จบไปแล้วสำหรับงาน LINE Developer Day ที่จัดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ตอนแรกว่าจะเขียนสรุป Keynote แล้วแยกเนื้อหาแต่ละ Session ออกเป็นตอน ๆ แต่ไป ๆ มา ๆ พอจบงานก็ได้รู้ว่ามันมีเนื้อหาที่น่าสนใจเยอะจัด ๆ แถมยังเกี่ยวข้องกันหมด ก็เลยเปลี่ยนใจ ขอสรุปเป็นบล็อกเดียวเลยละกัน อ่านกันยาวยาวววว (อีกแล้ว)
สำหรับงานนี้ต้องบอกว่ามีอะไรน่าสนใจเยอะมาก แต่สิ่งที่เราสนใจเป็นพิเศษคงเป็นเรื่องของ "ทิศทาง" ที่ LINE กำลังจะเดินไป และงานนี้ก็เป็นงานสำหรับ Developer โดยเฉพาะ เนื้อหาก็เลยค่อนข้างไปทาง Geek ก็จะพยายามเขียนให้เข้าใจง่ายละกันนะคร้าบบบ แต่บางส่วนก็คงหลีกเลี่ยงความ Geek ไม่ได้ อันไหนเราลงดีเทลแล้วผู้อ่านไม่ได้เป็นนักพัฒนาก็ข้ามได้ ๆ
อ่ะเริ่ม !
สถานการณ์และปัญหาที่ LINE กำลังเผชิญ
ทิศทางที่ดีนั้นมาจากการทำความเข้าใจปัญหาที่กำลังเจอรวมถึงมองหาโอกาสใหม่ ๆ ถ้ายังไม่ตระหนักตรงนี้ก็ไม่มีทางจะกำหนดทิศทางที่ดีได้เลย ดังนั้นเราเลยขอเริ่มต้นจากปัญหาที่ LINE กำลังเผชิญอยู่ละกัน อันนี้ทาง LINE ไม่ได้พูด แต่เป็นโจทย์ที่เรามีอยู่ในใจตั้งแต่ก่อนบินไป และตั้งใจจะไปงานนี้เพื่อหาคำตอบเลย
ไม่ใช่เรื่องอะไรซับซ้อน มันคือการที่ "LINE ไม่มีการเติบโตในแง่ของจำนวนผู้ใช้งานแล้ว" นั่นเอง นี่เป็นกราฟจำนวนผู้ใช้ที่ยังแอคทีฟอยู่ต่อเดือน จะเห็นว่าทั่วโลกลดลงเรื่อย ๆ เลย แต่ญี่ปุ่นก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นะ (แปลว่าประเทศอื่น ๆ ผู้ใช้ลดลง)
และตลาดที่แอป ฯ LINE ครองก็ยังเป็น 4 ตลาดหลักอย่าง ญี่ปุ่น ไทย ไต้หวันและอินโดนีเซีย เหมือนเดิม และก็ดูน่าจะเป็นแบบนี้ไปอีกนาน LINE คงไปตีประเทศอื่นยากและแอป ฯ อื่นก็คงมาตีสี่ประเทศนี้ยากเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ถึงจำนวนผู้ใช้จะลดลง แต่รายได้ก็ยังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อยู่นะ ถือเป็นเรื่องที่ดี
ไม่ลงรายละเอียดละกันว่ารายได้ตรงไหนเพิ่มตรงไหนลด ถ้าอยากรู้ก็ไปอ่านเพิ่มที่ Line Corp. 2018 Q1 - Results - Earnings Call Slides ได้ครับ
เมื่อสถานการณ์เป็นแบบนี้ ก็ต้องบอกว่า LINE อยู่ในสถานะอิ่มตัวในตลาดที่ตัวเองครองเรียบร้อยแล้ว ถ้าการสเกลในด้านจำนวนผู้ใช้ (Horizontal Scale) ทำไม่ได้แล้ว แล้วทาง LINE จะขยายตลาดไปทางไหนเพื่อให้ได้รายได้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ได้บ้าง ?
ที่ผ่านมาก็คงเห็นมูฟที่ LINE เริ่มขยายบริการจาก LINE Chat ออกไปแล้ว แต่ก็ยังไม่ชัดเจน ดูสะเปะสะปะอยู่บ้าง แต่งานนี้ LINE ก็ประกาศอย่างชัดเจนแล้วว่า LINE ทราบสถานการณ์ดีนี้ดีและด้วยเหตุนี้ ใน Keynote ทาง CTO จึงมีประกาศธีมของ LINE หลังจากนี้ออกมาอย่างชัดเจน "Next LINE"
ธีมของ LINE จากนี้คือ "Next LINE"
เป็นสไลด์แรก ๆ ใน Keynote เลย เป็นการประกาศอย่างชัดเจนว่า "LINE กำลังจะเข้าสู่ยุคต่อไปแล้วนะ" จะไม่วนอยู่กับโปรดักส์เดิม ๆ อีกต่อไปแล้วนะ แต่จะก้าวเข้าสู่โลกใหม่เพื่อขยายบริการออกด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ ไปตามกระแสโลก
ซึ่ง Next LINE มาพร้อมแนวทางหลักสองหัวข้อด้วยกันได้แก่ Connect และ Mutually Benificial Ecosystem
1) Connect - เพิ่มช่องทางการเข้าถึงบริการของ LINE
ตรงไปตรงมา "เชื่อมต่อทุกอย่างเข้าด้วยกัน" นั่นเอง บางอย่างก็มีอยู่แล้ว บางอย่างก็เพิ่มขึ้นมา แต่ถ้า Twist นิดหน่อย ก็จะเห็นวิชั่นของ LINE ที่จะ
"เพิ่มช่องทางการเข้าถึงบริการต่าง ๆ ของ LINE"
ถามว่าทำไมถึงสำคัญ ? ก็เพราะว่ายิ่งมีช่องทางในการใช้งานบริการของ LINE เยอะ ระบบ Ecosystem ก็จะยิ่งสมบูรณ์ขึ้น และก็จะเพิ่มจำนวนผู้ใช้ทั้งระยะสั้นและระยะยาวไปในตัว เป็นการขยับตัวจากจุดเดิมที่น่าสนใจ
แอป ฯ LINE ถูกเริ่มต้นด้วย LINE Chat เป็นแกนกลาง Active User ส่วนใหญ่ก็มาจากตัวแชทนี้ทั้งนั้น จากนั้น LINE ก็เริ่มมีขยายไปยังบริการอื่น ๆ บ้าง เช่น LINE Games เอย หรือตัว Online Content เอย (เช่น LINE Today, LINE TV) และก็ยังมีการเปิดให้ใช้ LINE Login ในการเข้าถึงบริการของ 3rd Party ได้อีกด้วย ก็ถือว่า LINE ทำได้ดีตรงนี้อยู่แล้วในการสร้างระบบแกนกลางเพื่อต่อยอดไปยังบริการอื่น ๆ
แต่เหมือนรอบนี้ LINE จะพยายามหลุดจากความเป็น Chat App อย่างเป็นทางการ เพราะเริ่มจะขยายบริการไปยังอุปกรณ์อื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับมือถืออีกต่อไปแล้ว อย่างล่าสุด LINE ก็มีบริการบนอุปกรณ์อื่น ๆ ที่สามารถทำงานแบบ Offline ได้แล้วด้วย เช่น ลำโพงเอย (Clova), รถยนต์เอย (Clova Auto) พวกนี้ถูกทำงานด้วย Clova Engine ทั้งหมด ก็คิดว่าคนไทยอาจจะยังไม่คุ้นกับมันเท่าไหร่เนื่องด้วยภาษาที่สนับสนุนยังไม่มีภาษาไทย แต่ที่ญี่ปุ่นเริ่มมีให้ใช้งานจริงกันบ้างแล้ว
ก็จะเห็นว่ามูฟนี้พยายามทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการของ LINE ผ่านช่องทางมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อ LINE ทั้งในแง่เพิ่มจำนวนผู้ใช้ (เพราะช่องทางเข้าถึงเยอะขึ้น) และทำให้ผู้ใช้เดิมมีบริการใหม่ ๆ มาให้ใช้เพิ่มอีกด้วย
ถ้ามองภาพไม่ออกว่ามีบริการอะไรที่จะโผล่ขึ้นมาเพิ่มขึ้นมาบ้าง ทาง LINE ก็มีเอาตัวอย่างมาให้ดูในงานนี้ด้วย เช่น
Search - ระบบค้นหาเนื้อหาต่าง ๆ ที่ฉลาดขึ้น มีการแสดงผลการค้นหาที่สอดคล้องกับตัวผู้ค้นหา
Recommendation - ช่วยนำเสนอบริการและข้อมูลต่าง ๆ อย่างชาญฉลาดให้เหมาะสมกับคนนั้น ๆ
Personalization - ระบบจะเรียนรู้ว่าผู้ใช้แต่ละคนชอบอะไร และจะทำการส่งข้อมูลที่เหมาะสมกับคนนั้น ๆ มาให้ ทำให้แต่ละคนได้ Content แตกต่างกันออกไป ตรงนี้ทาง CTO ให้สัมภาษณ์ว่าจะมีการอ่านข้อมูลส่วนตัว เช่น ข้อมูลแชท ด้วย (ไม่งั้นก็ไม่มีทางเรียนรู้ได้ว่าคนนั้นชอบอะไร ถือว่า Make Sense) แต่ทาง LINE ก็ตระหนักถึงความเป็นส่วนตัวและจะแจ้งทุกอย่างว่าข้อมูลเหล่านั้นเอาไว้ใช้ทำอะไรบ้าง ไม่ต้องกังวล
Speech Recognition / Synthesis - การที่เราสามารถคุยกับลำโพงหรือรถได้โดยตรงก็มาจากความสามารถในการวิเคราะห์และสังเคราะห์เสียงตรงนี้นี่แหละ น่าเสียดายที่ยังใช้ได้แค่ภาษาญี่ปุ่นและเกาหลีเท่านั้น
Conversation - นอกจากจะสามารถวิเคราะห์/สังเคราะห์เสียงได้แล้ว LINE ก็ยังทำระบบบทสนทนาให้เหมือนคนจริงไว้อีกด้วย เอาไว้ Interact กับผู้ใช้นั่นเอง ถ้านึกไม่ออกก็คือ Siri นั่นแหละแต่เป็นเวอร์ชันของ LINE
ก็จะเห็นว่าบริการต่าง ๆ เน้นไปทางการ Content อย่างเต็มตัวผ่านทางอุปกรณ์ต่าง ๆ (เผื่อใครยังไม่รู้ LINE เป็นบริษัทที่มี Content ในมือเยอะมาก และ LINE กำลังพยายามสร้างรายได้จากสิ่งเหล่านั้น)
และที่น่าสนใจคือ สังเกตดูว่าทุกบริการที่พูดถึงมานี้มี AI เข้ามาเกี่ยวข้องทุกอย่างเลย ก็ทำให้เห็นละว่า LINE เอาจริงเรื่อง AI และไม่ใช่ทำมาเล่น ๆ ด้วย แต่มีการใช้งานจริงให้เห็นแล้ว สำหรับเรื่อง AI เดี๋ยวจะพูดเต็ม ๆ ในอีกหัวข้อนึงนะ
2) Mutually Beneficial Ecosystem - ทุกคนมีผลประโยชน์ร่วมกัน
หนึ่งในแนวทางที่น่าสนใจสุด ๆ ของ LINE ที่เผยให้เห็นในงานนี้คือ "LINE มีความเปิดขึ้นมากถึงมากที่สุด" ถึงกับเขียนเป็น Core Value ของ Next LINE ชัดเจนเลยว่า
"จากนี้เราจะสร้าง Ecosystem ที่เกิดผลประโยชน์ร่วมกันทั้ง LINE นักพัฒนาและผู้ใช้แล้วนะ (Mutally Beneficial Ecosystem)"
ที่ผ่านมา LINE ค่อนข้างทำระบบปิดมาตลอด จะทำอะไรก็แทบไม่ได้ จนกระทั่งปีสองปีที่ผ่านมาก็เริ่มมี API อะไรโผล่มาให้ใช้บ้างแต่ก็ยังไม่เยอะ แต่ปีนี้ชัดเจนว่า LINE กำลังทยอยเปิด API ให้นักพัฒนาทั่วไปใช้เยอะขึ้นเรื่อย ๆ บางอันนี่ถึงกับแทนที่ Mobile App ได้เลย ซึ่งถ้าให้พูดตามตรง ถ้า LINE ไม่มูฟตรงนี้ ต้องบอกว่าจากนี้ LINE จะเริ่มลำบากแล้ว ตอนนี้ก็ช้ากว่าที่ควรจะเป็นแล้วเล็กน้อย แต่อย่างน้อยก็มาแล้ว ถือว่าเป็นแนวทางที่ถูกต้องมาก ๆ ของ LINE ครับ
สำหรับ Ecosystem ที่ LINE ทำมาจะอยู่ในรูปนี้ เชื่อมต่อผู้ใช้และนักพัฒนาเข้าด้วยกันโดยตรง แถมยังสามารถ Benefit ผู้ใช้ด้วยการสร้างแต้มสะสมให้กับผู้ใช้ผ่านทาง LINK Chain ซึ่งเป็นตัว Blockchain ของ LINE (ซึ่งจะพูดถึงในหัวข้อหลัง ๆ เช่นกัน)
แล้วถามว่านักพัฒนาจะสามารถเขียนโปรแกรมติดต่อบริการอะไรได้บ้าง ? ก็ตามภาพนี้เลยครับ นี่เป็น Open APIs ที่ทาง LINE เปิดไว้ให้เรียบร้อย !
หลาย ๆ อย่างก็เป็นของเก่าแหละ Messaging API ก็ทำตัว Chat Bot เนอะ (ซึ่งกำลังจะมีข่าวดีในไทยเร็ว ๆ นี้ โปรดติดตาม) ตัว LINE Notify, LINE Beacon, LINE Login อะไรพวกนี้ก็น่าจะรู้จักหมดแล้ว มีที่น่าสนใจหน่อยคือ LINE Pay API ที่ทำให้เราตัดเงินผ่าน LINE Pay ได้ทันที มีมาหลายเดือนแล้ว แต่ผู้คนน่าเพิ่งเริ่มใช้กัน
ก็มีของใหม่ที่อยากโฟกัสอยู่สองตัว เพราะมีอยู่ตัวนึงน่าจะสำคัญระดับมาแทนที่ Mobile Application ได้เลย ส่วนอีกตัวเป็นอนาคตที่น่าจับตาครับ งั้นเริ่มจากตัวแรกก่อนเลย
LIFF (LINE Front-end Framework)
เจ้า LIFF นี่เราเคยพูดถึงไปแล้วครั้งนึง แต่ด้วยเหตุผลบางประการก็เลยต้องถอด Blog นั้นออกไป ขอมาพูดสั้น ๆ ตรงนี้อีกทีนึงละกัน
เมื่อปีที่แล้ว LINE มีเปิดตัว Messaging API ที่ทำให้เราสามารถเขียน Chatbot เพื่อแชทคุยกับผู้ใช้ผ่านทาง LINE@ Account พร้อมทั้งยังสามารถสร้างเมนู (Rich Menu) ได้ตามที่ต้องการ
แต่อย่างไรก็ตาม Messaging API ก็มีข้อจำกัดตรงที่ว่าสุดท้ายก็ยังต้องพูดคุยผ่านทางแชทกันอยู่ดี ถ้าอยากจะทำอะไรแปลก ๆ หรูหราฟู่ฟ่าก็ทำไม่ได้ ด้วยเหตุผลนี้ LINE ก็เลยออก Engine ตัวใหม่มาชื่อ LIFF ซึ่งย่อมาจาก LINE Front-end Framework ตรงตัวเลย
มันคือ Engine สำหรับทำหน้า Front-end ได้อย่างอิสระด้วยภาษา HTML5 !
เบื้องหลังการทำงานก็ตรงไปตรงมา มันคือ WebView ที่สามารถรัน Web Application บนแอป ฯ LINE ได้โดยตรงนั่นเอง แต่พิเศษหน่อยตรงที่มันมี API ในการเชื่อมต่อกับ LINE Chat ทำให้เว็บที่รันสามารถดึงข้อมูลเกี่ยวกับผู้ใช้ไปประมวลผล หรือจะสั่งให้แอป ฯ LINE ทำอะไรที่เราต้องการได้อีกด้วย สุดท้ายเราเลยสามารถทำ UI หรู ๆ รวมถึงทำสิ่งที่ Web App ทำได้เกือบทุกอย่างโดยตรงบนแอป ฯ LINE โดยไม่ต้องสลับไปแอป ฯ ไหนให้วุ่นวายอีกเลย
ก็จะเห็นจากในภาพว่ามันทำได้หลายอย่างมาก ตั้งแต่เป็นเมนูขึ้นมาให้เลือกภาพยันเล่นเกมหรือรันแอป ฯ เรียก Taxi ผ่านทาง LINE โดยตรงเลย
ในวันที่ Mobile App เริ่มแผ่วเบา ถ้าระบบนี้ได้รับความนิยมมากขึ้น เชื่อว่ามันจะมาแทน Mobile App ใน 4 ประเทศเป้าหมายของ LINE ได้อย่างง่ายดายเลย ถ้าคุณเป็นนักพัฒนาแนะนำให้ลองจับ LIFF ไว้ครับ สำหรับฐานลูกค้าคนไทยเนยว่าสำคัญ
ถ้าอยากรู้เรื่อง LIFF มากขึ้น ลองไปดูสไลด์นี้ของ LINE Corp ได้ครับ Introduction to LIFF (LINE Front-End Framework) มีตัวอย่างโค้ดให้ลองเล่นด้วยนะ ;)
Clova Extensions Kit
Clova คือระบบ AI Assistant ของ LINE หากนึกไม่ออกว่ามันเป็นยังไง ให้เทียบง่าย ๆ มันก็คือ Google Assistant ของกูเกิลหรือ Siri ของแอปเปิ้ลนั่นแหละ ซึ่ง Clova เป็น Engine ด้านหลังที่ทำให้เราสามารถพูดคุยกับมันเพื่อสั่งให้มันทำงานได้ตามที่เราต้องการผ่านทางคำพูด และโต้ตอบกันได้ด้วยระบบสังเคราะห์เสียง
ทีนี้ LINE ก็เลยทำให้ระบบนี้เปิดขึ้นมาหน่อยด้วยการทำให้นักพัฒนาสามารถเขียนโปรแกรมเพื่อเชื่อมต่อบริการของตัวเองกับผู้ใช้ผ่านทาง Clova ได้อีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น สั่งเปิดปิดไฟบ้านผ่านทางลำโพง Clova เป็นต้น
สำหรับ Hardware ที่ตอนนี้ Clova สามารถใช้งานได้ก็มี ลำโพง (Clova Speaker) และรถยนต์ (Clova Auto) ซึ่งมีติดตั้งตัวทดลองไว้บนรถ Toyota แล้ว อันนี้มี Demo จริงให้ดูใน Clova AI Tech Demo ครับ ไปกดดูกันได้
อย่างไรก็ตาม Clova ยังจำกัดอยู่ที่ภาษาญี่ปุ่นและเกาหลีอยู่ และดูท่าน่าจะยังไม่สนับสนุนภาษาอังกฤษและไทยเร็ว ๆ นี้ครับ คงต้องรอกันอีกยาวหลายปี แต่ก็น่าจับตาไว้
ประกาศแนวทางชัด จากนี้ AI และ Blockchain จะเป็นแกนกลางของยุคถัดไป
ก่อนหน้านี้ก็บอกแนวทางในลักษณะของ Strategy ไปแล้วว่า LINE จะเปิดมากขึ้นและจะเพิ่มช่องทางให้คนเข้าถึงบริการของ LINE เยอะเท่าที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ คราวนี้มาทางด้าน Technical มากขึ้นกันบ้าง
งานนี้ LINE ประกาศชัดครับว่าเทคโนโลยีสองตัวที่ LINE จะจับและจะกลายเป็นแกนกลางของ LINE ในยุคถัดไป (Next LINE) คือ AI และ Blockchain
จริง ๆ ส่วนตัวเป็นคนที่เกลียด Buzzword พวกนี้มาก เพราะส่วนใหญ่ได้แต่พูด แต่ทำจริงไม่ได้ แต่พอ LINE มาพูดกลับไม่ใช่แบบนั้น เพราะเค้ามี Demo จริงมาให้ดูเลยว่าทำแล้วนะ และผลงานถือว่าน่าประทับใจอีกด้วย
ถ้าพูดถึงในแง่ Timing ก็ถือว่า LINE จับสองอย่างนี้ได้อย่างถูกเวลามาก เพราะ 5 ปีต่อจากนี้เป็นปีของ AI แน่นอน ใครทำก่อนคนนั้นชนะ ส่วน Blockchain ถึงจะยัง 50:50 อยู่ แต่ถ้าจะจับก็ต้องเริ่มตอนนี้แหละ เพราะมันอยู่ในช่วงของการวางโครงสร้างพื้นฐาน ใครวางโครงสร้างได้ก่อนก็จะกินตลาดยาวไป
เอาหละ งั้นขอมาเจาะทีละส่วนว่า AI และ Blockchain ที่ LINE บอกว่าจะจับนั้นมันมีหน้าตายังไงและ LINE ทำอะไรไปแล้วบ้าง เริ่มจาก AI ก่อนเลยงับ
AI
หลาย ๆ คนอาจจะมอง AI ว่าต้องเป็นหุ่นยนต์เอย ต้องเป็นอะไรที่เหมือนมนุษย์เอย จริง ๆ แล้วไม่ใช่นะครับ ศาสตร์ AI คือการทำให้เกิดสมองกลที่ฉลาดเฉพาะทาง (อย่างน้อยก็ ณ ตอนนี้) และสามารถทำงานนั้น ๆ ได้ดีเทียบเท่าหรืออาจจะสูงกว่ามนุษย์ได้
ดังนั้น AI ที่เราจะได้ใช้จริงมักจะเป็นชิ้น ๆ มากกว่า เช่น AI ในการตรวจจับหาคนที่อยู่ในภาพ เป็นต้น และบริการที่ซับซ้อนขึ้นมาหน่อยก็จะเกิดจากการเอา AI หลาย ๆ ตัวมาทำงานร่วมกัน เช่น เอา AI ที่ตรวจหาคนในภาพ และ AI ที่บอกท่าทางได้ว่าคนเหล่านั้นกำลังทำท่าต่อสู้กันรึเปล่า ก็จะได้สมองกลที่บอกได้ว่ากำลังเกิดการต่อสู้กันอยู่ตรงนั้นนะได้
และ AI ส่วนใหญ่ที่ LINE มีอยู่ตอนนี้ก็เป็น AI ที่เป็นชิ้น ๆ แบบนี้แหละ บริการที่มีตอนนี้เลยอาจจะยังไม่ซับซ้อนมาก แต่อีกสักระยะนึงเมื่อมี AI ที่ทำสิ่งต่าง ๆ ได้มากขึ้น ทาง LINE ก็จะสามารถเอามาประกอบกันและเกิดเป็นบริการที่ซับซ้อนขึ้นได้ในอนาคตครับ ตอนนี้ก็คงพูดได้ว่า LINE อยู่ในช่วงกำลังตอกเสาเข็มเพื่อสร้างฐานที่มั่นคงของบริการต่าง ๆ ที่ขับเคลื่อนด้วย AI ในอนาคตนั่นเอง
งั้นเรามาดูกันว่าตอนนี้ AI ของ LINE ทำอะไรได้บ้าง
OCR
ความสามารถในการอ่านข้อความที่อยู่ในภาพ ความจริง OCR มีมานานแล้ว แต่ด้วยความสามารถของ AI ก็ทำให้ความแม่นยำและความเร็วในการอ่านนั้นสูงกว่าเดิมมากชนิดเทียบไม่ติด ซึ่ง OCR ตัวนี้สามารถต่อยอดไปเป็นบริการได้มากมายเลยหละ
Smart Lens (Image Recognition)
ความสามารถในการระบุได้ว่ามีวัตถุอะไรอยู่ในภาพบ้าง มีการต่อยอดไปใช้เป็นบริการอย่างเช่น LINE Shopping Lens ที่สามารถส่องสินค้าแล้วบอกรายละเอียดอย่างเช่น ราคา ร้านขายของ เป็นต้น
Character Effect
อันนี้เป็นการวิเคราะห์ภาพเช่นกัน แต่เอาไว้ตรวจจับหน้าโดยเฉพาะ ความแม่นและความเร็วสามารถทำให้สร้าง 3D Character ที่ทำหน้าเหมือนคนนั้น ๆ ได้แบบเป๊ะ ๆ (ก็มีบนมือถือหลาย ๆ รุ่นแล้วนั่นแหละ ไม่ใช่ของใหม่ แค่ LINE ก็ทำได้แล้ว)
Video Highlight
สร้างวีดีโอที่ Track คนในวีดีโอและ Crop เอาเฉพาะคนนั้น ๆ ออกมาได้ ต่อให้วิ่งไปไหนมาไหนหรือหันหลังไม่เห็นหน้าก็ยังทำงานได้ อย่างวีดีโอด้านบนก็เป็นวีดีโอ Blackpink ตอนเต้น เจ้า AI ก็สามารถทำวีดีโอแยกการเต้นของทั้งสี่คนได้เลย เดินไปเดินมาก็แพนตาม เจ๋งดี
จีซูววววววววววว
โทษ ๆ ไปข้อต่อไปเลย
Video Segmentation
AI ที่สามารถระบุได้ว่ามีใครโผล่ในส่วนไหนของวีดีโอบ้าง ไม่ต้องบอก AI ก่อนด้วยว่ามีใครบ้าง มันรู้และแยกแยะด้วยตัวมันเองโดยอัตโนมัติเลย
Photo2Art
AI ที่เปลี่ยนรูปหรือวีดีโอของเราให้กลายเป็นรูปแบบต่าง ๆ โดยอัตโนมัติ อย่างเช่นด้านบนเอาวีดีโอหรือรูปสองรูปมายำรวมกันเกิดเป็นภาพที่มีรูปแบบร่วมของสองอัน (เรียกว่า Style Transfer)
นอกจากนี้ก็ยังสามารถเปลี่ยนรูป Selfie ของเราให้เป็นสติกเกอร์ไลน์ที่เป็นของตัวเองได้อีกด้วย ไม่ต้องจ้าง Designer วาดอีกต่อไป
Watermarking
AI ที่สามารถฝังลายน้ำ "เฉพาะบุคคล" เข้าไปในภาพหรือวีดีโอ ซึ่งบางทีอาจจะเป็นลายน้ำที่ตาคนมองไม่เห็นก็ได้ ถามว่ามีประโยชน์ยังไง ? ถ้าวีดีโอโดนละเมิดและหลุดไปก็จะทำให้รู้ว่าใครเป็นคนดูดวีดีโอตัวนั้นไปนั่นเอง
ถือเป็นเทคโนโลยีที่มีประโยชน์มาก ความแม่นของ Clova Watermarking ก็สูงมาก อยู่ที่ 98% เลยทีเดียว
Chatbot
อันนี้เจ๋งและมีประโยชน์มาก ระบบ Chatbot ที่สามารถเข้าใจ Context ของผู้ใช้และโต้ตอบกลับได้อย่างชาญฉลาด
อันนี้มีเปิดให้นักพัฒนาเอาไปใช้ได้ด้วยในชื่อ Clova Chatbot Builder ไม่ต้องเขียนโปรแกรมเอง แค่ใส่ข้อมูลเข้าไปใน Tools ตัวนี้แล้วก็จะได้ Chatbot ที่ตอบคำถามได้อย่างแม่นยำ (สำหรับคนที่เคยใช้ Dialogflow มันคือแบบเดียวกัน)
เรื่องภาษา เจ้า Clova Chatbot Builder ก็ดีกว่า Clova ตัว Interface ด้วยเสียงหน่อยเพราะมันสนับสนุนภาษาอังกฤษด้วย แต่ก็ไม่สนับสนุนภาษาไทยอยู่ดีนะ คนไทยที่คุยกันด้วยภาษาไทยก็คงยังใช้งานตัวนี้ได้ไม่เต็มที่อยู่ดี
Speech Recognition
อันนี้เขียนไปหลายรอบละ พูดทวนอีกที ตัวที่สามารถแปลงเสียงพูดเป็นข้อความ (Speech-to-Text) ก็เป็น AI เหมือนกัน แต่แม่นแค่ภาษาญี่ปุ่นและภาษาเกาหลี ทำให้ยังไม่สนับสนุนภาษาอื่น
Speech Synthesis
ส่วนระบบแปลงข้อความ (Text-to-Speech) ก็เป็น AI แถมทำมาดีมาก ๆ ด้วย เพราะเสียงของ Clova น่าฟังและน่ารักมาก เหมือนคุยกับเพื่อน
NSML
อันนี้เป็น Cloud Machine Learning Platform โยนข้อมูลเข้าไปเทรนและสร้างโมเดลออกมาได้เลย ถึงจะยังต้องมีความรู้ด้าน Machine Learning อยู่ แต่ทุกอย่างก็สะดวกมากเพราะมัน Visualize ทุกอย่างให้ แถมตัว NSML ยังมีการจัดการ CPU/GPU โดยอัตโนมัติอีกด้วย ทำงานง่ายขึ้นมาก สมรภูมิ Machine Learning Platform เริ่มครุกรุ่น ๆ สนุกดี
สรุปเรื่อง AI
จะเห็นว่า AI สำหรับ LINE นั้นไม่ใช่ Buzzword เลย แต่มีการทำขึ้นมาจริง ๆ และถือว่าจริงจังระดับต้น ๆ ของโลกเลยด้วยซ้ำไป มี Platform ของตัวเอง ฯลฯ วันนี้เป็นแค่จุดเริ่มต้น มองยาว ๆ ไปจะเห็นว่า LINE จะใช้ AI ผลักดันบริการของตัวเองไปทางไหน ถ้าคุณเป็นนักพัฒนาก็น่าจะมองออกเช่นกันว่าคุณควรจะจับอะไรในตอนนี้เพื่อวันข้างหน้าครับ
โดยรวมของ AI ก็ประมาณเท่านี้ สำหรับเดโมที่เป็นวีดีโอสามารถกดไปดูได้ที่ Clova AI Tech Demo ครับ วีดีโอสั้น ๆ แต่น่าจะเห็นภาพมากขึ้นเยอะ
Blockchain
น่าจะเห็นภาพฝั่ง AI กันแล้ว คราวนี้มาฝั่ง Blockchain ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแกนกลางของ Next LINE กันบ้าง
ความจริงเรื่องของ Blockchain จาก LINE นี่ก็ประกาศมาสักพักแล้วนะ ถ้าใครอยู่สายงานนี้คงจะเคยได้ยินมาตั้งแต่กลางปี แต่งานนี้โชคดีมีโอกาสได้ลงรายละเอียดเยอะทีเดียวทำให้หายข้องใจไปหลายอย่างว่าตกลง LINE จะเอา Blockchain มาทำอะไรอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงมีคุณสมบัติยังไงบ้าง แต่เนื้อหาส่วนนี้ต้องบอกก่อนว่าค่อนข้าง Geek ใครไม่คุ้นเคย Cryptocurrency / Blockchain อาจจะมีมึนบ้าง แต่ก็จะพยายามอธิบายให้เข้าใจง่ายครับ
LINK Chain & LINK Point
สำหรับคนที่สงสัยว่า LINE จะไปใช้ Blockchain เจ้าไหน คำตอบคือ LINE พัฒนาขึ้นมาเองครับ เป็น Private Blockchain ที่มีชื่อว่า LINK Chain
LINK Chain เป็น Smart Contract Blockchain ที่เปิดให้นักพัฒนาสามารถพัฒนา dApp เพื่อมาทำงานบน Blockchain ตัวนี้ได้ และยังเปิดให้นักพัฒนาสามารถมอบแต้มสะสมเพื่อเป็นรางวัลให้กับผู้ใช้ได้อีกด้วย โดยแต้มนี้ในญี่ปุ่นจะมีชื่อว่า LINK Point ส่วนประเทศอื่น ๆ จะเรียกแค่ LINK เฉย ๆ ครับ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณกดดูวีดีโอครบ 1 ชั่วโมง รับไปเลย 100 LINK เป็นต้น (แต่เรื่องค่านี่ยังไม่รู้นะ ยกขึ้นมาเฉย ๆ)
ถ้าจากในภาพด้านบนก็จะเห็นว่าเราสามารถสั่งโอน LINK ไปมาอยู่ภายใน Blockchain ได้ ก็คือสามารถทั้งได้รับแต้มและเอาแต้มไปใช้นั่นเอง และทุกอย่างก็จะถูกบันทึกอยู่ใน LINK Chain ตัวนี้ นอกจากนั้นระบบยังเปิดให้ผู้ใช้แต่ละคนสามารถเทรดแลกแต้มระหว่างกันโดยตรงผ่าน Exchange (Bitbox) ได้อีกด้วย แบบ เหมือนมีแสตมป์เซเว่นแล้วจะแลกกระเป๋าบราวน์แต่มีไม่พอ ก็ไปเทรดขอซื้อจากคนอื่นมาได้ เป็นต้น
ทั้งนี้ตัวการเชื่อมต่อของ Chain เราจะเรียกมันว่า LINK Network ในขณะที่ภาพรวมการสะสมแลกเปลี่ยน LINK Point ภายใน LINK Network นี้เราเรียกมันว่า LINE Token Economy ครับ ดู ๆ แล้วมันก็คือระบบสะสมแต้มนั่นแหละ แต่ด้วยพลังของ LINE ก็เลยสามารถชักชวน(กึ่งบังคับ)ให้ทุกคนใช้สกุลแต้มร่วมกันได้ และถ้าระบบเป็นไปตามที่ LINE คาดหวัง ก็คิดว่าเจ้า LINK Point / LINK ก็น่าจะเป็นสกุลแต้มที่สำคัญในอนาคตได้เหมือนกัน (ถ้ามันเกิดนะ)
LINE Tech Plus Pte.Ltd (LTP) คือเจ้าของ LINK Chain
เนื่องจากมันเป็น Private Blockchain ดังนั้นมันจึงมีเจ้าของ Chain อยู่ครับ ซึ่งเจ้าของคือบริษัทเปิดใหม่ชื่อ LINE Tech Plus Pte.Ltd (LTP) ซึ่งถูกจดในสิงคโปร์ น่าจะเพราะกฎหมายคริปโตที่เกาหลีและญี่ปุ่นค่อนข้างมีปัญหานั่นเอง
จำนวน LINK Point ทั้งหมด
เช่นเดียวกับ Token ต่าง ๆ ในโลก LINK Point มีอยู่จำกัดอยู่ที่ 1,000,000,000 LINK ซึ่งแบ่งเป็น 800M LINK สำหรับการแจกจ่ายเป็น User Reward ส่วนอีก 200M LINK จะเก็บไว้เป็นของบริษัท LTP
นอกจากนั้น LTP ก็ยังเป็นองค์กรที่มีหน้าที่แจกจ่าย (Issue) LINK Point ให้กับ dApp เจ้าต่าง ๆ อีกด้วย
ทำไมต้องใช้ Blockchain ?
อย่างที่บอก มันก็คือระบบสะสมแต้มนั่นแหละ จริง ๆ ไม่ได้มีอะไรมากกว่านั้น ก็เลยเกิดคำถาม ทำไมต้องใช้ Blockchain หละ ทำไมไม่ทำระบบแบบเดิม ๆ เก็บข้อมูลลง SQL เชื่อมต่อแอป ฯ ผ่าน API เป็นอันจบ ง่ายดี สเกลได้ด้วย
ทาง LINE ให้คำตอบมาหลายข้อ แต่ที่คิดว่าสำคัญและจับต้องได้ก็มี
1) พอเป็น Cryptocurrency ทุกอย่างก็สะดวกกว่า เพราะมันไม่ใช่ e-Money ก็เลยไม่ต้องทำเอกสารเพื่อขอ License เพราะใช้ Token ที่ไม่ใช่เงินจริง สามารถสเกลไปยังประเทศต่าง ๆ ได้ง่ายกว่า
2) พอทุกอย่างอยู่บน Blockchain ก็เลยทำให้เกิด Transparency เห็นทุกอย่างว่าเกิดอะไรขึ้น แฮคยาก หากมีแอป ฯ ไหนทำตัวแปลก ๆ หรือเกิดการทักท้วงก็สามารถไล่ดูข้อมูลย้อนหลังได้ตลอดไป ไม่มีวันหายไป โดยตัว Blockchain Explorer ที่เปิดให้ใช้มีชื่อว่า LINK Scan ครับ
คำตอบก็ค่อนข้าง Make Sense นะ แต่สารภาพตามตรงว่าในใจยัง 50:50 ว่าประโยชน์เหล่านี้มันมีค่าเพียงพอที่จะต้องใช้ Blockchain
แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยโลก ณ ตอนนี้ ถ้าจะเริ่มทำ Blockchain ก็ต้องทำตั้งแต่ตอนนี้แหละนะ จะมาทำตอนทุกอย่างตลาดโตแล้วก็คงไม่ทัน
Consensus ที่ใช้คือ PBFT
เกิดคำถามในใจตั้งแต่ก่อนเริ่มงานว่าเจ้า LINK Chain นี่มันจะเร็วแค่ไหน เพราะถ้าเปิดให้ใช้งานจริงอาจจะมี Transaction เกิดขึ้นเป็นหมื่นต่อวินาที ซึ่งหนึ่งในเรื่องราวสำคัญเบื้องหลังว่า Blockchain จะเร็วแค่ไหนก็คือเจ้า Consensus นั่นเอง
และก็ไม่ผิดหวังเพราะ LINE ออกมาบอก Architecture โดยละเอียดให้ฟังด้วยในงานนี้ สรุปแล้ว LINK Chain ใช้ PBFT (Practical Byzantine Fault Tolerance) ซึ่งมีคุณสมบัติพื้นฐานคือ
1) มี Node ที่เอาไว้ยืนยันบล็อคอยู่อย่างระบุจำนวน (ใน LINK Chain เราเรียกว่า Consensus Node หรือ C-Node)
2) มี C-Node ตัวนึงเอาไว้สร้างบล็อคและให้ C-Node ที่เหลืออย่างน้อย 2 ใน 3 ยืนยันว่าบล็อคนั้นถูกต้อง จากนั้นทุก Node ที่เหลือจะยอมรับบล็อคนั้น
3) เนื่องจาก C-Node มีอยู่จำกัดทำให้การยืนยันทำได้เร็วมาก ๆ และสามารถรับ Transaction per second ได้สูงมาก ก็เลยไม่มีปัญหาเรื่องการสเกลเท่าไหร่
4) ไม่ Decentralize เพราะ C-Node เป็นเครื่องที่เจ้าของ Chain วางไว้อย่างจำกัด
ไม่ต้องแปลกใจว่าทำไม LINE แทบไม่พูดถึงเรื่อง Decentralization เลย เพราะเจ้า LINK Chain นี้ไม่ Decentralize นั่นเอง แต่ก็แลกกับการที่ระบบมันเร็วจนใช้งานจริงได้นั่นเอง
สำหรับคนที่อยากรู้เต็ม ๆ ว่า PBFT คืออะไร ลองไปอ่านในบล็อกเก่าของเราได้ที่ ทำความรู้จัก Blockchain Consensus Protocol แบบต่าง ๆ: เมื่อโลกนี้ไม่ได้มีแค่ Proof of Work ครับ
C-Node และ S-Node
จากหัวข้อที่แล้วก็รู้แล้วหละว่า C-Node คืออะไร แต่เนื่องจาก C-Node มีอยู่จำกัด ถ้าทุกคนไปดึงข้อมูลจาก C-Node ก็คงจะมีปัญหาเรื่องการสเกลเป็นแน่แท้
ดังนั้นระบบจึงมี Node อีกประเภทนึงโผล่ขึ้นมาชื่อว่า S-Node ย่อมาจาก Sync Node ซึ่งจะ Sync ข้อมูลล่าสุดจาก C-Node มาและทำหน้าที่เป็น Read Only Node ให้ dApp สามารถดึงข้อมูลไปใช้ได้ครับ
ถ้าใครเคยทำงานด้านสเกล Database มันก็คือการสร้างเครื่อง Replicate เพื่อทำหน้าที่สำหรับการ Read ออกมานั่นเอง (เพราะโดยธรรมชาติ การ Read จะเยอะกว่าการ Write เป็น 10 เท่าอยู่แล้ว)
LINK Framework
สำหรับ Framework ที่เอาไว้เขียนโปรแกรมเพื่อเรียกใช้งาน LINK Chain เราจะเรียกว่า LINK Framework ซึ่งทำมาครบเลยหละ เช่น สร้าง Wallet กำหนดสิทธิ์ ไปจนถึงการ Deploy Smart Contract ตรงนี้อารมณ์ก็เหมือน Geth หรือ Parity ของ Ethereum ครับ
ถ้าใครจะทำ dApp บน LINK Chain ก็คงต้องศึกษาเจ้าตัวนี้เป็นหลักหละ (เห็นว่าจะเปิดตอน Q2 ปี 2019 นะ)
ตัวอย่าง dApp
ตอนนี้มี dApp ที่เริ่มใช้งานจริงแล้ว 3 ตัวคือ Bitbox (Exchange), Wizball (Q&A) และ 4Cast (Prediction) ครับ
สำหรับ Bitbox ขอข้ามไปเลย มันคือ Cryto Exchange ของ LINE นั่นแหละ ส่วน Wizball คือแพลตฟอร์มที่เอาไว้ถามคำถามและให้คนมาช่วยกันตอบ รางวัลก็มอบให้กับผู้ที่เข้าร่วมกันไป สุดท้าย 4Cast ... ไม่รู้อ่ะว่าคืออะไร ฟังไม่ทัน 555
ส่วนใครจะใช้ ... เสียใจด้วย Wizball กับ 4Cast มีให้ใช้ในญี่ปุ่นเท่านั้นจ้าาา
นอกจากนั้นยังมี dApp อีก 3 ตัวที่กำลังจะออกมาภายใน 4 เดือนจากนี้ ส่วนใหญ่เน้นไปทางการให้ User มารีวิวสิ่งต่าง ๆ แลกแต้มสะสม ก็น่าสนใจดี
สร้าง Wallet ผ่าน LINE Login
หนึ่งในปัญหาที่ทำให้ Blockchain ไม่สามารถเข้าสู่ Mass Adoption ได้สักทีก็คือ Wallet สร้างยากเหลือเกิน สร้างเสร็จก็รักษายาก ต้องมาเก็บคงเก็บคีย์อะไร ขนาด Geek ยังมึนเลยเอาจริง ๆ
แต่สำหรับ LINK Chain ดูเหมือนจะไม่มีปัญหา เพราะการสร้าง Wallet สามารถทำด้วย LINE Login ได้เลย ! ถือเป็นแนวทางที่ดีมาก ๆ บางทีนี่อาจจะเป็นแนวทางการสร้าง Wallet สำหรับ Blockchain ตัวอื่น ๆ ในอนาคตก็เป็นได้
แยกสาย Leaf-chain เรียกรวมว่า LINEAR Network
เอาหละ ค่อย ๆ เล่าจากเล็กไปใหญ่ ก็น่าจะเห็นภาพกันนะ คราวนี้มาภาพที่สเกลใหญ่ขึ้นมาอีกหน่อย
ที่พูดถึงก่อนหน้านี้เป็นตัวที่เป็น Main Net หรือคือ Blockchain Network ตัวหลัก อย่างไรก็ตาม หากอนาคตมีบริการเปิดให้ใช้เยอะมาก ๆ การจะให้ทุกคนมาใช้งาน Main Net ก็คงจะโหลดหนักเกินไป ทาง LINE จึงคิดระบบสเกลมาให้เรียบร้อยชื่อว่า LINEAR Network เปิดให้คนสามารถตั้ง Leaf-chain ของตัวเองได้ และก็เอา dApp ไปรันบน Leaf-chain ตัวนั้น และนาน ๆ ก็ Sync กับ Main Net (Root-chain) สักทีนึงตามจังหวะที่เหมาะสม
สำหรับ LINEAR Network จะเปิดตัวภายใน Q4 ปีนี้ครับ
ปล. ใครตั้งชื่อ ฉลาดดี
Timeline ของ LINE Token Economy
ด้านบนนี้เป็นภาพ Timeline เต็ม ๆ ของ LINK Token Economy ครับ ก็คิดว่าสำหรับคนทั่วไปน่าจะเริ่มได้ทำอะไรตอน Q2 (สำหรับญี่ปุ่นนะ ไทยนี่ก็ต้องรอ LINE Thailand ประกาศอีกที)
อุปสรรคของ Blockchain
แต่หนทางก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบไปเสียหมด ปัญหาสามัญของ Blockchain ในขวบปีนี้คือมันยังสเกลไม่ได้ และในงาน LINE ก็ดูจะมี Concern เรื่อง Scalability นี้เหมือนกัน นี่เป็นเหตุผลว่า LINE เลยยังค่อย ๆ เปิด dApp มาทีละตัว ก็เพื่อไม่ให้มีผู้ใช้มากเกินไปจนระบบรองรับไม่ได้นั่นเอง
ก็ถือว่าเป็น Strategy ที่ดี หวังว่า Q2 ปีหน้าระบบจะสเกลจนรองรับคนหลักร้อยล้านได้นะครับ รอดู ๆ มีความหวังหน่อย ๆ กับ Chain ตัวนี้ ดูจะมีการเอาไปใช้งานจริงในกลุ่มใหญ่ (Mass Adoption) ได้จริง ๆ
สรุปเรื่อง Blockchain
ดูแล้วก็จะเห็นได้ชัดเลยว่า LINE จะเอา Blockchain มาเป็นแกนกลางของ Service ในยุคถัดไปจริง ๆ คงจะผลักดันทุกบริการให้ไปทำงานเป็น dApp บน LINK Chain ให้หมด แถมตัว Architecture ก็ออกแบบมาดีด้วย เข้าใจปัญหาของ Blockchain และนำเสนอทางแก้อย่างมีเหตุผล ถึงจะไม่ Decentralize แต่ก็เหมาะสมกับการใช้งานจริงครับ (เป็น Private Blockchain หนิ)
ที่ชอบเป็นพิเศษคือการสร้าง Wallet นั้นทำผ่าน LINE Login ทำให้การเข้าใช้งานไม่ Geek เหมือน Blockchain ตัวอื่น ๆ
แน่นอนว่าหากระบบนี้เกิดขึ้นมาจริง ๆ ในฐานะนักพัฒนาที่อยู่ในไทยก็คงจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ ศึกษาเรื่อง Blockchain เอาไว้ครับ จริง ๆ มันไม่ยากหรอก =)
เข้าสู่โลก FinTech เต็มตัว
ใกล้จบละ อันนี้เป็นหัวข้อสุดท้าย ถึง Next LINE จะโฟกัสไปที่ AI และ Blockchain แต่นั่นมันเป็นอนาคต หากพูดถึงปัจจุบันที่ LINE จับไม่ปล่อยและพยายามขยายตลาดอยู่ก็คือ FinTech
ซึ่งถ้าพูดถึง FinTech จาก LINE อย่างแรกที่ทุกคนนึกถึงคงหนีไม่พ้นเจ้า LINE Pay นั่นเอง
ตอนนี้ LINE พยายามทำระบบชำระเงินสมบูรณ์แบบเพื่อเข้าสู่ Cashless Society สามารถยิง QR Code หรือ Barcode เพื่อชำระค่าสินค้าผ่านทาง LINE Pay ได้ทันที
มี POS ด้วยนะ ! มีติดตั้งใช้จริงใน LINE Store ที่ญี่ปุ่นเรียบร้อย
นอกจากนั้นก็ยังมีตู้กดน้ำที่สามารถจ่ายผ่าน NFC เอามือถือแตะ เลือกน้ำแล้วจ่ายได้เลย มีให้ลองเล่นบนออฟฟิศ LINE ประทับใจ UX มาก ใช้งานง่ายสุด ๆ ทุกอย่างเร็วสุด ๆ
และแน่นอน เราสามารถนำ LINE Pay มาเป็นช่องทางชำระเงินผ่านทางหน้าเว็บได้อีกด้วย
อีกส่วนก็คือ LINE Wallet ที่แอป ฯ LINE เพิ่งอัปเดต Tab สุดท้ายให้กลายเป็นเจ้าฟีเจอร์นี้ไปไม่นาน หลัก ๆ ก็คือกระเป๋าตังค์ที่เราสามารถเติมเงิน จ่ายบิล ชำระสินค้า ฯลฯ ได้ผ่านทางแอป ฯ LINE ได้เลย
สำหรับฟีเจอร์นี้ก็จะผูกกับ Partner ในประเทศนั้น ๆ สำหรับประเทศไทยก็เป็นการผูกกับ Rabbit LINE Pay นั่นเอง
ที่เหลือก็มีเรื่องยิบย่อยอย่างเช่น แอป ฯ จัดการการลงทุนหรือแอป ฯ บันทึกรายรับรายจ่าย
ดูแล้วเอาจริง ๆ Movement เรื่อง FinTech ของ LINE ก็ถือว่าร้อนแรงไม่ต่างจาก AI หรือ Blockchain เลย แต่ส่วนใหญ่อาจจะไม่กระทบต่อนักพัฒนามากนักเพราะว่ามันเป็นบริการที่ LINE ทำมาให้ผู้ใช้ใช้โดยตรง แต่ก็ต้องคอยติดตามกันให้ดีครับ เรื่อง Payment จริง ๆ มันสำคัญมาก หากมีโอกาสที่จะดึงอะไรมาใช้ได้ก็เป็นโอกาสที่ดี
ส่งท้าย
งานนี้อิ่มมากจริง ๆ เนื้อหาเยอะสุด ๆ แอบสรุปยากด้วยเพราะมันมีหลายเรื่องจัด ๆ กระจัดกระจายเต็มไปหมด นี่เลยใช้เวลารวบรวมและเรียบเรียงเนื้อหาอยู่เป็นสัปดาห์เลย ก็หวังว่าจะอ่านเข้าใจกันนะครับ
(เอาจริง ๆ เนื้อหามันมีมากกว่านี้อีกเยอะเลยนะ เช่นเรื่องการสเกล Kafka เรื่องการสร้าง Container Orchestration เองจาก Docker แต่ถ้าเอาทุกอย่างมาเขียนอาจจะสำลักเลือดได้ ... โดยเฉพาะคนเขียนนี่แหละ)
สำหรับเรา งาน Developer พวกนี้ความสำคัญมันอยู่ที่
"การมองแนวทางของเจ้านั้น ๆ ให้ออก"
สาเหตุเพราะว่ากว่าเราจะเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีใด ๆ นั้นต้องใช้เวลาเป็นปี หากเรามองออกว่าเจ้าต่าง ๆ หรือโลกกำลังจะหมุนไปทางไหน เราก็ชิงศึกษาดักหน้าไว้ก่อนเลย วันที่ตลาดพร้อม เราก็จะกลายเป็นนักพัฒนาที่มีมูลค่ามาก ณ ขณะนั้นไปโดยปริยาย
อีกทั้งถ้าเจ้านั้นเป็นเจ้าใหญ่ เราก็จะเห็นมุมมองของรายนั้น ๆ ไปโดยปริยายว่าเค้ามองว่าโลกกำลังจะหมุนไปทางไหน ซึ่งมีผลต่อวิชั่นของพวกเราชาวนักพัฒนาเป็นอย่างยิ่ง สำคัญนะ สำคัญ
สำหรับงาน LINE Developer Day 2018 นี้ก็น่าจะทำให้เห็นแนวทางแล้วว่าจากนี้ LINE จะไปทางไหน แน่นอนว่าแกนกลางหลักเดิมอย่าง LINE Chat ฯลฯ ก็จะยังคงอยู่ แต่อย่างที่บอก ตัว Chat มันอิ่มตัวแล้ว ดังนั้น LINE จึงพยายาม Explore ไปยังกลุ่มอื่น ๆ เพิ่มเติมพร้อมกับเปิดระบบขึ้นจากเดิมเพื่อให้นักพัฒนาเข้ามาร่วมช่วยกันสร้างการเติบโต และจากนี้ AI และ Blockchain คงจะเป็นแกนกลางหลักในยุคต่อไปของ LINE ไม่ผิดเพี้ยนแน่นอน
และไม่ว่าคุณจะทำบริการเพื่อเชื่อมกับ LINE หรือไม่ LINE ก็เป็นอีกเจ้าที่ยืนยันแล้วว่า AI และ Blockchain มาแน่ อย่าลืมแบ่งเวลาไปศึกษาสองศาสตร์นี้กันด้วยครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง AI ค่าตัวปรี้ดแน่นอนภายในเวลาใกล้ ๆ นี้แหละ =)
ขอบคุณ
ขอบคุณ LINE Thailand ที่เชิญไปด้วยครับ ขอบคุณน้องเฟิร์นและพี่ออมที่ดูแลอย่างดีตั้งแต่ก่อนไปจนกลับมา ทริปนี้สนุกและได้อะไรเยอะมาก ๆ ทั้งในงานและนอกงานเลย =P
ขอบคุณเพื่อนร่วมทริปที่น่ารักทุกท่าน ตลกกันทุกคนนนน
ขอบคุณทีม dtac Accelerate ที่ชวนไปโน่นไปนี่รวมถึง After Party คืนจบงาน สนุกมากมายยยย
ขอบคุณทีม Noburo ที่พาขึ้น Mount Takao จนกล้ามขาแข็งแรงเตะต้นกล้วยขาด เห็นว่ารับสมัครงาน Dev อยู่ด้วย ติดต่อเอานะ ๆ ฮ่า ๆ
บล็อกยาวอีกละ ก็หวังว่าจิมีประโยชน์กันนะจ๊ะ ไปละ แว้บบบบบ