"Fly high but don't fly alone"
ทดลองทำ Hologram Illusion โดยใช้ Nokia Lumia 1520 ด้วยงบ 30 บาท
21 May 2014 21:19   [30072 views]

ขอบคุณทุกความหวังดี ทุกกำลังใจ ทุกคำแนะนำจากทุกคน สำหรับเรื่องราวที่ผ่านมาครับ

ก็สารภาพตามตรงว่าสภาพตอนนี้ก็ยังไม่ค่อยโอเค รู้สึกเครียดๆชาๆ ยังทำอะไรไม่ค่อยได้อยู่ แต่ไม่ขอพูดอะไรมากไปกว่านี้ละกันครับ บางทีก็คงต้องเก็บเป็นเรื่องที่เนยต้องแก้ไขปัญหาเองแหละ คงต้องใช้เวลาพอสมควรจากนี้ครับ

ไหนๆก็ทำงานไม่ได้แล้ว เมื่อวานก็เลยนั่งรื้อสิ่งที่เคยอยากทำเมื่อนานมาแล้วอย่าง Hologram มาทำเล่น เริ่มด้วยการนั่งดูวีดีโอตัวนี้

ก็ได้ไอเดียคร่าวๆว่าเทคโนโลยี Hologram จริงๆ ยังแทบจับต้องไม่ได้ มีออกมาให้เห็นในงานวิจัยงานแล้วงานเล่า แต่ก็ยังห่างไกลกับการใช้จริง บางวิธีก็ทำให้ใหญ่ไม่ได้ บางวิธีก็อันตรายเกินจะใช้จริง แต่ก็ถือว่าน่าตื่นตาตื่นใจแหละนะ ที่เห็นใกล้เคียงที่สุดคือตัวนี้ ใช้การหมุนกระจกด้วยความเร็วสูงแล้วสะท้อนภาพออกมาให้ตรงมุม จนเกิดเป็น 3D Hologram มองได้ 360 องศาขึ้นมา

ส่วนอีกอย่างเรียกว่า Hologram Illusion หรือการสร้างภาพลวงขึ้นมาให้เหมือนมีอะไรอยู่ตรงนั้นๆ ทั้งๆที่ไม่มีอยู่ เป็นเทคนิคที่ใช้มาตั้งแต่สมัยโบราณในโรงละครและการเล่นมายากล หลักการพื้นฐานคือต้องใช้ตัวกลางรับแหล่งกำเนิดแสงแล้วหลอกตาคนเอา ซึ่งพวกนี้ไม่ได้เป็น 3D อย่างแท้จริง ก็แค่การฉายแสงลงบนตัวกลาง เหมือนฉายหนังนั่นแหละ (เทคนิคมันก็เรียกว่า Projector เลย ไม่มีอะไรซับซ้อน) โดยตัวกลางอาจจะเป็นกระจก ม่านไอน้ำหรือแม้แต่ไอน้ำที่เกิดจากการหายใจ อย่างใน MV เพลง ของ Travis

แต่ใครจะแคร์หละว่าเป็น Illusion หรือ Hologram จริงๆ? ในเมื่อมันก็ใช้งานได้ ตัวอย่างการใช้งานจริงก็มีให้เห็นหลายงานแล้ว เช่นการนำ Tupac กลับมาเล่นคอนเสิร์ต รวมถึงไม่กี่วันที่ผ่านมามีข่าวดังอย่างการนำ Michael Jackson กลับมาเล่นคอร์นเสิร์ต น่าประทับใจมาก

ไม่ว่าคนจะว่ายังไง ไม่ว่าคนจะบอกว่าโกหกหลอกลวงยังไง แต่สำหรับผม ผมประทับใจ มันไม่ได้ขึ้นอยู่ที่เทคนิค แต่ขึ้นอยู่กับผลที่ได้ออกมาต่างหาก

Hologram Illusion ถูกนำมาใช้ในงานจริงเรื่อยๆโดยที่เราไม่รู้ตัว ในพิพิธภัณฑ์หรือใน Ripley ก็มีให้เห็นกันมาสักพักแล้ว แต่นาทีนี้ สิ่งที่น่าสนใจคือ Apple ได้จด Patent การทำ 3D Hologram Display ไว้แล้ว สำหรับเราแล้ว เมื่อ Apple ขยับอะไร น่าจะมีผลกระทบเป็นวงกว้างได้ นั่นแปลว่าคงต้องเตรียมตัวทำอะไรบางอย่างแล้ว วันนี้เลยเดินไปซื้อแผ่นอะคริลิคและคัตเตอร์มานั่งกรีดๆๆๆ ลงมือทำตามทฤษฎีเลย (Just Fucking Do It) ด้วยการตัดอะคริลิคและวางเป็นมุม 45 องศาและตั้งโครงให้สามารถวางมือถือแบบคว่ำหน้าด้านบนได้ ดังนี้

โดยอะคริลิคที่ใช้เป็นแบบหนา 2 มิลลิเมตร เพื่อให้มันแข็งแรง (แต่มีข้อดีข้อเสียนะ ไว้จะบอกผลตอนหลัง)

จากนั้นเขียน Software บนมือถือให้มีตัวละครวิ่งๆๆๆ บนมือถือที่มีจอ LED (ใช้ LCD ก็ได้ แต่ Illusion จะได้ภาพที่ต่างกัน) โดยให้พื้นหลังเป็นสีดำ เพื่อให้ตัวละครเด่นขึ้นมา (เนื่องจากจอ LED ส่วนที่เป็นสีดำก็คือไม่มีแสงเปล่งออกมาเลย)

จากนั้นก็เร่งความสว่างจอมือถือให้สูงสุดและวางมือถือคว่ำหน้าลง ผลก็จะออกมาเป็นดังนี้ครับ

ผลการทดลองก็พบว่า คนมาดูบอกว่ามันว้าวมากทีเดียว เห็นแล้วตื่นเต้น เจ๋งมาก ทำได้ยังไงเนี่ย (แต่ใช้งบทำแค่ 30 บาท ไม่รวมค่ามือถือ) แต่ถ้าดูดีๆจะพบว่าภาพมันซ้อนกันอยู่ นั่นก็เพราะแผ่นอะคริลิคมันหนาเกินไป ทำให้เกิดการสะท้อนทั้งผิวด้านหน้าและผิวด้านหลัง ก็คงต้องหาทางแก้กันไปตามทฤษฎีครับ

ลองกับ 2D ไปแล้ว อันนี้ลองกับ 3D บ้าง ...

ผลออกมาถือว่าน่าประทับใจมาก นึกว่ามันอยู่ลอยอยู่ตรงนั้นเลยจริงๆ

ส่วนตัวเชื่อว่า Hologram Illusion จะถูกนำมาใช้มากขึ้นเรื่อยๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งใน Event ใครจับงานด้าน Event Organize ก็ควรศึกษาถึงความเป็นไปได้เอาไว้ครับ เพราะมันยังใหม่สดและสร้างความ "ว้าว" ให้กับงานได้อย่างดี แค่อาจจะต้องใส่ Creativity และพลังใน Content มากหน่อย รวมถึงการ Display Product จากนี้ Hologram ก็จะเริ่มมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆครับ หากคิดภาพไม่ออกว่ายังไง ลองดูตัวอย่างครับ

นอกจากการวางกระจกแบบที่เนยทำนี้แล้ว ยังมีอีกวิธีคือการวางแบบ Pyramid (Quad Display) ที่ทำให้สามารถมองภาพได้รอบด้าน (หรือความจริงคือ 4 ด้าน) มีอุปกรณ์ขายอยู่ หรือจะลองทำเองก็ได้ครับ ไม่ยาก

หวังว่าจะมีประโยชน์และจะชอบกันนะครับ ถ้าสนใจอยากให้ทำไปใช้ในงานหรืออยากให้ทำ Hologram Display ให้ ติดต่อได้ครับ

สำหรับวันนี้ สวัสดีครับ

Update: มีการทดลองต่อยอดเพิ่มจากอันนี้อีกนิดนึงใน Blog ถัดไป ลองไปดูเต็มๆได้ที่ Hologram Illusion (ภาคต่อ) ปรับมุมมองตามองศาคนมอง ครับ =)

บทความที่เกี่ยวข้อง

Apr 7, 2014, 01:40
23172 views
จุดเปลี่ยนชีวิต การเริ่มต้นใหม่ และ The Cheese Factory
May 23, 2014, 00:55
7432 views
Hologram Illusion (ภาคต่อ) ปรับมุมมองตามองศาคนมอง
0 Comment(s)
Loading