"ใจเค้าซื้อกันด้วย 'ใจ'"
ก้าวย่างที่ผิดพลาดของโนเกียจนถึงการล่มสลาย ภาค Developer
3 Aug 2014 22:06   [20844 views]

เห็นทาง blognone เขียนบทความเรื่องโนเกียอย่าง "ย้อนตำนาน Nokia เดินหมากพลาดตาเดียว พ่ายแพ้ทั้งกระดาน" แล้วก็อยากเขียนบ้าง แต่ในมุมของนักพัฒนา เพราะเชื่อว่าส่วนตัวแล้วน่าจะเป็นคนที่คลุกตรงนี่มากที่สุดในโลกคนหนึ่ง เขียนมาตั้งแต่ 7650 ยัน Windows Phone เห็นการเปลี่ยนแปลงมาตลอดเวลาและมีโอกาสได้ทะเลาะกับทีมฟินแลนด์บ้างเป็นครั้งคราว หะหะ

ก็ต้องยอมรับแล้วหละว่านาทีนี้โนเกีย "จบ" แล้ว หลังจากการเทคโอเวอร์ของ Microsoft ไป ไมโครซอฟท์ก็พยายามเปลี่ยนโนเกียให้เละยิ่งๆขึ้นไป ไม่มีทีท่าว่าจะกลับมาได้อีก ก็ถือเป็นการปิดตำนานโนเกียอันยาวนานอย่างเป็นทางการ

มานั่งย้อนดูว่าโนเกียทำอะไรผิดพลาดที่กระทบถึงนักพัฒนาบ้างแล้วก็ขนลุกเกรียวเหมือนกัน การล่มสลายของโนเกียไม่ได้เกิดจากฝั่งโปรดักส์อย่างเดียว แต่ในแง่ของ Policy ที่มีต่อการพัฒนาแอพฯก็ส่งผลโดยอ้อมต่อ Ecosystem ที่ทำให้สู้คู่แข่งไม่ได้ และกลายเป็นรองไปในที่สุด จนสุดท้ายขายไม่ออกอีกต่อไป

เลยมาเขียนเป็นบันทึกเอาไว้ครับ

Symbian Signed จุดเริ่มต้นของจุดจบ

เผอิญเนยมีโอกาสได้จับ Symbian ตั้งแต่มันยังเป็น S60 1st Edition แล้วเกิดหลงรักมันในทันที ถึงภาษาจะเขียนยากมากระดับหาใครมาเทียมเทียบได้ไม่ แต่ผลที่ได้มันสนุกมาก ทำได้ทุกอย่างเลย คุมได้ทุกส่วน เข้าถึงได้ทุกจุด ทำไม่ดีมือถือก็พังได้เลย หากจำได้ เราเป็นคนเขียน ZThai และ ThaiPlus แอพฯคีย์บอร์ดภาษาไทยบน Symbian ในขณะนั้น ที่ทำได้ก็เพราะระบบมันเปิดมากจนทำอะไรก็ได้นั่นเอง

จน S60 2nd Edition ออกมา หากใครเกิดทันก็คงจะจำได้ว่าน้องอ้วนดำ (Nokia 6600) นั้นเซ็กซี่ขนาดไหน ก็ทำให้เจ้าระบบปฏิบัติการตัวนี้มีเสน่ห์ยิ่งๆขึ้นไปอีก ด้วยหน้าตาที่สวยงามขึ้น แถมยังเข้าถึงได้ทุกส่วน

แต่แล้ว ตอนนั้นเริ่มมีข่าวไม่ดีเข้าว่ามีไวรัสมุ่งโจมตี S60 ทำให้มือถือพังไปเป็นแถบๆ โนเกียเห็นท่าไม่ดี จึงเปิดตัว S60 3rd Edition (a.k.a. Symbian v9.1) ที่ดูดีขึ้นมาก สวยงามขึ้นมาก แต่ก็มาพร้อมระบบรักษาความปลอดภัยนามว่า Symbian Signed และนั่นเอง เป็น "จุดเริ่มต้นของจุดจบ" ชิ้นแรกของค่ายนี้

Symbian Signed คือระบบที่บังคับให้นักพัฒนาจำต้องผ่านกระบวนการ Sign แอพฯก่อนปล่อยให้คนอื่นลงได้ (อารมณ์แสตมป์อะไรบางอย่างลงไปในแอพฯเพื่อยืนยันว่าแอพฯตัวนี้เป็นของใคร มีสิทธิ์อะไร) หากไม่ได้เข้าถึงเบื้องลึกของระบบก็สามารถทำตัว Self Signed ออกมาได้ ทำไม่ยากมาก แต่ถ้าเข้าถึง API อะไรลึกๆแล้วหละก็ ต้องไปสมัครขอซื้อ Certificate จากแหล่ง Provider ต้องส่งหลักฐานยุ่งยากมากมาย และที่สำคัญต้องจ่ายเงิน "แพงมาก" แถมยังเป็นแบบ "รายปี" อีกด้วย ยังไม่พอ ตัว Certificate นี้มีหลายเลเวล ถ้าจะเข้าถึงอะไรที่ลึกมากๆ (เช่นคีย์บอร์ด) ต้องทำงานร่วมกับคนในโนเกียด้วย ไม่งั้นสมัครไม่ได้ (เอากับเค้าสิ)

สุดท้ายนักพัฒนาจึงถูกจำกัดให้พัฒนาแอพฯแบบเข้าถึงอะไรมากไม่ได้ และการที่ตอนนั้น Mobile Internet ยังไม่ได้บูมเหมือนทุกวันนี้ แอพฯที่ออกมาจึงเป็นแอพฯที่กากลงเรื่อยๆ ซึ่งเป็นผลกระทบโดยตรงจากระบบ Symbian Signed เลย นักพัฒนาแอพฯอินดี้ที่มีฝีมือ ก็ไม่สามารถแสดงฝีมือได้อีกต่อไป เพราะเค้าไม่มีเงินซื้อ Certificate มาทำอะไรแบบนั้นหรอก นับตั้งแต่วันที่ Symbian Signed ถูกสร้างขึ้น ทุกอย่างก็แย่ลงตามลำดับ

ครั้งหนึ่งเคยไปร่วมอีเว้นท์กับ Nokia ในฐานะ Forum Nokia Champion ที่ต่างประเทศ มีโอกาสได้คุยกับคนที่ทำ Symbian โดยตรง ตอนนั้นท้วงติงไปว่า Symbian Signed มันคือ Big Problem นะ เราเสนอให้เอาออก หรือไม่ก็แจก Certificate ฟรี บลาๆๆๆ แต่เค้าเบือนหน้าหนีและทำตัวไม่น่ารักใส่ เค้าหยิ่งมากและมั่นใจในความคิดตัวเองมาก

และนี่คืออีกหนึ่งปัญหา เพราะคนที่คุมระบบปฏิบัติการเองก็ยังไม่มี Vision ที่ดีพอ ครั้งนั้นกลับบ้านพร้อมความผิดหวังครั้งใหญ่ และทำนายไว้ว่า Symbian คงถึงเวลารอวันตายแน่นอน ...​ ซึ่งสุดท้ายก็จริง

ภายหลังไม่นานมานี้ Nokia ก็เพิ่งตระหนักได้ว่ามันคือปัญหา (คือช่วงที่เข้าสู่ยุค Qt แล้ว ส่วนแอนดรอยด์และ iOS ก็ตีตลาดเรียบร้อยแล้ว) จึงตัดสินใจเปิด Certificate เลเวลที่ไม่ลึกมากให้นักพัฒนาสามารถ Sign ได้ฟรี แต่ต้อง Publish ผ่าน Nokia Store (ที่ตอนนั้นยังชื่อว่า Ovi Store อยู่)

แต่ก็ไม่ทันแล้ว มันช้าไปแล้ว ไม่มีแอพฯดีๆขึ้นไปบน Symbian อีกต่อไป เข้าสู่สถานะรอวันตายอย่างสมบูรณ์

Series 60 5th Edition จอทัชสกรีนที่ไม่สมบูรณ์

ในขณะที่ตลาดถูกถมด้วยมือถือทัชสกรีน โนเกียก็เลยซุ่มทำ OS เวอร์ชั่นถัดไปจาก S60 3rd Edition โดยข้าม 4th Edition ไปเพราะ 4 ในภาษาจีนอ่านใกล้คำว่า "ซี้"​ แปลว่า "ตาย" จึงข้ามไปใน S60 5th Edition เลย โดยส่วนรวมแล้วค่อนข้างเหมือน S60 3rd Edition แต่ต่างกันตรงที่มีขนาดหน้าจอไซส์ใหม่มา (Fragmentation จ๋าาาา) พร้อมกับ API เพื่อจัดการการสัมผัสจอ

ถือว่าทำมาได้ดีระดับหนึ่ง แต่ก็ต้องบอกว่ามันไม่ได้สมบูรณ์ เนื่องจากจอมันละเอียดขึ้น แต่ตัว Core ยังทำมารองรับไม่ดี ทุกอย่างก็เลยช้ามาก ใช้แล้วหงุดหงิดพอสมควร

ทางด้านนักพัฒนาก็ต้องปวดหัวกับการสเกลแอพฯที่อยู่บนมือถือปุ่มกดมาโดยตลอด ให้ไปเป็นแอพฯสำหรับจอทัชสกรีน ซึ่งเหนื่อยมากตรงเรื่อง UI นี่แหละ บางคนก็ตัดใจ ไม่ทำสำหรับ S60 5th Edition ซะเลย

แต่ถ้ามองในมุมยอดขาย ถือว่า 5800 สร้างปรากฏการณ์ได้ดีทีเดียวเลยนะ และก็ถือว่าเป็นมือถือที่ดีพอสมควรในขวบปีนั้น

แต่ที่เคราะห์ซ้ำกรรมซัดคงจะเป็น Nokia N97 มือถือราคาแพงโคด แต่ทำออกมาผิดพลาดในทุกมิติ ปัญหาตูม จนสุดท้ายโนเกียต้องออกมายอมรับว่าเป็นรุ่นที่มีปัญหาทำมาพลาดจริงๆ

Symbian^1^2^3^4^5^6 สร้างมาด้วยความไม่พร้อม

หลังจากโดนแอนดรอยด์ตีตลาดด้วย Strategy Open Source ทำให้ทางโนเกียดิ้นประกาศเปิด Symbian เป็น Open Source ด้วยเช่นกัน

เรายังเคยโหลดมาคอมไพล์เองอยู่เลย ...​ ยุ่งยากมากเหมือนไม่จริงใจจะให้มันเป็น Open Source -_-

แต่ Symbian^1^2^3^4^5^6 นี้ถูกสร้างมาด้วยความรู้สึก "เค้ามีแบบนี้" และ "หนูอยากได้" แต่ทีมพัฒนาดูไม่พร้อมเอาซะเลย สุดท้ายก็เลยเลื่อนแล้วเลื่อนอีกเลื่อนแล้วเลื่อนอีก กว่าจะออกมาเป็นมือถือ Symbian^3 เครื่องแรกอย่าง N8 ก็ปาไป Q4 ปี 2010 และสถานะ Open Source ของมันก็ไร้ค่าลง เพราะไม่มีใครอยากร่วมด้วย

ทางด้านนักพัฒนา ก็เหมือนถูกปล่อยลอยแพ ตื่นเต้นทุกนาที ต้องคอยตามข่าว ตามอัพเดต ตามดู พอมันเปิดตัวมาก็ยังไม่สมบูรณ์นัก เพราะ N8 เป็นเครื่องแรกที่ใช้ Qt เขียนแอพฯอย่างเต็มตัว ปวดหัวนักพัฒนาอีกพอสมควรกว่าจะเข้าที่

โนเกียกับ Strategy ตลกๆที่ทำให้เครื่องขายไม่ออก

ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ Stephen Elop ผู้เลื่องชื่อ โดดเข้ามาเป็น CEO ของโนเกียพอดี (กันยายน 2010) แล้วหลังจาก Elop เข้ามา อะไรๆก็ดูตลก แปลก งงๆ อย่างแรกคือเครื่องกลับพัฒนา"ลง" หลักๆเลยคือ "กล้อง" ดันประกาศว่ากล้อง Fix Focus นี่แหละ นวัตกรรม คนต้องการแบบนี้ แล้วทำ High End ทุกรุ่นออกมาเป็น Fix Focus หมดเลย ซึ่งแน่นอน ...​ โดนด่ายับ ขายไม่ออก คนหันไปซื้อยี่ห้ออื่นหมด

ในแง่นักพัฒนาแล้ว เครียดครับ เพราะทุ่มเทไปกับการทำแอพฯสูงมาก แต่ทางผู้ผลิตกลับผลิตมือถือที่คนไม่อยากซื้อออกมา

ครั้งนั้นก็เคยเถียงกับ Design Team ของโนเกีย ท่านก็ด่ากลับมาอีกว่าคุณอ่ะไม่รู้อะไร เรา Research มาแล้ว ...​ ก็ตามใจ

มานั่งดูภาพจาก MOLOME แล้วรู้เลยว่าโนเกียกำลังเผชิญวิบากกรรม เพราะภาพที่มาจากมือถือ High End ของโนเกียนาทีนั้น เบลอ มัว เละ ไม่เหมือนที่เค้าพูดเลยสักอย่าง

กว่าโนเกียจะเข้าใจว่ามันไม่ใช่ทางที่ดี ก็ผ่านไปเกือบปี สุดท้ายก็ยอมกลับมาทำมือถือ Auto Focus อีกที

ลาก่อน Symbian C++ หันไปซบ Qt

การเกิดมาของ Symbian^1~6 นำมาซึ่งการโละของเก่าทิ้งไปหลายอย่าง รวมทั้ง Symbian C++ ที่เป็นภาษาที่ Learning Curve สูงสัดๆๆๆๆๆๆด้วย เพื่อหันไปซบ Qt ที่เขียนง่ายขึ้นมาก

แต่ก็เห็นด้วยเพราะยิ่งภาษาเขียนง่ายเท่าไหร่ แอพฯดีๆก็จะปรากฏให้เห็นมากขึ้นเท่านั้น

แต่สุดท้ายก็ติดที่ Symbian Signed อยู่ดี และสเปคเครื่องก็ช้ามาก ดันประกาศว่า "CPU แรงๆมันไม่จำเป็น เปลืองแบตเปล่า" ในขณะที่คนประกาศคงไม่รู้ว่า Qt มันทำงานได้ไม่ดีเท่าไหร่บนมือถือ Symbian CPU ต่ำๆ เนื่องจากมันต้องคอมไพล์ไฟล์ QML สดตอนเปิดแอพฯ ผลก็คือรันแอพฯดีๆไม่ได้เลย ทำให้แอพฯดีๆเจ๋งๆไม่มีให้เห็นบน Symbian ด้วยเหตุฉะนี้

Fragmentation บน Symbian อันเนื่องมาจากการไร้วิชั่น

ได้แต่หวังว่าจะมีอะไรดีขึ้น แต่ ... กว่าโนเกียจะรู้ตัวว่ามุมมองตัวเองนั้นผิด ก็ปาไปปีสองปีที่ผ่านมานี้เอง ที่ยอมยัด CPU 1.3 GHz Single Core ให้ Nokia 808 PureView มือถือซิมเบี้ยนรุ่นสุดท้าย

และ Fragmentation ที่โนเกียวางไว้ก็ระยิบระยับมากเลยทีเดียว แต่ละรุ่นวาง Qt Version ไว้ไม่เหมือนกัน รวมถึง Qt Mobility ด้วยเช่นกัน อีกทั้ง CPU บางรุ่นก็ช้าเหลือเกิน บางรุ่นก็เร็วพุ่งพล่าน

สุดท้ายนักพัฒนาก็ปวดหัวมากกับการทำให้แอพฯรันได้บนทุกรุ่น สุดท้าย MOLOME เขียนให้สนับสนุน Qt for S60 5th Edition เลยทีเดียว ถึงจะแก้ปัญหาเรื่องรุ่นต่างๆได้ (แต่สุดท้ายก็ไม่ทั้งหมด บางรุ่นก็มีปัญหาอยู่ดี)

แต่ถ้าเทียบกับแอนดรอยด์แล้ว แอนดรอยด์ปัญหาเยอะกว่าหลายเท่านัก ...

Maemo ความสุขของนักพัฒนา กับความล่าช้าจนโดนโยนทิ้ง

โนเกียมีความพยายามสร้างมือถือทัชสกรีนมานานแล้ว ตั้งแต่ก่อน iPhone ด้วยซ้ำไป ซึ่งอยู่ในรูปแบบของ Series 90 มีโผล่มาสองรุ่นคือ 7710 และ 7700 แต่สุดท้ายก็ถูกยกเลิกไป

Maemo เป็นระบบปฏิบัติการอีกตัวหนึ่งที่โนเกียพยายามทำเป็นมือถือทัชสกรีน แรกออกมาเป็นรุ่น N770, N800, N810 ที่รัน Maemo 4 ก่อนจะขยับเป็น Maemo 5 ตัวแรกและตัวเดียวอย่าง N900 (นี่ยังมี N900 อยู่บ้านอยู่เลย) ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามไม่น่าเชื่อ แม้แต่ตอนนี้ผมก็ยังคิดว่ามันเจ๋งมาก ชอบมันมากๆ

ทั้งนี้ Maemo มี Developer Community ที่ Active มาก มีอะไรใหม่ๆให้เล่นอยู่ทุกวัน ราวๆกับ XDA Developers ในเวลานี้ แต่คนที่พลาดคือโนเกียเอง ที่พยายามทำทุกอย่าง In House ไม่ใช้พลัง Community เท่าที่ควร

ผลสุดท้าย Maemo จึงกลายเป็น OS ที่นักพัฒนาทำโน่นทำนี่อย่างมีความสุขมาก เพราะมันไม่มีระบบ Signing เหมือน Symbian สามารถเข้าถึงอะไรได้มากมาย นักพัฒนาซัดโน่นนี่โป้งๆๆๆๆ แต่โนเกียกลับไม่เอาไปใช้ และก็ไม่ยอมทำให้มันง่าย จนมันกลายเป็นมือถือ Geek ที่ไม่ได้ทำมาเพื่อ User อีกต่อไป

และด้วยความล่าช้าของโนเกียเอง ทำให้ Maemo โดนโยนทิ้งไปในที่สุด ก่อนจะถูกควบรวมกับ Moblin เพื่อทำเป็น MeeGo

MeeGo ก็แค่อีกหนึ่งอย่างที่ Elop โยนทิ้ง

เป็นอีกคำที่คนยุคนี้น่าจะคุ้นชินที่สุดของประวัติศาสตร์โนเกีย กับ MeeGo ระบบปฏิบัติการอันเลื่องชื่อ สวยงาม เพียบพร้อม และ ... มีรุ่นเดียว (N9) ออกมาแล้วปิดโปรเจคทันที

จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีเหตุผลดีๆที่โยน MeeGo ทิ้ง ถึงข่าวจะออกมายังไง ส่วนตัวก็เห็นชัดเจนว่าเหตุผลเดียวที่โยน MeeGo ทิ้งคือจะทำลาย Windows Phone โดยคนกำหนดเรื่องตรงนี้คงไม่มีใครนอกจาก Elop

แต่ส่วนตัวก็ต้องยอมรับว่า MeeGo เวอร์ชั่นที่อยู่บน N9 ก็ยังไม่สมบูรณ์นัก ยังมีความ Geek อยู่มาก ระบบต่างๆก็ยังช้าเกินไป แต่ถามว่าถ้าพัฒนาต่อมาเรื่อยๆจะดีขึ้นมั้ย? ก็คงดีขึ้น แต่ส่วนตัวคิดว่าการโยน MeeGo ทิ้งเพื่อไปหา Windows Phone เป็นตัวเลือกที่ถูกแล้วในนาทีนั้น (นานๆจะคิดตรงกับ Elop สักที) เหตุผลมีเยอะครับ ส่วนตัวคิดว่า MeeGo ไม่ใช่ระบบปฏิบัติการที่มีอนาคตเท่าไหร่นัก แม้จะเทียบกับ Windows Phone แล้วก็ตาม

ความเซ็งคือเรื่องหลังจากนั้นมากกว่าที่ Microsoft ไม่เคยแม้แต่จะใส่ใจในการทำ Windows Phone เลย

สิ่งที่กระทบต่อนักพัฒนาจากการที่โยน MeeGo ทิ้งนี้คือ Qt ซึ่งตรงนี้มาเป็นคอมโบเลยจ้าาา น้ำตาไหลเป็นสายน้ำ

ลาก่อน Symbian

หลังจากโนเกียเริ่มหันหัวเรือไปทาง Windows Phone มากขึ้น Symbian ที่ตอนแรกดูเน่าอยู่แล้ว ก็ค่อยๆเฟะเละเทะเมะเงะ จนโดนประกาศโยนทิ้งในที่สุด เป็นการปิดตำนาน Symbian อย่างเป็นทางการ

นับแต่นั้น แบรนด์ต่างๆก็เริ่มหยุดอัพเดตแอพฯให้ Symbian เพื่อไปโฟกัสกับ OS ที่มีอนาคตมากกว่าอย่าง Android/iPhone แต่คนที่รับกรรมไปก็คือนักพัฒนา ที่ถูก User ส่งเมลมาด่าอย่างต่อเนื่องว่าไม่ใส่ใจผู้ใช้บน Symbian เลย ...

ทั้งๆที่คนโยนทิ้งและทำทุกอย่างผิดมาตลอดไม่ใช่นักพัฒนา ...

เป็นผลกระทบอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้รู้สึกเกิดภาพลบกับแบรนด์ในมุมของนักพัฒนาไปโดยปริยาย

Qt กับอีกหนึ่งสิ่งที่ถูกโยนทิ้ง

Symbian ก็โดนโยนทิ้ง MeeGo ก็โดนโยนทิ้ง อีกสิ่งที่โดนโยนทิ้งตามไปโดยปริยายก็คือ ...​ Qt

ในมุมของนักพัฒนาแล้ว Qt ถือเป็นฮีโร่ของการเปลี่ยนผ่าน เพราะมันเป็นเครื่องมือ Cross Platform ที่มีประสิทธิภาพพอสมควร เขียนทีเดียวแล้วไปรันทั้งบน Symbian และ MeeGo ได้เลย ดูมีอนาคตและนับเป็น Strategy ที่เด็ดมากๆ พอวันนึงโยน Symbian ทิ้ง แล้วลุย MeeGo ต่อ แอพฯก็ยังจะใช้งานต่อได้ทันที ไม่ต้องเขียนใหม่

แต่คราวนี้ พี่เล่นทิ้งทั้งคู่ ...

เป็นความเจ็บปวดครั้งใหญ่ของนักพัฒนาก็ว่าได้ เพราะโนเกียป่าวประกาศและชวนเชื่อครั้งใหญ่มากให้มาเขียนโปรแกรมด้วย Qt เราจะอยู่กับมันอีกนาน บลาๆๆๆ แต่แล้ว มันกลับมีชีวิตแค่สองปีเท่านั้นเอง และความรู้ทั้งหมดก็โดนโยนทิ้งจ้าาา

หลายคนประกาศลาจากทุกสิ่งที่เกี่ยวกับโนเกียก็จากเหตุการณ์นี้นี่เอง

Silverlight บน Windows Phone ยังโดนโยนทิ้ง

หลังจากนักพัฒนาหันไปทำแอพฯให้ Windows Phone 7 (ก็ยังไม่เข็ดเนอะ) ปรากฎว่ามันห่วยเหลือเชื่อ จน Mango ออกมาก็ดีขึ้น (แต่กว่าจะออก) นักพัฒนาก็ทำแอพฯโน่นนี่ ทำไปทำมา Microsoft ออก Windows Phone 8 พร้อมประกาศโยน Silverlight ทิ้ง ...

ฮ่วย !!!

ก็ยังดีที่มัน Backward Compatible สามารถเอาแอพฯที่เขียนด้วย Silverlight ไปรันบน Windows Phone 8 ได้ และหน้าตาโครงสร้างก็คล้ายๆกัน แต่สุดท้าย เขียนไปเขียนมาก็ค่อยๆ Move ออกจาก WP7 และไปอยู่กับ WP8 อย่างเต็มตัว สุดท้ายก็ไปอยู่กับ WPF ที่สามารถ Cross Platform ในวง Microsoft ได้ การโยนทิ้งตรงนี้ก็เลยไม่เดือดร้อนมาก

แต่ความเดือนร้อนก็อยู่ที่ User เมลมาด่าอีกนั่นแหละว่าแอพฯมันรันบน WP7 ได้ไม่สมบูรณ์ (ซึ่งเป็นเพราะตัว OS มันไม่สมบูรณ์เอง) (จะเมลไปบอกว่าให้ซื้อมือถือใหม่ก็ไม่ได้) นักพัฒนาก็เครียดเป็นนะเฟร้ย ...

ฮ่วย

โยนทุกอย่างทิ้งแต่ดันไปโฟกัส S40

หลังจากพี่ท่านโยนทุกอย่างทิ้งหมด Symbian, Maemo, MeeGo หรือแม้แต่ Windows Phone ก็ไม่ได้เน้นมาก แต่พี่ Elop กลับยืดอกภาคภูมิใจใน S40 (Asha) เป็นอย่างมาก กับยอดขายมหาศาล

ขายดี๊ขายดี แล้ว ...​ พี่เค้าไม่รู้จริงๆหรอว่า Smartphone กำลังจะมา และไม่รู้จริงๆหรอว่า S40 มันอยู่ได้อีกไม่นาน ไม่ควรจะลงทุนอะไรกับมันอีกแล้ว แต่ก็ดันชวนให้นักพัฒนาไปทำแอพฯบน S40 อย่างต่อเนื่อง

ซึ่งแน่นอน ...

และสุดท้ายก็โยน S40 ทิ้ง

ล่าสุด S40 (Asha) โดนโยนทิ้งเรียบร้อยจ่ะ

Nokia X ก็โดนโยนทิ้งนะ

ไลน์ Android ของโนเกียอย่าง Nokia X ที่ออกมาไม่กี่รุ่น ก็โดนยุบทิ้งเป็นที่เรียบร้อย แต่อันนี้ไม่ค่อยแปลกใจเท่าไหร่นักเพราะจุดกำเนิดของ Nokia X Platform มันมาจากตอนก่อนที่โนเกียจะถูกควบรวมกิจการ ก็แค่ว่าเมื่อไหร่ Microsoft จะดีดนิ้วทำลายทิ้งแหละ (ซึ่งก็แปีบเดียวจริงๆ)

โชคดีอย่างนึง Nokia X เป็น AOSP จึงเอาแอพฯแอนดรอยด์มารันได้เลย จะแก้ก็เพียงเล็กน้อยเพื่อให้ Support In-App Purchase, HERE Map และ Push Notifications ซึ่งหายไปจากการที่ GMS ถูกถอดออกไปนั่นเอง

แต่ก็เป็นอีกอย่างที่ถูกโยนทิ้งแหละนะ

Windows Phone สอบตกกับการเป็น Smartphone เป็นได้แค่ฟีเจอร์โฟนที่รันแอพฯได้

มุมมองส่วนตัว ถึง Windows Phone จะขายได้อยู่เรื่อยๆ แต่มันก็ยังสอบไม่ผ่านการเป็นสมาร์ทโฟนแต่อย่างใด (Value ของ User != ยอดขาย)

ตอนนี้จาก Stats ทั้งหลายที่ได้มา ต้องบอกว่า Windows Phone ยังไม่ใช่ 3rd Smartphone Platform ของโลกได้ จากนี้ Market Share อาจจะร่วงลงไปอีก หรือถึงจะขึ้น ยอดขายก็ไม่ทำให้มันเป็น Smartphone ขึ้นมาได้ ทั้งนี้เป็นความผิดของ Microsoft เอง ไม่ใช่ใคร

นาทีนี้เลยกระซิบบอกคนรอบๆตัวว่า ถ้าจะทำแอพฯให้โฟกัสไปที่ iOS, Android และ Website ก็พอ มันไม่มีพื้นที่สำหรับแพลตฟอร์มที่ 3 เหลือแล้ว จากนี้จะเป็นยุคของ Android Everywhere

บทสรุปของการไม่แคร์นักพัฒนา

ตลอดสิบปีที่ผ่านมา มีความรู้ที่โนเกียยุให้ศึกษาไว้แล้วก็โยนมันทิ้งไปแบบไม่ใยดีเยอะมาก เอาแค่ที่เล่ามาข้างบนก็คงรู้สึกตามแล้วว่าเราเสียเวลาศึกษาอะไรไปเยอะแค่ไหน จนหลายทีรู้สึกว่าโกรธมากและก็รู้สึกไม่ค่อยไว้ใจในสิ่งที่ออกมาใหม่ๆว่าจะโดนลอยแพหรือไม่ (แต่ก็เป็นการฝึกฝีมือไปในตัวได้อย่างดีอ่านะ เป็นตัวบังคับให้เขียนโปรแกรมเยอะและหลากหลาย ...​ แต่บังคับด้วยแนวทางนี้ก็ไม่ไหวป่ะว้าาา)

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ต้องยอมรับจริงๆว่า Policy ฝั่ง Business นั้นไม่แคร์นักพัฒนาเลย สุดท้ายนานเข้า Evangelist ทั้งหมดที่สร้างไว้ ก็ค่อยๆลาจาก หน้าใหม่เข้ามาแล้วออกไป จนไม่เหลือใครในที่สุด

ในขณะที่ iOS และ Android แคร์นักพัฒนามาก ใส่ใจ ออกโน่นออกนี่มาตลอดเพื่อให้ทำทุกอย่างง่ายขึ้น แต่อันเก่าก็ไม่ถึงกับโยนทิ้ง มีวิธี Port ง่ายๆให้เสมอ จนได้ดีอย่างทุกวันนี้

แต่ต้องยอมรับว่า Nokia Thailand ดูแลนักพัฒนาดีมาก ใส่ใจ ทุ่มเท มีอะไรก็เชิญชวนตลอด ขอบคุณมากนะครับ =)

น่าเสียดายที่ Policy จากต่างประเทศทำให้โนเกียประเทศต่างๆทำงานยากมาก ทีมในประเทศต่างๆดีขนาดนี้ แต่หัวเรือไม่ดี สุดท้ายก็พังอยู่ดีอ่านะ (เศร้า)


และวันที่โนเกียถูกควบรวมกับไมโครซอฟท์ก็มาถึง

วันที่ประกาศว่าการควบรวมเสร็จสมบูรณ์ ป้ายโนเกียถูกถอด เปลี่ยนเป็นป้ายไมโครซอฟท์ เป็นอารมณ์ที่รู้สึกเศร้าใจ เหมือนครอบครัวที่รักโดนหลอกขายไปใช้แรงงาน แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะปัญหาทั้งหมดเป็นสิ่งยืดเยื้อ

มันไม่ใช่เรื่องของดวง ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นความผิดพลาดทางแผนธุรกิจและวิชั่นสะสมมาร่วมสิบปี ความไม่มั่นคงในจุดยืน การไม่มีวิชั่น การไม่เข้าใจตลาด ฯลฯ​ ทั้งหมดรวมกันจนเกิดเหตุในวันนี้ขึ้น

ไว้รออ่านหนังสือ How to collapse the giant company, Stephen Elop's case study นะครับ น่าจะมีให้อ่านกันจริงๆ ผมเชื่อว่า =)

บทความที่เกี่ยวข้อง

Feb 4, 2016, 15:31
36922 views
วิธีรับเงิน USD จาก PayPal ด้วยเรตดี๊ดีผ่านธนาคารกรุงเทพสาขานิวยอร์ก
Dec 29, 2012, 23:13
24001 views
ตลาดมือถือปี 2013 คลื่นลมสงบ ปูทางสู่สนามรบครั้งใหม่
0 Comment(s)
Loading