"ทุ่มเทอย่างสุดกำลัง เพื่อความฝันและวันข้างหน้า วันนี้เหนื่อยไม่ว่าถ้าหากมันทำให้มีวันหน้าที่สวยงามได้"
มาดูภาพรวมของตลาด Smartphone ในปี 2014 กัน
4 Mar 2015 20:50   [14724 views]

ปาเข้าไปเดือนที่สามของปีแล้ว เป็นช่วงเวลาที่เริ่มมีข้อมูลสถิติของตลาดมือถือปีก่อนหน้าออกมาให้อ่านกันเรื่อยๆ รวมถึงอีกหลายๆเรื่องที่ไม่มีให้อ่าน เราเขียนไว้เป็น Original Content วันนี้ขอรวบรวมเอามาอธิบาย+วิเคราะห์ให้ฟังกันครับว่าภาพรวมเป็นยังไงกันบ้าง

ปีแรกที่ยอด Shipment แอนดรอยด์ทะลุ 1 พันล้านเครื่อง

ยังคงเป็นอีกปีที่แอนดรอยด์ขยายตลาดไปได้กว้างขึ้นอีก เติบโตในทุกส่วนของโลก ทำให้ยอด Shipment รวมทั้งปี 2014 พุ่งทะลุ 1 พันล้านเครื่องเป็นครั้งแรก นับเป็นประวัติศาสตร์โทรศัพท์มือถือเลยก็ว่าได้ที่สามารถขายได้ถึงขนาดนี้


Top Four Smartphone Operating Systems, Unit Shipments,
Market Share, and Year-Over-Year Growth, Calendar Year 2014 Data (Units in Millions)
IDC

ทาง iOS ก็ไม่น้อยหน้า Ship ไปได้ถึง 192.7 ล้านเครื่อง และภาพด้านบน ส่งผลให้ iOS และ Android กินตลาด Smartphone รวมกันไปถึง 96.3% ด้วยกัน ที่เคยบอกว่าไม่มีพื้นที่เหลือให้ Smartphone Platform ที่ 3 ก็เป็นไปตามนั้นครับ ภาพนี้จะให้เห็นอีกอย่างต่ำก็ 3-5 ปี หรือดีไม่ดีคือตลอดชีวิตเลย iOS และ Android จะครองตลาดต่อไปเรื่อยๆด้วย Market Share ที่คงตัวอย่างตอนนี้ 8x:1x

คราวนี้มาดูภาพของ Q4 กันบ้าง


Top Four Smartphone Operating Systems, Unit Shipments,
Market Share and Year-Over-Year Growth, Q4 2014 (Units in Millions)
IDC

ทานด้าน Android ขายได้ค่อนข้างเฉลี่ยๆกันไปในแต่ละ Quarter แต่สำหรับ iOS แล้ว Q4 เป็น Quarter ที่รุ่งเรืองมากที่สุด ขายไปได้ถึง 74.5 ล้านเครื่อง หรือคิดเป็น 38.7% ของยอดขายทั้งปีเลย เพราะอะไรหนะหรือ .... iPhone 6 และ iPhone 6 Plus นั่นเองครับ

ถึง Android จะมี Market Share พุ่งไปถึง 7 เท่าของ iOS แต่อย่างไรก็ตาม อย่าดูแค่ Market Share ให้ดูที่ Potential ของ Segment ต่างๆด้วย สำหรับ Q2 2014 สรุปออกมาได้เป็นดังนี้

และ Potential ของมือถือมักจะอยู่ที่มือถือราคา $200 เป็นต้นไป (คือคนที่มีกำลังซื้อ สร้าง Revenue ให้ Developer) จะพบว่า Android มีมือถือที่เป็น Potential แค่ 40% แต่สำหรับ iOS มีถึง 100%

เลขการเติบโต QoQ ของแอนดรอยด์ติดลบเป็นครั้งแรก

ตลอดหลายปีที่ผ่านมาแอนดรอยด์มียอดการเติบโตต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง มีแต่โตกับโต แต่ล่าสุดใน Q4 ที่ผ่านมา ยอดการเติบโตกลับติดลบเป็นครั้งแรก โดยร่วงลงทั้ง Android และ AOSP (หรือเรียกง่ายๆว่า Android Fork หรือง่ายกว่านั้นคือ Android จีน ...)

ส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปรากฎการณ์นี้ก็คงเป็นเพราะ iPhone 6 ด้วยส่วนหนึ่งเพราะไปตีตลาด Android Segment บนไปได้เยอะมากเลยหละทั้งในตลาดโลกและตลาดจีน โดยค่อนข้างตรงกับผลวิเคราะห์ที่หลายๆหน่วยงานทั่วโลกคาดการณ์ไว้(รวมถึงเราด้วย)ว่านับตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นไป เราจะเริ่มได้เห็นการเติบโตที่ลดลงของแอนดรอยด์กันแล้ว

ตัวเลขที่น่าสนใจมากของ ABI Research ด้านบนนี้คือ

AOSP มี Market Share ถึง 41% ของตลาดแอนดรอยด์รวม

กลับกลายเป็นว่า Android ถูกตีตลาดบนด้วย iOS และถูกตีตลาดล่างด้วย AOSP ด้วยเหตุนี้กูเกิ้ลจึงผุด Android One ขึ้นมาเพื่อแก้วิกฤติตรงนี้ (ใครคิดว่ากูเกิ้ลตั้งใจทำมาเปลี่ยนโลก มันไม่ใช่ จริงๆทำมาเพื่อแก้ปัญหาที่เจออยู่) แต่แล้ว Android One ก็ไปไม่ค่อยรอดด้วยเหตุผลทางการดำเนินการที่ผิดพลาดของกูเกิ้ลเอง

Android One ไม่โตอย่างที่หวังเพราะการดำเนินการที่ผิดพลาดของกูเกิ้ล

สิ่งหนึ่งที่คนทั่วโลกจับตาคือ Android One มือถือแอนดรอยด์แบบ Nexus ในราคาที่ถูกแสนถูก สร้างมาเพื่อเจาะตลาด Emerging Market อย่างอินเดียโดยเฉพาะ โดยโฟกัสไปที่คนที่ยังไม่ใช่ Smartphone User ด้วยการขายมือถือ Smartphone ราคาถูกให้กับคนเหล่านั้น สุดท้ายก็จะได้เป็น Smartphone User เพิ่มขึ้นมาตามแผนที่กูเกิ้ลวางไว้

แต่ความผิดพลาดครั้งใหญ่หลวงในการดำเนินการคือดันขายออนไลน์ ... คิดดูสิ ขายออนไลน์ให้กับคนที่ยังเล่นเนตไม่เป็น ... ยอดขายจึงแย่มากตามรายงาน ไม่เกิดตามที่คิดไว้ สุดท้ายแอนดรอยด์ตัวอื่นที่ขายแบบ Offline ก็ขายดีกว่า

อีกสาเหตุนึงที่ทำให้ Android One ไม่โตอย่างที่คิดในแง่ของตลาดโลกคือการที่ตอนนี้มีมือถือราคาถูกวางขายอยู่เป็นจำนวนมากอยู่แล้ว รวมถึงในอินเดียก็สามารถหาซื้อมือถือราคาเท่า Android One ได้ทั่วไปอยู่แล้ว

เทคโนโลยีมือถือถึงทางตัน ถึงเวลาฆ่าฟันกันด้วยราคา

สินค้าเทคโนโลยีต้องมีพัฒนาการไปเรื่อยๆเพื่อให้สามารถขายได้ แต่สำหรับเทคโนโลยีมือถือมันถึงทางตันมาตั้งแต่ปี 2013 ในปี 2014 การอัดสเปคหรืออัดแรมจึงไม่มีผลต่อยอดขายเหมือนปีก่อนๆแล้ว จอยัดมา 2K นี่คือ Maximum แล้ว แรมก็ไม่รู้จะใส่เพิ่มมาอีกทำไม ที่เห็นเริ่มอัดมากขึ้นในช่วงหลังคงเป็นกล้องเพราะเหมือนเป็นปัจจัยสุดท้ายแล้ว การแข่งขันก็เลยเปลี่ยนไปจากสเปคกลายเป็นเรื่องของ "ดีไซน์" และ "ราคา" แทน

ส่งผลให้ราคามือถือในปี 2014 ตกลงฮวบๆๆๆๆๆ ตั้งแต่ต้นปีตลาดก็เจอตบหน้าครั้งใหญ่ด้วย Zenfone ที่ราคาถูกมากและได้สินค้าที่มี Quality ดีเสียด้วย สิ้นปีที่ผ่านมาสามารถหาซื้อมือถือ Mid End สเปคโอเคกับการใช้งานจริงในราคาเพียง 2000-3000 บาทเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่ใครที่ไหน ... มือถือจีนนั่นเอง

รวมถึงมือถือ High End ก็สามารถซื้อได้ในราคา 9000 บาท ได้สเปคเท่ากับมือถือแบรนด์ราคา 20,000 บาทแถมสวยกว่าด้วย (ลองใช้ Xiaomi Mi3 ดูแล้วจิเข้าใจ)

และนั่นเป็นสาเหตุให้มือถือจีนจึงเติบโตอย่างรวดเร็วในปีที่ผ่านมา เพราะถ้าพูดถึงเรื่องการแข่งขันเรื่องราคาแล้ว คงไม่มีใครขายถูกได้กว่าประเทศที่ค่าแรงต่ำและเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ให้กับสินค้าทั่วโลกอย่างจีนอีกแล้ว

มือถือจีนออกผงาด โตทั้งมือถือและ OS

หลังจากที่ตลาดปรับตัวเข้าสู่โหมดฆ่าฟันกันด้วยราคา ก็เลยถึงทีของมือถือจีนที่จะผงาดแล้ว ด้วยการเปลี่ยน Strategy ให้กลายเป็นมือถือ High End จริงๆของทาง Huawei และ Xiaomi ทำให้เราได้เห็นมือถือแบรนด์จีนที่สวยกว่ามือถือแบรนด์เกาหลีหรือประเทศอื่นๆ แต่ราคาถูกมากกกก

แค่ในตลาดจีนก็ขายมือถือพวกนี้ได้อย่างกระหน่ำซัมเมอร์เซลล์แทบไม่พอจะขายประเทศอื่นแล้ว แต่ทั้ง Huawei และ Xiaomi ก็เพิ่มกำลังผลิตและสเกลออกทั่วโลกอย่างทั่วถึง ส่งผลให้ทั้งสองแบรนด์นี้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Xiaomi ที่พุ่งแรงเอามากๆและน่าจะแรงขึ้นไปอีกในปีนี้

แน่นอนว่ามือถือแอนดรอยด์ที่ขายในจีนจะไม่สามารถเข้าถึง Google Mobile Services ได้อยู่แล้ว Android ที่ขายในตลาดจีนจึงเป็น AOSP (Android Fork) และนี่คือเหตุผลว่าทำไม Android จีนถึงเติบโตขนาดนั้น หลักๆก็มาจากยอดขายในประเทศเองนั่นแล

Samsung ขาลง เปลี่ยนแนวทางของ Product ใหม่

ด้วยกลไกตลาดที่เปลี่ยนไป ตอนนี้ศัตรูหลักของ Samsung จึงไม่ใช่ Apple อีกต่อไปแล้ว แต่เป็นมือถือจีนที่ทำคุณภาพออกมาได้ดีกว่าแต่ถูกกว่ามาก ทั้งนี้เพราะ Samsung ไม่สามารถสร้าง Brand Value ได้ ยังเกิดภาพลบของแบรนด์อยู่ถึงแม้จะขายดีมากมาหลายปี

สิ่งที่เกิดขึ้นกับแอปเปิ้ลคือถ้ามีมือถือใหม่ออกมา ลูกค้าก็พร้อมจะซื้อ iPhone ตัวใหม่ แต่สำหรับลูกค้า Samsung เมื่อจะเปลี่ยนมือถือ ก็จะมองหามือถือแอนดรอยด์สักรุ่น ไม่จำเป็นต้องเป็น Samsung และนั่นเป็นจุดอ่อนของผู้ผลิตมือถือแอนดรอยด์เพราะไม่สามารถดึงลูกค้าไว้ได้นั่นเอง

ปีที่ผ่านมาจึงเกิดตัวเลขอันน่ากลัวขึ้นของทางฟากซัมซุงด้วย กำไร YoY ที่ลดลงถึง 74% เป็นการร่วงที่น่ากลัวมากจริงๆ ร่วงทีไม่ใช่น้อยๆเลย

สาเหตุเพราะมือถือที่ออกมาใหม่ไม่ได้แตกต่างจากตัวเก่าเท่าไหร่นัก คนเลยไม่มีความรู้สึกว่าอยากเปลี่ยน หรือถ้าจะเปลี่ยนมือถือก็ไปแบรนด์อื่น

ก็ยังดีที่ Samsung ออกมายอมรับว่ามือถือของตนมีปัญหา ถึงจะช้าไปหน่อยก็แต่ดีกว่าไม่ทำเลย ปลายปีที่แล้ว Samsung จึงออกมือถือ Galaxy Alpha มาลองตลาดด้วยการลอกดีไซน์ของ iPhone มาเป๊ะๆ ปรากฎว่าได้รับผลตอบรับที่ดี ก็เลยออกมาเป็น A Series ชูดีไซน์ใหม่หมด ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ส่วน Note 4 ถึงจะยังไม่มีตัวเลขแต่ก็มั่นใจว่าทำยอดขายได้ดีมาก น่าจะเป็นฮีโร่ของ Samsung ในปี 2014 เลยแหละ แต่ Note Edge ถึงจะสร้างเสียงฮือฮาได้แต่ก็เหมือนการลองตลาดซะมากกว่า

ล่าสุดเมื่อไม่กี่วันก่อน Samsung ก็เปิดตัว S6 และ S6 Edge ลอกดีไซน์ตาม iPhone 6 มาพอสมควรเหมือนกัน คงต้องดูกันอีกยาวๆว่า S6 กับ S6 Edge จะสร้างยอดขายได้หรือไม่

ส่วนตัวคิดว่าปี 2015 น่าจะเป็นอีกปีที่ Samsung ยังคงร่วงลงอีกอย่างต่อเนื่อง เพราะเหตุผลเรื่องราคาและ Value ตามที่กล่าวมาแล้วนั่นเอง คนมีเหตุผลในการซื้อมือถือราคาแพงน้อยลงเรื่อยๆ ถ้าจะยอมซื้อมือถือราคาแพงก็จะสนใจเรื่อง Value ของแบรนด์เป็นส่วนสำคัญแล้ว

Tizen Phone เกิดมา ... แล้วตายเลย

ปีที่ผ่านมาเราจะได้เห็นความพยายามของซัมซุงในการดีดตัวเองออกจากปัญหาที่เจออยู่ ไม่ว่าจะเป็นการทำ A Series ขึ้นมาจนไปถึงการเปลี่ยนดีไซน์ของ S6 อีกหนึ่งความพยายามของ Samsung ที่ทำแบบแบ่งรับแบ่งสู้คือการเขยิบตัวออกจาก Android ด้วยการปล่อยมือถือ Tizen อย่าง Samsung Z1 ลุยตลาดอินเดีย

Feedback ที่ได้กลับมาถือว่าเลวร้ายมาก ยอดขายไม่กระดิกและ Reviewer บอกเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นมือถือที่ไม่ดี ยกตัวอย่างเช่นใน Arstechnica ถึงกับบอกว่า The first Tizen smartphone isn’t an “Android killer”—it’s a bad Android clone เรียกได้ว่า Tizen คงจะจบหน้าที่ในฐานะ OS มือถือแล้ว ที่เหลือคงจะทำได้แค่ไปอยู่ใน Wearable และ TV ซึ่งการแข่งขันยังไม่จบนั่นเอง

Xiaomi ขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งตลาดจีนตามด้วย Apple

Samsung โลดแล่นในตลาดจีนมาได้สักพักนึง แต่ในครึ่งปีที่ผ่านมาสองแบรนด์ที่สามารถตีตลาดจีนได้อย่างกระจุยกระจายคือ Xiaomi และ Apple ที่ดีดตัวเองขึ้นไปสู่ 2 อันดับบนได้ใน Q4 2014 ที่ผ่านมา ด้วย Market Share ถึง 13.7% และ 12.3% ตามลำดับ ตามมาด้วย Huawei, Lenovo และ Samsung ที่กิน Market Share 11.0%, 9.5% และ 7.9% ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมตลอดปีของ 2014 ซัมซุงก็ยังอยู่อันดับสองอยู่ ส่วน Apple ไม่ติดโผเลย เป็นที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่า Apple สามารถตีตลาดจีนจากไม่ติดโผสู่อันดับสองได้ในแค่ 1 Quarter เท่านั้นเอง โดยใน Q3 ยังกินแค่ 5.0% แต่ใน Q4 พุ่งไป 12.3% ทันที (อิทธิฤทธิ์ iPhone 6 อีกแล้ว) ทางด้าน Xiaomi ก็ไม่น้อยหน้า ปี 2013 ยังมี Market Share อยู่แค่ 5.3% ไม่ติดโผ 1 ใน 5 แต่ปีนี้กลับพุ่งมาเป็นอันดับหนึ่งที่ 12.5% ได้ใสๆ

ตลาดจีนถือเป็นตลาดใหญ่ที่ทำให้ภาพรวมของตลาด Smartphone เปลี่ยนไปในปี 2014 ซึ่งทำให้ Xiaomi และ Apple พุ่งขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน Samsung ร่วงลงไป

Apple กลับเป็นเบอร์หนึ่งเรื่องยอดขาย Smartphone ใน Q4 2014

ถึงตอนเปิดตัวจะมีเสียงบ่นอุบถึงเรื่อง iPhone 6 ว่าจะสร้างยอดขายได้จริงเร้อ ไม่เห็นมีอะไรใหม่ แค่จอใหญ่ขึ้น แต่ตอนนี้คงต้องยอมรับกันได้แล้วว่า

iPhone 6 และ iPhone 6 Plus คือฮีโร่ของแอปเปิ้ล

เพราะทั้งสองรุ่นนี้ได้สร้างปรากฎการณ์ใหม่ๆให้แอปเปิ้ลแบบไม่เคยมีมาก่อนด้วยยอดขายและยอดจองที่สูงสุดในประวัติศาสตร์ตั้งแต่เคยขายไอโฟนทุกรุ่นมา ทำให้หุ้นของแอปเปิ้ลขึ้นไปแตะ New High ได้ในที่สุด และด้วยเจ้าสองรุ่นนี้เอง ก็ส่งผลให้ใน Q4 2014 ที่ผ่านมา Apple กลับขึ้นมาเป็น Smartphone Seller เบอร์หนึ่งแซง Samsung ที่ครองตลาดมานานได้เป็นที่เรียบร้อยด้วยยอดขายเฉียดๆกันไปที่ 74.8 ล้านเครื่องกับ 73 ล้านเครื่องตามลำดับ

เป็นสิ่งที่น่าสนใจและน่าศึกษาเอาไว้สำหรับคนที่อยากจะทำงานเกี่ยวกับมือถือ เพราะแอปเปิ้ลเล่นแค่ High-End Segment อย่างเดียวมาโดยตลอด ขายมือถือที่ Margin สูงมากมาตลอด ในขณะที่ Android โตด้วยมือถือราคาถูกที่ Margin ต่ำเป็นหลัก แต่สุดท้าย Apple ที่เป็นเพียงแบรนด์เดียวที่ผลิต iOS ออกมือถือปีละ 2 รุ่น iPad อีก 2-3 รุ่น กลับกลายเป็น Smartphone Seller เบอร์หนึ่งแซง Samsung ที่ออกหลายสิบรุ่นต่อปีได้

ความเก่งของ Apple คือไม่ได้ขายแค่มือถือ แต่ขาย "Value" พ่วงไปด้วย เหมือนซื้อกระเป๋าข้างทางกับกระเป๋า Prada มันก็ใส่ของได้เหมือนกัน แต่สิ่งที่ต่างกันคือสายตาที่คนรอบข้างมอง

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่อยากให้ทุกคนศึกษาไว้ หากตอบได้ว่า "ทำไม" คุณจะเก่งเรื่องธุรกิจขึ้นอีกหลายเท่าครับ

Android Lollipop เสถียรกว่า iOS 8 แล้ว

iOS เป็นระบบปฏิบัติการที่มีความเสถียรสูงมาโดยตลอด ... จนกระทั่ง iOS 7 ที่ค่อยๆแย่ลง และมาอยู่ในระดับเลวร้ายใน iOS 8 เนื่องจาก iOS กำลังก้าวสู่จุดเปลี่ยนสำคัญของระบบปฏิบัติการจาก Single Tasking สู่ Multitasking เพื่อแข่งกับ Android

ในขณะที่ Android ถูกพัฒนามาตามแพลน จากตอนแรกระบบปฏิบัติการยังไม่ค่อยเสถียร แต่ไม่มีการเปลี่ยนแผนเท่าไหร่นัก ทำ Multitasking ได้แต่ไหนแต่ไรแล้วค่อยๆสมบูรณ์ขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดใน Lollipop ก็มีรายงานออกมาว่า Lollipop เสถียรกว่า iOS 8 แล้ว โดยแอพฯจะมีปัญหาบน Lollipop น้อยกว่าบน iOS 8 ด้วย Crash Rate ที่ 2.0% ต่อ 2.2% ตามลำดับ ซึ่ง ... จากประสบการณ์การใช้งานที่เจอด้วยตัวเองก็คงต้องบอกว่าจริงตามนั้นครับ

อย่างไรก็ตาม มันเร็วเกินไปที่จะบอกว่าภาพรวมจริงๆแล้วเป็นยังไงเพราะข้อมูลนี้ได้มาจาก Crittercism ซึ่งเป็นบริการ Crash Tracking แต่ด้วย Sample ที่มีขณะนี้ ทาง Lollipop ยังมีไม่เยอะนัก แต่ทาง iOS 8 มีค่อนข้างเยอะแล้ว คงต้องรอดูกันอีกสักระยะครับ

ส่วนตัวรอดู iOS 9 ละครับ เพราะเชื่อว่า iOS 8 เป็นเหมือนจุดเปลี่ยนสู่โลกใหม่ของ iOS น่าจะต้องรื้ออะไรใหม่อีกเยอะเหมือนกัน มาถึงตอนนั้นน่าจะฟัดกับแอนดรอยด์ได้สนุกอีกรอบนึง

การก้าวสู่ non-Mobile Device ของ Android และ iOS

Android ประกาศไปเล่นตลาด Wearable, TV และรถยนต์อย่างเป็นทางการในปีที่ผ่านมา ทั้งนี้นี่เป็นแค่ส่วนหนึ่งเพราะภาพใหญ่ที่แท้จริงที่ Android คาดหวังไว้คือจะได้เป็น OS สำหรับ Every Electronics Devices และนี่เป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น จากนี้คงจะได้เห็น Android ไปฝังไว้ตามสิ่งต่างๆอีกมากมาย

ส่วน iOS ก็เช่นกัน ไปจับตลาด Wearable อย่างเป็นทางการด้วย Apple Watch ซึ่งต้องบอกว่าทำตามตลาดโลกที่กำลังเห่อ Wearable

จากนี้หากเป็น Mobile Developer จะเน้นเรื่องมือถืออย่างเดียวไม่ได้แล้ว ต้องมองให้ไกลกว่านั้นครับ

Android Wear น่าจะไปไม่รอดส่วน Apple Watch น่าจะรุ่ง

ถึงโลกจะเห่อ Wearable แต่เอาจริงๆ Wearable ยังไม่ใช่คำตอบครับ แต่ที่รุ่งสุดๆคงเป็น Activity Tracker จะเห็นได้จากงาน MWC ที่ผ่านมา มีไม่กี่แบรนด์เท่านั้นที่ทำ Android Wear ออกมา แต่มีเยอะมากที่ทำ Activity Tracker เพราะสุดท้ายคนไม่ได้ต้องการนาฬิกาฉลาดๆแต่ต้องการอะไรที่ใช้งานได้จริงๆอย่างเช่นตัววัดอัตราการเต้นของหัวใจหรือตัววัดก้าวเดินเป็นต้น

ในปีที่ผ่านมา Android Wear ขายไปได้เพียง 750,000 Units เท่านั้นซึ่งถือว่าน้อยมาก

ในขณะเดียวกัน Apple Watch ที่แพงทีเดียวดูแล้วน่าจะได้รับการตอบรับที่ดีกว่า คาดว่าจะขายดีถล่มทลาย ทั้งนี้เพราะคำเดียวกับที่พูดมาก่อนหน้านี้ "Value" นั่นเอง

Windows Phone แน่นิ่ง

จากภาพของ IDC ด้านบนสุด ถึง Windows Phone จะมี Growth ในแง่ของ Volume YoY 2013-2014 อยู่ที่ 4.2% แต่ถ้ามาดูเป็นจำนวนเครื่อง กลับเพิ่มขึ้นแค่เพียง 1.4 ล้านเครื่องหรือจาก 33.5 ล้านเครื่องเป็น 34.9 ล้านเครื่อง ซึ่งจะพูดว่ามันแทบจะไม่มี Growth เลยก็ว่าได้ 4.2% ของจำนวนที่น้อยมาก ถ้ามาเทียบ Market Share รวมจะเห็นภาพเพราะร่วงลงจาก 3.3% เหลือเพียง 2.7% เท่านั้น (ก็คือโตไม่ทันชาวบ้าน) และคิดว่า Windows Phone คงไม่สามารถตีตลาดได้อีกแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ Shift Segment ไปยังตลาดล่างมากขึ้น Potential ของ Platform นี้ก็แทบจะไม่เหลืออีกแล้ว

หากเจาะๆไปเป็นทีละโซนของโลก ก็จะพบว่าบางโซน Market Share ร่วง บางโซน Market Share ขึ้น ลองจิ้มดูด้านล่างนี้ได้ครับ

หากให้สรุปมาเป็นข้อความก็เป็นประมาณนี้ (Jan 2013 - Jan 2014)

  • USA ลดจาก 5.0% เหลือ 4.3%
  • Mexico ลดจาก 6.3% เหลือ 4.9%
  • Argentina ลดจาก 9.4% เหลือ 9.1%
  • Brazil ลดจาก 5% เหลือ 3.8%
  • Australia เพิ่มจาก 5.1% เป็น 8.7%
  • China เพิ่มจาก 0.7% เป็น 0.8%
  • France เพิ่มจาก 9.6% เป็น 13%
  • Germany เพิ่มจาก 6.8% เป็น 8.9%
  • Great Britain ลดจาก 11.3% เหลือ 7.4%
  • Spain ลดจาก 5.3% เหลือ 2.5%
  • Italy ลดจาก 17% เหลือ 13.2%
  • Japan เพิ่มจาก 0% เป็น 0.2%

สรุปภาพรวมแล้ว ตลาดโลกลดลงเกือบทุกพื้นที่ จะมีที่เพิ่มขึ้นก็โซนยุโรปซึ่งเป็นลูกค้าผู้มีความเหนียวแน่นกับโนเกียเป็นพิเศษ แต่ในยุโรปบางประเทศก็ลดฮวบเช่นกันเช่น Spain และ Italy ซึ่งเป็นภาพที่น่าตกใจอยู่เพราะการที่ประเทศเหล่านี้ค่อยๆปลีกตัวออกจากโนเกียไปเรื่อยๆ

ถามว่ารุ่นไหนขายดีที่สุด ภาพรวมแบบ Worldwide เป็นแบบนี้ครับ

ก็จะเห็นว่าเกิน 60% เป็นของตลาดล่าง (Lumia 5xx, 6xx) ซึ่งเป็นตลาดที่ไม่มี Potential มากนักในแง่ของการเป็น Smartphone แต่ถ้าดูรายได้ของ Microsoft ก็ถือว่ายังไปได้อยู่

และปีนี้มีรายงานมาแล้วว่าเราจะไม่ได้เห็น Flagship อีกจนกระทั่ง Windows 10 ออก ... งืมๆๆๆ

ผู้ใช้ใน Developed Country Market เริ่มไม่โหลดแอพฯเพิ่มแล้ว

จากรายงานเมื่อช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาที่เราเขียนไว้ใน Blog ถึงยุค App Bubble อย่างเป็นทางการ? ผู้ใช้ US 2 ใน 3 ไม่โหลดแอพฯเพิ่มแล้ว (แต่การใช้งานกลับเพิ่มขึ้น) ก็ทำให้พบว่าคนเมกาเริ่มไม่โหลดแอพฯเพิ่มกันแล้วถึง 2 ใน 3 แต่ใช้แอพฯที่โหลดมาแล้วเท่านั้นด้วยอัตราที่เพิ่มขึ้น

เป็นแนวโน้มที่ทำให้การทำ Marketing สำหรับ Mobile App ลำบากขึ้น และแอพฯที่จะสำเร็จตัวต่อๆไปจะต้องเด็ดจริงๆถึงจะดึงให้คนโหลดอย่างมหาศาลได้ อย่างไรก็ตาม แอพฯที่สามารถดึงคนมาใช้ได้ ก็จะประสบความสำเร็จแบบโดดเด่นไปเลยเพราะแนวโน้มการใช้งาน Digital Content ก็ยังคงสูงขึ้นเรื่อยๆอยู่

งานนี้ Mobile App ชนะเลิศครับ Mobile Web น้อยกว่ามาก (เว็บก็สำคัญแต่แอพฯสำคัญกว่า)

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทางด้าน Development Tools ของ iOS และ Android

ปี 2015 เป็นปีที่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในแง่ของ Mobile Developer ของทั้งสอง OS เลย โดย iOS ตอนนี้ทุกคนเริ่มย้ายมา Swift กันแล้ว ส่วนฟาก Android ก็ยกเลิกการอัพเดต ADT และ Encourage ให้คนมาใช้ Android Studio อย่างเต็มตัว

โลกก้าวจากยุคของ Mobile App สู่ยุคของ Maker

Mobile App จากนี้จะยังคงสำคัญอยู่ แต่จะไม่สามารถจบแค่ Mobile App ได้อีกต่อไปแล้ว (เพราะคนไม่โหลดถ้าไม่เด็ดจริงๆ ซึ่งโอกาสมีน้อยมาก) ตอนนี้โลกจึง Shift ไปอีกยุคแล้วสู่โลกของ Maker ที่ผลิต Hardware แต่ถามว่า Mobile App ยังสำคัญอยู่มั้ย? ตอบได้เลยว่าสำคัญอยู่ครับ แต่ต้องทำงานร่วมกับ Hardware ให้ได้

ใน Kickstarter มีให้เห็นหลายตัว ลองไปจิ้มเล่นกันได้ครับ

ดังนั้นสำหรับคนที่เป็น Mobile App Developer อย่าลืมพัฒนาสกิลเรื่อง Hardware เพิ่มขึ้นมาด้วย บอกไว้เลยว่ากำลังจะสำคัญมากๆครับ

Ecommerce Conversion Rate ของ Mobile ยังต่ำอยู่ แต่ Tablet สูงมาก

มาถึงข้อมูลทางการตลาดกันบ้าง ปี 2014 ที่ผ่านมามี Marketing Budget Spend ไปกับ Mobile Marketing เยอะเหมือนกัน แต่ถ้ามาดู Conversion Rate กลับพบว่ายังต่ำกว่า Desktop มากนัก แต่ที่น่าสนใจคือ Tablet กลับสร้าง Conversion Rate ที่สูงมากโดยเฉพาะ iPad ซึ่งทิ้งห่าง Android Tablet ไปเกือบเท่าตัว แต่ที่น่าทึ่งที่สุดคงเป็น Kindle Fire ที่ Converion Rate แซง Desktop ไปซะอีกเพราะมันเกิดมาเพื่อขายของนั่นเอง

ต้องยอมรับว่า Mcommerce บนมือถือคงยังลำบากอยู่ แต่บน Tablet (โดยเฉพาะ iPad) เป็น Platform ที่น่าสนใจเลยทีเดียว คงต้องรอดูอนาคตกันต่อไปครับ

Material Design จุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของโลกดีไซน์

ปีที่แล้วกูเกิ้ลปล่อยไม้เด็ดออกมาในงาน Google I/O ไม่ใช่ Lollipop แต่เป็น Design Language ตัวใหม่ที่มาพร้อมปรัชญาการ Design ครบครัน เปลี่ยนโลกของการ Design จาก Flat สู่ Flat ที่จับต้องได้มากขึ้นในนามว่า Material Design

เคยเขียนไว้แล้วใน Blog ก่อนหน้านี้ Material Design ภาษาดีไซน์ใหม่จาก Google ทฤษฎีสู่ปฏิบัติ ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญเพราะมันมาพร้อมปรัชญาที่จับต้องได้และใช้งานได้จริง ผลคือตอนนี้แอพฯหลายตัวออกแบบมาในรูปแบบของ Material Design เป็นที่เรียบร้อยและไม่ได้จำกัดแค่ Android แม้แต่ iOS Designer ก็ยังเปิด Guideline ของ Material Design แล้วทำตามอีกด้วย

จากนี้จะได้เห็น Material Design ไปอยู่ตามจุดต่างๆอีกมากมายครับ เป็นอีกเรื่องที่ควรศึกษาไว้ไม่ว่าจะเป็น Developer หรือ Designer ก็ตาม


คร่าวๆขอแค่นี้ก่อนละกันครับ น่าจะเห็นภาพคร่าวๆแล้วว่าตลาดปี 2014 เป็นยังไง สำหรับปี 2015 น่าจะมีภาพรวมที่คล้ายกับ 2014 เพราะตลาดเข้าสู่ภาวะหยุดนิ่งเป็นที่เรียบร้อย สิ่งที่ต้องจับตาคงเป็น Samsung ว่าเค้าจะงัดไม้เด็ดอะไรออกมาเพื่อแก้วิกฤติที่พบอยู่ตอนนี้บ้าง อีกเจ้าที่ต้องจับตาคือ Xiaomi ว่าจะพุ่งไปไกลได้ถึงไหนเพราะตอนนี้ยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุด น่าจะโตอย่างน่าตกใจเลยแหละ


เจอกันใหม่ Blog หน้าคร้าบผม


Source: 
IDCZDNet, Android Community, ABI Research, CNET, ZDNet, IBTimes, SmartInsights, TalkAndroid

บทความที่เกี่ยวข้อง

Apr 27, 2014, 02:29
32499 views
Storytelling กับ 5 สิ่งสำคัญในการเขียน Blog ให้คนอ่านเยอะ
Feb 4, 2016, 15:31
36391 views
วิธีรับเงิน USD จาก PayPal ด้วยเรตดี๊ดีผ่านธนาคารกรุงเทพสาขานิวยอร์ก
0 Comment(s)
Loading