"ประสบการณ์เป็นครูที่ดีที่สุด"
ทำความรู้จัก Fabric เครื่องมือข้าวต้มมัดทรงพลังจาก Twitter ที่ควรมีติดไว้ในทุกแอพฯที่เขียน
27 Oct 2014 13:52   [12122 views]

ในงาน F8 ตอนต้นปีที่ผ่านมา Facebook ก็มีทีท่าชัดเจนต่อ Mobile App ปล่อยเครื่องมือและ Open Source โน่นนี่ออกมา จนถึงตอนนี้ก็มี Component โน่นนี่ออกมาเรื่อยๆ เช่น Native Like Button (ที่ใช้งานไม่ได้ รอแก้บั๊กอยู่)

ปรากฎว่าสัปดาห์ที่แล้วในงาน Twitter Flight ทาง Twitter ก็เริ่มแสดงความชัดเจนของการทำ Mobile App ตามมาติดๆ มัดเอาสิ่งที่มีอยู่ในมือและปล่อยให้คนใช้ฟรีมาก่อนหน้านี้อย่างกระจัดกระจายอันได้แก่ Crashlytics, Twitter Sign In, Digits, Tweet Embeds และ MoPub มาไว้ด้วยกัน และคลอดออกมาในชื่อเท่ๆว่า Fabric

ส่วนตัวใช้ Crashlytics มานานแล้วเพราะเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังมากในการทำแอพฯที่ไร้การแครช (Crash Free Application) และที่สำคัญคือ ... ฟรี ! ตอนนี้แอพฯ NuuNeoI for Android ก็ไม่มี Crash มาเป็นอาทิตย์แล้ว ยกประโยชน์ให้ Crashlytics เลยจ้าาา

ก่อนหน้านี้ Crashlytics เป็นตัวที่อยู่โดดๆแต่ปรากฎว่ามีคนใช้เยอะมาก และเชื่อว่านี่แหละเป็นต้นเหตุของ Strategy การมัดรวมของ Twitter ดังนั้นก่อนอื่นขอเริ่มจากการอ่านเกม Twitter เพื่อดู Movement กันก่อนเลยละกันนะ

อ่านเกม Twitter

Crashlytics เป็น Tools ที่มีคนใช้เยอะที่สุดในบรรดา Tools ทั้งหมดของ Twitter ก็ว่าได้

แต่อย่างไรก็ตาม Crashlytics กลับไม่ตอบโจทย์ Growth Model หลักอย่างการ Engage กับ Twitter User ในขณะเดียวกัน Facebook Sign-In กลับถูกฝังเข้าไปในแอพฯเกือบทุกแอพฯทุกวันนี้

จึงน่าจะเป็นที่มาของ Fabric ที่ดึงเอา Crashlytics ที่มีคนใช้เยอะสุดๆเป็นตัวนำและ "พ่วง" เอาสิ่งที่ช่วย Engage Twitter User อย่าง Twitter Sign-in และ Tweet Embed เข้ามา

เพราะล่าสุดตอนนี้ Crashlytics ไปอยู่ภายใต้ http://fabric.io เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ถ้าจะใช้ Crashlytics ตัวใหม่ต้องโหลด Fabric Plugin มาทั้งอัน แล้วค่อยเลือกว่าจะลงอันไหนตอนอยู่ใน IDE จากเดิมเป็น Plugin ของ Crashlytics เพียวๆ รวมถึงหน้าเว็บก็รวมเอาทุกบริการที่ว่ามารวมไว้ในหน้าเดียวเป็นที่เรียบร้อย

ก็คิดว่าเป็นการพยายามเดินเกมให้คนติดตั้งสิ่งที่ก่อเกิดรายได้ให้ Twitter อย่าง Twitter Sign-in, Digits และ MoPub เข้าไปในแอพฯมากขึ้นนั่นเอง เดี๋ยวมาดูกันทีละตัว

Crashlytics

Tools อันทรงพลังที่อยากจะแนะนำให้ทุกคนติดตั้งลงไปในแอพฯตั้งแต่ New Project กันเลยทีเดียวเพราะมันเป็น Tools ในฝันของนักพัฒนาหลายๆคนเลยทีเดียว

ความสามารถเบื้องต้นคือ

ถ้ามี Crash มันจะส่ง Stacktrace มารวมไว้ที่เว็บให้ พร้อมเว็บ Report และจัดการแครชเหล่านั้นอย่างเต็มรูปแบบ

Crashlytics มีหลายบริการ ตรงส่วนที่ไว้ Track Crash นี้เราเรียกว่า Issues

คราวนี้ เราไม่ต้องมานั่งให้คนส่ง Stacktrace (ซึ่งคนส่วนใหญ่ส่งกันไม่เป็นอยู่แล้ว) มาให้อีกต่อไป ส่งมือถือไปให้เล่น ถ้า Crash เดี๋ยวเรารู้เอง แค่ยิ้มให้ก็พอ

ประโยชน์ของ Crashlytics ฝั่งแอนดรอยด์จะมากหน่อยเพราะ Fragmentation ที่สูง ทำยังไงเราก็เทสต์ครบทุกรุ่นไม่ได้หรอก การปล่อยแอพฯขึ้น Google Play แล้วให้คนช่วยกันเทสต์ แล้วเราก็นั่งรอ Crash Report ก็ได้รับประโยชน์จาก Crashlytics เต็มๆ ได้มาก็ไล่แก้แล้วอัพเวอร์ชั่นใหม่ สบายแฮ

Crashlytics ไม่ได้มีแค่ฟีเจอร์ Issues เท่านั้น แต่ยังมีตัวอื่นที่ช่วยให้เราอย่าง Answers

Answers เป็นระบบ Analytics ที่ช่วยดู Real Time Active User, DAU, MAU, Growth ต่างๆ เวอร์ชั่นไหนคนใช้เยอะสุด บลาๆๆๆ

ความเท่คือไม่ต้องติดตั้งอะไรเพิ่ม แค่ติดตั้ง Analytics ระบบ Answers ก็จะเปิดใช้โดยอัตโนมัติ

นอกจากนี้ก็มีระบบ Beta ที่ช่วยเรา Distribute แอพฯไปยัง Beta Tester ได้อย่างง่ายดาย ถ้ามีเวอร์ชั่นใหม่ เหล่า Tester ก็จะได้รับ Notifications และอัพเดตตัวใหม่มาเทสต์ได้ทันที

Beta ยังมาพร้อมระบบ Crash Report และ Analytics ที่ให้เราไล่ดูได้ว่าตอนนี้เหล่า Tester กำลังทำอะไรอยู่ในแอพฯ และมี Issue (Crash) อะไรมั้ย

สาเหตุที่ต้องมี Beta ก็เพราะการปล่อยแอพฯขึ้น Production เลย แล้วปรากฎว่าแอพฯพัง แอพฯ Crash คนใช้งานไม่ได้ มันจะส่งผลเสียเป็นอย่างยิ่งกับ Rating ของแอพฯนั่นเอง หากเป็นไปได้ ส่งให้ Beta Tester ทดสอบให้เรียบร้อยก่อนค่อยขึ้น Production จะส่งผลดีที่สุดครับ

แต่ ... Beta Tester ยังไงก็ไม่ครอบคลุมทุกรุ่นอยู่ดี พอปล่อยขึ้น Production ก็เตรียมรอรับ Crash Report ชุดใหญ่ได้

ใครเขียนแอพฯแอนดรอยด์อาจจะเกิดข้อสงสัยว่าระบบมันช่างดูซ้ำซ้อนกับ Google Play Developer Console ทุกส่วนเลย แต่จากการใช้งาน พูดได้เลยว่า Crashlytics ดีกว่าเยอะครับ ลืม Google Play Developer Console ไปได้เลย

ย้ำอีกทีว่าแนะนำให้ใส่ Crashlytics ไว้ในทุกแอพฯที่เราทำครับ สำคัญมากในการทำให้แอพฯไร้ Crash ด้วยเวลาอันสั้นมาก

Twitter Sign-In

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มี Social Network และแอพฯต่างๆผุดขึ้นมามากมาย และแทบทุกแอพฯมีการ Register Account ใหม่ ปรากฎการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นคือคนไม่ค่อย Register กัน รู้สึกว่ามีแอคเค้าท์เยอะเกินไปแล้ว

Facebook Sign In ก็เลยได้ดีขึ้นมาด้วยการนี้ เพราะผู้ใช้แค่คลิกคลิกเดียว กด Accept แล้วก็เข้าใช้ได้ทันที (ระบบหลังบ้านสร้าง Account ใหม่จาก Facebook Account ให้โดยอัตโนมัติ)

Twitter ก็ปล่อย Sign In Button มาเหมือนกัน ปล่อยมานานแล้วด้วย แต่ไม่ค่อยมีคนนิยมใช้ และนี่เป็นก้าวก้าวใหญ่ของความพยายามของ Twitter ที่จะผลักดันปุ่ม Twitter Sign In ลงไปในแอพฯต่างๆของผู้คน

ซึ่งก็ถือว่าทำได้ดีกว่า Facebook ซะอีก คลิกไม่กี่คลิกก็ใช้งานได้แล้ว

และก็ไม่ได้แค่นั้น Twitter Sign-In ยังพ่วงมาด้วยฟีเจอร์ในการช่วยแชร์ Content จากแอพฯขึ้น Twitter ด้วยคำสั่งง่ายๆอีกด้วย

ลองไปศึกษาดูได้จาก https://dev.twitter.com/products/signin คร้าบผม

Tweet Embeds

มี Content ดีๆบน Twitter อยู่มากมาย หลายคนทำเอาไว้เป็น Feed ข่าวเลยทีเดียว

ปัจจุบันมีการทำ Tweet Embeds ลงเว็บกันอย่างแพร่หลาย จากที่แต่ก่อนต้องมานั่ง Capture จอแล้วแปะเอง

ตอนนี้ก็ถึงคราวที่ Tweet Embeds จะมาลงมือถือแล้ว ด้วย Component ที่เตรียมพร้อมมาอย่างดี พร้อมแปะลงไปในแอพฯ แสดง Tweet ที่เราต้องการลงบนแอพฯอย่างสวยงาม เปลี่ยนสีฟ้อนต์ เปลี่ยน Background อะไรได้หมด ทำให้เนียนไปกับแอพฯอย่างลงตัวได้เลย

Digits

สั้นๆง่ายๆ มันคือการ Verify ตัวตนผ่าน SMS เหมือนที่เรา Verify แอพฯ LINE, Whatsapp อะไรพวกนั้น

ก่อนหน้านี้ ถ้าจะทำอะไรแบบนี้ เราจะต้องเสียค่าใช้จ่ายมากมายมหาศาลเพื่อจ่ายค่า SMS แต่อันนี้ ... Twitter จัดให้ฟรีจ้าาา

ใช้ง่ายมากด้วย ใส่โค้ดไม่กี่บรรทัดก็ใช้งานได้แล้ว

ประหยัดทั้งเงินและเวลา เป็นระบบที่ดีมากๆ หามานานแล้ว ขอบคุณ Twitter มา ณ ที่นี้ ~~~~~~

ประโยชน์ของ Digits มีหลายอย่างครับ โดยเฉพาะระบบที่มีการผูกอะไรสักอย่างกับเบอร์โทร จะรับประโยชน์ไปเต็มๆเลย

MoPub

ตัวสุดท้ายของข้าวต้มมัด Fabric "MoPub" ตัวดึง Ads มาแสดงในแอพฯ ที่นอกจากจะมี Marketplace ของตัวเองแล้ว ยังสามารถเชื่อมต่อกับ Ad Networks ชื่อดังทั่วโลกยกตัวอย่างเช่น AdMob, AdColony, Facebook Audience Network และอีกเพียบ แทบจะทั่วโลกแล้วหละ และ Ads ที่ดึงมาแสดงก็มีทั้ง Banner Ads, Interstitial Ads และ Native Ads

ความเท่คือเราไม่ต้องมานั่งปวดหัวกับ Ad Network SDK ตัวไหนอีกแล้ว ใช้เจ้า MoPub ตัวเดียวแล้ว Integrate เอาแบบง่ายๆ ยังไม่ได้ลองเล่น แต่อ่าน Docs ดูแล้ว ผมว่าออกแบบมาดีเลยทีเดียว ตอบโจทย์เลยหละ

MoPub เป็นบริการที่มีมานานแล้ว ไม่ต้องแปลกใจที่ระบบต่างๆจะทำออกมาได้สมบูรณ์แบบ น่าใช้งาน ระบบหลังบ้านมี Analytics ทุกอย่างครบถ้วน อยากรู้อะไรรู้หมด

ลองเล่นดูได้ๆ เราว่าน่าสนใจกว่าติดแค่ Ad Network เดียวเป็นไหนๆ

เท่ตั้งแต่การติดตั้ง

จริงๆเท่มาตั้งแต่เป็น Crashlytics เพียวๆละ เพราะการติดตั้ง Tools ของ Fabric ไม่ใช่ก็อปแปะหรือลากวางแต่อย่างใด หากแต่เป็นการ Integrate เข้ากับ IDE โดยตรง แล้วก็คลิกๆๆๆ จากนั้น SDK ที่ต้องการก็จะ Integrate เข้ากับโปรเจคเราทันที

จะบอกว่าประทับใจในแนวทางการติดตั้งมาก ...

สังเกตดูว่าจะมีการติดตั้ง Kit แค่ 3 ตัว แต่ข้างบนมีบริการตั้ง 7 ตัว ... ถ้าสนใจจะใช้บริการตัวไหน ให้เลือกติดตั้งตามนี้ครับ

- Crashlytics - ติดตั้งทีเดียว ใช้ได้ทั้งบริการ Issues, Beta และ Answers

- Twitter - อันนี้มาพร้อม Twitter Sign-In, Tweet Embeds และ Digits

- MoPub - อันนี้งก มีแค่ MoPub ตัวเดียว

ลองไปเล่นกันดูครับที่ http://fabric.io ถ้านึกอะไรไม่ออก แนะนำให้ติดตั้ง Crashlytics ก่อนเลย ชีวิตคุณจะสบายขึ้นสี่แสนห้าหมื่นเท่าก๊ะ ^0^

บทความที่เกี่ยวข้อง

Nov 5, 2014, 21:46
11661 views
รู้จักกับ Parse เครื่องมือคู่ใจ Mobile App Developer นับแสน [ฉบับเบื้องต้น]
Oct 13, 2014, 01:23
32734 views
[Geek อีกละ] ทำความรู้จักกับ Xamarin เครื่องมือพัฒนาที่มาพร้อม Concept "แชร์โค้ดระหว่างแพลตฟอร์ม"
0 Comment(s)
Loading