"จงให้แล้วเจ้าจะได้รับ"
เรื่องเล่า Startup แบบหมดเปลือก เขียนจากประสบการณ์จริงไม่อิงตำราใด
8 Nov 2020 10:29   [56463 views]

หลังจากกระแส Startup เริ่มซาลงไปในปีหลัง ๆ แต่จู่ ๆ ก็เริ่มกลับมาบูมขึ้นเพราะซีรี่ส์ Startup ในช่อง Netflix แล้วก็ไม่รู้ว่ามันเกี่ยวกันมั้ยที่อยู่ดี ๆ ก็มีคนทักมาถามเรื่องการทำ Startup หลายคนอยู่

ชีวิตนี้ก็ผ่านการทำ Startup มาหลายที่ เจ๊งหมดยกเว้นอันสุดท้าย ได้เรียนรู้อะไรมาเยอะก็เลยขอใช้โอกาสนี้มาเล่าเรื่อง Startup จากประสบการณ์จริงให้ฟังกันว่าภาพสวยงามที่หลายคนเห็น จริง ๆ แล้วมันสวยงามแบบนั้นจริงหรือเปล่า ? หุ้นมีค่าแค่ไหน ? คนแบบไหนถึงจะทำ Startup ได้ ฯลฯ

มาอ่านกัน เริ่ม !

การเงินไม่พร้อมก็อย่าเพิ่งทำเลย Startup (รวมถึงเป็นพนักงานด้วย)

อัตราความล้มเหลวของ Startup สูงมาก ระดับ 90% หรือมากกว่านั้น ดังนั้นพูดเลยว่ากว่าจะถึงจุดที่ฝันไว้ เราอาจจะต้องล้มแล้วล้มอีก ล้มเป็นสิบ ๆ ครั้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่การล้มของแต่ละคนนั้นเจ็บไม่เท่ากัน

คนรวยร้อยล้าน ต่อให้ Startup ที่ลงทุนไป 5 ล้านบาทเจ๊งก็ไม่ได้ทำให้เค้าขนหน้าแข้งร่วงแต่อย่างใด ในขณะเดียวกันคนที่มีเงินเก็บแค่ 1 แสนบาท ในวันที่ล้มคุณจะใช้ชีวิตต่อไปได้อีกนานแค่ไหน ?

หรือต่อให้ยังไม่เจ๊งแต่สามารถลาก Startup ไปได้เรื่อย ๆ แต่ก็ไม่สามารถเติบโตได้ ทำให้ไม่สามารถเก็บเงินได้เลยเป็นเวลาหลายปี สุดท้ายถ้าต้องเลิกกิจการแปลว่าฐานะทางการเงินคุณจะไม่เหลือเลยนะ เสียเวลาไปหลายปีกับชีวิตที่ไม่มีอะไรก้าวหน้าขึ้นเลย

ถ้าจะให้พูดแบบง่าย ๆ ก็คือ Startup เป็นเกมของคนรวยนั่นแหละ เห็นมาหลายคนแล้วที่การเงินไม่พร้อมแล้วไปทำ Startup ผลคือหลังเจ๊งก็ใช้ชีวิตอย่างยากลำบากไปอีกนานมาก ไปไม่เป็นไปอีกพักใหญ่ ๆ

เรื่องนี้รวมไปถึงการเป็นพนักงานด้วยไม่ใช่แค่ผู้ก่อตั้ง เพราะบริษัทอาจจะเจ๊งเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ และพอบริษัทเจ๊งคือเราตกงานนะ และเช่นกัน ถ้าความรู้ที่มีมาระหว่างการทำ Startup ไม่ได้สูงมาก การหางานก็จะยากลำบากหรืออาจถึงขั้นหางานไม่ได้เลย

ก่อนจะกระโดดไปทำ Startup ถามตัวเองก่อนเลยว่า

ถ้าล้มแล้วชีวิตพร้อมที่จะรับมือมั้ย ?

การทำ Startup มันต้องแลกกับอะไรเยอะมาก ถ้าไม่พร้อมแลกก็อย่าเพิ่ง ไปทำงานประจำให้ฐานะมั่นคงก่อนจะดีกว่า

Startup คือการทำธุรกิจ ไม่ใช่เอาเงินมาเผาหรือแค่ Pitch เอาเงินรางวัล

ภาพ Startup ที่หลาย ๆ คนเห็นคือการที่คนขึ้นไป Pitch เพื่อเอาเงินทุนหรือเงินรางวัล แต่พอลงจากเวทีก็ไม่สามารถทำให้ผลงานนั้นไปต่อได้

อันนั้นไม่ใช่ Startup นะ แต่เป็นการเอาฝันไปขายเล่น ๆ ...

Startup ที่แท้จริงแกนกลางก็คือ "ธุรกิจ" ไม่ว่าคุณจะทำอะไรก็จะต้องมีแนวคิดทางธุรกิจนำหน้าเสมอ ต่อให้ขึ้นเวทีไป Pitch แล้วได้รับรางวัลหรือเงินทุน นั่นเป็นแค่ 0.01% ของชีวิต Startup เท่านั้น อีก 99.99% ที่เหลือจะอยู่หลังคอมพ์หรือหลังอะไรก็ตามเพื่อให้ธุรกิจไปได้

หากมี Startup Idea อะไรก็ตาม คิดไปถึงแก่นของ Business Model ให้ขาดก่อนเลย ถ้ามองไม่ออกว่าจะหาเงินยังไงก็เก็บไอเดียนั้นเข้ากรุไปก่อนได้เลย เพราะธุรกิจไม่ใช่การประกวดเทคโนโลยี แต่เป็นการหาเงินจากผลงานที่ทำมา

ต่อให้ผลงานที่ทำมามีคนใช้มากมาย แต่ถ้าทำให้เกิด Value หรือรายได้ไม่ได้ สุดท้ายก็เจ๊งอยู่ดี

ก็จะเจอผลงานมากมายที่ไอเดียดูดี๊ดี เอาไป Pitch ได้ Funding แล้วสุดท้ายก็เอาเงินมาเผาเล่นเพื่อปั่นตัวเลข ยอดผู้ใช้สูงนะ บลา ๆ ๆ ๆ แต่สุดท้ายก็เจ๊งอยู่ดีเพราะไม่สามารถทำเป็นธุรกิจได้จริง เผาเงินเล่นใครก็ทำได้ เด็กห้าขวบก็ทำได้ แต่คนจริงคือคนที่ได้เงินกลับมามากกว่าที่เผาเท่านั้นนะ !

อ้อ ! รู้หรือไม่ มี Startup มากมายที่ประสบความสำเร็จแต่เราไม่เคยเห็นหน้าเลย แบบว่ารู้จักอีกทีเค้าก็ Exit ไปแล้ว เพราะเค้าไม่คิดจะขึ้นเวที Pitch แต่เน้นทำธุรกิจเป็นหลัก มีโอกาสก็อยากให้ศึกษา Case Study ของ Startup กลุ่มนี้ไว้เยอะ ๆ

Connection สำคัญ เพราะมันคือ "ธุรกิจ"

ธุรกิจ ธุรกิจ ธุรกิจ เน้นย้ำคำนี้ไปเยอะแต่ก็ขอเน้นย้ำอีก เพราะ Startup คือการทำธุรกิจ !!!

และการทำธุรกิจ Connection นั้นสำคัญมาก ต่อให้ผลงานดีแต่ไม่สามารถเปิดตลาดได้ก็เจ๊งเหมือนกัน

ดังนั้นจึงเป็นหนึ่งในหน้าที่ของคนในบริษัท Startup ที่จะต้องออกสังคมบ่อย ๆ เพื่อทำความรู้จักกับผู้คน เวลาต้องการความช่วยเหลืออะไรหรืออยากจะขยายธุรกิจไปทางไหน Connection นี่แหละที่จะทำให้สิ่งเหล่านั้นเป็นไปได้

Connection นี้ไม่ใช่แค่เรื่องของธุรกิจแต่ไปถึงเรื่องของงาน Execution ด้วย หลายครั้งหลายคราที่การออกสังคมจะทำให้เราได้คนดี ๆ มาเข้าร่วมบริษัทและเกิดการเติบโตในแบบที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน

Funding มีไว้เพื่อเติบโต ขอแค่ที่จำเป็น

Funding เป็นหน่ึงในปัจจัยขับเคลื่อน Startup ให้ไปได้ ก็จะมีอยู่หลาย Round ด้วยกัน ตั้งแต่เงินทุนพิสูจน์ไอเดีย (Seed Round) ไปจนถึงเงินทุนขยายธุรกิจ (Series A, B, C, ...)

ความเข้าใจผิดอย่างนึงของการทำ Startup คือยิ่งมี Funding เยอะยิ่งดี

หลายคนแค่อยากขอ Funding เพราะเป็น Startup เอาเงินมาก่อนจะได้พร้อมทำนู่นทำนี่ แต่แท้จริงแล้วนั่นเป็นความคิดที่ผิด !

วิธีที่ถูกคือ ก่อนจะขอ Funding เราต้องคิดแล้วคิดอีก

1) คิดให้ถ้วนถี่ว่าเราต้องการเงินไปทำอะไร - เช่น รอบ Seed เราอยากทำผลงานแต่ต้องจ้างโปรแกรมเมอร์จำนวน 6 คนเป็นเวลา 2 เดือน ต้องใช้เงินเท่านี้ ๆ ๆ ๆ หรือรอบ Series A เราบอกว่าเราอยากจะขยายจากประเทศไทยไปอินโด สิงคโปร์และประเทศใกล้เคียง จึงต้องใช้เงินเพื่อขยายตลาด

2) คิดว่าเราจำเป็นต้องได้เงินก้อนนี้มั้ย หรือออกกันเองได้ ? - ถ้ารอบแรก ๆ อย่าง Seed Fund ไม่สูงมากและทุกคนมีฐานะทางการเงินกันระดับนึงแล้ว การออกกันเองก็ไม่ได้แย่อะไร

3) มีความเร่งด่วนหรือเปล่า ? - เช่น ถ้าไม่ทำตอนนี้จะโดนคู่แข่งตีใน 1 เดือน อะไรก็ว่าไป

4) ต้องแลกกับอะไรและคุ้มมั้ยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว - แน่นอนว่าต้องเอาหุ้นไปแลกเงินทุน แล้วคุ้มมั้ยกับตัวเลขที่ต้องแลกไป ?

5) Valuation รอบนี้จะสร้างปัญหาในอนาคตหรือเปล่า - ถ้า Valuation สูงไปจะทำให้รอบหน้าไม่สามารถ Raise ได้ง่ายถ้าต้องการ Raise อีก

การขอ Funding จึงต้องมีแพลนชัดเจน ต้องการเท่าไหร่ ต้องการไปเพื่ออะไร แลกหุ้นเท่าไหร่ Valuation จะเป็นยังไง ผลกระทบระยะยาวมีหรือไม่ (ซึ่งบอกเลยว่ามีอยู่แล้ว) และผลกระทบนั้นคุ้มค่าหรือไม่ ?

ดังนั้นการขอ Funding จึงไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันเล่น ๆ หรือขอหว่านแบบขอไปที แต่เป็นหนึ่งในขั้นตอนของการวางแผนธุรกิจเลย

คำแนะนำเลยคือ ขอเท่าที่จำเป็นเท่านั้น คำว่าจำเป็นคืออิงจากสถานการณ์และ Movement ของบริษัทเป็นหลัก วิธีคิดง่าย ๆ เลย

แผนในหัวต้องขึ้นมาก่อนว่าจะทำอะไรก่อนค่อยคิดถึง Funding ถ้าคิดถึง Funding ก่อนแล้วค่อยคิดว่าจะเอาเงินไปทำอะไรดี อันนั้นผิดมหันต์ !

แนวคิดของ Funding ก็ต่างกันไปในแต่ละคน แต่อันนี้เป็นแนวทางที่ถูกกลั่นกรองจากประสบการณ์จริงของตัวเองและคิดว่ามันดีที่สุดแล้ว

ผลงานไม่ต้องซับซ้อน ขอแค่แก้ปัญหาได้จริง

หลายคนมักจะมองภาพ Startup ในเชิงของ Tech Startup ที่ต้องแก้ปัญหาชีวิตด้วยความซับซ้อนของเทคโนโลยี

แท้จริงแล้วความซับซ้อนเหล่านั้นไม่ใช่จุดสำคัญอะไรเลย จุดที่ทำให้ Startup ต่าง ๆ ประสบความสำเร็จได้ก็คือ เทคโนโลยีเหล่านั้นได้แก้ปัญหาให้ชีวิตคนได้จริง ๆ จึงเกิดเป็นธุรกิจได้ต่างหาก

ใจความสำคัญก็ยังเป็นเรื่องของ "ธุรกิจ" อยู่ดี

จึงไม่ต้องแปลกใจที่เราจะมีโอกาสได้เห็นผลงานสุดลึกล้ำซับซ้อนแต่เจ๊งไม่เป็นท่าอยู่ตลอดเวลา เพราะมันไม่ตอบโจทย์ทางธุรกิจนั่นเอง

ในขณะเดียวกันเราก็จะได้เห็นผลงานที่ดูเหมือนโง่ ๆ แต่ประสบความสำเร็จถล่มทลายมากมายตลอดเวลาเช่นกัน

สุดท้ายคนที่ไปรอดไม่จำเป็นเลยที่จะต้องแก้ปัญหาชีวิตคนด้วยความซับซ้อน เรื่องง่าย ๆ แต่ไม่เคยมีใครทำมาก่อนมันก็ทำให้ธุรกิจนั้นประสบความสำเร็จได้เช่นกัน

อีกละ ... "ธุรกิจ"

แต่ผลงานก็ต้องไม่ง่ายไป ไม่งั้นโดนบริษัทใหญ่ตีในหนึ่งวัน

อย่างไรก็ตาม การที่ผลงานนั้นง่ายดายไม่ซับซ้อนอะไรเลยจนใครก็ทำได้นั้นถือว่าเป็นอันตรายพอสมควรเพราะอาจถูกลอกได้ ถ้างานง่ายไปก็อาจโดนนายทุนที่มีพร้อมทุกอย่างลอกผลงานและออกมาตีภายในวันเดียวซึ่งจะเห็นได้จากใน Silicon Valley ที่ Startup เล็ก ๆ โดนบริษัทใหญ่ตีตายอยู่เรื่อย ๆ

นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมบริษัทที่อยู่รอดส่วนใหญ่จะมาพร้อม Solution ที่ค่อนข้างซับซ้อนและเพียบพร้อมไปด้วยทรัพย์สินทางปัญญามากมายให้คนอื่นลอกไม่ได้ง่าย ๆ ที่ทำง่าย ๆ แล้วสำเร็จก็มีแต่ตายไประหว่างทางแค่นั้นเอง

แล้วทำไมผลงานง่าย ๆ บางตัวถึงรอดจนถึงจุดที่ยิ่งใหญ่ได้ ? นี่ก็เป็นเหตุผลว่าทำไม Startup ถึงมีคำว่า Unfair Advantage ให้เราเขียนใน Business Canvas ด้วย การทำอะไรง่าย ๆ ไม่ซับซ้อนไม่ผิด แต่เราควรจะมีอะไร Back ด้วยว่าเราเป็นคนที่ทำได้ดีกว่าคนอื่น ต่อให้นายทุนลอกก็ทำได้ไม่เท่าเรานั่นเอง

ซึ่งต่อให้ทำงานซับซ้อนก็ควรจะมี Unfair Advantage แบคไว้ด้วยเช่นกันนะ

ว่าแต่อะไรคือ Unfair Advantage ของเราหละ ?

คิดให้ได้ ๆ และก็อย่าเข้าข้างตัวเองด้วย เอาแบบที่ Solid พอแล้วชีวิตจะดีเอง

แต่ถ้าบริษัทใหญ่ตีไม่ได้ ก็เตรียมเติบโต

การโดนบริษัทใหญ่พยายามตีเป็นหนึ่งในสิ่งที่ Startup ดาวรุ่งทั้งหลายต้องเตรียมตัวโดนกันอยู่แล้ว แต่บอกเลยว่าถ้าบริษัทใหญ่พยายามตีนั่นเป็นสัญญาณว่าบริษัทเหล่านั้นสนใจธุรกิจ Segment นั้น ๆ หากตีไม่ได้ทางออกเดียวก็คือ Take Over บริษัทดาวรุ่งนั่นเอง

ก็เตรียมเติบโตกันได้เลย

แบ่งหุ้นและตกลงผลประโยชน์ต้องทำแต่วันแรก

ปัญหาของ Startup ไม่ได้มีแค่เรื่องผลงานไปไม่ได้ แต่เรื่องผลประโยชน์ไม่ลงตัวก็เป็นอีกปัจจัยหลักที่ทำให้ Startup เจ๊งมานัดต่อนัด (ทั้ง ๆ ที่ไม่น่าเจ๊ง)

ทั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นเพราะเริ่มทำ Startup กันแบบไม่มีความมืออาชีพ มองเป็นเรื่องเล่นและความสนุกไม่ใช่ธุรกิจ (ธุรกิจอีกละ) ทำให้ไม่ยอมตกลงเรื่องผลประโยชน์อะไรตั้งแต่วันแรก พอผลงานไปได้ระดับหนึ่งก็อาจจะเกิดการไม่เข้าใจกัน แตกแยกกัน และต้องหยุดกิจการในที่สุด

สิ่งที่ห้ามละเลยเลยคือ

เราควรจะต้องตกลงเรื่องหุ้นและผลประโยชน์ให้เรียบร้อยตั้งแต่วันแรก

เรื่องหุ้นก็มีเรื่องของจำนวนหุ้น การทำ Vesting การแบ่งหุ้นถ้าเกิดการ Raise Fund ขึ้น ฯลฯ

ตรงนี้ไม่ใช่เรื่องยากอะไร ขอแค่ทำการศึกษาเยอะ ๆ มีวิธีที่ชัดเจนให้ปฏิบัติตามมากมาย ขอแค่ใช้เวลาศึกษาและลงมือทำเพื่อความยืนยาวของกิจการครับ

ผู้ก่อตั้งที่ดีคือแกนหลักของความสำเร็จ

ก็มีคนถามอยู่เรื่อย ๆ นะว่าอะไรสำคัญที่สุดในการทำ Startup คำตอบที่ตอบมาตลอดและยังคงตอบอยู่คือ

ทีมครับ

ทีมที่ว่านี้ก็มีรวมถึงผู้ก่อตั้งและทีม Execution ที่จ้างมา ต่อให้ไอเดียดีแค่ไหนแต่ถ้าทีมไม่ดี สุดท้ายผลงานก็เป็นได้แค่สัญญาณไฟฟ้าที่บรรจุอยู่ในสมอง ยังไงก็ไปไม่รอดหรอก

และถ้าโฟกัสลงไปอีก ทีมผู้ก่อตั้งนั้นสำคัญมาก ๆ สาเหตุเพราะคนกลุ่มนี้จะเป็นแกนหลักสำคัญของการทำดำเนินธุรกิจ ถ้าเป็นคนที่ทุ่มเทกับงานก็ไปได้สบาย ตรงกันข้าม ถ้าทำเล่น ๆ และขี้เกียจ ยังไงก็เจ๊ง

นอกจากนั้นถ้าทีมผู้ก่อตั้งเข้ากันได้ดี แม้ผลงานจะล้มเหลว (ซึ่งมันต้องมีล้มเหลวแน่ ๆ แหละ) แต่ที่เจ๊งคือผลงาน หากทีมยังดีและยังมีความสุขกันอยู่ ทีมนี้ก็สามารถแบกประสบการณ์ไปทำ Startup ชิ้นต่อไปและต่อไปจนประสบความสำเร็จในที่สุดได้

ก็จะพูดอยู่เสมอนะ ไอเดียใครก็คิดได้ ที่สำคัญคือใครต่างหากที่ทำได้ =)

ผลงานมันลอกกันได้ แต่ตลาดลอกไม่ได้นะ

พูดถึงผลงานแล้ว อย่างหนึ่งที่จะเห็นได้บ่อย ๆ คือในวงการจะชอบลอกผลงานกันไปกันมา เอาแบบ Uber นี่ชัดเจนสุด ลอกกันให้พรึบ

ก็ไม่แปลก มันปกติ มีคนพิสูจน์ผลงานให้เห็นแล้วนี่ ก็ลอกกันไปสิ

แต่จะบอกว่าถึงผลงานมันลอกได้แต่ตลาดมันลอกไม่ได้นาจาาาาาาา

เช่น Uber ถ้าไปทำที่ญี่ปุ่น มันก็ไม่ตอบโจทย์เพราะ Taxi ที่นั่นดีมากอยู่แล้ว ก็เจ๊งไป

หรือจะเห็นว่า Startup ระดับโลกหลายรายที่รุ่งเรืองเมกาสุดท้ายก็ต้องยอมถอนตัวจากตลาดไทยไปเพราะไปไม่รอด

เลยอยากจะบอกว่าอย่าเอาแต่ลอกผลงานคนอื่น การที่มันสำเร็จในซีกโลกนึงไม่ได้แปลว่าจะสำเร็จในอีกซีกโลกนึงนะ

เวลาจะทำธุรกิจก็อย่าใช้เหตุผลว่าเพราะมันเติบโตที่ประเทศโน้นประเทศนี้ ตอบให้ได้ว่าทำไมมันถึงจะเติบโตในตลาดที่เราโฟกัส นั่นต่างหากที่สำคัญ

ขนาดของตลาดสำคัญมาก

นอกจากว่าไปได้ในตลาดนั้น ๆ แล้ว อีกสิ่งที่สำคัญคือตลาดจะขยายไปได้มากแค่ไหน เพราะธุรกิจที่ดีจะต้องสเกลได้

ยกตัวอย่างเช่นผลงานมันไปรอดในหมู่บ้านขนาด 200 คน ถ้ามันขยายไปนอกหมู่บ้านไม่ได้ธุรกิจก็จะวนอยู่ที่ 200 คนนั้นและอาจจะเจ๊งไปเมื่อไหร่ก็ได้ถ้าตลาดไม่ต้องการแล้ว

สิ่งที่สำคัญคือเราจะสามารถขยายตลาดจากหมู่บ้านไปยังหมู่บ้านอื่น ขยายไปยังแขวง ไปยังเขต ไปยังจังหวัด ไปยังจังหวัดอื่น ไปยังระดับประเทศและไปประเทศอื่นได้มั้ย

ยิ่งตลาดขยายไปได้กว้างเท่าไหร่ก็จะยิ่งส่งผลดีต่อธุรกิจมากเท่านั้น กำไรต่อคนอาจจะอยู่ที่ 1 บาท การที่ตลาดขนาด 200 คนกับตลาดขนาด 100 ล้านคนนี่ต่างกันคนละโลกเลยนะ จริงมั้ยหละ

ดังนั้นตอนจะทำ Startup ต้องสามารถตอบได้นะว่า Market Size ที่เราโฟกัสมันขนาดเท่าไหร่ ถ้าดูแล้วตลาดเล็กก็ควรจะเปลี่ยนไอเดียไปทำอย่างอื่น เพราะสิ่งที่ทำคงไม่คุ้มกับการทุ่มเทเท่าไหร่

และการวิเคราะห์ Market Size ตรงนี้ก็ควรจะสามารถวิเคราะห์ในแง่ความเป็นจริงได้ด้วย ไม่ใช่หว่านว่าตลาดมันใหญ่ได้ทั้งโลกเลยนะ ต้องสามารถตอบโดยมีหลักฐานสนับสนุน

นี่ก็เป็นคำตอบนึงว่าทำไม Startup ที่ไทยถึงยังไม่มีใครเป็น Unicorn เพราะตลาดในไทยมันเล็ก แต่อินโดกับเกาหลีใต้มีแล้ว เพราะตลาดมันใหญ่กว่ามาก

เวลาทำ Startup โดยเฉพาะในไทยที่ส่วนใหญ่มองแค่ในประเทศ ก็ควรจะวิเคราะห์ให้ดีกว่าตลาดมันใหญ่แค่ไหน กำไรสูงสุดที่จะได้มันเท่าไหร่ และคุ้มมั้ยที่จะทำ

เอาจริง ๆ ในไทยก็มี Unicorn อยู่นะ Agoda ไง แต่ทำไมไม่ถูกนับก็ไม่รู้เหมือนกัน ... แต่ก็เป็น Case Study ที่ดีว่าพอตลาดที่เค้ามองมันใหญ่กว่าแค่ที่ไทย มันก็โตไปเป็นหมื่นล้านได้เหมือนกันแม้จะเริ่มจากที่ไทย

แต่ละสถานที่เหมาะกับผลงานต่างกัน

ส่วนตัวเคยทำ Startup ทั้งที่ไทยและที่ Silicon Valley นี่บอกได้เลยว่าผลงานที่ทำตอนอยู่ไทย ถ้ามานี่ก็เจ๊ง หรือถ้าผลงานที่ทำอยู่ Silicon Valley ถ้าเอากลับไปทำที่ไทยก็เจ๊งเหมือนกัน

ตลาดแต่ละที่นั้นต่างกันไปมาก ๆ และมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้ Insight ในตลาดท้องถิ่น อย่าคิดว่าตัวเราเก่งจะไปทำผลงานที่ไหนใครก็ใช้ มันไม่จริง ตลาดแต่ละที่มีความต้องการและความกล้าลองที่ต่างกันไปโดยสิ้นเชิง

แนะนำอย่างยิ่งว่าถ้าจะไปเจาะตลาดที่ไหน เราควรจะมีคนท้องถิ่นที่รู้ Context กว่าเราเป็นที่ปรึกษาเสมอ ไม่งั้นพัง !

การให้หุ้นเป็นเรื่องไม่มีค่า ให้มองว่ามันเป็นแค่โบนัส

คำชวนทำ Startup ที่เจอมาบ่อยมากกกกคือ

มาทำงานกับเรามั้ย ? เราจะให้หุ้น

จนถึงตอนนี้จะบอกว่าสำหรับเรา หุ้น Startup มันเป็นสิ่งที่ไร้ค่ามากกกกก เอาง่าย ๆ อัตราการเจ๊งของ Startup มันสูงสุด ๆ หุ้นที่ได้จริง ๆ มันไม่มีค่าอะไรเลยนะ มันคือ $0 เลยนะ

หุ้นจะมีค่าก็ต่อเมื่อธุรกิจสามารถ Exit ได้ ซึ่งตอนนั้นก็อาจจะร่ำรวยกันไปเพราะหุ้นส่วนนี้ได้เหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม ในฐานะของผู้ก่อตั้ง การจะไม่รับเงินเดือนแล้วถือแต่หุ้นก็เป็นอะไรที่ทำได้ (ถ้าเจ้าตัวรวยอยู่แล้ว) และสร้างความประทับใจให้กับคนอื่นได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นการบอกเป็นนัยว่าทำธุรกิจนี้เพื่อให้มันอยู่รอด ถ้าไม่รอดก็ขอไม่รับอะไรเลย

แต่ในฐานะของลูกจ้าง เช่น ถ้าเราจะไปชวนใครมาทำงานด้วยแล้วกดเงินเดือนต่ำ ๆ พร้อมบอกว่า เอาหุ้นไปแทน จะบอกว่ามันน่าเกลียดมากกกกกกและอย่าหาทำ

สิ่งที่ควรทำคือควรให้เงินเดือนอย่างเหมาะสมและให้หุ้นเป็นโบนัสเพื่อสร้างแรงผลักดันให้เค้าทุ่มเทกับงานในฐานะเจ้าของร่วม แต่อย่ามองว่าหุ้นคือของมีค่าอะไรเพราะมันไม่มีค่าอะไรเลยจริง ๆ

หัวข้อนี้ขอมอบให้สำหรับเหล่า Founder โดยเฉพาะเลย (แต่สำหรับคนที่กำลังจะไปร่วม Startup ก็อยากให้เข้าใจตรงนี้เช่นกัน)

มอง Exit Strategy ให้ออกและวางทางเดินไว้ให้ดี

ตอนเริ่มทำ Startup ใหม่ ๆ ถูกคนสั่งสอนว่าห้ามมอง Exit Strategy เพราะนั่นแปลว่าคุณไม่ได้รักผลงาน (คือก็งง ๆ ตอนนั้นแต่ก็เชื่อ)

วันเวลาผ่านไป เรียนรู้อะไรมาหลายอย่าง นาทีนี้ขอสรุปความคิดตัวเองว่า

การเตรียม Exit Strategy นี่แหละคือแนวทางความสำเร็จของ Startup ยุคนี้

สาเหตุเพราะตลาดมันเปลี่ยนไปตลอดเวลา พื้นที่ในการประสบความสำเร็จในธุรกิจ Startup นั้นค่อย ๆ เล็กลงเรื่อย ๆ ถ้าไม่มองให้ออกว่าผลงานของเราจะไปอยู่จุดไหนในระยะยาวแล้วจะประสบความสำเร็จได้ยังไงอ่ะ ถามจริงงงง

สำหรับคนที่สงสัยว่า Exit Strategy คืออะไร มันคือแนวทางที่บริษัท Startup จะเปลี่ยนหุ้น (Equity) ในบริษัทให้กลายเป็นเงินหรือของมีค่าขึ้นมาได้ หรือก็คือจุดสิ้นสุดของ Startup ในทางที่ประสบความสำเร็จนั่นเอง ยกตัวอย่าง Exit Strategy ก็เช่น Merge & Acquisition (โดนซื้อไป) หรือ IPO (ลิสต์เข้าตลาด)

ถ้ามองออกว่าผลงานเราเหมาะกับเส้นทางไหน เราก็จะสามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธิ์ของบริษัทในด้านต่าง ๆ ทั้งเรื่องของการปั้นผลงานหรือด้านการตลาด เพื่อให้ไปสู่จุดที่หวังไว้ได้

ธุรกิจแต่ละตัวมีความเหมาะสมต่อ Exit Strategy ที่ต่างกันไป หนึ่งในงานของเหล่าผู้ก่อตั้งคือต้องมองให้ออกว่าเราจะไปทางไหน ยิ่งมองออกได้ไวก็ยิ่งได้เปรียบและมีโอกาสเข้าเส้นชัยก่อนคนอื่นเขานั่นเอง

ปลายทางของ Startup คือความเหนื่อยขึ้นอีกขั้น

ภาพของบริษัท Startup ที่โดนซื้อไปหรือออก IPO ผู้คนมักจะมองว่าเจ้าของบริษัทรวยแล้ว สบายแล้ว ไม่ต้องเหนื่อยแล้ว

มันไม่จริง

เพราะไม่ว่า Exit Strategy จะเป็นทางไหน สุดท้ายธุรกิจยังต้องดำเนินต่อไป แถมไม่ได้อยู่ในสเกลเดิมด้วย แต่ต้องขยายใหญ่ขึ้น ความเหนื่อยล้าจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ

ปลายทางของ Startup ไม่ใช่ความสบาย แต่เป็นการเดินทางครั้งใหม่ที่เหนื่อยขึ้น แต่จะเป็นความเหนื่อยที่มีความสุขมาก หลังจากช่วงเปลี่ยนผ่าน (ซึ่งมักจะอยู่แถว 1-4 ปี) เจ้าของบริษัทก็สามารถเลือกได้ว่าจะหยุดพัก ทำที่เดิมต่อ หรือหาอะไรใหม่ทำ แล้วแต่ความต้องการและข้อตกลงเลย

สุดท้ายแล้ว Startup ไม่ใช่ความเท่ ไม่ใช่ความสนุก แต่เป็นเรื่องของธุรกิจที่เต็มไปด้วยความเหนื่อยยากล้วน ๆ ไม่ว่าปลายทางจะเป็นยังไง ระหว่างทางมันเหนื่อยมากแน่นอน แถมปลายทางก็ยังเหนื่อยอีก (แต่อาจจะรวย)

ก่อนจะทำ Startup ก็ถามตัวเองก่อนว่าเราพร้อมจะเป็นเจ้าของกิจการแล้วจริงหรือ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านฐานะและ Mindset ถ้าพร้อมก็ลุยได้ แต่ถ้ายังไม่พร้อมก็ไปเก็บประสบการณ์ก่อน ถึงวันที่พร้อมค่อยเริ่มก็ยังไม่สายไป แต่ถ้าเริ่มตอนยังไม่พร้อม อันนั้นอาจจะทำให้เราไม่สามารถทำ Startup ได้อีกเลยก็เป็นไปได้เช่นกัน

จบ !

บทความที่เกี่ยวข้อง

Oct 23, 2014, 14:08
14222 views
ขอเชิญร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ Hardware Startup ไทย ดัน Drivebot: FitBit for Car สัญชาติไทยสู่ระดับโลก
Aug 2, 2015, 01:36
155692 views
แนะนำ Collaboration Tools ทั้งหลายจากงานสัมมนาสมาคม Startup Thailand
0 Comment(s)
Loading