่คุณภาพภาพและเสียงที่อัดออกมาได้แหละ ซึ่งมันก็จะอิงกับรุ่นมือถือที่ใช้โดยตรง
แต่ในแง่ความสะดวกแล้ว จากใจเลย ตอนนี้เราวาง Osmo Mobile ไว้เฉย ๆ ละ เรารู้สึกว่ามันเป็นภาระมาก ในขณะที่ Osmo Pocket นี่เราพกทุกวัน จะใช้ไม่ใช้ก็พกเพราะมันเบาและเล็กมาก เวลาจะหยิบมาถ่ายก็ไม่รู้สึกว่าลำบาก ถ่ายเสร็จก็เก็บและใช้ชีวิตต่อได้ทันที ซึ่งส่วนตัวการใช้งานสะดวกรวดเร็วเป็นเรื่องสำคัญสุดของงานด้านนี้ ภาษีเจ้า Osmo Pocket ก็เลยดีกว่าพอสมควร แต่ก็แลกมากับการที่มันแพงกว่าถึง 3 เท่า แถมถ้าต้องการอะไรเพิ่มก็ต้องซื้ออุปกรณ์เสริมเพิ่มอีก ซึ่งแต่ละอย่างก็แพงมากอีกตะหาก
ก็ลองพิจารณากันดูครับว่าอยากได้ตัวไหน Osmo Mobile 2 ถูกกว่ามากแต่มีราคาที่ต้องจ่ายเป็นความลำบากในการพกพาและใช้งาน ในขณะที่ Osmo Pocket นั้นชนะขาดด้านการพกพาสะดวกและใช้งานง่ายแต่ก็แพงกว่าและยังแพงขึ้นได้อีกถ้าต้องใช้อุปกรณ์เสริม เรียกว่ามีราคาที่ต้องจ่ายเหมือนกัน ... เงินล้วน ๆ จย้าาาาา
ก็ตามน้านนนนนน หวังว่าจะมีประโยชน์สำหรับคนที่กำลังตัดสินใจเรื่องนี้อยู่ เป็นอันว่าจบไปอีกหนึ่งบล็อก เย้ !!! แฮ่ ~ สวัสดีครับ