"ประสบการณ์เป็นครูที่ดีที่สุด"
ที่มาของปุ่ม Menu + Home + Back บนแอนดรอยด์ และการปรับเปลี่ยน UX ในรุ่นหลังๆ
10 May 2015 00:25   [28529 views]

หากใครใช้แอนดรอยด์มาแต่ครั้งปางก่อน ก็จะเห็นปุ่ม 3 ปุ่มเรียงกันแบบนี้แทบทุกเครื่อง Menu + Home + Back

เคยสงสัยมั้ยว่าทำไม? ผ่านมาจะ 7 ปีละ วันนี้เลยจะมาเล่าถึงที่มาให้ฟังถึงสาเหตุที่แอนดรอยด์ถูกออกแบบมาแบบนี้ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของปุ่มเหล่านี้ด้วยเหตุผลทาง UX ในยุคหลังครับ =)

ต้นแบบของแอนดรอยด์ที่ชื่อว่า BlackBerry

ทุกวันนี้แอนดรอยด์ถือเป็นคู่แข่งตัวเป้งสุดของ iOS ทำให้หลายๆคนเลยคิดว่าแอนดรอยด์นั้นถูกลอกมาจาก iOS แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่ แอนดรอยด์ถูกลอกมาจาก OS ที่ฮอตที่สุดในเมกาเมื่อ 7 ปีก่อน หาใช่ใครไม่ ... BlackBerry นั่นเอง นี่คือโฉมหน้าของ Prototype รุ่นแรกๆ (ที่ไม่มีขาย) เทียบกับ BlackBerry

androidblackberry

อย่างที่เห็น หน้าตาเหมือน BlackBerry 100% และจากการที่มันถูกลอกมาจาก BlackBerry ปุ่มประจำกายอย่างปุ่ม Menu และปุ่ม Back ก็เลยถูกยกมาร่วมออกแบบแอนดรอยด์ด้วยตั้งแต่แรกเริ่ม

แต่พอใกล้ถึงวันที่มือถือแอนดรอยด์จะออกวางขาย Apple ก็เปิดตัว iPhone และ Andy Rubin ก็เห็นทางสว่างว่านี่แหละอนาคตของโลก ก็เลยเปลี่ยนไปลอก iPhone OS แทนเอาดื้อๆ (This means war!)

แต่นาทีนั้นต้องบอกว่าแอนดรอยด์ใกล้เสร็จแล้ว ถ้าจะเปลี่ยนทุกอย่างให้เป็นไปตาม iPhone OS เลยก็คงถึงขั้นออกแบบใหม่เขียน OS ใหม่ เพราะแอพฯทุกตัวรวมถึงระบบภายในถูกวางไว้แต่ต้นให้มีปุ่ม Menu และปุ่ม Back หากเอาออกตอนนี้คงถึงแก่ชีวิตเลยทีเดียว

ทางทีมพัฒนาแอนดรอยด์ก็เลยใช้วิธีคงทุกอย่างไว้เหมือนเดิมไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แค่ยืดจอให้เป็นแนวตั้งพร้อมเพิ่มความสามารถของ Touch Screen ขึ้นมา กลายเป็น Android m5 ก่อนจะเป็น Android 0.9 และ Android 1.0 ที่ถือเป็นตัวต้นแบบของแอนดรอยด์จนถึงปัจจุบันนี้

android09

และนี่เองเป็นสาเหตุง่ายๆว่าทำไมแอนดรอยด์ถึงมาพร้อมปุ่ม Menu + Home + Back ครับ =) ซึ่งจริงๆรุ่นแรกๆจะพ่วงมาด้วยปุ่มโทรเข้าและวางสายด้วย ก่อนจะถูกตัดออกไปไม่นานหลังจากนั้น

ดูไม่มีอะไร แต่สิ่งที่ตามมานี่สิ ...

ปัญหากับปุ่ม Menu

ในช่วงแรกปุ่ม Menu, Home และ Back ถูกจัดเรียงสลับเปลี่ยนไปมาตามดีไซน์และความคิดว่า "น่าจะดี" ของผู้ผลิต แต่สรุปแล้วปุ่มประกอบด้วย "ปุ่มฝั่งซ้าย" และ "ปุ่มฝั่งขวา"

htcs

เนื่องจากแอนดรอยด์รุ่นแรกลอก UX ของ BlackBerry ซึ่งใช้งานสองมือมา ในกรณีนั้นการกดปุ่มทางฝั่งซ้ายหรือฝั่งขวา ก็ล้วนแล้วไม่มีปัญหา

pearl

แต่พอกลายเป็นมือถือ Touch Screen จอแนวตั้ง การใช้งานก็เลยเปลี่ยนไปเป็นการใช้ "มือเดียว" ในการเล่นไปโดยปริยาย

onehand

ผลที่ตามมาคือในรุ่นแรกๆแทบไม่มีคนกดปุ่ม Menu เลย เพราะปุ่ม Menu มี Effort ในการกดจากใช้งานมือเดียว แต่บางแอพฯก็ใช้ บางแอพฯก็ไม่ได้ใช้ อย่างไรก็ดีปุ่มกลับอยู่ตรงนั้นให้เห็นตลอดเวลา กลายเป็นว่ากดแล้วบางทีก็เห็นอะไรโผล่มา บางทีก็ไม่เห็นอะไร นานเข้าคนก็เริ่มลืมว่ามีปุ่มนี้อยู่เพราะคนโดนสะกดจิตไปว่าปุ่มนี้ไม่น่าเชื่อถือ ใช้งานได้บ้างไม่ได้บ้าง ผิดหลัก UX อีกเช่นกันที่ว่าถ้ามีอะไรปรากฏให้เห็นมันต้องใช้งานได้

สุดท้ายปุ่ม Menu จึงกลายเป็น "ปุ่มที่ไม่มีใครกด" ไปโดยปริยายนั่นเอง

แต่ปัญหาดังกล่าวไม่เกิดกับปุ่ม Home และปุ่ม Back เพราะสองปุ่มนั้นเป็นปุ่ม "ภาคบังคับ" คือต้องกดแทบจะตลอดเวลา ไม่งั้นจะใช้งานแอนดรอยด์ไม่ได้เลย

ทางแก้

ครั้นจะเอา Menu ออกไปจากระบบเลยก็ทำไม่ได้ เพราะมันกลายเป็นส่วนนึงของแอพฯแล้ว หากเอาออกคงส่งผลกระทบในแง่ลบต่อระบบปฏิบัติการและนักพัฒนาเป็นอย่างมากแน่ๆ

เมื่อเป็นปัญหาก็ต้องหาทางแก้สินะ ซึ่งหลังจากทีมแอนดรอยด์รู้แล้วว่ามีข้อผิดพลาดการออกแบบตรงนี้อยู่ พวกเขาก็ไม่นิ่งนอนใจ และเริ่มทำการ "โยกย้าย" เมนูจากเดิมที่ต้องเป็น Hardware Button ให้กลายเป็นสิ่งที่มีอยู่บนหน้าจอในบริเวณที่กดง่ายขึ้นเพื่อลด Effort ในการเข้าถึง จึงเกิดเป็นเมนูทางด้านขวาบนนี้ขึ้นมาใน Android 3.0 เป็นต้นมานั่นเอง เป็นการแก้ปัญหาคนไม่กดได้อย่างเหมาะสม ก็มือถือเป็น Touch Screen แล้ว ก็ต้องแก้แบบ Touch Screen สิ =)

swap

พร้อมกันนี้ปุ่ม จุดจุดจุด (หรือเรียกว่า Overflow Menu) ก็จะโผล่มาเฉพาะตอนที่มีเมนูให้เลือกเท่านั้น หากแอพฯนั้นไม่มีเมนูอะไรให้เลือก ปุ่มนี้ก็จะอันตรธานหายไปโดยอัตโนมัติ แก้ไข UX เรื่องปุ่มกดแล้วไม่เกิดอะไรขึ้นในดีไซน์ก่อนหน้าได้เป็นอย่างดี

ส่วนอีกปัญหาคือถึงจะมีปุ่ม Overflow Menu ให้กดแล้ว แต่คนก็เข้าถึงของในนั้นยากอยู่ดี ผิดหลัก UX ที่คนต้องสามารถสั่งงานสำคัญได้ภายในคลิกเดียว ด้วยเหตุนี้ทีมพัฒนาแอนดรอยด์จึงเนรมิตพื้นที่สำหรับยัด Action Menu ไว้บนแถบด้านบนให้สามารถกดได้เลยแบบทันทีทันใดสำหรับเมนูที่สำคัญต่อการใช้งานในหน้านั้นๆ

actionmenus

และนี่เป็นเหตุว่า Bar ด้านบนทั้งแถบจึงมีชื่อเรียกว่า Action Bar นั่นเอง ... แถบที่ประกอบด้วย Action Menu

หลังจากทำการทดลองมาสักพักนึง (ช่วง Transition คือระหว่าง Android 4.0 - 4.3) สุดท้ายปุ่ม Menu ที่เป็น Hardware ก็ถูกถอดออกจาก Guideline ในที่สุดตั้งแต่ Android 4.4 เป็นต้นมา และปุ่มก็ถูกแทนที่ด้วยปุ่มที่ใช้บ่อยกว่าอย่างปุ่ม Recent App นั่นเอง ดังที่จะเห็นได้จากตั้งแต่ Galaxy Nexus (Android 4.0) เป็นต้นมา ปุ่มทั้งสามจึงกลายเป็นปุ่ม Back + Home และ Recent App แทน

nexus45

เห็นว่าปุ่มโดนโยกไปโน่นมานี่ ไม่ใช่ว่าเค้าจะเปลี่ยนเล่นๆตามอารมณ์นะ ทุกอย่างมีเหตุผลและนี่เป็นเรื่องเล่าที่สะท้อนสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นกับ UX ส่วนนี้ของแอนดรอยด์ ตั้งแต่แอนดรอยด์เกิดจนปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ทั้งเรื่องความผิดพลาดตั้งแต่แรกเริ่ม การทำ A/B Testing จนถึงวิธีการแก้ปัญหาจนเกิดเป็นสิ่งใหม่ที่ยั่งยืนได้ กระบวนการเหล่านี้เป็นตัวอย่างจริงที่น่าศึกษาเอาไว้ครับ

ก็มีประมาณนี้แล เล่าให้ฟังสนุกๆ สวัสดีวันอาทิตย์ครับ ^_^

บทความที่เกี่ยวข้อง

Mar 19, 2015, 00:11
7813 views
Google Play ใช้คนร่วมตรวจแอพฯก่อนขึ้น Store แอพฯจะคุณภาพดีขึ้นหรือไม่? เปลี่ยนไปหรือเหมือนเดิม?
May 2, 2015, 02:18
10839 views
ถ่ายรูปเล่นไปกับ Water Garden by KBank พฤกษาพนาไพรใจกลาง EmQuartier
0 Comment(s)
Loading