"ทุ่มเทอย่างสุดกำลัง เพื่อความฝันและวันข้างหน้า วันนี้เหนื่อยไม่ว่าถ้าหากมันทำให้มีวันหน้าที่สวยงามได้"
เราไว้ใจแอพฯฟรีได้แค่ไหน?
10 Jan 2013 13:41   [45916 views]

เผอิญวันก่อนคุณเพื่อนเอเจ @arjin เอาบทความจาก TheVerge เรื่อง "Consumers pay the hidden costs for the 'free' app ecosystem" มาให้อ่านแล้วสะกิดใจนิดๆ เพราะก่อนหน้านี้ประโยคเด็ดของแอพฯฟรีที่ได้ยินบ่อยๆ เรายังเคยใช้ในพรีเซ็นต์เลยคือ


"When the product is free, you are the product"


และในบทความของ TheVerge ด้านบนนี้ก็มีประโยคเด็ดนี้ด้วยเช่นกัน เนื้อหาในบทความโดยรวมแล้วเค้าบอกว่า การใช้แอพฯฟรีเป็นสิ่งอันตราย เพราะในเมื่อมันเป็นแอพฯฟรี หาเงินไม่ได้ ทางผู้พัฒนาก็มีแต่จะเสียเงินไปวันๆ เค้าจึงอาจจะทำอะไรกับข้อมูลที่เราเป็นคน Generate ให้ก็ได้ หรือวันใดวันหนึ่งถ้ามันปิดตัวลงด้วยเหตุใดก็ตาม (เช่นเจ๊ง หรือโดนซื้อกิจการไปเพื่อปิด) ข้อมูลที่เราสั่งสมมาเป็นปีก็จะหายวับไปในพริบตา อย่างเช่นกรณีที่ Punchfork แอพฯแชร์ส่วนผสมอาหาร ถูก Pinterest ซื้อไปเพื่อปิดบริการเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา โดย TheVerge ยกคำพูดขึ้นมาได้น่าสนใจว่า "เวลาเรามีค่า เทียบได้ดั่งเงิน การ Spend เวลาให้กับแอพฯฟรี แล้ววันหนึ่งข้อมูลเราถูกเททิ้ง จึงเทียบได้กับการที่เราจ่ายเงินไปเพื่อเททิ้ง" ชอบมากเลยนะแนวคิดนี้ จึงเกิดเป็นประเด็นอีกครั้งว่า

"เราเชื่อใจแอพฯฟรีได้แค่ไหน?"

และบทความที่จะเขียนนี้ก็เกี่ยวกับเรื่องนี้เช่นเดียวกันครับ อยากให้ทุกคนทำความรู้จักแอพฯฟรีไว้ว่าคนเค้าคิดยังไงถึงทำแอพฯฟรีขึ้นมา ในมุมมองของนักพัฒนาครับ และจะเล่าให้ฟังด้วยว่าประเด็นของ TheVerge ที่เขียนออกมา มันดูเลวร้ายเกินไปนิดหน่อย จริงๆมันไม่ใช่อย่างงั้นทั้งหมดหรอก


ทำไมถึงทำแอพฯฟรีกัน?

ง่ายๆนะ ก็ทำแอพฯเสียตังค์มันขายไม่ออกอ่ะ !

คนทำแอพฯใหม่ๆทุกคนก็คงคิดจะทำแอพฯ "ขาย" กันทุกคนนั่นแหละ แต่ขณะนี้ตลาดแอพฯมือถือมันอยู่ใน Red Ocean แบบอิ่มตัว (จริงๆเป็นมานานสักพักแล้ว) มีแอพฯแค่ 1% หรือน้อยกว่าเท่านั้นเองมั้งที่สามารถขายได้ และเขาเหล่านั้นคือเจ้าที่ดังแล้วทั้งสิ้น หรือถ้ายังไม่ดังก็ต้องมีเงินเพื่อลงค่า Marketing อีกจำนวนมหาศาลเลยแหละ

ถึงกระนั้น หากขายออกก็จะไม่ได้ออกในหลักล้าน Licenses อย่างเก่งเลยเนี่ยก็จะอยู่แค่หลักพัน เก่งขึ้นมาหน่อยก็หลักหมื่น ถ้าเก่งสุดๆๆๆๆ ก็หลักแสน ถ้าจะแตะหลักล้านได้ต้องเป็นเทพมาจุติและปีนั้นเค้าไม่ชง ไม่งั้นแทบเป็นไปไม่ได้

คราวนี้แอพฯที่จะขายดีขนาดนั้น ราคาต้องถูกที่สุดจนคนซื้ออย่างไม่คิด ... ใช่แล้ว $0.99 หรือ 30 บาท ถูก Store หักไป 30% เหลือ 21 บาท ง่ำ ! แต่ถ้าตั้งราคาแพงขึ้นมาหน่อย คนกดซื้อก็จะลดลงอย่าง Exponential วูบบบบ

ดังนั้นถ้าให้คำนวณแล้ว การขายแอพฯจะ Generate รายได้ให้แก่ผู้พัฒนาด้วยสูตรง่ายๆ

ค่าแอพฯ x จำนวนคนกดซื้อ

สมมตินะครับสมมติ สมมติว่าแอพฯราคา $0.99 และขายได้ 10,000 Licenses ก็จะได้เงินมาราวๆ 320,000 บาท หัก 30% แล้วก็เหลือราวๆ 220,000 บาท ... โอเค กลับไปคำนวณดูนะว่าต้นทุนการทำแอพฯเท่าไหร่ (ไว้มาเขียน Blog เรื่องต้นทุนการทำแอพฯแยกให้ดูอีกอัน รับรองมันส์) ถามตัวเองสิว่าคุ้มมั้ย บอกได้เลยว่าขายได้เท่านี้ก็เก่งมากๆแล้ว คือถึงหมื่นเนี่ยก็ปาฏิหารย์ละ

จึงเกิดแนวคิดใหม่ขึ้นมา "ได้แค่นี้ก็แจกฟรีแม่มเลย" แต่แจกฟรีแล้วไม่ได้รายได้ก็ง่อยสิครับ จะเอาอะไรกิน มันจึงก่อกำเนิดเป็น Business Model ของแอพฯฟรีขึ้นมาหลากหลายแนวทาง จนทำให้แอพฯทั้งหลายเปลี่ยนแนวมาเป็นฟรีกันหมด จากต้นเหตุเดียวคือ "แอพฯเสียตังค์มันขายไม่ได้เฟร้ย"


Business Model ของแอพฯฟรี

หลักๆแยกประเภทของแอพฯฟรีได้อยู่ 3-4 แบบดังนี้


1)
เพื่ออวดชาวโลก - อันนี้ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กใหม่ในวงการที่อยากจะทำเล่นๆเพื่อให้ชาวโลกรู้ว่าเราทำแอพฯได้นะ แอพฯประเภทนี้จะไม่เน้นหารายได้ เราโหลดกันมาเล่นๆได้ แต่สักวันมันอาจจะหายไปจาก Store จำไว้


2)
เพื่อความโด่งดัง - จะคล้ายๆกับแนวแรก แต่อันนี้จะมาในเชิงธุรกิจนิดหน่อย คือตัวเองยังไม่มีชื่อเสียงพอ แต่มีฝีมือ ครั้นจะเดินไปของานบอกว่าตัวเองเจ๋งก็คงคอตกกลับมา จึงขอทำแอพฯดีๆตัวนึงขึ้นมาแล้วปล่อย เพื่อให้ตัวเองมีชื่อเสียงและจะได้ไปคุยงานง่ายขึ้น แอพฯประเภทนี้ก็ไม่เน้นรายได้เหมือนกัน


3)
เพื่อหาเงินด้วยการแปะ Banner Ads - อันนี้จะเป็นแอพฯฟรีที่เห็นได้บ่อยที่สุด คือโหลดฟรีแต่มี Banner Ads มากวนใจเล่น ไม่ด้านบนก็ด้านล่างของแอพฯนี่แหละ แต่ทำเป็นเล่นไป มีคนรวยเป็นกอบเป็นกำจาก Banner Ads เยอะแล้วนะ เคล็ดลับการจะรวยด้วยวิธีนี้คือ ต้องเป็นแอพฯที่มีการกลับเข้าใช้งานบ่อยๆ เช่น Twitter Client เป็นต้น สูตรการคำนวณของรายได้จากวิธีนี้คือ

รายได้เฉลี่ยจากการคลิกแบนเนอร์ต่อคนต่อวัน x จำนวน Active User x จำนวนวัน

มันเด็ดตรงที่มี "จำนวนวัน" มาด้วยนี่แหละ แปลว่าอะไรรู้มั้ย? แปลว่ารายได้จะอยู่ในลักษณะ Passive Income เข้ามาเรื่อยๆอย่างต่อเนื่องตราบใดที่ยังรักษาผู้ใช้ได้อยู่ยังไงหละ แต่โดยเฉลี่ยแล้วรายได้เฉลี่ยจากการคลิกแบนเนอร์จะไม่สูงมาก น่าจะราวๆ 1 Cents ต่อคนต่อวันเท่านั้นเอง (จริงๆตรงนี้คำนวณวุ่นวายมาก มีเรื่องของ eCPM, CTR และราคาของแต่ละประเทศก็ไม่เท่ากัน ถ้า Target อยู่สหรัฐฯเยอะก็จะได้เงินเยอะเป็นพิเศษ อาจจะขึ้นถึง 3-5 Cents ได้) กล่าวคือ ถ้ามีคนใช้ 10,000 คนต่อวัน รายได้ต่อวันก็จะอยู่ที่ $100 หรือเดือนละ $3000 ถัวๆ

ดูน้อยรึเปล่า? เอาเข้าจริงมันไม่น้อยเลยนะ เพราะถ้าอิงด้วยหลักจำนวน User 10,000 คนเท่ากันแล้ว หากเรา Keep ให้เค้าเล่นต่อ 4 เดือนได้ ก็จะได้เงินไปแล้ว $12000 หรือมากกว่าที่เราขายแอพฯได้เสียอีก !

ยัง ยังไม่หมด เพราะการแจกแอพฯฟรี มันจะไม่ได้หยุดแค่ 10,000 คนหรอก แต่มันจะพุ่งไปได้ถึงหลักแสนหลักล้าน แปลว่ารายได้คุณอาจจะพุ่งไปเป็นเดือนละ $30,000 - $300,000 เลยนะ ถ้าคุณสามารถทำให้คนเข้าแอพฯคุณบ่อยๆวันละเป็นสิบๆครั้ง และมีการวาง Ads ได้อย่างถูกต้องตามหลักการ และฐานผู้ใช้คุณส่วนใหญ่อยู่ใน USA ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขจริงที่คุณมีสิทธิ์จะได้รับ

เข้าใจหรือยังว่าทำไมคนถึงทำแอพฯฟรีแปะ Banner Ads กันเยอะนัก? แต่ข้อเสียที่ต้องแลกกลับมาคือความน่ารำคาญของ Banner Ads ที่พร้อมจะทำให้เค้าลบแอพฯทิ้งทุกเมื่อ มาตรฐานแอพฯคุณต้องดีจริงๆถึงจะยอมให้เค้าทนใช้พร้อม Ads ได้ ซึ่งมันไม่ได้ง่ายเลย

แล้วก็นะ อย่าเพิ่งฝันหวานหวานหวานว่าจะร่ำรวยแน่นอน เพราะ eCPM ของแต่ละแอพฯ ของโฆษณาแต่ละตัว ฯลฯ มันไม่เท่ากัน บางทีที่บอกว่า 10,000 คน ได้วันละ $100 อาจจะเหลือแค่วันละ $1 ก็ได้ ต้องศึกษากันอีกเยอะ เรื่องนี้


4) เพื่อหาเงินด้วยการขายของในแอพฯ (In-App Purchase)
- พักหลังจะเห็นเกมจำนวนหนึ่งที่แจกฟรี อลังการงานสร้าง งบลงทุนสิบยี่สิบล้าน แต่ดั๊นนนแจกฟรี ! แต่เปล่าครับ เค้าไม่ได้ใจดี เค้าแค่หลอกล่อให้คุณเข้ามาเล่นจนติด แต่พอถึงจุดจุดนึงจะรู้ว่าเกมมันเริ่มยากละ อยากจะผ่านง่ายๆคุณต้อง "จ่ายตังค์ซื้อไอเทม"

วิธีนี้เห็นกันบ่อยเพราะเป็นมุมมองการหาเงินที่ดีมาก ดีกว่าการแปะ Banner Ads เสียอีก เพราะไม่จำเป็นต้องได้เงินบ่อยๆ แต่ได้ทีเป็นก้อนๆ และสามารถหลอกให้คนเดิมจ่ายได้เรื่อยๆ เกิดเป็น Passive Income ได้อีก เพราะไอเทมที่ซื้อส่วนใหญ่เป็นของที่ใช้แล้วหมดไป เช่นจ่ายเงิน $0.99 เพื่อแลกเงิน ZEN ในเกม 50 เหรียญ ด้วยวิธีนี้ทำให้ SuperCell ผู้พัฒนาเกม Hay Day ได้เงินวันละล้านเหรียญเชียวนะ ย้ำอีกทีว่า "วันละ" $1,000,000

อีกแอพฯนึงที่ทุกคนคงรู้จักคือ LINE เจ้านั้นก็ใช้ IAP ในการหาเงินจากการซื้อสติกเกอร์เหมือนกัน

นอกจากนั้นวิธีนี้สามารถนำไปใช้ร่วมกับการแปะ Banner Ads ได้อีกด้วย คือแอพฯก็มี Banner ให้กดเล่นด้วย แล้วก็มีไอเทมให้ขายด้วย ไม่ขัดกัน

ร่ำรวยสองต่อเลยนะฮิ !


5)
เพื่อหาเงินด้วย Subscription - แอพฯจำพวกนิตยสารหรือผู้ให้บริการใดๆเป็นรายเดือน จะทำการหักเงินค่าบริการทุกๆเดือน อันนี้จริงๆคล้ายกับ In-App Purchase แหละ แต่ต่างกันตรงที่การเก็บเงินแบบ Subscription จะได้เงินเรื่อยๆมั่นคงทุกเดือนจนกว่าผู้ใช้จะยกเลิก


6)
เพื่อหาเงินด้วยการขาย "ข้อมูลของคุณ" - มีแอพฯจำนวนหนึ่งที่วิเคราะห์ลักษณะนิสัยของผู้ใช้เพื่อเอาไปขายโดยเฉพาะ แอพฯประเภทนี้ส่วนใหญ่จะให้คุณ Login ด้วยเฟสบุ๊ค แล้วดึงข้อมูลของคุณไปจนหมดสิ้น (คุณกดยินยอมเองนา) แล้วจากนั้นฟังก์ชั่นการใช้งานของแอพฯก็จะอำนวยความสะดวกในการแอบเก็บข้อมูลของคุณอย่างลับๆ คุณชอบทำอะไร คุณใช้มือถือช่วงไหนบ่อย คุณชอบถ่ายรูปอะไร คุณชอบทานอะไร เพื่อนสนิทคุณเป็นใคร ฯลฯ แล้วพอวันหนึ่งเค้ามีข้อมูลคุณในมือระดับหนึ่งแล้ว เค้าก็จะมีกำลังต่อรองในการเอาไปขาย อาจจะขายทั้งแอพฯเลยหรือขายแค่ข้อมูล สุดแล้วแต่ยังไงก็เป็นข้อมูลของคุณนั่นแหละที่ถูกเอาไปขาย

ถ้า Aggressive น้อยหน่อย เค้าอาจจะไม่ได้เอาข้อมูลส่วนตัวคุณไปขายหรอก แต่จะเอาข้อมูลที่คุณ Generate ให้เค้าตลอดช่วงชีวิตการใช้งานเนี่ยไปทำรายได้ เช่น FourSquare คุณใช้ได้ฟรีๆเลย แต่คุณต้องยินยอมให้เอาเนื้อหาที่คุณเป็นคนสร้าง ให้บริษัทผู้พัฒนาเอาไปหาตังค์ ก็วินวินป่ะ คุณใช้ฟรี เค้าได้ตังค์ (^0^/)

แต่ถ้า Aggressive หน่อย เค้าก็เอาฐานผู้ใช้ของระบบไปขาย เพื่อไปรวมกับระบบอื่นที่เค้าต้องการเลย

และถ้า Aggressive สุดๆ เค้าจะเอาข้อมูลส่วนตัวคุณไปขายเลยครับ จะลงแอพฯแอนดรอยด์ก็ดู Permission ให้ดีๆว่าเค้าขอสิทธิ์ทำอะไรมากเกินไปรึเปล่า หรืออย่างตอน Path ที่เคยสร้างชื่อเสียอย่างเละเทะตอนส่ง Contact List ของ User กลับไปบน Server นั่นก็อยู่ในข้อนี้


จริงๆยังมีวิธีหาเงินจากแอพฯฟรีตามแล้วแต่เทคนิคของแต่ละคนอีก ยกตัวอย่างเช่น ขายฮาร์ดแวร์แล้วพ่วงซอฟต์แวร์ฟรีเข้าไปเพื่อเพิ่มมูลค่า แล้วไปชาร์จเอากับตัวฮาร์ดแวร์แทน เป็นต้น แต่ที่ลิสต์มาข้างบนเป็นวิธีพื้นฐานที่คนเค้าใช้กันแบบไม่ลึกลับซับซ้อนครับ


แอพฯที่อันตรายคือแอพฯที่ไม่มี Business Model หรือหาเงินไม่ได้

ที่ลิสต์ขึ้นมาทั้งหมดนี้เพื่อจะบอกว่าจุดอ่อนของ TheVerge ที่ตีไปว่า "แอพฯฟรีคือแอพฯที่ไม่น่าไว้ใจ" ว่ามันเป็นฐานความคิดที่ผิด เพราะจริงๆแล้ว แอพฯที่อันตรายจริงๆคือแอพฯที่หาเงินไม่ได้ครับ และแอพฯฟรีไม่ได้แปลว่าหาเงินไม่ได้ มันบอกแค่ว่าคุณโหลดฟรีเท่านั้น

ทำไมแอพฯที่ไม่มี Business Model ถึงอันตราย? อันตรายในแง่นี้คือเสี่ยงว่าวันนึงมันจะถูกปิดและข้อมูลทั้งหมดคุณจะหายวับไปกับตา หรือเสี่ยงที่จะถูกเอาข้อมูลคุณไปขายเพราะในวันสุดท้ายเค้าติดหนี้มหาศาลจนทำอะไรก็ได้แล้ว


แอพฯเสียตังค์ไม่ได้แปลว่าจะไม่เจ๊ง

เป็นความคิดที่ผิดอย่างยิ่งว่า แอพฯเสียตังค์เป็นแอพฯที่ไว้ใจได้ มันไม่ใช่เลย

แอพฯเสียตังค์เป็นแอพฯที่ไว้ใจไม่ได้ยิ่งกว่าแอพฯฟรี

เพราะโดยเฉลี่ยแล้ว แอพฯเสียตังค์ได้รายได้น้อยกว่าแอพฯฟรีเสียอีกครับ และแอพฯที่จะอยู่รอดได้ต้องมาตรฐานสูงมากกกก นั่นแปลว่าต้นทุนก็ต้องสูงตาม โอกาสจะกำไรก็เสี่ยงเข้าไปอีก และถ้าคุณตัดสินใจซื้อแอพฯไหนไป หลังจากนั้นชีวิตคุณก็จะผูกอยู่กับแอพฯนั้นไปตลอด หากวันนึงผู้พัฒนาบอกว่ารายได้ไม่พอกิน ไปทำอย่างอื่นดีกว่า แล้วเลิกพัฒนาต่อดื้อๆแล้วไงอ่ะ? ก็ทำอะไรไม่ได้ คุณจ่ายเงินไปแล้วนี่

ไม่เลยครับ การซื้อแอพฯเสียตังค์ไม่ได้บอกเลยแม้แต่นิดเดียวว่ามันเป็นสิ่งที่ไว้ใจได้


สรุป

คำถาม ณ ตอนนี้คือ แอพฯไหนไว้ใจได้ แอพฯไหนไว้ใจไม่ได้? อันนี้ควรจะดูถึง Business Model ของแอพฯนั้นๆเลยว่า เค้าสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองหรือไม่

- ถ้าเป็นแอพฯฟรีหรือเสียตังค์ที่ไม่มีค่า Maintainance ไม่มีค่า Server บลาๆๆๆ มันก็ไม่มีปัญหาอะไรหรอก โหลดๆไปเห้อ ส่วนใหญ่จะเป็นโปรแกรม Offline ใช้ๆไป

- ถ้าเป็นแอพฯฟรีที่มี Cost ต่อเดือนเช่นค่า Server ค่า Developer ก็ต้องดูว่าโมเดลการหาตังค์เค้าชัดรึเปล่า ถ้าไม่ชัดก็บอกได้ว่าอีก 1-2 ปีเตรียมปิดบริการหรือไม่ก็โดนซื้อจ้าาา

- ถ้าเป็นแอพฯเสียตังค์ ดูยอดขายเลย ถ้าไม่เยอะก็เตรียมตัวปิดบริการอีกเช่นกันจ้าาา


สุดท้ายแล้วมันเป็นเรื่องของธุรกิจล้วนๆครับ ทุกอย่างเกิดขึ้นได้หมดแหละ แอพฯจ่ายตังค์ที่สุดแสนจะโด่งดัง วันนึงอาจจะโดนบริษัทใดๆซื้อไปแจกฟรีก็ได้ แอพฯแจกฟรีที่ดูกากๆ วันนึงอาจจะโดนบริษัทใหญ่ซื้อไปทำต่อก็ได้ สุดแล้วแต่ดวงชะตาจะนำพาโลกนี้ไปเลยแล


โอเค เขียนตอบแล้วนะคุณเพื่อนเอเจ เย้ เย ^ ^

บทความที่เกี่ยวข้อง

May 3, 2013, 14:18
6105 views
เลิกการแบกคอมพ์ไปมา ฝากชีวิตไว้บน Cloud
Jan 8, 2013, 23:20
22605 views
สก็อตอีซี่ vs แบรนด์รสกลมกล่อม
0 Comment(s)
Loading