"ประสบการณ์เป็นครูที่ดีที่สุด"
ภารกิจลดค่าไฟลง 50% ด้วยการเปลี่ยนหลอดไฟทั้งห้องเป็น LED
25 Nov 2016 19:33   [144168 views]

อยู่คอนโดมาได้ 4 ปีละ จำได้ว่าตอนเข้ามาใหม่ๆหลอดไฟส่วนกลางทั้งคอนโดเป็นหลอด Halogen หน้าตาแบบนี้

แต่วันดีคืนดี เวลาผ่านไป 1 ปีเห็นจะได้ อยู่ดีๆคิดยังไงไม่รู้ เงยหน้ามองหลอดไฟดูดิ๊ ... เอ๊ะ ทำไมหน้าตามันเปี๋ยนไป๋ กลายเป็นแบบนี้

แต่ตอนเปิดไฟก็ยังเหมือนเดิมทุกประการนะ สว่างจ้า สีไม่เพี้ยน

ก็เลยเดินไปถามช่างในคอนโดว่านี่มันหลอดอะไรอ่ะ ได้คำตอบมาว่า "อ่อ กรรมการคอนโดมีมติว่าจะเปลี่ยนหลอดไฟทั้งคอนโดให้เป็น LED ครับ นี่ลดค่าไฟส่วนกลางไปได้เกินครึ่งเลย"

รู้สึกหน้ามืดตามัวขาอ่อนระทวยกับคำว่าลดค่าไฟได้เกินครึ่งนี่แหละ เหยยยย

รู้สึกตัวอีกทีร่างก็อยู่ที่ Home Pro เป็นที่เรียบร้อย ไหนลองซื้อมาเล่นสักหลอดดูดิ๊

ไปอ่านสเปคแล้วน่าสนใจแฮะ กินไฟน้อยกว่าหลอดฮาโลเจน 89% โดยประมาณ ก็คือ หลอดฮาโลเจน 50W กับหลอด LED 5.5W ให้ความสว่างเท่ากัน

คูณกันโต้งๆก็คือจ่ายค่าไฟในส่วนของหลอดไฟน้อยลงไปทันที 89% หรือราวๆ 10 เท่าจย้าาาาา กรีดร้องเสียงสาม อยากกวาดไปเปลี่ยนทั้งห้องเลย แต่พอเหลือบไปเห็นราคาเท่านั้นแหละ ... ถึงกับระทวยอีกรอบ เพราะ หลอดฮาโลเจนราคาแค่ 50 บาท แต่หลอด LED บร้านี่ปาไป 300 บาท !

ต้องอธิบายรูปแบบห้องของเรานิดหน่อย คือมีหลอดฮาโลเจนอยู่ 20 ดวงถ้วน ถ้าเปลี่ยนทั้งห้องก็คูณไปดิ~~~~ แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าไม่เปลี่ยนก็จ่ายค่าไฟไปดิ (เกิดมาจนนี่เศร้าชะมัด)

เอาไงดีหละ เอาไงดี เงินกินข้าวก็แทบจะยังไม่มี ไม่เป็นไร ตัดใจซื้อมาลองสักหลอดหละน่า ถือว่าซื้อความรู้ พอถึงบ้านก็เปลี่ยนไปดวงนึง เหยยย ประทับใจ แสงอาจจะแข็งกว่าฮาโลเจนเล็กน้อย แต่มันก็แค่ไม่ชิน พอผ่านไปสักวันนึงก็รู้สึกปกติละ ส่วนสีก็ตรงตามสเปคเป๊ะไม่มีผิดเพี้ยน เรื่องความสว่างนี่สว่างสะใจ และที่สำคัญ ไม่ร้อนเลย ในขณะที่ฮาโลเจนนี่แทบจะเอาหมูไปปิ้งได้

โดยรวมคือพอใจมาก เดือนนั้นเลยตัดสินใจเปลี่ยนไป 3 ดวงและกินมาม่าไปสิบห้าวัน ปรากฎว่าค่าไฟลดลงเล็กน้อยแต่ยังไม่ได้มีนัยสำคัญขนาดนั้น 100 บาทได้ (ก็มันมีรวม 20 ดวง) ส่วนเงินที่จ่ายเพื่อซื้อหลอดไฟก็อยู่ที่ราวๆ 1000 บาท ก็คือ 10 เดือนคุ้มทุน

ก็อยู่อย่างงั้นมาเรื่อยๆ จนกระทั่งเมื่อสัก 6 เดือนก่อนในช่วงหน้าร้อน ไม่รู้คิดไงอยู่ๆก็ตัดสินใจลงทุนเปลี่ยนหลอดไฟทั้งห้องใหม่ให้กลายเป็น LED ทั้งหมด (จริงๆก็รู้แหละ อยากจะลดค่าไฟ) ผลปรากฎว่าบิลค่าไฟที่ออกมาหลังจากนั้นเป็นอะไรที่น่าสนใจมากๆ เดือนแรกๆยังคิดว่าอาจจะเป็นแค่เรื่องบังเอิญงี้ แต่นี่ผ่านมา 6 เดือน ทุกอย่างนิ่งแล้ว ไม่มีเซอร์ไพรส์ละ สามารถสรุปได้ว่า การเปลี่ยนหลอดเป็น LED ทำให้เราจ่ายค่าไฟลดลงมากกว่า 50% จากเดิมที่ต้องจ่าย 4500-5000 บาท แต่นี่จ่ายอยู่ที่ 2000-2200 บาทเท่าน้านนนน และอย่างเดียวที่เปลี่ยนไประหว่างบิลสองแบบนี้คือหลอดไฟเท่านั้น ไม่ได้เปลี่ยนอะไรอย่างอื่นในห้องเลย

ตอนนี้เลยสามารถพูดได้เต็มปากด้วยประสบการณ์ตัวเองละว่า "ถ้ามีโอกาสก็เปลี่ยนหลอดเป็น LED เถอะ" วันนี้เลยจะมาเล่ารายละเอียดทั้งหมดให้ฟังประกอบการตัดสินใจครับ ซื้อยังไง ราคาเท่าไหร่ มีประโยชน์ยังไง มีอะไรให้เลือกบ้าง บลาๆๆๆ อ่ะ เริ่ม!

รู้จักประเภทหลอดไฟ

มารู้จักหลอดไฟแต่ละประเภทที่เราใช้กันเป็นประจำตามบ้านกันก่อนนิดนึง (ไม่ได้เอามาหมดนะ บางหลอดเราแทบไม่เคยสัมผัสในชีวิตจริงเลยไม่เขียนถึง)

1) หลอดไส้ (อินแคนเดสเซนต์)

หลอดประเภทนี้เกิดจากการให้ความร้อนแก่ไส้หลอดที่เป็นขดลวดโลหะจนเปล่งเป็นแสงออกมา ถือว่าเป็นหลอดไฟชนิดโบราณที่สุด (หรือเรียกว่าคลาสสิคก็อาจจะดูดีหน่อย) ทำให้ข้อเสียยาวเป็นหางว่าว ร้อนมาก กินไฟมาก และอายุการใช้งานสั้นมาก แป๊บๆขาดละ แป๊บๆขาดละ (ใครอายุเยอะหน่อยคงจะชินคำว่าหลอดไฟไส้ขาด ไปซื้อหลอดไฟมาเปลี่ยนดิ๊ปื๊ด) อายุการใช้งานจะอยู่แค่ประมาณ 1,000 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งถ้าเอาตามการปฏิบัติก็อยู่ไม่เคยถึงปี

หลอดไส้เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงในการใช้งานประจำวันเป็นอย่างมาก หากใครใช้อยู่แนะนำให้เปลี่ยนโดยทันทีเพราะมันมีแต่ข้อเสียเลย แต่เนื่องจากว่ามันคลาสสิคทำให้ทุกวันนี้มีคนทำหลอดไส้ออกมาขายในเชิงแฟชัน นั่นก็สวยนะแต่ก็ต้องทำใจว่ามันกินไฟมากๆและคงอยู่ได้ไม่นาน

แต่ประโยชน์ของมันก็มี ... นึกออกมะ? ... เนื่องจากมันเป็นหลอดที่ให้ความร้อนได้ จึงสามารถใช้ในการฟักไข่หรือสร้างความอบอุ่นให้กับตัวอ่อนของสัตว์ได้นั่นเอง แต่ถ้าเป็นการใช้งานตามบ้านก็คงไม่ได้ต้องการความร้อนม้างงง

2) หลอดทังสเตนฮาโลเจน (a.k.a. หลอดฮาโลเจน)

เป็นภาคต่อของหลอดไส้ ใช้การให้ความร้อนไปที่ไส้หลอดที่เป็นทังสเตนจนมันระเหิดออกเป็นแก๊ซ ซึ่งกระบวนการนี้จะสร้างความสว่างออกมา จากนั้นอนุภาคทังสเตนที่ระเหิดออกไปก็จะถูกแก๊ซฮาโลเจนที่อยู่ภายในหลอดดึงกลับไปรวมตัวที่ไส้หลอดเหมือนเดิม แล้วก็วนไปข่ะ นี่คือสิ่งที่หลอดฮาโลเจนดีกว่าหลอดไส้ธรรมดา ไส้หลอดสามารถกลับมาเป็นไส้หลอดเหมือนเดิมได้ อายุการใช้งานเลยนานกว่าหลอดไส้พอสมควรนั่นเอง

จุดเด่นของหลอดฮาโลเจนคือ มันให้ค่าสีที่ถูกต้อง 100% (CRI = 100) ทำให้มันจึงเหมาะกับใช้แสดงสินค้าเป็นอย่างมาก ไม่ต้องแปลกใจที่ทำไมตามตู้และห้างร้านต่างๆที่ขายของมีราคาเช่น เพชร พลอย จึงติดฮาโลเจนกันทุกร้าน (ใครไม่ทันสังเกตก็ลองไปเดินส่องดูได้)

และเนื่องจากมันเป็นการส่งกระแสไฟฟ้าไปเพิ่มความร้อน ทำให้หลอดไฟประเภทนี้สามารถ Dim ได้ในตัว ก็แค่จ่ายไฟให้น้อยลงมันก็จะสว่างน้อยลง สวยงาม

แต่ข้อเสียคือมันก็เป็นการเผาไหม้อีกแล้วซึ่งทำให้มีการสูญเสียพลังงานออกไปมหาศาลในรูปแบบของความร้อน พูดภาษามนุษย์ก็คือกินไฟสูงมากกกกนั่นเอง โดยรวมจะกินไฟน้อยลงกว่าหลอดไส้ธรรมดาเล็กน้อยประมาณ 10-20% และจากปฏิกิริยาเคมีที่อธิบายไปข้างต้นทำให้หลอดประเภทนี้มีอายุการใช้งานยาวนานกว่าหลอดไส้อยู่ 8-10 เท่าตัว

หลอดฮาโลเจนนี้เองที่มีการเอามาใช้ในคอนโด โรงแรมและสถานที่ต่างๆมากมายเพราะมันราคาถูก แต่นั่นแหละ มันก็กินไฟสูงปรี้ด เราเลยแนะนำว่าถ้าเป็นการใช้งานภายในบ้าน หากมีโอกาสก็ควรรีบเปลี่ยนเป็นหลอดที่ประหยัดไฟกว่าให้หมดครับ (คอนโดเราก็เป็นฮาโลเจน ที่ค่าไฟลดลง 50% ก็เพราะเอาพวกนี้ออกไป) 

3) หลอดนีออน

หลายๆคนอาจจะสับสนว่าหลอดนีออนคือหลอดฟลูออเรสเซ้นต์ เพราะในไทยเราเรียกกันอย่างนั้น แต่ความจริงแล้วมันคนละอย่างกันนาจา หลอดนีออนเป็นการใช้ไฟฟ้าแรงสูงจ่ายเข้าไปเพื่อให้ก๊าซนีออนที่ใส่ไว้ภายในแตกตัวและคายประจุออกมาจนเกิดเป็นแสงสว่าง ซึ่งสามารถเปลี่ยนเป็นสีต่างๆได้จากก๊าซที่ใส่เจือไว้ภายใน เช่น ถ้าใส่ฮีเลียมจะได้สีเหลือง เป็นต้น และนี่จึงเป็นที่มาของป้ายนีออน

ซึ่งก็นะ เผอิ๊ญเผอิญพอดูด้วยตาเปล่ามันช่างคล้ายกันเหลือเกินระหว่างหลอดนีออนกับหลอดฟลูออเรสเซ้นต์ เพราะดูจากข้างนอกมันก็เป็นแท่งๆเหมือนกัน แต่นั่นแหละครับ เอามายกให้ดูตรงนี้เพื่อจะบอกว่ามันคนละอย่างกันนา

4) หลอดฟลูออเรสเซ้นต์

อันนี้คนยุคนี้น่าจะรู้จักกันทุกคน ถึงนีออนกับฟลูออเรสเซ้นต์จะเป็นคนละอย่างกัน แต่จะให้ถูกก็คงต้องพูดว่าฟลูออเรสเซ้นต์คือนีออน v2.0 เพราะมันพัฒนาต่อมาจากนีออนอีกทีนั่นเอง (ฟลูออเรสเซ้นต์ถูกสร้างขึ้นหลังหลอดนีออน 25 ปี) หลักการทำงานก็จะคล้ายๆกันคือเป็นการจ่ายไฟฟ้าเข้าไปให้ก๊าซภายในแตกตัวเป็นประจุและไปกระตุ้นให้สารเรืองแสงที่เคลือบไว้ตรงผิวหลอดเปล่งแสงออกมา

หลอดประเภทนี้ได้รับความนิยมสูงมากในยุคที่ผ่านมาจนถึงยุคนี้ เพราะมันกินไฟน้อยกว่าหลอดไส้ถึง 4 เท่าและอายุการใช้งานก็นานกว่าถึง 10 เท่าด้วยกัน อย่างไรก็ตาม หลอดฟลูออเรสเซ้นต์ยังปล่อยความร้อนออกมาค่อนข้างสูงอยู่ ประมาณ 1/3 ของหลอดไส้ มันก็เลยยังไม่ Perfect แต่ก็ถือว่าดีที่สุดในยุคที่ผ่านมาแล้ว หลอดฟลูออเรสเซ้นต์จังถูกพัฒนาต่อไปอีกเพื่อให้ตอบรับการใช้งานในรูปแบบอื่นๆ (ไปดูในอันต่อไป)

สำหรับค่าความถูกต้องของสีนั้นแล้วแต่คุณภาพและประเภทของสารเคลือบ ค่า CRI จะอยู่ระหว่าง 50-89% ครับ โดยตัวที่ให้ค่าสีที่ถูกต้องที่สุดคือตัว T8 (Triphosphor) สี Cool White ครับ

5) คอมแพคฟลูออเรสเซ้นต์ (CFL)

เป็นการต่อยอดฟลูออเรสเซ้นต์ให้สามารถใช้งานแทนหลอดไส้ได้ด้วยการทำให้มันเล็กลงและบิดเป็นรูปทรงต่างๆได้ตามต้องการ (เช่น หลอดตะเกียบ) แต่ดูให้ดี มันยังเป็นท่อเดียวอยู่นะ นั่นแหละ มันยังเป็นฟลูออเรสเซ้นต์อยู่

ด้วยการปรับขั้วหลอดให้เป็นแบบเกลียว ทำให้มันสามารถเสียบเข้าแทนหลอดไส้ได้เลยทันที กินไฟน้อยลงให้ความสว่าง ประหยัดไฟไปได้มากโข

6) หลอด LED

และยุคที่ฟลูออเรสเซ้นต์เป็นพระเจ้าก็ได้ผ่านไปเรียบร้อยเพราะตอนนี้มีพระเจ้าองค์ใหม่นามว่า LED มายึดครองบัลลังก์เป็นที่เรียบร้อย

LED ย่อมาจาก Light Emitting Diode ซึ่งเป็นการเอาไฟฟ้าไหลผ่านสารกึ่งตัวนำที่สามารถเปล่งแสงได้ ทำให้การสูญเสียพลังงานต่ำมาก ต่างจากตัวอื่นที่พูดก่อนหน้านี้ที่ใช้ความร้อนในการกระตุ้นการแตกตัวและเผาไหม้ทั้งสิ้น ผลคือหลอด LED จึงกินไฟน้อยมากกกกกก น้อยแค่ไหนอ่ะหรอ ก็กินน้อยกว่าหลอดไส้แค่ 10 เท่าเท่านั้นเอ๊งงงง

แล้วความร้อนหละ? อย่างที่บอกว่ามันใช้สารกึ่งตัวนำในการเปล่งแสง ไม่ได้ใช้ความร้อนหรือการเผาไหม้ ทำให้การเปล่งแสงจึงมีความร้อนต่ำมาก มีการสูญเสียความร้อน "น้อยกว่าหลอดไส้และฮาโลเจนถึง 25 เท่า" และ "น้อยกว่าฟลูออเรสเซ้นต์ราวๆ 9 เท่า" ด้วยกันนนน

นั่นคือเหตุผลว่าทำไมมันถึงกินไฟน้อยกว่านั่นเอง เรื่องทางไฟฟ้าเมื่อการสูญเสียต่ำก็กินไฟต่ำ และการที่ความร้อนน้อยก็ส่งผลต่อค่าไฟทางอ้อมด้วยเช่นกัน ไว้อ่านต่อด้านล่างๆ

และเนื่องจากมันไม่ร้อน ทำให้การเสียหายตามเวลาจึงต่ำ มันจึงสามารถทำงานได้ถึง 25,000 - 50,000 ชั่วโมงเลยทีเดียว ก็ใช้ไปเลย 10 ปีว่างั้น !

ส่วนความถูกต้องของค่าสี (CRI) นี่ไม่น้อยเพราะอยู่ที่ 90% เลยทีเดียว สีอาจจะไม่ตรง 100% เหมือนหลอดไส้และฮาโลเจน แต่สำหรับการใช้งานตามบ้าน 90% นี่ก็เหลือเฟือมากๆแล้ว

ดูเทพมากๆ ไม่มีข้อเสียเลยหรอ? ... จริงๆก็มีอยู่ข้อนึงนะ ... แพง T__T โดยปกติหลอดไฟ Incandescent และ Halogen จะถูกเอามากๆ 50 บาทงี้ แต่ LED จะกระโดดไป 250-300 บาทเลย ต่างกันที 5-7 เท่า งืมมม จะคุ้มค่าไฟที่ลดลงมั้ยว้าา อยากรู้อ่านต่อไป มีคำนวณให้ดูว่าจะคุ้มไม่คุ้ม

เปรียบเทียบการกินไฟ

ก็พอจะเห็นภาพแล้ว เอาข้อมูลด้านบนมาสรุปให้ดูอีกที ด้วยแสงที่เท่ากัน หลอดไฟยอดนิยมจะกินไฟเทียบกันได้แบบนี้

LED 5.5W = CFL 12W = Halogen 50W

โดยการเทียบด้านบนเป็นสีของ Warm White (2700K) ถ้ามีปัจจัยเปลี่ยนผลก็จะเปลี่ยนตามนิดหน่อยด้วยเช่นกัน หลักๆการเทียบค่า W จึงไม่ได้มีมาตรฐานตรงตัวแบบเป๊ะๆเสมอไป แต่ก็จะไม่ต่างจากเดิมเท่าไหร่ครับ คร่าวๆคือ LED กินไฟน้อยกว่า CFL ครึ่งนึงและกินไฟน้อยกว่า Halogen 10 เท่า

เห็นแบบนี้ก็น่าจะจูงใจให้อยากเปลี่ยนแล้วป่ะ นั่นแหละครับ แค่เปลี่ยนจาก Halogen มาเป็น LED ค่าไฟในส่วนของหลอดไฟก็ลดไปแล้ว 10 เท่าทันที หรือถ้าเปลี่ยน CFL เป็น LED ก็ลดไป 2 เท่าสบายๆ

แต่ยัง ยังไม่หมดแค่นั้น มีอีก ...

การประหยัดไฟต่อที่สอง

การซื้อหลอดไฟ LED ใช้ถือเป็นโชคสองชั้น เพราะค่าไฟไม่ได้ลดลงจากการกินไฟที่น้อยลงอย่างเดียว แต่การที่มันสูญเสียความร้อนต่ำหรือพูดง่ายๆคือมันไม่ร้อนเลยนี่แหละ ทำให้ห้องนั้นไม่ร้อน (ในขณะที่ถ้าใช้ฮาโลเจนนี่คือห้องอบเด็กทารกเลยนะ) และถ้าห้องนั้นมีการเปิดแอร์ จะทำให้ค่าแอร์ลดลงไปอีกด้วยเพราะว่าแอร์ไม่ต้องทำงานหนักจากการต่อสู้กับความร้อนจากฮาโลเจน !

นอกจากนั้นพอห้องไม่ร้อน ความจำเป็นในการเปิดแอร์ก็จะลดลง ปริมาณชั่วโมงของการเปิดแอร์ต่อวันก็จะลดลง ค่าไฟก็ลดลง เย้ เย

และนี่คือเหตุผลว่าทำไมค่าไฟเราลดลงไปถึงครึ่งนึงจากที่ตอนแรกคิดว่ามันน่าจะแค่ 1/4 หรือ 1/3 เท่านั้น เพราะห้องเราหลักๆเสียค่าไฟไปกับค่าไฟส่องสว่างกับค่าแอร์ พอไฟส่องสว่างกินไฟน้อยลงและไม่ร้อน ค่าแอร์ก็ลดลงไปด้วยอีกมหาศาล

นี่แหละ เป็นการประหยัดไฟสองต่อโชคสองชั้นของหลอด LED แบบ รู้งี้เปลี่ยนนานละ นี่ลดได้เดือนละ 2200 เลยนะเหวยยย

จุดคุ้มทุนของหลอด LED

การคำนวณจุดคุ้มทุนมีอยู่สองส่วนด้วยกันคือ

1) การกินไฟที่ลดลง

อันนี้คำนวณได้ตรงๆเลย ถ้าเปลี่ยนจาก Halogen เป็น LED ก็กินไฟน้อยลง 10 เท่า ลองมาคำนวณค่าไฟกันเล่นๆ สมมติเราเปลี่ยนจาก Halogen 50W เป็น LED 5.5W และเราเปิดไฟ 12 ชั่วโมงต่อวัน ค่าไฟที่ต้องจ่ายคือ

Halogen 50W - เข้าสูตรเลย หน่วยไฟฟ้าที่ต้องใช้ = (W * hour * 30) / 1000

ดังนั้นจำนวนหน่วยที่ต้องจ่ายต่อเดือนคือ (50 * 12 / 1000) * 30 = 18 หน่วย

ซึ่งตีให้แบบเฉลี่ยเหมาๆ เผอิญมันเป็นอัตราก้าวหน้าดังนั้นขอประเมินเป็นค่าเฉลี่ยให้เป็นหน่วยละ 3.4 บาทละกัน ดังนั้นค่าใช้จ่ายก็ประมาณ เดือนละ 60 บาท

LED 5.5W - ก็เข้าสูตรเหมือนเดิม จะกลายเป็นว่ากินไฟ 2 หน่วย เท่านั้น แปลว่าค่าไฟเท่ากับ 6.8 บาทต่อเดือน ลดลงไปขนาดเน้ !

แล้วจะคุ้มทุนเมื่อไหร่? ค่าหลอด LED เราเฉลี่ยราคาให้อยู่ที่ 300 บาทละกัน อ่ะ หารเลย

300 / (60 - 6.8) = 5.63

จะได้ว่าเฉพาะค่าไฟที่ใช้ส่องสว่างก็จะคืนทุนอยู่ที่ 6 เดือนครับ

แล้วๆๆๆๆ ถ้าไฟดวงนั้นใช้แค่วันละ 4 ชั่วโมงหละ? ก็คำนวณๆๆๆ ผลจะได้มาว่าจะคืนทุนที่ 17 เดือนครับ

ดังนั้นระยะเวลาที่ใช้หลอดไฟดวงนั้นๆจะส่งผลโดยตรงต่อจุดคุ้มทุนด้วย เราจะใช้หลักนี้ในการพิจารณาว่าเราจะเปลี่ยนหลอดไหนก่อนเปลี่ยนหลอดไหนหลังในกรณีที่มีงบจำกัดครับ

2) ความร้อนที่ลดลง

อันนี้คำนวณยากเพราะยิ่งใช้ LED มากก็จะยิ่งร้อนน้อยลง ถ้าแค่ดวงสองดวงคงไม่เห็นผลมาก แต่ถ้าอย่างห้องเรามี 20 ดวงแล้วเปลี่ยนเป็น LED หมด อันนี้จุดคุ้มทุนเปลี่ยนไปแบบช็อคแพร๊บเลยทีเดียว เพราะกลายเป็นว่าจุดคุ้มทุนลดเหลือแค่ 3 เดือนเท่านั้นจากเดิมที่คำนวณไว้ว่าจะคุ้มทุนที่ 9 เดือนครับ อันเป็นผลมาจากที่แอร์ทำงานน้อยลงอย่างมหาศาล

ทุกวันนี้ประหยัดไปได้เดือนละ 2,200 บาท ซึ่ง 3 เดือนก็ 6,600 บาทละ = ค่าหลอดไฟ LED 20 ดวง เรียบร้อย หลังจากเดือนที่สามคือค่าใช้จ่ายที่ลดลงล้วนๆครับ มีความสุข(มากกกก)

จุดคุ้มทุนของแต่ละคนแต่ละห้องคนจะต่างกันไปแล้วแต่รูปแบบของห้องและจำนวนหลอดไฟที่ใช้อยู่ ณ ปัจจุบัน ยังไงลองไปคำนวณกันเองละกันนะครับโดยอิงกับปัจจัยของแต่ละท่านเอง

จะเห็นว่าการซื้อ LED มันก็เป็นการลงทุนดีๆนี่เอง ใครเคยลงทุนมาก่อนจะอ่านแล้วเข้าใจเห็นภาพตามเป็นกราฟเลย ใครยังไม่เคยนี่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของเสี่ยตลาดหุ้นก็เป็นได้ ...

การตัดสินใจเปลี่ยนอันไหนก่อนอันไหนหลัง

จากการคำนวณจุดคุ้มทุนด้านบนจะเห็นว่าหลอดที่มีการใช้งานเยอะจะคุ้มทุนเร็วกว่าหลอดที่ใช้งานน้อย(ก็แหงหละ) ดังนั้นหากท่านมีงบจำกัดให้เปลี่ยนหลอดที่ใช้งานเยอะก่อนครับ ยิ่งถ้าหลอดไหนเปิดทั้งวันทั้งคืนหละก็ เปลี่ยนเลยไม่ต้องรอ เดือนเดียวบิลค่าไฟก็เปลี่ยนละครับ

รูปทรงของหลอด LED

LED คือเทคโนโลยีที่ใช้เปล่งแสงออกมาและเนื่องจากมันเป็นสารกึ่งตัวนำที่ผลิตออกมาเป็นท่าไหนก็ได้ ไม่ได้มีข้อจำกัดเยอะแยะมากมายหลอดแบบอื่นๆ ทำให้หลอด LED จึงถูกผลิตออกมาในรูปแบบต่างๆที่สามารถทดแทนหลอดแบบเดิมได้อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นแบบหลอดไส้

ไอ่ตรงกลางเหลืองๆนั่นคือ LED ทำซะเนียน ตอนไฟติดก็ดูไม่ออกเลยว่าเป็น LED นึกว่าเป็นหลอดไส้ธรรมดา

แบบหลอดยาวก็มี เสียบเข้าโครงเดิมได้เลยแค่เอาบัลลาสต์หรือสตาร์ทเตอร์ออก (อ่านคู่มือดูของแต่ละหลอดเอา)

หลอด MR16

หลอดตะเกียบก็มีแต่ลืมถ่ายมา หรือแม้แต่หลอดกลมก็มีเหมือนกันนะฮ้าบบบบ

สรุปคือมีทุกรูปแบบที่คิดได้ในโลก ดังนั้นหากคุณเดินดูไฟในบ้านแล้วแบบ ดวงนี้กินไฟเยอะและเปิดทั้งวันเลย ! ก็เดินไปเลือกหลอด LED ในรูปแบบนั้นๆมาเปลี่ยนได้เลยครับ มีครบทุกแบบที่คิดได้แน่นวลลล

แหล่งขายหลอด LED

ไม่ได้เงินโปรโมทอะไรมาหรอกนะ ไม่มี Connection ใดๆกับทาง Home Pro แต่เผอิญมันเป็นที่หลักที่เราไปซื้อหลอด LED ตั้งแต่เริ่มจนถึงตอนนี้ ดังนั้นเราก็คงแนะนำเป็น Home Pro นี่แหละ สาขาตรงรถไฟฟ้าเพลินจิตก็ได้ มีหลอดให้เลือกเยอะดี

ข้อดีนึงที่สัมผัสมาแล้วจากการไปซื้อหลอด LED ที่นี่คือ ... มันมีโอกาสที่จะซื้อหลอดผิดบ้าง และหลอดนึงก็ไม่ใช่ถูกๆ แต่มาซื้อที่นี่ก็อุ่นใจตรงที่ถ้าเราซื้อผิดก็สามารถเอากลับไปเปลี่ยนเป็นชิ้นอื่นได้ครับ ทำไม่ยากด้วยเพราะพนักงานถูกเทรนเรื่องนี้มาอยู่แล้วโดยเฉพาะ ขออย่างเดียว "เก็บใบเสร็จไว้ด้วย" ไม่งั้นเปลี่ยนสินค้าไม่ได้นาจา

อีกอย่างนึงที่ชอบคือ ... มันชอบลดราคา เปรม 555

วิธีการเลือกหลอด LED

หัวข้อสุดท้ายละ พูดเลยว่าถึงจะเตรียมตัวมาดีแค่ไหน พอคุณไปถึงร้านแล้วยังไงก็ช็อคเพราะ ...

มีให้เลือกเยอะแสรดดดดด เยอะเกิ๊นนนนน ดังนั้นสิ่งที่คุณต้องเตรียมตัวไปก่อนจะไปเลือกซื้ออย่างมีความสุขมีดังต่อไปเน้

1) ค่าสี (Color Temp) - ดูให้เรียบร้อยว่าหลอดไฟที่คุณต้องการเปลี่ยนนั้นสีอะไร หลักๆก็ Warm White (สีส้ม - 2700k), Cool White (สีอมส้มอ่อนๆ - 4000K) และ Day Light (สีขาวฟ้า - 5000K) สีจะเป็นตามผังนี้

เรื่องสีนี่สำคัญมากๆ เพราะซื้อผิดสีก็ไม่ต้องทำมาหากินกัน และปกติแต่ละสีก็จะกินไฟไม่เท่ากันที่ความสว่างเท่ากันด้วย อาจจะหน้ามืดเห็นกินไฟน้อยกว่าแล้วคว้าเลย ไม่ได้นะไม่ด้ายยย

2) ความสว่าง (Luminous) - ดูให้เรียบร้อยว่าหลอดที่ใช้อยู่ปัจจุบันให้ความสว่างเท่าไหร่ โดยถ้าให้ดูแบบเป็นเลขมาตรฐานคือ Lumen แต่ถ้าบอร์ดี้ของหลอดไม่ได้เขียนค่า Lumen ไว้ ก็ให้ดูเป็น "ประเภทของหลอดไฟและ Watt" แทน เช่น "หลอดฮาโลเจน 50W" แล้วข้างกล่องจะมีให้เทียบว่าหลอดนี้ทดแทนหลอดประเภทไหนที่กี่ Watt ครับ

อย่างภาพข้างบนก็คือทดแทนหลอด Incandescent 60W ... รู้ได้ไงว่าไม่ใช่ CFL? ... อันนี้ต้องใช้เซนส์และความรู้เล็กน้อยว่าหลอด LED มันประหยัดไฟกว่า CFL แค่สองเท่า ดังนั้นเลขนี้ไม่ใช่ CFL แน่นอน ... (Nerd จริมๆ)

อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นไปได้อยากให้หาค่า Lumen ให้ได้ เพราะถึงจะ W เดียวกันแต่ยี่ห้อต่างกันมันก็ให้ความสว่างที่ต่างกันเช่นกัน ส่วน Lumen นี่ไม่โกหก เท่าไหนคือเท่านั้นเลย

3) บอร์ดี้และขา - อาจจะสงสัยว่ากวนรึเปล่า จะซื้อหลอดมาเปลี่ยนแทนหลอดไส้ ยังไงก็คงไม่ซื้อหลอดยาวมาหรอกมั้ง ... โน้ววว จริงๆมันมีรายละเอียดมากมายคอยสับขาหลอกเราอยู่เยอะมาก เช่น หลอดแบบ MR16 เป็นการบอกรูปทรงของหลอด

แต่ไม่ได้บอกว่าขาเป็นแบบไหน ... ซึ่งขาก็จะมีหลายแบบอีกเช่น GU10, GU5.3 เป็นต้น

เพื่อไม่ให้พลาด ทางที่ดีเราแนะนำให้ถอดหลอดไฟแล้วพกไปด้วย ... ห่อไปดีๆหละ อย่าให้แตกในกระเป๋า เดี๋ยวจิหาว่านะเอยไม่เตือน

4) ไฟกี่โวลท์ - อันนี้สำคัญนะโยมมมม หลอดบางชนิดไว้เสียบกับ 12V ในขณะที่บางชนิดไว้เสียบกับ 220V ถ้าเอา 12V ไปเสียบใส่ไฟบ้านนี่บ้านบึ้มนะฮ้าบบบบ ดูดีๆ สติต้องมี

5) องศาของลำแสง (Beam Angle) - ไม่มีอยู่ในภาพด้านบนนะ เพราะมันจะใช้สำหรับหลอดบางชนิดเท่านั้น เช่น MR16 มันจะเขียนไว้แบบนี้

บางหลอดก็แคบหน่อย ซึ่งคุณสมบัตินึงของหลอด LED ที่ต่างจากหลอดประเภทอื่นคือมันมักจะไม่มี Stray Light (ไฟที่กระจายออกนอก Beam Angle)

และนี่เป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงรู้สึกว่าไฟจากหลอด LED ถึงแข็งกว่าจากหลอด Halogen มันไม่มีการกระจายการกระเจิงนั่นเอง บางกรณีก็ถือว่าดี บางกรณีก็ถือว่าไม่ดี แต่สำหรับการใช้งานในบ้านก็ถือว่าโอเคมากครับ สว่างและชัดดี

6) ยี่ห้อ - ตอนนี้ LED เริ่มเข้าสู่ Mainstream ทำให้มีเจ้าโน้นเจ้านี้ผลิตมาเพียบ ผลคือ ... เราก็ไม่รู้เลยว่าเจ้าไหนทำได้ตามมาตรฐานบ้าง บางเจ้าก็ถูกเหลือเกิ๊นนน ถูกจนน่ากลัว ไม่เชื่อว่าจะตรงสเปคอ่ะ ดังนั้นอย่างนึงที่แนะนำคือลองพิจารณายี่ห้อในใจว่าเราเชื่อใจยี่ห้อไหนบ้างและเลือกใช้แค่พวกนั้น อาจจะแพงกว่าสักหน่อยแต่เสียน้อยเสียยากเสียมากเสียง่ายนะ ถ้าซื้อมาแล้วมีปัญหา ค่าเสียเวลาและบลาๆๆๆอาจจะสูงกว่าอีก (อันนี้ประสบการณ์ตรง ไปอ่านหัวข้อถัดไปถ้าอยากรู้รายละเอียด)

สำหรับยี่ห้อที่เนยใช้ก็มี Sylvania และ Philips ครับ มีซื้อยี่ห้ออื่นมาแซมบ้างแต่สุดท้ายมีปัญหาเยอะโดยเฉพาะเรื่องของมาตรฐานก็เลยพอละ เอายี่ห้อดังๆพอ

7) Dim ได้หรือไม่ได้ - LED ไม่สามารถ Dim ได้ในตัวเหมือน Halogen แต่ก็มีรุ่นที่ Dim ได้ขายอยู่เหมือนกัน เวลาเลือกก็เลือกให้ถูกต้องด้วยครับ

โดยรวมก็ประมาณนี้ครับ รายละเอียดแอบเยอะนะ แต่ถ้าเริ่มชินแล้วก็สบายๆง่ายๆละครับ

และเพื่อไม่ให้พลาด ถ้าหลอดไม่ใหญ่มากก็ลองพกไปร้านดู พนักงานน่าจะช่วยได้มากครับ แต่ถ้ามันใหญ่ก็ถ่ายรูปเอาก็ได้ ส่วนสำคัญคือข้อมูลที่ลิสต์มาด้านบนต้องครบในภาพถ่ายนะครับ ไม่งั้นพนักงานจะช่วยเลือกซื้อตัวทดแทนให้ไม่ได้

ข้อควรระวังในการซื้อ

ก่อนหน้านี้มีซื้อยี่ห้อนึงที่คนไทย Import จากจีนแล้วปั้มเป็นยี่ห้อตัวเองมาลอง เพราะเห็นว่าถูกดี (ก็ไม่ได้ถูกมากขนาดนั้นนะ ถูกกว่าราวๆ 30%) ปรากฎว่าเป็น MR16 แต่ดันสูงเกินมาตรฐานมาเซนนึง ! ยังไงหละ ก็ใส่ในเบ้าไม่เข้าไงจ๊ะะะะ ล็อตนั้นก็เลยต้องเปลี่ยนหมดยกแผง เสียเวลาเดินทางมากๆ ก็โชคยังดีที่ซื้อที่ Home Pro เลยเปลี่ยนได้ไม่ยาก

ก็แอบขนลุกเกรียวเบาๆว่าขนาดมาตรฐานด้านขนาดยังผิด แล้วมาตรฐานการผลิตจะเป็นยังไงฟระ ดังนั้นยี่ห้อก็เลยสำคัญตรงนี้ ไม่มีทางที่ยี่ห้อดังๆจะผลิตผิดมาตรฐานได้ ซื้อที่สบายใจและใช้ยาวๆดีกว่าครับ =)

การเปลี่ยนหลอดไฟด้วยตัวเอง

ถามว่าเปลี่ยนหลอดไฟเองได้มั้ย? ได้ดิ หลอดไฟทุกหลอดมีวันหมดอายุอยู่แล้ว สถาปนิคจะออกแบบให้เราสามารถเปลี่ยนหลอดไฟได้ด้วยตัวเองง่ายๆอยู่แล้ว อย่างแรกที่ต้องทำเลยคือ ...

ตัดไฟก่อน !!

แล้วก็หาวิธีงัดแงะดู ปกติแล้วมันจะง่ายเหมือนสะกิดแล้วหลุดเลยงี้ แต่สุดท้ายหากทำไม่ได้ ... หาคนช่วยละกันนะ เราก็ไม่รู้จะช่วยยังไงจริงๆ แต่ละบ้านมันวางมาไม่เหมือนกันหงะ -0-

และตอนจะเอาหลอด LED มาเปลี่ยนให้อ่านคู่มือโดยละเอียดด้วย เพราะหลอดบางรูปทรง เช่น หลอดยาวที่เอามาใช้แทนฟลูออเรสเซ้นต์ เราอาจจะต้องเอาบัลลาร์ตหรือสตาร์ตเตอร์ออกก่อนติดตั้งด้วย พวกนั้นจะ Advance หน่อยนึงเพราะต้อง Wire สายไฟใหม่เล็กน้อย แนะนำให้หาผู้ชายมาช่วย หรือถ้าเป็นผู้ชายอยู่แล้วยังทำไม่เป็น ... ไปตามผู้หญิงมาช่วยละกัน #ไม่ใช่ ไปตามช่างมาช่วยๆ

ผลลัพธ์ของการเปลี่ยนไฟบ้านเนยทั้งหลังเป็น LED

ค่าหลอดไฟอยู่ที่ 300 บาท ทั้งหมด 20 ดวง ก็คือลงทุนไป 6000 บาท

ค่าไฟที่ลดลงคิดเป็นหน่วยคือ ลดจาก 9xx หน่วยเหลือ 5xx หน่วย ก็คือลงไปประมาณครึ่งนึงครับ ซึ่งพอจำนวนหน่วยลดลงไปเท่านี้ ค่าไฟก็ลดลงไปเกินครึ่งเพราะค่าไฟมันจะขึ้นแบบลำดับขั้น ยิ่งหน่วยเยอะยิ่งแพงมาก

ส่วนราคาค่าไฟสุทธิเป็นบาทก็แล้วแต่ว่าแต่ละเดือนค่า Ft และค่าไฟต่อหน่วยอยู่ที่เท่าไหร่ครับ ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วบ้านเนยลดลงจาก 4,400 บาทเหลือเพียง 2,220 บาทครับ แฮปปี้ =)

บ้านเนยก็เลยโชคดีหน่อย 3 เดือนคืนทุนละ รู้สึกคุ้มสุดๆ ยังไงก็ลองคำนวณดูกันเองละกันนะครับ บ้านแต่ละหลัง ห้องแต่ละห้องก็คงต่างกันหมด

ส่งท้าย

หากใครอ่านบล็อกแล้วเปลี่ยนหลอดไฟจนค่าไฟลดลง ให้โอนเงินส่วนต่างที่ลดลง 1 เดือนมาที่ ...

ล้อเล่น ไม่ใช่ละ จะบอกว่ามีโอกาสก็อยากให้เปลี่ยนนะครับ สุดท้ายยาวๆเห็นผลแน่นอน (หรือบางคนอาจจะแค่ 2-3 เดือนเท่านั้น) แต่เนื่องจากหลอดมันค่อนข้างแพง ดังนั้นค่อยๆซื้อเปลี่ยนก็ได้

และเรื่องหลอด LED นี้เองทำให้เราเข้าใจสัจธรรมของโลกทุนนิยมมากขึ้น การจะมีค่าใช้จ่ายที่น้อยลงในระยะยาวๆได้เราจะต้องมีเงินเพื่อลงทุนก่อน และหากไม่มีเงินก้อนก็ต้องยอมจ่ายเงินแพงกว่าคนรวยไปเรื่อยๆ ... น่าเศร้าเนอะ ...

วกมาจบแบบนี้ได้ไงฟระ เอาหละๆ ไปเปลี่ยนหลอดไฟฟฟฟ

บทความที่เกี่ยวข้อง

Aug 13, 2016, 13:46
104851 views
ทำความเข้าใจเรื่องราวของปรากฎการณ์ระดับโลกที่มีชื่อว่า "Pokémon GO" ในบล็อกเดียว
Nov 27, 2016, 12:26
137631 views
#เนยใช้แล้วเนยว่าเยี่ยม PowerBank AUKEY PowerAll 16000/20000 mAh พร้อม Quick Charge 2.0/3.0
0 Comment(s)
Loading