"อย่าอิจฉาคนที่มีแฟนน่ารัก แต่จงอิจฉาคนที่มีแฟนที่รักกันสุดหัวใจ"
Blue Light Hazard แสงฟ้าจากจอ LED กับปัญหาจอประสาทตาเสื่อม
13 Jun 2014 19:23   [27116 views]

ใครตาม Facebook เราอยู่ก็คงรู้ว่าเรามีปัญหาเรื่องตาอยู่ระดับนึง ด้วยเหตุนี้ก็เลยไปศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับจอคอมพ์/จอมือถือและดวงตาเพิ่มดู อ่านเปเปอร์มาหลายตัวเหมือนกัน ก็ได้ข้อมูลที่น่าสนใจที่อยากเอามาแชร์ถึงเรื่อง Blue Light Hazard หรือ "อันตรายจากแสงสีฟ้า" (ความจริงๆคือแสงสีน้ำเงิน แต่ไหนๆก็เรียกติดว่าแสงสีฟ้าแล้ว เอาสีฟ้านี่แหละ)

ฟิล์มกันรอยหลายต่อหลายเจ้าหยิบยกเจ้าเรื่อง "แสงสีฟ้า" นี้มาโฆษณาเยอะมากตลอดครึ่งปีที่ผ่านมา ก็ไม่ได้สนใจอะไร นึกว่าเป็นแค่เรื่องทางโฆษณา แต่พอไปอ่านเรื่องราวโดยละเอียดแล้ว มันน่ากลัวกว่าที่คิดแฮะ

เราอยู่ในยุคที่เทคโนโลยีโตเร็วมาก เร็วเกินกว่าจะศึกษาผลข้างเคียงได้หมด แม้แต่ทุกวันนี้คลื่นจากมือถือทำอะไรสมองได้หรือไม่เราก็ยังไม่รู้ เพราะระยะเวลาทดลองยังสั้นเกินไป เทคโนโลยีต่างๆที่มีให้เราใช้อยู่ในทุกวันนี้ หลายตัวจึงอาจสร้างปัญหาสุขภาพระยะยาวให้เราได้โดยที่เราไม่รู้มากก่อน รวมถึงไม่มีใครรู้มาก่อน เพราะเราทุกคนเป็นตัวทดลองอยู่นี่แหละ

รู้จัก Blue Light Hazard

จอ LED อันแสนวิเศษ มีอยู่ทั่วไปทุกหนแห่งในชีวิตประจำวันของเรา ไม่ว่าจะเป็นจอคอมพ์ จอมือถือ หรือจอโฆษณาตามสถานที่ต่างๆ ได้รับการทดลองและวิจัยอย่างต่อเนื่องออกมาถึงผลเสียถาวรที่จะมีต่อสุขภาพ สำหรับเรื่องแสงสีฟ้านี้ มีการทดลองและบันทึกค่ามาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้วว่า "แสงสีฟ้าจะทำให้จอประสาทตาเสื่อมสภาพ" และยังคงศึกษาถกเถียงกันต่อไป

พูดง่ายๆ การที่เรามองจอต่างๆเหล่านี้ ก็เป็นการทำลายการมองเห็นลงไปเรื่อยๆโดยที่เราไม่รู้ตัวเลย

แสงสีฟ้าเป็นแสงในกลุ่มพลังงานสูง HEV (High Energy Visible) ซึ่งเป็นกลุ่มแสงที่อยู่ถัดจากกลุ่มแสง UV ซึ่งกลุ่มแสง HEV ในช่วงคลื่นหนึ่งเป็นตัวทำลายการมองเห็น ก่อให้เกิดปัญหาจอประสาทตาเสื่อม (Macular Degeneration) ได้

โดยแสงสีฟ้าแบ่งเป็นสองชนิดคือ Blue-Turquoise (Good Blue Light) และ Blue-Violet (Bad Blue Light) กลุ่มแรกจะเป็นแสงสีฟ้าที่มีประโยชน์ ส่วนกลุ่มหลังเป็นแสงสีฟ้าที่เกิดโทษ

ในแสงกลุ่ม Blue-Violet มีงานวิจัยออกมาว่ามันจะพุ่งทะลวงเข้าสู่จอประสาทตาและการที่มันมีพลังงานสูงนี้เอง ก็จะทำให้จอประสาทตาเสื่อมลงได้ อาจจะไม่ทันที แต่ค่อยเป็นค่อยไป

อย่างไรก็ดี ดวงตาเรามีกลไกในการป้องกันแสงสีฟ้าอยู่แล้วระดับหนึ่ง ทั้งตัวเลนส์และเม็ดสีหลังดวงตา แต่กลไกนี้จะมีอยู่เฉพาะตอนกลางวันและมีหมดกำลังป้องกันได้ถ้าเจอแสงสีฟ้ามากๆเข้า ซึ่งก็คงไม่มีปัญหาอะไรถ้าเป็นแต่ก่อน เพราะแต่ก่อนคนเราอยู่กับธรรมชาติ แต่ทุกวันนี้คนเราวันๆก็เอาแต่เล่นคอมพ์ ก้มหน้าก้มตากดมือถือ ทุกอย่างมันเปลี่ยนไปหมดแล้ว

ถึงแม้ Light Source ที่เราเจอในชีวิตประจำวัน จะมีความเข้มไม่รุนแรงพอจะทำลายตาเราได้ทันที (ยกเว้นพระอาทิตย์) แต่การใช้งาน "สะสม" จะทำให้เกิดปัญหาในระยะยาวได้ นี่คือปัญหาของแสงสีฟ้าครับ ไม่ได้เกิดทันที แต่เกิดเรื่อยๆโดยที่เราไม่รู้ตัว พอรู้ตัวอีกทีก็แย่แล้ว

เป็นสิ่งที่คนยุคเราควรต้องตื่นตัวเพราะมันเป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเราจริงๆ ถ้าคิดจะใช้มือถือหรือคอมพ์ต่อไป ก็ควรจะศึกษาเรื่อง Blue Light Hazard ไว้ด้วยครับ กว่าจะเห็นผลกระทบอาจจะเป็นสิบปี ถึงตอนนั้นเราอาจจะมานั่งเสียใจ มาป้องกันกันตั้งแต่ตอนนี้ดีกว่า

วิธีป้องกัน

ฟิล์มกันรอยป้องกันแสงสีฟ้าก็คงจะเป็นหนทางหนึ่ง แต่บอกตามตรงว่าไม่รู้เลยว่ามันป้องกันได้ดีแค่ไหน ข้อมูลทั้งหมดที่มีมันก็มาจากโฆษณาทั้งนั้นอ่ะ

สำหรับจอมือถือก็คงต้องแปะฟิล์มกันไป (แล้วจอจะสีเพี้ยนมั้ยก็ต้องไปลองดูกัน) ส่วนจอคอมพ์นี่ เราเชื่อว่าโปรแกรมเมอร์น่าจะมองจอคอมพ์นานกว่าจอมือถือ ก็หาฟิลเตอร์ป้องกันแสงสีฟ้ามาแปะจอหน่อยก็ดี ไม่ก็ซื้อแว่นที่สามารถฟิลเตอร์แสงสีฟ้ามีโทษออกไปได้

และถ้าออกไปในที่แสงจ้าๆ อย่าลืมใส่แว่นกันแดดที่ผ่านมาตรฐาน กรองแสง UV อะไรพวกนี้ด้วย เพราะแสงจ้าๆก็ทำให้จอประสาทตาเสื่อมได้เหมือนกันครับ (UV ทำลายตาส่วนหน้า แถวกระจกตา ส่วน Blue-Violet ทำลายจอประสาทตา)

ส่วนงานวิจัยก็มีบอกเรื่องของกลางวันและกลางคืนด้วย อ่านบทสรุปในหลายๆเปเปอร์เค้าก็บอกว่าให้หลีกเลี่ยงแสงสีฟ้าในตอนกลางคืน ไฟในห้องก็ให้เป็นไฟส้มอะไรไปจะดีกว่าไฟสีฟ้าครับ

สำหรับโปรแกรมเมอร์ที่ชอบทำงานตอนกลางคืน จงไปหาแว่นที่บล็อคแสงสีฟ้ามาใส่ทำงาน เอาที่มันได้มาตรฐานนะครับ ไม่งั้นเสียเงินไปเปล่าประโยชน์แน่ๆ

และสำหรับคนทั่วไป ... เลิกใช้มือถือก่อนนอนได้แล้วนะจ๊ะะะ

แสงฟ้าก็มีประโยชน์

ชีวิตคนผ่านวิวัฒนาการมากี่ช่วงอายุคนมาแล้ว ยังไงก็ตาม ตาเราต้องมีกลไกป้องกันอะไรที่มันพอเหมาะพอควรอยู่แล้ว และการที่เรายังมองเห็นแสงสีฟ้าอยู่ ก็คงมีเหตุผลของมัน (เรื่องสีคืออย่างหนึ่งหละ)

แสงสีฟ้าก็ไม่ใช่มีแต่โทษซะเสมอไป นอกจากมันทำให้เรามองเห็นสีได้ครบแล้ว แสงสีฟ้ากลุ่ม Blue-Turquoise และยังทำให้เราตื่นตัวในตอนเช้าและ Alert ในตอนกลางวันอีกด้วย และช่วยตั้งนาฬิกาชีวิตอีกด้วย

แต่คำเตือนทั้งหลายเรื่องแสงสีฟ้ามันเกิดจากการที่ช่วงชีวิตที่แล้วของมนุษย์ ยังไม่มีจอมือถือหรือจอคอมพ์แบบนี้ให้ใช้กันอย่างแพร่หลายเลย วิวัฒนาการมนุษย์คงยังรับมือไม่ทันหรอก ประโยคนึงที่อ่านแล้ว Convince มากเลยคือ

Eyes are not designed to look directly at light -- they are designed to see with light

Sanchez Ramos

ซึ่งก็เออ จริงๆแฮะ ทุกวันนี้เรามองไปที่แหล่งกำเนิดแสงตลอดเวลาเลยนี่หว่า ชีวิตคนเรา แต่ก่อนไม่ใช่แบบนี้

แต่โลกมันก็หมุนมาทางนี้แล้วอ่ะโนะ ปัญหาคงเป็นเรื่องของ "ความพอดี" มากกว่า ใช้แต่พอดีนะและรู้จักป้องกัน ทะนุถนอมดวงตาอยู่เสมอนะครับ สำคัญสุด

ศึกษากันต่อไป

อย่างที่บอก เรื่องนี้เพิ่งมีการศึกษามายังไม่ถึงชั่วอายุคนเลย ยังบอกอะไรทั้งหมดไม่ได้ บางทีก็มีงานวิจัยโต้แย้งออกมา เรื่องทั้งหมดที่อ่านวันนี้อาจจะเป็นเท็จไปเลยก็ได้

ยังไงก็ตาม อย่าลืมถนอมสายตาตัวเองเสมอครับ การจ้องจอคอมพ์นานๆ ถึงจะไม่มีงานวิจัยมาสนับสนุน มันก็ไม่ดีอยู่แล้ว ที่จะต้องเพ่งมอง Light Source อยู่ตลอดเวลา ถ้าทำงานกับคอมพ์ก็รู้จักพักสายตากันบ้างเรื่อยๆ ถ้าต้องทำงานกลางแจ้ง ลงทุนกับแว่นกันแดดดีๆเพื่อการมองเห็นจนวันสุดท้ายของชีวิตดีกว่าครับ =)


Reference:

The Effects of Blue Light on Ocular Health

- Opening Our Eyes to dangers of blue light

- Artificial Lighting and the Blue Light Hazard

- Blue Light Exposure

- Blue Light Has a Dark Side

The Lowdown on Blue Light: Good vs. Bad, and Its Connection to AMD

Research on retina damage sparks fresh LED health scare

Personal risks posed by LEDs used in everyday devices

บทความที่เกี่ยวข้อง

May 18, 2014, 17:37
15742 views
จงแตกต่าง แต่อย่าเพียงเพื่อให้ไม่เหมือนคนอื่น
Oct 3, 2013, 18:24
34674 views
ทำความเข้าใจตัวเอง 75 นาทีในอุโมงค์ MRI
0 Comment(s)
Loading