"ความรักต้องไม่พยายาม"
14 เทคนิคการพูดในที่สาธารณะ (Public Speaking) ฉบับเนยเนย พูดอย่างไรให้ประสบผลสำเร็จ
12 Jul 2015 14:48   [86085 views]

ในอดีตเป็นคนเงียบๆและขี้อายมาก แค่พูดกับเพื่อนยังไม่ค่อยพูดเลย ไม่ต้องแปลกใจที่ตอนโดนจับออกไปพูดจะมือสั่นไหวด้วยความถี่ 30Hz เหงื่อโซมกาย เป็นไข้ ปวดศีรษะเนื่องจากเขิน ...

เวลาเปลี่ยน อะไรเปลี่ยน ... ตอนนี้พูดในที่สาธารณะแทบจะเป็นอาชีพหลัก(ก็เว่อร์ไป) โดนเชิญไปพูดที่นั่นที่โน่นที่นี่ทั้งงานเล็กงานใหญ่จนตอนนี้ต่อให้งานใหญ่แค่ไหนก็ไม่หวั่นแล้ว

ก็เลยเอาเทคนิคที่เราใช้มาแชร์ต่อกันครับ โดยทั้งหมดไม่ได้อ้างอิงจากตำราที่ไหน ไม่ได้แปลมาจากไหน เกิดจากประสบการณ์ล้วนๆจ้า  =)

Know Your Audience

เทคนิคแรก เป็นเรื่องสำคัญที่สุดแล้ว แทบจะเป็นตัวกำหนดความสำเร็จและความล้มเหลวในการพูดครั้งนั้นๆได้เลย คือ

ต้องรู้ก่อนว่าคนฟังเป็นใครและคาดหวังอะไร

ปกติตอนจะไปพูดงานไหนก็ตาม คนจัดงานจะเชิญในหัวข้อที่กว้างๆเช่น "อยากให้ไปพูดเรื่องตลาดมือถือครับ"

แต่ความจริงแล้วทุกเรื่องในโลกล้วนมีอยู่หลายด้านหลายมิติให้พูดถึง อย่างเช่นทรงกระบอก หากมองจากด้านบนก็จะเป็นวงกลม หากมองจากด้านข้างก็จะเป็นสี่เหลี่ยม

ทุกสตอรี่มีอยู่หลายมุม แล้วจะพูดด้านไหนดีหละ?

คำตอบอยู่ที่ "คนฟัง" ล้วนๆครับ ขึ้นอยู่กับว่าคนฟังเป็นใคร และหากเราไม่รู้ เราก็ไม่มีทางรู้เลยว่าเราควรจะพูดด้านไหน

ดังนั้นเมื่อมีงานที่ต้องพูดเข้ามา อย่างแรกที่ต้องทำคือ "ถามว่าคนฟังเป็นใคร" และดูธีมงานร่วมด้วย

เป็นกลุ่ม Developer เป็นกลุ่ม Business หรือเป็นกลุ่มผู้ใช้ และถ้ามีอยู่หลายกลุ่มคละกัน มีคนกลุ่มไหนประมาณกี่ %

เมื่อรู้แล้วว่าใครเป็นคนฟัง ก็ต้องดูต่อว่าพวกเขาคาดหวังอะไรจากงานนี้โดยดูร่วมกับธีมงาน

เพียงเท่านี้ก็เตรียม Content ที่เหมาะกับงานนั้นๆได้แล้วครับ เมื่อ Content เหมาะกับคนฟังและความคาดหวังของคนกลุ่มนั้น โอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการพูดครั้งนั้นก็ปาเข้าไปแล้ว 50% ตรงกันข้าม หาก Content ไม่เหมาะ โอกาสสำเร็จก็เหลือ 0% เลย

สำหรับเรา หากคนจัดงานตอบไม่ได้ว่าคนฟังเป็นใคร เราจะปฏิเสธงานพูดนั้นทันทีเลย เพราะความเสี่ยงสูงเกินไป

และเมื่อเรารู้แล้วว่าคนฟังเป็นใคร เราก็จะสามารถปรับภาษาที่ใช้พูดให้ตรงกับกลุ่ม Target ได้ด้วย เช่นถ้าคนฟังเป็น Developer ก็ใช้ภาษา Geek ได้เลย แต่ถ้าคนฟังเป็นผู้ใช้ทั่วไปก็ห้ามใช้ภาษา Geek แต่ต้องอธิบายด้วยภาษาที่คนทั่วไปเข้าใจแทน

เตรียมพูดในฐานะคนให้ ไม่ใช่คนรับ

สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับงานพูดใดๆคือ คนฟังได้อะไรกลับไป

หากไปพูดแล้วคนฟังไม่ได้อะไร ก็อย่าไปพูดดีกว่า เสียเวลาทั้งคนพูดและคนฟัง

และเช่นเดียวกัน หากไปพูดแล้วคนพูดเด่นดังเทพ สุดยอด เก่งจังเลย แต่คนฟังไม่ได้อะไรนอกจากนั่งปรบมือว่าคนนั้นเก่ง ... ก็อย่าไปพูดเลย เสียเวลาอีกเช่นกัน

หากต้องการนำความเก่งของตัวบุคคลมาเป็นเนื้อหาหลักของ Session นั้นๆ Content ก็ควรจะไปเชิง Inspiration ให้คนได้รับแรงบันดาลใจกลับบ้านไปครับ

เจอหลายคนเหมือนกันที่เวลาขึ้นไปพูดแล้ว Aggressive โอ้อวดมากมาย ใช้น้ำเสียงแข็งกร้าว ซึ่งเป็นอะไรที่ผิดมากครับ จริงๆคนพูดต้องขึ้นไปในฐานะ "คนให้" ไม่ใช่คนรับเน้อ

ความสำเร็จของการบรรยายวัดจากที่คนฟังได้กลับไปเยอะแค่ไหน

แล้วจะดีเอง ... นะจ๊ะ

สไลด์ไม่ได้มีไว้อ่านตาม ลิสต์แค่หัวข้อและภาพประกอบก็พอ

ความผิดพลาดครั้งใหญ่มากของคนทำสไลด์มือใหม่คือ ยัดทุกอย่างไว้ในสไลด์ ...

ความจริงแล้วสไลด์มีไว้ "ประกอบการนำเสนอ" แต่ตัวผู้นำเสนอเองต่างหากที่เป็นตัวเอกหลัก หากยัดทุกอย่างไว้ในสไลด์แล้วพูดตาม จะมีคนพูดไว้ทำไม? ส่งให้อ่านเลยมั้ย?

ดังนั้นสิ่งที่ห้ามทำเป็นอย่างแรกเลยคือ

ห้ามใส่ตัวอักษรเยอะๆลงไปในสไลด์เป็นอันขาด

(ภาพจาก YouTube)

เพราะผลที่ตามมาคือ

1) สไลด์ที่ตัวอักษรเยอะไป จะไม่ Engage User

2) User จะไม่สนใจคนฟัง เพราะนั่งอ่านข้อความในสไลด์จนไม่ได้ยินว่าคนพูดพูดอะไร

3) คนพูดเอาแต่อ่านตาม ทำให้เอาแต่มองที่สไลด์ ไม่ยอมมองที่คนฟัง ซึ่งเป็นสิ่งต้องห้าม เพราะ Engagement จะย่อยยับไปในทันที

แล้วการทำสไลด์ที่ดีต้องทำยังไง? ตามหลักแล้ว ผู้ใช้ควรจะดูสไลด์แล้วเข้าใจใน 2 วินาทีครับ

วิธีทำก็ง่ายๆ

ลิสต์แค่หัวข้อเป็น Bullet เพื่อเตือนความทรงจำของเราก็พอ แล้วก็ยัดรูปประกอบที่สื่อสารเนื้อหาที่เรากำลังพูดเข้าไป จะเป็นการ Engage ผู้ฟังได้ดีมาก

ตัวอย่างของ Presentation ที่ทำมาได้อย่างยอดเยี่ยมก็คือ ... Apple นั่นเอง

ลองคิดดู งานเปิดตัว Apple เคยมีตัวอักษรยุ่บยั่บมั้ย? ไม่เคย ทุกอย่างทำออกมา Simple และเราใช้เวลาไม่เกิน 2 วินาทีต่อสไลด์ก็เข้าใจสิ่งที่เค้าต้องการจะสื่อแล้ว

(ภาพจาก TheVerge)

อาจจะกลัวกันว่าถ้าใส่แค่นี้แล้วตอนพูดเกิดลืมขึ้นมา จะทำยังไงหละ?

จริงๆนั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นได้ครับ แต่นั่นแหละ มันเป็นความท้าทายและเป็นการบ้านที่ทุกคนต้องทำก่อนขึ้นพูด คือการ "ฝึกซ้อม" นั่นเอง

บางคนอาจจะคิดถึงวิธีลัด เอ้า งั้นเขียนสคริปต์ใส่กระดาษแล้วยืนอ่านเลยละกัน

อันนั้นก็เป็นสิ่งต้องห้ามอีกเช่นกัน ห้ามยืนอ่านสคริปต์เป็นอันขาด

เหตุผลก็เหมือนกันคือจะทำให้เราเสีย Eye Contact กับผู้ฟังและทำให้ Engagement พังทลาย

อาจจะสงสัยว่าขนาด MC ยังถือสคริปต์ได้เลย ทำไมเราจะทำไม่ได้ ... อันนั้นต้องบอกว่าจริงๆ MC จำเป็นต้องมีสคริปต์เพราะเค้าเป็นคน Conduct งาน แต่ตอนเนื้องานจริงๆแล้วเค้าไม่ได้ยืนอ่าน ก่อนที่เค้าจะขึ้นไปเป็น MC เค้าจะนั่งอ่านทุกบรรทัดก่อน 2-3 รอบพอให้จำได้ ตอนขึ้นพูดก็มองแค่แว้บเดียว จากนั้นก็เงยหน้าขึ้นมา Eye Contact กับผู้ฟังตลอดเวลา

สังเกตดูว่าคนที่ขึ้นพูดทุกชนิด คำว่า "เตรียมตัว" คือหัวใจเลย ยังไงเดี๋ยวไว้พูดต่อในหัวข้อหลังๆครับ =)

ใส่ตัวเลขในสไลด์

เนื้อหาการบรรยายที่เข้าถึงคนง่ายๆคือตัวเลขและกราฟต่างๆ หากใส่แทรกเข้าไประหว่างเนื้อหาเรื่อยๆ จะทำให้คนสนใจและจดจำได้ดีขึ้นมากครับ

Context over Content

คราวนี้มาพูดถึงตอนพูดกันบ้าง

ความผิดพลาดในการสื่อสารอย่างนึงที่เป็นกันบ่อย ไม่เฉพาะแต่ Public Speaking นะ หากแต่การพูดกับเพื่อนในชีวิตประจำวันก็ด้วยเช่นกันคือคนพูดมักจะพูด Content เลย แต่ดันลืมพูดถึง Context ก่อน เพราะคนพูดมักจะคิดไปเองว่าคนฟังต้องรู้ว่าเค้าพูดถึงเรื่องอะไร ทั้งๆที่มันเป็นไปไม่ได้เลยจริงๆ

Context คืออะไร? ภาษาไทยก็คือบริบทนั่นแล ประโยค(Content)เดียวกัน แต่คนละบริบท(Context) ความหมายก็ต่างกันไป

ยกตัวอย่างเช่น

ลงอินสตราแกรมยังไง?

เอ้า งง ... งง ... ใครจะไปเข้าใจฟระ? ลองเปลี่ยนเป็น

เนี่ย เพิ่งซื้อมือถือแอนดรอยด์มาใหม่ อยากลงอินสตราแกรม ต้องติดตั้งยังไงเอ่ย?

นี่แหละครับ เอา Context ขึ้นนำแล้วครอบ Content ไว้อีกที ทำให้ความหมายสมบูรณ์แบบ ผู้รับสาส์นไม่งงอะไร ทุกอย่างเป็นไปอย่างราบรื่น จำไว้ว่า

Without Context, Data is Meaningless

ดังนั้นก่อนจะพูดถึงเนื้อหาอะไร ขอให้เริ่มต้นด้วย Context ก่อนเสมอ เพื่อให้รู้ว่าเรากำลังพูดถึงอะไรครับ ห้ามคิดไปเองเป็นอันขาดว่าคนฟังสามารถมโนว่าเราพูดถึงอะไร มันเป็นไปไม่ได้

โฟกัสที่คนฟังเป็นหลัก

ระหว่างการพูดเราอาจจะคิดถึง Content มากจนลืมโฟกัสไปที่คนฟัง และนั่นคือความผิดพลาดครับ

จริงๆเราต้องโฟกัสไปที่คนฟังเป็นหลัก ต้อง Keep Eye Contact ตลอดเวลา เพราะมันเป็นส่วนสำคัญมากของการสื่อสาร

ระหว่างพูดก็ต้องดู Feedback แบบ Realtime ด้วยว่าคนฟังเป็นยังไง หน้าตาดูงงมั้ย คุยๆไปก็ถามคนฟังว่าเข้าใจมั้ย แล้วดูว่าพยักหน้าหรือยังไง หรือคนฟังหลับมั้ย

อย่าเอาแต่พูดๆๆๆๆๆแล้วจบเชียว โอกาสเฟลสูงมากครับ

หากระหว่างพูดแล้วคนฟังดูงงๆแสดงว่าเราทำอะไรผิดแล้วหละ เราก็ต้องรู้จัก Adapt ทันที แล้วทุกอย่างจะกลับมาเป็นปกติเอง

เตรียมมุขตลกไว้เยอะๆ

คนเราจะหลุดจากเนื้อหาใน 6 นาที แต่การพูดส่วนใหญ่ก็ 30-60 นาทีกันทั้งนั้น ผลคือ ... หลังจากผ่านไปไม่นาน ก็จะหลับกันหมด!

แล้วทำยังไงหละ?

เคล็ดลับง่ายๆคือ เราควรจะทำให้คนฟังรู้สึกตื่นตัวตลอดเวลา และวิธีที่ง่ายที่สุดคือ "มุขตลก" นั่นเอง

เราต้องคอยสอดแทรกมุขตลกเข้าไปตลอด จากนั้นก็ลุยเนื้อหา พอผ่านไประยะนึงคนจะเริ่มหลุด ก็ยิงมุขตลกต่ออีก คราวนี้คนก็จะกลับมาโฟกัสกับเราอีก ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆจนจบ Session ครับ

บางคนไม่ใช่คนตลก แล้วจะทำยังไง? ... อัพเกรดสกิลตลกครับ สังเกตดูนะ ทุกคนที่ทำ Public Speaking ได้ ล้วนมีมุขแทรกตลอดเวลา

ขอบอกว่ามันเป็นสิ่งจำเป็นครับ ดังนั้นฝึกไว้เยอะๆ ลองหาวิธีใส่มุขตลกในสไตล์ของตัวเองเข้าไปเสมอ แล้วก็ฝึกเยอะๆจนเคยชินกับการเล่นมุข พอชินแล้วตอนขึ้นพูดจริงจะหาจังหวะในการเล่นได้อย่างเนียนนิ้ง

คำเตือน ... มีมุขอยู่สองประเภทที่ห้ามเล่นใน Public Speaking ครับ

1) มุข 18+ - ใครชอบเล่นมุข 18+ กับเพื่อน ขอให้ลดมุขประเภทนี้ลงครับ เพราะตอนอยู่บนเวทีจะเผลอเล่นโดยไม่รู้ตัวไปได้ ซึ่งมันจะเป็นการทำลายล้างชื่อเสียงเป็นอย่างดี ขอให้ไปเล่นมุขแบบอื่นที่ไม่สร้างความกดดันต่อคนฟังจะดีกว่าครับ

2) มุขปิด - มุขที่เข้าใจกันไม่กี่คน มุขพวกนี้จะเฟลมาก หลีกเลี่ยงเลย

เอ้า ฝึก!

หาทางจัดการกับมุขที่เล่นไปแล้วคนฟังไม่ตลก

มุขบางมุขที่เตรียมไว้มันตลกมาก แต่พอเล่นจริงกลับไม่ตลก อาจจะเพราะจังหวะการปล่อยไม่ดีหรืออะไรก็ตาม

เราต้องรู้จักจัดการกับมุขที่ปล่อยไปด้วย ไม่ว่าจะเป็น

- หากคนฟังฟังไม่ออกว่ามันเป็นมุข กลืนให้มันเป็นเนื้อหาไปเลย แล้วก็ปล่อยเลยตามเลยไป

- หากคนฟังออกว่าเป็นมุข แต่ไม่ขำ (ฝืด ผิดจังหวะ หรือมุขลึกเกินไป) ให้เว้นไม่เกิน 2 วินาที ถ้าไม่มีใครขำให้เล่นมุขซ้อนไปเลยเช่น "อ้าว ไม่ขำหรอ ขอโทษๆ มุขหน้าฮากว่านี้" ก็จะทำให้พลิกวิกฤตเป็นโอกาสได้

สาเหตุที่ต้องจัดการกับมุขพวกนี้ด้วย เพราะถ้าปล่อยไปจะทำให้เกิดภาวะกดดันภายในห้อง และจะทำให้เรารู้สึกหมดความมั่นใจ ประหม่า แล้วก็พูดต่อไม่ได้นั่นเอง

ที่สำคัญนะ ให้ Keep in mind ไว้ว่า มุขที่เล่นไปแล้วไม่ตลกเกิดขึ้นได้เสมอ ห้ามรู้สึกเฟลกับมันเป็นอันขาดครับ มันเป็นแค่ Gimmick ของการบรรยาย ไม่ใช่เนื้อหาแต่อย่างใด

ห้าม Dead Air ตลอดการบรรยาย

กฏข้อนึงที่ต้องใส่ใจเป็นอย่างยิ่งคือ "ห้าม Dead Air เป็นอันขาด" ครับ

การ Dead Air แค่เพียง 10 วินาที จะทำให้คนหมดความสนใจในเนื้อหาที่เหลือได้อย่างไม่น่าเชื่อ

การบรรยายนั้น ต่อให้มีการผิดพลาดก็ต้องบรรยายต่ออย่างต่อเนื่องครับ

หากมีการเดโมโค้ดสด ก็ต้องพูดประกอบด้วยตลอด อย่าแค่ให้เค้านั่งดูแบบเงียบๆ

หากไฟดับก็ต้องพูดปากเปล่าแบบไม่มีสไลด์ต่อให้ได้ระหว่างรอไฟกลับมา

หากเดโมที่เตรียมมาอยู่ดีๆก็ใช้ไม่ได้ อย่าหงุดหงิดเพราะจะทำให้คนฟังสิ้นหวัง ใช้จังหวะนี้ยิงมุขไปเลย "อย่าไว้ใจเทคโนโลยีนะครับ"

กฏของผมคือ ห้องห้ามเงียบเกิน 2 วินาที หากครบ 2 วินาทีพูดอะไรออกมาสักอย่าง แต่ห้ามเงียบเป็นอันขาด

The show must go on

ส่วนใครอยากเป็น MC อันนี้เป็นสกิลที่ MC ต้องมีและต้องเก่งมากๆด้วย ระหว่างที่มีการเปลี่ยนช่วง ทั้งห้องจะเงียบและคนจะเริ่ม Distract ช่วงนั้น MC ต้องพูดไม่หยุดจนกระทั่งวิทยากรคนต่อไปขึ้น

ใช้ Body Language

ตอนบรรยายอย่ายืนทื่อๆเป็นอันขาด เพราะเนื้อหาที่ใช้บรรยายมักจะมีความรู้สึกประกอบอยู่ด้วย เช่นประโยคนี้ต้องการให้ฮา ประโยคนี้ต้องการให้ใส่ใจ ประโยคนี้มี Movement ของวัตถุ ซึ่งแค่คำพูดอย่างเดียวไม่สามารถสื่อถึงอารมณ์เหล่านี้ได้

Body Language (ภาษากาย) จึงจำเป็นเป็นอย่างยิ่งในการใช้ประกอบการพูด สังเกตดูว่าคนที่พูดแล้วสื่ออารมณ์ได้ดี ร่างกายเค้าจะไม่เคยอยู่เฉยๆเลย

ตามนั้นครับ

ห้ามใช้โทนเสียงแบบโมโนโทน

โทนเสียงก็เป็นอีกสิ่งที่สำคัญ เวลาพูดต้องใช้น้ำเสียงขึ้นลงตลอดเวลา คำไหนไม่เน้นก็พูดเบาๆผ่านไปไวๆได้ แต่คำไหนเน้นก็ใช้น้ำเสียงที่เข้มและดัง

น้ำเสียงแบบโมโนโทนจะทำให้คนฟังหลับได้เพราะจะเหมือนฟังพระสวด

แต่น้ำเสียงแบบขึ้นลงตามจังหวะจะทำให้คนฟังรู้สึกตื่นเต้นกับเนื้อหาที่มีขึ้นมีลงไม่นิ่งเฉย คนฟังจะไม่หลับครับ

เตรียมการบรรยายเป็น Storytelling และซ้อมเยอะๆ

คนเราเวลาขึ้นบรรยายไม่ใช่อยู่ๆก็ขึ้นไปแล้วบรรยายเลย ชีวิตจริงต้องเตรียมตัวเยอะ ทำสไลด์เองทุกหน้า โยง Storytelling แต่ละหน้าให้เชื่อมต่อกันอย่างไร้รอยต่อ

ซึ่งจากประสบการณ์แล้ว การบรรยายที่สำเร็จผลที่สุดคือการทำออกมาในรูปแบบของการเล่าเรื่อง ทุกอย่างเกี่ยวเนื่องและต่อเนื่องกัน ไม่มีการกระโดดข้ามไปมา เปรียบเทียบสิ่งที่จับต้องไม่ได้ให้จับต้องได้ ซึ่งจะทำให้ผู้ฟังเข้าใจเรื่องราวที่เราจะไปบรรยายได้ง่ายขึ้นเป็นสิบเท่า เทียบกับการบรรยายในรูปแบบอื่น

แนวทางนี้ Valid ในทุกการพูด รวมไปถึงการ Pitch งานด้วย

ยกตัวอย่างการเล่าเรื่องในส่วนของ "ระบบประหยัดแบตเตอรี่ของระบบปฏิบัติการรุ่นใหม่" หากมานั่งพูด Technical ปาวๆๆๆๆมันได้อะไร? ลองเปลี่ยนมาเป็น

"... ไหน ใครในที่นี้พกแบตสำรองบ้างครับ? ..."

(/ ผู้ฟังยกมือ )

"... เห็นมั้ยครับ นี่แหละปัญหาที่พวกเราเจอกันอยู่ แบตแม่มไม่เคยอยู่ครบวันเลย ไม่ต้องแปลกใจที่ระบบปฏิบัติการรุ่นใหม่จึงใส่ใจเรื่องนี้มาก รวมถึงแอนดรอยด์รุ่นล่าสุดก็เช่นกัน มันเลยมาพร้อมฟีเจอร์ที่ทำให้แบตพวกเราอยู่ได้มากขึ้นเท่าตัว! ..."

น่าฟังกว่ามั้ย? เข้าใจมากขึ้นมั้ย? ... ตามนั้นเลย

โดย Storytelling นี้เราแนะนำให้เริ่มต้นจากการ Ice Breaking ในช่วง 1-2 นาทีแรก เพื่อให้คนฟังรู้สึกผ่อนคลายและเป็นกันเอง เช่น ถามว่าในห้องนี้มีใครมาจากสายไหนบ้าง หรือการเล่นตลกขำๆฮาๆแซวโน่นนี่ในอีเว้นท์ที่ไปพูด แล้วคนฟังจะเปิดใจฟังส่วนที่เหลือได้มากขึ้นเยอะมากครับ

จากนั้นก็ซ้อมพูด 10-20 ครั้งเป็นอย่างน้อย ระหว่างนั้นก็จับเวลาด้วยว่าเราใช้เวลาในการบรรยายเท่าไหร่ หากใช้เวลามากเกินไปให้ตัดเนื้อหาส่วนที่ไม่จำเป็นทิ้ง แต่หากใช้เวลาน้อยไปก็ให้เพิ่มเนื้อหาขึ้น ซ้อมไปจนได้เวลาที่พอเหมาะพอสม

และจากที่เราบอกไปในหัวข้อแรกๆว่าเราจะไม่ใส่เนื้อหาลงไปในสไลด์ แต่จะใส่แค่หัวข้อและรูปภาพ ดังนั้นเราต้องซ้อมต่อไปเรื่อยๆจนจำเนื้อหาได้ชนิดที่เห็นสไลด์ปุ๊บพูดรัวๆได้ทันที

อาจจะฟังดูยาก แต่ไม่ได้ยากครับบอกเลย ทบทวนสัก 20 รอบก็ทำได้แล้ว เพราะสไลด์เหล่านั้นเราเป็นคนทำเอง ตอนขึ้นพูดก็ไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไปแล้ว แต่หากยังไม่เชี่ยว ให้เขียนสคริปต์ไว้ร่วมซ้อมด้วย ก็จะช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้นได้ รอบแรกๆก็อาจจะถือไว้ในมือ พอผ่านไปสัก 5 รอบก็เริ่มวางสคริปต์ได้

สำหรับการซ้อมแต่ละรอบ ขอให้ซ้อมจนจบรอบแล้วค่อยมาเก็บว่าลืมอะไร แล้วเริ่มใหม่แต่ต้นจนจบนะครับ อย่าซ้อมไปสองหน้าแล้วหยุด เพราะเวลาพูดจริงจะตะกุกตะกักได้

ดังนั้นที่เห็นว่าพูดชั่วโมงเดียว จริงๆต้องเตรียมอย่างน้อย 2-3 วันเพื่อขึ้นไปพูดชั่วโมงเดียวนะครับ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ต้องอาศัยวินัยและความใส่ใจสูงมาก ทำให้ได้ครับ

เตรียมคำถามและคำตอบ

ตอนจบ Session มักจะมีส่วนของ Q&A บ่อยๆ และการเตรียมคำถามคำตอบโดยคาดเดาจากกลุ่ม Target จะทำให้ช่วง Q&A ผ่านไปได้อย่างราบรื่นครับ

ฝึกฝนฝึกฝนฝึกฝน

การพูดต้องอาศัยสไตล์เฉพาะตัวในการพูดและจังหวะเฉพาะตัวในการยิงมุข รวมถึงความมั่นใจในตัวเองที่ทำให้ไม่รู้สึกประหม่าและสั่นหงิกๆๆๆบนเวที ซึ่งตรงนี้อาศัยชั่วโมงบินพอสมควรกว่าจะทำทุกอย่างได้อย่างราบรื่นชนิดที่จะไปงานไหนก็ไม่หวั่น

ดังนั้นแน่นอนว่าการ "ฝึกฝน" จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก ให้ฝึกฝนมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ครับ หากมีงานไหนที่ได้รับโอกาสไปพูดก็ให้ขึ้นพูดแล้วเก็บประสบการณ์มา โดยแนะนำให้เริ่มจากงานเล็กๆก่อนจะได้ไม่ประหม่า รวมถึงถ้ายังไม่มีงานให้ไปพูด ก็ให้อัดคลิปอัพขึ้น YouTube ก็จะช่วยพัฒนาศักยภาพการพูดได้ดีขึ้นเรื่อยๆเช่นกัน (เนยก็เริ่มจากพวก YouTube นี่แหละ)

สำหรับงานพูดสดขอให้ทำให้เต็มที่ที่สุด ถึงจบงานจะโดน Negative Feedback บ้าง ก็ให้เอาประเด็นเหล่านั้นมาปรับปรุงแล้วงานต่อไปต้องทำให้ดีขึ้นครับ จากนั้นมันก็จะดีขึ้นเรื่อยๆเรื่อยๆและเรื่อยๆเอง

ที่สำคัญคือ

อย่ายอมแพ้และอย่าท้อแท้ไปเสียก่อน

เป็น Soft Skill อีกด้านที่สำคัญ สู้ๆครับ =)

บทความที่เกี่ยวข้อง

Feb 15, 2015, 14:53
7679 views
Just F*cking Do It (#ก็แค่เริ่มทำแม่ม) ภาค The Cheese Factory และ Mobile Dev Talk
Aug 2, 2015, 01:36
155663 views
แนะนำ Collaboration Tools ทั้งหลายจากงานสัมมนาสมาคม Startup Thailand
0 Comment(s)
Loading