เมื่อครึ่งปีก่อน ไปงานของ AIS แล้วมีคนมาถามว่า "เขียน Blog สนุกมั้ยครับ? ส่วนที่ยากที่สุดของการเขียน Blog คืออะไรหรอครับ?"
อึ้งกับคำถามไปพักหนึ่ง เพราะไม่เคยมีใครถามแบบนี้ แต่ก็เป็นคำถามที่ดีมากเลยทีเดียวหละ
คำตอบที่ตอบไปก็คือ "ส่วนที่ยากที่สุดคือ Story ครับ"
นี่มันสตรอเบอร์รี่ ...
ซึ่งก็จริงตามนั้น ยืนยันคำตอบที่ตอบไป ส่วนที่ยากสุดคือ Story
สตอรี่คืออะไร? ทำไมต้องมีสตอรี่? ก็แค่เขียน Blog ไม่ใช่หรอ? ... นั่นแหละ ก็แค่เขียน Blog นี่แหละ !
จนถึงตอนนี้เขียน Blog และข่าวรวมกันน่าจะเกิน 5000 บทความละ หากเอาแค่ Blog ส่วนตัวก็น่าจะราวๆ 1500 Blogs (ก่อนหน้านี้ nuuneoi.com เคยเขียน Blog ไปเกือบ 1000 Blogs แล้วก็ลบทิ้งไปทั้งหมดเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่)
จับทางได้ว่าทุกอย่างล้วนสำคัญ แบ่งเป็นสามหมวดที่ง่ายๆและ Make Sense ดังนี้
1) เชิญชวนให้เข้ามาอ่าน
2) หลอกล่อให้อ่านจนจบ
3) ทำให้คนอยากแชร์ต่อ
ขึ้นหัวข้อมันก็ง่ายอยู่หรอก แต่จะทำยังไงนี่สิ?
ก็เลยขอมาสรุปเป็นข้อๆ 4-5 ข้อที่สำคัญที่สุดในการทำให้ Blog มีคนอ่านเยอะและน่าติดตาม เรียงตามความสำคัญ (แต่ไม่เรียงตามข้อด้านบน) ดังต่อไปเน้
1) Story Telling
ได้เรียนรู้อย่างหนึ่งว่า Blog ไม่ใช่การจะสักแต่ว่าพิมพ์ สักแต่ว่าเขียน แท้จริงแล้วการเขียน Blog คือการเล่าเรื่อง และมันจะน่าอ่านหรือไม่ก็อยู่ที่ "Story Telling" หรือ "วิธีการเล่าเรื่อง" เป็นส่วนใหญ่เลย ถึงแม้เนื้อหาจะน่าเบื่อ ไม่มีอะไรเลย แต่ถ้า Story Telling ดี มันก็จะกลายเป็น Blog ที่มีคนอยากอ่านและมีความสุขไปกับมัน ตรงกันข้าม ถึงเนื้อหาน่าสนใจ หากไร้การเล่าเรื่องที่น่าอ่าน สองย่อหน้าก็ลาก่อนหละจ้าาา
เรื่อง Story Telling นี้เป็นสกิลทางศิลปศาสตร์ ที่ต้องอาศัยการคุยกับคนอื่นเยอะๆและก็ฝึกฝนเขียนเยอะๆ จนจับจุดได้ว่าต้องเล่ายังไงให้คนอ่านรู้สึก Touching จะทำยังไงให้คนอ่านเรื่องตลกตกเก้าอี้ได้ จะทำยังไงให้คนอ่านเรื่องเศร้าน้ำตาไหลได้ จะทำยังไงคนอ่านเรื่องให้กำลังใจแล้วตัดสินใจกลับไปสู้ชีวิตทันที
ปกติแล้วมนุษย์จะมีจังหวะที่ตรงกันอยู่ มีช่วงที่ขึ้น มีช่วงที่ลง มีช่วงที่กำลังเบื่อ มีช่วงที่กำลังตลก ต้องรู้จักส่ง รู้จักรับอย่างพอเหมาะพอเจาะ มีการเล่นคำ มีการเล่นภาพให้ตรงกับจังหวะเพื่อเพิ่มความน่าสนใจ และยังมีเทคนิคอีกมากมาย ชนิดที่แต่ละคนไม่เหมือนกันเลยหละ แต่ที่ทุกคนต้องเรียนรู้ร่วมกันคือ "จังหวะ" กี่วินาทีคนเริ่มเบื่อ กี่ย่อหน้าคนเริ่มไม่สนใจ อันนี้ต้องรู้ หากไม่รู้ทฤษฎี ให้ย้อนอ่านของตัวเองกลับดูสัก 2-3 รอบ เราก็จะรู้ได้เหมือนกันว่าตรงไหนมันติดขัด ตรงไหนต้องแก้ไข
ที่ โน้ส อุดม ตลกจนสามารถเปิดเดี่ยวไมโครโฟนได้ ก็เป็นเรื่องของจังหวะและการเล่าเรื่องนี่แหละ (เค้าเป็นคนที่เล่นเรื่องจังหวะได้เก่งมากที่สุดในโลกคนหนึ่งเลย)
ซึ่งพอเปลี่ยนจากการพูดมาเป็นการเขียน การเน้น การเว้นวรรค ก็เลยถูกเปลี่ยนจากการเน้นเสียง ภาษาพูดก็ถูกเปลี่ยนเป็นภาษาเขียน มีการเอาพรรณนาโวหาร บรรยายโวหาร มโนโวหาร เข้ามาเพื่อสร้างคำและการบรรยายสวยๆ การเล่นเสียงสูงเสียงต่ำ เป็นการเน้นด้วยตัวหนา ตัวเอียง หรือสี
อาจจะมีบางคนบอกว่า ผมเขียน Blog เชิงเทคนิค จะทำยังไงให้มี Story Telling ได้ มันก็แค่โค้ดๆๆๆ ... ความจริงทำได้ครับ ไม่ยากด้วย เพียงแต่เราต้องเปลี่ยนมุมมองว่าเรากำลังเล่าเรื่องให้ใครฟัง และใช้ความสนใจของ Target นั้น สร้างเป็นเรื่องราวขึ้นมา โดยมีเนื้อหาของเราเป็นสาระสำคัญ และก็แนะนำให้ทำด้วย เพราะเวลาเราพูดอะไรกับใคร เราก็อยากให้เขาฟัง ฉันใดฉันนั้น ขึ้นชื่อว่า Blog แล้ว เราก็อยากให้คนอื่นอ่าน และมันก็ควรจะน่าอ่านเสมอ
สรุปคือ ไม่ว่าจะเรื่องอะไร เราก็สามารถมี Story Telling ให้คนสนใจได้ทั้งนั้น แค่บางทีอาจจะต้องพยายามนิดหน่อย ... บางทีก็มากหน่อย ... บางทีก็มากสาดดดดดดดดดดดดด
พักหลังมีคนเชิญไป Event บ่อยมาก แต่ไม่ใช่ทุกครั้งที่กลับมาแล้วเขียน Blog ให้ บ่อยครั้งมากที่กลับมาแล้วไม่สามารถเขียนอะไรได้เลย ส่วนใหญ่จะเป็นงานที่ไม่มีเนื้อหาอะไรนอกจากการขายของเลย และหากจะเขียน ก็ต้องลากสตอรี่ที่ไม่เกี่ยวข้องเลยจากแม่น้ำทั้งห้า เพื่อดันสตอรี่จนถึงจุดพีค ก่อนจะดึงเนื้อหาของแบรนด์นั้นๆเข้ามาเป็นส่วนประกอบ
ซึ่งยาก ลำบากและเหนื่อยมาก ... เหนื่อยจนบางทีบอกว่าผมขอไม่เขียนละกันนะ เขียนไปก็ไม่มีคนอ่านอ่ะ
จนช่วงสองสามปีให้หลังนี้ เริ่มชินกับการสร้างสตอรี่ให้กับเนื้อหา และ Event ส่วนใหญ่จัดมาเพื่อขายของ ไม่ค่อยมีเนื้อหาที่เอาเขียนได้อย่างสนุกเท่าไหร่ ทุกครั้งที่ไป Event ก็เลยต้องเดินวนรอบงาน 5 รอบ สร้างสตอรี่บอร์ดไว้ในหัว แล้วไล่ถ่ายรูปเพื่อบันทึกเนื้อหา แล้วกลับบ้านก็เอามาเขียน Blog ทันทีก่อนจะลืม แต่แน่นอน ถ้าใน Event ไม่มีสตอรี่อะไรที่น่าสนใจ เราก็ต้องเอาเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องมาแจม และเนื้อหาก็จะแผ่วลง แต่ถ้า Event นั้นมีสตอรี่อยู่แล้ว สิ่งที่สื่อออกมาก็จะตรงกับที่งานต้องการสื่อ อันนี้ Win-Win
จึงแอบกระซิบสำหรับคนจัด Event ว่า สตอรี่ก็เป็นสิ่งที่สำคัญและสามารถสร้างได้จากผู้จัด Event อย่างเช่นตอนไปตะลุยทั่วกรุงกับ AIS ก็เป็นเคสที่ดี ที่เค้าสร้างสตอรี่ของการเดินทางไว้เป็นอย่างดี ทำให้เป็น Guideline ในการเขียน Content ตามสไตล์ของแต่ละคนได้ รวมถึงงานเปิดตัว S5 ของ Samsung ก็ถือว่าทำสตอรี่มาได้ดีระดับหนึ่ง (ไม่ได้เขียนเพราะไม่ว่างอย่างรุนแรงตอนนั้น) จึงแอบบอก Event Organizer ว่า หากสามารถสร้างสตอรี่ของ Event ได้ ก็ควรทำครับ มันจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการสื่อเนื้อหาให้คนอื่นไปสื่อต่อได้อย่างดียิ่งครับ =)
อยากให้มองในมุมว่า จงทำให้มันน่าสนใจจน Blogger อยากเอาไปเขียน มันจะส่งผลที่สูงสุดจริงๆ มีโอกาสลองดูครับ ^_^
ซึ่งพูดถึง Story Telling ก็นึกถึงน้องที่ทำ Startup เจ้าหนึ่งที่ชื่อว่า Storylog กำลังจะ Launch เร็วๆนี้ น่าสนใจมากเลย เข้าไปอ่านดูเยอะๆว่าเค้าเล่าเรื่องกันยังไง จดจำและ Apply ไปในมุมของตัวเองได้จะดีมากครับ
เมื่อวิชา Story Telling เริ่มแกร่งกล้าแล้ว ก็อนุมานได้ว่า ไม่ว่าจะเขียน Blog อะไร คนก็จะอ่านจนจบแน่นอน
และเมื่ออ่านจบ ก็เตรียมปุ่ม Like ไว้ใต้บทความให้เห็นเด่นชัด เพราะถ้าเค้าชอบการเล่าเรื่องจนอ่านจบแล้ว เค้าก็จะกดปุ่ม Like ทันที และจะเกิดเป็น Viral ด้วยตัว Content และ Mechanic ของ Facebook เอง
2) ภาพประกอบสวยๆมีชัยไปกว่าครึ่ง
ตัวอักษรยาวเป็นพรืดมันไม่เซ็กซี่พอที่ให้คนอ่านจนจบอีกต่อไปแล้ว ภาพประกอบเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยตัดอารมณ์คนให้รู้สึกมีกำลังใจจะอ่านต่อได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังทำให้ตัวอักษรเหล่านั้นมีน้ำหนักขึ้น มีความหมายมากขึ้น
เช่น ผมบอกว่า "ทำไมมันเหงาอย่างงี้นะ ..."
เป็นไงหละ เหงามั้ยหละ? ต่อให้พูดคำว่าเหงาแสนครั้ง ยังไม่เท่าเห็นภาพนี้ภาพเดียวเลย คนจะอินกับความหมายของภาพประกอบกับเนื้อหาที่เราเขียน จนสุดท้ายคนอ่านก็จะได้รับสิ่งที่เราสื่อไปเกือบ 100%
ดังนั้นจากนี้อย่าขี้เกียจนะจ๊ะ ถ้าเขียน Blog ต้องมีภาพประกอบอย่างน้อย 1 ภาพ จะเป็นภาพจั่วหัวหรืออะไรก็ได้ มันช่วยให้การแชร์ใน Social Network น่ากดเข้ามาอ่านเพิ่มขึ้นอีกต่างหาก (เดี๋ยวเรื่องนี้มีต่อในหัวข้อ Open Graph ด้านล่าง)
ความจริงมีอีกหลายเรื่องเลยหละที่เกี่ยวกับภาพ หนึ่งในนั้นคือ "ภาพสวยมีชัยไปกว่าครึ่ง"
หากต้องการเขียน Blog ที่ดึงดูดคนให้ลุ่มหลงกับอะไรสักอย่าง ภาพสวยๆจะตอบโจทย์ตรงนี้ได้ดีที่สุด ดีกว่าวีดีโอ ดีกว่าเพลง ดีกว่าสิ่งใดๆ เพราะมันใช้เวลาดูแค่เสี้ยววินาที แต่คนจดจำมันได้ เช่น ...
นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมกล้องดีๆถึงสำคัญ จริงอยู่ที่กล้องหนะ ขอให้ขึ้นชื่อว่ากล้องก็ถ่ายรูปได้ละ แต่ไม่ใช่กล้องทุกตัวที่สามารถสื่อความหมายออกมาได้ดีครับ อย่างภาพด้านบนนี้ ใช้หลายกล้องแล้ว ก็ไม่สวยสักที สุดท้ายก็เลยต้องหยิบเอา 5D Mark II ถ่าย Full Frame ถึงได้ภาพที่ต้องการและคนเห็นแล้วอยากวิ่งออกไปซื้อกินทันที
ถึงจะฟังดูไม่ค่อยเกี่ยว แต่ส่วนตัวแล้ว คนที่จะเขียน Blog ได้ดี ควรมีสกิลการถ่ายรูปด้วยครับ หากไม่มีก็ควรจะหาทีมงานที่มีสกิลนี้เพื่อถ่ายภาพประกอบ แต่จะให้ดี ควรจะเป็นคนเดียวกับที่ Story Telling เพราะภาพประกอบก็เป็นส่วนหนึ่งของ Story Telling มุมกล้อง สี คอมโพส ล้วนมีผลต่อการสื่อเนื้อหาทั้งสิ้นครับ
3) การตั้งชื่อ Blog ให้สื่อ กระชับและสร้างสรรค์
เข้าสู่หัวข้อการ "เชิญชวนให้อ่าน" แล้ว
ถามว่าทุกวันนี้ อะไร Drive ให้คนเข้าอ่าน Blog สูงสุดครับ?
ถามว่าคนเห็นอะไรบน Facebook? ตอบว่าเห็นแค่นี้ครับ
หนังสือจะมีคนหยิบมาอ่านหรือไม่ก็อยู่ที่หน้าปก ฉันใดก็ฉันนั้น ถึงเนื้อหาจะดี Story Telling เยี่ยม ภาพประกอบสวย แต่คนจะกดเข้ามาอ่านหรือไม่อ่าน มันอยู่ที่สิ่งหลอกล่อเชิญชวนอันได้แก่ (1) ชื่อ Blog สั้นๆ (2) ภาพจั่วหัวงามๆ เรียกว่าเป็นศิลปะอีกแขนงหนึ่งก็ว่าได้ ที่จะจั่วหัวยังไงให้คนเห็นแล้วมือสั่น ต้องกดเข้าไปดูให้ได้
อย่างแรกหละ ภาพประกอบใน Blog ต้องสวย เป็นสิ่งที่เตะตาได้มากกว่าชื่อ Blog เสียอีก แต่ชื่อ Blog ก็สำคัญ เพราะเมื่อคนเห็นภาพแล้ว (ฉกฉวยใจคนด้วยเวลา 0.1 วินาที Scroll ผ่านๆแล้วต้องหยุดดู) เค้าก็จะดูว่ามันเกี่ยวกับอะไรต่อ (ใช้เวลาอ่านอีก 2-3 วินาที) ถ้าทั้งสองอย่างผ่าน คนก็จะกดเข้าไปอ่านโดยละม่อม
การตั้งชื่อจึงเป็นอะไรที่ต้องมีความคิดสร้างสรรค์เข้าไปเพื่อเพิ่มความน่าค้นหา มันมีศาสตร์การตั้งชื่อ Blog เพื่อเพิ่ม Conversation Rate เลยนะ เช่น ชื่อ Blog ที่เป็น Action จะมีคนกดเข้าไปอ่านมากกว่าที่เป็น Noun ทื่อๆ ชื่อ Blog ที่เฉพาะเจาะจง จะมีคนอ่านมากกว่าชื่อที่ตั้งแบบทั่วไป ใส่ตัวเลขเข้าไปในชื่อ จะทำให้คนกดเข้าไปเยอะกว่า เป็นต้น
ชื่อ Blog ที่ดี ก็เช่น
10 วิธีรับมือหน้าร้อนดั่งนรก (ใส่ตัวเลข, มีความขำขัน)
ทำอย่างไรถึงจะเล่นหุ้นให้รวยเหมือน Warren Buffet (ใส่คำว่า How-to, ใช้ความโลภมนุษย์)
มาเรียนรู้วิธีการใช้เรือชูชีพกัน (How-to, เกาะกระแส)
และที่ไม่ดีก็เช่น
เมื่อไหร่เธอจะมาหา
สิ่งที่เรียนรู้วันนี้
การตั้งชื่อ Blog นั้นเป็นเรื่องที่สำคัญมากถึงมากที่สุด เหมือนเป็นการเชิญชวนให้มาสนใจเรา หากเชิญชวนไม่สำเร็จ ต่อให้เนื้อหาดีแค่ไหน มันก็จะกลายเป็นตัวอักษรไร้ค่าบนอินเทอร์เนตไปในที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม อย่าไปทำให้ชื่อ Blog เว่อร์ เพื่อหวังให้คนกดเข้าไปอ่าน แต่ปรากฎว่าเนื้อหาข้างในไม่เกี่ยวอะไรกันเลย นั่นจะทำให้คุณมีคนเข้ามาอ่านครั้งนั้นครั้งเดียว และจะไม่เข้ามาอีกเลย สวัสดี
แล้วก็ เคยอยู่ครั้งนึง ใส่ [18+] เข้าไปในชื่อ Blog ... คนอ่านเยอะขึ้นจริงๆนะ 555 (บอกแล้วว่าชื่อ Blog มีผล)
4) ใช้ Open Graph ให้เป็น
อาจจะมีคนส่วนนึงที่ไม่รู้ว่าเราสามารถ Fix รูป Blog ตอนไปแสดงผลบน Facebook ได้ อันนี้เราเรียกว่า Open Graph (og) ที่เราจะกำหนดข้อมูลต่างๆเพื่อให้ Facebook ดูดเอาไปแสดงบน Timeline อย่างที่เราต้องการทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นชื่อ Blog เอย ภาพประกอบเอย
โดยปกติแล้ว ถ้าเราไม่กำหนด url ของภาพประกอบ (หรือเราเรียกว่า og:image) เราก็จะต้องเลือกเองว่าจะเอารูปไหน โดย Facebook จะดูดภาพที่พอแสดงผลได้จากภาพทั้งหมดใน Blog (และส่วนใหญ่ก็จะไม่แสดงภาพที่เราต้องการซะด้วย) แชร์สิบคนก็เลือกภาพสิบแบบ สุดท้ายนอกจากภาพจะไม่สวยตามที่เราต้องการแล้ว ยังไม่มีใครสามารถจดจำได้อีกต่างหาก
ในกรณีที่มีการกด Like Blog Post ใดๆ แล้วไปโผล่หน้า Timeline มันก็จะดึงภาพสุ่มมาภาพนึงเพื่อแสดงผล สรุปก็คือ ไม่สวยและไม่น่าอ่านเลย เสียโอกาสที่จะเป็น Viral ไปอย่างน่าเสียดาย
ดังนั้นเราควรจะกำหนด Open Graph ในทุก Blog ที่เราโพสท์ หลักๆมีอยู่สองอย่างที่ต้องกำหนดแบบไม่คิดชีวิตเลยคือชื่อ Blog (og:title) และภาพพาดหัว (og:image) ส่วนที่เหลือ กำหนดตามความเหมาะสมจ้า
เมื่อทุกอย่างถูกกำหนดไว้แล้ว มันก็จะถูกแสดงผลออกมาอย่างสวยงามมาก คราวนี้จะแชร์ไปที่ไหน ก็เป็นไปตามที่เราต้องการ
ฟังดูอาจจะยาก แต่ความจริงแล้วไม่ยากเลย แค่คุณเข้าใจมัน ไม่จำเป็นต้องเขียนโปรแกรมเป็น ให้โปรแกรมเมอร์ที่ทำเว็บขึ้นมาจัดการระบบตรงนี้ให้ ที่เหลือ Blogger ควบคุมเองได้หมดครับ
อย่างไรก็ตาม บางทีเว็บที่ Host ไว้ในไทยอาจจะมีปัญหากับ og เพราะ Facebook เข้ามาดูด Content ไม่ได้ นี่คือสาเหตุทีเราย้าย Blog มาอยู่ DigitalOcean ตั้งแต่นั้นมาก็ไม่มีปัญหาอีกเลย
สำหรับคนที่ Hosting ยังอยู่ไทย เราก็มีวิธีทดสอบว่า Facebook ดูด Content มาได้รึเปล่า โดยไปทดสอบในหน้า Debug Tools ได้เลย ถ้าเนื้อหามีการอัพเดต ก็สามารถไป Refresh สิ่งที่ Facebook Cache ไว้ได้อีกต่างหาก ถึงคุณจะไม่ใช่ Developer ก็ควรจะใช้หน้า Debug Tools เป็นครับ ของเนยนี่ ตอนจะปล่อย Blog จะเข้าไปเช็คที่หน้านี้ทุกครั้ง ถ้ายังไม่ขึ้น ก็จะไม่ปล่อยเป็นอันขาด
5) รู้เวลาที่เหมาะสมในการปล่อย Blog
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ "วัน" และ "เวลา" ในการปล่อย Blog มีผลต่อความรุ่งโรจน์ของบทความแบบหน้ามือเป็นหลังเท้าได้เลย
จากการนั่งศึกษาพฤติกรรม(แบบไม่ได้ตั้งใจศึกษา แต่อยู่กับมันมานาน) พบว่า วันจันทร์ อังคาร พุธ พฤหัส ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ แต่ละวันเหมาะกับเนื้อหาที่ต่างกันไป รวมถึงเวลาก็มีบางช่วงที่มีคนเล่นน้อย บางช่วงมีคนเล่นเยอะ
วันจันทร์ - ศุกร์ คน Active บน Facebook มาก เนื้อหาที่สื่อออกไปสามารถหนักเบาได้ตามต้องการ แต่วันจันทร์เป็นวันที่คนกำลังเซ็งๆจากการต้องกลับมาทำงาน บ่อยครั้ง Blog ที่ดังๆก็จะเกิดในช่วงนี้แหละ บ่ายวันจันทร์
วันเสาร์อาทิตย์ เป็นวันที่คนไม่ค่อยแชร์อะไร หรือจะบอกว่าคนเล่น Facebook น้อยกว่าวันธรรมดา (ชัดเลย พวกมนุษย์เงินเดือน แอบเล่น Facebook ระหว่างทำงาน) เนื้อหาควรจะไปในทางเบาๆ และอย่าคาดหวังให้มันสะพัดมากมาย หรือพูดอีกนัยหนึ่ง หากคาดหวังจะมีคนอ่านเยอะมหาศาล อย่าปล่อยวันเสาร์อาทิตย์เลย คนเค้าจะพักผ่อนกัน
วันจันทร์และศุกร์ เหมาะกับการสร้างเนื้อหาอะไรใหม่ๆ เหมือนเป็นสองวันที่คนเปิดรับอะไรที่แปลกใหม่เข้าสู่จิตใจ เพราะอันนึงก็เป็นวันที่เริ่มต้นการทำงาน(อารมณ์ตื่นๆ) อีกวันเป็นวันที่กำลังจะได้ไปพัก(อารมณ์ดี) หากอยากเปิดตัวโปรดักส์หรือมีฟีเจอร์ใหม่ สองวันนี้จะเหมาะแก่การเขียน Blog PR เป็นอย่างยิ่งครับ
เวลาที่เป็น Peak Hour ก็มีอยู่ไม่มากในแต่ละวัน เท่าที่ Monitor ดู วันจันทร์-ศุกร์จะมีอยู่ 2 ช่วงด้วยกัน ได้แก่ 14:00-17:00 และ 20:00-22:00 โดยช่วงบ่ายจะเหมาะกับ Content ที่แพร่หลายแบบยาวๆ เพราะเนื้อหาที่จะสะพัดได้มันต้องใช้เวลา กว่าจะไปตกสู่สายตาเพจที่มียอด Like เยอะๆ ก็อาจจะเป็นชั่วโมง และถ้ามันแพร่หลายเป็นอย่างดี มันก็สามารถส่งมา Peak ต่อในช่วงหัวค่ำได้อีก แต่ถ้าจะปล่อยช่วงหัวค่ำเลย คนจะเล่นเยอะกว่า มีคนส่งต่อเยอะกว่า แต่ก็จะจบลงไปอย่างรวดเร็วเพราะคนไปนอน
ส่วนวันเสาร์อาทิตย์ อย่างที่บอก ไม่ค่อยมีคน Active ถ้าอยากจะแชร์จริง กลางคืนคงเป็นเวลาที่เหมาะกว่าครับ
และไม่ว่าวันไหนๆ อย่าไปแชร์ตอนก่อน 8 โมงเช้า และอย่าไปแชร์ระหว่าง 17:00 - 20:00 เพราะอัตราเสี่ยงสูงมาก
หัวข้อนี้มันค่อนข้าง Flexible มันมีหลายปัจจัยมาก บางคนมีคนตั้งเปลี่ยน Feed เป็น Tweet ไว้ ก็ต้องวาง Strategy ไว้อีกแบบนึง คงต้องเรียนรู้และปรับจูนกันไปในแต่ละคนขอรับ บางทีปล่อยวันเสาร์อาทิตย์ดื้อๆ ไม่ก็ปล่อยตอนเที่ยง ตอนคนพักกินข้าว ปรากฎว่าคนก็อ่านเป็นหมื่นได้เหมือนกัน
ก็ประมาณนี้ครับ เป็นเคล็ดลับที่ตัวเองได้มาจากการเขียน Blog มานับไม่ถ้วนแล้วนั่นเอง
แต่ส่วนตัวแล้วไม่ใช่คนที่เขียน Blog เพื่อเอายอด Like หรือต้องการทำให้คนรู้จักเพิ่มแต่อย่างใด แต่ก่อนอ่ะใช่ รู้สึกชีวิตมีค่า แต่ตอนนี้ไม่ละ ต้องการให้คนอ่านได้อะไรไปมากกว่า ไม่ได้ต้องการให้คนรู้จักเราเยอะๆ เราอยาก Low Profile แต่อยากให้คนได้อะไรจากสิ่งที่เราเขียนเยอะๆ ก็เลยเขียนน้อยลงแต่เน้นคุณภาพมากขึ้น เลยไม่สามารถเป็น Blogger ที่แบรนด์คาดหวังอะไรได้มาก แต่สำหรับคนอ่านแล้ว รับรองว่าไม่ผิดหวังกับเนื้อหาครับ =) เราเน้นเขียนแต่สิ่งที่น่าสนใจจริงๆเท่านั้น ไม่ต้องมาบอกให้เราเขียน เพราะถ้ามันไม่น่าสนใจเราก็ไม่เขียน แต่ถ้ามันน่าสนใจ เราเขียนให้เอง ไม่ต้องจ้าง ไปๆมาๆ Blog ก็เลยกลายเป็น LifeStyle ไป เพราะเดินไปเจออะไรน่าสนใจก็เอามาเล่า และสิ่งที่น่าสนใจเหล่านั้นก็ไม่ค่อยเกี่ยวกับไอทีซะเท่าไหร่
ไม่ได้อินดี้อ่านะ แค่เราเริ่มเขียน Blog มาตั้งแต่ในวันที่คำว่า Blogger คือคนที่จดบันทึกเรื่องราวลงบนเว็บ ไม่ใช่ชื่ออาชีพ และเราก็ยังมีจุดยืนเดิมนั้นอยู่ เขียนสิ่งที่อยากเขียนและรักคนอ่าน ^_^ มั๊วะะะ
No Drama
ยังไม่จบ ...
อันนี้แถมๆ
ทางลัดที่จะให้คนอ่าน Blog เยอะๆก็มีครับ ... เป็นคำสั้นๆที่เรียกว่า "ดราม่า" ...
คนไทยมีกับความสัมพันธ์อันลึกซึ้งกับดราม่าเป็นอย่างมาก มีดราม่าเมื่อไหร่ก็ไปมุงเมื่อนั้น ทั้งๆที่มันไม่ใช่เรื่องของตัวเองเลย
เมื่อมี Demand ก็เลยมี Supply หลายคนเขียน Blog ในเชิงดราม่าแล้วติดใจ คนอ่านเยอะ ดีใจ เขียนไม่หยุด ไปๆมาๆก็ดราม่าทุก Blog เลยจ้า
เห็นมาหลายคนแล้วที่สุดท้ายต้องเสียจุดยืนการเขียน Blog ของตัวเองไปกับดราม่า แม้แต่ Blog ข่าวใหญ่ๆเองก็ตาม เห็นหลายที่ที่สุดท้ายก็เขียนเน้นดราม่าเป็นหลัก เพราะมันหอมหวานเหลือเกิน เขียนเมื่อไหร่ คนอ่านเยอะเมื่อนั่น
แต่...
จริงอยู่ที่มันอาจจะ Drive ให้คนเข้ามาอ่านได้เยอะ (ลองดู Pantip สิ) แต่ถามว่ามันก่อให้เกิดประโยชน์อะไรกับตัวเองและสังคมรึเปล่าครับ? นอกจากความภาคภูมิใจจอมปลอมที่มีคนเข้ามาอ่านสิ่งที่เค้าอ่านจบแล้วไม่ได้อะไรนอกจากเสียเวลาชีวิตไปอีกวัน
จึงฝากไว้ว่า มันมีหลายวิธีเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมาย "การทำให้คนอ่าน Blog เยอะ"
เลือกวิธีที่ "ดี" เถอะครับ =)
และก็เชียร์ให้เขียน Blog กันเยอะๆเน้อ มันก็เหมือนบันทึกชีวิตที่เราสามารถกลับมาอ่านเมื่อไหร่ก็ได้ ได้รู้ว่าตัวเองเติบโตไปยังไง ได้รู้ว่าตัวเองเปลี่ยนไปแค่ไหน เป็นสิ่งที่ล้ำค่ามาเมื่อเวลาผ่านไปครับ =)